ปฤษณ

ปฤษณ กัญจา

ครูแจ๋ว – สง่า อารัมภีร เป็นนักแต่งเพลง ท่านแต่งทั้งคำร้องและทำนอง, ครูแจ๋วเป็นนักเขียน เขียนหนังสือเล่มและบทความไว้มากมาย นอกจากนั้น ครูแจ๋วยังได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) เมื่อ พ.ศ. 2531 

ครูแจ๋วแต่งเพลงไว้มากมายนับเป็นพันๆ เพลง โดยส่วนตัวผมชื่นชอบเพลง “น้ำตาแสงไต้” มานานแสนนาน และมีความฝันว่า ถ้ามีโอกาส วันหนึ่งจะนำเพลงนี้มาบันทึกเสียง ซึ่งฝันนี้ก็ยังแจ่มชัดอยู่ทุกวัน ไม่หนีหายไปไหน นอกจากเพลงน้ำตาแสงไต้แล้ว ครูแจ๋วยังมีเพลงฮิตอีกมากมาย ถ้าเอ่ยชื่อเพลงขึ้นมา เชื่อแน่ว่าคนรุ่นก่อนรับรองร้องตามได้ทุกเพลง

สองเดือนก่อน ผมได้ไปเยี่ยมบ้านครูแจ๋ว คงไม่ต้องบรรยายถึงความรู้สึกหรอกนะครับ เพราะนี่เป็นเรื่องเกินคาดหมายของผมที่ได้รับโอกาสดีๆ เช่นนี้ 

พี่เต้ย – บูรพา อารัมภีร นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 18 ลูกชายของครูแจ๋ว เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของครูแจ๋ว ซึ่งถึงแม้พอจะทราบมาบ้างจากการอ่านหนังสือ ทว่าอารมณ์และความรู้สึกย่อมสู้ที่ได้ฟังจากคำบอกเล่าของทายาทครูแจ๋วไม่ได้แน่นอน

ผมขอออกตัวก่อนว่า… บทความครั้งนี้ แม้เนื้อหาอาจจะไม่ได้แตกต่างจากที่ผู้อ่านเคยทราบมา แต่อย่างที่ผมบอกไว้… การได้ฟังเรื่องราวของครูเพลงที่ถือเป็นตำนานท่านหนึ่งของวงการเพลงและวงการหนังสือของเมืองไทย จากลูกชายที่เฝ้าติดตามคุณพ่อไปในทุกแห่ง สมัยที่ท่านยังมีชีวิต ย่อมสร้างความรู้สึกประทับใจได้ดีกว่าการอ่านจากหนังสือเล่มไหนๆ และผมเชื่อว่า ในวันข้างหน้า ถ้ามีโอกาสไปเยี่ยมเยือนพี่เต้ย แล้วพี่เต้ยเล่าเรื่องของครูแจ๋วให้ฟังอีก ไม่ว่าจะกี่ครั้งกี่หน ผมก็ยังจะรู้สึกตื่นเต้นราวกับได้ฟังเป็นครั้งแรกทุกครั้งไป อย่างแน่นอน… 

ครูแจ๋ว ดั้งเดิมพื้นเพเป็นคนที่ไหนครับ

พ่อเป็นคนบางขุนพรหม ตรงวัดอินทรวิหาร สมัยเด็กๆ วิ่งเล่นแถวนั้น แถวเทเวศร์ ตรงเทเวศร์ก็มีวังของทูลกระหม่อมบริพัตร กรมพระนครสวรรค์-วรพินิต พ่อบอกว่า พอวิ่งเล่น ตัวเองก็ได้ยินเสียงดนตรี กรมพระนครสวรรค์ฯ มีกระโจมอยู่ 2 กระโจม กระโจมหนึ่งเป็นเพลงดนตรีไทย อีกกระโจมหนึ่งเป็นดนตรีสากล

ตระกูลพ่อไม่ใช่นักดนตรี ย่าเป็นคนบางไทร ก็ทำนา ทีนี้พ่อก็มาอยู่ตรงบางขุนพรหม แล้วก็เรียนหนังสือไปเรื่อยๆ พอได้สักประมาณ 10 กว่าขวบ พี่ของพ่อเป็นทหารอากาศ เขาก็คุ้นกับเจ้าของละครคณะศิวารมณ์ พ่ออายุประมาณ 12 – 13 ปี คือ นาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร กับ หม่อมหลวงทรงสอางค์ ฑิฆัมพร เป็นครูโรงเรียนสตรีวิทย์ แล้วท่านจะย้ายไปที่โคกกระเทียม ลพบุรี เพื่อไปเป็นรอง ผบ. กองบิน ที่โคกกระเทียม ท่านอยากมีลูก ก็เอาพ่อเป็นลูกบุตรธรรม ไปอยู่ด้วย เพราะยังไม่มีลูก ไปอยู่ที่โคกกระเทียม 

