ชุมพล

ฟิวส์ C3 Pur Sang

เป็นฟิวส์ generation ที่ 6 ตัวล่าสุดของ C3 ที่พัฒนามาเพื่อเครื่องเสียงในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง กระบวนการผลิตฟิวส์ C3 ในทุกๆ รุ่น ตั้งแต่แรกสุดจนถึง Pur Sang ก็คือ การทำไครโอจินิค (deep cryogenic treatment) ที่เป็นเทคนิคเฉพาะ ละเอียดอ่อนไม่เหมือนใคร และการฝัง memory effect ที่ความถี่ 50Hz แบบถาวร ที่ยังไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ ก็ยังคงอยู่ และได้พัฒนาเทคนิคให้ลึกซึ้งขึ้นในรุ่น Pur Sang

ในส่วนของตัวนำไส้ฟิวส์ก็เป็น beryllium copper ที่พัฒนาล่าสุดให้มีเสถียรภาพในการผ่านกระแสได้ โดยคงค่าความต้านทานให้มีความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด โดยมี housing หรือกระบอกฟิวส์ด้านในเป็น ceramic เคลือบสารพิเศษ Sang Noir ก่อนจะหุ้มด้านนอกด้วย alloy ชนิดพิเศษที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันคลื่นรบกวนทางดิจิทัลที่แฝงมากับระบบไฟฟ้า และในทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับฟิวส์ Pur Sang มีให้เลือก 2 แบบ คือ… ทอง และ แพลตตินั่ม ดูจากสีของขั้วฟิวส์จะเห็นได้ชัดเจนครับ โดยที่ Gold เป็นฟิวส์ที่เหมาะกับเครื่องเสียงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น source หรือ แอมป์ หรือ ซับวูฟเฟอร์ ส่วน Platinum สำหรับการใช้งานที่ต้องการเน้นสมรรถนะเป็นพิเศษ แนะนำให้ใช้ในแอมป์หรือซับวูฟเฟอร์ ซึ่งต้องใช้พละกำลังหรือแรงส่งเป็นพิเศษ

ลำดับฟิวส์ C3 ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน

Gen 1 Classic เริ่มออกตลาดในปี 2549 จนถึงปี 2553

Gen 2 Noir ปี 2553 – 2558

Gen 3 Sang Noir ปี 2558 – 2559

Gen 4 Sang Noir Gold type 1 ปี 2559 – 2562

Gen 5 Sang Noir Gold type 2 ปี 2562 – 2564

Gen 6 Pur Sang เป็นรุ่นล่าสุด และเปลี่ยนแปลงยกระดับคุณภาพเสียงให้กับชุดเครื่องเสียงได้มากที่สุด

Pur Sang สีทอง เป็นมาตรฐาน ใช้ได้กับอุปกรณ์ทุกอย่าง มีค่าตั้งแต่ 1 – 12 A ส่วนสีเงิน แพลตตินั่ม (เหมาะสำหรับเพาเวอร์แอมป์, รางไฟฟ้า หรือ ซับวูฟเฟอร์ ที่ต้องการแรงอัดฉีดแบบฉับพลัน) มี 3 ค่า คือ… 6.3A, 10A, 12A เท่านั้นครับ

Pur Sang เป็นฟิวส์ที่มีโครงสร้างซับซ้อนมากที่สุดของ C3 โดยถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่า ตัวบอดี้ แบบ 3 เลเยอร์ ฉนวนด้านในสุดเป็น pure ceramic ชั้นที่สองเป็นสารเคลือบ Sang Noir ชั้นที่สาม ด้านนอกสุดเป็นโลหะผสมพิเศษ ที่พัฒนามาเพื่อลดและป้องกันการรบกวนในรูปแบบต่างๆ เช่น RFI, EMI รวมไปถึง digital noise ที่ฟิวส์ Pur Sang ถูกพัฒนามาเป็นพิเศษ

ผมได้รับฟิวส์ C3 Pur Sang มาทดสอบ 2 ตัวด้วยกัน คือ… รุ่นสีทอง ขนาด 20 มม.ค่าความด้านทาน 2A และรุ่นแพลตตินั่ม ขนาด 30 มม. ค่าความต้านทาน 12A อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบสำหรับฟิวส์ C3 Pur Sang Gold ผมใส่เข้าไปที่รังฟิวส์ของปรีแอมป์หลอด 6SN7 ของ TS Audio ซึ่งคุณโกวิทย์ ได้สร้างขึ้นมาก่อนจะเสียชีวิต และปรีแอมป์ตัวนี้ คาดว่าจะออกมาแทน KC-1 ที่ขายมานานเป็นสิบปีแล้ว น่าเสียดายมากสำหรับโปรเจ็กต์นี้ เพราะเท่าที่ผมฟัง มันดีพอสำหรับซิสเต็มระดับไฮเอ็นด์เลยทีเดียวครับ ส่วนฟิวส์แพลตตินั่ม ผมใส่เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ MICHI ตัวใหญ่มหึมา ที่ยกคนเดียวไม่ไหว ส่วนที่เครื่องเล่นซีดี GRILL Audio ผมใส่ฟิวส์ C3 Sang Noir อยู่แล้ว ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร อันจะส่งผลต่อต้นทางของเสียง รังแต่จะทำให้ผลการทดสอบบิดเบือนไปเสียเปล่าๆ ครับ

