ชานนท์

หูฟังตัดเสียงรบกวน จากผู้ผลิตลำโพงระดับไฮเอ็นด์

หูฟังจากผู้ผลิตลำโพงไฮเอ็นด์นาม Bowers & Wilkins มีดีอย่างไร? มาพิสูจน์ด้วย True Wireless Stereo Earbuds ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นตัดเสียงรบกวน 2 รุ่น ล่าสุด กันครับ…

ตารางเปรียบเทียบสเปกโดยสรุป ของ Bowers & Wilkins Pi5 S2 และ Pi7 S2 True Wireless Stereo Earbuds

การออกแบบ

ทั้ง Pi5 S2 และ Pi7 S2 มีลักษณะเป็น True Wireless Stereo (TWS) Earbuds รูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยหูฟังซ้าย-ขวาขนาดเล็ก 2 ชิ้น บรรจุในเคสมีฝาปิดจัดเก็บง่าย พกพานำติดตัวไปได้สะดวก และยังทำหน้าที่เป็นแท่นชาร์จพร้อมแบตเตอรี่เสริมในตัว สามารถยืดเวลาใช้งานได้นานสุดถึง 24 ชม. (5+19) สำหรับรุ่น Pi5 S2 และ 21 ชม. (5+16) สำหรับ Pi7 S2


ความแตกต่างภายนอก เริ่มจากเคสก่อน ตัวที่ได้มาทดสอบมาในโทนสีเทาเข้มทั้งคู่ Pi5 S2 เรียกว่าสี “Storm Grey” ส่วน Pi7 S2 เรียกว่าสี “Satin Black” ทั้งคู่ใช้วัสดุ คือ พลาสติกคุณภาพดี แต่ Pi5 S2 ผิวออกด้านและมีโทนสีอ่อนกว่า ในขณะที่ Pi7 S2 ใช้โทนสีเข้มกว่าเล็กน้อย และผิวบริเวณฝาปิดออกเงาเล็กน้อย น้ำหนักเฉพาะเคสเท่ากันที่ 47 กรัม แต่น้ำหนักหูฟัง Pi5 S2 เบากว่า (น้ำหนักหูฟังต่อข้าง Pi5 S2 = 6 กรัม ส่วน Pi7 S2 = 7 กรัม)



การประจุไฟให้แบตเตอรี่ทำได้ผ่านช่อง USB Type-C ที่ส่วนล่างของเคส มีสาย Type-C to Type-C มาให้ แต่ไม่มีหัวชาร์จมาด้วย (สามารถใช้ที่ชาร์จร่วมกับ Smartphones/Tablet ได้) ทั้ง 2 รุ่น รองรับชาร์จด่วน ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที สามารถใช้งานได้นาน 2 ชั่วโมง

เมื่อเปิดฝาเคสออกจะเห็นหูฟังทั้ง 2 ข้าง ดูดติดกับเคสด้วยแรงแม่เหล็ก ขณะเดียวกันช่วยให้หน้าสัมผัสโลหะแนบชิดในระหว่างชาร์จ

สีของหูฟังมาโทนเดียวกับเคส แต่ความต่างที่เด่นชัด คือ สีแดงตรงบริเวณ Ear tips ของ Pi5 S2

มาดูรายละเอียดภายในที่สำคัญกันบ้าง จุดที่ต่างกัน จุดแรก คือ ตัวขับเสียง โดย Pi5 S2 ติดตั้ง Dynamic Drive unit ขนาด 9.2 มม. ทำงานตลอดย่านเสียง

