ธีรวัฒน์

ถ้าเป็นนักเล่นเครื่องเสียงยุคเก่า เชื่อว่าเกิน 60% ต้องเคยผ่านประสบการณ์กับสายของ Kimber Kable มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าสายนำสัญญาณ, สายลำโพง หรือ สายไฟเอซี ที่ได้สร้างความประทับใจให้มากมาย

ถ้าให้แต่ละท่านเขียนเล่าประสบการณ์ความประทับใจที่มีต่อสายของ Kimber Kable ก็คงมีเรื่องราวให้อ่านกันยาวๆ อย่างแน่นอน

            สายนำสัญญาณของ Kimber Kable รุ่น Cabon8 XLR ที่ได้รับมาทดสอบครั้งนี้ ทำให้ต้องย้อนเวลากลับไปในช่วงหลายสิบปีก่อน จุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จัก Kimber Kable ก็มาจากสายนำสัญญาณรุ่น PBJ และสายลำโพงรุ่น 8TC ปัจจุบันทั้ง PBJ และ 8TC ยังคงผลิตจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หลังจากนั้น ผมก็ได้ลองฟังสาย Kimber Kable อีกหลายรุ่นทีเดียว

            ปัจจุบัน สายนำสัญญาณ Kimber Kable มีหลากหลายรุ่นมาก รุ่นท้อปสุดคือ… NAKED ซึ่งใช้เทคโนโลยีวัสดุที่แตกต่างจากรุ่นอื่นๆ ดูข้อมูลแล้วเป็นรุ่นที่น่าสนใจมิใช่น้อย ผมได้มาร์คเอาไว้ว่าจะต้องขอมาทดสอบต่อให้ได้

สำหรับ Carbon 8 XLR ก็จัดเป็นรุ่นระดับต้นๆ ของ Kimber Kable เช่นกัน รองลงมาแค่ 3 รุ่น รูปร่างหน้าตายังเป็นเอกลักษณ์ของ Kimber Kable ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้ว

รูปลักษณ์ทั่วไป

Kimber Kable – Carbon 8 XLR มีลักษณะที่เราคุ้นเคยคือ โครงสร้างของสายที่มีการถักเหมือนถักเปีย สายประกอบด้วยตัวนำ 8 เส้น จึงเป็นที่มาของชื่อรุ่น Carbon 8 ประกอบด้วยตัวนำทั้งหมด 8 เส้น แล้วมาแยกตรงปลายแต่ละด้านสำหรับข้างซ้ายและข้างขวา เลยกลายเป็นข้อจำกัดหน่อยตรงที่ว่า หากอุปกรณ์ที่ต่อใช้งานมีการแยกช่องสัญญาณข้างซ้ายและขวาหลังเครื่องกันคนละฝั่งคนละด้านคนละมุมอย่างชัดเจน ก็อาจทำให้ไม่สามารถต่อใช้งานได้เลย ก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน

ตัวนำแต่ละเส้นมีขนาด 19.5 AWG เทียบเท่าขนาดตัวนำ 0.7 sq.mm นิดๆ โดยที่ตัวนำเป็นทองแดงตีเกลียว (Stranded) ที่เกิดจากนำสายแกนเดี่ยวหลายๆ ขนาดตัวนำที่แตกต่างมาผสมกัน ฉนวนเป็นคาร์บอนโพลีโนสีดำ แล้วหุ้มด้วยเทฟลอนอีกชั้นหนึ่ง ขั้วต่อ XLR เป็นของ Kimber Kable เอง

                  ตัวนำทองแดงเป็น OFC Copper 102% IACS Grade ตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า 102% IACS Grade มันวิเศษอย่างไร บอกเลยว่า ค่านี้ไม่ธรรมดา เพราะทาง Kimber ได้ศึกษาพัฒนาตัวนำทองแดง ซึ่งเป็นสายแกนเดี่ยวให้ดีกว่ากว่าเดิม และเขาเชื่อว่า สายซึ่งมีตัวนำแบบตีเกลียวนี้ เวลาใช้งานจริงในทางปฏิบัติแล้วให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าแบบอื่น ซึ่งสายของ Kimber Kable ยึดแนวทางนี้มาตลอด