ต้องเรียนท่านที่กำลังอ่านบทความนี้ว่า ฟิวส์ C3 รุ่น Pur Sang นี้ มีระยะเวลาในการเบิร์นอินกว่า 100 ชั่วโมง และแทบทุกวันที่ฟัง ผมได้ยินความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ การสวิงขึ้นๆ ลงๆ จะมีปรากฏเป็นเรื่องปกติสำหรับฟิวส์ยี่ห้อนี้ จนกระทั่งเลย 100 ชั่วโมงไปแล้วนั่นแหละ เสียงถึงจะนิ่ง ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปอีก หากมองในแง่ดีแล้ว คุณจะตื่นเต้นกับเสียงที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แฮ่ม…. รักแล้วต้องรอหน่อย อะไรประมาณนั้นนะครับ

ผลการทดสอบ

เริ่มจาก Pur Sang Gold ก่อนนะครับ ใครที่เคยเล่น Sang Noir น่าจะคุ้นๆ ว่า เจ้าฟิวส์ตัวเล็กนี้ มันร้ายกาจแค่ไหน มาถึงรุ่นล่าสุดนี่ C3 เหยียบคันเร่ง บูสต์เทอร์โบทิ้งเพื่อนรุ่นก่อน (และฟิวส์อื่นๆ) ไปไกล ชนิดไม่เห็นหลัง สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างรู้สึกได้ คือ… พละกำลังและไดนามิกที่ราวกับเสียบสายไฟเอซีระดับเทพๆ เข้าไปที่เครื่องเสียงทั้งเส้น ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องจ่ายเงินออกไปเป็นจำนวนมากโข แต่ถ้าเป็นฟิวส์ Pur Sang คิดเป็นมูลค่าแล้ว เท่ากับว่าคุณจ่ายแค่ 1 ใน 5 ของราคาสายไฟดีๆ แล้วได้ผลที่พอๆ กัน ผมคิดว่าคุ้มครับ

หลังจากใช้งานไป 150 ชั่วโมง ผมรู้สึกว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเสียงอีก อันเป็นสัญญาณว่าฟิวส์เข้าที่แล้ว จึงเริ่มต้นฟังทดสอบ ต้องเรียนก่อนว่า ปรีแอมป์ TS Audio ที่นำมาใช้กับฟิวส์ C3 Pur Sang เป็นเครื่องหลอด สไตล์เสียงไม่ค่อยดุดัน เน้นที่รายละเอียด และรูปเวทีเสียงอย่างโอ่อ่าสง่างาม เสียงเบสมีมาให้มากพอ จะว่าเสียงออกไปทางอะนาล็อกที่มีความนุ่ม หวาน ปนอยู่ในน้ำเสียงก็ใช่ครับ สิ่งที่ผมไม่ชอบเท่าไหร่ของปรีแอมป์เครื่องนี้คือ เสียงกลางที่ไม่ค่อยโฟกัสชัดเป๊ะเท่าไหร่ โดยจะเกลี่ยออกไปให้เชื่อมต่อกับเสียงอื่นๆ เป็นผืนภาพใหญ่ๆ ไม่โฟกัสเป็นจุดๆ ไป ตรงนี้พอเปลี่ยนฟิวส์เป็น Pur Sang Gold เหมือนจะไปเหลาให้อิมเมจมีทรวดทรงองค์เอวชัดเจนขึ้น เสียงร้องมีมวลหนาแน่นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาอย่างกับเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในเครื่องอย่างไรอย่างนั้นเลยครับ เจ้าความควบแน่นของเสียงนี้เกาะกุมไปยังทุกย่านความถี่ของเสียง ซึ่งต้องทำความเข้าใจกันว่า ผมไม่ได้หมายถึงเสียงดังกว่าเดิม ความดังยังเท่าเดิม หากแต่บุคลิกลักษณะของเสียงจะมีความเข้มข้นเป็นจริงมากกว่าครับ

