ไกรฤกษ์
นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์

Unison Research เครื่องเสียงจากประเทศอิตาลี เข้ามาในบ้านเราเมื่อสักเกือบ 20 ปีก่อน สมัยนั้นเขาทำแต่เครื่องหลอด ผมสนิทกับผู้นำเข้าในยุคนั้น ได้ซื้อทั้งแอมป์รุ่น Simply 2 (single ended EL34) และ Simply Phono มาใช้งานอยู่หลายปี สมัยนั้น phono stage แยกชิ้นของ Unison มีรุ่นนี้รุ่นเดียว สามารถใช้ภาคจ่ายไฟร่วมกับแอมป์ Simply 2 (หรือ Simply 4) หรือจะซื้อ power supply แยกต่างหากก็ได้ จำได้ว่า Simply Phono มีเกนขยายค่าเดียวคือประมาณ 52dB ตัว circuit board มีสปริงรองรับด้านล่างสี่จุด ใช้หลอด 12AX7 สามหลอด พอมา Simply 2 รุ่นปัจจุบันจะใช้สี่หลอด

มาในยุคหลังของ Unison เขาก็ได้ออกซีรีส์ที่เป็นเครื่อง solid state ออกมา เรียกว่า Unico series ที่แพร่หลายในบ้านเราก็เป็นอินทิเกรตแอมป์ นอกจากนี้ก็มีครบทั้ง CD Player, Pre/Power amp และตัว standalone phono stage ของซีรีส์ก็คือ Uphono+ นี่เองครับ 

Uphono+ physical property 

ผมคิดว่า Unison ออกแบบ phono ซีรีส์นี้เพื่อตอบสนอง life style คนรุ่นใหม่ เครื่องเสียงชิ้นหนึ่งจะทำงานได้แบบ multi-function ในคุณภาพเสียง ที่ดีและราคาที่ยอมรับได้ ตัว Uphono+ ก็มีฟังก์ชันการทำงานหลายอย่าง feature ที่ทำได้มีดังนี้… 

• เป็น stand alone phono สำหรับภาคขยาย หัวเข็ม MM (เกน 38dB) และ MC ปรับได้สองค่าคือ 58 และ 69dB 

• ค่า impedance และ capacitance ปรับได้หลากหลาย ครอบคลุมการใช้งานของหัวเข็มทั่วไป 

• มี fix และ variable output ปรับลดเกนขยาย ได้ที่ปุ่มใหญ่ด้านหน้าเครื่อง 

• มี digital output ให้ทั้ง USB, Optical และ Digital coaxial มีความละเอียดถึง 24 bit/96kHz 

• มี headphone output ต่อกับหูฟัง ปรับ ระดับความดังที่ปุ่มใหญ่หน้าเครื่องเช่นกัน 

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของยี่ห้อ Unison Research คือ จะต้องมีส่วนประกอบของไม้อยู่ในตัวถังเครื่องไม่มากก็น้อย สมัยก่อนรุ่น Smart 845 นี่ตัวถังเป็นไม้ solid สวยงามมาก ในรุ่น Uphono+ ก็มีไม้อยู่นิดเดียวตรงรอบๆ ปุ่ม volume control ด้านหน้าเครื่อง ในส่วนด้านหลังเครื่องจะเป็นดังนี้ 

