ชุมพล

ผมต้องเขียนถึง ขุนพล Magic Spike 4 ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยทดสอบ Magic Spike 5 ไปแล้ว เพราะอุปกรณ์เสริมประเภท Spike หรือ เดือยแหลมตัวนี้มีความพิเศษไม่เหมือนใครในโลก คือ… มันเป็น Spike หนึ่งเดียวที่ได้นำเอา Phase Plug รูปทรงกระบอกมาช่วยในการระบายแรงสั่นสะเทือนให้ออกไปในทิศทางที่ถูกกำหนดไว้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เราท่านคงเคยเห็น Phase Plug ที่อยู่บนแผงหน้าลำโพง ส่วนใหญ่นิยมติดตั้งไว้กับตัวขับเสียงแหลมหรือ Tweeter เพื่อกำหนดมุมหรือทิศทางกระจายเสียงให้เป็นระเบียบไม่กระจัดกระจาย แล้วยังช่วยเพิ่มมวลเสียงได้อีกนิดหน่อยด้วย

คราวนี้ได้เห็น Phase Plug ที่เป็นสัญลักษณ์รูปทรงกระบอกตัดปลายเป็นปากฉลามมาอยู่ในตัว Spike ขนาดเขื่อง (25 x 25 x 36 มม.) Magic Spike 4 มี 2 สี คือ สีเงิน และ สีดำ การใช้เทคนิคขัดพื้นผิวให้เรียบลื่นก่อนจะชุบเคลือบด้วยโรเดียม รวมถึงการทาด้วย Quantum Treatment เป็นสิ่งที่ทำให้ Magic Spike 4 มีความพิเศษโดดเด่น นี่ถ้าหากเป็นของฝรั่งมังค่าคงเรียกราคาค่าตัวแพงไปกว่าที่ Tombo ขายไปอีกมากโข

หน้าที่หลัก ๆ ของ Spike ทั่วไปคือ ทำให้อุปกรณ์เครื่องเสียง และ/หรือ ลำโพงที่นำไปรองยืนอยู่ได้นิ่ง ๆ ไม่ขยับตัว และป้องกันการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นภายนอกไหลย้อนกลับขึ้นไปรบกวนเครื่องเสียงหรือลำโพงนั้น ๆ ได้ โดยหลักการเป็นเช่นนี้ หากแต่วัสดุชนิดของโลหะที่นำมาใช้ขึ้นรูปเป็น Spike รวมทั้งการเคลือบผิว ขนาดความสูงความกว้าง ล้วนแล้วแต่มีผลต่อเสียง เหตุผลเป็นเรื่องของ Resonance และระยะเวลาในการเก็บแรงสั่นเอาไว้ในตัวนั่นเองครับ

ขุนพล Magic Spike 4 มีการคลือบผิวเรียบลื่น ผมลองหยิบขึ้นมาทีละตัว (ใน 1 กล่อง มี Spike บรรจุมาให้ 4 ตัว) พบว่ามีน้ำหนักมากพอสมควร ซึ่งสำหรับผมแล้วถือว่าดี เพราะนั่นหมายถึงความแข็งแรงทนทาน โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถ่ายเทแรงสั่นสะเทือนออกไปไม่ได้  เนื่องจากมีการออกแบบเจาะรูระบายและใส่หลอด Wave Guide เอาไว้แล้ว

ถึงเวลาที่ลองเล่นจริง ๆ แล้วครับ เช่นเคย ผมนำมันไปรองใต้เครื่องที่มีการสั่นสะเทือนขณะการทำงานสูง เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียงและเครื่องเล่นซีดี

