ธรรมนูญ

Swiss Made เราจะพบสลักอยู่บนตัวเรือนนาฬิกาสวิส (Swiss Watch), มีดพกสวิส (Swiss Army Knife), ช็อกโกแลตสวิส (Swiss Chocolate) รสชาติกลมกล่อม หรือแม้แต่กับเครื่องเสียงสวิส ล้วนเป็นสินค้าระดับพรีเมียม สำหรับผลิตภัณฑ์จากสวิส แม้รูปร่างภายนอกดูเรียบๆ แต่ก็เป็นลุคแบบเรียบหรู นอกจากนั้นยังออกแบบให้มีคุณค่า ทนทานใช้กันยาวนานเป็นสิบยี่สิบปีโดยไม่ด้อยค่าลง

เมื่อพูดถึงเครื่องเสียงไฮเอ็นด์สัญชาติสวิสก็มีหลายแบรนด์ที่อยู่ระดับต้นๆ ของวงการในเรื่องคุณภาพเสียง และมีเทคโนโลยีที่ยากจะมีใครตามทัน แน่นอนว่าค่าตัวก็ย่อมสูงตามเงินฟรังก์สวิสไปด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ Stenheim ลำโพงสวิสซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในวงการเครื่องเสียงบ้านเรา ในแง่คุณภาพเสียงดี มีรายละเอียด เป็นลำโพงตู้เล็กที่ให้เสียงใหญ่เกินคาด

งานแสดงเครื่องเสียง BAV HI-END SHOW 2017 ที่ผ่านมา เราได้ต้อนรับ Mr. Jean-Pascal Panchard ในฐานะ CEO และเจ้าของ Stenheim ลำโพงระดับซูเปอร์ไฮเอ็นด์สัญชาติสวิส ที่บินตรงมาร่วมงานโชว์ของเรา โดยมีภารกิจเพื่อพบปะนักเล่นชาวไทยเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งเปิดตัวลำโพง Stenheim Alumine Five ลำโพงตัวล่าสุดที่เพิ่งรีลีสไม่นานมานี้ ในห้องโชว์ของ Discovery HiFi

Background

ผมศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์เอ็นจิเนียร์ เมื่อเรียนจบก็ทำงาน แต่ไม่เกี่ยวกับเครื่องเสียงหรอก ผมชอบเครื่องเสียงมาตั้งแต่วัยรุ่น ต่อมามีร้านขายเครื่องเสียงไฮเอ็นด์เป็นงานจ็อบที่สอง ทำอยู่ราวสิบปี ด้วยความที่เรามี Passion กับมันมาก ผมเป็นสมาชิกออดิโอไฟล์คลับที่มีโครงงานทดลองร่วมกัน ซึ่งน่าสนใจก็ตรงที่เรามีโครงงานที่ทำกับ Nagra ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องเสียงสวิส ทำอยู่สองสามปี จนต่อมาตัดสินใจกระโดดเข้าสู่วงการเครื่องเสียงเต็มตัวเสียเลย

กระทั่งได้มารู้จักแบรนด์ Stenheim วิศวกรของพวกเขามาจาก Goldmund ซึ่งพวกเขาเก่งมาก มีงานวิจัยที่น่าทึ่งหลายตัว

Stenheim วางแผนออกผลิตภัณฑ์และทำตลาดราวๆ ปี 2009 โดยลำโพงคู่แรกรีลีสออกมาเมื่อปี 2010 นี้เอง ถือว่าเป็นแบรนด์ที่เพิ่งก่อตั้ง แต่มีเทคโนโลยีที่มาจากการทำงานร่วมกับแบรนด์บิ๊กเนมของสวิส ไม่ว่าจะเป็น Nagra, CH Precision, Goldmund, DartZeel จึงมีผลิตภัณฑ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทำในสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง กระทั่งในปี 2013 ผมได้ถือหุ้นทั้งหมดของ Stenheim ถือว่าทุกอย่างอยู่ในมือผมทั้งหมด

Stenheim Unique

เราเป็นบริษัทที่เป็น Technical Expertise เราทำลำโพงด้วยงานวิศวกรรมอันเกิดจากประสบการณ์ สำหรับคนที่รักในเสียงดนตรีมีความภูมิใจในคำว่า Swiss Made คนที่รักผลิตภัณฑ์ของ Stenheim มักเป็นนักฟังประเภท Music Lover หาใช่คนที่บ้าสเปก เพราะสามารถฟังเพลงได้ทุกแนว ฟังได้กว้าง และได้ดีด้วย ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมต้องจำกัดว่า ออดิโอไฟล์ต้องฟังเพลงประเภทนี้ แผ่นนี้เท่านั้น ทำไมต้องจำกัดตัวเองแบบนั้น ถ้าลำโพงตัวนั้นเล่นได้แคบแบบนั้น ไม่น่าใช่แล้ว