ไดนามิกคอนทราสต์ หรือการเปลี่ยนแปลงจาก ดัง – เบา / ค่อย – หนัก / อ่อน – แก่ ทำได้ดีมาก ลีลาการนำเสนอในประการนี้ต้องยกหัวแม่มือให้ทั้ง 2 ข้าง มันยอดเยี่ยมมาก ฟังเพลงคลาสสิกได้อารมณ์เป็นที่สุด ไม่ว่าเวลาที่เครื่องดนตรีเกือบร้อยชิ้นโหมประโคมออกมาพร้อมๆ กัน หรือเวลาโซโล่ไวโอลิน ล้วนแล้วแต่มีความเป็นธรรมชาติ ละม้ายคล้ายคลึงกับดนตรีจริงมาก

การเชื่อมต่อเข้าหากันของชิ้นดนตรีผสมผสานออกมาเป็นเสียงหลักตามด้วยฮาร์มอนิกและแอมเบี้ยนต์ของห้องบันทึกเสียง ทั้งหมดนี้อาจจะอ่านแล้วเหมือนผมเพ้อเจ้อว่าอะไรกัน แค่เปลี่ยนฟิวส์ลงไปเพียงตัวเดียว มันยกระดับคุณภาพเสียงออกมาได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ ก็ต้องเรียนว่า ผมได้ยินได้ฟังมาอย่างนั้นจริงๆ ครับ

สิ่งที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะด้านของ C3 ทุกรุ่น คือ บรรยากาศละอองไอของ Airy ที่พวยพุ่งออกมาจากดอกลำโพงชนิดที่เหมือนกับเสกออกมาได้ พอดึงฟิวส์ C3 ออก ใส่ฟิวส์ออดิโอเกรดอื่นๆ เข้าไป คุณจะฟังออกทันทีเลยว่า ไอ้ความชุ่มฉ่ำที่ห่อหุ้มตัวโน้ตดนตรีมันผลุบหายไป ฟังแล้วไม่ลื่นหูเอาเสียเลย อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงสำหรับฟิวส์ C3 รุ่น Pur Sang Gold คือ พละกำลังครับ เอาสั้นๆ ชัดๆ ไม่อ้อมค้อมเลยว่า ฟิวส์ C3 รุ่นนี้มาครบจัดเต็มกับเรื่องพละกำลังเปรียบประดุจรถสปอร์ตเครื่องทวินเทอร์โบ แรงม้าและแรงบิดสูง และเป็นพละกำลังที่ควบคุมมาดี จังหวะปล่อยออกมาหรือรั้งกลับนี่ทำได้หมดจด ไม่ผิดพลาดแม้แต่จังหวะเดียว

ดุลน้ำเสียงมีความเสมอภาค ไม่เน้นหรือเทไปที่ย่านใดย่านหนึ่ง หากแต่ฟังแล้วมีความพิเศษอยู่ในทุกๆ ความถี่เสียงอย่างไม่มีใครน้อยหน้าใคร ความสงัดของฉากหลังหรือพื้นเสียงทำได้ดีครับ นิ่งสงัดแต่ยังคงไว้ซึ่งความฉ่า (Sizzling) ของเสียงแหลม เช่น เสียงสแนร์หรือความพลิ้วของเสียงเป่าขลุ่ยที่ทอดยาวและยังคงตัวอยู่ในอากาศได้นานกว่าเดิม

ฟิวส์ C3 Pur Sang ทั้งรุ่น Gold และรุ่น Platinum มีสัญลักษณ์แหวนสีแดงและดำ สวมอยู่ตรงบริเวณใกล้ๆ กับขั้วฟิวส์คนละข้าง เพื่อเป็นการบอกทิศทางในการใส่ฟิวส์ ข้อแตกต่างระหว่างรุ่น Gold และรุ่น Platinum ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าคือ สีของขั้วฟิวส์ที่เป็นสีทองอร่ามและสีเงินยวง ราคาขายของฟิวส์ C3 Platinum จะเท่ากับรุ่น Gold ซึ่งมีคำแนะนำมาจากอาจารย์เจมส์ ผู้ผลิตว่า เจ้าฟิวส์รุ่น Platinum นี้ เหมาะกับอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ต้องการได้รับพละกำลังหรือแรงช่วยส่งเยอะๆ เช่น เครื่องคุมไฟ เพาเวอร์แอมป์ หรืออินทิเกรตแอมป์เสียงเฉื่อยๆ หากได้ใส่ C3 Pur Sang Platinum เข้าไป จะช่วยชูกำลังออกมาได้อย่างทะลักทลาย เรียกว่า ทำออกมาเพื่อเอาใจคนชอบจัดหนักโดยเฉพาะละครับ