ที่โคกกระเทียม รอง ผบ. มีเครื่องเล่นจานเสียง มีแผ่นเสียง พอวันศุกร์ พวกทหารเขาก็ชุมนุมกัน พ่อก็มีหน้าที่เปิดแผ่นเสียงให้ฟัง เพลงก็เข้าไปในหัวโดยอัตโนมัติ และอีกอย่างหนึ่ง พ่อชอบอ่านหนังสือ เพราะว่าหม่อมหลวงทรงสอางค์ เป็นครูโรงเรียนสตรีวิทย์ และชอบอ่านหนังสือ ท่านก็ให้พ่ออ่านหนังสือ มีทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พ่อก็เหมือนได้ความรู้ใส่เข้ามา ดนตรีก็ใส่เข้ามา พ่อบอกว่า งานเลี้ยงเลิก แต่ตัวเองยังอยากฟังดนตรีก็เอาผ้าคลุมเอาเครื่องเล่นจานเสียงที่มีลำโพงเป็นปากฮอร์น ฟังคนเดียว (หัวเราะ) ผมว่า มันคงเพราะ และอาจจะถูกใจคุณพ่อ

พี่เต้ย บูรพา อารัมภีร

ตอนแรกๆ พ่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดนตรีเลย แต่ชอบฟัง เริ่มมาจากวังบางขุนพรหม แล้วก็ตอนอยู่ที่โคกกระเทียมได้อ่านหนังสือของดอกไม้สด เรื่อง “โรมานซ์ซ้อนเรื่องจริง” เป็นเรื่องสั้น ดอกไม้สด พรรณนาความว่า “ทะเลที่บ้านแหลมเมืองเพชร ก่อนที่จะไปถึงทะเล มันเห็นทิวทัศน์ของสองฝั่งที่เดินทางไป มีมะพร้าว มีอะไร…” ตัวพ่อเองไม่เคยเห็นทะเลก็อยากไป 

ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร

พ่อก็หนีออกจากบ้านที่โคกกระเทียม มีจักรยานอยู่คันหนึ่ง ถีบจากโคกกระเทียมไปลพบุรีเพื่อจะขึ้นรถไฟกลับบ้านที่กรุงเทพ พอมาถึงก็ขายจักรยานเอาตังค์ กลับมาถึงบางขุนพรหม บอกที่บ้านว่าอยากจะไปบ้านแหลมพี่สาวก็บอกว่า เธอจะไปได้อย่างไร และที่หนีเขามาอย่างนี้ ที่โน่นเขาจะว่ายังไง พ่อบอกมันทนไม่ไหว ใจมันบอกว่าต้องไป แล้วก็ไปหาคุณตาของผมที่อยู่กระทุ่มแบน จากกระทุ่มแบน พ่อก็นั่งรถไฟเพื่อจะไปที่บ้านแหลม พอไปถึงบ้านแหลมก็ได้เห็นไอ้ที่อยากจะเห็น แล้วก็เจอคนที่อยู่แถวนั้น คุยกันไปคุยกันมาว่ามาจากไหน พ่อบอกว่า มาจากลพบุรี อยากมาทำงานเป็นนายท้ายเรือ นี่เป็นจินตนาการของเด็กนะครับ เด็กอายุ 16 – 17 เพื่อนพ่อคนนี้มีชื่อว่า อากลิ้ง 

เขาก็ชวนพ่อไปเป็นนายท้ายเรือที่หาปลา อยู่บ้านแหลม 2 ปี จนมีจดหมายแจ้งมาว่าให้ไปขึ้นทะเบียนเป็นทหารเกณฑ์ อายุ 18 ช่วงนั้นถ้าไม่มาขึ้นทะเบียนทหาร จะเอาพ่อแม่ติดคุก พ่อก็กลับมา กลับไปที่โคกกระเทียม ก็โดนสวดยับ (หัวเราะ) แต่ผู้ใหญ่ทางโน้นท่านก็เอ็นดู พ่อน่ะ ใจอยากเป็นเอ็นจิเนียร์ พอได้วิชามาบ้าง แต่อีกใจตอนไปเป็นทหาร พอเข้าในกรมทหาร ขุนสวัสดิ์ก็ให้ขึ้นทะเบียนเป็นทหารเด็ก สมัยก่อนมีทหารเด็ก แล้วก็ให้ไปเดินเป่าแตรปลุกทหารเกณฑ์ หน้าที่อันแรกก็คือเป่าแตร สองก็คือ เรียนกลองแต๊ก นำทหารเดิน เปลี่ยนเวรยาม 