ขณะที่ Pi7 S2 รุ่นใหญ่กว่า เพิ่ม Balanced Armature Drive unit ทำงานในย่านความถี่สูง ส่วน Dynamic Drive unit ขนาด 9.2 มม. ทำงานช่วงย่านเสียงกลางและต่ำ แนวทางนี้มีส่วนช่วยให้การถ่ายทอดคุณภาพเสียงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ไมโครโฟนรับเสียงเพื่อใช้ในการสนทนาและตัดเสียงรบกวน ทั้ง 2 รุ่นก็มีจำนวนที่แตกต่างกัน โดย Pi5 S2 ติดตั้งไมโครโฟน 2 ชุด ต่อข้าง ส่วน Pi7 S2 ติดตั้งไมโครโฟน 3 ชุด ต่อข้าง ซึ่งน่าจะส่งผลกับความสามารถรับเสียงสนทนา และเสียงรบกวนแวดล้อมได้โดดเด่นขึ้น โครงสร้างหูฟัง ทั้ง Pi5 S2 และ Pi7 S2 ออกแบบให้กันน้ำและฝุ่นได้ถึงมาตรฐาน IP54 แต่ในส่วนของเคสไม่กันน้ำนะครับ

อุปกรณ์ในกล่อง Bowers & Wilkins Pi5 S2

อุปกรณ์ในกล่อง Bowers & Wilkins Pi7 S2

อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง Pi7 S2 เพิ่มเติม สาย USB Type-C to Analog 3.5mm มาให้ นอกเหนือจาก เอกสารคู่มือใช้งาน, Ear tips อีก 2 ขนาด และสายชาร์จ USB Type-C โดยอุปกรณ์ที่เพิ่มมานั้นมีไว้สำหรับฟังก์ชั่นพิเศษ ที่เรียกว่า “Audio Retransmission”

Audio Retransmission (Pi7 S2 Only)

คุณสมบัติเด่นอันดับต้นๆ ที่ควรพิจารณา หากจะเลือกใช้รุ่น Pi7 S2 ! อธิบายคุณสมบัติ Audio Retransmission แบบง่ายๆ คือ วงจรที่เพิ่มมาในเคสของ Pi7 S2 มีความสามารถรับสัญญาณเสียงจากภายนอก แล้วแปลงเป็นสัญญาณ Bluetooth ไร้สาย ส่งไปฟังกับหูฟังได้ ซึ่งรองรับทั้งรูปแบบสัญญาณเสียงอะนาล็อกและดิจิทัล

เท่ากับว่า เราสามารถใช้งาน Pi7 S2 ร่วมกับอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ โดยอุปกรณ์นั้นไม่จำเป็นต้องมี Bluetooth ในตัว เช่น เชื่อมต่อกับอุปกรณ์วินเทจ อย่าง Turntable, Tape Cassette Deck, CD Player หรือแม้แต่อุปกรณ์สมัยใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น เชื่อมต่อ “สัญญาณเสียงอะนาล็อก” จาก Turntable ด้วยคุณสมบัติ Audio Retransmission
เพื่อฟังแผ่นเสียงกับหูฟังไร้สาย Pi7 S2 ได้ (ใช้สาย USB Type-C to 3.5mm ซึ่งมีมาให้ แต่สายแปลง 3.5mm to Stereo RCA ต้องจัดหาเอง)

ไม่ใช่แค่รับสัญญาณเสียงอะนาล็อกเท่านั้น Audio Retransmission ยังรับ “สัญญาณเสียงแบบดิจิทัล” ผ่านทาง USB Type-C ได้ด้วย
ในภาพทดลองเชื่อมต่อกับ Windows Laptop ระบบจะเห็น Pi7 S2 เป็นหูฟังแบบสายที่เชื่อมต่อทาง USB
แนวทางนี้จะเหมาะกับคอมฯ ตั้งโต๊ะ ที่ไม่มี Bluetooth Transmitter ในตัว

อย่างไรก็ดี Audio Retransmission มีข้อจำกัดเล็กๆ อยู่บ้าง อย่างแรก ระหว่างที่ใช้ฟีเจอร์นี้ไม่สามารถใช้ไมโครโฟนของ Pi7 S2 ในการสนทนาได้ (เพราะเป็นการเชื่อมต่อแบบทางเดียว) แต่ใช้ไมโครโฟนงานร่วมกับระบบตัดเสียงรบกวนได้ตามปกติครับ

อย่างที่สอง คือ การเข้ารหัส Bluetooth codec ผ่าน Audio Retransmission ยังไม่รองรับ aptX ถึงแม้การเชื่อมต่อ Bluetooth ตามปกติ Pi7 S2 รองรับได้ถึง aptX HD และ aptX Adaptive ก็ตาม

