ไกรฤกษ์
นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์ 

ผมรู้จักเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากเดนมาร์กยี่ห้อนี้ มาไม่ต่ำกว่าสามปีแล้วครับ ที่ร้านสวนเสียง (ตั้งแต่ร้าน เก่าที่ห้างอมรินทร์ พลาซ่า) ตอนนั้นรุ่นแรกที่นำเข้ามา คือรุ่นเล็กสุดของเขา Magne (แต่รุ่นแรกที่วางตลาด เป็นรุ่นสูงกว่านี้ คือ รุ่น Sindre) เห็นตอนแรกก็รู้สึกประทับใจมากกับความสวย เรียบง่าย แต่ไฮเทคของเขา จุดเด่นของเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อนี้ทุกรุ่น คือ เป็นระบบลม คือเป็น air bearing platter ใช้ลมในการดัน platter หนักๆ ให้ลอยขึ้น และเป็น linear air bearing tonearm คืออาร์มเคลื่อนที่แนวตรง เคลื่อนที่แบบ ไร้แรงเสียดทานด้วยระบบลม เราจะเจอเครื่องเล่น แผ่นเสียงที่มีคุณลักษณะเด่นๆ แบบนี้ได้เฉพาะในยี่ห้อ แพงมากๆ อย่างเช่น Walker Audio หรือ Micro Seiki รุ่นสูงๆ อย่าง RX5000, 8000 หรือที่ในปัจจุบัน คือยี่ห้ อTechDas ที่ล้วนแต่ราคาสูงมากเกินเอื้อมนักเล่นทั่วๆ ไป แต่ Bergmann ในรุ่นเล็กๆ อย่าง Magne นั้น ยังอยู่ในวิสัยที่นักเล่นทั่วไปยังพอจะซื้อเล่นได้ ที่สำคัญ คือ การออกแบบรูปร่างหน้าตาที่เรียบง่าย ดู modern แบบผู้ดีนั้น เป็นสิ่งที่ได้ใจผมมากๆ สมกับปรัชญาของ บริษัทเขา คือว่า “Less is more” 

Less is more คอนเซ็ปต์ของ Bergmann คือ การออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงด้วยระบบ air bearing technology ที่ปกติยุ่งยากซับซ้อน แต่ทาง เขาจะพยายามทำให้ simple ที่สุด มีชิ้นส่วนที่จำเป็น ต่อการทำงานของเครื่องเท่านั้น และที่สำคัญคือจะ ต้อง user friendly และสวยงามตามสไตล์ของคน สแกนดิเนเวียน สังเกตได้ว่าเครื่องของ Bergmann มี

ความสวยงาม เรียบง่าย modern ในรุ่นแรกๆ ของ Magne ที่ออกมา ตัวอาร์ม ยังดู simple เกินไปหน่อย ดูเรียบแต่ไม่ค่อยหรูนัก ในอาร์มรุ่นต่อๆ มาทำด้วยวัสดุที่ดูดีและสวยงามมากขึ้น เช่น ก้านอาร์มเป็น carbon fiber ผมก็ ตั้งใจจะเอารุ่นที่พอจะเอื้อมถึงคือ Magne มารีวิว แต่บังเอิญว่าวันที่ยกมานั้น ตัว air pump ไม่ทำงาน เลยต้องยกกลับไปเช็คใหม่ (น่าแปลกใจว่า พอยกกลับไปแล้ว ปั๊มลมใช้งานได้ตามปกติ งงมากๆ) หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เกิด เรื่องไม่คาดคิด คือ เพลิงไหม้ที่ร้านสวนเสียง ซึ่งผมขอให้เขาฝากตัวปั๊มลมไว้ ที่นั่น สุดท้ายก็ไม่สามารถรีวิว Magne ได้ เลยขอทางพี่โจ้ Sound Box ว่า ขอเปลี่ยนเป็นรีวิวรุ่นอื่นแทน จังหวะนั้นพอดีมีเครื่องรุ่นใหม่เป็นรุ่นรองท็อปเข้ามาพอดี หน้าตาโดนใจมากที่สุด เลยขอพี่โจ้เป็นการรีวิวตัว Galder นี้แทน 

Galder Turntable 

Bergmann ตั้งชื่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงแต่ละรุ่นตามตำนานโบราณของชาวสแกนดิเนเวียน Galder นั้น หมายถึงบทสวดหรือเวทย์มนตร์ที่สามารถเรียกลมฝนได้ สัดส่วนของ Galder ค่อนข้างแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ ของ Bergmann ตรงที่ว่ารุ่นอื่นๆ นั้นมีเนื้อที่ด้านกว้างที่มากกว่า ออกเป็นสี่เหลี่ยม ผืนผ้ามากกว่า ขณะที่ Galder จะกระเดียดมาทางไฮเอ็นด์ คือ แท่นหนากว่ารุ่นอื่น ด้านกว้างซ้ายขวาไม่มากเท่า Magne หรือ Sindre และที่สำคัญคือ หนักมากครับ น้ำหนักรวมของเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้คือ 38 กิโลกรัมทีเดียว เรามาดูส่วนประกอบของเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้กัน 

