ธรรมนูญ ประทีปจินดา

ถึงคราวต้องเลือกข้าง

ถึงวันนี้ Digital Audio แนว File base เข้ายึดพื้นที่ เติบโตเบ่งบานอย่างมั่นคง นักฟังทั่วโลกได้เลือกหาความสุขกับเสียงเพลง รื่นรมย์กับเสียงดนตรีโดยใช้เครื่องเล่นฟรอนต์เอ็นด์แนว File base player กันถ้วนหน้า ครอบคลุมตลาดเป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะในยุโรป Streaming Service กวาดไปเรียบ รูปแบบการเล่นไม่ว่าจะแบบพกพา ชุดเล็ก หรือชุดใหญ่ ก็เล่นได้หมดครบทุกมิติ ว่ากันตามตรง Digital Streaming นั้นเล่นง่าย เล่นได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเรียกอะไรStreamer หรือ Network Player และ Computer AS Source (CAS) พัฒนาไปไกลมาก พาลพาให้ตลาด Physical อย่างร้านขายแผ่นทั่วโลกถึงกับล่มสลาย ซีดีขายยาก ร้านปิดกลายเป็นของหาซื้อยากไป ศิลปิน ค่ายเพลง ต้องเหนื่อยหน่อย ต้องเข็นแผ่นดำออกมาช่วย ใครปรับตัวไวก็รอดตัวไป บอกเลยว่าเมื่อราวเกือบสิบปีที่ผ่านมา นับจากวันที่เริ่มเข้ามาให้ได้สัมผัส “คุณภาพเสียง” ขยับจากยอมรับได้ ดีพอจนถึง “ดีมาก” เพราะมีหลายระดับ และพัฒนาดีขึ้นทุกวัน ในราคาที่จับต้องได้ ที่แน่ๆ กินเสียงซีดีแบบเดิมๆ สบายๆ แถมไฟล์ Hi-Res ระดับ Studio Master นั้นก็สุดติ่งกระดิ่งแมว ว่ากันว่า “หัวกะทิดีที่ซู้ดดดด” ถ้างั้นไฟล์ Studio Master ก็ต้องดีที่สุด ซึ่งก็หาฟังได้ไม่ยาก มีหลากหลายวิธี จะซื้อไว้เป็นสมบัติ หรือจะเป็นระบบบอกรับสมาชิกก็ไม่ใช่ปัญหา จึงไม่แปลกที่พบว่า ในงานโชว์เครื่องเสียงระดับโลกแนว File base จะแยกขั้วกับแผ่นดำฟอร์แมตอะนาล็อกดั้งเดิมที่หวนกลับมาชัดเจน ต้องยอมรับตรงที่ว่า “เก๋า” ไม่เท่า เอากันจริงๆ แล้ว มีกี่คนที่ได้เล่นของดีจริงๆ ก็พี่ยังไม่ยอมรับแผ่นใหม่เล้ย อย่างงี้จะกลับมายิ่งใหญ่ทำยอดขายเป็นล้านก็อปปี้ง่ายๆ เหรอ ยิ่งมาเจอเครื่องเล่นที่อัดแน่นด้วยฟีเจอร์เช่นนี้…และนี่คือสาเหตุที่ต้องเลือกข้าง

NEW PLAYER, AWESOME FEATURES

เครื่องเล่น Digital Audio แนว File base ผ่านพ้นมาหลายเจเนอเรชั่นที่ต้องการจับทุกความต้องการจากนักเล่น เช่น Streaming Player (Streamer) ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องเล่นพื้นฐาน Computer AS Source (CAS) หรือเล่นผ่านคอมพิวเตอร์ ลงทุนน้อยกว่าแต่ก็ยุ่งยากกว่านิดหน่อย มาจนถึง Network Transport ที่ต่อเชื่อมกับ DAC ตัวโปรด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า DAC เองก็ได้พัฒนามาไกล จนถึงระดับ DXD, DSD256 นี่ยังไม่รวมที่มันสามารถปรับ PCM–>DSD256 Converter ไปแล้วด้วยสิ เท่านั้นยังไม่พอยังอัดแน่นไปด้วยฟีเจอร์ที่ให้มาชนิดไม่ต้องร้องขออีกก็คือ Analogue preamp คุณภาพสูงที่สามารถต่อตรงเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ได้เลย ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวถึงอยู่ในตัวของ Ayon S10 Signature เครื่องเล่นที่พกพาฟีเจอร์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดไว้ในตัว 