จนเมื่อกองทัพอากาศตั้งกองดุริยางค์ทหารอากาศที่ดอนเมือง สมัยก่อน… ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการต้องการคืนขวัญให้ประชาชน เพราะเจอสงครามมา ก็ตั้งกองดุริยางค์ ทีนี้ผู้ใหญ่เขาก็ถาม… ใครอยากไปบ้าง พ่อก็สมัครไปอยู่กองดุริยางค์ แต่กองร้อยของตัวเองอยู่ที่ดอนเมือง ต้องมาเรียนที่ทุ่งมหาเมฆ ก็ไปๆ มาๆ กองดุริยางค์ กองทัพอากาศ มี พระเจนดุริยางค์ เป็นผู้สอน พ่อมาเป็นนักเรียนดนตรีดุริยางค์รุ่นแรก รุ่นเดียวเดียวกับ มนัส ปิติสานต์ คนที่แต่งเพลง “เสน่หา” รุ่นเดียวกับ ครูปรีชา เมตไตรย์ ที่เป็นเจ้าของวงลูกฟ้า ก็เรียนกับพระเจนดุริยางค์เหมือนกัน พ่อก็เรียนเปียโน ครูปรีชาบอกผมว่า พ่อเราเนี่ย ตื่นก่อนใครเพื่อนเลยนะ ตื่นมาตีสี่ครึ่ง แล้วซ้อมดนตรีตั้งแต่ตีห้าจนถึงหกโมง ซ้อมเปียโนทุกวัน คือเช้าเนี่ยจะได้ยินเสียงเปียโนของแจ๋วทุกวัน พ่อชื่อเล่นว่า “แจ๋ว” 

ภาพวาดครูแจ๋ว วาดโดย อ.ช่วง มูลพินิจ

เมื่อก่อตั้งกองดุริยางค์ทหารอากาศ ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ติดยศนาวาเอก ก็มาเป็นผู้จัดการของศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมกรุงนี้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หน้าที่คือบำรุงสุข สร้างขวัญให้ประชาชน ก็จัดตั้งคณะละคร สมัยนั้นฟิล์มหนังน่ะมาแล้วนะ มีหนังแล้ว แต่ฟิล์มมาไม่ได้ เพราะรบกัน ฟิล์มมาทางเรือ ฟิล์มก็ชะงัก หลังสงคราม พ.ศ. 2488 ก็มีคณะละครเพื่อกล่อมขวัญประชาชนหลายคณะ อาทิ ศิวารมณ์, อัศวินการละคร ของพระองค์ชายใหญ่ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล พ่อก็สังกัดทหารอากาศ ติดยศจ่าโท แต่ทำงานให้ทหารอากาศตอนเช้าถึงเที่ยง ตอนบ่ายก็ไปซ้อมดนตรีให้คณะละครศิวารมณ์ ที่มีขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร พ่อบุญธรรมของครูแจ๋วเป็นเจ้าของ กับหม่อมหลวงทรงสอางค์ ภรรยา ท่านก็เรียกให้ครูแจ๋วมาช่วย พ่อก็จะไปเป็นหัวหน้าวงดนตรีของคณะละครศิวารมณ์ ประจำอยู่ที่นั่น

ยุคสมัยที่ทำละคร พ่อได้ทำงานกับคณะศิวารมณ์ ต้องเข้าใจอย่างนี้ ตอนเช้าทำงานให้กับกองดุริยางค์ บ่ายก็ไปทำงานให้วงดนตรีศิวารมณ์ ทีนี้ทหารต้องทำงานถึง 4 โมงครึ่ง ทางหัวหน้ากองก็บอกว่า ถ้าทำอย่างนี้ ถ้าไปอย่างนี้อีก จะโดนขังนะ ครูแจ๋วก็ลาออกจากทหาร จากกองทัพอากาศ มาเป็นหัวหน้าวงดนตรีให้ศิวารมณ์ แต่งเพลงอะไรต่ออะไร แต่ก่อนพ่อไม่ดัง พ่อเป็นแค่นักเปียโน เปียโนหลังนี้ซื้อตั้งแต่สมัยนู่นเลยนะครับ สมัยรักกับแม่ที่วรจักร ผมย้อนกลับไปนิดหนึ่ง พ่อเขาไปเจอแม่ที่วรจักร พ่อของแม่เนี่ยเป็นเจ้าของห้องถ่ายภาพชาตพงษ์ ห้องถ่ายภาพชาตพงษ์อยู่ตรงซอยบ้านน้ำดอกไม้ที่วรจักร ตรงข้ามเป็นสมาคม YMCA ตรงห้องภาพจะมีหม่อมหลวงต้อย, อุษณา เพลิงธรรม, ประหยัด ศ.นาคะนาท, รพีพร พวกเขียนหนังสือ นักเขียนที่ส่งเรื่องให้คณะละครต่างๆ เพื่อไปทำละคร ชุมนุมอยู่ในนั้น พ่อเขาก็มาดู นักเขียนพวกนี้เขากินเหล้ากันนะ เรื่องกินเหล้านี่เป็นเรื่องปกติของศิลปิน เจอหน้ากันก็ตั้งวงก๊ง พอพ่อไปที่ชุมนุมนักเขียนก็มีโอกาสได้เจอคุณแม่ พ่อเขาก็รักกับแม่ ก็ซื้อเปียโนหลังนี้มา

