ปฤษณ
นักเขียน : ปฤษณ กัญจา

หลายปีก่อน วง 2 IS BETTER THAN 1 มีสมาชิกด้วยกัน 2 คน คือ… อาจารย์ขนุน วัลลภ เจียรสถิตย์ และ มะเหมี่ยว อิสรีย์ นำพาเจริญ ซึ่งอัลบั้มชุดแรกนั้น โดยส่วนตัว ผมชอบมาก ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ผมมองว่าเป็นงานเพลงที่ดีมากๆ อัลบั้มหนึ่ง และเชื่อว่าต่อไป คนฟังจะต้องตามหาอัลบั้มชุดนี้ เมื่อได้ค้นพบเพชรที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

มาปีนี้ วง 2 IS BETTER THAN 1 ออกอัลบั้มใหม่ โดยมีสมาชิกใหม่เข้ามา คือ… หอย อภิศักดิ์ เจือจาน และ มีน พัทธศิษฏ์ ศรีศุภลักษณ์ ซึ่งทั้งสองต่างเป็นคนดนตรีที่มากด้วยฝีมือ อัลบั้มนี้ยังคงโดดเด่นในคำร้องและทำนอง ทว่าที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือ สาระที่จริงจังกว่าเดิม เปรียบเหมือนคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสบายใจ และมองโลกในด้านสวยงาม ก็ยังเป็นเอกลักษณ์ของเพลงของ 2 IS เช่นเดิม

หลังจากเสร็จจาก 2 is better than 1 อัลบั้มแรก พอมาถึงอัลบั้มที่ 2 วางโปรเจกต์นานไหมครับ