สำหรับผู้อ่านอาจคุ้นหูกับแบรนด์ Ayon มาบ้างแล้ว เครื่องสมัยใหม่ เน้นที่สะดวกสบาย เสียงดีแบบง่ายๆ ไม่ต้องมานั่งสงสัยว่า เพลเยอร์ตัวไหนบน PC หรือ MAC ดี มีให้เลือกเยอะ จะเอาแอพตัวไหนมาคุมคอมฯ ไม่ต้องถามหรือปรึกษา “กูรู” ที่ไหน เพราะ Stream Unlimited แห่งออสเตรีย กูรูตัวจริงเขาทำให้สำเร็จมาแล้ว ค่ายเครื่องเสียงยุโรปก็ใช้บริการของที่นี่กันทั้งนั้น ถ้าต้องการความสะดวกสบาย เสียงดี มีความสุขกับเสียงเพลง โอย… เลิกถามได้เลยว่า ดีพอหรือยัง หรือจะเล่นแบบไหนก็จัดมาให้หมด

BORN IN THE CLASSICAL MUSIC REGION

Ayon Audio เครื่องเสียงไฮเอ็นด์สัญชาติออสเตรีย เป็นผู้ผลิตเครื่องเสียงหลอดที่ทำ full line products ตั้งแต่… ฟรอนต์เอ็นด์, เพาเวอร์แอมป์, ปรีแอมป์ รวมถึงลำโพงของ Ayon นั้นถูกผลิตด้วยมือใน Austria มาเกือบสองทศวรรษ โดยเริ่มต้นจากแอมป์ single ended โดยใช้ชื่อว่า VAIC Reference 52B ใน ปี 1994 โดยเริ่มขายในยุโรป

ด้วยจิตวิญญาณและความหลงใหลในดนตรี บวกกับความต้องการที่จะทำเครื่องเสียงที่สามารถถ่ายทอดความเป็น musical ของดนตรีที่สมจริงดั่งนั่งฟังในคอนเสิร์ตฮอลล์ระดับโลก โดยเป็นแอมป์ที่ให้ไดนามิกกว้างสมจริง สามารถถ่ายทอดความชัดลึกของเวทีเสียงได้อย่างลงตัว ไม่ง่ายเลยถ้าคิดจะทำเครื่องเสียงขายกับคนที่ฟังดนตรีคลาสสิกมาตั้งแต่เกิด

Ayon Audio มีผลิตภัณฑ์แนวดิจิทัล นอกเหนือจากเครื่องเล่นซีดีก็ยังมี D/A converter ตามออกมาด้วยหลายตัว ทั้ง Stealth และ Stratos คือ Ayon Sigma DAC ซึ่งถูกติดตั้งด้วย DSD DAC และ SE 6H30 output stage ในราคาที่จับต้องได้ง่ายกว่าสำหรับเราๆ ท่านๆ ส่วนแนว Network Audio เริ่มเมื่อปี 2011 ได้นำเสนอ Ayon S-3 Network Player ซึ่งเป็นแบบ tube output stage ออกสู่ตลาดโลกเป็นตัวแรกของโลก ถือเป็น Milestone โดย S-3 เป็นตัวอ้างอิง สองปีหลังจากนั้นก็ตามด้วย NW-T (Network-Transport) ในปี 2014 ซึ่งผมก็ได้รีวิวไปแล้ว ก็อาจต้องขอทบทวนบางข้อความอธิบายเพื่อความกระจ่าง และนาทีนี้ก็ถึงคราวที่ S10 Signature จะมาถึง

AYON AUDIO’S NEW S-10 NETWORK PLAYER

เครื่องเสียงสัญชาติออสเตรียกับเพลเยอร์ยุคใหม่ ที่บรรจุไว้ด้วยฟีเจอร์ของ Network Playerรองรับ computer playback ด้วย DAC ที่มีภาค Output Stage แบบ Class-A triode design ทีเด็ดด้วยฟังก์ชั่น PCM–DSD converterที่สามารถไปได้ไกลจนถึง DSD256 พร้อมกับฟังก์ชั่น Analogue preamp อีกด้วย

Why Tube-based?