            ส่วนค่า IACS คือ… ค่าที่บ่งบอกในเรื่องการนำกระแสไฟฟ้า เมื่อเทียบกับตัวนำที่ใช้งาน  หากเป็นทองแดงทั่วไปจะเป็น 100% IACS ถ้าเป็นเงินจะเป็น 105% IACS เราจึงเห็นว่าตัวนำที่เป็นเงินจะนำกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดง เพราะมีค่า IACS ที่สูงกว่า แต่สายทองแดงของ Kimber Kable ให้ค่าถึง 102% IACS ย่อมแสดงให้เห็นว่า เกรดตัวนำทองแดงของ Kimber Kable สูงกว่าตัวนำทองแดงอื่นๆ ทั่วไป ขยับมาใกล้เคียงกับตัวนำเงินมากยิ่งขึ้น

            Carbon 8 XLR เท่าที่ดูข้อมูล ทาง Kimber ได้ตั้งเป้าไว้ให้เป็นสายนำสัญญาณไม่ได้แพงมากนัก สามารถจับต้องได้ง่ายมากขึ้น แต่ให้คุณภาพที่เหนือกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันอย่างรู้สึกถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

คุณภาพเสียง

ในการทดสอบได้ต่อสายนำสัญญาณ Kimber Kable – Carbon 8 XLR จากเครื่องเล่นซีดี CEC CD5 ผ่านทางช่อง XLR ไปยังอินทิเกรตแอมป์ Esoteric F05 และลำโพงที่ใช้ทดสอบคือ Audio Space LS5/9 GT Edition

            ตั้งแต่เริ่มแกะกล่องฟังจนผ่านพ้นไปกว่า 200 ชั่วโมง Kimber Kable – Carbon 8 XLR  ให้คุณภาพเสียงแตกต่างจากสายนำสัญญาณที่เคยฟังมาก่อน อีกทั้งเสียงยังต่างจากสายนำสัญญาณ XLR รุ่น Select ทำให้รู้สึกว่า นี่คือเสียงจากสายนำสัญญาณของ Kimber Kable ที่ควรจะเป็นเสียที

            เริ่มต้นด้วยแผ่นซีดีของ Rickie Lee Jone – Pop Pop เป็นชุดที่ใช้ประเมินเรื่องสายได้อย่างแจ่มแจ้งดีมาก โดยเฉพาะสายนำสัญญาณ ไม่ว่าขนาดตัวนำแตกต่างกันกันอย่างไร? 24AWG, 22AWG, 20AWG หรือจะเป็นสายตัวนำทองแดงแกนเดี่ยว, สายทองแดงตีเกลียว, สายทองแดงฝอย ก็ให้เสียงออกมาแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ปกติแล้วโดยส่วนใหญ่ขนาดของตัวนำในสายนำสัญญาณมีขนาดไม่ค่อยเกิน 20AWG  หรือ 0.52 sq.mm บางยี่ห้ออาจมีขนาดใหญ่มากขึ้น แต่เต็มที่ก็ไม่น่าเกิน 18AWG

            เริ่มต้นด้วยเพลง My One and Only Love แทร็กแรก มีเสียงกีตาร์เริ่มก่อน ตามมาด้วยเสียงเบส และเสียงร้องของ Rickie Lee Jones ในเพลงนี้ ถ้าสายนำสัญญาณใช้ตัวนำเป็นทองแดงฝอย เสียงกีตาร์จะออกมานุ่มหน่อย เสียงเบสมีมวลใหญ่ แต่เนื้อเสียงไม่ได้แพ็คจนรู้สึกว่าเนื้อแน่น เนื้อเสียงออกหลวมๆ สักหน่อย โดยส่วนตัวจึงชอบสายนำสัญญาณที่ตัวนำเป็นแบบทองแดงตีเกลียวมากกว่า เพราะให้เสียงออกมาสมจริงสมจังมากกว่า

