ไกรฤกษ์
นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์

ในวงการเครื่องเสียงบ้านเราปัจจุบันนี้ มักมองกันว่าตลาดเครื่องเสียงย่านระดับกลาง (Mid End) นั้น เหี่ยวเฉาตายกันไปหมดแล้ว ที่ยังเดินหน้าไปได้จะมีแต่ High End หรือไม่ก็ไประดับ Entry Level เลย แต่ในทัศนคติของผมนั้น เครื่องเสียงในระดับ Mid End เป็นอะไรที่สนุก น่าเล่นที่สุด มันให้ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไปมากกว่า High End 

 ในส่วนของ Analog Playback ไม่ว่า Turntable, Phono Stage และหัวเข็ม ย่านราคาระดับหลักหมื่น (ย่านประมาณ 4-6 หมื่นบาท ในแต่ละ Component) จะน่าเล่นมาก และถ้า Set up ดีๆ นี่ เสียงจะดีมากๆ สบายกระเป๋า เอาเงินไปซื้อ Software มาฟังสบายใจ และหัวเข็มที่จะรีวิวต่อไปนี้ก็เป็นหัวระดับกลางที่น่าสนใจ นั่นคือ London: Super Gold

Decca / London ตำนนที่ยังมีลมหยใจ

หัวเข็ม Decca / London จัดว่าเป็นหัวเข็มระดับตำนานของวงการเครื่องเสียงตีคู่มากับ Ortofon ของเดนมาร์กเลยทีเดียว มีตั้งแต่หัวในยุคโมโน จนถึงปี 1958 ก็ได้เริ่มมีการผลิตหัว Stereo ใช้ชื่อเหมือนแผ่นเสียงคือ หัว ffss (full frequency stereo sound) Mark 1, 2,3 ลักษณะของหัวมีเอกลักษณ์มาก คือหัวสี่เหลี่ยมลูกเต๋า เวลาเล่นต้องใช้กับอาร์มของ Decca เอง ถ้าจะเล่นกับอาร์มทั่วไปต้องใช้ adaptor ต่อ 

ต่อมาในปี 1989 ทาง Decca ได้ตัดสินใจ ปิดส่วนของแผนก Radio, TV, Hi-Fi และได้ขาย ลิขสิทธิ์หัวเข็มให้แก่ John Wright ภายใต้ชื่อยี่ห้อ London ดังนั้น หัวเข็มภายใต้ Concept เดิมของ Decca จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น London ระบบการทำงานของหัวเข็มนั้นยังคงรูปแบบเดิมของ Decca ทั้งหมด หัวรุ่นแรกของ John Wright / London คือ… รุ่น Jubilee และรุ่น Super Gold ก็ออกตามมา ปัจจุบันนี้รุ่นสูงสุดของเขาจะเป็น รุ่น Reference (ราคา 5000 เหรียญสหรัฐฯ) 

Unique Design 

เรามาดูหัวเข็มที่เราเล่นกันทั่วๆ ไปก่อน ตั้งแต่ สมัยยุคของ Ortofon เมื่อสัก 40-50 ปีก่อนถึง ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นหัว MM หรือ MC ก็จะมี stylus ติดกับก้านเข็ม (cantilever) ไปยังจุด falcrum ที่มี rubber suspension อยู่ ส่วนปลายของก้านอีกด้านจะสั้นกว่ามากพอควร ติดกับ magnet ที่อยู่ระหว่าง coil (MM) หรือติดกับ coil ที่อยู่ระหว่างสนามแม่เหล็ก (MC) อันนี้เราทราบและเข้าใจกันทั่วไปนะครับ ทีนี้มาดูหัว Decca/ London กัน 