ในทางเทคนิค Output level จากไมค์ที่ใช้ในสตูดิโอนั้น สัญญาณเสียงแรงมากจนทะลุเกนของ VU Meter ไปเลย ที่ทราบก็เพราะมีการวัดด้วย oscilloscopeไม่ว่าจะใช้ไมค์หลอดหรือคอนเดนเซอร์ไมค์ มันจะทะลุ 1 โวลต์อย่างง่ายดาย ซึ่งก็แปลว่า ปรีแอมป์ก็จะพบกับสภาวะ Overload ด้วยเช่นกัน แม้ว่าเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม จึงส่งผลต่อความผิดเพี้ยนของเสียง ซึ่งก็หมายถึงคุณภาพเสียงที่ไม่ดี และเราเองก็ได้ยินด้วย เป็นที่ทราบดีว่าหลอดสามารถจัดการกับสภาวะเช่นนี้ได้ดีกว่าทรานซิสเตอร์ แม้ว่าทรานซิสเตอร์พยายามจัดการด้วยวงจร Discrete ในวงจร Op Amp ก็ตาม ความเพี้ยนจะเกิดขึ้นในช่วงฮาร์โมนิกที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่หูมนุษย์ได้ยิน ในทางกลับกัน หลอดเองโดยเฉพาะหลอดTriode ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดความเพี้ยน แต่บังเอิญโชคดีที่เกิดในช่วงฮาร์โมนิกที่ 2 ซึ่งอยู่เหนือ Octave ที่จะได้ยิน แถมมีความเป็นดนตรีมาก คนฟังแล้วชอบ เสียงจากหลอดให้ความอุ่น ละมุนละไม สรุปแล้วแม้ว่าหลอดเองมีความเพี้ยน แต่เป็นความเพี้ยนที่ไพเราะ ประมาณนั้น

Signal Path

เครื่องเสียงของ Ayon Audio นอกจากให้คาแร็กเตอร์ของเสียงจากหลอดแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบวงจรเพื่อให้ได้เสียงดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น signal pathหรือภาคจ่ายไฟ ซึ่งเป็นหัวใจของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ เพราะเป็นความจริงที่เชื่อกันว่า เครื่องเสียงซึ่งใช้คอมโพเนนต์น้อยชิ้นในวงจรของตัวเอง และออกแบบให้มี signal path สั้นที่สุด จะให้เสียงดีที่สุด นี่คือเหตุผลที่ปรีแอมป์ของ Ayon Audio ใช้วงจร single-ended pure class A แบบ fully balanced และมี signal path ที่สั้น จึงแทบไม่มีโอกาสเกิดการลดทอนของคุณภาพเสียง แม้กระทั่งการจัดวางอุปกรณ์ในแผงวงจรเอง ซึ่งก็จะมีผลกระทบน้อยมากหรือไม่มีเลย อีกทั้งวงจรถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นอย่างมาก

Power Supply

เครื่องเสียงไฮเอ็นด์กับการให้ความสำคัญของภาคจ่ายไฟเป็นของคู่กัน จึงใส่ Noise Filter เพื่อจัดการกับ AC Noise สำหรับ tube buffered digital output stage ซึ่งต้องมั่นใจว่าแหล่งจ่ายไฟจะให้ไฟที่บริสุทธิ์สำหรับวงจรที่ถือว่ามีความเปราะบางของภาค Output stage ที่ใช้หลอดเบอร์ 6H30 

ภาคจ่ายไฟอันซับซ้อนซึ่งเป็นส่วนสำคัญจึงประกอบกันตั้งแต่ AC Line Noise Filtration, ทรานสฟอร์เมอร์แบบ R-core ที่พันแยกจ่ายไฟแยกถึง 8 ค่าของแรงดัน โดยจ่ายไฟให้แยกอิสระออกจากกันของ Input stage และ 6H30 Output stage อันมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

Stream Unlimited

Ayon S-10 Signature ยังใช้บริการของ บริษัท Stream Unlimited แห่งออสเตรียเช่นเคย ทำให้สามารถรองรับมาตรฐาน DLNA/UPnP ที่จะ stream ข้อมูลจาก NAS ด้วย LAN/WLAN รวมถึง TIDAL Music Streaming Service บริการเหมาจ่ายรายเดือนที่มีเพลงนับล้านอัลบั้มให้เลือกฟัง หรือจะเป็น VTuner Internet Radio ที่มีสถานีวิทยุนับหมื่นสถานีให้เลือกฟัง รวมทั้ง AirPlay หรือจะต่อเล่นแบบ CAS ด้วยคอมพิวเตอร์ PC/MAC เล่น Streaming Audio ผ่านช่องเสียบ USB ซึ่งก็ได้ถึง DSD (up to 256×), PCM (up to 384kHz/24-bit), FLAC (up to 384kHz/24-bit) และ AIFF (up to 384kHz/24-bit)ประมาณว่าสูงสุดของ file formats ในยุคนี้ อีกทั้งยัง Up convert PCM signalsไปยัง DSD128 หรือ 256 ที่จะทำงานกับ Output Stage ด้วยหลอด …เริดมะ