            เสียงที่ได้ยินจากการใช้สายนำสัญญาณ Kimber Kable – Carbon8 XLR ในเพลงนี้ บอกได้เลยว่าประทับใจมาก เพราะคือเสียงที่อยากได้ยิน ตามสเปกของสายบอกว่าเป็นการนำตัวนำแบบแกนเดี่ยวหลายเส้นหลายขนาดมาประกอบกัน เสียงกีตาร์ในตอนต้นของเพลงจึงมีมวลเสียงเข้มกระจ่าง เสียงเส้นสายแน่นออกมาดึ๋งดั๋งดีแท้ เบสแน่นชัดเจน หัวโน้ตคมชัดแน่นเปรี๊ยะ เหมือนนักกีฬาที่ผ่านการเข้าฟิตเนสมาตลอด เนื้อแน่น กล้ามเนื้อใหญ่ แต่ไม่ใช่กล้ามเนื้อใหญ่ที่เกิดจากการทานเยอะ แบบนั้นก้อนกล้ามเนื้อจะเหลวๆ ย้อยๆ

            ลักษณะเสียงแบบนี้ยากจะได้ยินจากสายนำสัญญาณที่เป็นทองแดงละเอียดแบบฝอย อย่างที่บอกในตอนต้นๆ ว่า Kimber Kable – Carbon 8 XLR แตกต่างจากสายนำสัญญาณของ Kimber Kable ที่เคยฟังในอดีต รวมถึงแตกต่างจากสายนำสัญญาณตัวนำทองแดงแบบตีเกลียวอื่นๆ เช่นกัน

            จากสเปกของสายที่บอกว่า ความสามารถในการนำกระแสไฟฟ้ามากกกว่าทองแดงปกติมาเป็น 102% IACS นั้น ไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ดูดี แต่ฟังอะไรไม่ออก ทว่า Kimber Kable – Carbon 8 XLR สามารถพิสูจน์ได้จริง พอกระแสไหลผ่านในสัดส่วนที่มากขึ้น ย่อมมีอะไรที่พิเศษมากกว่าเดิมเช่นกัน

            อย่างแรกเลย เมื่อเปรียบเทียบกับสายนำสัญญาณชุดเดิมที่ต่อใช้งานอยู่ เมื่อปิดเครื่องแล้วเปลี่ยนเป็น Kimber Kable – Carbon 8 XLR แล้วเปิดเครื่องใหม่ จะรู้สึกว่าเสียงดังกว่าเดิมหน่อยหนึ่ง เสียงกระจ่างขึ้น หากเทียบกับของเดิมที่เสียงขุ่นกว่า Kimber Kable – Carbon 8 XLR ไม่ใช่สายนำสัญญาณที่ให้เสียงออกมานัวๆ กลมกล่อม เพราะได้เติมความจริงจังลงไปด้วย พีคเสียงที่ฟังแล้วทะลุทะลวงมากยิ่งขึ้น และกว้างขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน เสียงสดขึ้นกว่าเดิม ความหมายของคำว่า “สด” คือ… เปิดแล้วมีเสียงหยาบกร้านมาด้วยใช่มั้ย ต้องขอบอกว่าไม่ใช่เลย เดี๋ยวเรื่องนี้จะมาขยายความเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง

            เรื่องนี้ถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Kimber Kable – Carbon 8 XLR เลยก็ว่าได้ นั่นหมายความว่า หากซิสเต็มเครื่องเสียงที่ใช้งานอยู่ คุณภาพเสียงจากซอร์สต้นทางมายังอินทิเกรตแอมป์ หรือจากปรีแอมป์มายังเพาเวอร์แอมป์ ให้เสียงออกมาเนือยๆ ฟังแล้วต้องรอลุ้นว่า กำลังจะมีมั้ย ขาดความมีชีวิตชีวา เสียงไม่ค่อยคมชัด อิมแพ็กต้นของเสียงนุ่มไป เนื้อเสียงไม่ค่อยข้น ไม่แน่น เมื่อเปลี่ยน Kimber Kable – Carbon 8 XLR เข้าไป ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเลย

            ซิสเต็มเครื่องเสียงเดิมๆ ที่เคยให้เสียงเนือยๆ ก็จะออกมากระฉับกระเฉง โทนเสียงที่ราบเรียบจะกลับมามีชีวิตชีวา เสียงที่ออกมาเบลอๆ หน่อยก็จะคมชัดมากขึ้น อิมแพ็กต้นนุ่มๆ จะให้ออกมาแน่นเปรี๊ยะ ราวกลับว่ากลับไปเป็นหนุ่มๆ อีกครั้ง เนื้อเสียงที่ฟังดูหย่อนยานก็จะกระชับแน่นขึ้นมาในทันที

            ใช่บุคลิกของสายนำสัญญาณมั้ย ไม่ใช่ทั้งหมดหรอกนะ อย่าลืมว่า สายนำสัญญาณก็คือตัวกำหนดทิศทางของเสียงจากต้นทางไปยังปลายทาง แต่ถ้าหากซอร์สต้นทางไม่มีวี่แววจะให้ออกมาได้ ลำพังสายนำสัญญาณก็ไม่สามารถแก้ไขพลิกชนิดหน้ามือเป็นหลังมือได้หรอก ดังนั้น พื้นฐานเดิมคือ ซอร์สต้นทางต้องมีต้องได้ก่อนเช่นกัน สายนำสัญญาณเป็นแค่ตัวกลางถ่ายทอดออกมาให้ได้มากยิ่งขึ้น ไม่เป็นตัวไปลดทอนทุกอย่างลงมา ถ้าซอร์สต้นทางไม่สามารถให้เสียงออกมาได้ สายนำสัญญาณก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเสียงอะไรออกมาได้ทั้งหมด 100% เพราะหน้าที่ของสายสัญญาณคือ กำหนดเสียงจากต้นทางให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น หรือหากเลือกสายผิดก็จะกลายเป็นลดทอนคุณภาพเสียงจากต้นทางลงนั่นเอง

            โดยโครงสร้างของสายนำสัญญาณ Kimber Kable แบบถักสาย จึงทำให้ Carbon 8 XLR ออกไปทางโปร่งกระจ่าง โดยเฉพาะเรื่องเวทีเสียงถือเป็นอีกจุดเด่นของสายนำสัญญาณ Kimber Kable ทีเดียว

            แผ่นซีดี John Williams at The Movies ซึ่งรวบรวมเพลงในภาพยนตร์ดังๆ และแผ่นซีดี Round Up ของ Telarc ท่านใดชื่นชอบซาวด์สเตจกว้างๆ และสามารถแยกแยะเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ออกมาได้ชัดเจน คงถูกใจ Kimber Kable – Carbon 8 XLR เพราะเวทีเสียงนั้นกว้างจริง เสียงโปร่ง มิติอิมเมจ เป๊ะมาก

            แต่ละเสียงไม่มีออกมามัวๆ แต่แยกแยะออกมาได้อย่างชัดเจน อิมแพ็กไดนามิกบอกได้เลยว่า ปึ๊กอะเมซิ่งมากๆ เสียงเครื่องดนตรีที่ผุดขึ้นมาอย่างทันทีทันใด เสียงกลองที่โดนไม้ฟาดลงมาอย่างฉับพลัน ความแน่นของพลังเสียง เนื้อเสียง เร้นจ์เสียงกว้าง Kimber Kable – Carbon 8 XLR ทำออกมาได้น่าทึ่งมากๆ