อาจารย์ขนุน: ตั้งแต่ชุดแรก ทันทีที่ทำเสร็จ ยังไม่ทันจะออกมาเป็นซีดี พี่ป๊อกก็บอกเลยว่าให้เตรียมชุด 2 ได้เลย เขาไม่ทำชุดเดียวแน่ เขาบอกจะทำไปเรื่อยๆ เราก็ดีใจ อย่างตอนนี้ชุด 2 เพิ่งวางเสร็จ พี่ป๊อกให้ทำชุด 3 แล้ว ให้คิดทำชุด 3 ได้เลย พอหลังจากชุดแรกทำเสร็จไปไม่นาน ความคิดที่จะทำชุด 2 มันมีอยู่ตลอดเรื่อยๆ แต่ว่าณ ช่วงนั้นก็ต้องใส่ใจกับชุดแรกอยู่ จึงยังไม่ได้มองอะไร จนผ่านมาประมาณน่าจะ 4 ปีกว่าๆ เกือบ 5 ปี ในระหว่างนั้นผมก็แต่งเพลงไปเรื่อยๆ เพราะผมคิดไว้อยู่แล้วว่ามันต้องมีแน่ๆ แต่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงคือ มะเหมี่ยว พี่ป๊อกวางให้มะเหมี่ยวไปเป็นศิลปินเดี่ยว เพราะฉะนั้นก็เลยเหลือผมคนเดียว ซึ่งตัวผมเองไม่ใช่นักร้อง ผมก็ต้องหานักร้องเข้ามาตอนแรกเลยคิดไว้คงจะเป็นเหมือนเดิม คือหานักร้องหญิง และผมก็ทำดนตรีอีกเหมือนเดิม ทีนี้ระหว่างที่กำลังหานักร้องอยู่ ใจหนึ่งก็คิดว่าหรือเราจะใช้จังหวะนี้ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเลย แทนที่จะเป็นนักร้องหญิงร้องคนเดียวทั้งอัลบั้ม แล้วผมทำดนตรีทั้งหมดอย่างนี้ ก็กลายเป็นว่าถ้าเราเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ มันก็น่าจะมีอะไรที่ดีขึ้น จังหวะนั้นก็มาเจอหอยกับมีน จริงๆ ผมรู้จักหอยกับมีน มานานแล้ว ก็ 20 ปีแล้ว มีนเป็นรุ่นน้องที่ CU Band ที่จุฬามีนจบศิลปกรรมจุฬาผมนิเทศจุฬาหอยเป็นเพื่อนนิเทศจุฬาด้วยกัน จริงๆ กับผมกับหอยทำงานมาเรื่อยๆ เป็นเพลงรายการ เพลงโฆษณาเพลงอะไรอย่างนี้ เรื่อยๆ อยู่แล้ว ก็คุ้นเคยกันอยู่ ในระหว่างนั้น ตอนแรกผมไปเจอเพลงหนึ่งของมีนก่อน มีนเป็นนักดนตรี เล่นดนตรีเป็นอาชีพหลัก ก็มีเพลงที่แต่งไว้ แล้วมีอยู่เพลงหนึ่งที่มีนส่งให้ผมฟัง ชื่อเพลง “ฝั่งนั้น” ซึ่งก็อยู่ในอัลบั้มนี้ ผมได้ยินครั้งแรกนี่ ผมอึ้งเลย เฮ้ย… ผมชอบมาก อาจจะมีติดขัดอะไรนิดหน่อย แต่ว่าโดยรวมผมชอบมาก มันเจ๋งดี น่าจะมาทำอะไรด้วยกันไหม ก็เลยชวนมีนมาอย่างนั้นมาทำอัลบั้มด้วยกันไหม ตอนแรกก็เป็นมีนคนเดียวก่อน กะว่าทำกัน 2 คน ก็คือเอามาแทนที่เหมี่ยว ระหว่างนั้นก็ได้เจอหอยในช่วงเวลานั้นพอดี หอยเองก็มีเพลงที่แต่งไว้เหมือนกัน เลยไปถามมีนว่าเราหามาอีกคนนะ เป็น 3 คนเลยดีกว่าก็มารวมตัวกัน และวางเป็นโปรเจกต์ขึ้นมาว่าเราจะทำเป็นชุด 2 นะ ต่อเนื่องมาจากชุด 1 โดยเป็น 3 คน ก็แบ่งเพลงกันเลยว่าโอเค 3 คน คนละ 4 เพลง 12 เพลง แล้วมีเพลงหนึ่งที่เป็นเพลงเก่าของพี่ป๊อกอยู่ในอัลบั้มแรกของค่าย ชื่อเพลง “ถามสักคำ” ก็เอาเพลงนั้นมาทำ จริงๆ เพลงนั้นเคยทำในรูปแบบ Acapella เพื่อที่จะให้นักร้องหญิงคนหนึ่ง ตอนนั้นวางไว้ให้คนหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้ออกนะครับ ก็เอามาปัดฝุ่นใหม่ แล้วก็กลายเป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้ม ส่วนอีก 12 เพลงที่เหลือ ก็คือแบ่งคนละ 4 เพลง

ทีนี้ด้วยความที่มี 3 คน ก็ 3 สไตล์ คือจริงๆ มันมีจุดร่วมเหมือนกัน ทุกคนชอบฟังเพลงสด ชอบฟังดนตรีสด ที่เราไม่เอาเลยคือพวกอิเล็กทรอนิกส์ หรือว่าเป็นหมอลำ อะไรพวกนี้ที่เราไม่ถนัด เราทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะมีแนวร่วมอยู่ คืออย่างน้อยความเป็นอะคูสติก ความเป็นเครื่องที่เล่นสด ความเป็นอะไรที่จับต้องได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โอเค มันมีจุดร่วมอย่างนั้นแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะมีความหลากหลายในแต่ละพาร์ตของแต่ละคนแต่ละเพลง เลยเกิดเป็นโปรเจกต์นี้ขึ้นมาทำกันมาอยู่สักร่วม 2 ปี ก็ออกมาเป็นซีดีเลยครับ

