ชุมพล

นักเขียน :  ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ :

 หลังจากที่ AE ส่งลำโพงตั้งพื้นรุ่น AE109 ออกมาสู่ตลาด ก็ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี ด้วยคุณภาพและราคาที่คุ้มเหลือหลาย ในปีนี้ AE เลยส่งรุ่นใหญ่ไฟกะพริบออกมาอีกรุ่น คือ AE309 ซึ่งยืมเทคโนโลยีมาจากลำโพงรุ่น Flagship ของ AE เกือบทั้งหมด ที่สำคัญคือ มันเป็นลำโพงที่มองดูแพง ฟังเสียงก็รู้สึกว่าแพง แต่ราคาขายจริง กลับไม่ยักกะแพง!!!

AE กำหนดให้ 309 อยู่ในหมวดลำโพง slim line คือตู้ไม่ใหญ่โตมาก ไม่กินเนื้อที่ของห้อง ตัวตู้ลำโพงมี 3 สีให้เลือก คือ… สีขาว สีดำมัน (เปียโน) และลายไม้ธรรมชาติ แต่ละข้างมีไดรเวอร์ 3 ตัว ประกอบด้วย มิด-เบส ขนาด 5.2” 2 ตัว ไดอะแฟรมทำด้วยวัสดุเซรามิกประกบอะลูมิเนียม ลักษณะของกรวยจะตื้น แต่แข็งแรงมาก นอกจากนั้นยังมีช่วงชักที่ยาว ทำให้รับเสียงเบสลึกๆ ออกมาได้ต่ำถึง 37Hz

ทีเด็ดคือ ทวีตเตอร์ หรือตัวขับเสียงแหลมที่ออกแบบขึ้นมาใหม่สำหรับซีรี่ส์ 300 โดยเฉพาะ มันทนต่อกำลังขับได้มากขึ้น และไม่สร้างเรโซแนนซ์ที่ผิดเพี้ยนให้กับสัญญาณเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเวฟไกด์ที่ครอบอยู่รอบๆ ตัวทวีตเตอร์ ทำหน้าที่ช่วยเสริมการกระจายเสียงออกไป (เหมือนมีแรงสั่นเพิ่มขึ้น) ทำให้ได้ตำแหน่ง Sweet spot ที่กว้างมากยิ่งขึ้น

ในส่วนตัวตู้ทำด้วยไม้ MDF ด้านในมีการคาดโครงเสริมความแข็งแรงเหมือนกับรุ่น Reference Series ตู้ลำโพงที่มีการคาดโครงมักพบเจออยู่ในลำโพงระดับไฮเอ็นด์ราคาแพงจัด นานๆ จะมีอยู่ในลำโพงระดับราคาไม่กี่หมื่นบาทครับ ที่ผมเห็นว่าแปลกตาคือ ท่อระบายเบสที่ออกแบบมาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าบางๆ ทำให้ผมสงสัยว่าAE309 เป็นลำโพง transmission line หรือเปล่าแต่ข้อเท็จจริงคือไม่ใช่ ที่เขาออกแบบท่อระบายเบสมาแบบนี้ก็เพื่อลดปฏิกิริยาลมตีกลับ (Turbulence) เวลาที่เบสกระทุ้งออกมาแรงๆ ทำให้เสียงเบสมีความสะอาด ไม่บวมเบลอ อะไรประมาณนี้

นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าเป็นประเพณีปฏิบัติสำหรับลำโพง AE ที่จะต้องใส่วัสดุกันสะเทือน และมีน้ำหนักมาก เอาไว้ในตู้เพื่อให้ตู้ลำโพงยืนอยู่ได้นิ่งๆ เมื่อทำงานร่วมกับเดือยแหลมใต้ลำโพงแล้วจะทำให้เสียงนิ่ง ไม่มีเรโซแนนซ์ของตัวตู้เข้ามาก่อกวนได้ ขั้วต่อลำโพงซิงเกิ้ลไวร์แบบไบดิ้งโพสต์บอดี้พลาสติก

อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมทดสอบ ผมใช้อินทิเกรตแอมป์ TS Audio รุ่น 34 TC ที่อัพเกรดอุปกรณ์ภายใน และสั่งพันหม้อแปลงขึ้นมาใหม่, เครื่องเล่นซีดี NEC CD-300, เครื่องเล่นแผ่นเสียง ELAC Miracord 70 (หัวเข็ม Audio Technica AT95E), สายไฟ Zen­sonice และ Entreq, ปลั๊กรางกรองไฟ Audioquest NRG-1000, สายลำโพง Zonotone 7700, สายสัญญาณ Audioquest Columbia, มีตัวรองเครื่อง Finite Element รุ่น Cerabase รองใต้แอมป์อยู่ 4 ลูก, อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น Platin เอามาใส่หลังจากฟังเสียงลำโพง “แบบไม่ช่วย” เสร็จแล้ว ซึ่งก็ได้ผลต่างทางเสียงออกมาอย่างน่าพอใจเพิ่มขึ้น

