แม้ผมนิยมชมชอบของวินเทจ ทว่าก็ไม่ละเลยของทันสมัย ผมยังสนใจ “ของใหม่” ที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยี ณ ปัจจุบัน และถ้าจะให้ดีสมใจ ของใหม่นั้นควรใช้แนวคิดผลิตและฟังก์ชันใช้งานแบบย้อนรอยของเก่าที่ไม่ได้เก่าแต่ชื่อ หากมีความโดดเด่นของวิถีผลิตที่ยังคงใช้ได้ทุกยุคสมัย นั่นแหละ “โดนผมสุดๆ!!!” เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ คงใช้ได้กับทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ แม้แต่เทคโนโลยี เพราะท้ายที่สุดแล้ว โลกจะหมุนกลับ อะไรที่เคยถูกสร้างและดีกับผู้คน มันจะถูกเรียกกลับมาใช้ไม่ช้าก็เร็ว ผมเชื่อแบบนี้และคิดว่าหลายคนคงเชื่อแบบเดียวกัน ถ้าผมจะบอกว่า “ผมชอบเสียงลำโพงคู่นี้ เหมือนพาผมกลับสู่อดีตที่สวยงามแบบไม่มากและไม่น้อย” เสน่ห์ของมันมีอยู่รอบตัว เกิดจากการผสมผสานวัสดุและเทคนิคที่หลายผู้ผลิตหลงลืมกันไป เป็นลำโพงที่ตรงไปตรงมาทั้งรูปลักษณ์และแนวเสียง ให้สำเนียงเป็นธรรมชาติแบบไม่ดัดจริต ซึ่งหาได้ยากจากลำโพงเทรนด์ใหม่ในปัจจุบัน ที่สำคัญมีราคาเปิดตัวแบบสบายกระเป๋า คนรวยคนจนก็ซื้อได้

วิถีสก๊อตแลนด์…สู่ลำโพงสก๊อตฯ ที่ฮ็อตสุดๆ

ว่ากันว่าสำเนียงคนสก๊อตฟังยากแต่มีเอกลักษณ์ จริตผู้คนที่นั่นอบอุ่น รักสนุก ใจกว้าง และเป็นมิตร นึกถึงภาพผู้คนใส่ Kilts กระโปรงพับจีบยาวถึงเข่ากำลังเป่าปี่สก๊อต นั่นแหละใช่เลย สก๊อตแลนด์เป็นแหล่งต้นไม้เก่าแก่ที่สุดในยุโรป มีวิสกี้ชื่อเสียงก้องโลก ปราสาทใหญ่เก่าแก่ หมู่เกาะ 800 เกาะ ทะเสสาบในตำนาน Loch Ness Monster ถ้าคุณหลงใหลความเป็นสก๊อตฯ และชื่นชมความสวยงามของทะเลสาบ Loch Fyne (ชื่อเหมือนลำโพง) ที่ทอดตัวกว่า 65 กม. ทางชายฝั่งตะวันตก ศูนย์กลางหอยนางรมและปลาเฮอริ่ง นั่นแปลว่าคุณจะหาเสพสิ่งเหล่านั้นได้จากสำเนียงเสียงของลำโพงรุ่นนี้ไม่มากก็น้อย

ผมได้รับลำโพงวางขาตั้งหน้าตาหล่อเหลาจากตัวแทนจำหน่าย AudioForce มีชื่อรุ่นจำง่ายว่า F301 ชื่อลำโพงก็จำง่ายว่า “FYNE AUDIO” (ไฟน์ ออดิโอ) ต้นสังกัดใหญ่อยู่ที่สก๊อตแลนด์ โรงงานอยู่ที่ Glasglow ออกแบบและคิดค้นที่นั่นด้วยทีมงานที่ร่วมงานกันมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีหรือมากกว่าในบางคน (เพิ่งเคยเจอข้อมูลแบบนี้จากลำโพงแบรนด์นี้) FYNE AUDIO ผลิตลำโพงทั้งหมด 6 ซีรีส์ภายใต้ชื่อ The Family ใช้ตัวย่อว่า F ได้แก่ F3, F300, F500, F700, F1 (รุ่นใหญ่สุด) และ Home Install เปิดตัวผลิตภัณฑ์ไปเมื่อปี 2017 และถูกนำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในบ้านเรา เป็นการนำเข้ามาแบบครบทุกซีรีส์ ทุกรุ่น ทุกสีซะด้วย ชื่อเสียงจึงอาจใหม่ ไม่คุ้นหูนักเล่นฯ หากใครเคยอ่านรีวิวจากสื่อชั้นนำของอังกฤษ อย่างเช่น Hi-Fi Choice ต้องผ่านตา F301 มาบ้าง มันเตะตาตรงที่สื่อฯ ให้ 5 ดาวแดงในบทสรุป (Overall) และประทับตรา Hi-Fi Choice Recommended คิดแบบง่ายๆ ตามหลักการตลาดโง่ๆ ของผมได้ว่าสื่ออังกฤษเขา รีวิวลำโพงชาติพันธุ์เดียวกันอย่างชื่นชม ถือเป็นเรื่องไม่ผิดกฎใดๆ หากลำโพงนั้นมีเนื้องานดีจริง ในทางกลับกันหากลำโพงให้เสียงไม่แจ่มจริง แต่สื่อรีวิวแบบให้ดาวเยอะล่ะ แปลว่าสื่อเชียร์เกินไปหรือเปล่า