ทางฝั่งซ้ายสุดเป็นขั้วสายไฟ AC สามขา ถัดมาเป็นปุ่ม on/off ที่จะมีไฟสถานะอยู่ด้านหน้า ถัดมาเป็น digital output ที่จะมี Coaxial, Optical และ USB output ผมได้ทดสอบแต่ส่วนของ USB output ในเรื่องของการแปลงสัญญาณ analog to digital เพื่อบันทึกเป็นไฟล์ ความละเอียดได้สูงสุดที่ 24 bit/ 96kHz ถัดมาอีกหน่อยเป็นขั้ว analog output ที่มี แยกให้เป็น fix กับ variable output ส่วนตัวผมได้ ทดลองทั้งสอง output แล้ว ผมชอบเสียงที่ออกจาก fix output มากกว่าครับ มันให้เสียงที่เปิดและ มีไดนามิกดีกว่าชอง variable ดังนั้นตลอดการ ทดสอบนี้เลยใช้ช่อง fix แล้วไปปรับเร่ง-ลดความดัง เสียงที่ปรีแอมป์แทน ในส่วนขวาสุดก็เป็น analog input จะแบ่งช่องแยกกันไปเลยระหว่าง MM และ MC input การปรับค่า parameter ต่างๆ ของภาค phono จะอยู่ด้านใต้เครื่อง (คิดว่าพื้นที่ด้านหลังเครื่องไม่เพียงพอที่จะวาง dip switch เลยไปวางใต้เครื่องแทน) 

Uphono+ phono setup 

การ setup ค่าต่างๆ ของภาคโฟโนจะอยู่ใต้ เครื่องตามภาพครับ เริ่มแรกที่เราต้องเลือกก่อนคือ input select ว่าเราจะเล่นหัว MM หรือ MC 

• MM setup มีค่า gain ขยาย 38dB โดยปกติ ภาคโฟโนสำหรับหัว MM จะใช้ค่า impedance ตายตัวที่ 47kOhm (มีภาคโฟโนน้อยตัวมากที่สามารถ ให้เราปรับค่าอื่นได้ เช่น ปรับเป็น 50kOhm หรือ 33kOhm ก็จะเหลือแต่ค่า capacitance ที่มีผลต่อ frequency response curve ของหัว MM ค่า capacitance ที่เราเซ็ตจะเป็นค่ารวมของหัวเข็มรวมกับสายโฟโนที่ต่อมายังภาคโฟโน เครื่องนี้ให้ปรับได้ตั้งแต่ 100 – 420 picofarad ซึ่งก็เป็นค่ากลางๆ สำหรับหัวเข็ม MM ทั่วไป ถ้าเราปรับ load capacitance ของโฟโนลดลง การตอบสนองความถี่จะ flat มากขึ้น จนถึงถ้าลดมากเกินไปจะเกิด high frequency roll off ส่วนตัวสำหรับทดสอบ Uphono+ ผมตั้งไว้ที่ค่า 200 ก่อน แล้วจากนั้นก็จะปรับเมื่อได้ทดลองฟังน้ำเสียงจริงๆ อีกที

• MC setup เราต้องปรับสองอย่างคือ gain และ impedance สำหรับ gain ขยายปรับได้สองค่าที่ 58dB (เหมาะกับหัว mid MC ที่ output อยู่ในช่วง 0.4 – 1 mV) และค่า 69dB (เหมาะกับหัวเข็ม MC low ที่ค่า output ที่ 0.2 – 0.4 mV) ส่วนการปรับค่า impedance จะเป็นการปรับสำหรับหัวเข็ม MC ปรับได้ตั้งแต่ 20 ohm ไปจนถึง 1000 ohm หลักการก็คือ ตั้งตามค่า recommend load impedance ของหัวเข็มที่เราซื้อ หรือตั้งไว้ประมาณ 5-10 เท่าของ internal coil impedance ถ้าเราตั้งค่า phono load มากขึ้น เสียงจะ flat ขึ้น ถ้า load มากไป เสียงจะอับทึบ ถ้าไม่ตั้ง load เลย เช่นใช้ค่า 47kOhm แบบหัว MM เสียงก็จะเปิดสว่าง สำหรับภาค MC ของ Uphono+ เขาให้ใช้ค่าสูงสุดได้ที่ 1000 ohm ซึ่งผมก็ใช้ค่านี้ตลอดในการเล่นทดสอบ

Uphono+ sound test

ผมทดสอบ Uphono+ เป็นสามส่วน คือ… ภาค MC low phono, MM phono และการ rip ผ่าน USB output

