เมื่อปลายปีก่อนได้ทราบข่าวจาก พี่กิตติคุณ หลังจากที่แกไปไปงานเครื่องเสียงต่างประเทศว่า จะมีการนำเข้าเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นใหม่ที่น่าสนใจจากยุโรปเข้ามาจำหน่าย แน่นอนว่าด้วยประสบการณ์อันยาวนานของพี่กิตติคุณแห่ง Discovery HiFi การสรรหาผลิตภัณฑ์เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายย่อมต้องไม่ธรรมดาแน่นอน ถ้าไม่เป็นระดับไฮเอ็นด์เช่นผลิตภัณฑ์ทาง digital ที่แกจำหน่ายอยู่ ก็ต้องเป็นของที่คุ้มค่าคุ้มราคา หรือมี design ที่โดดเด่นสักอย่าง และสิ่งที่อยู่ในกล่องที่ส่งมาให้ผมรีวิวนั่นก็คือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงในระบบ air suspension ในราคาที่จับต้องได้

Introducing holbo turntable
เครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวที่ได้รับมารีวิวนี้ชื่อ holbo ตอนแรกฟังชื่อผมนึกว่าเป็นเครื่องที่ผลิตจากประเทศจีนเสียอีก แต่ไม่ใช่ฮะ มันเป็นเครื่องที่ผลิตในยุโรปทั้งตัวจากประเทศ Slovania (บ้านเดียวกันกับ Kuzma) เป็นการนำอักษรตัวหน้าของชื่อและนามสกุลของผู้ผลิต (Bostjan Holc) มาเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ holbo ถือได้ว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่ในวงการเครื่องแล่นแผ่นเสียง เช็คจากเว็บไซต์ (www.holbo.si) พบว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทตอนนี้ก็มีแต่เครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ตัวเดียว ในอนาคตน่าจะมีเครื่อง หรือ accessories อย่างอื่นตามออกมาแน่ๆ

Bostjan Holc เขาเริ่มสร้างเครื่องเล่นแผ่นเสียงเล่นเองมาร่วม 20 ปีแล้ว เครื่องที่เขาสร้างก็ไม่ได้แตกต่างจากเครื่องที่ผมทดสอบเท่าใดนัก เป็นระบบ air bearing และ linear arm แต่ตัวที่ผลิตเพื่อจำหน่ายได้มีการปรับปรุงส่วนฐาน air bearing ใหม่ คอนเซ็ปต์ของ holbo คือ ต้องเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้งานง่าย plug and play (จริงๆ มันจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า โปรดติดตามครับ) เขาชอบฟังเพลงคลาสสิกและโอเปร่ามาก และเชื่อว่าการฟังด้วย analog source จะให้เสียงที่ดีที่สุด เครื่องเล่นแผ่นเสียงจะต้องมี micro vibration ที่ต่ำมากๆ และส่วนที่ movement parts จะต้องมีแรงเสียดทานต่ำที่สุด นั่นคือ เขาจึงเชื่อมั่นในระบบ air bearing suspension และระบบ linear air tracking arm เพื่อให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงของ holbo ใช้งานง่ายนั้น การปรับค่าต่างๆ ของปั๊มลมจะถูกเซ็ตมาจากโรงงาน ทั้ง flow ของลมที่ไปส่วนใต้ platter และ flow ส่วนที่แยกไปเลี้ยงอาร์ม แต่เบื้องหลังความง่ายนั้นก็ย่อมมาจากความไม่ง่ายอาทิ Air suspension ที่จะ support ตัว main platter ต้องมีการคำนวณแรงดันลมที่ใช้ น้ำหนักของตัว platter ที่กดลงมา ว่าจะมีการลดหรือดูดซับ vibration frequency ที่เหมาะสมหรือไม่ ตัวของ linear arm เช่นกัน การที่ทำให้เรียบง่ายก็ต้องแลกกับข้อจำกัดบางประการเช่นกัน ซึ่งจะกล่าวต่อไป

holbo setup

Shipping package ของ holbo มาเป็นกล่องเดียวสองชั้น ยกคนเดียวได้สบาย มีตัวแท่นเครื่อง (รวม dc power supply ตัวเล็กๆ ด้วย) และตัวปั๊มลมพร้อมท่อลม สายพาน อุปกรณ์ในการ setup ก็ไม่มีอะไรมากมาย มีตัวตั้งแนว linear ของหัวเข็มบนอาร์ม การตั้งค่าต่างๆ ของอาร์มใช้หกเหลี่ยมสองตัวเท่านั้น 

ตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงมีน้ำหนักประมาณ 12 กิโลกรัม มีขาสามขาเป็นเดือยแหลมมาก (ระวังเวลาลากไปบนชั้นวางเครื่องเสียงจะทำให้เป็นรอยได้ง่ายๆ) สามารถปรับระดับสูงต่ำได้โดยการหมุน ถัดขึ้นมาเป็นตัวแท่น (plinth) มีความหนา 3 ซม. ทำจากไม้ mdf เคาะๆ ดูมีความหนาแน่นสูงพอควรเลยทีเดียว ตรงใต้ platter เป็นส่วนของ air bearing มีน้ำหนัก 2.16 กิโลกรัม เป็นส่วนที่ท่ออากาศมาเปิดเพื่อเป่าลมให้เป็น thin film ยกตัว main platter ให้ลอยขึ้น ตัว platter ทำจาก aluminum alloy 6082 น้ำหนัก 5 กิโลกรัม สวยเรียบลื่นดีมาก ด้านหลังของเครื่องมีจุดต่อต่างๆ เริ่มจากขวาสุดเป็นจุดเชื่อมต่อกับ dc power supply ถัดมาเป็น trim pod ปรับสปีด 33 กับ 45 (ต้องใข้แผ่น strobe disc จับรอบ แล้วปรับด้วยไขควงปากแบนเล็กๆ (การปรับสปีด 33 ไม่ทำให้สปีด 45 เคลื่อน และในทำนองกลับกัน)

ถัดมาก็เป็นสวิตช์โยกเลือกสปีด 33/45 ถัดมาค่อนกลางเครื่องเป็นจุดต่อท่อลมจากเครื่องปั๊มลม ลมเมื่อเข้าจุดนี้จะมีจุดแยกท่อเล็กๆ ไปจ่ายลมในอาร์มลิเนียร์ ส่วนด้านหลังฝั่งซ้ายก็เป็นจุดต่อสาย phono พร้อม ground จากโทนอาร์ม

มอเตอร์วางอยู่บนตัวแท่นเครื่องใช้ไฟ dc ทำจากญี่ปุ่น มี pulley คล้องกับ belt drive แบบเส้นกลมรอบขอบล่างของ platter เวลาเราดูว่ามอเตอร์ที่เขาใช้ว่าดีหรือไม่ดีนั้น ให้ดูเวลาเราเปิดให้มอเตอร์หมุน แล้วมองดูแกน pulley ว่า มันหมุนแล้วนิ่งสนิท ไม่มีการแกว่งตัวในแนวดิ่ง อันนี้ถือว่ามอเตอร์และการติดตั้งทำได้ดี แต่ถ้ามีการแกว่งตัวหรือมีสะบัดเล็กๆ ย่อมส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนไปยันสายพานให้มีแรงตึงไม่สม่ำเสมอ ย่อมมีผลต่อเสียงบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อเทียบกับมอเตอร์ที่หมุนได้นิ่งกว่า ตัว air pump unit มีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม มีแต่สวิตช์ปิดเปิด และท่อลม (ให้มายาวมากๆ) ไปยังตัวแท่น เราไม่สามารถปรับ flow ของลมได้ เป็นค่าที่ตั้งจากโรงงาน ปั๊มลมทำงานได้เงียบมาก ไม่มีเสียงรบกวนเลย

มาในส่วนสำคัญของ holbo นี้ครับ อาร์มลิเนียร์ตัวก้านอาร์มทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนแกนที่รองรับทำจากอะลูมินัมมี effective arm mass 7.5 กรัม อาร์มสามารถปรับ parameter ได้ทุกอย่าง เช่น ปรับสูงต่ำ(VTA) ด้วยการคลายน็อตหกเหลี่ยมประมาณครึ่งรอบ แล้วหมุนปุ่มตรงหัวเสา