ส่วนตัวผมคิดว่า การตลาดจะสัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์กับผู้ผลิตและผู้บริโภคแค่ไหนนั้นต้องอาศัยหลายเหตุปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ ความโดดเด่นของสินค้า (ลโพงรุ่นนี้) ที่สมควรแตกต่างในทางที่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (ลโพงอื่นๆ) ความโดดเด่นสร้างขึ้นจากเนื้องานออกแบบ เทคนิคที่ใช้เพื่อให้ลำโพงเปล่งเสียงไพเราะ เที่ยงตรง เป็นธรรมชาติ ทุกอย่างต้อง Real และ Proof ได้จริง หลังจากผมแกะกล่อง อย่างแรกที่โดดเด่นโดนตาผมคือสีผิวและแผงหน้า อย่างสองที่ดึงดูดหูผมคือน้ำเสียงที่ปิ๊งตั้งแต่ยังไม่พ้นรันอิน และอีกหลายอย่างที่จะเล่าต่อไป ผมสรุปได้ก่อนเริ่มทดสอบ F301 ในวิถีของผมล่ะกันว่าเจ้านี่น่าสนใจใคร่ฟังอย่างแรง

ตัวจริงสวยปิ๊งกว่าในภาพ

F301 ตัวจริงสวยกว่าภาพจากหน้าเว็บหลายเท่า เป็นความสวยจากผิวตู้แบบด้าน แทนที่จะเป็นกลอสซี่วาววับซึ่งลำโพงสมัยนิยมชอบใช้กันเพื่อเพิ่มมูลค่าทางสายตา ลายไม้จากวิเนียร์ด้านไม่ซ้ำลายกันทั้งสองตู้ ผมได้รับตู้สีโอ๊คอ่อน Light Oak มาทดสอบ (มี 3 สี 3 ลายไม้คือ Walnut / Black Ash / Light Oak ส่วนตัวชอบทั้งสามสี) มันให้ความรู้สึกดิบที่ไม่หยาบจากวิเนียร์ผิวสีอ่อนที่ตัดกับสีดำของแบฟเฟิลโดม ส่วนนี้เป็นพลาสติกผิวมันสีดำและสีเงินของกรวย ให้อารมณ์สุขุมนุ่มลึกสมกับเป็นลำโพงสก๊อตแลนด์ ติดตั้งตัวขับเสียงเปี่ยมด้วยเทคนิคกระจายพลังงานเสียง มาพร้อมหน้ากากผ้าทรงโค้งที่ออกแบบได้แยบยลและสวยงาม (ติดหน้ากากแล้วขอบพอดีกับความหนาของแบฟเฟิล) แค่นี้ก็เกินพอสำหรับลำโพงดีๆ สักคู่ในราคาหมื่นต้นๆ เพื่อลุยต่อหรือใช้ยาวก็ว่ากันไป

สิ่งที่ผมสัมผัสได้จาก F301 คือ วินเทจ + ล้ำสมัย ไม่ว่าจะใช้มันแบบไหนล้วนซัพพอร์ตทั้งสิ้น เรื่องความสวยงามน่าเกรงขามนั้นการันตีได้เลย ลำโพงที่เน้นด้านลึกมากกว่าด้านกว้างช่วยให้วางบนเพลทขาตั้งได้สง่างามไม่ต่างจากมอนิเตอร์ชั้นดี มันเป็นลำโพงที่มวลเบากว่าขนาดตัว จึงยกง่ายด้วยเหลี่ยมสันตู้เข้ามุม 90 องศาทุกด้าน ตัวตู้ขึ้นโครงด้วยไม้เอ็มดีเอฟหน้าไม่หนาแต่แข็งแรง เน้นให้เนื้อไม้ก้องสะท้อน เพื่อช่วยสร้างคลื่นเสียงอันเป็นเทคนิคของตู้ลำโพงสมัยก่อน แล้วความล้ำสมัยล่ะ เจ้านี่ใส่อะไรมาบ้าง