บุคลิกทางเสียงของ Pur Sang Platinum จะจริงจัง ดุเดือดกว่ารุ่น Gold อย่างชัดเจน ถ้าเปรียบประดุจเป็นกาแฟแล้ว Pur Sang Platinum คงเหมือนกับ Espresso double shot ที่เข้มข้นสะใจคอกาแฟพันธุ์แท้ แต่ในการใช้งาน ถ้าคุณคิดว่าชุดเครื่องเสียงของคุณต้องการเรียกพละกำลังมาช่วยให้คึกคัก กระปรี้กระเปร่า ฟังแล้วมีความตื่นเต้นก็น่าจะเหมาะสมอยู่ครับ โดยเฉพาะเสียงของอิมเมจที่หลุดลอยออกมาอย่างเป็นสามมิติต้องยกให้เขาเลย เสียงที่สปริงตัวหลุดออกมาจากลำโพงก็เป็นคุณสมบัติที่ Pur Sang Platinum ให้ออกมาได้ ส่วนที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษคือ เสียงเบสครับ หนัก ลึก สะใจ ไม่มีออมมือ เสียงเหยียบกระเดื่องกลอง หรือเสียงดับเบิลเบสสมจริงมาก เบสลึกๆ ทิ้งตัวลงพื้น และมีการกระจายตัวตามมาเป็นระลอก การกระเพื่อมตัวเหมือนจริง และรับรู้ได้ทุกท่วงที ไดนามิก-ทรานเชี้ยนต์ มีความฉับพลันที่ดี การเกิดและหยุดของหัวเสียงและลำดับต่อไปของฮาร์มอนิกติดตามได้ไม่ต้องเพ่งเลยครับ แม็กโครไดนามิกสวิงได้กว้างมากตลอดย่าน ตั้งแต่เบาสุดไปจนดังสุด ไม่มีการอั้นตื้อใดๆ ยิ่งฟังกับเพลงจังหวะคึกคักเร็วๆ หน่อย หรือพวกที่เป็นการบันทึกแสดงสด ผมว่า Pur Sang Platinum ดูจะช่วยให้คุณสนุกสนานไปกับการฟังเพลงได้มากขึ้น

ในส่วนของเวทีเสียงนั้น ผมให้เต็มสิบทั้ง 2 รุ่น เพราะไม่ว่าจะเป็นด้านกว้างหรือด้านลึกนั้นก็ช่างสมบูรณ์แบบ ราวๆ กับว่าห้องฟังหายไป แล้วผมเข้าไปอยู่ในห้องบันทึกเสียงหรือสถานที่แสดงคอนเสิร์ตจริงๆ ตรงนี้บางทีเปลี่ยนสายไฟราคาแพงๆ เข้าไป ยังให้ไม่ได้เท่านี้เลยครับ อย่างไรก็ตามเอาเฉพาะคุณสมบัติเกี่ยวกับเวทีเสียงและอิมเมจ ผมยังชอบเจ้าตัวสีทองมากกว่าแพลตตินั่มอยู่หน่อยๆ ตรงที่ว่าการถ่ายทอดของมันมีจุดที่โฟกัสของอิมเมจแต่ละจุด แล้วเกลี่ยออกไปรอบๆ นั่นจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อเข้าหากันของชิ้นดนตรีต่างๆ เป็นไปอย่างงดงามครับ

สรุป

โดยสรุปแล้ว ฟิวส์ C3 Pur Sang นับเป็นนวัตกรรมของฟิวส์ระดับออดิโอไฟล์โดยแท้  สนนราคาไม่ถูกนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพของเสียงและราคาขายของฟิวส์ในระดับเดียวกันแล้ว ต้องถือว่าสมน้ำสมเนื้อเลยทีเดียว สิ่งที่ให้ออกมานั้นต้องใช้คำว่า “เหลือเชื่อ” และขอฟันธงลงไปให้หายสงสัยว่า เมื่อเทียบกับฟิวส์ C3 รุ่นก่อนๆ แล้ว Pur Sang เหนือกว่ามากครับ ลองใช้สัก 1  ชิ้น แล้วเชื่อว่าจะมีชิ้นที่ 2, 3 ตามมา และเช่นเคยต้องเตือนกันไว้ว่า เมื่อบทความทดสอบชิ้นนี้ออกเผยแพร่อาจจะทำให้ฟิวส์ขายเร็วจนค่าความต้านทานที่เหมาะสมกับเครื่องของคุณขายหมด เพราะฉะนั้น ถ้าสนใจอย่ารอครับ สินค้าของ C3 นี่ หมดแล้วต้องรอกันอีกนานกว่าจะมีล็อตใหม่เข้ามาครับ. ADP

ราคา 12,800 บาท

Sole Distributor
BKS BANGKOK STEREO
โทร. 061-1623242