ผมทำการเบิร์นอินลำโพงด้วยการหันหน้าลำโพงชนกัน ต่อสายลำโพงตู้หนึ่งแบบกลับเฟส แล้วเปิดเพลงคลาสสิกที่ระดับความดังปกติอยู่ 30 ชั่วโมง หลังจากนั้นเอามาเซ็ตอัพ และต่อสายลำโพงแบบถูกเฟสอีก 10 กว่าชั่วโมง เสียงแหลมลดอาการแข็งๆ ลงไปมาก เบสก็เด้งตัวดึ๋งดั๋งแล้ว แต่ยังขัดใจที่เวทีมันเตี้ยตามความสูงของตู้ลำโพง ผมเลยเอาถ้วยรองสไปก์ของ Cold Ray มารองใต้เดือยแหลมคู่หน้าของลำโพง AE309 ให้หน้ามันแหงนขึ้นนิดๆ คราวนี้จบเลยครับ ได้เวทีที่มีระดับสูงต่ำใกล้เคียงกับ Reference 3A รุ่น Episode ที่ผมใช้ฟังส่วนตัว

คุณภาพเสียง

เริ่มต้นทดสอบด้วยแผ่น Nostalgia Sampler ที่ซื้อมาจากงาน Hi-End Show ที่ฮ่องกงปีล่าสุด ลำโพง AE309 ตอบสนองทุกความถี่ได้อย่างเสมอภาคสมดุลครับ ไม่มีย่านความถี่ใดที่รุ่มร่าม บุ่มบ่าม เกินหน้าเกินตาหรือมีอาการหลุบเข้าแบบเล่นซ่อนหาการถ่ายทอดเสียงเป็นไปอย่างเปิดเผยทุกท่วงทำนอง ตรงนี้ถือเป็นข้อดีมากๆ ของลำโพงคู่นี้ โดยเฉพาะย่านเสียงต่ำหรือเบส ที่จัดว่าหนักหน่วงเกินตัว แต่ยังคงให้รายละเอียดของโน้ตเบส รวมไปถึงจังหวะจะโคนที่ถูกต้องแม่นยำ

ในการทดสอบลำโพงคู่นี้ ผมจึงต้องวางลำโพงลักษณะที่หันหน้าตรงสู่ตำแหน่งนั่งฟัง ไม่ควรวางลำโพงชิดผนังห้อง เพราะเบสจะล้น อิมเมจไม่เป็นอิสระเท่าที่ควรจะเป็น

ผมลองใช้แผ่นซีดีของ Telrac ประเภทคลาสสิกวงใหญ่ไดนามิกรุนแรงอย่าง Round Up และ 1812 เพื่อจะลองดูว่าคุณสมบัติเกี่ยวกับไดนามิกและอิมแพ็กต์จะเป็นเช่นไร ปรากฏว่าลำโพงตอบสนองได้ดีครับ การสวิงของไดนามิกกว้างขวาง ไร้การอั้นตื้อ เปิดดังๆ ได้สบาย โดยที่ไม่มีอาการตีกลบมั่วซั่ว Macro Dynamic สอบผ่านสบายๆ อิมแพ็กต์รุนแรง สะใจ สไตล์มวยบุกหน่อยๆ พวกเสียงฟาดกลองดังๆ หนักๆ นี่ มีความสด สมจริง สเกลของชิ้นดนตรีต่างๆ อาจจะไม่ใหญ่โตเท่าลำโพงหลักแสน แต่ก็ไม่ได้เล็กจนรู้สึกว่าอึดอัด ฟังแล้วหลอกนะครับ ไดนามิกคอนทราสต์ได้คะแนนสอบ 6 เต็ม 10 ลีลาการนำเสนอยังไม่ชัดเจนในการย้ำหนักเบาอ่อนแก่

เสียงกลางของ AE309 มีโฟกัสชัดเจน เป็นตัวเป็นตน รักษารูปทรงเอาไว้ได้ตลอดเวลาบุคลิกไม่ใช่ประเภทอิ่มเนื้อหวานนุ่ม แต่กระเดียดไปทางสดสมจริงมากกว่าเสียงนักร้องจากอัลบั้มเพลงอภิรมย์ 2 เต็มไปด้วยรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการเอื้อน การเปล่งเสียงออกมาจากเสียงลมลอดไรฟัน ปูลาดด้วยความสะอาดที่ไม่ถึงกับเนียนนุ่ม ผมว่านี่คือเสน่ห์ของลำโพงสัญชาติอังกฤษแท้ๆ เลย กล่าวคือ… มีโทนเสียงโดยรวมที่ค่อนข้างแฟลต (Flat) ไม่มีความเด่นล้ำที่ย่านความถี่เสียงใดเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นลำโพงในระดับราคาแพงหรือราคาถูก เพียงแต่ในรุ่นสูงๆ ก็จะมีความพิเศษโดดเด่นในด้านความคล้ายเสียงดนตรีจริงๆ มากขึ้นไปเรื่อยๆ หรืออาจจะเก่งเรื่องมิติเวทีเสียงอะไรแบบนั้น ซึ่งลำโพงอังกฤษไม่พยายามจูนเสียงเบสให้ใหญ่เกินตัว ฟังแล้วแม้เป็นลูกใหญ่ แต่กลวงอะไรแบบนั้นนะครับ