หัวเข็ม London ออกแบบอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่มีแท่งยาวก้านเข็ม cantilever แบบหัวทั่วไป เราจะเห็นแค่ปลาย stylus ที่โผล่มาจากใต้ตัว body ของหัวเข็มเพื่อแทร็กร่องแผ่นเสียงเท่านั้น ตัว stylus ยึดกับแท่งเหล็ก (armature ตามใน ภาพ) ที่อยู่ระหว่าง coil และแม่เหล็ก (เป็น moving iron) ไม่มีส่วนของ rubber material ในจุด falcrum ของก้านเข็มแบบหัวทั่วไป ที่มาของ concept นี้คือ วิศวกร Decca เขามองว่า แรงสั่นสะเทือนจากปลายเข็มที่แทร็กไปตามร่องแผ่นเสียงนั้น เมื่อผ่านก้านเข็มและตัว damping rubber ต่างๆ จะเกิดการสูญเสียของสัญญาณไปมากพอควร เอาให้เห็นภาพเข้าใจง่ายๆ นะครับ สมมุติเราถือไม้พลองยาวๆ อันหนึ่ง แต่เราไม่ได้จับตรงกลางเป๊ะ เราจับค่อนมาทางปลายด้านหนึ่ง (สมมติว่าค่อนมาทางขวา) ปลายทางซ้ายคือ stylus จุดที่จับคือ falcrum ที่มี damping rubber และปลายด้านสั้นคือ coil ของหัวเข็ม 

ด้าน coil ที่อยู่ด้านสั้น ก็จะมีการขยับตัว ตามการแทร็กร่องของปลายเข็มที่อยู่บน range of motion ที่ยาวกว่า นั่นคือการขยับของปลาย เข็มด้าน stylus สมมติสิบส่วน จะเกิดการขยับของปลายอีกด้านของก้านเข็มที่ติดกับ coil แค่สักสองส่วน แถมยังมีแรงสั่นสะเทือนที่ถูกสลายไป ตรงจุด falcrum ที่มี rubber suspension อีก จึงเป็นเหตุผลที่วิศวกร Decca ออกแบบเข็มที่ไม่มีก้านเข็มแบบยี่ห้ออื่น 

ทีนี้ หัวเข็มที่ไม่มีก้านเข็มนั้น ไม่ได้มีแต่ Decca/London เจ้าเดียว มียี่ห้ออื่นอีก เช่น Neumann, Ikeda บางรุ่น ที่เราจะเห็นแค่เดือย ของ stylus โผล่มาเท่านั้น ตรงนี้ concept คล้าย Decca แต่เฉพาะเรื่องก้านเข็ม ส่วนไส้ในนั้นแตกต่างกัน 

หัว Neumann ในตำนานนั้นเป็นแบบไม่มีก้านเข็ม จริงๆ มีก้านเข็มแหละครับ แต่ว่าวางแนวขนานผิวแผ่น และย้ายเอา coil มาอยู่ติดถัดจาก stylus เลยทีเดียว ถัดออกไปก็เป็น permanent magnet แรงสูง (จริงๆ หัวเข็ม concept แบบที่ ว่าเอา coil มาอยู่ใกล้ stylus ที่สุด ณ ปัจจุบัน ที่มีทำคือ audio technica Art 1000) 

จริงๆ ถ้าเราจะบอกว่า การเล่นกลับของหัวเข็มแผ่นเสียงเป็นการย้อนกลับกระบวนการตัดแผ่นเสียง ถ้าเราไปดูโครงสร้างของหัวตัดแผ่น เสียงก็จะพอมองออกว่า หัวเข็ม Neumann มีลักษณะใกล้เคียงกับ cutting head มากกว่า หัวเข็มแบบมีก้านแบบทั่วไป นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมหัวแบบ Neumann ถึงเสียงดีและราคาสูงมาก

สำหรับหัวเข็ม Decca / London ออกแบบ ได้พิสดารกว่านี้ คือ หนึ่ง… หัวเข็มมี coil สามชุด และแม่เหล็กสองคู่จะมี single coil อันเดียว วางอยู่ตรงระดับใกล้ปลายเข็มเลย เรียกว่า horizontal coil ไว้รับสัญญาณการแทร็กร่องแบบขยับตัวซ้าย-ขวา (lateral movement) จากนั้นแท่งเหล็ก armature ก็จะยื่นไปข้างบน แยกเป็นซ้ายขวา ยึดกับแท่งเหล็กที่มี coil สองตัว ซ้ายขวา และแท่งแม่เหล็กอยู่ถัดไป ตามภาพ 