เอกลักษณ์ลำโพงอังกฤษ…ชีวิตชีวาผสานความเรียบง่าย

Dr. Paul Mills หัวหน้าฝ่ายออกแบบและวิศวกรของ FYNE AUDIO เคยทงานให้ Tannoy ในฐานะ Engineer Director เกือบ 30 ปีคือหัวจักรสคัญที่ผลักดันให้เกิดลโพงรุ่นนี้และอื่นๆ เขาและเพื่อนระดับหัวกะทิอีก 4 คนที่มาจาก Tannoy ได้นั่งเก้าอี้สำคัญใน Fyne Audio ได้แก่ Andrzej Sosna (MD), Max Maud (Sale & Marketing Director), Gabriel O’Donohue (Operation Director), Stuart Wilkinson (Product Director) พวกเขาร่วมกันนำประสบการณ์และแนวคิดที่ตกผลึกอย่างดีมาผลักดันให้ Fyne Audio ก้าวสู่ทำเนียบลำโพงคุณภาพระดับโลก และเพื่อหนีคำว่า New Brand จากนักเล่นฯ ที่ไม่รู้จัก Paul นำเทคนิคสร้างเสียงจากจุดกำเนิดเดียวกันหรือ Point Source มาใช้ แน่นอนว่าเขาใส่มาใน F301 ด้วย เทคนิคนี้สร้างชื่อให้ Tannoy มานานจนแบรนด์อื่นหยิบไปใช้กัน สำหรับ FYNE AUDIO ดูยังไงก็ไม่มีกลิ่นของ Tannoy ในยุคที่โด่งดังในบ้านเราและทั่วโลก แต่ลึกๆ แล้ว FYNE AUDIO คือจุดบรรจบของเทคนิคผลิตลโพงจากอายุของ 5 ขุนพลข้างต้นรวมกัน ซึ่งไม่ต่ำกว่า 200 ปีนั่นเอง

ผมจึงบอกตั้งแต่ต้นว่านี่คือลำโพงที่ผสมผสานเทคนิควินเทจ + ล้ำสมัย ลองนึกชื่อลำโพงอังกฤษแต่ดั้งเดิมที่ขึ้นทำเนียบอย่างเช่น Acoustic Energy, Mordaunt Short, Mission, Wharfedale, Quad, B&W, Monitor Audio, Castle, Celestion, Roksan ฯลฯ เอกลักษณ์ลำโพงอังกฤษคือมีสำเนียงเสียงเรียบร้อย ฟังสนุกแต่ไม่หวือหวา ไม่เอะอะ เสียงกลางเป็นธรรมชาติ ราบเรียบ ไม่เน้นชัดจนขึ้นขอบ เสียงสูงพลิ้วสบายหู ทุ้มเน้นหัวมากกว่าหางเสียงลึกๆ ที่สำคัญคือขับง่าย ใช้แอมป์เล็กๆ กำลังขับดีๆ ก็ฟังไพเราะ บุคลิกเสียงแบบนี้เองที่ถูกใจนักฟังสายหวาน สายนุ่ม สายพักผ่อน หรือแม้แต่สายโอ้ไฟล์ ผมเชื่อว่า Paul เข้าใจในบุคลิกเสียงเป็นอย่างดี แกจึงอยากเพิ่มคุณภาพให้ล้ำยิ่งขึ้นเพื่อให้ FYNE AUDIO มีความเป็นไฮเอ็นด์ที่คอนเทมโพลารี่ ลุยได้แม้เพลงมามาก ฟังได้ทุกแนวดนตรีโดยคงไว้ซึ่งน้ำเสียงที่มีชีวิตชีวาและเป็นธรรมชาติ 

ฟัง F301 ใน 50 ชม. แรก แม้เป็นช่วงรันอินที่ไม่สมควรฟันธงอะไร แต่…

F301 กลับฟังง่ายพอๆ กับน้ำหนักตัวที่ยกย้ายง่าย เชิญชวนให้เซ็ตอัพ (เหมาะกับคนชอบเซ็ตลำโพง ขยับปรับเพื่อหาจุดลงตัว) ตัวตู้เบาทว่ามีปริมาตรภายในค่อนข้างมาก (ตู้ยาวไปด้านหลัง) ช่วยให้ปริมาณเสียงทุ้มไม่เอ่อล้นรบกวนเสียงกลางตอนฟังดังๆ ขณะที่เมื่อลดโวลุ่ม (ฟังเบา) ปลายทุ้มลึกๆ จะแผ่วหายบ้างในบางเพลงที่บันทึกมาไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นอาการปกติของลำโพงตู้มวลเบา ผู้ออกแบบเผื่อเรื่องนี้ไว้ด้วยการเจาะพอร์ตหลังตู้ให้ทุ้มกระจายออกไปกระทบผนังห้อง จุดนี้เองที่ต้องอาศัยการเซ็ตอัพช่วยสร้างเนื้อเสียงทุ้มให้สัมพันธ์กับเสียงกลาง