อาจารย์ขนุน วัลลภ เจียรสถิตย์
ขอแนะนำตัวสมาชิกใหม่ก่อนครับ

คุณหอย: สำหรับผม จริงๆ ไม่ใช่นักดนตรีอาชีพที่มีฝีมือแบบขนุน แบบมีน นะครับ แต่อาศัยว่าเขียนเพลงได้ เลยค่อยๆ ฝึก อาจจะไม่เรียกว่าเรียนครับ อาจจะมีโอกาสได้ไปช่วยพี่แต๋ง (ภูษิต ไล้ทอง) คุยกับขนุน ขนุนจะไปฝึกงานกับพี่แต๋งตอนปี 4 แล้วขนุนก็ไปเปิดเพลงที่ผมท?เพลงละครคณะ ตอนปี 2541 ให้พี่แต๋งฟัง พี่แต๋งก็บอกว่าลองชวนมาช่วยเขียนเนื้อกัน ตอนนั้นจะทำอัลบั้มพี่นีโน่ ปี 2543 ก็เลยได้ไปฝึกการทำเพลงแบบมืออาชีพครั้งแรกที่นั่น ก็มี.. พี่นก ฉัตรชัย เป็นเหมือนไดเรกเตอร์ ก็ได้ไปดูดวิชาพี่นกมาหลังจากนั้นเรียนจบ ทำงานก็ได้ไปอยู่ eotoday.com เป็นเว็บไซต์ของแกรมมี่ มีการจัดคอร์สอบรมนักแต่งเพลง ซึ่งเราเป็นสต๊าฟ เราต้องเข้าทุกคอร์ส แล้วก็จะมีระดับครีม มี… พี่แอม, พี่เจี๊ยบ วรรธนาเต็มไปหมดเลยครับ เราก็อาศัยดูดวิธีมาก็ได้ฝึกฝนจากตรงนั้นครับ ครูพักลักจำ แล้วก็เคยรวมตัวกับเพื่อนๆ สมัยที่ทำเพลงละครด้วยกัน เพื่อนๆ น้องๆ ทำวงกันมาแล้ว 2 วง พอดีวงเก่านั้นต้องเลิกไป เพราะว่ามีสมาชิกป่วยมาก ช่วงที่เคว้งๆ ก็ได้ไปเล่นดนตรีแจ๊สที่เวียงจันทน์กับขนุน หลังจากนั้นขนุนก็ชวนมาช่วยกัน