ค่า tracking force ทำโดยหมุนตุ้มหลังทองเหลือง แล้วเลื่อนเข้าออก จะปรับให้เป๊ะที่ทศนิยมตำแหน่งที่สองนั้นจะค่อนข้างใช้เวลาสักหน่อย การปรับ zero overhang จะต้องคลายน็อตหกเหลี่ยมเล็กที่ยึดก้านอาร์มคาร์บอน แล้วเลื่อนปรับระยะ arm wand เอา พร้อมกันนั้นเราสามารถหมุนก้านอาร์มซ้ายขวาเพื่อปรับ azimuth ได้ 

การ setup หัวเข็ม
เมื่อเราทำการปรับแท่นสามขาเพื่อปรับระนาบของทั้งระบบได้เรียบร้อยดีแล้ว โดยไล่ตั้งแต่ระนาบของ plinth และระนาบของ platter (พยายามเช็คระนาบหลายๆ แนวแกนด้วยนะครับ) ขั้นตอนที่สำคัญจะได้เสียงที่ดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่การ setup หัวเข็มกับอาร์มลิเนียร์นี่แหละครับ

หลักการสำคัญของการตั้งอาร์มลิเนียร์ก็คือ
• Zero overhang เราต้องปรับให้แนวทางเดินของ stylus เป็นเส้นตรงเป๊ะวิ่งเข้า spindle center 
• Zero offset angle ตัวก้านเข็มจะต้องอยู่ในแนวฉากเป๊ะกับแนวทางเดินหัวเข็ม นั่นคือ ถ้าก้านเข็มเราไม่เอียง เราต้องตั้ง body ของหัวเข็มให้ตั้งฉากกับแนวทางเดินลิเนียร์
• Floating arm at zero tracking force ในการตั้งแบบอุดมคติ เมื่อเราปรับ balance arm ให้ก้านอาร์มลอยขนานกับ platter แล้ว ถ้าทุกอย่างถูกต้อง ก้านอาร์มจะต้องลอยนิ่งไม่เป๋เข้าในหรือออกนอก ในทางปฏิบัตินั้น เรามักพยายามปรับให้ตัวก้านอาร์ม (และหัวเข็ม) ลอยเข้าหา spindle ช้าๆ ที่ zero tracking force การจะปรับแบบนี้ได้นั่นคือ อาร์มลิเนียร์จะต้องมีกลไกในการปรับ horizontal bar ให้สามารถเทเข้า หรือเทออกได้ ถ้าเราปรับได้ดี อาร์มลมจะเดินได้ไม่สะดุด ไม่มีการตกร่องขณะเล่น อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการลอยของอาร์มคือน้ำหนักหัวเข็ม ถ้าหัวเข็มมีน้ำหนักมากก็จะ load การใช้ลมเพื่อให้ไร้แรงเสียดทาน ดังนั้น ในอาร์มแพงๆ บางรุ่นที่ไม่เกี่ยงน้ำหนักหัวเข็มจะสามารถปรับ flow ของลมได้ว่าให้เป่าแรงหรือเบา แต่ส่วนใหญ่ถ้าเรารักจะเล่นอาร์มลม เราจะเลือกหัวเข็มที่น้ำหนักไม่มากมาเล่นกับมัน มักจะมีค่าน้ำหนักตัวหัวเข็มอยู่ในช่วง 5 – 9 กรัมจะเหมาะสมที่สุด