เริ่มต้นจาก feet ก่อน แท่นนี้ประกอบด้วยขาสามขา จุดรับน้ำหนักของเครื่องออกแบบได้เท่ครับ ใช้ ceramic ball หนึ่งลูกวางบนแป้น ส่วนด้านบน ก็เป็น ceramic ball สามลูกฝังอยู่ ทำให้ contact point เหลือนิดเดียว ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าขาแบบทั่วๆ ไป เหนือจากจุดนี้เป็นฐาน วงแหวนซ้อนกันสามารถปรับระดับได้อิสระ โดยมีช่องให้เราสอดก้านเหล็ก หรืออะไรก็ได้ที่ยาวๆ ที่วงแหวนส่วนล่าง แล้วหมุนเพื่อปรับระดับสูงต่ำได้ 

เมื่อเราเอาตัวแท่นวางบนขา ceramic สามขา เราจะปรับระดับของขาให้ตัวแท่นได้ระนาบมากที่สุด อันเป็นหลักการเซ็ตอัพเทิร์นทั่วๆ ไป ตัว plinth ของ เครื่อง เป็น solid aluminum หนาและหนักมาก จะเห็นความแตกต่างจากแท่น Bergmann รุ่นอื่นๆ ที่ เป็นชิ้นเดียว คือ ตัวแท่นด้านบนแยกเป็นสองส่วน ทางขวาเป็นจุดติดตั้ง motor ส่วนทางซ้ายก็เป็นแท่น platter จุดเชื่อมสองส่วนนี้คือตัว arm base คือว่าถ้า เรายกฐานอาร์มออก เราสามารถเปิดส่วนทางขวาเพื่อ เอามอเตอร์มา service ได้ การแบ่งส่วนแบบนี้มีข้อดี คือ หากมีแรงสั่นสะเทือนจากมอเตอร์ไปยัง platter ก็ จะน้อยลง (ถ้าเราตะแคงเครื่องดูด้านล่าง ฝั่งมอเตอร์ จะเจาะช่องทรงกระบอก ไม่ได้วางติดกับฐานแท่น ตัวมอเตอร์ถูกยึดกับฝาบนของ plinth ฝั่งขวาเท่านั้น) ปุ่มควบคุมสวยเรียบง่าย ปุ่มใหญ่สองปุ่มล่างเป็นการ สั่งการให้ปั๊มลมทำงานและมอเตอร์หมุนปุ่มซ้ายเป็น สปีด 33 ปุ่มขวาสำหรับเลือกสปีด 45 ส่วนปุ่มเล็กสองปุ่มบนเป็น fine speed adjust + กับ – ฝั่งทางซ้าย ของ plinth ที่เป็นที่วาง main platter นั้นจะเห็นฝาสีเงินๆ อีกสามตัว อันนั้นสามารถไขออกเพื่อติดตั้งอาร์มเพิ่มเติมได้อีกถึงสามตัว ซึ่งแท่น Bergmann รุ่นอื่นทำไม่ได้

ลักษณะแกนของ main platter เป็นแบบ invert bearing สวมผ่านแกน solid steel จุดปลาย ของแกนไม่จำเป็นต้องเป็นลูกปืน หรือ ceramic ball เพราะไม่มีการสัมผัสอยู่แล้ว อันเนื่องจากว่า platter ถูกลมดันให้ยกลอยขึ้น จะเห็นรูเปิดของช่องปั๊มลม ตามภาพ เขาจะให้เราใส่ lubricant เคลือบแกน platter ไว้ เพื่อลดแรงเสียดทาน (ตัวสารหล่อลื่น ทาง Bergmann บอกว่า แค่แตะที่นิ้วแล้วทารอบๆ แกน bearing ก็พอ) การเซ็ตแท่นให้ระนาบ และการทำความสะอาดพื้นผิวของ plinth กับด้านล่างของ platter ก็สำคัญมาก เพราะว่าลมจะยก platter ขึ้น เพียงไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น ถ้าตัวแท่นเอียงจะทำให้เกิดการเอียงของ platter และมีการเสียดสีกับแป้นข้างล่างได้ ทำให้เกิดเสียงรบกวน ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหา ที่ปลายเหตุก็ต้องเปิดวาล์วลมให้แรงขึ้น เป็นการแก้ ปัญหาที่ไม่ถูกทาง ดังนั้น เซ็ตแท่นให้ระนาบแต่แรก จะดีที่สุด ใช้ลมน้อยเท่าที่พอจะยก platter ได้ก็พอ และจะไม่มีเสียงรบกวน ภาพต่อไปนี้เป็นการยก platter ขึ้นหลังจากทดสอบเสร็จ จะมีคราบของน้ำมันหล่อลื่นที่กระจายออกมา ก็ควรทำความสะอาดเป็นครั้งคราวนะครับ 

ตัว platter ทำจากอะลูมินัม น้ำหนักมากถึง 11.8 กิโลกรัม การจะจับยกวางให้พอดีกับเบ้าที่ลึกลงไปกับ plinth นั้นไม่ง่าย ดังนั้น เขาเลยออกแบบให้มีช่อง ใส่สกรูเพื่อช่วยในการยกวาง platter ส่วนประกอบ อื่นๆ ก็มี acrylic mat และตัว disc clamp ผมแนะนำให้ใช้ disc clamp ของเขาเองจะดีกว่า เพราะถ้าใช้ยี่ห้ออื่นจะมีน้ำหนัก load ที่ผิดไป เดี๋ยวต้องมาคอยปรับลมดัน platter อีก 