คุณมีน: ผมเริ่มเล่นกีตาร์ตั้งแต่ 10 ขวบ เพราะว่าเรียนไม่เก่ง คือพี่ชายเรียนเก่งมาก แบบระดับที่หนึ่งของชั้น และผมก็เล่นเกมอย่างเดียว ขี่จักรยานทั้งวัน กระโดดหนีที่บ้านไปว่ายน้ำ คุณแม่ก็คงคิดว่าไม่ได้เรื่องละลูกคนนี้ ก็ส่งไปเรียนกับอาข้างบ้านก่อน พอเล่นกีตาร์เป็น แกก็รู้สึกว่าเหมือนมีแวว เลยบอกแม่ผมว่าส่งลูกไปเรียนเถอะ ก็เลยไปเรียนที่ยามาฮ่าที่จันทบุรี บ้านเกิด พอ ม.1 ก็เข้าวงโยธวาทิต เพราะเพื่อนหลอกไปว่าเราอยู่ห้องนี้ ถ้าเราไม่อยู่ห้องวงโยฯ นะ เราจะเรียนไม่จบ เราก็ไม่รู้เรื่อง เพื่อนเราอยากมีเพื่อนไปเข้าห้องวงโยฯ ก็ไป ไปด้วย เดี๋ยวเรียนไม่จบ แล้วมันก็ออก แต่ผมยังเล่นอยู่จนจบ ม.6 ระหว่างนั้นก็เรียนกีตาร์วันเสาร์ไปด้วย แล้วก็อยู่วงโยฯ ซ้อมวงโยฯ ด้วย จนประกวดวันเด็กอะไรพวกนั้น เหมือนวงโยธวาทิตทั่วไป ก็มาแข่งระดับเขต ระดับจังหวัดที่สนามศุภฯ และระดับประเทศ จนจบ ม.6 ตอนจะขึ้น ม.4 หรือว่าจะไปวิชาชีพ ที่บ้านก็ให้เลือก พ่อบอกไปเรียนเทคนิคดีกว่าไปเรียนอิเล็กทรอนิกส์ คนใช้แต่คอมพิวเตอร์ ผมก็ไม่ไป ผมอยากเล่นดนตรี อยากมีอัลบั้มแบบนี้ครับ ตั้งแต่เรารู้จักฟังเพลง เรารักดนตรี เรารู้ตัวแล้วว่าเราอยากเล่นดนตรีแล้วอยู่ได้ คือนักดนตรีหรือศิลปินทั่วไป เขาเล่นดนตรีแล้วเขาอยู่ได้ เราก็น่าจะทำได้ จนจบ ม.6 ผมก็เอ็นทรานซ์ พ่อก็ไม่ให้เรียนดนตรีต่ออีก บอกเล่นมาตั้งเยอะแล้ว จะให้ไปเรียนเกษตร (หัวเราะ) ผมก็เลยตัดสินใจ งั้นขอทีหนึ่ง ถ้าไม่ติดเลยนะ ผมไปเรียนราชภัฏ ผมเข้าสวนกับพ่อเลย แล้วก็ไปศึกษาอะไร ที่บ้านมีสวนอยู่ ก็โชคดี เอ็นฯ ติดครับ จนเรียนจบ 4 ปี ผมก็เรียนทางด้าน composer เรียนแต่งเพลง แต่เป็นในแบบของคลาสสิก ซีเรียสมิวสิก จนเรียนจบก็เล่นดนตรีกลางคืนมาเรื่อยๆ มีไปสอนบ้าง แต่ก็เหมือนเราคงไม่ถนัดสอนมากกว่าหลักๆ ก็คือเล่นดนตรี มีเวลาหรือมีไอเดียเราก็จดไว้ เขียนเพลง เพลงที่เราอยากทำเพลงที่เราชอบ ก็เล่นดนตรีอยู่ 3 -4 ปี ผมก็เป่าแตรอย่างเดียว ผมเป่าทรัมเป็ต อยู่วงกลางคืน ตามผับตามร้านอาหาร เล่นได้ 3 – 4 ปี คุณพ่อป่วยก็กลับไปอยู่จันทบุรีกับพ่อ แล้วก็กลับมาเล่นดนตรีกรุงเทพฯ ใหม่ อยู่ได้ 4 – 5 ปี ก็มาทำกับ Classy กับพี่ขนุนครับ

หอย – อภิศักดิ์ เจือจาน
อัลบั้มนี้มีการกำหนดธีมหรือคอนเซปต์ไหมครับ 

อาจารย์ขนุน: อันนี้จะแปลกหน่อยตรงที่ว่าปกติคนทำอัลบั้มเขาจะวางคอนเซปต์ โอเค… เราจะมุ่งไปทางนี้ แต่ผมบอกหอยกับมีนตั้งแต่แรกเลยว่าอิสระ คืออยากทำอะไรทำเลย ส่วนหนึ่งที่ผมคิดอย่างนั้นเพราะว่าเรามีจุดร่วมอยู่แล้ว ยังไงมันเป็นดนตรีสดแน่ๆ มันเป็นดนตรีที่คงไม่ได้ออกไปทางร็อกจ๋าๆ คงไม่ใช่ คือสามคนก็คงออกมาในแนวใกล้ๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกันสักทีเดียว มันมีอะไรที่หลากหลาย ไม่ได้มองว่าเป็นคอนเซปต์ใดคอนเซปต์หนึ่งทั้งอัลบั้ม เพราะฉะนั้น ชุดนี้ออกมาก็เลยเรียกว่าเป็นวาไรตี้พ็อพ คือหลากหลายมากๆ ครับ

เห็นเนื้อเพลงในอัลบั้มนี้ ส่วนใหญ่เป็นพ็อพก็จริง แต่ว่ามันมีสาระ มีปรัชญาอยู่ในนั้น 