แม่เป็นลูกของตาประชุม ชาตพงษ์ เจ้าของห้องภาพ พ่อรู้จักแม่ เพราะว่าตาของแม่เป็นเจ้าของห้องภาพ บ้านของตาเป็นลานกว้างๆ พวกคณะละครบางคณะ พวกที่แต่งหนังสือ เขาจะมาซ้อมกันที่นั่น ตอนนั้น พ่อยังไม่ดัง มาดังเอาตอนอายุ 24 ปี

ช่วงแรกๆ ที่แต่งเพลงให้คณะศิวารมณ์  ครูแจ๋วแต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง หรือเปล่าครับ

ถ้าเนื้อร้องจะมีคุณสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ มาช่วย ส่วนหนึ่งผมเข้าใจนะว่า นักแต่งเพลงเมื่อได้พล็อต หรือเจ้าของละครบอกว่า ครู… ผมอยากได้อย่างนี้ เนื้อเพลงก็จะเข้ามาในหัวของเขา บางทีก็อ่านจากต้นฉบับ แล้วเขาก็จะค่อยๆ สะท้อนงานออกมาเป็นเนื้อเป็นทำนอง พ่อก็เป็นนักดนตรี สมัยก่อนละครจะมีการเปลี่ยนฉาก เขาถึงมีนักร้องหน้าม่าน นักร้องหน้าม่านสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ สมัยนี้ถ้าจะเปลี่ยนฉากก็พรางให้มืดๆ แล้วก็รีบเปลี่ยนปุ๊บปั๊บๆ สมัยก่อน ถ้าจะเปลี่ยนก็คือต้องปิดฉาก ยกตัวอย่าง คณะศิวารมณ์เล่นพันท้ายนรสิงห์ 5 ฉาก ตั้งแต่เริ่มแรกที่พระเจ้าเสือออกตระเวนหาประชาชน, พระเจ้าเสือมาต่อยมวย, พระเจ้าเสือเรียกพันท้ายฯ เข้ามาเจอกัน, พระเจ้าเสือล่องแม่น้ำแล้วหัวเรือหัก ฉากพวกนี้จะต้องเปลี่ยน พอเปลี่ยนฉากก็จะว่างสักประมาณ 5 – 7 นาที ระหว่างรอก็ต้องมีเพลง นักร้องที่เกิดขึ้นอย่าง… ชรินทร์, สุเทพ, บุญช่วย, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ร้องหน้าม่านหมดเลย 

นอกจากบทพูดแล้ว ละครยังเดินเรื่องด้วยเพลงด้วยนะ ยกตัวอย่างเวทีเป็นอย่างนี้นะครับ ก็จะมีไมโครโฟนแขวนประมาณ 3 – 4 จุด ครูเนรมิตซึ่งเป็นผู้กำกับบอกว่า สุรสิทธิ์ต้องเดินบนไม้กระดาน วิธีเดินของพระเอก ไม่ใช่เดินตุ๊ปัดตุ๊เป๋ ต้องเดินเข้าไปที่จุดที่จะพูด แล้วไมค์ก็รับเสียง แล้วไม่ใช่เดินไปถึงไมค์ปุ๊บก็ตะโกนพูด อย่างนี้ไม่ได้ มันต้องมีแอ็กชั่น ทำยังไงให้คนดูที่อยู่ข้างล่างเห็นพระเอกพูดกับนางเอก หรืออะไรอย่างนี้ มันเป็นเทคนิคนะ 

สำหรับเพลงมันเหมือนไดอะล็อก บางทีเพลงบางเพลงที่สร้างขึ้นมาก็เหมือนให้พระเอกนางเอกร้องหากัน หรือบางทีพระเอกหรือพระรองหรือตัวละคร ร้องเพลงบางเพลงที่ไม่ใช่เพลงเอก มันก็เป็นตัวเดินเรื่อง หรือเป็นตัวเดินเรื่องเข้าฉากใหม่ แล้วบทสนทนาก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อเปลี่ยนเอาฉากออก เวทีใหม่มันก็เกิดขึ้น ดนตรีบางทีก็จะทำหน้าที่คล้ายกับแนะนำว่า นี่เป็นปราสาท เป็นสวน เป็นอุทยานดอกไม้ อะไรอย่างนี้