ส่วนสำคัญของการทำงานเครื่องคือ กล่องนี้ครับ ขนาดน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ตัวนี้จะรวมกันหมด ทั้งปั๊มลม, ตัว motor power supply และถ้าเรา อัพเกรดใช้ vacuum hold down ดูดแผ่น ก็จะอยู่ใน กล่องนี้เลย (motor supply, air flow generator, vacuum hold down) เราจะเห็นสวิตช์ on off ที่ ตัวกล่อง แต่การควบคุมอยู่ที่ตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียง มี air filter ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ง่ายๆ การทำงานของปั๊มลมเงียบมาก ข้างในออกแบบเป็นสองชั้น เก็บเสียงและจ่ายลมได้อย่าง smooth ที่สุด ตลอด เวลาที่ทดสอบ ผมเอาวางไว้ข้างๆ เก้าอี้โซฟานั่งฟัง โดยไม่ได้รู้สึกถึงเสียงรบกวนอย่างใดเลย 

ด้านหลังของแท่น ไล่จากทางขวาสุด ตัวท่อปั๊ม ลมจะมาเข้าจุดนี้ จากนั้นก็มีท่อออกจั๊มไปยัง linear arm จะมีจุดใช้ไขควงปากแบนในการปรับวาล์วลม ที่ไปเลี้ยง platter กับอาร์มแยกกัน หลักการคือใช้ minimal flow ที่ไม่ทำให้อาร์มวิ่งสะดุด หรือยกตัว platter ขึ้น โดยไม่ครูดกับด้านล่าง แต่ถ้าเปิดลมมากเกินไปก็จะเกิดเสียงรบกวน 

อีกด้านหนึ่งตรงใกล้ฐานอาร์มเป็นสวิตช์ควบคุมการทำงานของเทิร์นฯ ในการ stand by time สามารถปรับได้สามตำแหน่ง คือ ดันขึ้นตรงกลาง และกดลงล่าง 

เนื่องจากเครื่องต้องผ่านมาตรฐานประหยัด พลังงานของ EU เลยกำหนดให้ตำแหน่งผลักขึ้นบน เครื่องจะตัดการทำงานเองหลัง stand by สามชั่วโมง ตำแหน่งผลักลงสุดจะ auto off หลัง stand by สามสิบนาที ส่วนตำแหน่งตรงกลางจะเป็น always on ตัดเรื่องการ auto switch off ออกไป นอกจากนี้ ตัว platter เมื่อเราเปลี่ยนจากหมุนมาเป็น stop platter แล้ว ตัวเครื่องจะหยุดจ่ายลมโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้น 2 นาที เมื่อต้องการให้แป้นหมุนก็ให้กด ปุ่มเลือกสปีดอีกครั้ง เครื่องจะกลับมาทำงานตามปกติ

Odin Tonearm 

เป็นอาร์ม linear air bearing ของ Bergmann ที่ทำออกมาต่างจากรุ่น ก่อนๆ ที่จะมีสองเสา support ส่วนของ arm pipe เราสามารถสั่งซื้อเฉพาะ อาร์มนี้ไปติดตั้งเทิร์นฯ ตัวอื่นก็ได้ โครงสร้างของก้านอาร์มเป็นอะลูมินัม (สามารถสั่งเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ได้) มีค่า effective mass เฉพาะส่วนของ ก้านอาร์มที่ 14 กรัม ก้านอาร์มเป็นแบบสองชั้นมี damping material อยู่ข้างใน เพื่อลด resonance ตัวท่อลมเข้าจากด้านหลังมีรูเปิดตรงกลางตลอดแนว เนื่องจากว่าเป็นอาร์มลิเนียร์ จึงไม่ต้องมีการปรับค่า anti skating force หลักการสำคัญคือ ปลายเข็ม stylus จะต้องวิ่งไปตามร่องแผ่นเสียงในแนว ระนาบของ spindle center อย่างเป็นอิสระ ไร้แรงเสียดทาน 

ดังนั้น practical points สำหรับการเซ็ตอัพอาร์มลมลิเนียร์นั้น ผมขอ กล่าวเป็นข้อๆ ดังนี้… 

1. หัวเข็มที่เลือกใช้ สำหรับอาร์มลมแล้ว เราควรเลือกใช้หัวเข็มที่มีน้ำหนักเบาจะดีที่สุด ถึงแม้ว่าตุ้มน้ำหนัก counterweight สามารถรองรับ การเซ็ตค่า tracking force ได้ก็ตาม แต่อย่าลืมว่า น้ำหนักของ moving part นั่นก็คือ effective arm mass ร่วมกับน้ำหนักหัวเข็ม มีผลต่อลมที่จะต้องดัน ให้มันไม่มีแรงเสี ยดทาน แน่นอนว่าน้ำหนักรวมของก้านอาร์มกับเข็มที่น้ำหนักเบา ย่อมสามารถเคลื่อนได้อย่างอิสระมากกว่าเมื่อเราใช้หัวเข็มที่มีน้ำหนักมาก (ในความเห็น ผมคิดว่า น้ำหนักหัวเข็มที่จะใช้กับ Odin ไม่ควรเกิน 10 กรัม) 