อาจารย์ขนุน: เมื่อเดือนที่แล้ว ThaiPBS มาสัมภาษณ์ เราพูดถึงประเด็นนี้ไปทีหนึ่ง คือเราอายุกัน 40 แล้ว 40 บวกลบ อยู่แถวๆ นี้ครับ เราก็รู้สึกว่าเพลงของคนอายุ 40 จะเป็นอย่างไร จริงๆ เราไม่ได้ฝืนอะไรเลย ก็คือผ่านการตกผลึกมาจนอายุ 40 มันเห็นโลกมาถึง น่าจะเรียกว่าเกินครึ่งชีวิตแล้วล่ะ ครั้นจะไปทำเพลงแบบฉันรักเธอ เธอรักฉัน ฟูมฟาย อกหัก หรืออะไรอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนั้นคือฝืน ตอนนี้เราคงทำอย่างนั้นไม่ได้ ทีนี้เราก็เลยเอาประสบการณ์ชีวิต เอาอะไรอย่างนี้มาเขียน ซึ่งจริงๆ ต้นกำเนิดเพลง “ฝั่งนั้น” นี่ลึกมากนะ ฝั่งนั้นเป็นอะไรที่เกินคำว่าปรัชญาไปอีก คือมองเห็นแล้ว เข้าใจโลกแล้ว ตกผลึกแล้ว มันถึงออกมาเป็นแบบนี้ ด้วยเหตุผลที่มันเป็นอย่างนั้น สรุปเลยก็คือมาจากอายุของเราที่ไม่น้อยแล้ว สี่สิบแล้ว ก็เลยเป็นอย่างนั้นออกมาคือแต่ละคนก็จะมีแนวคิด จริงๆ จะพูดถึงศาสนาก็ได้ ผมเป็นคริสเตียน หอยเป็นพุทธ มีนเป็นพุทธ มีนก็จะออกไปทางฮินดูหน่อย เป็นพุทธนั่นแหละ แต่อินไปทางอินเดียหน่อย แต่ละคนก็จะมีแนวคิดที่ไม่หมือนกันในแง่ของความเชื่อ หรือสิ่งที่เหมือนกันก็คือเราไม่ได้มองอะไรเพียงแค่ด้านเดียวอีกต่อไปแล้ว เรามองอะไรที่มันมากกว่านั้น เรามองไปเรื่องเนื้อเพลงที่จะจรรโลงสังคมได้ ที่จะยกระดับจิตใจเราได้ อันนี้ไม่ได้หมายถึงคนอื่นนะ หมายถึงตัวเราด้วย เราเขียนอะไรออกไปก็เหมือนสอนตัวเราด้วย ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็สะท้อนออกมาด้วยอายุเป็นหลักครับ

เนื้อเพลงสมัยก่อนจะมีสัมผัสนอก สัมผัสใน เป็นร้อยกรอง แต่เพลงในอัลบั้มนี้เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิต แล้วเขียนขึ้นมา ในส่วนทำนองที่เอามาใส่ มันลงกันได้อย่างไร 
มะเหมี่ยว – อิสรีย์ นำพาเจริญ มาเป็นศิลปินรับเชิญให้กับอัลบั้ม

