คีตะกวี พันธุ์เพ็ง
นักเขียน : คีตะกวี พันธุ์เพ็ง

ช่วงเดือนที่แล้วมีงานเครื่องเสียง BAV SHOW 2018 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพ หลายๆ ท่านที่มา ชมงานก็คงได้ดื่มด่ำกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของชุดดูหนัง ฟังเพลงกันอย่างเต็มอิ่มเลยทีเดียว ในงานนี้ผมได้สัมภาษณ์ Mr. Miles Roberts เกี่ยวกับลำโพง PMC ซึ่งผม ได้ฟังในงานแสดงเครื่องเสียง Munich ตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นลำโพงระบบ Transmission Line ที่น่าสนใจ มาปีนี้ก็มี พัฒนาการใหม่ๆ หลายอย่าง แต่ผมต้องเฝ้าบูธที่ Munich ไม่มีโอกาสแวะไปฟังและพูดคุยในงาน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่จะได้สอบถาม Mr. Miles Roberts โดยละเอียดเกี่ยวกับลำโพง Transmission Line ครับ 

เนื่องจากบรรยากาศในงานค่อนข้างครื้นเครงมาก เราจึงนัดกันที่ชั้น 31 ชั้นบนสุดของโรงแรม สั่งเครื่องดื่มมา นั่งชิลล์ริมหน้าต่างคุยกันครับ Mr. Miles Roberts ก็ถาม นะครับ ว่าไม่มีเตรียมหัวข้อมาด้วยเหรอ ผมก็บอกไปว่าชอบแบบคุยไปเรื่อยๆ จะดูเป็นธรรมชาติดีกว่าครับ ซึ่งกว่าจะสัมภาษณ์เสร็จ งานก็หมดวันพอดี สำหรับรายละเอียดของการสัมภาษณ์นั้น ผมขอสรุปเป็นหัวข้อลักษณะถามตอบ เพื่อความเข้าใจง่ายในการสื่อสารดังต่อไปนี้นะครับ 

ถ้าผมเป็นลูกค้าที่ไม่เคยซื้อเครื่องเสียงมาก่อน ผมจะรู้ได้ยังไงว่า ลำโพง PMC Fact Fenestria เป็นลำโพงที่ใช่ สำหรับผม 

ผมคิดว่าสิ่งแรกที่ผมจะบอกลูกค้าคือ ในตลาดมีลำโพงมากมาย และลูกค้ามักจะเลือกลำโพงจากความสวยงามเป็นหลักก่อน ทางผู้ผลิตจึงพยายามออกแบบลำโพงให้ดูดีที่สุด แต่ภายใต้ความงามนั้นอาจไปด้วยกันไม่ได้กับความลงตัวในเชิงเทคนิคที่จะดึงสมรรถนะที่ดีที่สุด ซึ่งทางบริษัท PMC จะเน้นออกแบบสินค้าโดยยึดหลักการในเชิงเทคนิคเป็นหลัก ถ้าคุณมองดูลำโพง Fenestria คุณจะเห็นว่าทุกส่วนของลำโพงนั้นออกมาเพื่อคุณภาพเสียงในเชิงเทคนิค ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม หรือเข้ากับภาพลักษณ์ lifestyle เพียงอย่างเดียว ถ้าเราอธิบายสิ่งนี้ให้ลูกค้าผมคิดว่าเขาน่าจะรู้สึกมั่นใจกับสินค้าเรามากขึ้นจากข้อเท็จจริง มากกว่าข้อมูลการตลาด 