2. Tracking force เราตั้งตามสเป็กของหัวเข็มที่เราใช้ ในการทดสอบ ครั้งนี้ ผมใช้หัวเข็มสองสามตัวด้วยกัน ได้แก่ Zyx R100 (1.9 gram), Benz Micro SL Wood (1.8 gram) และ EMT TSD15-N (2.4 gram) 

3. Zero offset angle ในระบบอาร์มลิเนียร์ เราต้อง zero offset angle ครับ คือให้หัวเข็มอยู่ในแนวตรงเป๊ะกับก้านอาร์ม ไม่บิดซ้ายหรือขวา headshell ของอาร์ม Odin มีรูให้เราติดตั้งหัวเข็มได้สองจุด เมื่อติดตั้งหัวเข็ม ไปแล้ว มันจะยังสามารถบิดให้ตัวหัวเข็มให้ส่ายหน้าไปทางซ้ายหรือขวาได้ เล็กน้อย ดังนั้น เมื่อเราใส่หัวเข็มลง headshell แล้ว ต้องเล็งให้ดีครับ ให้ body หัวเข็มอยู่ตรงแนวกับก้านอาร์มมากที่สุด

4. Zero overhang คือระยะ overhang ต้อง เป็นศูนย์ หมายความว่า ปลาย stylus ต้องเกาะแนว เส้นลิเนียร์ตลอด ตั้งแต่แทร็กนอกสุดถึงในสุด ดังนั้น การตั้งอาร์มต้องมี protractor หรือแผ่นทดสอบที่ ออกแบบมาสำหรับการตั้งอาร์มลิเนียร์ ในการทดสอบครั้งนี้ ผมเลือกใช้แผ่น Telarc Omnidisc ซึ่งในแผ่น แรกหน้าแรกจะมีให้เราสามารถตั้งอาร์มลิเนียร์ได้ 

การเซ็ตตามภาพนี้ทำได้ไม่ยากครับ เรามีจุดอ้างอิงในการเคลื่อนของอาร์มลิเนียร์ คือ จากแกน กลาง spindle และแกนกลางมอเตอร์ เราพยายาม วางตำแหน่งของแผ่นทดสอบให้เส้นแนว linear นี้ตรงกับเส้นอ้างอิงดังกล่าวแล้ว fix platter ไว้ไม่ให้หมุน จากนั้นก็คลายสกรูที่ฐานอาร์มบอร์ดให้มันเคลื่อนที่ เดินหน้าหรือถอยหลัง ให้ปลายเข็มเกาะแนวเส้นนี้ให้ ได้ตลอดตั้งแต่นอกสุดถึงในสุด 

ภาพนี้ ยังขาดนิดหนึ่ง ไม่ถึงเส้นลิเนียร์ 
ภาพนี้ ปลายเข็มเกาะเส้นพอดีเป๊ะครับ 

5. VTA , Azimuth ตรงนี้เราสามารถปรับไปได้พร้อมๆ กัน มันเป็นจุดที่ยุ่งยากเล็กน้อย และใช้เวลานาน ในการปรับ อาร์มสามารถที่จะปรับความสูงได้ โดยการขันความสูงของเสาอาร์มทั้งสองด้านตามภาพนี้นะครับ 

เราจะต้องใช้หกเหลี่ยมคลายตำแหน่งสกรู A ทั้งสองด้านก่อน แล้วค่อยใช้หกเหลี่ยมอีกเบอร์หนึ่ง หมุนตำแหน่งจุด B ที่เป็นเกลียว ทำให้เราสามารถปรับหมุนให้สูงขึ้นหรือต่ำลงทั้งด้านซ้ายและขวาได้ตาม ความต้องการ

การที่เราปรับความสูงได้ทั้งสองจุดซ้ายขวา มันมีผลหลายอย่างครับ ได้แก่… 

• ปรับความสูงขึ้น ต่ำลงของอาร์ม นั่นคือ VTA แต่การปรับ VTA จะ ะนาบ หรือเชิดขึ้น หรือจิกลง ยังไม่ซีเรียสเท่ากับอีกสองข้อข้างล่างนี้ครับ… 

• ปรับให้ส่วนของ air pipe รวมถึงตัวก้านอาร์ม ให้ ระนาบ, เทออก หรือ เทเข้าหาจุดกลาง platter ได้ 

• ถ้ามันเอียงต่างกันมากๆ ก็จะทำให้ body หัวเข็มเอียงตามไปด้วย นั่นคือ azimuth เปลี่ยน 

ในทางอุดมคตินั้น เราควรจะเซ็ตให้แนวแกน air pipe ให้ระนาบมาก ที่สุด ไม่เทเข้า หรือเทออก เพื่อให้การเกาะร่องแผ่นเสียงเป็นไปได้อย่างดีที่สุด ทีนี้เราจะเช็คได้อย่างไรล่ะว่ามันระนาบแล้ว?? จะเอาลูกน้ำเล็กๆ (spirit level) มาจับจะดีไหม อันนี้ผมก็ไม่ค่อยแนะนำครับ เพราะตัวลูกน้ำวัดระดับนั้น มันหยาบมากๆ 