holbo arm setup

เครื่องที่ส่งมารีวิวนี้ได้ติดตั้งหัวเข็ม Hana รุ่น SL มาจากทางร้าน Hana SL เป็นหัวเข็ม mc low output ก่อนที่จะติดตั้งหัวเข็มอื่นที่ผมมีก็ทดลองเช็คค่าการติดตั้งและฟังเสียงก่อน ลองเช็คระยะ zero overhang ด้วยแผ่น Telarc omnidisc หน้า A จะมีแนว linear track ให้เราเซ็ต ลองหมุนแผ่นบน platter แล้วลากอาร์มให้วิ่งขนานกับเส้นตลอดนอกถึงใน จากนั้นก็ตรึงแผ่นไว้ไม่ให้ขยับ แล้วก้มลงเล็งว่าปลายเข็มแตะเส้นและเกาะแนวเส้นไปตลอดทางหรือไม่ สเปกของหัวเข็มนี้จริงๆ น่าจะเล่นกับซิสเต็มผมได้ดี แต่เสียงที่ฟังผ่านลำโพงแล้วยังรู้สึกเรียบๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ เลยทำการเปลี่ยนหัวเข็มเป็นหัว EMT TSD15-N ที่มีน้ำหนักเบา และผมก็มีหัว EMT รุ่นนี้อีกหัว (จริงๆ มีสองหัว) ที่มี headshell พร้อมติดกับอาร์มและแท่น EMT930 เพื่อที่ว่าเราจะได้เทียบเสียงได้แบบ AB test กันเลยว่า แท่น holbo กับแท่น EMT เมื่อเล่นด้วยหัวเข็มรุ่นเดียวกันแล้ว เสียงดีด้อยกว่ากันอย่างไร

EQUIPMENT REVIEWS

1. ติดตั้งหัวเข็ม EMT บนอาร์ม ตัว headshell ของ Hobo เป็นรูสกรูไม่ได้เป็นรางสไลด์ เมื่อยึดหัวเข็มแล้วก็ต่อสาย lead wire คิดว่าเขาน่าจะใช้ของ Cardas เพราะตัว pin clip มันเป็นแบบปากเป็ดของ Cardas (ตอนติดตั้งควรจะเปิดปั้มลมไว้นะครับ เพราะไม่งั้นอาร์มขยับไปมา รางเลื่อนที่เป็นอะลูมิเนียมจะเป็นรอยได้ เพราะไม่มี air cushion) headshell ของ holbo ไม่ได้เป็นรางสไลด์ มีแค่จุดสกรูสองจุด แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังมีการให้ตัวที่สามารถบิดหัวให้หันไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย ตอนติดตั้งเลยต้องเล็งดีๆ ให้ตัวบอดี้ของเข็มตรงกับก้านอาร์มให้มากที่สุด

2. ตั้ง tracking force ตามสเปกของหัวเข็ม ด้วยการหมุน counterweight คลายล็อก แล้วเลื่อนเข้าออกให้ได้ tracking force ที่ 2.4 กรัม จริงๆ ก่อนตั้ง tracking force ผมได้ลองพยายาม balance arm เพื่อดูว่าอาร์มสามารถลอยนิ่ง หรือเลื่อนเข้าใน (ไปทางซ้าย) อย่างช้าๆ หรือไม่ พบว่าอาร์มวิ่งเข้าในเร็วเกินไปหน่อย ในคู่มือบอกไว้ว่า ถ้าเป็นแบบนั้นให้ลดระดับความสูงของแท่นด้วยการหมุนขาทางขวาลง (ค่อยๆ ปรับทีละนิด) เพื่อให้อาร์มนิ่ง หรือเลื่อนตัวช้าที่สุดในภาวะ zero VTF ผมก็พยายามได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเป็นอาร์มลมยี่ห้ออื่นจะมีกลไกต่างหากของอาร์มในการ tilt ระนาบอาร์มในแนวซ้ายขวา ผมคิดว่าต่อไปอาร์มของ holbo คงต้องมีทำออกมาเช่นกัน
3. ตั้งระยะ zero overhang ให้ปลายเข็มแตะแนวเส้น linear ตรงนี้ต้องใช้ความอดทนสักหน่อย เมื่อเปลี่ยนหัวจาก Hana เป็น EMT แล้วระยะ overhang เปลี่ยน ต้องคลายน้อตหกเหลี่ยมเพื่อเลื่อนก้านอาร์มให้ปลายเข็มอยู่พอดีเส้น ทีนี้พอขยับปั๊บ ค่า azimuth ก็จะเปลี่ยนไปด้วย (จากความกลมของก้านอาร์ม) รวมถึงค่า tracking force ที่จะเปลี่ยนไป ต้องใช้เวลากับความอดทนในการเซ็ตตรงนี้พอควร แต่ผลที่ได้คุ้มค่ามาก
4. เช็คค่า VTA ส่วนใหญ่ผมไม่ถึงกับตั้งก้านอาร์มแบบขนานเป๊ะๆ มักจะให้มุม VTA เงยเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงที่มี body 