ช่วง 50 ชม. แรก เสียงที่ฟังแล้วเพลินที่สุดคือเสียงกลาง ส่วนเสียงแหลมนั้นเป็นกระจุก ไม่กระจายตัวแหวกอากาศเท่าที่ควร อาการพอๆ กับเสียงทุ้มที่ฟังชัดช่วงหัวโน้ตแต่ไม่เน้นบอดี้ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหลังจากพ้น ชม. ที่ 100 ไปแล้ว สังเกตจากโทนัลบาลานซ์จะชัดเจน เสียงแต่ละย่านจะแยกจากกันเป็นอิสระ สัมผัสช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีได้มากขึ้น จุดนี้แหละที่เราเริ่มเซ็ตอัพตำแหน่งที่เหมาะสมในห้องให้มันได้ จากประสบการณ์ผม การวางลำโพงใกล้ผนัง (เริ่มต้นตั้งแต่ 50 ซม. และห่างมากขึ้น แต่ไม่ควรเกินกึ่งกลางห้อง) ช่วยสร้างเนื้อทุ้มให้มีปริมาณและความฉับไว + ปลายทุ้มที่มีทรวดทรงและตำแหน่งคมชัด ขณะที่การวางลำโพงแบบแผงหน้าตรงกับโทอิน (เอียงแผงหน้าหาจุดนั่งฟัง) ช่วยคัดเน้นรายละเอียดเสียงกลางและสูงและเพิ่มโฟกัสเสียงทุ้ม ทั้งสองอย่างนี้ควรทำอย่างสัมพันธ์กันจนจบการเซ็ตอัพสำหรับผู้อยากลงลึกเรื่องเสียง แต่ถ้าใครไม่อยากลงดีเทล F301 ก็ไม่เกี่ยงถ้าจะวางมันแบบไม่เซ็ต ซึ่งมันก็ให้เสียงน่าฟังด้วยอานิสงส์จากเทคนิค Point Source 

Point Source – The Finest Sound Quality

แนวคิด Point Source ถูกนำมาใช้ร่วมกับเทคนิคทางอะคูสติกอื่นๆ ซึ่ง Paul Mills คิดค้นขึ้นร่วมกับทีมออกแบบเพื่อให้ลำโพงของ FYNE AUDIO เปล่งเสียงดนตรีได้สมจริง เสียงของเครื่องดนตรีซึ่งประกอบด้วยความถี่ต่างๆ เปล่งดัง

จากเครื่องดนตรีนั้นๆ ทว่าหากสังเกตดีๆ จะพบว่าแต่ละเสียงดังจากตำแหน่งต่างกัน มีคลื่นสั้นและยาวไม่เท่ากัน การออกแบบตัวขับเสียงโดยคำนึงถึงเลเยอร์คลื่นเสียงและจุดกำเนิดเสียงแบบนี้ต้องคิดคำนวณให้สอดคล้องกับการรับรู้เสียงของคนเมื่อได้ยินเสียงแต่ละความถี่พร้อมกัน เทคนิคของ Paul มี 2 อย่าง อย่างแรกคือกจัดแรงสั่นสะเทือนที่รบกวนตัวขับเสียงโดยใช้ “IsoFlare” กำหนดจุดกึ่งกลางของเสียงกลาง/ต่ำจากวูฟเฟอร์ด้วยเสียงสูงจากทวีตเตอร์ เพื่อสร้างมิติโฟกัสที่ชัดเจน แม้กระทั่งส่วนที่อยู่นอกแนวกระจายเสียง โดยคลื่นเสียงจะถูกกระจายไปในทิศทางที่ถูกต้องตามการกระพือของวูฟเฟอร์ เสียงที่เกิดขึ้นจึงเหมือนดังจากจุดเดียวกันในอากาศ (แนวคิดนี้คล้ายหลักการ Uni-Q : KEF) Paul ใช้เทคนิคอย่างที่สองเสริม นั่นคือจุดตัดแบ่งความถี่ ลโพงรุ่นนี้มีจุดตัดแบ่ง 1 จุดที่ตแหน่ง 3.2 kHz แต่ใช้ 3 ออร์เดอร์ นั่นคือใช้ออร์เดอร์ที่ 2 สำหรับความถี่ต่ำ (Low Pass) และใช้ออร์เดอร์ที่ 3 สำหรับความถี่สูง (High Pass) เมื่อพิจารณาประกอบฟังเสียง ค่า 3.2 kHz ถือเป็นจุดตัดที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจุดตัดที่ต่ำกว่านี้ที่นิยมใช้กันในลำโพงพิกัดเดียวกัน ค่านี้ทำให้วูฟเฟอร์ทำงานเต็มที่จนเกือบจะเป็นฟูลเรนจ์ เสียงกลางและทุ้มของ F301 จึงสะดุดหูมากกว่าเสียงแหลม แต่เป็นการสะดุดหูที่ไม่เน้นพละกำลัง ไม่เน้นอวบอิ่มจนเสียจังหวะที่ดีไป