วิธีที่ดีที่สุดคือ เราควรต้องย้อนกลับมาตั้งค่า tracking force ให้กลายเป็นศูนย์ หรือเกือบเท่ากับศูนย์ให้มากที่สุด โดยการถอยตุ้มหลังให้มัน balance กับน้ำหนักหัวเข็ม ให้เสมือนกับว่า arm tube ลอยอยู่ แล้วก็ปรับระดับความสูงของหัวเสาอาร์มทั้งสองข้าง จนกว่าอาร์มจะลอยนิ่ง ไม่เทเข้า หรือเทออก อันนี้คือวิธี ideal เมื่อได้ระนาบแล้ว ก็ค่อยกลับไปปรับ counterweight ให้ได้ tracking force ตามสเป็กหัวเข็มตามเดิม (ถ้าเป็นอาร์มรุ่น Magne ที่มีเสาเดียว เขาจะมีกระบอกเล็กๆ ให้ แทนการเซ็ต zero tracking force ให้กระบอกนี้มันลอยนิ่ง ไม่ลอยเข้าหรือออก) 

อีกวิธีหนึ่งก็คือ หาอุปกรณ์ช่วยวัด vta, azimuth gauge (ซึ่งมันจะบ่งบอกถึงระนาบของ air pipe ว่าเอียงเข้าออกมากน้อยแค่ไหน) ผมยืมของ เพื่อนมาครับ ยี่ห้อ Amari ของจีน ตามภาพต่อไปนี้ครับ 

อันนี้ VTA จะเชิดขึ้นเล็กน้อย แต่วางพาดขอบแผ่น ซึ่งมันอาจจะยกสูงขึ้นกว่าปกติ 
ส่วนอันนี้ azimuth ออกจะเอียง ไม่ระนาบ คงต้องปรับเสา arm tube ให้ยกฝั่งซ้ายขึ้น หรือ ไม่ก็ปรับฝั่งขวาลงครับ 

การใส่สเกลในการมองแบบนี้ต้องไม่ลืมว่า ต้องทำขณะที่วางแผ่นเสียงเหมือนกับเล่นจริง และอีกประเด็นหนึ่งคือ แผ่นเสียงต้องไม่บิดงอมากเกินไป หรือขอบตัววัดนี้ไม่ไปพาดกับขอบแผ่นเสียง (ซึ่งเขามักจะยกขอบแผ่นขึ้น จากการผลิตแผ่นเสียง) 

On test 

บทรีวิวของผมจะเขียนเยอะเกี่ยวกับการ set up สักหน่อยนะครับ เพราะผมเชื่อว่าระบบเครื่องเล่น แผ่นเสียง ถ้า set up ไม่ดีแล้ว ยังไงๆ เสียงก็ไม่ได้ดี อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ทดสอบร่วมกับ Galder ได้แก่… 

• หัวเข็ม Zyx R100, Benz Micro SL Wood, EMT TSD15-N 

• EMT 930 ST กับหัวเข็ม TSD 15 SFL เพื่อการเปรียบเทียบเสียง 

• Western Electric 618B, P&C 618B step-up transformer 

• Keen Audio Phono II phono stage (ผลงานมาสเตอร์พีชของ ซือแป๋ สาธร) 

• Line pre amp interstage ของ Keen Audio, Luxman A3500 power amplifier 

• WE 16 A horn system 

เริ่มต้นในการ set up นั้น ก็เช่นเดียวกับการ set up เครื่อเล่นแผ่นเสียงทั่วไป คือ การจับระดับ ระนาบของแท่นไล่จากล่างขึ้นบน ตัวแท่นวางบนลูก ceramic เพื่อให้จุดสัมผัสน้อยที่สุด เราสามารถใช้ก้าน เหล็กหรือก้านหกเหลี่ยมไขปรับระดับความสูงของ ทั้งสามขา ให้ plinth ได้ระนาบมากที่สุด 

เมื่อไล่ระดับเสร็จแล้วก็จัดการแตะน้ำมัน หล่อลื่นที่แกน platter จากนั้นเอา platter มาสวม วิธียก platter ที่มีน้ำหนักมากมาใส่แท่นที่เป็นเบ้า จมลงไปนั้น เขาให้สกรูมาช่วยในการจับยก เมื่อลงตำแหน่งแล้วค่อยไขสกรูออก 

จากนั้นก็ใส่ belt คล้อง platter กับ motor แล้วก็วาง acrylic mat สีดำต่อท่อ air และ motor controller ก็เป็นอันเรียบร้อย 