Mc low session: ใช้ EMT 930 Turntable, Jelco 750 arm + Benz Micro SL wood, EMT 929 arm + EMT TSD15 cartridge

MM session: ใช้ EMT 930 + Jelco 750L arm หัวเข็ม Shure V15 type 3 cartridge

USB output session: ใช้สาย USB ของ Furutech GT2, ระบบปฏิบัติการ Mac OS, Amarra vinyl software, Waves Tracks live software

แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบ 

MC low session:
1. I Musici: Eine Kleine Nachmusik mov.4 (Philips 28PC-85 Japanese pressing)
2. Silvia Droste: Voicing (Jeton J2187024) – My one and only love 
3. GRP Artists Cerebration Songs of the Beatles – And I love him (Diana Krall)
4. Sheffield Lab 13 – Amanda McBroom: Dusk 
5. Yello – one second (Mercury 830 956-1): Moon on Ice
6. Pat Coil – Steps (Sheffield Lab TLP-31HQ): Roads less travelled 

MM session

1. Eileen Farrell: My very best (reference records RR-60) – Stormy weather
2. Youn Sun Nah: Same girl (ACT 9024-1) – my favorite things

เพลงที่ใช้ทดสอบทั้งหมด จะอยู่ที่นี่นะครับ https://drive.google.com/open?id=1knd1OrZrHDnHd7YRys_GzHfbvVT45Ib1 ไฟล์ 24 bit/44.1kHz ผมริปผ่านโฟโนตัวนี้ด้วยเครื่อง Tascam DV RA1000HD และใน MM test แผ่น Same Girl กับ Eileen Farrell จะริปผ่าน USB port ของ Uphono+ ด้วยโปรแกรมบน Mac OS ที่จะกล่าวต่อไป 

Tonal balance: เริ่มต้นการทดสอบ ผมลอง ภาค MC ก่อน โดยใช้ค่าเกนขยายที่ 58dB ซึ่งก็เพียง พอสำหรับหัวเข็ม Benz Micro SL Wood ที่ 0.4mV โดยต้องเร่ง volume ที่ปรีแอมป์อีกสักเล็กน้อย ส่วนสำหรับหัว EMT นั้น 1mV ของหัวเข็มเมื่อผ่านภาคขยายแล้ว เกนเกือบเท่าๆ กับความแรงของสัญญาณ CD ลักษณะเสียงโดยรวมของ Uphono+ นั้นคล้ายคลึงกับเครื่องเสียงหลอดอยู่พอควร คือเสียง กลางเด่น มีมวลเนื้อเสียงอิ่มหนา ผมเช็คเสียงกลางก่อนด้วยเสียงของ Diana Krall ยุคก่อนที่เธอจะดังระเบิดเป็นศิลปินเดี่ยว ในแผ่นรวมฮิตของนักดนตรี สังกัด GRP เล่นเพลง Beatles – And I Love Him แทร็กนี้ mix เสียงโดยยอดฝีมือ Al Schmitt โดยมี Tony Lipuma เป็น producer เสียงจะอิ่มฉ่ำและมี ambience สะท้อนเล็กน้อย เสียง double bass เดินซึมลึกเป็นฐานเสียงของเพลงนี้ตลอดแทร็ก สิ่งที่แพ้ phono ในระดับ high end ที่แพงกว่าคือ รายละเอียดของปลายเสียงแหลม พวกเสียงฉาบ แฉ ปลายสแนร์ อาจจะไม่ได้ละเอียดเป็นฟุ้งฝอยแบบ phono แพงๆ 