คุณอาจจะแย้งได้ว่า ทำไมลูกค้าถึงควรจะเชื่อในสิ่งที่คุณพูดมาด้วย ณ จุดนั้น เราจะถอยมาก้าวหนึ่งในฐานะบริษัทว่าเราอยู่ในธุรกิจนี้มา 27 – 28 ปีแล้ว จึงเป็นบริษัทที่มั่นคงระดับหนึ่ง อาจจะไม่เก่าที่สุด แต่ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์มากมายในตลาด Professional Audio ซึ่งบริษัทเราก็ถือว่าเป็นผู้นำในตลาด high end ของ Professional Audio ยกตัวอย่างเช่น QB1 system ซึ่งเป็นรุ่นท็อปของบริษัทเรา ซึ่งใช้ใน recording studio ชั้นนำอย่าง Capitol Records Tower ใน Los Angeles ถ้าพูดถึง mastering studio ก็มี Metropolis Studios ใน London ซึ่ง products ของ PMC ก็จะมีพัฒนาจนเป็นมาตรฐานในวงการ ทุกวันนี้ Studios 301 ที่ถือว่าเป็น studio ที่ดีที่สุดที่หนึ่งของโลกก็เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ของ PMC เช่นกัน 

กลับมายังคำถามแรก เราสามารถพูดคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีของลำโพง แล้วให้เขาตัดสินใจได้ ในแง่ของความน่าเชื่อถือ เราสามารถอ้างอิงถึงผลงานในอดีตของเราได้ ผมคิดว่านั่นน่าจะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัยที่จะเลือกซื้อสินค้าของ PMC ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น 

ผมคิดว่า คำตอบนี้น่าจะเหมาะสำหรับลูกค้าที่มีประสบการณ์ในการใช้ลำโพงมาระดับหนึ่ง ลองสมมติว่า ผมเป็นคนที่ไม่เคยซื้อชุดเครื่องมาก่อน แล้วเห็น slogan ของ Fact Fenestria ว่า “Just the music” แล้วรู้สึกสนใจ คุณจะทำให้ผมรู้สึกว่า product คุณน่าสนใจได้อย่างไร ในไม่กี่ประโยค 

สิ่งแรกที่ผมจะบอกคือ technology บางอย่างที่เราใช้นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มากที่ไม่เจอจากสินค้าในตลาดทั่วไป เราศึกษาเรื่อง airflow ที่ทำงานในลำโพง และใช้โปรแกรมเดียวกันกับที่ใช้ในการวัดและคำนวณ airflow ของรถ Formula 1 นำมาปรับใช้ใน series Twenty5 ที่เพิ่งออกมานี้ โดยเราควบคุมระบบ airflow ของ venting port เราเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Laminair หลักการคือ ควบคุมระบบ airflow ให้ราบรื่นขึ้น ทำให้เบสลงได้ลึกและชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าคุณฟังเพลงที่บันทึกความถี่ต่ำดีๆ จากลำโพง Fenestria หรือ Twenty5 คุณจะได้ยินการเคลื่อนที่ของเบส ซึ่งลำโพงอื่นคุณอาจจะได้ยินแค่โทน คุณสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ได้ในเว็บไซต์

ในมุมของลูกค้าใหม่ ผมเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีช่วยปรับจูน airflow ในท่อเบสนั้นน่าสนใจ เพราะผมก็ไม่ค่อยเห็นลำโพงที่โปรโมต feature แบบนี้มาก่อน

สาเหตุที่คุณไม่ค่อยเห็นนั้น เพราะทุกวันนี้มีไม่กี่บริษัทในโลกนี้ที่ออกแบบลำโพงด้วยเทคโนโลยี Transmission Line เพราะมันเป็นเรื่องยากที่ผู้ผลิตจะทำออกมาได้ถูกต้อง ข้อแตกต่างของท่อเบสระหว่างลำโพงทั่วไปกับลำโพง Transmission Line นั้น ท่อเบสในลำโพงทั่วไปข้างในเป็นกล่องเปล่าที่เสียงจะเข้ามาแล้วเด้งไปมาภายในกล่องก่อนจะมา ทำให้เกิด distortion ในขณะที่ลำโพง Transmission Line มีท่อต่อไปยังที่ venting port ตรงๆ ภายในท่อที่ส่งไปนั้น เราใช้ฟองน้ำชนิดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อเก็บเสียงภายในตู้ ทำให้เบสสะอาด ไม่มีการรบกวนกับช่วงเสียงกลาง ซึ่งคุณจะได้ยินจากลำโพง Transmission Line