เสียงกลาง-สูงต่อเนื่องไปจนถึงแหลมต้น เป็นจุดหนึ่งที่ AE309 ทำได้ดีมาก ตั้งแต่ระยะแรกที่เปิดฟังซะด้วยซ้ำไป ทุกๆ เพลง ทุกๆ อัลบั้ม ที่น่ามาเปิดฟังผ่าน AE309 จะเต็มไปด้วยรายละเอียดที่พรั่งพรู ไม่ตกหล่นเลยสักเม็ด เสียงเคาะคีย์เปียโนมีความกังวานใกล้เคียงเสียงจริงมาก ผมคิดว่าการออกแบบทวีตเตอร์ใหม่ และเวฟไกด์ที่ใช้ มีส่วนช่วยให้การ carry เสียงแหลมออกมาจากตู้ลำโพงจนถึงตำแหน่งที่นั่งฟังเป็นไปอย่างกับลำโพงเทพๆ ทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงตำแหน่งนั่งฟังแล้ว ต้องเรียนว่าผมรู้สึกว่าAE309 น่าจะเหมาะกับการฟังใกล้ๆ มากกว่าจะฟังไกลๆ (Far Field) ในห้องฟังขนาดใหญ่ และการจัดวางลำโพงไม่ควรห่างกันเกิน 2 เมตร ไม่งั้นสนามเสียงอาจจะเกิดช่องโหว่ตรงกลางขึ้นได้ครับ

เสียงแหลมตอนบน ผมพบว่ามันยังมีเกรนปะปนอยู่เล็กน้อย เพียงพอที่จะทำให้ Timbre ของเสียงทรัมเป็ตฟังแปร่งหูไปบ้าง แต่ไม่มีเอฟเฟ็กต์ใดๆ กับเสียงเครื่องเคาะโลหะทั้งหลาย ตรงกันข้าม ผมว่ามันคือจุดเด่นเลย เพราะให้ประกายกังวานออกมาได้ดี หรือจะพูดว่ามีมวลของเสียงแหลมค่อนข้างเข้มข้นก็ได้ครับ

เรื่องความต่อเนื่องลื่นไหลของลำโพง พบว่ามีจุดที่ไม่ลื่นหูในย่านของแหลมตอนกลางๆ ประมาณ 7000Hz ต่อไปหาแหลมย่านบน ตรงนี้ต้องยอมรับว่าลำโพงเขาทำมาราคา3 หมื่นนิดๆ แต่ผมเอามาตรฐานลำโพงราคาแสนมาวัด ก็เลยเห็นจุดที่ยังห่างกันอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณฟังเพลงพ็อพ หรือเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น แทบจะไม่ได้ยินอาการที่ว่านี่เลยครับ

คุณสมบัติเกี่ยวกับเวทีเสียง AE309 จัดวางเวทีเสียงค่อนไปทางด้านลึกอยู่สักหน่อย แล้วที่แปลกคือ มันเด่นตรงความลึกของเวทีมากกว่าที่จะฉีกตัวออกไปในด้านข้างด้วย ยิ่งโทอินเข้าด้านใน เวทียิ่งแคบลง ดังนั้น ในการทดสอบลำโพงคู่นี้ ผมจึงต้องวางลำโพงลักษณะที่หันหน้าตรงสู่ตำแหน่งนั่งฟัง ไม่ควรวางลำโพงชิดผนังห้อง เพราะเบสจะล้น อิมเมจไม่เป็นอิสระเท่าที่ควรจะเป็น

สรุป

ลำโพง Acoustic Energy AE309 เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกำลังดี ขนาดของตัวตู้อาจเตี้ยไปนิด (น่าจะทำให้สูงกว่านี้สัก 2”) หน้าตาฝีมือการประกอบ ดูแล้วน่าจะแพงเกินราคาคุณภาพเสียงเหมาะจะเป็นลำโพงฟังเพลงมากกว่าดูหนัง ซึ่งถ้าคุณใช้เพาเวอร์แอมป์ที่เสียงนุ่มหวานสักหน่อยอย่าง Marantz 8005 หรือพวก Sugden ผมว่านี่เป็นลำโพงอังกฤษที่น่าเล่นน่าลองมากอีกคู่หนึ่งในขณะนี้ครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 260