อาจารย์ขนุน: อย่างนี้ครับ การแต่งเพลงจะมีอยู่ 3 แบบ แบบหนึ่งก็คือ แต่งเนื้อขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเอาทำนองมาใส่ อีกแบบหนึ่งก็คือ ทำทำนองขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเอาเนื้อไปใส่ แบบที่สามก็คือ ทำไปพร้อมๆ กัน ทีนี้สำหรับตัวผมนะ ผมไม่แน่ใจว่าหอยกับมีนใช้วิธีไหน สำหรับผม ผมใช้ทั้ง 3 แบบเลย ถ้าสมมติว่าผมมีเมโลดี้ที่ชอบมากๆ ผมคิดขึ้นมาได้แล้ว ผมชอบเมโลดี้นี้ ผมก็ตั้งทำนองเป็นหลักก่อน และผมก็จะมาดูว่าทำนองแบบนี้ ผมนึกถึงเรื่องอะไร มันสื่อไปถึงอะไร ผมก็จะพยายามแต่ง เอาเนื้อมาให้มันสอดคล้องกับทำนอง หรือถ้าสมมติวันหนึ่งผมขับรถอยู่ อะไรอยู่ ผมนึกคำขึ้นมาได้ สักกลุ่มคำหนึ่ง หรือสักประโยคหนึ่ง ผมอาจจะชอบไอเดียนั้น ผมก็จะเขียนเนื้อขึ้นมาก่อนเลย เขียนเนื้อขึ้นมาก่อน ไม่สนใจหรอกว่ามันจะสัมผัสไม่สัมผัสยังไง เขียนมาก่อน เป็นคร่าวๆ ก่อน แล้วผมก็พยายามเอาทำนองเข้าไปจับ พอไปจับก็อาจจะมีการดัดแปลง แต่งขึ้นมาเพิ่มเติมเนื้ออีกทีหนึ่ง หรือถ้าสมมติมันมาพร้อมกันเลย ผมก็จะเริ่มจากการมาพร้อมกันเลย แล้วก็ทำไปเลยตั้งแต่เริ่มต้น ผมก็คิดไปเลยทั้งเนื้อทั้งทำนอง แต่วิธีที่ 3 ผมจะไม่ค่อยทำ เพราะว่าสำหรับผมมันยาก มันยากที่จะคิดทั้งสองอย่างให้มันลงตัว แต่ถ้าทำได้ วิธีที่ 3 มันจะสละสลวยทั้งความหมายและทำนองด้วย เพราะมันมาด้วยกัน มันจะไม่มีการฝืน มันจะไม่มีการโกงโน้ต ภาษาไทยเรามีวรรณยุกต์ คำเสียงตรี เราจะไม่สามารถเอาโน้ตต่ำไปใช้ได้ มันจะไม่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น ถ้าทำแบบที่ 3 แต่มันยากสุดสำหรับผมนะครับ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ผมเป็นนักดนตรี ผมเพิ่งจะมาเขียนเนื้อเมื่อไม่นานนี้เอง แต่ก่อนจะให้หอยเขียนเนื้อ แล้วผมทำดนตรี แต่ว่าพอเราผ่านอะไรมาพอสมควร ผมก็เลยพยายามเขียนเนื้อเอง ก็ทำออกมาได้ ไม่ได้ดีมาก แต่ว่ามันก็จะตามใจอย่างที่เราอยากให้มันเป็น เช่น เรามีทำนองของเราฟังแล้วรู้สึกเราอยากจะพูดเรื่องนี้ เราก็พยายามอะไรที่มันเข้ากันได้ ถ้าเราส่งให้คนอื่นทำ บางทีเขาอาจจะไม่ได้อย่างที่เราต้องการ ก็เลยพยายามจะทำเอง โดยมากผมจะเริ่มจากทำนองก่อน สำหรับผมนะครับ แต่ก็มีที่เริ่มจากเนื้อก่อนก็มี ทำพร้อมกันก็มี

คุณหอย: ผมใช้วิธีการเล่นกีตาร์แล้วก็หาเมโลดี้ไปครับ หาเมโลดี้กับคอร์ด แล้วผมก็จะอัดเมโลดี้ไว้ก่อน หลายสิบเพลงเลย แล้วถ้านึกขึ้นได้ว่าวันนี้อยาก มีเวลาว่างแล้ว อะไรอย่างนี้ ก็จะนั่งเลือกเมโลดี้ว่าอันไหนที่เราชอบ ณ เวลานี้ แล้วก็มาดูว่าเราเอาเรื่องอะไรใส่ลงไปได้บ้าง แต่ทั้งหมดแล้ว มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราเคยไปพบมาเป็นเรื่องตัวเอง