เหตุนี้ค่าความไวของ F301 จึงตกอยู่ที่ 89 ดีบี (ความต้านทาน 8 โอห์ม) ขับยากสักนิดเมื่อเทียบกับความไว 90 ดีบีขึ้นไป แอมป์กำลังสำรองดีๆ น่าจะได้เปรียบถ้าอยากขับ F301 ให้ทะลุปรุโปร่ง ยิ่งเร่งโวลุ่มมาก ยิ่งสัมผัสรายละเอียดเสียงกลางและทุ้มต้นมากขึ้น โดยเสียงสูงไม่แผดพุ่ง เป็นการจูนความถี่ที่รอมชอมและเผื่อสำหรับการฟังดังถึงดังมาก

มาดูตัวขับเสียงกัน F301 ใช้วูฟเฟอร์ 150 มม. (6 นิ้ว) โครงอะลูมิเนียมแข็งแกร่งแบบไม่ก่อเสียงก้องสะท้อน ด้านหลังมีช่องระบายความร้อนให้แม่เหล็กนีโอไดเมียม ไฮไลต์อยู่ตรงไดอะแฟรมสีเงินวาวที่ใช้กระดาษหลายชนิด (Multifibre) เพื่อผสานสำเนียงเสียงที่เป็นธรรมชาติกับเสียงที่สะอาดเข้าด้วยกัน ขอบล้อมรอบผลิตด้วย Fyneflute Surround Technology เป็นยางผิวหน้าไม่เรียบกลมเหมือนทั่วไป ใช้การบากเนื้อยางและเว้นช่อง ทำแบบนี้รอบไดอะแฟรม เพื่อสร้างแรงผลักแบบเดียวกับดอกสว่าน ช่วยให้วูฟเฟอร์ขยับตัวเป็นวงกว้างด้วยความนิ่งตรึง ไม่ยวบยุบ (ใช้นิ้วกดจะรู้สึกได้) แกนกลางวูฟเฟอร์ติดตั้งเฟสปลั๊กแบบหัวกระสุนสีดำเพื่อจูนมิติโฟกัสเสียงกลางและทุ้มให้คมชัด ด้านทวีตเตอร์ใช้โดมผ้าโพลีเอสเตอร์ขนาด 1 นิ้ว มีเวฟไกด์เกลี่ยความถี่ให้ราบเรียบ ด้านหน้าครอบด้วยตะแกรงพลาสติก (ขยับหมุนเพื่อถอดออกได้) 