ช่วงนั้นครูแจ๋วยังไม่ดัง

เป็นนักดนตรีเฉยๆ เป็นหัวหน้าวงดนตรี จนคืนวันหนึ่ง พ่อก็ซ้อม อีก 5 วันละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์จะแสดง เพลงเอกชื่อว่า น้ำตาแสงไต้ มันยังไม่ได้ พ่อก็ฟังทั้ง ครูมารุต, ครูเนรมิต และเจ้าของบทละครก็คือ พระองค์ชายใหญ่ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ คือเขามีเพลงมาก่อนแล้วนะ แต่มันไม่ได้ดั่งใจของพระองค์ชายใหญ่ พระองค์ชายใหญ่เจ้าของบทบอกว่าต้องเป็นเพลงที่มีลีลาของการจาก คนจะต้องไปตาย สิงห์เขารู้นะ พระเอกเขารู้ว่าจะมีกบฏอยู่ ตัวเองต้องทำยังไงก็ได้ที่ให้เรือไม่ไปถึงตรงนั้น ก็ต้องการเพลงที่มันเป็นทำนองจาก แล้วก็ทำนองเศร้า หวานด้วยนะ ขอให้หวาน หวานคือความรักระหว่างพระเอกกับนางเอก หวาน เศร้า เย็น จนตอนก่อน 5 วันก่อนที่จะเริ่มแสดง เพลงยังไม่มา พ่อก็จะมีครูเพลงอยู่คนหนึ่งชื่อ เวทางค์ (ทองอิน บุณยเสนา) เขาเป็นทหารอากาศ เป็นนักเขียน แต่งเพลงได้ด้วย รู้จักเพลงเยอะ พ่อกำลังลงมาจากโรงละครเฉลิมกรุง ก็เห็นเวทางค์อยู่ฝั่งตรงข้าม โบกมือ คือคนคอเดียวกัน ก็ถามว่า เฮ้ย คืนนี้มึงว่างรึเปล่า (หัวเราะ) ไปกันหน่อย ก๊งๆ กันหน่อย แถวนั้นก็จะมีร้านเหล้า และมีคอเป็ดอะไรอย่างนี้ ก็ไปนั่งร้านโว่กี่ ก็คุยกัน เวทางค์เขาก็ถามพ่อว่า ศิวารมณ์เป็นอย่างไรบ้าง พ่อบอกว่าเหลืออีก 5 วัน ละครมา แต่เพลงไม่มา เขาก็ถามอยากได้เพลงยังไง พ่อบอกว่า พระองค์ชายใหญ่อยากได้เพลงทางหวานเย็นและก็เศร้า ได้ฟังอย่างนั้น แกก็บอกว่า เพลงหวานเย็นทางไทยมันต้องเขมรไทรโยค แกก็ร้องเขมรไทรโยกไป ก็รินเหล้าไป แต่ท่าทางเศร้า มันต้องลาวครวญนะ ก็ร้องลาวครวญไป ร้องเขมรไทรโยกไป สลับไปสลับมา พ่อบอกกินกันไป 2 คน 2 ขวด เมาสิ มันต้องได้ที่เลย ผมเข้าใจเลยนะ มันได้ที่ พอเลิกรา เวทางค์ก็กลับไปกองดุริยางค์ นั่งสามล้อไป พ่อจะต้องกลับมาที่วรจักร บ้านแม่ ตอนนั้นรักกันแล้ว พอก่อนที่จะกลับวรจักรก็เห็นไฟในห้องที่เขาทำฉากของเฉลิมกรุงเปิดอยู่ ก็เข้าไป ก็ไปแหย่คนนู้นคนนี้ ก็ไปเจอสามีของคุณสุพรรณ บูรณะพิมพ์ เขาเป็นหัวหน้าช่างที่ทำฉาก ก็ไปแหย่เขา แล้วตรงนั้นมีโซฟา พ่อก็หลับที่โซฟา พ่อบอกว่าหลับๆ อยู่ ทำไมมันมีเสียงดนตรี พ่อบอกว่าปกติคนที่มาดีดเปียโนเนี่ย คือเขาคนเดียว และทำไมมันมีเสียงดนตรี ก็ลุกขึ้นไปดูในห้องเปียโน ไปเจอคน 4 คน แต่งชุดคล้ายๆ โบราณ พ่อบอกมีผู้ใหญ่ บุญหนักศักดิ์ใหญ่ พ่อเขาใช้คำนั้นตลอด และก็มีครูเพลงคนหนึ่ง และก็มีหนุ่มกับสาวคนหนึ่ง แกก็บอกให้ชายหนุ่มลองเล่นเพลงเขมรไทรโยค