อีกเรื่องหนึ่งคือ Transmission Line ให้ช่วง transient ของความถี่ต่ำได้ไวมาก (transient หมายถึงความดังในการตอบสนองช่วงความถี่ในระยะเวลาสั้นๆ) ซึ่งถ้าฟัง track ที่มีกลองจะให้ speed และ attack ที่ดีมากๆ (transient ที่ตอบสนองไวและคุมได้ดี จะช่วยคุมช่วงน้ำหนักของ note attack ให้ได้ impact ที่คมชัดและได้ยินเสียงหนังกลองกระเพื่อม) คุณจะได้ยินเสียงหนังกลอง เสียงสั่นของสายกีตาร์ และรายละเอียดอื่นๆ ที่มักหายไปในลำโพงทั่วไป เพราะการออกแบบของ Transmission Line จะได้ช่วงเสียงของความถี่ต่ำที่กว้างขึ้น

อย่างที่คุณทราบดีถึงข้อดีของลำโพง Transmission Line ที่ให้ dynamics ที่ลื่นไหล มีช่วง transient ที่ตอบสนองได้ไว แต่ก็มีปัญหาเรื่อง speed ที่ช้า และเสียงที่ไม่ค่อยจะกลืนกันนัก ทำให้บริษัทส่วนมากเลิกทำลำโพง Transmission Line ซึ่งคุณมีวิธีจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ให้ทำงานได้ดีไม่แพ้การออกแบบแบบอื่นๆ

ในสมัยก่อน คนแรกๆ ที่สร้างลำโพง Transmission Line ออกมาชื่อว่าBailey ซึ่งทำออกมาในปี 1957 ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีวัสดุที่เหมาะกับการออกแบบลำโพง Transmission Line เท่าไรนัก ในยุคนั้น เขาใช้ขนแกะกับผมม้า ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน ทำให้สินค้าของเขาไม่มี performance ที่นิ่งพอ

ซึ่งตอนที่เราเข้ามาในตลาด ตอนนั้นก็มีอยู่ 2 บริษัทที่ทำมาก่อนเรา คือ TDL กับ IMF ในยุค 70s และ 80s ที่เขายังทำลำโพง Transmission Line อยู่ แต่พวกเขาก็ยังใช้วัสดุที่ยังไม่ถึงระดับที่จะควบคุมความเร็วของมวลอากาศได้ตามที่ต้องการ ดังนั้น สิ่งที่เราทำในตอนเริ่มทำลำโพง Transmission Line เราต้องหาวัสดุที่สามารถทำใหม่ได้เรื่อยๆ และได้มาตรฐานเหมือนเดิม เราจึงคุยกับโรงงานเพื่อทำฟองน้ำในรูปแบบต่างๆ บางชิ้นก็อาจจะหนากว่าเพื่อเก็บความถี่บางช่วงให้ออกมาได้อย่างที่เราต้องการ

ถ้าคุณดูลำโพงของเราในปัจจุบันอย่าง Fenestria จะเห็นว่า ในช่วงท่อถูกออกแบบมาให้ยังไงให้ได้ช่วงความถี่ต่ำมากๆ ได้ โดยที่ไม่เกิด distortion ซึ่งฟองน้ำเหล่านี้เราออกแบบมาจากประสบการณ์กว่า 27 ปี และใช้ software ที่ช่วยคำนวณ airflow เพื่อออกแบบฟองน้ำและเทคโนโลยี Laminair มาช่วยแก้ปัญหาเรื่อง speed ให้เสียงกลืนกันดีขึ้น จะได้ตามมาตรฐานอย่างที่ควรเป็น