ฟังเสียงไพเราะ + ฟังเพลงเจาะลึก

F301 เป็นรุ่นวางขาตั้งรุ่นเดียวในรหัส F300 ซึ่งมี 5 รุ่นคือ F301, F302 (ตั้งพื้น), F303 (ตั้งพื้น), F300C (เซ็นเตอร์), F300LCR (เซ็นเตอร์) ออกแบบมาสำหรับฟังเพลงและชมภาพยนตร์ รุ่นที่สะดุดตาผมคือ F301 และ F302 (ตัวขับเสียงเหมือน F301 แต่ตู้สูงยาวกว่า) หลังจากวาง F301 บนขาตั้งไม้ตันสูง 26 นิ้ว (รวมสไปก์ + ถ้วยรอง) เสียงแรกที่เปล่งดังจากอัลบั้ม Phanton Limb (Naim Edge) ทำเอาผมนั่งไม่ติด เวทีเสียงกระจายเต็มห้อง ขณะที่เสียงร้องและเครื่องดนตรีระเห็จตามตำแหน่ง ไม่มีอาการเสียงแบนเหมือนลำโพงใหม่ทั่วไปที่เคยฟัง “อย่าปรามาสลโพงที่คุณยังไม่เคยฟังหรือฟังอย่างไม่ถ่องแท้” ความไว 89 ดีบีถือว่าขับไม่ยาก ประกอบกับมีพอร์ตหลังตู้จึงทำให้เสียงกลางต่ำและต่ำสุดเพดานที่มันทำได้นั้นมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ เสียงต่ำเคลื่อนที่จากด้านหลังวูฟเฟอร์ บางส่วนสะท้อนภายในตู้แล้วออกจากพอร์ตไปกระทบกับผนังห้องด้านหลังลำโพงโดยไม่มีเสียงบวมแม้ผมเร่งโวลุ่มดัง พอร์ตเป็นท่อพลาสติกยาว 5 นิ้ว ติดตั้งตรงกลางด้านหลังทวีตเตอร์กับวูฟเฟอร์ หน้าตาเหมือนพอร์ตทั่วไป ทว่าตำแหน่งติดตั้งนี่ซิที่ทำให้เสียงเบสมีคุณภาพ มันช่วยปลดปล่อยความถี่ต่ำจากวูฟเฟอร์สู่ภายนอกได้เหลือเฟือ เสียงกลางต่ำและต่ำจึงสะอาด ไม่พร่าเลือน ที่น่าทึ่งคือภายในตู้ไม่ยัดใยสังเคราะห์ไว้เพื่อซับคลื่นเสียงแต่อย่างใด เป็นตู้เปล่าๆ เท่าที่ผมส่องดู 

F301 ให้มุมกระจายเสียงโอ่อ่าเกินตัว จลองเวทีด้านลึกและกว้าง โดยเน้นด้านลึกเป็นจุดสังเกต เสียงแหลมไปไกลถึง 44Hz เสียงต่ำลงลึกถึง 28kHz ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สวยสหรับลโพงวาขาตั้ง ใช้แอมป์กำลังขับ 25 วัตต์ขึ้นไปก็จัดการมันได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะกอดคอกับแอมป์ได้ทุกตัว ควรพิจารณากำลังขับต่อเนื่องของแอมป์สัก 50 วัตต์จะดีมาก แอมป์หมูหมากาไก่ที่เสียงดังอย่างเดียวแต่ขาดรายละเอียดหรือขาดกำลังสำรองที่ดีพอ ผมไม่แนะนำให้ใช้ สังเกตง่ายๆ ถ้าแอมป์ให้เสียงต่ำแป๊ก เสียงกลางไม่กระฉับกระเฉง เสียงสูงขาดประกายกังวานล่ะก็ นั่นคือแอมป์ไม่เวิร์ก (ผมใช้แอมป์โซลิดสเตทและหลอดที่ใช้ประจำตลอดการรีวิว)

อัลบั้ม Phanton Limb ของค่าย Naim บันทึกเสียงมาค่อนข้างดิบด้วยเกนเสียงไม่ดัง น้ำเสียงจึงเรียบแต่ไม่ขาดรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะเสียงร้องแหบห้าวแนวโซลของ Yolanda Quartey เสียงกลอง กีตาร์ไฟฟ้า และแมนโดลิน เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของดนตรีโซล บลูส์ กอสเปล และร็อค การฟังอัลบั้มชุดนี้แบบเจาะลึกจำต้องเร่งโวลุ่มแอมป์สูง ผมคงไม่โหดไปที่รันอิน F301 ด้วยเพลงครอสโอเวอร์แบบนี้โดยใช้ซิงเกิ้ลเอนด์หลอดโมโนบล็อก 18 วัตต์ (Viola Audio : 12BH7A + 6FQ7 + 6C33C หลอดไตรโอดรถถัง) ต่อตรงกับซีดี YBA : CD100 Heritage ใช้สายสัญญาณ Tellurium Q:Blue และสายลำโพงแกนเดี่ยวเล็กสำหรับแอมป์หลอดโดยเฉพาะ) F301 ปลดปล่อยเสียงช่วงรันอินแบบไม่เหงื่อตก แม้ว่าการไต่ระดับเสียงและระบุมิติชิ้นดนตรียังไม่ชำแหละนัก แต่อารมณ์เพลงมีมา F301 ถ่ายทอดหัวใจของ Phanton Limb ได้ในช่วงรันอิน ถือว่าลำโพงมีแววดี มันทำให้ผมสนุกเลือกเพลงแนวอื่นมาให้มันร้องเพลง 