พ่อเดินเข้าไป สงสัยมาเล่นได้ไง นี่เป็นเปียโนที่พ่อต้องเล่น แล้วผู้ใหญ่คนเดิมก็บอกให้หญิงสาวเล่นเพลงลาวครวญ พอเล่นจบ ผู้ใหญ่คนนั้นก็บอกให้ครูเพลงอีกคนลองเอาลาวครวญกับเขมรไทรโยคมารัดให้เป็นวิญญาณเดียวกัน เขาก็เล่น พ่อบอก พ่อก็จำมา จนเช้าก็มีคนเข้ามาปลุก พ่อก็แจ้นกลับไปบ้าน กว่าจะกลับมาถึงโรงละครก็บ่าย พอซ้อมเสร็จ เย็นวันนั้น ครูเนรมิตกับครูมารุตก็บ่น ไอ้เพลงเนี่ย น้ำตาแสงไต้ มันยังไม่มาเลย สุรสิทธิ์อยู่ในที่นั่นด้วย พ่อเขาได้ยิน เขาก็ลองดีดเปียโนไปเรื่อยๆ สักประเดี๋ยวก็ลองดีดเพลงที่ได้ยินเมื่อคืน ขึ้นทำนองมาเหมือนที่ได้ยินเมื่อคืนครูเนรมิตก็หันมาถาม หง่าเล่นอะไรอยู่ พ่อเขาบอก เอ้า เพราะไหมล่ะ (หัวเราะ) ครูเนรมิตบอก ลองเล่นอีกทีซิ พ่อก็เล่น เฮ้ย! จดเลย เนี่ย น้ำตาแสงไต้ ก็เขียนโน้ตทันที ขนลุกเลย และเขาก็เริ่มช่วยกัน ทำนองเพลงมาก่อน ครูมารุต ครูเนรมิต และครูแจ๋ว ช่วยกันร้อยเรียง (ฮัมทำนอง) นวลเจ้าพี่เอย… แล้วช่วยกันแต่ง พ่อบอกสักครู่ก็เสร็จ พอเสร็จปุ๊บ ก็ให้สุรสิทธิ์ร้องเลย ร้องแล้วก็ร้องได้เลย เพลงทัน เหลืออีก 4 วัน เพลงก็ออกมา ก็เอามาใช้ แล้วเริ่มใช้ในละครครั้งแรก พ่อบอกว่า ละครเรื่องนี้เล่นมากกว่าหนึ่งโปรแกรม หนึ่งโปรแกรมสมัยก่อนจะ 13 วัน เล่นประมาณ 2 – 3 โปรแกรม แสดงว่ามันโดนใจคน และทุกครั้งที่เพลงน้ำตาแสงไต้ขึ้นช่วงฉากสุดท้ายของละคร คนร้องไห้กันทั้งโรง หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ สง่า อารัมภีร ก็เกิด

หลังจากนั้น คณะละครอื่นๆ และใครต่อใครก็มาให้พ่อช่วยทำเพลงเยอะ ครูไพบูลย์ บุตรขัน พ่อก็เป็นคนทำเพลงให้คนแรก ครูไพบูลย์แต่งทั้งเนื้อทำนองของแกอยู่แล้ว และตอนนั้นแกไม่สบาย ก็มีคนที่ชอบน้องสาวของครูไพบูลย์เป็นคนที่อยู่ในบริษัททำแผ่นเสียง เขารู้ว่าครูแจ๋วรู้จักนักดนตรี รู้จักนักร้องหลายคน อยากให้ทำแผ่นเสียงให้ครูไพบูลย์ พ่อกับครูไพบูลย์ไม่เจอหน้ากันนะ เอาแต่เพลงมาทำดนตรีให้ แล้วก็หานักร้องมาร้อง “ค่าน้ำนม” ก็เอา ชาญ เย็นแข ร้อง, “มนต์เมืองเหนือ” ก็เอา สมยศ ทัศนพันธ์ ร้อง 

พอหลังจากน้ำตาแสงไต้เกิด พ่อก็เริ่มมีชื่อเสียง ละครต่างๆ ก็เอามาให้พ่อทำหลังจากนั้นประมาณ 2496 เป็นต้นมา 2494, 2495, 2496 ฟิล์มหนังเข้ามา ภาพยนตร์เริ่มเกิดขึ้น ดาราละครกับดาราหนังเป็นคนกลุ่มเดียวกัน คนลงทุนหนังมีหลายกลุ่ม ละครก็ลดลง เพราะว่าคนชอบดูหนัง เพราะว่ามันเร็วกว่าละคร และมันก็ใช้เทคนิคใช้อะไร ละครเวทีของประเทศไทยยุคที่ครองใจประเทศไทยก็อยู่ได้ประมาณสัก 8 – 9 ปี และปี 2496 ละครก็หมดยุคไป ครูแจ๋วก็ตกงาน แต่ยังมีพวกหนังสือชวนไปให้เขียนของดาราไทย อย่าง สุรัฐ พุกกะเวส ตามหามาเขียนให้หน่อย เขียนเกี่ยวกับเรื่องดารา เรื่องละคร เรื่องเพลง สมัยก่อนเป็นยังไง อะไรอย่างนี้ หลังจากนั้นพอพ่อปรากฏชื่อในหนังสือ คณะภาพยนตร์ต่างๆ เข้ามาติดต่อ ครูแจ๋วก็จะมีเพลงในภาพยนตร์เยอะ 