คุณมีน: ผมจะมีหลักๆ อยู่ 2 อย่างคือ มาเลย ท่อนไหนก็ได้ ประโยคหนึ่งก็ได้ แล้วจดไว้ก่อน แล้วผมจะมีมือถือ คือใช้ง่ายๆ ครับ อัดวิดีโอเลย อัดแล้วก็จดเนื้อ ไว้มาหาคีย์ หาคอร์ดใส่ กับอีกอย่างหนึ่งคือ มีอะเรนจ์เมนต์ มีเพลงตัวอย่างคร่าวๆ อยู่แล้ว หรือมีเพลงอยู่ในหัวอยู่แล้ว แต่ไม่มีเนื้อเลย ผมก็ร้องแบบภาษาต่างดาวเข้าไปครับ อะไรที่มันมาก็ใส่ อุ๊ย คำนี้เหมาะกับตรงนี้ ก็ไม่ค่อยได้ใช้ความรู้ด้านภาษามากนัก ตรงนี้เมโลดี้มั่วๆ ถั่วๆ มาเป็นภาษาต่างดาว แต่คำนี้ เอาตรงนี้ เราก็จะเว้นเอาไว้แค่นั้นเองครับ

ภาคดนตรีก็ยังคงความชัดเจนเหมือนอัลบั้มที่แล้ว

อาจารย์ขนุน: คือเราตั้งธงเอาไว้อยู่แล้วว่าเราจะอัดสด จริงๆ เราอยากอัดสดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป จะมีอยู่ 3 ชิ้นที่เราไม่อัดสด แต่เราจะไม่บอก (หัวเราะ) มีเพลงเดียวกัน 2 ชิ้น และอีกเพลงหนึ่งชิ้นหนึ่ง มีอยู่ 3 ชิ้นที่เราไม่อัดสด ด้วยเหตุผลที่ว่าเครื่องมันไม่สามารถ จริงๆ มันสามารถ แต่เราไม่มีปัญญาไปหามันมาเพื่อที่จะเข้าห้องอัด ไม่ใช่เหตุผลว่ามันเล่นจริงไม่ได้ แต่เพียงมันใหญ่มาก แล้วก็เราไม่มีปัญญาขนขึ้นไปบนชั้น 3 แต่ว่าหลักๆ เราตั้งธงไว้แล้วว่าเราจะอัดสดหมด เพราะฉะนั้น แน่นนอนว่าสิ่งที่มันได้ก็คือ ความชุ่มชื้น ความสดของเครื่องดนตรี เราจะไม่มีอะไรที่แบบว่าปลอม จริงๆ อยากทำทั้งหมดอย่างที่บอก มันมีแค่ 3 ชิ้นเท่านั้นเอง แต่ 3 ชิ้นนั้น ถึงแม้ไม่ได้ใช้เครื่องจริงนะ เราก็พยายามใช้เสียงที่มันฟังเป็นจริงที่สุด เราเน้นความสด ความไม่ปลอมของมัน เพราะฉะนั้น ดนตรีก็จะออกมาในทางเดียวกัน ก็คือเป็นอะคูสติก เป็นเครื่องดนตรีจริงทั้งหมด

คุณมีนเรียนจบทางคลาสสิกมา พอมาทำเพลงอีกแขนงหนึ่ง ช่วยได้เยอะไหมครับ ซึ่งจะต่างกับดนตรีแจ๊สพอสมควร 

คุณมีน: ไม่เหมือนเลยครับ ผมก็เพิ่งมาเรียนรู้แจ๊สตอนเล่นดนตรีอาชีพนี่ครับ ตรงนั้นใช้งานได้ในเรื่องอะเรนจ์เมนต์ เขียนพาร์ต เขียนอะไรให้นักดนตรีเขาอ่านรู้เรื่อง แล้วปฏิบัติได้ตามนั้น อันนี้มีประโยชน์มาก แต่ความรู้อันอื่น เทคนิคการแต่งเพลง ความยากของคอร์ดของการสร้างตัวโน้ต สร้างไลน์ ไม่ได้ใช้เลยครับ (หัวเราะ) คือเหมือนส่วนใหญ่เราทำเพลงที่เขาต้องฟังทีเดียวแล้วจำได้บ้าง ฟังทีเดียวแล้วชอบ ฟังทีเดียวแล้วรู้สึก หรือจับประโยคใจความอะไรได้ให้กับเขาภายใน 3 – 4 นาที ก็ต่างกันเยอะครับ แต่ว่าใช้ด้วยกันได้ครับ