การใช้เพลงหลากสไตล์รันอินลำโพงใหม่เป็นวิธีที่ผมใช้ประจำเพื่อพิจารณาแนวเสียง เนื่องจากแต่ละแนวเพลงบรรเลงไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี จังหวะ ทำนอง การเรียบเรียง บันทึกเสียง และทำมาสเตอริ่ง การตัดสินว่าลำโพงใดให้บุคลิกเสียงแบบไหนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าถ้าลำโพงนั้นออกแบบมาเพื่อให้ฟังเพลงโดยไม่เกี่ยงแนวดนตรีหรืออุปกรณ์ในซิสเต็ม เสียงที่เราได้ยินก็จะเข้าหูง่าย เกิดการรับรู้ที่ไม่ต้องตีความ จนได้รับความสนุกและไพเราะ ผมเชื่อว่า F301 ถูกสร้างมาแบบนั้น หลังจากรันอินผ่าน 100 ชม. ผมขยับตำแหน่งลำโพงจากเดิมซ้ายขวาห่างกันไม่เกิน 160 ซม. เป็น 170 / 180 / 190 ซม. (เพิ่มทีละ 10 ซม. ซ้ายและขวาด้านละ 5 ซม.) ห้องฟังผมกว้าง 4 ม. ยาว 9 ม. สูง 2.9 ม. แบ่งพื้นที่ 3 ส่วน โดยวางลำโพงส่วนแรก (ผนังหลัง – 3 ม.) จุดนั่งฟังห่างออกมาไม่เกิน 6 ม. เซ็ตอัพ F301 แบบ Nearfield ฟังโดยตั้งแผงหน้าตรงและโทอินทีละนิดเข้าหาจุดนั่งฟังจนได้ตำแหน่งที่เวทีเสียงกลมกลืน

ผมสับเปลี่ยนขับมันด้วยซิงเกิ้ลเอ็นด์ 3 วัตต์ Viola Audio : SE3 (Upgraded OPT) ตัวเก่งตัวเดียวในโลกของผม ใช้หลอด 12BH7A ของ Fujitsu Ten + EL84 ของ Sovtex สายสัญญาณ Canare : 805 ต่อหัว Neutrix และสายลำโพงแกนเดี่ยวเล็กสำหรับแอมป์หลอดเส้นเดิม โดยยังคงใช้วิธีการต่อซีดีตรงเข้าซิงเกิ้ลเอนด์ บิดโวลุ่มสูงสุดแล้วควบคุมเกนความดังที่ซีดีเพลเยอร์ (วิธีต่อตรงแบบนี้ ซีดีเพลเยอร์ต้องปรับค่าเกนจ่ายสัญญาณขาออกได้) เมื่อเปลี่ยนใช้แอมป์กำลังขับน้อยลง โดยคงใช้ฟรอนต์เป็น CD100 แปลว่าผมต้องเร่งโวลุ่มมากขึ้น ตัวเลขเอาต์พุตที่ CD100 ตั้งไว้ที่ 17 – 18 ดีบี (ตอนขับด้วยโมโนบล็อก 6C33C ตั้งไว้ราว 19 – 21 ดีบี)

ผมได้ข้อสรุปว่าเกนขยายเสียงจากหลอดขนาดต่างๆ สามารถผลักดันเสียงของ F301 ออกมาโดยเป็นลักษณะความดังมากขึ้น แต่ยังคงบุคลิกเสียงลำโพงไว้เหนียวแน่น มันเป็นลำโพงที่ไม่อ่อนไหวกับแอมป์มากนัก เปลี่ยนแอมป์แล้วบุคลิกไม่เปลี่ยนหน้ามือหลังมือจนเกินไป ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเทคนิคจูนเสียงแบบ Point Source และครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กข้างต้นที่ส่งผลต่อบุคลิกเสียงที่นิ่งและเที่ยงตรง