ขั้นตอนที่ยากก็ตอนเซ็ตหัวเข็มกับอาร์มนี่แหละ ครับ ผมเริ่มด้วยหัวเข็ม Zyx R100 ก่อน เนื่องจากเป็นหัวเข็ม MC ที่มีน้ำหนักเบามาก เพียงแค่ 5 กรัม เหมาะกับอาร์มลมเป็นอย่างยิ่ง ผมเซ็ตคร่าวๆ เพื่ออยากฟังเสียงโดยรวมก่อน fine tune เสียงโดยรวมมีความผ่อนคลาย ไม่บาง ไม่ตึงเกินไป ด้วย tracking force ที่ 1.9 กรัม สามารถแทร็กได้ตลอดตั้งแต่แทร็ก แรกถึงแทร็กในสุด โดยไม่มี tracking error หัวเข็มนี้ ช่วง body สั้นไปสักหน่อย ผมพยายาม slide arm base ให้เลื่อนมาข้างหน้าสุด เพื่อให้ตำแหน่ง stylus ได้ zero overhang คือตรงแนวลิเนียร์เป๊ะๆ แต่ก็ยังขาดอีกนิดหนึ่ง ทำให้รีวิวแบบไม่ค่อยสบายใจนัก เลยมองหาในตู้เพื่อเปลี่ยนหัวเข็มใหม่แทน 

ผมถอดหัวเข็ม Benz Micro SL Wood จาก แท่น EMT มาใส่อาร์ม Odin แทน ด้วยน้ำหนัก 9 กรัม สเป็กของอาร์มก็ยังสามารถที่จะเอาอยู่ คราวนี้ ผมตั้งใจเซ็ตให้แต่ละ parameter เป๊ะมากที่สุด เปิดแผ่นเสียงชุด Hank Mobley: Soul Station (Blue Note ST84031) เสี ยงที่ ได้ มี ความอวบอิ่ มเต็ มที่ ดีมากๆ แต่ปัญหาคือ ในแทร็กในๆ มีอาการเกาะร่อง ไม่อยู่ หัวเข็มลอยเข้าใน ถึงแม้ว่าตั้ง tracking force สูงสุดที่ upper limit ของสเป็กหัวเข็มแล้ว เลยมามองหัวเข็มในจังหวะที่ลงบนแผ่นเสียง พบว่า ก้านเข็ม เอียงตัวไม่ได้แนวดิ่งตั้งฉากกับผิวแผ่นเมื่อมองหน้า ตรง อันนี้แสดงว่าหัวเข็มผมตัวนี้เริ่มมีปัญหาแล้ว เนื่องจากเป็นหัวที่ใช้งานมาเกือบห้าปี และเล่นกับ อาร์ม pivot มาตลอด การที่ต้องเจอกับ skating – anti skating force อยู่ตลอดเวลาอาจจะทำให้ก้านเข็ม หรือ damping support ที่คอก้านอาร์มเสื่อมได้ เมื่อเราเอามาเล่นกับอาร์มลิเนียร์ที่ไม่มีค่า antiskating force เข้ามากระทำเลยเกิดอาการเอียงเป๋ของก้านเข็มได้ สรุปแล้วก็ต้องหาหัวเข็มใหม่ มาลงแทนล่ะครับ 

ในตู้เก็บหัวเข็มยังมีอีกหัวหนึ่งที่น่าจะเหมาะ กับอาร์มตัวนี้ แต่มันยังใหม่ ซีลอยู่เลย สงสัยผมจะต้องเปิดบริสุทธิ์หัวนี้กับแท่นและอาร์ม Bergmann นี้เสียแล้ว มันคือหัวเข็ม EMT รุ่น TSD 15 N เป็นหัว ในตระกูล TSD 15 ที่เปลือย ไม่มี shell น้ำหนักเบา น่าจะเหมาะกับอาร์มลมอย่างยิ่ง และเราจะได้เปรียบเทียบกับหัว TSD 15 บนแท่น EMT 930 ด้วยว่า ด้วยหัวเข็มเดียวกัน แต่คนละแท่น คนละอาร์ม จะมี ความแตกต่างกันแค่ไหน 

ครานี้ผมตั้งใจเซ็ตหัว EMT แบบเอาเป็นเอาตาย ไปข้างหนึ่ง เพื่อให้มันแสดงศักยภาพของแท่น Bergmann ออกมาให้เต็มที่ และมันก็ไม่ทำให้ผม ผิดหวังจริงๆ นอกจากนี้ ผมได้เตรียมการที่จะบันทึกเสียง จากระบบแผ่นเสียงชุดนี้ลง CD Recorder ของ Tascam CD RW901 mk 2 แล้วเอาไฟล์ wav 16/44.1 ให้ คุณผู้อ่านได้ download ไปฟังได้ที่นี่ครับ (ยกเว้นเพลงไทยที่ไม่ได้ให้ไป) https://drive.google.com/open?id=0BxouBUA6uiSpOGJ3bjN4eDhNaVk 

เราเริ่มกันที่เสียงกลางก่อน ผมคิดว่าการเซ็ต turntable หรือหัวเข็มนั้น เสียงกลางต้องได้ก่อน เราเช็คกันด้วยเสียงไวโอลินของ Ellisa Lee Koljonen อัลบั้ม Heartbreak ที่เป็นการนำบทเพลงคลาสสิกเดี่ยวไวโอลินร่วมกับเปียโน แผ่นคู่ สังกัด Dorian Record ที่ re-issue โดยสังกัด Silk Road Music ของฮ่องกง แผ่นนี้เด่นที่ความต่อเนื่อง ของเสียงกลางไล่ขึ้นไปยังเสียงแหลมสุดของไวโอลิน Bergmann ให้เสียงไวโอลินได้ “ใหญ่” มากครับ เสียงอิ่ม เปิด และทอดตัวไปได้สุด ในช่วงท้ายๆ จะ ได้ยิน harmonic ของคีย์ต่ำเปียโนชัดเจน ผมเตรียมเพลงจากอัลบั้มนี้ให้ท่านได้โหลดไปฟังกันถึงสี่เพลง จาก google drive download link ข้างบนนะครับ 