Aluminum Cabinet

เกิดจากปรัชญาและความมุ่งมั่นที่จะทำลำโพงดีที่สุด โดยที่ลำโพงมีอุปกรณ์สำคัญอยู่สามอย่าง คือ… Driver, Crossover และ Cabinet (ตัวตู้) โดยตัวตู้ลำโพงต้องไม่มี Role ที่จะเปล่งเสียงใดๆ ซึ่งสำคัญมาก ตู้ของ Stenheim จึงทำจากอะลูมินัม รวมถึงใช้เทคโนโลยีในการ Damping ตัวตู้เพื่อให้ได้ตู้ลำโพงที่มีความนิ่ง ซึ่งจะให้ความสงัดที่สุด

เราไม่ใช้ไม้เหมือนคนอื่น เพราะเครื่องดนตรีอย่างไวโอลิน หรือเปียโน เป็นไม้ เพราะเขาต้องการคุณสมบัติของไม้ ซึ่งมี Vibration ทำให้เครื่องดนตรีมีคุณลักษณะของเสียงที่เกิดจากไม้ แต่สำหรับตู้ลำโพงจะตรงกันข้าม เรามิได้ต้องการเช่นนั้น ตู้ลำโพงต้องไม่มีเสียงออกจากตัวมัน มันเป็นแค่กล่องใส่ดอกลำโพง ซึ่งถ้าใช้ไม้ เสียงก็จะเจือสี กลบรายละเอียดเล็กๆ ของเสียง ชิ้นดนตรีจะหายไป นี่คือเหตุผลหลักที่เลือกใช้อะลูมินัมที่ให้เสียงเป็นกลาง ไร้เจือสีใดๆ

Driver

Driver ต่างหากต้องทำหน้าที่นี้ที่จะให้ไดนามิกส์ เรากำลังพูดถึง Micro Dynamic ที่สมบูรณ์แบบที่สุด การทำงานของ Driver ต้องตอบสนองรวดเร็วต่อการสั่นไหวเล็กๆ ในระดับ Micro Dynamic เราใช้ High Efficiency Driver ไม่ใช่แค่ความไว ซึ่งต้องให้เสียงแม่นยำตรงตามธรรมชาติ ทำงานได้รวดเร็วฉับไวในทุกย่านความถี่ โดยเฉพาะเบสต้องไม่เฉื่อย บอกเลยว่า… ท้าทายมาก

Crossover

คือส่วนสำคัญมากอีกจุดหนึ่งของลำโพง เราเลือกออกแบบให้ซับซ้อน โดยใช้ High Slope Frequencies ที่ 4TH Order จุดตัดที่แคบในแต่ละช่วงความถี่จะทำงานได้แม่นยำให้กับดอกลำโพงแต่ละดอก

Why High Efficiency?

ลำโพง High Efficiency ให้ไดนามิกส์ที่ดีกว่า แต่ก็ทำได้ยาก ส่วนใหญ่จะเห็นลำโพงไฮเอ็นด์มี Efficiency ต่ำๆ กันทั้งนั้น ก็เพราะเขาต้องการชดเชยความถี่ต่ำในขณะที่ต้องสูญเสียไดนามิกส์ไปซะงั้น ลำโพง Stenheim จึงโปร่ง ไม่อั้นเรื่องไดนามิกส์ ให้เสียงใหญ่ โดยสัดส่วนตัวตู้ไม่จำเป็นต้องใหญ่ และต้องสวยด้วย จะวางไว้ตรงไหนก็ได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่อง Wife Factor จะทำให้ขัดใจ ข้อนี้น่าจะตรงใจ

Easy the Matching

ความที่เป็นลำโพง High Efficiency จึงทำให้ง่ายต่อการแม็ตชิ่ง ขอให้แอมป์คุณภาพดีๆ หน่อย สามารถขับได้ฉลุย กำลังวัตต์ไม่ต้องเยอะ แต่ขอกำลังสำรองสูงๆ ก็ยิ่งดี