อานิสงส์ของ Point Source ทำให้ผมได้ยินทั้งมิติโฟกัส เวที และบรรยากาศ 3 อย่างนี้ถือเป็นไม้เด็ดของลำโพงทุกคู่ โดยเฉพาะลำโพงวางขาตั้งซึ่งเซ็ตอัพง่ายกว่าลำโพงตั้งพื้น มันไม่เกี่ยงอัลบั้มเพลงแม้ว่าถูกบันทึกมาในวิถีที่ไม่ใช่ “โอ้ไฟล์” อย่างตอนฟังเสียงคุณอรวีร้องเพลงสนามอารมณ์ในชุดเพชรน้ำหนึ่ง ชุด 1 (Grammy) อัลบั้มคัฟเวอร์เพลงลูกกรุงทรงคุณค่าที่คนหลงเสียงนางต้องมี F301 ถ่ายทอดแก้วเสียงใสปนเนื้อกระจ่างที่อุ้มชูกันของคุณอรวีลอยเด่นกึ่งกลางเวที ขณะที่เสียงดนตรีซึ่งบันทึกเสียงแบบมัลติแทร็ก บางเสียงถูกเพิ่มเกน ใส่แอมเบี้ยนส์และวางตำแหน่งถูกฟ้องออกมาให้ผมเห็นชัดถนัดหูและตา (เซ็ตลำโพงลงตัว จะโชว์มิติเสียงให้หูและตาสัมผัสได้) แต่ละเพลงในงานชุดนี้โชว์เสียงร้องไม่เหมือนกันเป็นอีกหนึ่งที่ลำโพงแสดงผล มันมีความเที่ยงตรงอยู่ไม่น้อย อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับหลายแผ่นที่ฟัง อาทิ เยื่อไม้ 1 (คีตา), Lionel Richie : Back to Front (บันทึกเสียงและมาสเตอร์ AAD), Simone Kopmajor:Spotlight on Jazz แม้แต่อัลบั้มบันทึกเสียงแบบออดิโอไฟล์ พิถีพิถันตั้งแต่บันทึกเสียง มาสเตอริ่ง และปั๊มแผ่นอย่างเช่นอัลบั้ม Listen ของ Bolux (HQ : FORS Master Sound)

F301 คือลำโพงวางขาตั้งที่ตั้งมั่นด้วยมิติเสียงครบ บรรยากาศดี ดนตรีไพเราะ และเหมาะเจาะสำหรับออดิโอไฟล์”

Experience + Expertise

ฟันธงว่า F301 เป็นลำโพงน้องใหม่ที่มีแววว่าจะก้าวสู่ความเป็นพี่ใหญ่ได้ในไม่ช้า หลังจากรีวิวเสร็จ ผมได้ประสบการณ์การฟังที่ไม่แย้งกับ 5 ดาวแดงและ Hi-Fi Choice Recommended ที่ Hi-Fi Choice มอบให้มัน ส่วนตัวผมไม่รู้จัก Dr. Paul Mills แต่อยากชมว่าเทคนิคหลายอย่างที่เกื้อหนุนให้ลำโพงแสดงศักยภาพทางเส้นเสียงของแกนั้นเป็นแนวคิดที่ลงตัวและเท่มากๆ ในฐานะคนฟังไม่ว่าคุณจะเข้าใจหลัก Point Source / Crossover หลายจุดตัดความถี่ / ตัวตู้มวลเบา / ตัวขับเสียงที่มีส่วนประกอบจากหลายเทคนิคทางอะคูสติกส์มากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่คุณสัมผัสได้จากมัน นั่นคือน้ำเสียงที่ฟังเพลิน กลมกล่อม คมชัดในระดับที่สร้างสุขได้ในทุกห้องฟัง ถ้าเปรียบเสียงเป็นภาพก็ต้องใช้คำว่า “คมชัดระดับ 4K” ทั้งหมดทั้งมวลในรีวิวสู่บทสรุปสั้นๆ ว่า F301 คือลำโพงวางขาตั้งที่ตั้งมั่นด้วยมิติเสียงครบ บรรยากาศดี ดนตรีไพเราะ และเหมาะเจาะสำหรับออดิโอไฟล์ ใครมองหาลำโพงเล็กแสนดีในราคาคุ้มสุดในยุคนี้ (ยุคที่ค่าเงินปอนด์ดิ่งฮวบ) และยังไม่รู้ว่าจะจบที่ลำโพงอะไร F301 คือคำตอบต้นๆ ที่ต้องกาไว้ในลิสต์ครับ. ADP

Specifications

Type: 2-way, Rear Ported
Drivers: 1×150 mm, Multi-Fibre Bass/Mid, 1×25 mm Polyester Dome Tweeter
Crossover: 3.2 kHz (2nd Order Low Pass, 3rd Order High Pass)
Sensitivity: 89dB @ 2.83v / 1m
Impedance (nominal): 8 ohms
Frequency Response: 44Hz – 28kHz
Recommended amplifier Power: 25 – 100W
Power Handling: 50W RMS
Net Weight: 5.3 kg
Dimensions (H x W x D): 300 x 190 x 271 mm
Finishes: Walnut / Black Ash / Light Oak

ราคาพิเศษ 14,800 บาท

จัดจำหน่ายโดย 
HIGH END GALLERY – THE NINE พระราม 9
โทร. 0-2056-7934, 086-252-2429
HIFI STUDIO – CDC SHOPPING CENTER
โทร. 090-004-2380 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 272