วุฒิศักดิ์
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

ช่วงหลังๆ มานี้ ผมมีความสนใจที่จะลองอุปกรณ์จำพวกภาคขยายเสียงมากกว่าอุปกรณ์ชนิดอื่น อาจเป็นเพราะในช่วงปีหลังๆ ผมได้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องต่างๆ ในชุดอ้างอิงหลักไปในหลายๆ ส่วนแล้ว แต่ในส่วนของภาคขยายเสียง เครื่องอ้างอิงเดิมยังคงทำหน้าที่ของมันได้ดีอยู่ ทว่าครั้งนี้ความเชื่อนั้นอาจจะเริ่มสั่นคลอนก็เป็นได้ เมื่อการมาถึงของ Audia Flight: FLS4 ที่ได้มาอยู่ในห้องฟังของผมค่อนข้างนาน 

Audia Flight: FLS4 เป็นแอมป์ซีรี่ส์น้องใหม่จากผู้ผลิตเจ้าเก่าที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมามากกว่า 20 ปีจากประเทศอิตาลีอย่าง Audia Flight ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแบ่งเป็นซีรี่ส์ต่างๆ โดยเริ่มจากรุ่นเริ่มต้นอย่าง Three Series และขยับมาเป็น Classic Series ตบท้ายด้วยพี่ใหญ่อย่าง Strumento Series 

สำหรับปัจจุบัน ใน Three Series จะเหลือแต่อินทิเกรตแอมป์ที่ออกแบบมาให้สามารถเพิ่มบอร์ด DAC และ โฟโน เข้าไปในเครื่องได้ เรียกว่าตัวเดียวจบ ส่วน Classic Series ตอนนี้เหลือเพียง Classic FL PHONO ที่ผมเคยทดสอบไปเมื่อราว 2 ปีก่อน เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะหน้าตาเครื่องที่ยังคงเป็นลักษณะของ Audia Flight แบบดั้งเดิม จึงยังคงชื่อเดิมไว้ ส่วนเครื่องอื่นๆ ในซีรี่ส์นี้ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ไปแล้ว เข้าใจว่าอาจจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วย FLS ที่ผมได้รับมาทดสอบในคราวนี้ เท่าที่ดูจากงานออกแบบ FLS ดูเหมือนมีการปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างมากจากซีรี่ส์ Classic เดิม ถึงจะบอกว่ามีการนำบางส่วนจากซีรี่ส์ Classic มาผ่านการอัพเกรด แต่จริงๆ ดูเป็นการย่อส่วนมาจากซีรี่ส์สูงสุดอย่าง Strumento ให้มีระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นมากกว่า เพราะเท่าที่ได้ข้อมูลมา มีการหยิบยืมการออกแบบมาจาก Strumento No4 มาในหลายๆ ส่วน 

ซึ่งจุดที่น่าสนใจหลักๆ เริ่มจากแนวคิดของการให้น้ำหนักในการจูนเสียงด้วยการฟังเป็นหลักเพื่อให้ได้ความเป็นดนตรีในแบบที่ Audia Flight ต้องการ ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างกล้าหาญในวันที่ตลาดเครื่องเสียงมีแอมป์จำนวนมากที่สเป็กสวยหรู และแข่งขันกันที่ตัวเลขบนหน้ากระดาษ แต่ก็ใช่ว่าทาง Audia Flight จะเน้นการจูนเสียงเอาใจหูโดยไม่มีหลักการมารองรับ เพราะดูจากการออกแบบภาคจ่ายไฟที่ต้องบอกว่าจัดหนักจัดเต็มจนน่าตกใจสำหรับแอมป์ในระดับราคานี้ เริ่มจากมีการแยกหม้อแปลงลูกเล็กๆ ออกมา พร้อมทั้งมีภาคจ่ายไฟเป็นของตัวมันเองหนึ่งชุด แยกต่างหากออกมาจากส่วนอื่นเพื่อจ่ายไฟเลี้ยงให้วงจรควบคุมการทำงาน อีกทั้งวงจรป้องกันต่างๆ ก็แยกออกจากวงจรของเสียงโดยเด็ดขาด 