แผ่นเสียง Dali LP ชุดนี้ เป็นแผ่นที่ผมแนะนำอย่างยิ่งว่า น่าหาไว้ครอบครอง เพราะเขาเลือกเพลงได้ดีมาก ผมใช้สามเพลงจากอัลบั้มนี้ในการฟัง ทดสอบ แทร็กที่สามหน้า A Sicilliano in G minor โดย Jacques Loussier Trio นักเปียโนแจ๊สฝรั่งเศส ผู้มุ่งมั่นเอาเพลงของบาค และคลาสสิกอื่นๆ มา บรรเลงเป็นแจ๊ส จุดสังเกตในการฟังคือ โน้ตของ acoustic bass ว่ามีทั้งหัวโน้ตและหางครบๆ ไหม รวมถึง ambient ของเสียงคีย์เปียโนที่ Galder ถ่ายทอดได้อย่างชัดเจน ยิ่งเพลงที่สอง หน้า B – Misa Criolla นี้ เด็ดขาดมากครับ เสียงเบสหนักๆ จากกลอง ฝั่งค่อนมาทางซ้ายของเวทีเสียง แผ่ออกมาทางขวา เมื่อเสียงร้องขึ้น มันให้บรรยากาศสามมิติขึ้นมาได้ทันที เรารับรู้ได้ถึงเสียงร้องที่กระจายไปกับความก้องของห้องบันทึก อยากให้ลองหาแผ่นเสียงนี้มาฟัง เทียบกับคลิปเพลงนี้ที่ริปผ่านแท่น Galder นะครับ 

(https://drive.google.com/open?id=0BxouBUA6uiSpVEYzS0psd0dvc28

แผ่นเสียงชุดนี้ของค่าย Analogue Production ชุด Ray Charles and Betty Carter เป็นแผ่นที่ บันทึกเสียงได้ดีมากแผ่นหนึ่ง ผมแนะนำว่า คุณผู้ อ่านไม่ควรพลาดแผ่นนี้ เพราะยังหาซื้อได้ง่ายๆ ทั่วไป เป็นเพลงแนวฟัง ง่ายๆ สบายๆ แต่อัดเสียง ได้สมจริงมากๆ โดยเฉพาะเสียงร้อง ตัวอย่างที่เตรียม ไว้ใน download link (แท็กที่ 6 – https://drive.google.com/open?id=0BxouBUA6uiSpbDVJUTNKNGpSNFE) เป็นเพลงแรกหน้า B ชื่อ Baby, it’s cold outside บนแท่น Galder ท่านได้ยิน เสียงร้องที่แยกข้างกันชัดเจนระหว่าง Ray Charles ทางซ้าย และ Betty Carter ทางขวา เราสามารถ ฟังได้ยินขนาดที่ว่า เสียงแรกของ Ray Charles ร้อง พร้อมกับหายใจออกเลยทีเดียว! เสียงมันสมจริงอย่าง น่าขนลุกเลยทีเดียว เสียงเครื่องเป่าทองเหลืองนี่แผดสด สนุกมากๆ 

สารพัดแผ่นเสียงมากกว่า ในภาพรวมทางขวาที่ผมขุด ขึ้นมาฟังอย่างเพลิดเพลิน แต่เพลงทดสอบที่เอามาให้สามารถ download ฟังก็มี แปดแผ่นดังภาพ มีแผ่นหนึ่งที่น่าสนใจคือ แผ่นที่ไม่มีปก มาจากค่าย TIS (Treasure Island Sound) ของเกาะฮ่องกง เป็นการนำเอาไวโอลินราคาแพงๆ มาสีให้ฟังในแทร็กสุดท้ายหน้า B ของแผ่นเสียง จะเป็นเสียง บรรยายประวัติของไวโอลินคันหนึ่งที่ใช้บันทึกเสียง พร้อมกับสีตัวอย่างโน้ตให้ฟัง ผมเอาแทร็กนี้มาเป็นแทร็กทดสอบ เนื่องจากต้องการให้ฟังความสมจริงของเสียงพูด เสียงบรรยาย เมื่อฟังกับลำโพงฮอร์นแล้ว ยิ่งมีความสมจริงมากๆ 