สัญญาณที่มาจาก single coil ชุดล่าง จะเป็นสัญญาณรวม L + R ส่วนสัญญาณที่มาจาก coil สองตัวชุดบน เขาจะเชื่อมสัญญาณมาเป็น L – R เมื่อเอาสัญญาณทั้งสองส่วนมารวมกัน คือ (L+R) + (L-R) ก็จะได้สัญญาณ 2L และส่งไปยัง pin ของแชนเนลซ้าย ส่วนสัญญาณที่เอามา ลบกัน คือ (L+R) – (L-R) ก็จะได้สัญญาณ 2R และส่งไปยัง pin ของแชนเนลขวา เรียกว่า ออกแบบได้ฉลาดล้ำจริงๆ 

ปัจจุบันนี้ หัวเข็ม London ก็ผลิตด้วยมือ ทุกตัวในอังกฤษ ดังนั้น บางทีน้ำหนักของหัวเข็ม แต่ละตัวอาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย รุ่น Super Gold จัดเป็นรุ่นกลางๆ ของยี่ห้อนี้ มีรุ่นที่เหนือกว่านี้อยู่อีกสองรุ่น คือ… รุ่น Jubilee และ รุ่น Reference ผู้ผลิตกล่าวไว้ว่า ตัว Super Gold ใช้วัสดุที่ใกล้เคียงกับรุ่น Reference และให้น้ำเสียงได้เรียกว่า 75% ของรุ่นสูงสุดเลยทีเดียว 

สเป็กหัวเข็มที่สำคัญๆ ได้แก่… Line Contact Stylus, น้ำหนักหัวเข็มค่อนข้างเบา 6.7 กรัม, ตอบสนองความถี่ 20Hz – 40KHz, ค่า Tracking Force ที่แนะนำคือ 1.8 กรัม, Output Voltage 5 mV เท่ากับหัว MM ทั่วไป 

Reviewing Equipments 

อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่า เครื่องระดับ Mid End นี้ สนุกมากในการเลือกอุปกรณ์ และ Set Up ผมเลือกเครื่องเคียงที่มีระดับราคา ใกล้เคียงกันมารีวิว ตอนแรกชั่งใจว่าจะใช้ Phono ตัวไหนดี ระหว่าง ASR Mini Basis กับ EAR 834P สุดท้ายก็เลือก EAR ครับ เพราะเป็นหลอด และเป็นเครื่องอังกฤษ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่… 

• Dr. Feickert Analog Firebird Turntable, SAEC 308L Tone Arm 
• EMT930 Turntable, EMT929 Tone Arm 
• EAR 834P Phono Stage 
• Levin Record Mat, SDS Soundeck Record Mat 
• หัวเข็ม van den Hul MC10 บนอาร์ม Jelco 750L บนแท่น EMT930 เพื่อฟังเปรียบเทียบ 
Tascam DV RA1000HD สำหรับ rip สัญญาณเสียง Analog เป็นไฟล์ Digital เพื่อ demo ให้ผู้อ่าน 

แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบ 

1. Audiophile Analog Selection Vol.1 (2XHDFTV 1143) 
2. Bad Genius Original Motion Picture Soundtrack (Resurrec 2019) 
3. Matti Ollikainen Trio – Analogue Adven tures (Marten Recordings MRLP03) 
4. Kyung Wha Chung: Souvenirs: A Collection of Favorite Violin Pieces (Analogphonic PWC2L-0004) 
5. Vanessa Fernandez: I Want You (Groovenote GRV 1200-1) 
6. Bizet: L’ar Le’sienne Suites 1&2, Carmen Suite (EMI SAX 2566) 
7. Dvorak – New World Symphony: Constantin Silvestri (EMI ASDF-151) 