อีกอย่างที่รู้สึกว่าแตกต่างไปจากสายนำสัญญาณ Kimber Kable ในอดีต ก็คือ… ลักษณะเสียงที่เปิด แต่มีความอบอุ่นแฝงอยู่ ไม่ได้รู้สึกเหมือนสดเปิด แต่มีความกร้าวในปลายเสียงเหมือนที่หวั่นๆ ว่าจะยังมีลักษณะแบบนี้หรือเปล่า เมื่อเสียงมีความอบอุ่นขึ้น เลยทำให้มีความน่าฟังน่าใช้มากกว่าเดิม ไม่ได้รู้สึกถึงความสว่างของปลายเสียงในอดีต ซึ่งเรามักรู้สึกว่า สายของ Kimber Kable เน้นเสียงหลักต้นเสียงที่เกิดขึ้นมา แต่บรรยากาศและรายละเอียดถือเป็นเรื่องรองลงไป และเสียงที่เหมือนปลายเสียงสว่างจ้าขึ้นมาเล็กน้อย แต่ใน Kimber Kable – Carbon 8 XLR ไม่มีความรู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว

            ในความกว้างของสนามเสียงนั้น รู้สึกว่า สายนำสัญญาณ Kimber Kable จะเด่นในความกว้างที่แผ่ออกมาทั้งด้านกว้างมากกว่าด้านลึก ด้านกว้างจะกว้างมาก แต่เวทีเสียงด้านลึกดูเหมือนว่าจะขยับขึ้นมาเล็กน้อย แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นนัก เพราะโดยส่วนใหญ่ นักเล่นนักฟังเพลงทั่วไปมีความรู้สึกต่อด้านกว้างมากกว่าด้านลึก นั่นก็หมายความว่า ด้านลึกจะลึกมากลึกน้อย จะให้ความสำคัญไม่มากเท่าเวทีเสียงด้านกว้าง จะเลือกสายที่ให้ความกว้างของเวทีเสียงมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น ในเรื่องความกว้างของเวทีเสียง ถือว่าเข้าทางของ Kimber Kable – Carbon 8 XLR แล้วล่ะ

            มีสองเรื่องที่จะต้องบอกกันต่ออีกหน่อย ที่ยังเป็นคำถามและข้อสงสัยอยู่

            ต้องทำความเข้าใจกันอย่างนี้ก่อน ถ้าเราแบ่งเสียงดนตรีที่เกิดขึ้นมาเป็นสามช่วง คือ… ท่อน A เสียงที่เกิดขึ้นมาเป็นเสียงหลัก, ท่อน B คือ เสียงที่เกิดขึ้นหลังจากท่อน B และ ท่อน C คือ เสียงที่เกิดท้ายสุด ก่อนเสียงจะจางหายไป

            ให้นึกถึงเสียงโมบายที่เกิดการกระทบกัน แล้วเกิดเสียงขึ้นมา เสียงที่เกิดขึ้นเสียงแรก เนื้อเสียงความคมชัด ไดนามิกของเสียง ของท่อน A ก่อนจะเข้าสู่ท่อน B ในเรื่องรายละเอียด ความกังวานของเสียงที่เกิดขึ้น และ ท่อน C คือ บรรยากาศของเสียงที่ตามมาก่อนจะจางหายลงไป

            สายนำสัญญาณที่ดีตามคำนิยาม โดยไม่ได้มองกันที่งบค่าตัวจะมากจะน้อย จะให้ออกมาครบทั้งสามช่วงสามท่อน สายนำสัญญาณบางเส้นจะเด่นท่อน A ท่อน B และ C ด้อยลง สายนำสัญญาณบางเส้นจะด้อยท่อน A คือยอมให้เนื้อเสียงไม่คมชัดแน่น แต่จะมาเด่นในช่วงท่อน B และ C อะไรทำนองนี้

            ในความรู้สึกของผมนั้น Kimber Kable – Carbon 8 XLR จะเด่นในท่อน A มากที่สุด ตามต่อในท่อน B แต่ในท่อนC ยังด้อยกว่าท่อน A และท่อน B นั่นหมายความว่า สายนำสัญญาณบางเส้นอาจจะดูว่าระยิบระยับกว่า พลิ้วกว่า มีรายละเอียดมากกว่า แต่นั่นคือต้องจ่ายค่าตัวที่แพงกว่า Kimber Kable – Carbon 8 XLR อีกหลายเท่าเลยนะ เมื่อเทียบสายนำสัญญาณในระดับเดียวกัน ราคาขายอยู่ในเร้นจ์เดียวกัน ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นขึ้นกว่าอย่างชัดเจน แต่ Kimber Kable – Carbon 8 XLR จะโดดเด่นในเรื่องความกว้างของเวทีเสียง เสียงที่ออกมาคมชัดหนักแน่น ไดนามิกของเสียงเบสที่แน่น เนื้อเสียงที่อิ่มข้นกว่าสายอื่นๆ