อาจารย์ขนุนครับ อัลบั้มนี้มีความคาดหวังไว้ยังไงบ้างครับ 

อาจารย์ขนุน: จริงๆ ทุกอัลบั้มของ Classy ยกเว้นที่เป็นเบอร์ใหญ่ๆ ยกเว้นพี่อุ๊ย ยกเว้นพี่ปั่น พี่เท่ห์ ที่เหลือที่เป็นโนเนม ใช้คำว่าโนเนมละกันนะครับ ผมเชื่อว่าเราไม่ได้คาดหวังถึงขนาดมันจะเป็น mass เป็นแบบขายได้เป็นหมื่นเป็นแสน คงไม่ได้ขนาดนั้น สิ่งที่เราคาดหวัง เราตั้งใจจะทำงานที่มีคุณภาพในแบบของเรามีมาตรฐานของเราอยู่ ในการที่จะเผยแพร่ออกไป ทีนี้เราตั้งใจจะเผยแพร่ไปให้มากที่สุดแล้วครับ แต่เราคงไม่ได้หวังถึงขนาดเป็นระดับดังเปรี้ยงปร้าง แค่มีคนซื้อซีดีจนเราไม่ขาดทุน แค่นี้เราก็แฮปปี้มากแล้ว แต่ถ้าจะไปได้มากกว่านั้นก็ถือเป็นโบนัสครับ คือเราค่อนข้างหวังน้อยครับ Classy นะครับ เราหวังแค่ให้ไม่ขาดทุน มีเงินมาทำต่อไปเรื่อยๆ แค่นั้นเองครับ จริงๆ แค่นั้นเอง

ในแง่ของคนทำงาน เราก็อยากจะกระจายไปให้ได้มากครับ ฝากไว้ดีกว่าว่าถ้าเกิดใครมีโอกาสจะแชร์ให้เราได้ก็ยินดี เพราะเราอยากจะให้คนฟัง ผมว่าแทบจะทุกเพลงนะ อย่างที่พี่อุ้มบอก มันมีแนวคิดของเราที่เราต้องการจะสื่อออกไปให้คนฟังในแง่เนื้อหาแล้วถ้าเกิดมันไปได้วงกว้าง แล้วมีใครสักคนที่พอได้ยินเพลงของเราแล้วเขามีความคิดที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือช่วยเสริมกำลังใจให้เขาได้ หรือว่าช่วยให้ชีวิตเขาเปลี่ยนได้ มันจะทำให้เรามีความสุขมากๆ แล้วก็ดีใจมากๆ ที่มันจะส่งผ่านอะไรพวกนี้ออกไปได้ แล้วก็แน่นอนครับ อย่างทุกวันนี้ คนซื้อซีดีก็แทบจะไม่มีแล้ว ยกเว้นคนอ่านออดิโอไฟล์เชื่อว่าคงยังซื้อซีดีอยู่ แต่ว่าคนอื่นๆ บางคนเครื่องเล่นซีดีสักเครื่องไม่มีแล้ว ในบ้านไม่มีแล้ว ในรถไม่มีแล้ว คือบางคนซื้ออัลบั้มไป เขาไม่รู้จะฟังที่ไหน ผมก็รู้สึกเสียดาย คนที่ไม่ได้ฟังเพลงจากซีดีแล้ว ถ้าเราขายได้อีกสักพักหนึ่ง เราจะทำแผ่นเสียงด้วย ซึ่งแฟนหนังสือออดิโอไฟล์ก็คงจะช่วยอุดหนุนเราด้วย (หัวเราะ)

คุณหอย: ผมว่าการขายซีดีไม่ได้ทำให้เรารวยกับมัน แต่มันทำให้เรามีทุนทำอัลบั้มต่อไป แล้วก็ความใฝ่ฝันสูงสุดอย่างหนึ่งก็อยากไปตระเวนเล่น แล้วก็เล่นให้คนฟังฟังต่อหน้านั่นแหละครับ อยากเจอคนฟัง. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 260