หัวเข็ม London นี้ ขึ้นชื่อว่ามีความยากลบากในการตั้งมุมหัวเข็ม เนื่องจากว่าไม่มีก้านเข็ม มีแค่เดือย stylus ที่อยู่ตรงกลาง body ดังนั้น การที่จะตั้งระยะ overhang กับ offset angle บน พวก alignment template จึงค่อนข้างยากมาก ผมเลยเลือกที่จะติดตั้งลงอาร์ม SAEC ซึ่งมี ขั้นตอนง่ายกว่า (แท่น Dr.Feickert Analogue รุ่นFirebird) และคิดว่ามันน่าจะไปด้วยกันได้ดี ถอด headshell แล้วติดหัวเข็ม ตั้งหัวเข็มให้ body ตรงกับตัวบอดี้ของ headshell และตั้งระยะ overhang ให้ได้ 5 มิลลิเมตร ซึ่ง shell ของเขาจะมีร่องบากเป็นมิลลิเมตรให้อยู่แล้ว เราก็ เล็งให้ตแหน่ง 5 มม. ตรงกับปลายเข็มของ London ก็น่าจะเรียบร้อย จากนั้นก็ใส่ shell กลับเข้าไปที่อาร์ม ตั้งน้หนักแรงกดไว้ประมาณ 1.8 กรัม 

แต่เมื่อถึงเวลาติดตั้งจริงๆ แล้วนั้น เสียงที่ได้ กลับมีแต่ความมืดมัวอย่างบอกไม่ถูก เวทีเสียง ไม่เปิดกว้าง ปลายเสียงแหลมไม่ทอดยาว ได้ พยายาม re-check ค่าการติดตั้งทุกอย่างก็ยัง ไม่มีอะไรดีขึ้น เลยลองสืบค้นข้อมูลจากใน Lencoheaven forum ดู พบว่า… หัวเข็มตระกูล London นี้จะแม็ตช์กับ dynamic balance arm และไม่ค่อยจะถูกโรคกับอาร์มแบบ knife edge bearing นัก เช่นพวก SME3009 ตัว SAEC ของผมนี่ก็เป็น bearing แบบใบมีดเช่นกัน และอีกประการหนึ่ง อาร์ม SAEC 308L เป็นอาร์มที่มีค่า null point แปลกประหลาดกว่าอาร์มอื่น เลยย้ายไปเล่นกับแท่น EMT930 แทน 

ผมจัดการเอา Super Gold ติดตั้งลงบน headshell เปล่าของ EMT (J shell) หัวเข็มทั่วไป ที่จะลง J shell ได้นั้นค่อนข้างหายาก เนื่องจาก เนื้อที่แคบมาก โชคดีที่หัว Super Gold มีขนาดสั้นและเล็กพอที่จะลง J shell ได้อย่างสบาย รางบนหัว J shell ก็มีให้ไม่ยาวมากเหมือน shell ทั่วไป ผมพยายามถอยระยะ overhang จนสุดราง ก็ยังเกินจากจุด null point ไปประมาณครึ่ง มิลลิเมตร จากนั้นก็เล็ง offset angle ซึ่งหัวไม่มีก้านเข็ม จึงต้องใช้การเล็งจากตัวด้านข้างของ body เข็มให้ได้ขนานกับ alignment grid แทน ตั้งแรงกดปลายเข็ม (VTF) ไว้ที่ 1.8 กรัม ตามสเป็ก 