การจะทำ Transmission Line ที่ดีนั้นมีตัวแปรมากมายที่เราต้องควบคุมให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่ต้องการ เช่น ต้องทำท่อเบสใหญ่แค่ไหน ควรทำท่อให้ใหญ่ขึ้นตอนต้นทางหรือปลายทาง ทำอย่างไรให้เสียงออกมาทาง driver มากกว่าทางท่อเบส เป็นต้น ซึ่งถึงแม้เราจะใช้ประสบการณ์ทั้งหมดที่มีมาช่วย ลำโพงต้นแบบตัวแรกของ Fenestria ที่เราทำก็ยังต้องปรับจูนอยู่มาก เราออกแบบตู้ลำโพง 3 รูปแบบ ก่อนที่จะได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ

ฟังดูเหมือนเทคโนโลยี Laminair จะเป็นนวัตกรรมใหม่ของการออกแบบลำโพง Transmission Line ได้เลยนะครับ เพราะสามารถช่วยแก้ข้อบกพร่องของการออกแบบนี้ได้

แน่นอนครับ มีอยู่สองสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของลำโพง Transmission Line หนึ่งในนั้นคือ Laminair ที่เราใช้ และอีกอย่างคือ โปรแกรมที่เราใช้ในกระบวนการสร้างเทคโนโลยี Laminair นี้ โปรแกรมนี้ช่วยในการคำนวณการจำลองสภาพอากาศของ airflow ขึ้นมา และมีอีกกระบวนหนึ่งที่เราทดลองทางฟิสิกส์ โดยขอเช่าเวลาทดลองในห้องแล็บที่ London เพื่อที่จะยิง laser ดูการเคลื่อนไหวของมวลอากาศเวลาลำโพงทำงาน หากไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ เราก็ไม่สามารถออกแบบเทคโนโลยี Laminair ได้สมบูรณ์อย่างทุกวันนี้

นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ใช้ยิง laser นี้ ราคาแพงมากๆ จึงไม่มีบริษัทไหนสามารถซื้อนำมาทดลองเพื่อใช้วิจัยพัฒนาสินค้า เวลาที่บริษัทเราวิจัยลำโพงก็จะติดต่อห้องแล็บฟิสิกส์ใน London แล้วยกลำโพงเข้าไปทดลอง ตอนที่พวกเขาคิดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา เขาถามเราว่า เขาจะทำอย่างไรกับเทคโนโลยีนี้ดี พวกเขาออกแบบเครื่องตรวจวัดการเคลื่อนไหวของเสียง แต่ก็ยังไม่มีไอเดียที่จะนำไปใช้ เราจึงได้หารือกันว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับลำโพงได้อย่างไร ในอนาคตเทคโนโลยีนี้น่าจะทำให้ถูกลงได้ จนบริษัทอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้กับลำโพงตัวเองได้

สมัยก่อนเวลาที่ผมวิจัยพัฒนา Music Server สำหรับชุดเครื่องเสียง high end ผมจะยกเครื่อง Music Server ตัว prototype ที่พัฒนาไปที่ Showroom ของตัวแทน Esoteric เพื่อเทียบกับ CD Transport ที่ดีที่สุดในห้องฟังของเขา ตอนนั้นผมก็ใช้เวลาอยู่หลายเดือนในการทดลองค่าที่ปรับจูนอยู่นานเพื่อที่จะได้เสียงใกล้เคียง CD Transport ที่ใช้เป็น reference ที่สุด ซึ่งผมก็แวะไปแทบทุกอาทิตย์เลยก็ว่าได้ ไม่ทราบว่าตอนที่ทดลองในห้องแล็บนั้นได้ไปบ่อยแค่ไหนครับ