Products

Alumine Two เป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่เราประสบความสำเร็จสูงสุด เป็นลำโพง High Efficiency ที่มีความไวถึง 93dB ซึ่งจะให้ไดนามิกส์ที่ดีกว่า เห็นตัวขนาดนี้สามารถเปิดได้ดังมากถึง SPL 109dB ทีเดียว มีหลายสีให้เลือก แต่ราคาเดิม แล้วก็มีอ็อปชั่นอื่นๆ ที่พิเศษอีก ถ้าคุณต้องการ ซึ่งให้เสียงสุดยอดเหมือนกัน

Alumine 3 Way เป็นส่วนผสมระหว่าง Alumine Two และเพิ่มตู้เบสเข้ามาด้านล่าง โดยทำหน้าที่ขยายฐานล่างของความถี่ต่ำซึ่งทำงานอิสระจากกัน ทำให้ Alumine 3 Way ให้เสียงโอ่อ่า โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไบแอมป์ เพราะไบแอมป์เล่นยาก

Alumine Movie เป็นการนำAlumine Two กับ Alumine 3 Way มาใช้งานร่วมกัน ทีเด็ดอยู่ที่เราพัฒนาร่วมกับ Illusonic Audio Innovation ในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำProcessor สำหรับทำงานให้กับระบบ ต้องบอกว่าเป็นชุดดูหนังที่เลิศหรูมาก ให้เสียงดีที่สุดสำหรับความสุขในครอบครัว อ้อ เรายังมีซับวูฟเฟอร์ที่จะเปิดตัวในไม่ช้านี้ด้วย

Alumine Five, Little Brother to The World Acclaimed Reference Ultime ลำโพงรุ่น Alumine Five ที่คุณได้ฟังอยู่ในห้องโชว์ของ Discovery HiFi ถูกออกแบบจากแนวคิดของ Reference Ultime ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่ นำมาย่อส่วนลง ถือเป็นลำโพงที่ออกแบบได้ลงตัว โดยนำเอา Midrange ของ PHL และ Tweeter จาก ScanSpeak เช่นเดียวกับรุ่น Reference มาใช้ เราใช้ไดรเวอร์ของ PHL จากฝรั่งเศส และ ScanSpeak โดยเราคัดสรรวัสดุและออกแบบร่วมกับเขา อย่างเช่น ทวีตเตอร์เราใช้ Silk Dome ซึ่งให้เสียงดี ความไวสูง และแม็ตชิ่งกับไดรเวอร์ดอกอื่นๆ หรืออย่างวูฟเฟอร๋์ก็เป็นแบบแซนด์วิช ทำจากเซลลูโลสของเยื่อไม้ ไม่อยากเรียกว่ากระดาษ เพราะเราทำอะไรมากกว่านั้น มันมีคุณสมบัติทั้งแข็ง เหนียว เบา และ ทนทาน และมีความเพี้ยนต่ำกว่าด้วย ลำโพงของเราเปิดได้ดังเท่าที่ต้องการ โดยไม่มีปัญหาเรื่องความเพี้ยนเลย

Alumine Five ใช้วูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 2 ตัว, มิดเร้นจ์ขนาด 6.5 นิ้ว จำนวน 1 ตัว แม่เหล็กแบบนีโอไดเมียม,ทวีตเตอร์แม่เหล็กนีโอไดเมียม 1 ตัว, มี Laminar Port เป็นพอร์ตระบายลมจากตู้ที่ออกแบบพิเศษ โดยไม่ทำให้เกิด Turbulence จึงมีประสิทธิภาพสูง แยกเป็นสองช่องอิสระจากกัน เป็นลำโพงสามทางที่สมบูรณ์แบบ ทั้งสวยและเสียงดีอีกด้วย เรากล้าท้าชนคู่แข่งทุกยี่ห้อ

Reference Ultime

แม้ตัวตู้สูงราว 170 ซม. หนักข้างละ 240 กก. แต่ก็ไม่ใช่ลำโพงยักษ์ที่ดูน่าเกลียด โจทย์อยู่ที่ต้องดูดี หรู มีสไตล์ ต้องบอกเลยว่า นี่คือลำโพงที่สุดๆ ประกอบด้วยลำโพงแปดดอกต่อข้าง ตัดแบ่งความถี่ด้วย stereo active analogue 2 ways crossover และ 3 ways passive crossover นั่นหมายถึงเป็นลำโพง 4 ways ต้องเปลืองแอมป์หน่อยล่ะ คงต้องใช้ Quad Amps (2 stereo หรือ 4 mono) สามารถลงลึกถึงบาดาล และทะยานจนสุดดวงดาว ด้วยการตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 15Hz – 100kHz ไปเลย วงจร Analog Active Crossover เราจะไม่ใช้แบบ Operational Amplifier ซึ่งเราให้ CH Precision เป็นคนออกแบบ บอกเลยว่าบ้ามาก อยากให้คุณได้ฟังจัง อีกอย่างเรากำลังจะรีลีส passive crossover ออกมา เพราะจะได้ประหยัดแอมป์กับสายลำโพงลงด้วย