ในส่วนของวงจรที่เป็นทางเดินสัญญาณเสียงก็ให้ความใส่ใจ โดยเริ่มจากส่วนของภาคขยายแรงดันที่ถูกออกแบบให้เป็นวงจรบาลานซ์ Class A แท้ๆ และวงจรในส่วนนี้ยังถูกบรรจุในกล่องอะลูมิเนียมและหล่อทับด้วยอิพ็อกซี่เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ เนื่องจากการออกแบบวงจรที่เป็น Fully Balanced Class A แท้ๆ จริงๆ แล้วก็เหมือนการเอาวงจร Class A 2 วงจรมาใช้ขยายสัญญาณเดียวกันที่มาทางเฟส + หนึ่งชุด และ – อีกหนึ่งชุด เมื่อเป็นแอมป์สเตริโอก็เท่ากับว่ามีวงจร Class A 4 วงจร แยกกัน ซึ่งถ้าเป็นรุ่นใหญ่อย่าง Strumento No4 ก็จะแยกกันเด็ดขาด แบบว่าแยกหม้อแปลงกันคนละลูกไปเลย แต่ในรุ่นน้องอย่าง FLS ยังคงใช้หม้อแปลงลูกเดียวกัน แต่แยกวงจรจ่ายไฟออกเป็น 4 ชุดของใครของมัน 

นอกจากนี้ ในส่วนของวงจรป้อนกลับที่ Audia Flight เรียกว่า Audia Flight current feedback stage ก็มีการแยกภาคจ่ายไฟออกจากวงจรขยายอย่างเด็ดขาด ซึ่งก็แน่นอนที่จะต้องเพิ่มมาอีก 4 ชุดเพื่อให้ครบทุกเฟสของทั้ง 2 ช่องสัญญาณ ตรงส่วนนี้แค่เฉพาะในส่วนของวงจรที่ใช้กำลังน้อยก็จะได้กำลังสำรองจากตัวเก็บประจุขนาดรวม 18,000uF นับว่าเพียงพอกับการจ่ายให้อินทิเกรตแอมป์ตัวเล็กๆ ได้สบายๆ แล้ว จึงนับว่า Audia Flight ให้มาแบบเผื่อเหลือมาก และเมื่อมาถึงวงจรเอาต์พุตที่ต้องการกำลังสำรองเพื่อจ่ายออกไปขับลำโพงอย่างสุดๆ ก็เป็นหน้าที่ของภาคจ่ายไฟขนาดใหญ่ที่เริ่มจากหม้อแปลงขนาด 2000VA พร้อมด้วยตัวเก็บประจุรวมถึง 280,000uF และยังแยกวงจรจ่ายไฟออกเป็นอีก 4 ชุด แยกแต่ละเฟสเช่นเดิม เท่ากับว่าภาคจ่ายไฟที่เกี่ยวข้องกับทางเดินสัญญาณมีการแยกเป็น 12 ชุด แยกไปเฉพาะในแต่ละสเตจของแต่ละเฟสออกจากกันเด็ดขาด 

นอกจากนี้ ทาง Audia Flight ยังค้นพบว่า การใส่ฟิวส์ในเส้นทางเดินสัญญาณจะมีผลคล้ายการใส่ตัวต้านทานเข้าไปในระบบ ซึ่งจะมีผลเสียต่อเสียง ทาง Audia Flight จึงไม่มีการใส่ฟิวส์ในทางเดินสัญญาณเลย แต่มีการใช้วงจรตรวจจับความผิดพลาดมาคอยควบคุมแทน ดูจากแนวทางการออกแบบแล้ว เรียกว่าไม่ใช่แอมป์ประเภทไร้กำลังที่พยายามจูนเสียงให้หวานๆ กลบเกลื่อนข้อบกพร่องแน่ๆ แต่ออกแนวว่า จัดหนัก จัดเต็ม เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีผ่านเสียงเพลงออกมาได้ถูกหูคนออกแบบถูกใจคนจูนมากกว่า 

ในส่วนของงานตัวเครื่องก็มีการออกแบบที่ดูทันสมัยขึ้นมากกว่าซีรี่ส์ Classic เดิมมาก เพราะเป็นการยืมเส้นสายการออกแบบมาจาก Strumento No1 ปรีแอมป์รุ่นสูงสุดของทาง Audia Flight ซึ่งต้องบอกว่า หน้าตาสวยงามดูดีมากทีเดียว ตัวถังทุกด้านผลิตจากอะลูมิเนียมอย่างหนา มีรอยประกอบที่เรียบแนบสนิทในทุกจุด แสดงถึงการผลิตด้วยเครื่อง CNC ที่มีความเที่ยงตรง ด้านข้างของตัวเครื่องทั้งสองด้านออกแบบให้เป็นครีบระบายความร้อน และมีการประกบด้านบน-ล่างด้วยแผงตัวถังอะลูมิเนียนหนา ทำให้ไม่มีส่วนแหลมคมของครีบยื่นออกมาให้บาดมือเวลาเคลื่อนย้าย รวมความว่า เรียบหรูดูดีมากในระดับราคานี้ 