Frequency extension: เพื่อทดสอบ รายละเอียดของเสียงย่านทุ้มสุดและแหลมสุด ที่ภาคโฟโนนี้จะให้ได้ ผมหยิบแผ่น Sheffield Lab 13 – Amanda McBroom เพลง Dusk เป็นแทร็ก ที่ใช้ทดสอบกันประจำสำหรับ high frequency extreme นั้น อาจจะไม่ได้พลิ้วล่องลอยเช่นเดียว กับโฟโนหลอด Simply Phono ที่ผมสามารถปรับ จูนเสียงด้วยการเปลี่ยนหลอดได้ แต่ก็ได้ harmonic ของเสียง triangle ที่ดีเพียงพอ ฝั่งเสียงเบสในแผ่น Dusk ก็ทำได้ดี จะแพ้ก็แต่โฟโนหลอดที่จะมีแรงปะทะที่ดีกว่านิดหน่อย แทร็ก Moon on Ice ของวง Yello จะให้ฐานเสียงเบสที่ฟังสนุก แนวดึ๊บๆๆ ตัวโน้ตเบสแต่ละตัวอาจจะไม่เด็ดขาดจากกันนัก แต่ก็สามารถ follow ไลน์เดินเบสได้ไม่ยากเย็น เพลงนี้ mix เสียงได้เวทีกว้างขวางดีมากครับ เวทีเสียง ทั้งทางกว้างและลึก ตัว Uphono+ ทำได้ดี 

Harmonic & low level detail: ผมยังติดใจ ใน harmonic ย่านความถี่สูง เลยหยิบแผ่น Same Girl ของ Youn Sun Nah แทร็กแรกของแผ่น เพลง My Favorite Things ตัวนักร้องได้ดีด Kalimba (เครื่องดนตรีกล่องไม้เล็กๆ) ผมว่า harmonic และการทอดเสียงของเสียงแหลมทำได้ดีขึ้นกว่าตอนที่ฟังแผ่น Dusk นะครับ ในส่วนของ low level detail คือการให้รายละเอียดของเสียงเล็กเสียงน้อยที่แฝงอยู่ สมมติเช่น เสียงดีดสายกีตาร์โปร่ง ถ้าแผ่นบันทึกดีและเล่นกลับได้ดี ก็จะได้ยินเสียงนิ้วรูดสาย เสียงเนื้อของปลายนิ้ว และเสียงเล็บที่เกี่ยวสายกีตาร์ ที่ให้ลักษณะเสียงที่แตกต่างกัน ใน Stereophile อาจจะใช้คำว่า delicacy ตัว Uphono+ รายงานเสียงเล็กเสียงน้อยของการร้องของน้อง Youn Sun Nah ได้ชัดเจน เช่น เสียงลมหายใจก่อนออกเสียง เสียงลิ้นหรือลมที่ลอดไรฟันออกมา ถือว่าสอบผ่านในส่วนของ low level detail นี้ (เช่นเดียวกับเสียงร้องในแผ่น Jeton ของ Silvia Droste เพลง My One and Only Love ที่สอบผ่าน สามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงและการด้นเสียงของ Droste ) 

Timbre: เป็นการแยกลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีคนละอย่างแต่เล่นโน้ตตัวเดียวกัน Timbre ที่ดีจะช่วยให้เราแยกแยะเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ได้ ยิ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแล้วจะเป็นสิ่งที่ใช้ทดสอบ Timbre ได้ดี ผมเลยเอาแผ่นเพลงคลาสสิกวง string orchestra อย่างวง I Musici เล่นเพลง Eine Eine Kleine Nachmusik movement ที่ 4 มาเป็นเพลงทดสอบ ถึงแม้ว่าแผ่นนี้จะเป็น digital recording และปั๊มญี่ปุ่นที่ราคาไม่แพง แต่ก็บันทึกเสียงได้ดีมาก เครื่องสายทั้งสี่หมู่ (violin viola cello double-bass) มีทั้งการเล่นแนวประสานกัน และสีโน้ตเดียวกันพร้อมกัน ให้ท่านลองฟังคลิปเสียงใน google drive ของผมนะครับ ว่าสามารถแยกแยะหมู่เครื่องสายแต่ละส่วนได้ง่ายหรือยากแค่ไหน 