3. ตั้งระยะ zero overhang ให้ปลายเข็มแตะแนวเส้น linear ตรงนี้ต้องใช้ความอดทนสักหน่อย เมื่อเปลี่ยนหัวจาก Hana เป็น EMT แล้วระยะ overhang เปลี่ยน ต้องคลายน้อตหกเหลี่ยมเพื่อเลื่อนก้านอาร์มให้ปลายเข็มอยู่พอดีเส้น ทีนี้พอขยับปั๊บ ค่า azimuth ก็จะเปลี่ยนไปด้วย (จากความกลมของก้านอาร์ม) รวมถึงค่า tracking force ที่จะเปลี่ยนไป ต้องใช้เวลากับความอดทนในการเซ็ตตรงนี้พอควร แต่ผลที่ได้คุ้มค่ามาก
4. เช็คค่า VTA ส่วนใหญ่ผมไม่ถึงกับตั้งก้านอาร์มแบบขนานเป๊ะๆ มักจะให้มุม VTA เงยเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงที่มี body 

Equipments
ผมใช้หัวเข็ม EMT TSD15-N และหัวเข็ม ZYX R100 เป็นตัวทดสอบ (เนื่องจากมีน้ำหนักเบา เหมาะกับอาร์มลม) สัญญาณผ่านไปยัง step-up transformer ของ Soundaries Audio 618B ไปเข้า MM tube interstage phono ของพี่แปะ สาทร เมืองนนท์ ตัวแท่นที่เปรียบเทียบก็จะเป็น EMT930 กับหัวเข็ม TSD 15 เช่นกัน และในตอนท้ายของการทดสอบก็เปลี่ยนหัวเข็มบน holbo เป็น ZYX R100 

Software
แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบส่วนใหญ่ก็หยิบใกล้มือครับ แต่ละแผ่นจะใช้ประเมินต่างๆ กัน แต่ที่ต้องเด่นในทุกแผ่นคือ เสียงย่านเสียงกลาง เสียงร้อง ต้องมีความอิ่ม โฟกัสชัดเจน ได้แก่…

• The very best of Fleetwoods (UA-LA334-E) 
• Lightnin’ Hopkins : Goin’ away (Analogue Production APB014)
• Ray Charles and Betty Carter (Analogue Production APP-385)
• Definitive of violin sound : Leonidas Kovacos (TMLP 8005.3)
• Diana Krall : Live in Paris (ORG 003)
• Elvis Presley : golden record vol.3 (ORG 134)
• The wonderful sound of female vocal (Analogue Production APLP-122)

เพลงตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไป ได้ริปจากแผ่นเสียงข้างต้นออกมาเป็นไฟล์ 24/96 wav ด้วยเครื่อง Tascam DV RA1000HD ผู้อ่านสามารถ download ไปเล่นกับเครื่องเสียงของท่านได้ที่ QR code link ต่อไปนี้ 