ส่วนตัวผมมองว่า ข้อจำกัด 2 อย่างนี้ ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความเอนกประสงค์ที่ได้กลับมา การใช้งานมีความยืดหยุ่นครอบคลุมกว่าหูฟังไร้สายทั่วไปมาก

aptX vs aptX HD vs aptX Adaptive

อย่างที่ทราบกันว่า ถึงแม้อุปกรณ์แจ้งว่า รองรับการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงไร้สายผ่าน Bluetooth แต่การเชื่อมต่อที่ใช้ Codec ต่างกัน จะส่งผลกับ “คุณภาพเสียง” ต่างกัน โดย SBC ที่เป็น Codec พื้นฐานของ Bluetooth และถูกใช้งานแพร่หลายมากที่สุดนั้น มีอัตราสูญเสีย (Lossy) มากที่สุด ดังนั้น หากอุปกรณ์ปรับเปลี่ยนมาใช้ Codec แบบ AAC หรือ ดีกว่านั้น คือ aptX คุณภาพเสียงที่ได้จะดีกว่ามาก

ซึ่งทั้ง Pi5 S2 และ Pi7 S2 ต่างรองรับ aptX codec ทั้งคู่ แต่ Pi7 S2 แอดวานซ์กว่า เพราะรองรับถึง aptX HD และ aptX Adaptive

จุดเด่นสำคัญของ aptX ที่เหนือกว่า SBC และ AAC นอกจากบิตเรตสูงกว่า การหน่วงเวลา (Delay) ก็ต่ำกว่าแล้ว สัญญาณรบกวนก็ต่ำลงด้วย ทั้งค่า THD+N, Multi-tone, Crosstalk และ SNR ยิ่งอัพเกรดเป็น aptX HD และ aptX Adaptive คุณสมบัติตรงนี้ยิ่งชัดเจนมากๆ แต่เหนืออื่นใด คือ การเพิ่มเติมรองรับข้อมูลเสียงระดับ Hi-res โดย aptX HD รองรับถึง 24-bit/48kHz และ aptX Adaptive รองรับถึง 24-bit/96kHz

ทดสอบเชื่อมต่อสัญญาณ Bluetooth พบว่า Pi5 S2 รองรับ “aptX” และ Pi7 S2 รองรับ “aptX HD” ได้จริงครับ

ข้อจำกัดเดียวของ aptX Adaptvie คือ อุปกรณ์ต้นทาง (Bluetooth Transmitter อย่าง Smartphones) ที่รองรับการเข้ารหัส codec นี้ ยังมีไม่มากนัก ส่วนตัวอุปกรณ์ที่ผมมีอยู่ก็รองรับถึง aptX HD จึงไม่สามารถทดสอบความสามารถ aptX Adaptive ของ Pi7 S2 ได้ครับ แต่แค่ aptX HD ก็พบความต่างของคุณภาพเสียงที่เหนือกว่า จะรายงานอีกครั้งช่วง ผลการทดสอบ ครับ

การเซ็ตอัพ และ ควบคุมสั่งการ

การจับคู่ (Bluetooth Paring) ทำได้โดยเปิดฝาเคส กดปุ่มตรงกลางค้างไว้ 1.5 วินาที ไฟสถานะจะเป็นสีน้ำเงินกระพริบ จากนั้นเปิดโหมดค้นหา Bluetooth Device ที่ Smartphones จะพบชื่อ Pi5 S2 หรือ Pi7 S2 ทำการเลือกเพื่อเชื่อมต่อ ไฟสถานะสีน้ำเงินจะติดค้าง เมื่อการเชื่อมต่อสำเร็จ

การควบคุมใช้งาน ทำได้โดยแตะที่ด้านข้างของหูฟัง โดยแตะข้างใดข้างหนึ่ง 1 ครั้ง เป็น Play/Pause หรือรับสายสนทนา, แตะ 2 ครั้ง เล่นเพลงถัดไป หรือ วางสายสนทนา, แตะ 3 ครั้ง เล่นเพลงก่อนหน้า