น่าจะทุกๆ 6 เดือนได้ คือเราก็พอรู้อยู่แล้วว่าต้องการค้นหาอะไร เราก็จะคำนวณค่าต่างๆ ไว้ แล้วใช้โปรแกรม airflow ที่เรามีจำลองการทำงานก่อนปรับจูนที่ตัวลำโพง จากนั้นเราก็จะยกลำโพงไปทดสอบในแล็บเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีอีกทีว่าทำได้ตามที่ออกแบบไว้ไหม ดังนั้น โปรแกรมช่วยในการจำลองระบบ airflow จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาระบบ Laminair นี้เป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดขั้นตอนการทดลอง และเก็บข้อมูลไปได้มาก

ในสมัยก่อนก็มีกระบวนการทดลองและแก้ไขข้อผิดพลาดเป็นอย่างมาก ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะผลิตลำโพงออกมาได้รุ่นหนึ่ง แต่ตอนนี้ทำได้เร็วขึ้นแล้ว ส่วนลำโพง Fenestria นี้ก็ใช้เวลาออกแบบและทดลองนานมาก เพราะมีการทดลองวัสดุใหม่ๆ อยู่หลายอย่าง ตู้ลำโพงจะมีการสั่นในตัวเองหมด รวมถึงของ PMC ด้วยเช่นกัน ถ้าคุณดูด้านข้างของลำโพง Fenestria จะเห็นว่าแผ่นที่นำมาประกบนั้นก็ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในการลด resonance ที่เกิดขึ้นในตู้ลำโพงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแผ่นด้านข้างนี้ถูกออกแบบมาจากเทคโนโลยีในการสร้างตึกสูงที่จะช่วยลดแรงสั่นสะเทือนของตู้ลำโพงลงไปได้มาก จนแทบไม่มีเหลือเลย

นอกจาก function ที่ใช้งานได้ดีเยี่ยมแล้ว เราก็พยายามออกแบบให้ดูดีด้วยการเพิ่มลวดลายและออกแบบให้มีส่วนโค้งให้ดูสวยงาม บางคนก็ถามนะ ว่าเปลี่ยนเป็นไม้ลายสวยๆ พันธุ์หายากๆ แทนได้ไหม ซึ่งในแง่ของการทำงานนั้นเป็นไปไม่ได้ เลยเพราะเป็นแผ่นไม้ที่มีความหนาแน่นสูงมาก และใช้ไม้หลายชั้นเพื่อสลายแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับการออกแบบทางเทคนิคเป็นหัวใจหลัก และจะถูกบิดเบือนไปไม่ได้เลย อย่างตรง baffle ของ driver เสียงกลางจะถูกออกแบบให้ทำงานได้อย่างอิสระ ไม่มี distortion เกิดขึ้นมาจากตู้เบสแต่อย่างใด

จากที่ผมศึกษามา PMC Fact Fenestria นั้นเป็นรุ่นท็อปของ Fact series ไม่ทราบว่าจุดเด่นของ Fact series มีใช้เทคโนโลยีบางอย่างจากรุ่น Fenestria อย่างไรบ้างครับ

ในสิ่งที่มีเหมือนกันอย่างแรกเลยคือเป็นลำโพง Transmission Line จุดเด่นของ series Fact ที่มีเหมือนกันนั้นคือมีหน้า Baffle ที่แคบ ซึ่งช่วยลดการสะท้อนของเสียงลงไปได้ ในอนาคตเราก็ตั้งใจว่าจะนำเทคโนโลยีบางส่วนจาก Fenestria มาใช้ในรุ่น Fact ในรุ่นอื่นๆ เช่น Laminair ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ใน product line up ของ series Fact ในอนาคต หรืออาจจะอัพเกรดอะไหล่ใน crossover โดยอิงจากที่ใช้ในรุ่น Fenestria