โดยสรุปคร่าวๆ ตัว Uphono+ ผมถือว่าสอบผ่านข้อกำหนดต่างๆ ในการประเมินเสียงของภาคโฟโน ในระดับราคาขนาดนี้ ผมถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ผมอาจขาดแผ่นบางแผ่นที่จะทดสอบเรื่องของ transient dynamic ไป อันนี้ขอติดไว้ก่อนนะครับ ตอนทดสอบก็ลืมทดสอบตรงนี้ ส่วนตัวผมชอบภาค MM ของมันมากทีเดียว และมีข้อดีตรงที่ว่าผมสามารถใช้หัวเข็ม MC low ร่วมกับ step-up transformer เข้าช่อง MM ของโฟโนตัวนี้ และถ้าเกนขยายมากเกินไปก็สามารถเลือกเข้าช่อง variable input และปรับลดเกนเสียงจากปุ่มด้านหน้าได้ ก็ถือว่ามีความยืดหยุ่นพอสมควร แต่ส่วนตัวผมมักไม่ค่อยชอบต่อช่อง variable นัก จะพยายามแม็ตช์เรื่องเกนขยายของหัวเข็ม ภาคโฟโน (และ Step-up ถ้ามีใช้งานร่วมกัน) มากกว่าที่จะหวังพึ่งการปรับลดเกนด้วยช่อง variable เพราะผมรู้สึกว่า เสียงมันด้อยลงไปนิดหนึ่ง เมื่อผ่านปุ่ม gain control ด้านหน้าเครื่อง

Vinyl ripping

ตัว Uphono+ นั้นมี USB port มาให้ ซึ่งมีภาค Analog to digital converter อยู่ในตัว มี native resolution สูงสุดอยู่ที่ 24 bit/96kHz ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการริปแผ่นเสียง เพราะที่ 96KHz นั้น ก็เท่ากับว่าสามารถรองรับ bandwidth ความถี่เสียงสูงสุดได้ที่ 48kHz ก็จะเป็นความสามารถสูงสุดในการถ่ายทอดความถี่ของหัวเข็ม MC low ทั่วๆ ไป (ผมมองว่า การริปที่ 192kHz หรือไปถึง DSD นั้น ค่อนข้างเป็นอะไรที่เกินความจำเป็นไปหน่อย เพราะการตอบสนองความถี่ของหัวเข็มไปได้ไม่ถึง 96kHz ที่ +/- 3dB 

ปุ่มปรับเกนด้านหน้าเครื่องนั้น ไม่มีผลต่อการลดระดับเกนของ USB output นะครับ ดังนั้น การริปแผ่นเสียงจะต้องระวังอย่างหนึ่งคือ อย่าให้ overall gain มากเกินไป จะทำให้เสียงแตก เนื่องจากความแรงสัญญาณเกิน 0dB ควรพยายามผสม output ของหัวเข็มกับเกนขยาย (ที่เลือกปรับได้) ของ Uphono+ ให้ค่อนต่ำไว้ก่อน เมื่อริปเป็นไฟล์แล้วค่อยไปขยายเพิ่มเอาได้ด้วยโปรแกรม sound editor ต่างๆ (ผมชอบใช้ของฟรีครับ Audacity)

ใน Mac OS นั้น เมื่อเชื่อมต่อ USB เข้ากับแมคบุ๊กแล้ว มันจะเห็นตัว Uphono+ เป็นเหมือน soundcard ตัวหนึ่ง เราก็เพียงแต่ปรับค่า audio midi setup ให้ตัว sound input เป็นตัว Uphono+ ก็เป็นอันจบพิธี จากนั้นค่อยไปเปิดโปรแกรม sound recording ซึ่งเครื่องผมมีลงสองตัวคือ Amarra Vinyl และ Wave Track Live (free version) ตัวโปรแกรม Amarra Vinyl นั้น แพงพอควร และปัจจุบันไม่มีจำหน่ายแล้ว 