Reference Statement

เมื่อคุณมีห้องฟังขนาดใหญ่ ตู้เบสอีกสองตู้เป็นเรื่องจำเป็นขึ้นมาทันที Reference Statement เหมาะกับห้องขนาดสัก 7 x 12 เมตรขึ้นไป โดยความถี่ต่ำจะลงไปถึง 10Hz ตู้จะสูงขึ้นอีกราวฟุตหนึ่งจาก Reference Ultime ติดตั้งไว้ด้วยวูฟเฟอร์ขนาด 13 นิ้ว 20 ตัว เป็นวูฟเฟอร์แบบ high excursion, มิดเร้นจ์ขนาด 6.5 นิ้ว แม่เหล็กนีโอไดเมียม จำนวน 4 ตัว, ทวีตเตอร์แม่เหล็กนีโอไดเมียม จำนวน 2 ตัว, ซูเปอร์ทวีตเตอร์แบบริบบ้อน จำนวน 2 ตัว ซึ่งต้องบอกว่าบ้ามาก เป็นอะไรที่สุดโต่ง แต่ลูกค้าต้องการ แล้วทำไมจะไม่ทำล่ะ เห็นแบบนี้ขายไปหลายชุดแล้ว

You can not Hear, but can Feel…

เมื่อหูมนุษย์ได้ยินแค่ช่วงแคบๆ 20 – 20,000Hz ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ไม่ถึงด้วยซ้ำทำไมต้องทำให้เบสลงลึก หรือปลายแหลมพุ่งทะยานจนแตะขอบฟ้ากันเล่า แม้คุณไม่ได้ยิน แต่คุณรู้สึกได้นะ ยกตัวอย่างความถี่สูง คุณไม่มีวันได้ยินเสียงที่ความถี่ 50kHz เลย แต่เมื่อความถี่ที่ต่ำกว่า 20kHz ผสมกับกับความถี่ที่สูงเท่ากับ 50kHz จะเกิดเป็นความถี่ที่ต่ำลง ทำให้คุณได้ยินได้ด้วยส่วนผสมของฮาร์โมนิกส์ ก็ได้อีกความถี่ขึ้นมา แต่ถ้าไม่มี 50kHz คุณไม่มีวันได้ยินเลย ซึ่งเสียงดนตรีมีหลายความถี่อยู่แล้ว ก็ยิ่งได้ยินดีขึ้น ต้องพูดว่าบางครั้งคุณอาจจะวัดได้ แต่คุณกลับไม่ได้ยิน คุณได้ยินแต่ก็จะไม่ใช่ค่าที่คุณวัดก็ได้ อารมณ์ดีจะได้ยินรายละเอียดเสียงดีกว่าขณะอารมณ์บูดด้วยนะ เรียกว่า Psycho Acoustics สั้นๆ ไม่มีเครื่องมือวัดตัวใดดีเท่ากับหูเราเองหรอก อีกข้อที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน ไม่ต้องมี Hearing Experience ก็รู้สึกได้

For Thai Listener

อยากฝากไว้ว่า… สิ่งที่สำคัญของเครื่องเสียง โดยเฉพาะลำโพงที่ดีต้องทำหน้าที่นำรายละเอียดเสียงที่สมบูรณ์แบบจากการบันทึก ให้เล่นกลับมาด้วยการสั่นไหวทางฟิสิกส์โดยวิธีธรรมชาติเพื่อให้ได้อารมณ์เพลง ตามปรัชญาของ Stenheim ก็เพื่อ Music Lover โดยเฉพาะ โดยจะนำมาซึ่ง Passion และ Emotion รวมถึงความงดงามของท่วงทำนองดนตรีจากศิลปิน เช่นเดียวกับการชมหน้าเวทีคอนเสิร์ต และเพลิดเพลินกับเสียงดนตรี ประทับใจไปกับมัน ลืมเทคโนโลยีเครื่องเสียง ซาบซึ้งไปกับดนตรีที่ได้ฟังจากชุดเครื่องเสียงด้วยลำโพงคู่โปรด ขอเรียนเชิญให้หาโอกาสมาฟัง Stenheim ด้วยตัวเอง ขอบคุณสำหรับการต้อนรับ Happy Listening ครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่  242