1. holbo + EMT TSD15-N
เนื่องด้วยเวลาทดสอบมีจำกัด ผมก็จัดการถอดหัวเข็ม Hana ออก แล้วจัดการติดตั้งหัวเข็ม naked EMT ตามขั้นตอนที่กล่าวข้างบน ใช้เวลาในการเช็คส่วนของหัวเข็มกับอาร์มนานพอสมควรทีเดียว เนื่องจากต้อง recheck ไปมาจนแน่ใจว่าทุกอย่าง perfect จากนั้นก็นำแผ่นเสียงที่คุ้นๆ หูข้างต้นมาลองฟัง ผมเริ่มด้วยแผ่น The very best of Fleetwoods เพลงที่เพราะๆ อย่าง Come Softly to Me เสียงแรกที่ได้ฟังทำให้ผมหายเหนื่อยเลยทีเดียว เสียงที่ได้นับว่าเหนือความคาดหมายของอาร์ม linear ระบบ air bearing ที่ผมมักจะนึกว่า เสียงมันคงจะบางๆ เน้นไปทางรายละเอียด แต่นี่ไม่ใข่ เสียงร้องเต็ม อิ่ม ใหญ่ สมจริงเหมือนยืนร้องหน้าลำโพงทั้งสองข้างเลยทีเดียว เพลงนี้ผมจะฟังเสียงร้อง นักร้องชายจะอยู่ซ้ายสุดของเวทีเสียง ส่วนนักร้องหญิงฉีกไปอยู่สุดลำโพงขวา เพลง Graduation Here ของอัลบั้มนี้ก็เช่นกัน เสียงร้องใหญ่สมจริง และ close mike ส่วนเสียงกีตาร์โปร่งกับเบสจะเดินอยู่ตรงกลางลึกไปด้านหลังเวทีเสียงค่อนทางขวา แต่เนื่องจากว่าเป็นแผ่นคอมเมอร์เชียลทั่วไป เนื้อแผ่นไม่ใช่ virgin vinyl แบบแผ่น Audiophile ถ้าท่านฟังเพลงที่ริปไปให้ ก่อนเข้าเพลงจะได้ยินเสียงรบกวนจากเนื้อแผ่น อย่าเข้าใจว่าเป็น rumble ของแท่นนะครับ แท่นนี้ยืนยันว่า background noise ต่ำมากๆ

แผ่น Wonderful Sound of Female Vocal ผมเลือกแทร็กที่สี่ เพลงแรก Ballad of The Runaway Horse เป็นแทร็กที่มาจากแผ่นเสียงของ Rob Wasserman ชุด Duets แทร็กนี้ผมว่าเสียงดีกว่าแผ่น original MCA Records เสียอีก เมื่อทุกอย่างถูกต้อง เสียงร้องของ Jennifer Warnes จะโดดเด่นเป็นตัวตนอยู่ตรงกลางลำโพง เสียงจะอิ่มหนา และเสียงเดิน acoustic bass ของ Rob Wasserman นั้นชัดเจนทุกตัวโน้ต ลุ่มลึก เบสทิ้งตัวดีมากๆ แท่น holbo กับหัวเข็ม EMT นั้นแมทช์กันอย่างยิ่ง เสียงอิ่ม แต่ว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ขาดหาย อันเป็นข้อดีจากความสงัดของแท่น air bearing ที่ขจัดเสียงรบกวนของระบบขับเคลื่อนผ่าน main bearing ได้หมดจด 

แผ่นที่เป็นจุดสลบของการทดสอบย่านเสียงกลางของผมคือ แผ่น Diana Krall : Live in Paris แผ่นเวอร์ชั่น ORG (เสียงดีกว่าแผ่น commercial ที่ผลิตตามออกมาทีหลังมาก) เพลง A Case of You เป็นแทร็กที่ Diana Krall เล่นปิดท้ายคอนเสิร์ต เสียงเปียโนของแทร็กนี้อัดมาดีมาก เสียงหัวค้อนเคาะของคีย์เปียโน ในรีวิวต่างประเทศจะใช้คำว่า attack กับ decay แทร็กนี้ชัดเจน ร่วมกับเสียงร้องของ Diana Krall ที่โผล่ขึ้นมาหลังจากอินโทรเปียโนนี่สมจริงมาก เสียงลมหายใจของนักร้อง เสียงรายละเอียดของการกระแอมเบาๆ ของผู้เข้าชม ตัวเครื่อง holbo สามารถถ่ายทอดได้อย่างครบถ้วนไม่ตกหล่นเลย เสียงคีย์เปียโนโน้ตสุดท้ายของเพลงคีย์ต่ำมาก เพราะมากๆ ถ้าผู้อ่านมีโอกาส ขอแนะนำให้ซื้อแผ่นเสียงชุดนี้เวอร์ชั่น ORG แผ่นคู่สปีด 45 นะครับ ลองเล่นกับชุดของท่านดู เทียบกับคลิปเสียงเพลงที่ผมริปไว้ให้ใน google drive เป็น 24/96 wav file แล้วท่านจะเข้าใจที่ผมพยายามจะบอกครับ