อย่างในตอนนี้เราก็ได้ออกรุ่น Twenty5 มา ซึ่งมีเทคโนโลยี Laminair ซึ่งถ้าหากได้ลองฟังเทียบกับรุ่น Twenty ที่ออกมาก่อนหน้านั้นก็จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนถึงคุณภาพเบสที่น่าประทับใจมาก เทคโนโลยี Laminair ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากหลังจากที่ออกรุ่น Twenty5 ไปแล้วเราก็จะทยอยอัพเกรดรุ่นอื่นๆ ตามไปในช่วง 3 – 5 ปีต่อจากนี้ (ปีก่อนที่ผมฟังใน Munich ก็ยังเจอปัญหาเรื่อง Speed อยู่ ดังนั้นผมเชื่อว่าเทคโนโลยี Laminair น่าจะช่วยได้เยอะเลยครับ)

เดี๋ยวผมขอถามในเรื่องการตั้งลำโพงบ้างนะครับ ไม่ทราบว่าระยะฟังที่เหมาะสมจากทวีตเตอร์ถึงหูควรจะอยู่ที่ระยะเท่าไหร่ดี สำหรับลำโพง Fact Fenestria

ถ้าหากนั่งฟังบนเก้าอี้ปกติก็น่าจะอยู่ที่ระยะ 2.5 – 3 เมตร (ผมทักไปว่าใกล้กว่าที่คิด) สาเหตุที่ระยะฟังไม่ไกลนั้นเป็นเพราะ driver เสียงกลางและ tweeter อยู่ตรงกลางของลำโพง และความสูงของตำแหน่ง driver เสียงกลางก็ไม่ได้สูงนัก จึงมีระยะฟังที่ใกล้กว่าลำโพงที่มี driver เสียงกลางกับ tweeter อยู่ข้างบน ถ้าเทียบกับลำโพง PMC บางรุ่นที่ driver เสียงกลางมีความสูงจากพื้นถึง 1.8 เมตร อาจจะถอยมาถึง 3 – 3.5 เมตรเลย

ฟังดูน่าสนใจมาก เพราะคนเอเชียชอบเล่นลำโพงใหญ่เกินห้อง จึงทำให้ไม่สามารถฟังเสียงของลำโพงตามที่ออกแบบได้ เพราะบางคู่อาจต้องวางห่างถึง 3.8 เมตรเลยก็มี แต่ก็ติดเรื่องข้อจำกัดของห้องครับ

ถูกต้องเลย และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ท่อเบสของลำโพงปกติมักยิงลงพื้นหรือยิงออกหลังรูเดียว ทำให้เสียงกระจายได้ไม่เต็มห้อง และมักมีช่วงโหว่อยู่ แต่ลำโพง Fenestria นั้นมีท่อเบสที่ยิงทั้งข้างบนและข้างล่าง ทั้งพื้นและเพดาน ทำให้เบสกระจายได้เต็มห้อง ซึ่งจะช่วยให้ตั้งลำโพงได้ง่ายกว่าลำโพงทั่วไปในตลาด

นอกจากนี้ ตู้เบสของ Fenestria ก็ถูกออกแบบให้ทำงานเป็นอิสระไม่กวน driver ส่วนอื่น และตัวตู้เบสก็มีการทดสอบ calibrate ให้ได้ time alignment ตรงกัน และให้เสียง in-phase ตรงท่อเบสถ้ายิงลงพื้นหรือไปข้างหลังก็จะเกิดการสะท้อนในห้องทำให้ acoustics ในห้องมีผลอยู่มาก แต่ลำโพง Fenestria จะปล่อยท่อเบสออกมาด้านหน้าตรงๆ เลย ทำให้การตั้งลำโพงทำได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าในเมืองไทยจะนำลำโพงไปใช้ในห้องที่เล็กลงมาก็ยังให้คุณภาพเสียงได้ตามมาตรฐานที่ลำโพงจะทำงานได้