เพลงทั้งหมดที่ครูแจ๋วแต่ง ถ้าเป็นทำนองมีประมาณกี่เพลงครับ

พ่อแต่งได้ทั้งเนื้อและทำนองนะ แต่งได้ทั้งสองอย่าง ประมาณเกือบ 2,000 เพลง ผมถามว่าทำไมถึงเยอะขนาดนั้น พ่อบอกว่า เพลงบางเพลงเล่นบนเวที ร้องหน้าม่านทีเดียวแล้วหาย คือทำยังไงก็ได้ คุณต้องมีเพลงร้อง ไม่มีการบันทึกไว้ ร้องแล้วก็หายเลย ร้องแล้วโน้ตหายไปไหนก็ไม่รู้ บางทีก็ไม่ได้เก็บ พอแต่งปุ๊บ ได้แล้ว ร้องให้หน่อย พอร้องจบ ก็ไม่ได้ใช้แล้ว ร้องครั้งเดียวพอ ตรงนี้หายเยอะ ผลงานของหลายคนด้วย เพลงหน้าม่านที่จะสูญไปกับเวลา มันไม่มีการบันทึก เพราะสมัยก่อน บันทึกเสียงที ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกอย่างการเก็บข้อมูลของเราก็ไม่ได้ทำเป็นระบบเหมือนสมัยนี้ อย่างของช่อง 4 ละครทีวีเรื่องขุนศึกที่ดังมากๆ เล่น 2 ปีนะ เล่นสดนะ ปี 2502 – 2504 เดือนหนึ่งเล่นหนหนึ่ง ประมาณชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่ง แล้วเล่นหาย ไม่มีการบันทึกนะ เล่นแล้วหายๆ เพลงที่อยู่ในนั้นก็หายไปด้วย จนกระทั่ง… สมมติว่า เขาต้องการเพลงที่อยู่ในนั้น ตอนนั้นที่เล่นนั้นหาย แต่พวกโน้ตยังมีอยู่ เขาก็เอามาบันทึกเสียงใหม่ได้ แต่ช่วงที่เป็นละครเวทีนั่นน่ะ เล่นแล้วหายไปเลย ถ้ามีหลักฐานอยู่ ส่วนใหญ่เขาเอาไปทำซีดีบ้าง มีแผ่นเสียงบ้าง ก็ประมาณเป็นพันเพลง

แผ่นเสียงเรือนแพ – เพลงเรือนแพ แต่งทำนองโดยครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร

ในด้านงานเขียน ครูแจ๋วแต่งหนังสือไว้เยอะหรือเปล่าครับ

มีหลายเล่ม เยอะมากจริงๆ อย่างที่บอก จะมีอยู่คำหนึ่ง ตกงาน ตกงานก็ต้องหางานทำก็ได้เขียนหนังสือ แต่ก่อนเขียนเพลงได้ 3 – 4 เพลง และพอตกงานปี 2497 มาทำหนังสือกับประธาน บริษัท ไทยพาณิชยการ แล้วก็เขียนในสยามสมัย หนังสือพิมพ์ แล้วก็ออกนิตยสารอะไรต่ออะไร คือการตกงานเป็นโอกาสให้ได้เขียนหนังสือ หนังสือที่ออกมาสมัยก่อนจะเป็นอย่างนี้ นี่เล่มแรกๆ ของครูแจ๋ว พ่อเขาชอบเจอผี เล่มนี้ลองเอาไปอ่านจะได้เรื่องของละครเวทีเยอะ เล่มนี้ “แจ๋วเจอผี” จากเพลงน้ำตาแสงไต้ คนก็คิดว่าครูแจ๋วเห็นผีเยอะ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขาให้คอลัมน์ในฟ้าเมืองไทย เขียนมา 19 ปีนะ เจอผีทุกอาทิตย์ จนเพื่อนที่รู้จักบอกว่า “แจ๋ว มึงเจอจนคนตายไม่ทันแล้ว” (หัวเราะ) คนตายไม่ทันให้เขียนแล้ว อาจินต์ ปัญจพรรค์ คนที่ลงทุนให้ครั้งแรกเนี่ย ฟ้าเมืองผี ขายเล่มละ 5 บาท 

บ้านหลังนี้มาอยู่ปีไหนครับ 

2504 เกือบ 2505 ที่พ่อย้ายมาอยู่ตรงนี้ หนึ่ง… ผมว่าอยากแต่งแต่เพลง ใจหนึ่งคือผมคิดอย่างนั้นนะ อยากแต่งเพลง แม่ถามมาทำไม อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนนั้นบ้านใกล้ Jusmag (คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย) พี่สาวผมเริ่มโต มันจะมีทหารมาเยอะ จะมีผู้หญิงขายตัว ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง คุณชายถนัดศรีมาบ่อย แม่ชอบทำกับข้าว 