มาถึงแทร็กเปรียบเทียบกัน ผมเลือกเพลง Cocktail for Two จากแผ่นเสียงชุด Ray Charles and Betty Carter แผ่นทำใหม่โดยสังกัด Analogue Production ซึ่งเสียงดีมากๆ ผมบันทึกเพลงนี้สองครั้ง อุปกรณ์ทุกอย่างเหมือนกัน เว้นแต่แท่นและอาร์ม ระหว่าง EMT930 กับ holbo เพลงจากแผ่นนี้จะให้เนื้อเสียงที่เป็นธรรมชาติและผ่อนคลายมาก สนามเสียงจะกว้าง บางแทร็กเสียงนักร้องชายและหญิงจะฉีกไปอยู่คนละข้าง บางแทร็กก็อยู่รวมกันตรงกลาง แล้วให้ chorus ฉีกออกข้างแทน แทร็กนี้ทั้งสองแท่น ผมว่าให้เนื้อเสียงที่ใกล้เคียงกันมาก เสียงอิ่ม เสียงนักร้องและชิ้นดนตรีต่างๆ มีขอบเขตชัดเจน ผมว่าแท่น holbo ให้การแยกแยะรายละเอียดของเสียงได้ดีกว่าแท่น EMT เล็กน้อย แต่ความไหลลื่นนั้นแท่น EMT ฟังดีกว่าเล็กน้อยเช่นกัน โดยรวมแล้วผมว่าสูสีกันมากๆ ท่านที่ฟังคลิปเสียงกรุณาปรับระดับเสียงของทั้งสองแทร็กให้ใกล้เคียงกันนะครับ (holbo จะดังกว่า EMT นิดหนึ่ง)

แผ่นอื่นอีกหลากหลายแนวได้มาทดลองฟังและริปไว้เป็นตัวอย่าง กับ holbo + หัวเข็ม EMT เช่น แนว acoustic blues ที่ผมชอบอย่าง Lightnin’ Hopkins ชุด Goin’ Away (pressing แรกของ Analogue Production ที่มาสเตอร์โดย Doug Sax) ให้สังเกตความฉับพลันของเสียง ไม่ว่าจะเป็นการดีดสายกีตาร์ การโหนเสียง และหัวไม้สแนร์กระทบหนังกลอง ที่ holbo ถ่ายทอดได้ดีมากๆ เพลงคลาสสิก showpiece อย่างเพลง La Ronde des Lutins (Dance of The Goblins) ก็ทำได้ไม่เลว อย่างเสียงไวโอลินของ Leonidas Kavakos เล่นคู่กับเปียโน การแยกแยะโน้ตแต่ละตัวที่เล่นเร็วจี๋ไม่มีปัญหา แผ่นนี้ฟ้องการตั้งหัวเข็มผมว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะในวินาทีที่ 41 ยังมีเสียงแตก distortion ของเสียงเปียโนอยู่ (ค่ายแผ่นเสียงซีรี่ส์นี้ของค่าย Top Music เอางานของค่าย Delos มาทำไดนามิกรุนแรงมาก) แต่ก็เป็นจุดนี้จุดเดียว ช่วงอื่นของเพลงก็ปกติหมด holbo ขุดเนื้อเสียงในร่องแผ่นเสียงออกมาได้หมดจด กระทั่งเสียงลมหายใจของ Kovakos ก็ได้ยินชัดเจน (ที่เวลา 2:34) อย่าลืมตามไปฟัง wav file ใน google drive นะครับ

