ชุมพล
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

หลังจากที่ Voo Doo ทำสายเคเบิ้ลสารพัดรุ่น รวมทั้งสาย USB และ HDMI ออกมาขาย ในที่สุด Voo Doo ก็อดรนทนไม่ได้ ต้องออกปลั๊กผนัง หรือ Receptacle ของตัวเองออกมา 2 รุ่น ชื่อรุ่นว่า Power Phase หน้าตาคล้ายกัน ตัวบอดี้สีดำมีหน้ากากโลหะแถมมาให้ด้วย ความแตกต่างอยู่ที่รุ่นหนังชุบทอง และอีกรุ่นหนึ่งจะชุบโรเดียม ที่อเมริการุ่นโรเดียมขายแพงกว่าประมาณ 30 USD

ที่จริง Voo Doo เคยทำเต้ารับขายมาก่อนหน้านี้ โดยนำเอาเต้ารับยี่ห้อ Hubble มาปรุงแต่งใหม่ หลังจากนั้นจึงได้ออกรุ่น Power Phase มาขาย โดยที่ไม่ได้ใช้ของ Hubble อีกต่อไป ความพิเศษของเต้ารับ Voo Doo อยู่ตรงที่ตัวนำเป็นวัสดุ Tellurium Copper หรือทองแดงผสมเทลลูเรียมที่มีคุณสมบัติไม่สร้าง ค่าความต้านทานเพิ่มขึ้นเวลาที่มีกระแสไฟฟ้าแรงสูงไหลผ่าน ดังนั้น ตัวนำประเภทนี้จึงไม่ร้อนจัดเวลาที่ผ่านกระแสไฟฟ้าสูงๆ แน่นอนว่าความเพี้ยนลดต่ำลงตามไปด้วยครับ 

ผ่านกระบวนการไครโอเจนิกที่ -315 องศาฟาเรนไฮต์ (-192C) แช่อยู่ 24 ชั่วโมง แล้วจึงคืนกลับสู่อุณหภูมิห้อง เพื่อให้ตัวนำโลหะมีการจัดเรียงโมเลกุลอย่างเป็นระเบียบ ผ่านกระแสได้สะดวก ไม่สะดุดติดขัด โครงสร้างของปลั๊ก ชนิด Isolated Ground แท้ๆ ลดการรบกวนของกระแส กราวด์ลูปได้อย่างสิ้นเชิง 

ตัวบอดี้ของเต้ารับที่เห็นเป็นพลาสติกสีดำทำด้วยโพลี คาร์บอเนตฉีดขึ้นรูป ไม่นำไฟฟ้าและมีเรโซแนนซ์ที่เหมาะสม ในขณะที่มีความแข็งแรง ไม่แตกง่ายๆ ผมลองใช้นิ้วดีดที่ตัวบอดี้ เสียงไม่อับทึบ ในขณะที่ตัวปลั๊กมีน้ำหนักพอสมควร (น่าเชื่อถือ) หลังจากที่ผมทดสอบสินค้าของ Voo Doo มาหลายตัวแล้ว ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเจ้าปลั๊กผนัง หรือเต้ารับ ทั้งสองตัวนี้ไม่สร้างความผิดหวังในการใช้งานแน่นอน ผมเริ่ม ฟังเสียงจากรุ่นเคลือบทองก่อน (ปลั๊กทั้งสองตัวถูกติดตั้งอยู่ ในบล็อกไม้ประดู่ขุด IEC Inlet ของ Furutech) รุ่นเคลือบ โรเดียมสายที่เดินภายในเป็นของ Cardas ฉนวนสีแดง ต้องบอกว่า Voo Doo โชคร้ายที่เกิดมาหลังคู่แข่งสารพัดเจ้าใน ท้องตลาด ซึ่งมีตั้งแต่ราคาหลักพันยันหมื่นบาท แล้วปลั๊กผนัง ราคาสามพันกว่าบาทจะแข่งยังไง? 