เนื่องจากหัวเข็มตัวนี้มีความเตี้ยของบอดี้ มากกว่าหัวเข็มทั่วไป ระยะ VTA จะสูงกว่าปกติ และเวลาเล่น ท่ออาร์มจะไม่ขนานกับผิวแผ่นเสียง แต่จะดูเหมือนทิ่มลง เมื่อเทียบกับจุด pivot เราก็มีทางเลือกได้สองอย่างคือ ลดความสูงของอาร์มลง หรือไม่ก็หา mat มาวางบน platter ให้ สูงขึ้น ผมเลือกทางเลือกที่สองครับ เนื่องจากว่า ถ้าผมลด VTA ของอาร์มลง ผมต้องไปปรับตัวยกอาร์ม (arm cue) ให้เตี้ยลงด้วย สำหรับแท่น EMT ต้องใช้ไขควงปากแบนยาวๆ ไขคลายน็อตสองตัว จากด้านหลังซึ่งยุ่งยากมาก ผมเลยเลือกที่จะวาง mat เพิ่มแทน ซึ่งสะดวกกว่ามาก พอดีได้ยืม Levin Mat ของเยอรมันจากร้าน Image เลยได้ ลองกันทีเดียว ส่วนหัวเข็มที่ผมฟังเปรียบเทียบจะ เป็น van den Hul MC10 (มีระดับราคาใกล้เคียง กับ Super Gold) ติดตั้งบนอาร์มสิบสองนิ้ว Jelco 750L ที่วางด้านหลังของแท่น EMT สัญญาณจาก Super Gold วิ่งเข้า MM mode ของ EAR 834P (รุ่นที่ผมใช้มีปุ่มปรับเพิ่มลดเกนได้เพื่อความ matching ระดับเสียงร่วมกับปรีแอมป์) 

หลังจาก Set Up และ Re-check จนแน่ใจ แล้วว่าทุกอย่างถูกต้อง (พร้อมกับสวดมนต์ เล็กน้อย) ก็ได้เริ่มเลือกหยิบแผ่นมาลงเข็ม แผ่นแรก ที่เลือกเป็นแผ่นของสังกัด 2XHD ของ Rene Laflamme ผมเลือกแทร็กที่ Rene บันทึกเอง สองแทร็กลง analog tape ผ่านเครื่อง Nagra T Audio ที่สปีด 30 ips คุณภาพเสียงที่ได้รับฟัง หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เสียงมีความเปิดมากกว่า หัวเข็ม van den Hul MC10 เสียอีก ทุกอย่าง เปิดกระจ่าง สด สปีดเสียงเร็ว สนามเสียงไปได้สุด ทั้งซ้ายและขวา มีเพียงมิติด้านลึกเท่านั้นที่ยัง ทำได้ไม่เท่าหัว MC10 แต่หัว MC10 นั้น เสียง มืดมัวกว่า Super Gold มาก และรายละเอียด ของเครื่องเคาะเล็กๆ น้อยๆ Super Gold ทำได้ดีกว่ามาก (ทดลองฟังได้ที่ https://soundcloud.com/emt930/katjar-percussion-ensemble

แทร็กแนวเพลงพื้นบ้านอย่างเพลง esperance (https://soundcloud.com/emt930/esperance) เราจะรู้สึกได้ถึงความฉับไวของเสียง ที่เหนือกว่าหัวเข็มแบบทั่วๆ ไป มันไม่ได้เร็วและ เนื้อเสียงบางแบบเสียงจากซีดี แต่ยังคงมีความอิ่ม ของเสียงแบบ analog ยังอยู่ครบถ้วน 

เลือกหยิบแผ่นแนวเพลงร้องบ้าง อย่างแผ่นนี้ Original Soundtrack จากภาพยนตร์เรื่อง ฉลาด เกมส์โกง (Bad Genius) เป็นแผ่นเสียงเพลงไทย ที่ขึ้นชื่อยอมรับกันในวงการนักเล่นว่า บันทึกเสียง มาได้ดีมากๆ ผมลองบันทึกเสียงด้วยหัวเข็ม Super Gold นี้ ในแทร็กแรกที่เป็นเพลงประจำโรงเรียนกรุงเทพทวีปัญญา ต่อด้วยเพลงประกอบช่วงฉากเข้าห้องสอบของนางเอกและเพื่อน เพลงโรงเรียนนี้ ถ้าฟังเผินๆ หรือฟังผ่านการเล่นหัวเข็มอื่น เราอาจจะคิดว่า คุณลุงสันติ ลุนเผ่ ร้องอยู่ท่านเดียว แต่จริงๆ มีเสียงคู่ประสานอีกเสียงหนึ่งซ้อนอยู่ ถัดจากนั้นเป็น sound ประกอบฉากในช่วงเข้าห้องสอบ รายละเอียดเสียงเล็กเสียงน้อย เสียง deep bass จาก synthesizer ในช่วงนาทีที่ 1:58 กับ 2:06 นั้น ลงได้ลึกมาก 