สำหรับลำโพงในห้องเล็กนั้น ผมก็อยากแนะนำลำโพงรุ่นเล็กใน Twenty5 หรืออาจจะเป็นรุ่น Fact ก็ได้ เช่น Fact 8หรือ Fact 12 ซึ่งสามารถให้คุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมได้สำหรับห้องที่มีขนาดเล็ก คุณสามารถตั้งลำโพงได้ที่ระยะทาง 2.5 เมตร แล้วนั่งฟังบนเก้าอี้ฟังเพลงใกล้ๆ แล้วได้รูปวงของเวทีที่น่าฟัง พร้อมกับเบสคุณภาพจากเทคโนโลยี Advanced Transmission Line และ Laminair ที่ทำงานได้อย่างดีเยี่ยม โดยส่วนตัว ถ้าผมจะจัดชุดฟังในห้องเล็ก ผมก็อยากจะใช้ลำโพงวางหิ้งดีๆ สักตัว เพราะท่อเบสจะอยู่ตรงกลาง คุมเสียงได้ดีในห้องขนาดเล็ก

คนมักจะเชื่อว่า ลำโพงตั้งพื้นยังไงก็ดีกว่าลำโพงวางหิ้ง จึงนิยมเล่นลำโพงตั้งพื้นกัน อันนี้จริงไหมครับ

ก็ไม่เสมอไปนะ บางทีก็อยู่ที่ลูกค้าด้วยว่า เขาต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด หรือความสวยงามที่เข้ากับชุดเฟอร์นิเจอร์ในห้องมากกว่า การทำงานของลำโพงนั้นก็ต้องเข้ากับชุดเครื่องเสียงที่มีเพื่อให้สมดุลของเสียงออกมาได้ดีที่สุดด้วย บางครั้งลำโพงตั้งพื้นอาจจะไม่เข้ากับแอมป์หรือปรีที่คุณมี หรือ acoustics ในห้องอาจจะไม่เข้ากับลำโพงตั้งพื้นก็ได้ การเลือกชุดที่เข้ากันได้อย่างลงตัวจึงสำคัญกว่า

ในปีก่อนก็มีออกแบบแอมป์ของตัวเองชื่อว่า Cor เป็น single analogue purist amplifier ซึ่งออกแบบมาไว้สำหรับลำโพงวางหิ้งรุ่น Twenty5 22 เสียงที่ได้จากชุดฟังเพลงคู่นี้เป็นอะไรที่เหลือเชื่อมากๆ เมื่อ 6 เดือนก่อนผมต้องส่งลำโพง Twenty5 22 ไปที่ยุโรปเพื่อรีวิว ผมตั้งใจว่าจะส่งมอบแล้วทดสอบการใช้งานสั้นๆ ก่อนออกมา แต่เอาเข้าจริงกลับได้นั่งฟังอยู่ถึง 3 ชั่วโมง เพราะมัวแต่ดื่มด่ำกับเสียงเพลงอยู่ ซึ่งชุด Cor กับ Twenty5 22 ทำให้ผมฟังจนถึงเวลาที่ต้องออกมาเลยล่ะ

สรุป

Mr. Miles Roberts ก็เป็นคนเสพดนตรีที่มี Passion กับเครื่องเสียงมาก ซึ่งทำให้การสัมภาษณ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น จริงๆ เราก็มีคุยกันในเชิงเทคนิคอย่างอื่น และเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่เกรงว่าจะยาวไป จึงขอสรุปเฉพาะที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการของ PMC ไว้เพียงเท่านี้ ถ้าไม่บอกว่าเป็น Sales Director ผมคงนึกว่าคุยกับ Technician ผู้ร่วมออกแบบลำโพงอยู่ก็เป็นได้

งานนี้ผมก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งก็เป็นแบบอย่างที่ดีที่ผู้นำเข้าบ้านเราควรใส่ใจกับข้อมูลเชิงเทคนิคให้มากขึ้นเพื่อแนะนำลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นไปครับ สำหรับใครที่สนใจทดลองฟังลำโพงของ PMC ก็แวะไปลองฟังได้ที่ The Nine และ CDC ส่วนลำโพงรุ่น Fact Fenestria นั้นสามารถติดต่อทาง Audio Force ที่เป็นผู้นำเข้าขอนัดทดลองฟังได้เลยนะครับ. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 261