หากแตะค้าง 1 วินาที ที่หูฟังข้างซ้าย จะเปิดหรือปิด Active Noise Cancelling, หากแตะค้าง 1 วินาที ที่หูฟังข้างขวา จะเข้าสู่โหมดรับคำสั่งเสียง

Smartphone App (for iOS & Android) ชื่อ Music | Bowers & Wilkins มีไว้สำหรับควบคุมใช้งานฟีเจอร์พิเศษของหูฟัง อาทิ Passthrough เปิดรับเสียงรอบข้าง ช่วยให้ฟังเสียงสนทนาหรือเสียงแวดล้อมได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำหูฟังออกจากหู ซึ่งฟีเจอร์นี้จะเปิดหรือปิดใช้งานผ่านแอพเท่านั้น ส่วน Active Noise Cancelling ที่ใช้บ่อยกว่า สามารถคอนโทรลผ่านแอพ หรือแตะที่หูฟังโดยตรงเพื่อ เปิดหรือปิด ได้ (แตะที่หูฟังข้างซ้ายค้าง 1 วินาที)

ผลการใช้งาน

ทั้ง Pi5 S2 และ Pi7 S2 ต่างก็ตอบโจทย์การเป็น True Wireless Stereo Earbuds ที่เหมาะกับการพกพาติดตัวไปใช้งานระหว่างเดินทาง ด้วยราคาที่ต่ำกว่าของ Pi5 S2 เหมาะกับคนที่มีงบประมาณไม่สูง แต่ต้องการหูฟังพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนคุณภาพสูง

โดย Active Noise Cancelling ในแง่ประสิทธิภาพลดทอนเสียงรบกวนของทั้ง 2 รุ่น ทำได้ดีใกล้เคียงกัน ช่วยแก้ปัญหาย่านเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ของยวดยานพาหนะต่างๆ ที่มักประสบขณะเดินทางได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ Adaptive Noise Cancelling คุณสมบัติที่เพิ่มมาของ Pi7 S2 (ปรับระดับการลดทอนเสียงรบกวนแบบ Auto) ไม่ได้ส่งผลกับประสิทธิภาพลดทอนเสียงรบกวนมากนัก ความสามารถจากระบบ ANC ของ Pi5 S2 จึงเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้งานส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี จุดเด่นที่แท้จริงของ Pi7 S2 คือ คุณภาพเสียงจาก Balanced Armature Drive Unit ที่เพิ่มเข้ามา ส่งผลให้การถ่ายทอดเสียงตลอดย่านมีความเด็ดขาด รายละเอียดเปิดเผยชัดเจนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อผนวกกับการเชื่อมต่อด้วย aptX HD codec ข้อมูลเสียงจึงมีความสมบูรณ์มากขึ้น ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า หากใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ต้นทางที่รองรับ aptX Adaptive ด้วยแล้ว จะดึงศักยภาพในจุดนี้ของ Pi7 S2 ออกมาได้เด่นชัดขึ้นอีกระดับหนึ่งเลย เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่เหมาะจะนำไปใช้รับฟังเพลงฟอร์แมต Hi-res

ความเอนกประสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากคุณสมบัติ Audio Retransmission ยังเติมเต็มความสามารถช่วยให้ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อะนาล็อกหรือดิจิทัลที่ไม่มี Bluetooth Transmitter ในตัวได้ จึงได้ความคุ้มค่าเพิ่มขึ้นอีก หากงบถึงและไม่ต้องการประนีประนอมกับคุณภาพเสียง Pi7 S2 เป็นตัวเลือกที่คู่ควรอย่างยิ่ง… แต่เหนืออื่นใด แนะนำไปทดลองฟังเสียงและสัมผัสใช้งานจริง ก่อนตัดสินใจจะดีที่สุดครับ. ADP

Pi7 s2 ราคา 19,900 บาท
Pi5 s2 ราคา 12,900 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่าย บริษัท มิวสิคพลัสซีนีมา จำกัด
สอบถามเพิ่มเติม
โทร. 085-2002-820