เลือกแผ่นเสียงเพลงร้องอีกแผ่น ของ Vanessa Fernandez ชุดใหม่ล่าสุด I Want You สังกัด Groovenote แผ่นนี้เป็นการบันทึกเสียงลง analog master tape ที่สปีด 30 ips แล้วเอามาสเตอร์มาตัดเป็นแผ่นเสียงสปีด 45 (ลองไปชมคลิป recording session กันได้ที่ youtube ของมือกีตาร์ Tim Pierce ครับ ที่ https://www.youtube.com/watch?v=acW1U1C6GmQ ) แทร็กเพลง I Want You (https://soundcloud.com/emt930/i-want-you) นั้น มีความไหลลื่นของน้ำเสียงจากการบันทึกแบบ AAA ที่เป็นสิ่งที่นักเล่นปรารถนาจะฟังกันมีในแผ่นเสียงชุดนี้ และหัวเข็ม Super Gold ก็ได้รายงานได้อย่างครบถ้วน บังเอิญว่าต้นเพลงแผ่นผมมีรอยขนแมวบางๆ หัวเข็ม Super Gold ก็ได้แทร็กรายละเอียดต่างๆ ของรอยขนแมวมาให้ผมได้ยินชัดเจนกว่าหัวเข็มอื่นๆ ที่แพงกว่าเสียด้วยซ้ำผมคิดว่าการออกแบบของหัวเข็มที่ไม่มีก้านเข็มนั้น มันถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในร่องแผ่นเสียงมาอย่างหมดเปลือกไม่ปิดบัง ถ้าแผ่นที่บันทึกเสียงได้ดี หัวเข็ม Super Gold ก็จะแสดงคุณภาพของการบันทึกแผ่นนั้นได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน

ความรู้สึกส่วนตัวนั้น ผมว่าหัวเข็ม Super Gold เป็นหัวที่เล่นแผ่นเสียงเพลงแจ๊สได้อารมณ์มากที่สุด เพลง Autumn Leaves จากทั้งสองแผ่นข้างต้น มันมีความสดสมจริง วง Matti Ollikainen Trio ท่านสามารถฟังได้ที่ https://soundcloud.com/emt930/autumn-leaves-1 ผมชอบความลื่นไหลของวงที่หัว Super Gold ถ่ายทอดออกมา ได้ลองเอาไฟล์ที่ริปจากแทร็กนี้ไปเปิดที่ร้าน Sound Box พบว่าสเกลเสียงใหญ่โตมาก (เล่นผ่านลำโพง Harbeth) ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากแท่น EMT ที่ให้สเกลเสียงที่ใหญ่และเบสที่ดี ยิ่งเมื่อลองเปิดฟังเครื่องเป่าจากแผ่น Somethin’ Else (แผ่น re-issue ของค่าย Music Matter) ผมว่าหัว Super Gold แม็ตช์ที่สุดกับแจ๊สแนวเครื่องเป่าทองเหลือง พวกแนว Blue Note Jazz นี่ ผมแนะนำเลยว่าให้ลองใช้หัว London Super Gold เล่นดู มันถ่ายทอดความดิบของเครื่องเป่าได้ดีที่สุดหัวหนึ่งเลยทีเดียว