ส่วนในเรื่องที่หลายคนอาจจะหวั่นใจเมื่อได้ยินคำว่า Class A คือ เรื่องของความร้อน ซึ่งเท่าที่ผมเปิดใช้งานต่อเนื่องแบบ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันอยู่ค่อนข้างนาน และส่วนมากก็ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดเฉพาะช่วงที่เข้ามาฟัง พบว่าความร้อนที่ตัวเครื่องอยู่ในระดับที่เอามือแตะได้ จึงเข้าใจว่าการออกแบบเป็น Class A เฉพาะในช่วงเกนสเตจที่ขยายแรงดันสัญญาณ ซึ่งตรงจุดนี้ยังไม่ได้ขยายกระแสมาก จึงไม่เกิดความร้อนมากมายนัก ส่วนการทำงานของภาคเอาต์พุตน่าจะเป็น Class AB ปรกติ ความร้อนก็อยู่ในระดับธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ ถ้าเป็นการใช้งานปรกติทั่วไป 

คุณภาพเสียง

ในการทดสอบใช้งานในคราวนี้มีเรื่องน่าเสียดายเล็กน้อยอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ จริงๆ แล้วทาง Audia Flight ได้มีการแนะนำปรีแอมป์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับ FLS 4 ซึ่งก็คือรุ่น FLS 1 แต่เนื่องจากเป็นสินค้าที่ออกมาใหม่มาก เพิ่งจะมีเฉพาะตัวโชว์ที่ไปออกงานเปิดตัว จึงยังไม่มีสินค้าส่งมาให้ลองใช้งานคู่กัน และเรื่องที่สองคือ หลังจากคิวทดสอบ FLS 4 ตอนแรกมีแผนว่าจะมีลำโพงที่ตัวเล็กกว่าลำโพงอ้างอิงของผมเข้ามาทดสอบต่อ ซึ่งน่าจะมีขนาดกำลังดีเมื่อเล่นกับ FLS 4 แต่น่าเสียดายที่ลำโพงก็มาไม่ทันเช่นกัน จึงต้องใช้งาน Audia Flight FLS 4 ขับลำโพง Martin Logan: Renaissance ESL 15A ของผมเท่านั้น ตอนแรกก็แอบหวั่นเล็กๆ ว่า กำลังระดับ 200 วัตต์จะเพียงพอหรือไม่ จึงแอบเตรียมลำโพงสำรองไว้ แต่พอใช้งานจริง Audia Flight FLS 4 ก็สามารถขับ Martin Logan: Renaissance ESL 15A ออกมาได้ค่อนข้างดีเหนือความคาดหมายไปพอควรเลยทีเดียว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ลำโพงสำรองที่เตรียมไว้ 

เริ่มต้นกันที่แผ่นซาวด์แทร็กจากหนังเรื่อง Beauty and the Beast ที่ลูกๆ ชอบฟังกันมาก พบว่า Audia Flight FLS 4 สามารถควบคุมลำโพงได้เป็นอย่างดี เบสทั้งลูกที่เป็นแรงกระแทก แต่ไม่ได้ลึกมาก อย่างพวกกระเดื่อง เพลง Beauty and the Beast ที่เป็นแทร็กแถม ที่เป็นการเรียบเรียงเพลงแนวพ็อพๆ และลูกลึกๆ อย่างเสียงกลองทิมปานีใบใหญ่ ในช่วงการเล่นตำนานต้นเรื่อง เสียงร้องของตัวละครแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกหรือตัวประกอบ ถูกแยกแยะออกเป็นตำแหน่งเสียงชัดเจน ไม่ว่าตัวละครตัวนั้นจะยืนอยู่ตรงไหนของเวทีก็สามารถให้รายละเอียดโทนเสียงของตัวละครแต่ละตัวที่เป็นทั้งหญิง ชาย หนุ่ม สาว หรือสูงวัย ก็ให้รายละเอียดความต่างของน้ำเสียงออกมาได้อย่างถูกต้อง 