หลังจากเซ็ตแท่นและหัวเข็มจนนิ่งแล้ว ผมก็ได้เรียนเชิญทาง Sound Box และท่าน บก.ปฤษณ กัญจา มาร่วมรับฟังผลการทดสอบด้วยตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน (ผมชอบแบบนี้ นะครับ เพราะว่าทางผู้นำเข้าจะได้ทราบด้วยว่า เรารีวิวเครื่องอย่างไร เสียงเป็นอย่างไร ทดสอบจริง หรือว่านั่งเทียนเขียน 555) พร้อมกับการสลับฟัง เทียบกันกับแท่น EMT930 ซึ่งติดตั้งหัวเข็ม EMT รุ่นเดียวกันกับที่อยู่บน Galder เราลองฟังแผ่น Hank Mobley: Soul Station ที่ทุกคนคุ้นหู มีความเห็น ตรงกันว่า tonal balance ของทั้งสองแท่นมีความ ใกล้เคียงกัน คือ อิ่ม ฉ่ำเบสดี แต่ Galder มีความ เหนือกว่าในด้านรายละเอียดต่างๆ ย่านกลางถึงแหลม การเดินโน้ตเบสที่มีความเด็ดขาดมากกว่า ไม่เบลอ สิ่งที่ EMT930 ทำได้ดีคือ time and pace ของเพลงนั้น Galder ก็สามารถให้ได้ไม่แพ้กันเลยทีเดียว จุดที่ ชนะอีกอย่างคือ background noise ที่เงียบสนิท ในแท่น Galder เมื่อเทียบกับ EMT ตรงนี้ชาววินเทจ ต้องยอมรับสภาพครับ ว่ายังไงๆ แท่นลูกกลิ้ง Idler Wheel ก็ย่อมเสียเปรียบแท่นไฮเอ็นด์ แล้วยิ่งเป็น ระบบ air bearing ทั้ง platter และอาร์มด้วยแล้ว ซึ่งทำให้เสมือนกับว่า ระบบขับเคลื่อนจานหมุนและ หัวเข็ม ลอยอยู่บนอากาศ แท่น EMT ที่ปกติจะชนะ แท่นยี่ห้ออื่นในเรื่องพละกำลัง แรงปะทะของเสียง จังหวะเสียง ไม่ได้มีความเหนือว่าแท่น Galder เลย มันลบความเชื่อส่วนตัวผมที่คิดว่า แท่นบวกกับอาร์มลมจะให้เสียงที่บาง เรื่อยๆ ชืดๆ ไปเสียสิ้น 

บทสรุป 

ผมใช้ชีวิตอยู่กิน ทดสอบ Bergmann Galder + Odin tonearm ตลอดช่วงข้ามปี (ปีใหม่ไทย) เลยทีเดียว มันเป็นเทิร์นฯ ที่ทำให้ผมอยากหยิบ แผ่นเสียงต่างๆ ออกมาฟังตลอดเวลา ผมอยากจะบอกว่า มันเป็นเทิร์นฯ ที่เข้าใกล้ความเป็นอุดมคติของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเลยทีเดียว 

จุดแข็งของเทิร์นตัวนี้มีหลายประการ ได้แก่…
1) รูปร่างหน้าตาที่เรียบง่าย ทันสมัย ไม่แฟนซี ไม่ลิเก ดูมี คลาสมาก
2) solid construction แข็งแรงบึกบึนมาก ชิ้นส่วนต่างๆ ออกแบบอย่างดี ทำงานแม่นยำเที่ยงตรง
3) ระบบ air bearing ทำงานได้ดีมาก ไม่เคยมี อาการสะดุดของการเคลื่อนของอาร์มจากลมเลย ตัวปั๊มลมเงียบมาก เราสามารถวางข้างที่นั่งฟังได้ สบายๆ ไม่มีเสียงกวนใจ
5) อาร์มลมเซ็ตไม่ยาก ปรับได้ทุก parameter และสามารถเพิ่มอาร์มได้ใน อนาคต
6) เสียงดีเหลือเชื่อ อิ่มฉ่ำเบสดี รายละเอียดดี 

จุดด้อย หรือข้อจำกัด ของแท่นนี้ รวมถึงการทดสอบครั้งนี้ ได้แก่… 1) ราคา แท่นนี้รวมอาร์ม ราคาแตะเจ็ดหลักเลยทีเดียว แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งที่ เป็นระบบ air bearing platter และ linear arm ก็ถือว่ายังถูกกว่าอยู่ดี
2) หัวเข็มที่ใช้ทดสอบ ผมยัง ไม่ได้ทดลองหัวเข็ม MC low ที่หลากหลายรุ่นกว่านี้ กับแท่นละอาร์มนี้ ผมอยากทดสอบกับหัวเข็มที่น้ำหนัก มากกว่านี้ สัก 8 – 9 กรัม ว่าจะเล่นได้ไม่มีปัญหาหรือไม่
3) อาร์ม น่าจะทำได้สวยกว่านี้ ตัวนี้ถือเป็นอาร์ม เวอร์ชั่นแรกที่ออกมา คาดว่าต่อไปจะมีการอัพเกรด หรือทำให้สวยงามกว่านี้ สิ่งที่อยากได้เพิ่มสำหรับ อาร์มนี้ก็คือ digital read-out meter เวลาปรับ VTA และก้านอาร์มแบบ carbon fiber ครับ. ADP 

Bergmann: Galder + Odin Arm 
ราคา 1,050,000 บาท (ไม่มี option vacuum hold down) 

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Sound Box 
โทร. 089-920-8297, 02-642-1448 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 243