เพลงคลาสสิกก็ทำได้ไม่เลวนัก สำหรับหัว Super Gold แผ่นเสียงคลาสสิกวงใหญ่ มันให้ความหวานของเสียงไวโอลินได้ดี แต่พวก bass slam อย่างพวก tympani อาจจะสู้หัว MC Low หรือหัว EMT TSD15 มิได้ พวก violin solo จากแผ่นเสียง Kyung Wha Chung: Souvenirs ให้ body และความฉับพลันของเสียงได้ดีมาก ผมริปแทร็กตัวอย่างลง soundcloud ไม่ได้ เนื่องจากทาง Warner Music ได้ปิดกั้น เนื่องจากเรื่องลิขสิทธิ์ เลยเอาไฟล์ลงไว้ใน google drive ครับ มีเพลง Schon Rosmarin (https://drive.google.com/open?id=1P_0YQ9gW8MsE7RAdgEDTgS-41bANzPIg) และเพลง Caprice venois (https://drive.google.com/open?id=1dq3E3U4-Dskoca59yLPdzgxxwkoliKN9) น้ำเสียงของหัว Super Gold กับ EAR 834P นับว่าไปกันได้ดียิ่งนัก 

Wrap Up

ขออนุญาตสรุปความเห็นของผมกับหัวเข็มนี้เป็นข้อๆ นะครับ

• มีการออกแบบเฉพาะตัว และมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับกระบวนการตัดแผ่นเสียงมากกว่าหัวเข็มที่มีก้านเข็มทั่วไป

• การ Set Up ต้องมีความอดทน และความละเอียดมากพอควร หัวนี้ไม่ compromise กับการ Set Up ที่ไม่ดี คือถ้าเซ็ตไม่ดีนี่ เสียงอาจจะถึงกับรับไม่ได้เลยทีเดียว แต่ถ้าเซ็ตได้ลงตัวแล้ว คือสวรรค์แท้ๆ

• ถ่ายทอดทุกอย่างในร่องแผ่นเสียงได้หมดจด ดังนั้น ถ้าแผ่นเป็นรอยมาก หรือไม่สะอาด ก็จะมีเสียงรบกวนออกมามากด้วยเช่นกัน แผ่นเสียงที่บิดงอมากๆ ก็ไม่สามารถเล่นได้ เพราะตัวเข็มมีความ load เตี้ยมากๆ 

• ความฉับไวของเสียง, soundstage ทำได้ดีมาก (ด้านกว้างดีกว่าด้านลึก), แนวเพลง Jazz เครื่องเป่านี่คือ matching กันมากๆ

• หัวเข็มมีความทนทานและอายุการใช้งานได้นานทีเดียว (ผมมีทั้งหัว Super Gold นี้และหัว Decca Mark 3 ที่ยังใช้งานได้ดีจนถึงปัจจุบัน) โอกาสเกิดความเสียหายจากการเล่น เช่น ก้านหัก, sytlus หลุดนั้นน้อยมาก เพราะทุกอย่างโผล่ออกมานิดเดียวจากตรงกลางของท้องเข็ม 

• Matching กับภาคโฟโน MM ทั่วไปได้ง่าย เนื่องจากมี output mV ที่สูง (5mV) มีบางเว็บไซต์ได้แนะนำให้ลองเลือก impedance ของโฟโน ให้ลดลงจากค่า 47kOhm ลงมาเหลือ 33kOhm จะได้เนื้อเสียงที่ดีขึ้น ถ้าภาคโฟโนของท่านสามารถเลือกได้ 

สุดท้ายนี้ อย่าลืมไปเปิดคลิปเสียงฟังประกอบรีวิวนี้นะครับ ที่ soundcloud playlist ที่ผมทำไว้แล้ว https://soundcloud.com/emt930/sets/london-super-gold-cartridge และอีกสองเพลงที่อยู่ใน google drive แล้วก็ไปลองฟังของจริงได้ที่ร้าน Sound Box บนห้าง ฟอร์จูน ชั้นสามครับ. ADP

ราคา 58,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Sound Box
โทร. 089-920-8297, 0-2642-1448, ธงชัย 092-890-4660, โมทย์ 094-124-2732

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 271