2. holbo + ZYX R100
ผมได้เอาหัวเข็มในกรุที่คาดว่าน่าจะเข้ากันได้กับอาร์มลมอย่าง holbo มาลองคือ Zyx R100 ซึ่งเป็นหัวเข็ม MC low output ที่มีน้ำหนักหัวเข็มเบา อยู่ที่ประมาณ 5 กรัมกว่า คราวนี้ก็ได้ตั้งใจเซ็ตทุก parameter ให้ได้อย่างดีที่สุด แล้วลองฟังดู เสียงที่ได้แปรเปลี่ยนไปตามหัวเข็มที่ใช้ เสียงจากหัว Zyx มีความด้อยกว่าหัว EMT พอควร แสดงว่า holbo นั้นแทบไม่มี character ของตัวเองเท่าใดนัก เมื่อเราใส่หัวเข็มที่เข้ากับมัน และคุณภาพ หรือระดับเสียงที่ดีขึ้น มันก็จะดีขึ้นตามมากขึ้นเช่นกัน หัว Zyx ด้อยกว่า EMT ตรงที่ความใหญ่ ความหวานของเสียงกลางไม่เท่าหัว EMT รวมถึงเบสที่หัว EMT ทำได้ดีกว่า ซึ่งแท่น holbo ก็แยกความแตกต่างของทั้งสองหัวได้อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับว่าจะฟังหัว Zyx ไม่ได้เลย ลองฟังเพลงดังของ Elvis อย่าง Are You Lonesome Tonight (แผ่นสปีด 45 ของสังกัด ORG) การแยกแยะของเสียงต่างๆ ยังท?ำได้ยอดเยี่ยมเหมือนเดิม เพียงแต่ความอิ่มใหญ่ของเสียง Elvis ยังไม่ได้เท่ากับเมื่อฟังด้วยหัว EMT เลยไปลองหยิบแผ่นนี้ออกมาฟัง Johnny Hartman ชุด Once In Every Life กับเพลง Easy Living แผ่นนี้ถ้าเสียงของ Johnny เรียวเล็กละก็ ไม่ใช่แน่ละ ต้องมีอะไรผิดแน่นอน จากที่ฟังกับหัว Zyx ก็ยังคง ok นะครับ ถ้าไม่ได้เทียบกับ holbo + EMT นี่ผมรับได้เลย ท่านลองฟังเองดูนะครับ

บทสรุป
ขออนุญาตสรุปประเด็นเป็นข้อๆ นะครับ จากการเล่น holbo มาตลอดสองอาทิตย์นี้
1. เป็นแท่นอาร์มลม และ air bearing suspension ที่อยู่ในระดับราคาที่จับต้องได้ เมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นพี่ๆ ในวงการ
2. การสร้าง การประกอบ วัสดุ อยู่ในระดับที่ดีมาก เรียบๆ ดูหรู ปั๊มลมทำงานได้เงียบ และไม่มีปัญหาตลอดการทดสอบ
3. ถึงแม้ว่าคอนเซ็ปต์ของผู้สร้างคือ simply, plug and play ก็ตาม แต่เวลาเซ็ตจริงต้องใส่ใจและให้เวลากับมันพอสมควร ถึงจะได้เสียงที่ดี
4. มีความเป็น monitor สูง มันรายงานเสียงจากอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับมัน และแผ่นเสียงได้อย่างเที่ยงตรง ตรงไปตรงมามาก 
5. การ matching กับหัวเข็ม ต้องเลือกสรรพอสมควร ผมฟังแล้วมันแมทช์กับหัวเข็ม EMT ที่เป็น naked body มากที่สุด แต่เสียดายหัวเข็มรุ่นนี้ทาง EMT ไม่ทำออกมาแล้ว หัวที่ผมคิดว่าเสียงใกล้เคียงและน่าจะแมตช์กับ holbo คือ Benz Micro Glider (น้ำหนักหัว 6.8 gram) หรือไม่ก็ Gullwing (หนักมากเกินไปหน่อยครับ 12 กรัม) ถ้าเป็นหัวที่มี output สูงๆ เหมาะกับ MM phono ผมอยากลองหัวค่าย Decca/London อย่างรุ่น Super Gold น่าจะแมตช์กับอาร์มลมของ holbo
6. สุดท้ายคือ ต้องลองไปนั่งฟังของจริงดูครับ ทางพี่กิตติคุณแห่ง Discovery HiFi ยินดีต้อนรับทุกท่านอยู่แล้วแน่นอน


ราคา 250,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Discovery HiFi โทร. 0-2102-2610, 0-2747-6710

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 267