หลังจากผมฟังสลับกับเต้ารับสามสี่ยี่ห้อ เช่น Wattgate, AudioQuest, Oyaide, Furutech, Monitor Acoustics ผมพบว่าจุดขายของปลั๊ก Voo Doo Power Phase รุ่นเคลือบทอง คือ ความเรียบของเสียงที่มาพร้อมกับพลังแฝง ปลั๊กรุ่นนี้ไม่มีเสียงอะไรเรียกร้องความสนใจเป็นพิเศษ เบสไม่พลุ่งพล่าน ครึกโครม แหลมก็ไม่ฉูดฉาด บาดหู เสียงเคาะโลหะไม่ปิ๊งปั๊งทิ้งหางเสียงไว้ในอากาศยาวนาน แต่ไดนามิกนั้นต้องบอกว่าไร้ที่ติ บุคลิกเสียงเรียบเนียน สุภาพ แต่ไม่ปวกเปียก แบ็กกราวด์น้อยส์ต่ำ สงัดนิ่ง อิมเมจชัดเจน แต่เวทีเสียงหรือรูปวงยังไม่แสดงอาณาเขตปริมณฑลที่ชัดเจน มากนัก ยามที่ดนตรีเล่นกันหนักๆ ไม่พบว่ามีอาการป้อแป้ ยังอัดฉีดกระแสออกมาได้ดีเสมอต้นเสนอปลายครับ เสียงกลางอยู่ตรงกลางระหว่าง Wattgate และ Audioquest คือไม่ถึงขั้นอิ่มหวาน มีกังวานรอบๆ ตัวโน้ต หากแต่ยังมีความ นวลเนียนโฟกัสชัดเจนที่หัวเสียง และจะเกลี่ยออกไปรอบๆ เพื่อให้เชื่อมต่อกับย่านเสียงอื่นๆ ได้อย่างไร้ตะเข็บ 

รุ่นเคลือบโรเดียมให้เสียงที่แตกต่างจากรุ่นเคลือบทอง ฟังออกได้ง่ายมาก แหลม สดใส กรุ๊งกริ๊งกว่าหรือให้มวลทาง แหลมมากกว่านิดๆ พอจะทำให้รู้สึกว่ามันมีความสว่างไสว เพิ่มมากขึ้น ความถี่เสียงในย่านกลางและต่ำ เหมือนจะควบแน่น มีมวลเพิ่มขึ้นด้วย เบสเด้งตัวได้อย่างอิสระ การเว้นวรรคช่องว่างช่องไฟอาจ จะสู้รุ่นเคลือบทองไม่ได้ แต่การขึ้นรูปของอิมเมจของรุ่นโรเดียมเป็นสามมิติมากกว่า

ไดนามิกคอนทราสต์ การย้ำหนักเบาอ่อนแก่ ทำได้ดีไม่แพ้เต้ารับที่แพงกว่าเลย ครับ ฟังเพลงคลาสสิกน้อยชิ้นนี่ ไม่เสียอารมณ์เป็นแน่แท้ ส่วนสำคัญที่ผมให้น้ำหนัก กับอุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียงที่ทดสอบเป็นพิเศษ คือ ทิมเบอร์ (Timbre) หรือ ความเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับเสียงเครื่องดนตรีจริง ผมให้ Voo Doo Power Phase 8 เต็ม 10 ซึ่งถือว่าสูงแล้ว เมื่อเอาไปเทียบกับเต้ารับรุ่นหลุดโลกทั้งหลายที่ผมใช้งานอยู่ 

และถ้าหากให้ผมแนะนำล่ะก็ คิดว่าน่าจะใช้รุ่นเคลือบโรเดียมเสียบใช้งานกับอุปกรณ์ต้นทางอย่าง CD/DAC และปรีแอมป์ ส่วนตัวทองนั้นเหมาะกับชุดเพาเวอร์แอมป์ หรืออินทิเกรตแอมป์มากกว่าแล้วในกรณีถ้าจะต้องเลือกใช้เพียงตัวเดียวล่ะ… อย่างนั้น ฟันธงว่าต้องรุ่นโรเดียมครับ เหตุผลก็เพราะว่ามันฟังสนุกกว่าเบสเด้งตัวมันกว่าแหลมสว่างกว่าอย่างไรก็ตาม นี่เป็นรสนิยมความชอบส่วนตัวนะครับ บางทีถ้าหากคุณชอบเรียบๆ ไม่รุกเร้าเอาไดนามิกกว้างๆ ดุลเสียงกลมกล่อม คุณอาจจะต้องหูกับรุ่นเคลือบทองมากกว่าก็เป็นได้ครับ. ADP 

รุ่นชุบโรเดียม ราคา 5,200 บาท 
รุ่นเคลือบทอง ราคา 4,200 บาท 

จัดจำหน่ายโดย บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด 
โทร. 0-2238-4078-9 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 241