เสียงร้องมีติด ส ซ เด่นมานิดๆ แต่ไม่ได้เป็นความผิดของ FLS 4 แต่อย่างใด มันเป็นเรื่องปรกติของแผ่นแนวนี้อยู่แล้ว เมื่อได้แอมป์ที่มีเสียงร้องน่าสนใจแบบนี้ก็อดไม่ได้ที่ต้องหยิบแผ่น Les Miserable Original London Cast มาฟัง ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงบาทหลวงที่เป็นตัวละครที่มีบทน้อยมากๆ แต่มีความสำคัญสุดๆ เพราะเป็นผู้ช่วยให้ตัวเอกในเรื่องกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี เสียงร้องในแทร็กนี้ให้ความรู้สึกถึงคำว่า “พระเจ้ามาโปรด” จริงๆ เรียกได้ว่า เสียงร้องของบาทหลวงมีความอบอุ่น เปล่งปลั่งดีจริงๆ นอกจากนั้นเป็นเรื่องปรกติที่ระหว่างทำการทดสอบแอมป์ก็จำเป็นต้องขยับปรับตำแหน่งลำโพงเล็กน้อยเพื่อให้เสียงลงตัวดีขึ้น ก็เลยถือโอกาสเซ็ตหัวเข็มและปรับตั้งชุดเล่นแผ่นเสียงให้ละเอียดขึ้น พอดีได้แผ่น Ella & Louis มาเล่น เนื่องจากเป็นแผ่นโมโน เลยเอามาเซ็ต anti-skating หลังจากเซ็ตเสร็จก็เลยฟังต่อ พบว่า FLS 4 ให้เสียงร้องของป้า Ella ออกมาได้นุ่มนวลน่าฟังมาก แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือ เสียงทรัมเป็ตของลุง Louis ที่สดสมจริงเหมือนมายืนเป่ากันในห้องจริงๆ นับว่าน่าประทับใจมาก ส่วนเสียงร้องของลุง ฟังดูมีน้ำมีนวลมากกว่าทุกครั้ง แต่ก็ยังมีเสียงน้ำลายและความแหบที่เป็นเอกลักษณ์ของลุง Louis อยู่อย่างครบถ้วน 

เมื่อเจอกับแอมป์ที่ให้เสียงกลางต่อเนื่องลื่นไหล อิ่มเนียน แถมยังให้เบสที่สะอาดแน่น อัดออกมาเป็นลูกๆ ได้ ก็ถึงคราวต้องหยิบเพลงแนว Guitar Hero มาลองฟังสักหน่อย คราวนี้เป็นคิวของ Steve Vai: Passion and Warfare ที่เป็นผลงานชุดสร้างชื่อให้เขา โดยเฉพาะเพลงประจำตัวอย่าง For The Love Of God ที่มาเมืองไทยกี่ครั้งก็ต้องเล่น Audia Flight FLS 4 สามารถถ่ายทอดอารมณ์ที่เล่นไปนึกถึงพระเจ้าไปของ Steve ออกมาได้ดีจริงๆ เปลี่ยนมาที่ Soundtrack – Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest ในแทร็กที่ 2 The Kraken ให้ความน่าเกรงกลัวของเจ้าปีศาจร้ายจากใต้ทะเลลึกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงท้ายเพลงที่มีเสียงหัวใจเต้น เล่นเอาโซฟาสั่น ใจเต้นไปตามจังหวะเลยทีเดียว แม้ว่าในแผ่น Toshi: Hana ยังมีความรู้สึกว่ารูปวงทางด้านกว้างและลึก ยังกระจายตัวออกไปไม่กว้างขนาดให้ความรู้สึกเวิ้งวางกว้างไกลได้อย่างแอมป์ที่มีกำลังมากกว่านี้ทำได้ แต่ก็ได้ความอิ่มหนา กลมกล่อมน่าฟังของช่วงเสียงกลางลงไปถึงเบสต้นกลับมาแทน ทำให้น้ำเสียงของ Audia Flight FLS 4 ออกมามีความเป็นดนตรีน่าฟังดีอย่างที่ทาง Audia Flight คุยไว้จริงๆ ซึ่งเรื่องกำลังขับนี้ก็นับว่าเกินความคาดหมายจากแอมป์ 200 วัตต์ น้ำหนักตัวแบบยกคนเดียวได้ไปค่อนข้างมากแล้ว ถ้าในอนาคต Audia Flight มีการขยับขยายมาออกแอมป์โมโนบล็อกที่มีพื้นฐานจาก Audia Flight FLS 4 น่าจะต้องถึงเวลาที่ผมคงต้องขอหยิบยืมพร้อมกับปรีแอมป์ Audia Flight FLS 1 มาทดสอบเข้าชุดกัน น่าจะสมน้ำสมเนื้อกับลำโพงอ้างอิงของผมดีทีเดียว แนะนำว่าเป็นแอมป์ที่น่าสนใจมากในระดับราคานี้ เพราะมีทั้งการออกแบบที่ดี งานประกอบที่สวยงาม และที่สำคัญ… น้ำเสียงอิ่มหนา น่าฟัง ทรงพลัง กลมกล่อม. ADP

ราคา 340,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด (IAV) โทร. 0-2238-4078-9

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 245