            ในเรื่องเสียงร้องนั้น Kimber Kable – Carbon 8 XLR ทำได้ดีมากๆ เช่นกัน ให้เสียงร้องที่มีความชัดเจน และพละกำลังของเสียงอย่างมาก เนื้อเสียงอิ่ม สำหรับนักร้องที่เน้นลีลา ไม่ได้โชว์พลังเสียง แต่ใช้ท่อนเสียงที่เด่นในด้านเทคนิคลีลาของเสียงร้องที่ฟังดูแล้วอบอุ่น สบายๆ ชวนเคลิ้ม อย่างเช่น Billie Holiday จะรู้สึกว่า Carbon 8 XLR ไม่เหมาะกับแนวเสียงของ Billie Holiday ในทางกลับกันก็มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้ามอง position ของ Carbon 8 XLR น่าจะถูกวางสำหรับกลุ่มนักเล่นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเน้นความมีสีสันของชีวิตมากกว่า ไม่ใช่กลุ่มนักเล่นนักฟังเพลงที่จะมานั่งดื่มไวน์เปิดไฟสร้างบรรยากาศ เปิดเพลง Billie Holiday แล้วเผลอนั่งหลับคาเก้าอี้

บทสรุป

ต้องยอมรับว่า Kimber Kable – Carbon 8 XLR คือสายนำสัญญาณที่มาสร้างความแตกต่างจริงๆ ในระดับราคาเดียวกันยังไม่เคยได้ยินสายนำสัญญาณใดให้คุณภาพเสียงออกมาได้อย่างที่ Kimber Kable – Carbon 8 XLR ให้ได้เลย

            ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ทาง Kimber Kable เก่งในเรื่องการดึงศักยภาพของทองแดงแกนเดี่ยวขนาดตัวนำที่หลากหลาย นำมาตีเกลียวประกอบเป็นขนาดของตัวนำ 19.5AWG ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ดีกว่าการใช้ตัวนำที่แตกต่างกันทางด้านวัสดุกันมาประกอบขึ้นมาเป็นตัวนำ เพราะวัสดุที่แตกต่างกัน เมื่อนำมาประกอบขึ้นเป็นตัวนำก็ใช่ว่าจะดีทั้งหมด เพราะวัสดุที่แตกต่างกันย่อมมีความเร็วในการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนไม่เท่ากัน

            แต่ทาง Kimber Kable ใช้วัสดุแบบเดียวกันทั้งหมด การเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนซึ่งมีความเร็วเท่ากัน และใช้ขนาดของทองแดงที่แตกต่างกัน มาเสริมให้คุณภาพเสียงออกมาครอบคลุมในทุกย่านความถี่เสียงตามลักษณะการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนตามช่วงความถี่เสียงต่างๆ

            Kimber Kable – Carbon 8 XLR จึงให้เสียงที่เต็มไปด้วยพละกำลัง แรงดีดของความถี่เสียงที่ออกมาโดดเด่นมาก เสียงที่ชัดเจน อิมเมจโฟกัสของเสียงที่แม่นยำ และเวทีเสียงที่กว้างแผ่ขยายออกมาทางด้านกว้างได้กว้างมาก ซึ่งยังไม่เคยได้ยินสายนำสัญญาณในเร้นจ์ราคาเดียวกันให้ได้อย่าง Kimber Kable – Carbon 8 XLR มาก่อน

แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่า สายนำสัญญาณ Kimber Kable – Carbon 8 XLR จะยกระดับความสุขในการฟังเพลงให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะ. ADP

ราคา 23,500 บาท ความยาว 1 เมตร

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Inventive AV
โทร. 0-2238-4078-9