เป็นโปรแกรมที่มีความเป็น professional สูง ตัวผมก็ยังใช้งานไม่ได้ครบทุกลูกเล่นที่มี ใช้แต่การอัดบันทึกอย่างเดียว มันยังมีฟังก์ชั่น de-noise, de-click และการปรับ EQ ต่างๆ แต่ถ้าท่านจะหา freeware อื่นๆ มาลองเล่น นอกจาก Audacity แล้ว ผมแนะนำ Wave Track Live ครับ

Wave Track Live สามารถ download free ได้ที่ https://www.waves.com/mixers-racks/tracks-live#presenting-tracks-live ตัวนี้ใช้งานไม่ยากครับ ลองเล่นๆ ดูแป๊บเดียวก็เป็น ข้อดีกว่ายี่ห้ออื่นๆ คือ มันรองรับการบันทึกแบบ multi-track ได้ด้วย (และสามารถ mix down 2 tracks ได้) แต่ผมยังไม่เคยลอง ส่วนใหญ่ก็ใช้ 2 tracks ครับ 

อ้อ! อีกอย่าง Wave Track Live มีทั้งบน Mac และ Windows ให้เราเล่นนะครับ ต่างจาก Amarra ที่ทำงานบน Mac อย่างเดียว ผมลองริปเพลง My Favorite Things ด้วย Wave Track Live + USB output เทียบกับการริปผ่านช่อง analog output ไปยังตัว Tascam DV RA1000HD ที่เป็นเครื่อง A2D ที่ผมว่าเสียงดีที่สุดเท่าที่ใช้งานมา ให้ฟังเทียบใน google drive ลิงก์ด้านบนนะครับ เพลง Same Girl1.wav กับ Same Girl2.wav ให้ผู้อ่านลอง download ทั้งสองเพลงมาฟังเทียบกัน ผมเฉลยให้ เลยละกันว่า Same Girl 1 นั้นมาจาก USB out (ใช้ internal A2D ของ Uphono+ ราคาสามหมื่น กว่าบาท) ส่วน Same Girl 2 นั้นมาจาก analog out แล้วใช้ external A2D (Tascam มูลค่าราคาเครื่อง หกหมื่นกว่าบาท) เป็นตัวริปให้ผู้อ่านลองฟังเทียบว่า เสียงต่างกันมากน้อยแค่ไหน 

บทสรุป 

Uphono+ ในความเห็นผมถือว่าเป็นภาคโฟโนที่มีฟังก์ชั่นหลากหลายและคุ้มค่ากับการใช้งานที่ระดับราคาไม่เกินสี่หมื่นบาทนี้ มันมีการทำงานที่ตอบโจทย์ lifestyle คนรุ่นใหม่ที่อาจจะเล่นหูฟัง และเล่นระบบ high resolution files ในชุดเดียวกัน ถึงแม้มีฟังก์ชั่นเสริมมาให้เยอะ แต่ฟังก์ชั่นหลักของการเป็นภาคโฟโนก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด ถ้าจะให้เสียงดีกว่านี้ก็คงต้องจ่ายเงินมากกว่านี้มากพอควร และอาจไม่ได้ feature ที่ Uphono+ ให้มาด้วย สิ่งที่ยุ่งยากสำหรับเครื่องนี้มีอย่างเดียวครับ คือการปรับค่า setting ต่างๆ ของหัวเข็มด้วย dip switch ที่อยู่ใต้เครื่อง ถ้าใครไม่ได้ต้องเปลี่ยนหัวเข็มไปมาบ่อยๆ แบบผมก็คงไม่มีปัญหาอะไรตรงนี้นะครับ สุดท้ายคือ อย่าลืม download ไฟล์ที่ผมเตรียมไว้ไปฟัง และหาโอกาสไปนั่งฟังเองจริงๆ ตามร้าน ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนะครับ (จำได้แน่ๆ ก็คือ Planet Laser พระราม 3 มีแน่ๆครับ). ADP 

ราคาพิเศษ ช่วงแนะนำ 34,900 บาท 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท วันพัฒน์ (59) จำกัด 
โทร. 0-2175-2933 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 274