หนังสือในบ้านนี้คือหนังสือที่ครูแจ๋วสะสม

ไม่ใช่สะสม อ่าน เป็นหนังสือที่ซื้อมาอ่าน พ่อมีหนังสืออยู่กลุ่มนี้ คืออย่างที่เล่าในตอนต้น ครูแจ๋วติดมาตั้งแต่สมัยอยู่โคกกระเทียม ผมจำได้เลยนะ หม่อมหลวงทรงสอางค์ เคยบอก… เธอรู้ไหม พ่อเธอเหน็บหนังสือกระเป๋าหลังตลอด ไปไหนมาไหนก็จะเหน็บหนังสือติดกระเป๋า พ่อชอบอ่านหนังสือ ไม่ได้สะสม คือซื้อมาอ่าน ในหนังสือมันมีอะไรเยอะ

ครูแจ๋วอ่านหนังสือพวกไหนครับ

อ่านทุกอย่าง อ่านแล้วเขามีความสุข แต่ก่อนตรงนั้นจะมีตั่งเล็กๆ พอตื่นก็หยิบหนังสือมาอ่าน บางทีก็มาดีดเปียโนตอนตีสองตีสาม ก๊องแก๊งๆๆ ก็ได้ยินเสียง 

เปียโนมีหลังเดียวตลอด ไม่เปลี่ยนใหม่เลย

ใช่ๆๆ เปียโนหลังนี้ตอนที่จะซื้อ อาแปะคนขายถามว่า ลื้อมีตังค์หรือเปล่า (หัวเราะ) ไปยืนจ้อง แล้วเขาก็ให้มัดจำครึ่งหนึ่ง ก็ยกมา แสดงว่าเขาก็ใจดี เพราะว่าเห็นศิลปินน่ะ ตอนนั้นพ่อเขาแฮปปี้ ผมจูนมา 2 หน ยกขึ้นไป น้ำมันท่วม น้ำเข้า เซ็งเลย แล้วพอตั้งที เคลื่อนนิดหนึ่งก็ไม่ได้ ซื้อไว้ทำมาหากิน พ่อเนี่ย ถ้าพูดถึงก็คือ แต่งเพลง เขียนหนังสือ ที่เลี้ยงดูมาจนถึงปัจจุบัน แล้วก็มีเพื่อนฝูงเยอะ กินเหล้าไหม กินเหล้านี่มีเพื่อนนะ ก็นั่งดื่ม นั่งเฮฮาอะไรต่ออะไรไป สนุกสนาน 

พี่เต้ยเข้ามาเป็นนายกสมาคมนักเขียนฯ ได้อย่างไรครับ

ก่อนหน้านั้น ขับรถให้พ่อ พ่อไม่ขับรถแล้ว ผมก็เดี๋ยวไปส่ง พ่อก็พาไปก็เจอใครต่อใคร คือใครต่อใครก็รู้จักว่าเป็นลูกครูแจ๋ว ไหว้ๆ เสร็จปุ๊บ ผมก็ไปหาแฟนผม (หัวเราะ) พอถึงเวลานัดผมก็มารับกลับ บางทีแฟนไม่อยู่ก็ไปนั่งฟัง ไปนั่งฟังตั้งแต่สมัยนู่นน่ะ รพีพร พวกนี้เห็นหน้ากันมานาน เพราะผมเป็นเหมือนหลาน ไปไหนพ่อก็หิ้วไปด้วย จนขับรถได้ ก็ขับรถให้ จะเป็นยังงี้ แต่ไม่ได้คิดหรอกนะว่าจะมาในแวดวงลักษณะนี้ แล้ว คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ก็ให้โอกาส, ทางมติชน น้าเถียร (เสถียร จันทิมาธร) แกก็ขอต้นฉบับหน่อย ให้โอกาส ก็เห็นว่าเป็นลูกครูแจ๋วด้วย, รวมถึง ต่วยตูน ก็ให้โอกาส เราก็ส่งสิ่งที่เรารู้น่ะ บางคนเขาอาจจะเห็นมุมอื่น อันนั้นก็เรื่องของเขา ผมก็เห็นมุมของผมว่าเป็นยังไง ผมก็ถ่ายทอดที่เห็นออกไป เขียนไป จนเมื่อไปทำงานตั้งแต่ช่วง คุณพยอม ซอมทอง เป็นนายกสมาคมนักเขียน, คุณชไมพร เป็นนายกฯ, คุณเจน เป็นนายก ผมไม่อยากเป็นหรอกนะ (หัวเราะ) คืออย่างนี้สบายกว่า แต่ก็มีน้องๆ บอก.. พี่เต้ย เป็นเถอะ ผมก็บอกจะเป็นให้วาระเดียว 2 ปี เขาก็มาช่วยเหลือกัน คุณกนกวลี มาช่วย, ขจรฤทธิ์ ก็มาช่วย, ชีวี ชีวา, จตุพล บุญพลัด หลายๆ คนมาช่วยเหลือกัน มันก็โอเค ก็ได้ทำงานให้สมาคม. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 256