ผลการทดสอบ

ผมพบว่า Magic Spike 4 ให้เสียงที่แตกต่างไปจาก Magic Spike 5 ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะรูปร่างหน้าตา Function ในการออกแบบวางคอนเซ็ปต์ไว้ต่างกัน ถ้าหากเสียงเหมือนกันนั่นสิแปลก!!! หากเปรียบเทียบเป็นคนแล้ว Magic Spike 4 มีนิสัยร่าเริง แจ่มใส เปิดเผย ทำอะไรว่องไว ไม่สงวนท่าทีลีลา และไม่แต่งแต้มใด ๆ และการใช้ Spike Cup ดี ๆ ร่วมกับ Magic Spike 4 มีผลต่อเสียงมาก ตอนที่ผมนำเอา Magic Spike 4 ไปรองใต้เครื่องเล่นแผ่นเสียง Linn LP 12 พบว่า เสียงโดยรวมมีการเน้นย้ำหัวโน้ตมากขึ้น แบ็กกราวด์นิ่งสงัด เวทีเสียงเดินหน้าเล็กน้อยคล้ายดึงเราให้เข้าใกล้เวทีการแสดงมากยิ่งขึ้น ลักษณะนี้เหมาะมากสำหรับเครื่องที่ให้เสียงประเภท Laid back เอาตรง ๆ ก็ประเภทนุ่ม ๆ เนือย ๆ นั่นแหละครับ เสียงเขย่าแทมบูลีนมีน้ำหนัก ย้ำหนักเบาชัดเจนมากยิ่งขึ้น ความกว้างของเวทีเสียงยังเท่าเดิม แต่คล้าย ๆ กับเพิ่มช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีให้เป็นอิสระกว่า อะไรที่เคยทับซ้อนกันอยู่จะถูกจัดระเบียบให้ฟังออกได้ชัด ๆ ว่าอะไรเป็นอะไร ปลายหางของเสียงแหลมทอดประกายกังวานออกไปได้ไกล และคงตัวอยู่ในอากาศได้นานขึ้น เสียงกลางมีปริมาณเท่าเดิม หากแต่โฟกัสมากขึ้น ชัดและเคลียร์ แต่ไม่ลดสเกลลงแต่อย่างใด ส่วนเสียงต่ำหรือเบสนั้น ต้องชมเชยว่ามีมาให้สะใจกับแรงปะทะ และการทิ้งตัวลงพื้นได้อย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่ดีมาก ๆ คือ Magic Spike 4 เพิ่มรายละเอียดของโน้ตเบสมาให้ได้ยินกันจะจะ ไม่ต้องใช้ความพยายามที่จะแกะโน้ต ซึ่งรวมไปถึงพวกรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างอื่นด้วยครับ

ตอนที่สลับเอา Magic Spike 4 ไปรองใต้เครื่องเล่นซีดี Marantz CD42 ซึ่งมีแนวเสียงอิ่มหวาน มีฮาร์โมนิกเป็นธรรมชาติ พบว่า เสียงกระฉับกระเฉงมากขึ้น อิมเมจขึ้นรูปครองตำแหน่งในเวทีเสียงได้อย่างมั่นคง เมฆหมอกหรือละอองไอที่ห่อหุ้มอยู่รอบ ๆ ตัวโน้ตลดลงไปบ้าง เบสดีขึ้น มีเรี่ยวแรงและสปริงตัวออกมาจากดอกลำโพงโดยไม่ติดตู้ ผมรู้สึกว่ามันฟ้องคุณภาพของแผ่นซีดีออกมาได้มากขึ้นว่าแผ่นไหนบันทึกมาดี/ไม่ดี เสียงบูสต์เบส/แหลม มาก/น้อย รับรู้ได้หมด ตอนที่นำถ้วยรองสไปก์ของ Tombo ขุนพล Magic Plate 5 มาร่วมใช้งานกับ Magic Spike 4 รู้สึกว่าฟังเพลงได้ผ่อนคลายมากขึ้น เสียงไวบราโฟนมีน้ำมีนวล เพิ่มเติมบรรยากาศเข้าไปอีก โดยเฉพาะการลากหางเสียงจะลากยาวออกไปได้ (เก็บตัวช้าลง)

ขุนพล Magic Footer 3

ตัวรองรุ่นเล็กของ Tombo Audio ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อการวางรองใต้เครื่องที่ต้องอยู่ในช่วงอันจำกัดความสูง เจ้านี่หน้าตาน่ารักดีครับ รูปทรงคล้าย ๆ เห็ด รองรับน้ำหนักได้ชิ้นละไม่เกิน 20 กิโลกรัม 4 ตัว ก็รับได้ 80 กก. มีให้เลือก 2 สี คือ สีเงิน และ สีแดง