CHECK IN

บนตัวถังอะลูมินั่มอโนไดซ์สีดำ ด้วยน้ำหนักตัว 12 กิโลกรัม ในพิกัด 48 x 39 x 12 cm มีช่องระบายอากาศด้านบน ตามสไตล์ Ayon ถือว่าค่อนข้างใหญ่สำหรับเครื่องเล่นทั่วไป ภายในวางแผงวงจรเป็นโมดูลที่มีอ็อปชั่นให้เลือกอัพเกรดได้ แต่ตัวนี้ก็จัดเต็มมาแล้ว ตาม Functionality ทำตัวเป็น Network Player เชื่อมต่อกับโลกภายนอกด้วย RP-SMA plug Wi-Fi Aerial input (“wireless” network connection) 802.11b/g UTP RJ45 10/100Mbps socket (“wired” network connection) ซึ่งก็ต้องขอแนะนำให้ใช้สาย LAN Cable CAT7 หรือ CAT8 ไปเลย รับรองว่าสตรีมได้ลื่นปรื้ด

หน้าปัดกระจะตาด้วย User interface จากจอแสดงผล QVGA 5” TFT แสดงผลขณะเครื่องทำงาน เช่น Internet radio (vTuner) / Tidal / RoonReady ..as Roon EndPoint / UPnP streaming from NAS or PC Streaming audio from USB HS (mass storage device) / DSD – up to 128x (add *256x during 2017, via online FW update) / WAV – up to 384kHz/24-bit / FLAC – up to 384kHz/24-bit / AIFF- up to 384kHz/24-bit

ติดตั้งช่องอินพุตรับสัญญาณหลายรูปแบบ ได้แก่… 75Ω S/PDIF (RCA), TosLink และ USB-PC “B” Type ( 24-bit/192kHz & DSD64/128) ตัวนี้มีประโยชน์มาก ส่วนช่องเสียบอีกสองช่อง คือ USB type ‘A’ สำหรับ USB “pen”/hard disk drive ที่อยู่ด้านหน้าเครื่อง และ USB type ‘A’ socket สำหรับ USB “pen”/hard disk drive ด้านหลังเครื่อง ที่เสียบได้ตรงๆ

ในเมื่อมีฟีเจอร์ที่เป็น Analog Preamp ก็ต้องมี Analog – Line Inputs ด้วย จึงมาพร้อมกับช่องต่อ RCA 2 ชุด เสี่ยเค้าจัดมาให้ครบ จะเอาไว้ต่อเทิร์นฯ หรือเทปรีลตัวเก๋าฟังก็ได้นะ

Controller

S10 มีรีโมตไร้สายมาให้ด้วย บอกตรงๆ ว่าใช้น้อยมาก เอาไว้ปิด-เปิดเครื่อง หรือเปลี่ยน Input แค่นั้นเอง เพราะเล่นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์แนว Network Audio ทั้งที เพื่อให้ชีวิตง่าย นาทีนี้ก็ต้องมี Smart Device เช่น iPhone, iPhone/iPad รวมถึง Android Tablets และต้องติดตั้งแอพเหล่านี้ ตัวใดตัวหนึ่งก็ได้

• Roon Remote โดยทำงานร่วมกับ Roon Media Server (S-10 is Roon ready & licensed) เมื่อเชื่อมต่อในวงเน็ตเวิร์กเดียวกันแล้วจะทำให้ S10 ทำตัวเช่น Roon endPoint ซึ่งพูดถึง Roon ต้องบอกว่า นาทีนี้ถือว่าสะดวกและ Powerful มาก ลองศึกษาจาก www.roonlabs.com

• JRemote ทำงานร่วมกับ JRiver Media Server ในฟากวินโดว์; www.jriver.com

• Audirvana Plus Remote ทำงานร่วมกับ AudirvanaPlus 3 (A+) ในแบบ CAS ฟาก MAC ที่จะจัดการเพลงในคลังแสง พร้อม Integrated กับ TIDAL คลังแสงมหึมาไว้ในที่เดียวกัน เช่นเดียวกับ Amarra4Luxe นั่นแหละ; www.audirvana.com

• Amarra Remote ทำงานร่วมกับ Amara4Luxe (A4L) ในแบบ CAS ฟาก MAC/Windows ทำงานเหมือน A+ ให้เสียงดีที่สุด; www.sonicstudio.com/amarra/

• Ayon app รองรับในทุก Media Server

นอกจากแอพซึ่งแต่ละตัวก็ให้ความสะดวก และที่สำคัญให้คุณภาพเสียงต่างกันแล้ว อนึ่ง ถ้าอยากได้ Media Server ดีๆ ไว้เก็บไฟล์ Hi-Res ที่มีอยู่เยอะ แต่ไม่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ …ต้องทำอย่างไร? ก็หา Melco Hi-End NAS มาต่อพ่วงดูสิ บอกเลยว่า ติดปีกไปเลย และจะให้ดีควรต้องใสใจกับสาย USB, LAN, Power cord ด้วยครับ ทุกอย่างมีผลทั้งสิ้น ก็แล้วแต่ว่าจะซีเรียสเพียงไร อยากให้ลองเล่นดูนะครับ ดูสิว่าตรงกับผมหรือไม่

SHOWTIME

ถึงเวลาฟังใช้รีโมตเล่นตรงๆ ก็ได้ เล่นง่ายสุดก็เสียบธัมบ์ไดรฟว์เข้าไปที่ USB (A) ที่ฟอร์แมตด้วย FAT32 จะจากหน้าเครื่องหรือหลังเครื่องก็ได้ ไม่มีปัญหาถ้าเพลงไม่เยอะ ถ้ามี “ของ” เยอะ จำเป็นอยู่เองต้องใช้ Music Server มาช่วย มิฉะนั้นไม่รอด นิ้วล็อกแน่ ใช้แอพดีกว่า… เชื่อเถอะ

Ayon S-10 Signature เครื่องเล่นประเภท Network Player ที่จัดเต็มเพื่อรองรับ computer playback ติดตั้งDAC สมัยใหม่ที่ไปจนสุดติ่งทะลุจนถึง DXD, DSD256 ไฉนเลยจึงต้องป้อนของดีให้กินกันหน่อย อย่างที่บอกเรามีทางเลือกหลายอย่างที่จะเล่นกับมัน แต่เราคงจะเน้นแนว Network Player ที่สามารถเป็น DLNA/UPNP Controlled และ CAS (Computer As Source) ซึ่งเล่นเพลงจากคอมฯ ในปัจจุบัน ก็แทบจะแยกกันไม่ออกแล้ว เพราะ Music Player app สมัยใหม่อย่าง Roon, A+3.1 (ขณะเขียนยังเป็นเวอร์ชั่น BETA อยู่ ทำหน้าที่ DLNA/UPNP Controlled ได้ เข้าใจว่าคงจะรีลีสแล้ว) ก็สามารถทำให้ Ayon S-10 Signature กลายเป็น EndPoint ไปได้ และก็เชื่อว่า Sonic Studio ก็คงไม่นิ่งเฉยเช่นกัน คงจะกลายไปเป็น DLNA/UPNP Controlled ได้เช่นกันในไม่ช้า จึงถือโอกาสพูดรวมไปเลย ในคราวเดียวกัน จุดต่างก็อยู่ที่การเลือก Input ด้วยรีโมตเป็น Network หรือ USB-PC ซึ่งใช้สาย USB ต่อเชื่อมโดยตรงจากคอมพิวเตอร์ ในที่นี้ผมใช้ MAC เท่านั้นเอง …ไม่งงนะ ถ้าจะให้ติก็ตรงนี้ล่ะ Menu Input มันซ่อนเล็กไปนิด เลยทำให้สับสนไปนิด

แนว Network ผมใช้ Roon Server Music server ซึ่งดึงข้อมูลไฟล์เพลงจาก NAS มาบริหารจัดการด้วย โดยRoon ติดตั้งบน MACBook Air อยู่บนโต๊ะทำงานอีกห้องหนึ่ง แล้วส่งผ่านข้อมูลทางสาย LAN CAT7 มายัง Ayon S-10 Signature จะกลายไปเป็น Roon EndPoint โดย S-10 Signature จะควบคุมผ่าน Roon Remote ซึ่งก็สะดวกดี 