ขุนพล Magic Footer 3 ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลักสองส่วน คือ ตัวฐาน และ ส่วนจุกด้านบน ซึ่งสามารถถอดแยกออกจากกันได้ ภายในของส่วนตัวฐานใส่ลูกปืนโลหะหรือ Bearing ที่รับน้ำหนักมาจากส่วนจุกที่ด้านบน มีการใส่ยางโอริงไว้ทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยที่บริเวณฐานด้านล่างมีการเจาะรูตรงกลางและฉลุเป็นจุดกลม ๆ 8 จุด เพื่อช่วยจูนเสียงและยังมีการเซาะร่องรอบ ๆ ขอบล่าง ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นสองชั้น แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นชั้นเดียวกันครับ วัสดุที่ใช้ทำ Magic Footer 3 คือ อะลูมิเนียมสีเงิน ข้อดีในแง่ความสะดวกของการใช้งาน คือ จับวางได้ง่ายกว่าอุปกรณ์เสริมประเภท Spike หรือทิปโท ที่มักจะล้มโดยไม่ตั้งใจอยู่เรื่อย จนบางทีต้องเอาดินน้ำมันกาวมาติดช่วยไม่ให้ล้ม

ในการทดสอบ Magic Footer 3 ผมต้องการเปรียบเทียบให้ทราบว่า มันให้เสียงที่ต่างไปจาก Magic Spike 4 อย่างไร ดังนั้น ผมจึงนำมันไปรองใต้เครื่องเล่นแผ่นเสียง Linn LP12 และเครื่องเล่นซีดี Marantz CD42 โดยในภายหลังได้ทดลองวางใต้กล่องกราวด์ของ Entreq ด้วย

ผลการทดสอบ

คนละเสียง…!!! ครับ Magic Footer 3 ให้เสียงที่ไม่เหมือนกับรุ่นพี่ของมันอย่าง Spike 4 และ Spike 5 โดยที่น้อง 3 เขาจะเน้นไปในทางสว่าง เปิดเผย ดุลน้ำเสียงกระเดียดขึ้นไปทางย่านบนเล็กน้อย เสียงกลางโฟกัสชัดเป๊ะ เสียงเบสกระชับฉับไว ไม่เน้นตูมตาม แต่ไม่ทำให้ลดปริมาณลงเช่นกัน แบบนี้จะทำให้สปีด หรือ Pitch เร็วขึ้นหรือไม่? คำตอบคือ… ไม่นะครับ ตรงกันข้าม กลับทำให้น้ำเสียงมีความผ่อนคลาย ฟังสบายขึ้นด้วยซ้ำ คุณสมบัติเกี่ยวกับไดนามิกยังคงสวิงได้กว้างเท่าเดิม สิ่งที่ Magic Footer 3  ให้คุณได้แน่ ๆ คือ ความนิ่งและสงัดของเสียง ในขณะที่ทดสอบ ผมลองหมุนน้อง 3 โดยยึดเอาโลโก้หมวกพ่อมดเป็นหลัก พบว่าตำแหน่งที่ทำให้เสียงลงตัวที่สุดคือ ตำแหน่งที่โลโก้อยู่ตรงหน้าตัวเราครับ ซึ่งก็เป็นไปตามคำบอกกล่าวของเฮียฉ่าง เจ้าของวังแมงปอนั่นเอง ล่าสุดนี้ได้ข่าวมาว่ามีนักเล่นเครื่องเสียงชาวต่างชาติสนใจซื้ออุปกรณ์เสริมในอนุกรมขุนพลไปเล่นกันบ้างแล้ว น่าดีใจและน่าสนับสนุนคนไทยด้วยกันที่ผลิตอุปกรณ์เสริมคุณภาพดี ราคายุติธรรม มาให้เขาได้เล่นกันครับ. ADP

ขุนพล Magic Spike 4 ราคา 8,000 บาทต่อชุด (หนึ่งชุดมี 4 ชิ้น)
ขุนพล Magic Footer 3 ราคา 3,500 บาท (บรรจุกล่องละ 4 ตัว)

จัดจำหน่ายโดย Kstudio
โทร. 085-489-7606, 081-556-4812