ความจริงไม่ว่าจะเล่นด้วย Roon หรือ A+ และ A4L ซึ่งล้วนมี TIDAL Integrated มาด้วยทั้งสิ้น แน่นอนว่า TIDAL เราต้องลงทะเบียนหน้าเว็บของwww.tidal.com เสียก่อน เพื่อให้ได้ user/password แล้วจึงมาคีย์ในแอพ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วก็มาครบเช่นเดียวกับที่เล่นกับตัวอื่นๆ คือ New TIDAL Rising, TIDAL Discovery, Playlists, Genres, TIDAL Master หรือ My Music

และเพราะว่า S-10 Signature มิได้เป็น MQA certified เมื่อเล่น TIDAL Master ซึ่งเป็นแคตตาล็อกอัลบั้ม Hi-Res จากคลังแสงบน Cloud Service หลายอัลบั้มซึ่งสตรีมด้วยไฟล์ MQA จากฐานปฏิบัติการในนอรเวย์จะแสดงผลขึ้นบนจอดิสเพลย์เป็น PCM 24/48kHz ก็ไม่เห็นต้องซีเรียสอะไร อยากไปให้สุดโต่งก็Up convert PCM signal ไปยัง DSD128 หรือ 256 ซะเลย กลัวอะไรอยู่แค่ปลายนิ้วนี่เอง Up convert ทำได้ตั้งแต่ PCM 16/44.1 ไปทะลุ DSD 256 กันเลยทีเดียว แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ควรเล่นไฟล์คุณภาพการบันทึกดีไว้ก่อนจะเห็นผลชัด ถ้าไฟล์เน่าแต่แรกก็คงไม่ช่วยให้ดีขึ้นหรอก บอกเลยว่าให้เสียงเปลี่ยนไปในทางที่ดี ปลายแหลมพลิ้วไปไกลขึ้นอย่างฟังได้ชัด

ว่ากันไปแล้ว MQA จะดีหรือไม่อยู่ที่ DAC จะดีเพียงไรต่างหาก ความจริงไฟล์ DSD256 นี่ยังหายากอยู่เลย ก็มีไฟล์ของสังกัด OPUS3 DSD Showcase 3 (DSD128) เล่นได้สบายๆ ไม่ต้องพูดถึงไฟล์ PCM 24/192 HDTracks หรือ DXD (24/352.8) ของ 2L เล่นได้เป็นขนมอยู่แล้ว บอกตรงๆ ว่าเสียงดีมาก …คุณต้องลอง

WRAP UP

Ayon S-10 Signature เป็นเครื่องเล่น Valve-based Network-playerให้เสียงโทนอุ่น อันเป็นคาแร็กเตอร์ของหลอด ให้เสียงสะอาดบริสุทธิ์เป็นอะนาล็อกมาก… ยืมคำพูดเขามาใช้หน่อยนะ เสียงมีความฉ่ำหวาน ได้ความสงัดของ Background Noise ที่ต่ำ ส่งผลไดนามิกส์ดีขึ้นมาก เบสมีมวล แม้ออกจะนุ่มสักนิดสำหรับดนตรีเมทัล หุ หุ แต่ก็ไม่เฉื่อย อีกอย่างที่เกิดจากผลของ Background Noise ที่ต่ำก็คือ เกิดช่องว่างระหว่างตัวโน้ต เวทีเสียงกว้าง ฟังดนตรีคลาสสิกแยกแยะชิ้นดนตรีได้เป็นเลเยอร์ มิติเยี่ยมยอดไร้ข้อกังขา ข้อนี้ถือเป็นคุณสมบัติเด่น ก็เพราะภาค Tube Output Stage ที่รองรับการทำงานของ dual mono DAC ที่สมบูรณ์แบบ แถมยัง Up convert PCM signal ไปยัง DSD128 และ 256 แบบ Real Time ได้ด้วย แถมมีอะนาล็อกปรีแอมป์คุณภาพสูงมาด้วย และนี่คือคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ Ayon S-10 Signature เครื่องเสียงไฮเอ็นด์จากออสเตรียโดยแท้ ที่จัดเต็มมาชนิดไม่จำเป็นต้องร้องขอ ในแบบฉบับของ Ayon Audio ในราคาค่าตัวระดับนี้ น่าจะหาตัวเทียบยากหน่อยล่ะ แนะนำให้หาโอกาสมาลองฟัง ลองเล่นดูเสียก่อน อ้อๆ… อยากเตือนว่า ถ้าคิดว่าใจไม่แข็งพอ ระวังไว้นิด “ถอนตัวยากหน่อยนะ”. ADP

ราคา 290,000 บาท 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Living Sound โทร. 089-517-2222

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 246