ธรรมนูญ

เขาหาใช่ใครที่ไหน เพื่อนเราคนนี้เดินทางมาเมืองไทยบ่อย เราพบกับเขาจนคุ้นหน้าคุ้นตาจนกลายเป็นเพื่อนสนิทไปแล้ว วันนี้ Mr. Robert Wong รับบทบาทใหม่ที่ต้องพัฒนาธุรกิจให้กับ Chord Electronics ค่ายเครื่องเสียงไฮเอ็นด์จากเกาะอังกฤษ ซึ่งได้เปิดตัวเครื่องเสียงไฮเอ็นด์เมนสตรีมในเมืองไทย

ประโยคแรกที่ทักทายกัน “ผมรักกรุงเทพฯ ครับ ชอบทุกอย่างที่เป็นไทย ศิลปะวัฒนธรรม อาหารไทยอร่อยมาก ผู้คนนิสัยน่ารัก คนไทยรักในเสียงดนตรี ดีใจที่ได้มากรุงเทพฯ อีกครั้ง”

WHO INSPIRE YOU AND BRING YOU TO HI-FI BUSINESS ?

ผมรักเสียงดนตรี สำหรับผม ไฮไฟ.. มันไม่ใช่แค่เป็นเรื่องธุรกิจ แต่มันคือสัมพันธภาพระหว่างกันด้วย ไฮไฟเป็น Passion และเป็นสิ่งที่เราสนใจร่วมกัน ทำให้เราได้พบกัน คุณธรรมนูญกับผมต่างอาชีพกันแท้ๆ คุณธรรมนูญเป็นวิศวกร แต่ผมไม่ใช่ วงการเครื่องเสียงทำให้เราได้พบกัน… ผมอยู่ในวงการนี้มามากกว่ายี่สิบปี ล้วนเป็น Big Brand ทั้งสิ้น ไฮไฟเป็น Long Term Business ถ้าปราศจาก Passion จะไม่สามารถอยู่ในวงการมาอย่างยาวนานได้หรอกครับ

เมื่อราวปี 1995 – 96 ผมเคยทำงานให้กับ Bower & Wilkinsและคุณประทวนเป็นดิสทริบิวเตอร์ของผม ที่สำคัญ Robert Trunz เป็นทั้ง Boss และ Mentor ให้ผม เมื่อได้ทราบว่าRobert Trunz เดินทางมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้เช่นกัน ผมตื้นตันใจมากที่ทั้งสามท่าน คือ คุณประทวน, Robert Trunz และ ผม ได้พบกันพร้อมหน้าอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้พบกันนานมากกว่ายี่สิบปี เมื่อคืนผมได้พบกับ Robert Trunz ที่สนามบิน เล่นเอาน้ำตาซึมกันเลยทีเดียว วันนี้ได้พบกับ คุณประทวน อีกครั้ง ในนาม Audio Force ดิสทริบิวเตอร์ของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ Chord ที่ผมดูแลอยู่ รวมถึงลำโพง Vivid Audio ที่มี Robert Trunz เป็น CEO ซึ่งไม่น่าเชื่อ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการเครื่องเสียงทีเดียว

YOUR ROLE WITH CHORD

เมื่ออยู่กับ Chord Electronics ผมมีภาระหน้าที่ต้องพัฒนาดิสทริบิวเตอร์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยังมิได้มีตัวแทนจำหน่าย อย่าง คุณประทวน และ Audio Force ถือเป็นดิสทริบิวเตอร์ใหม่สำหรับเราแต่ก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ช่ำชองในวงการเครื่องเสียง บทบาทผมก็ต้องช่วยพวกเขาสร้างแบรนด์ Chord ให้ลูกค้าทั่วไปในวงกว้างได้ทราบว่าเราคือใคร มีผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงระดับแถวหน้ามิเพียงรู้จักแค่เฉพาะ DAC ตัวเล็กๆ ที่รู้จักดีกันอยู่แล้ว

Chord มีผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายฐานครอบคลุมในทุกมิติไปจนถึงระดับ Super Hi-End เราต้องสนับสนุน Audio Force เพื่อเป็นการเปิดตัวในตลาดเมืองไทยที่ใหญ่กว่าเดิมในทุกๆ ด้านให้ประสบความสำเร็จในการรุกตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็เป็น Mission ของผมในทริปนี้

CHORD ELECTRONICS

ก่อตั้งบริษัทเมื่อราวปี 1989 เริ่มจาก Mr. John Frank กับงานของเขาในห้องทดลองในโรงรถ ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริษัทเครื่องเสียงอื่นๆ ที่เริ่มจากฮอบบี้ ทำงานในห้องเล็กๆ เป็นบริษัทเอ็นจิเนียริ่ง ทำเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องเสียงในตลาดแคบๆ อย่างที่ทราบดีว่าChord Mojo, Hugo มีคนรู้จักเยอะ เพราะมันเข้าถึงง่าย จริงๆ แล้ว เราแบ่งธุรกิจเป็นสองฟาก คือ เครื่องเสียงไฮเอ็นด์แบบแนวเดิมเป็นหลักที่ Audio Force ทำอยู่ ก็มีเพาเวอร์แอมป์, ปรีแอมป์, อินทิเกรตแอมป์, เครื่องเล่นซีดี, DAC, Streamer, Phono Stage เรียกว่าครบไลน์ ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นเครื่องเล่นตัวเล็กๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มหูฟังซึ่งเป็นตลาดที่โตอย่างรวดเร็ว โดยเราเริ่มเมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งทั้งสองจะเกื้อหนุนกัน หูฟังอาจจะมองว่าเป็นของวัยรุ่นวันนี้ แต่วันข้างหน้าเมื่อเขาพร้อม มีกำลังพอ ก็จะข้ามมาหาเครื่องเสียงบ้านอยู่ดี ซึ่งผมก็ต้องดูแลทั้งสองฟากกับดิสทริบิวเตอร์ทั่วโลก

PURE AUDIO PHILOSOPHY..

เป็นปรัชญาของ จอห์น แฟรงค์ (JohnFranks) มาตั้งแต่แรก และ โรเบิร์ต วัตต์ส(Robert Watts) เจ้าของและดีไซเนอร์เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ Chord ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ได้เสียงบริสุทธิ์ไร้ซึ่งการปรุงแต่ง อย่าง DAC ของ Chord นี่ จริงอยู่ที่เราต้องสั่งซื้อชิพมาจากบริษัท Chip Maker แต่นั่นก็เพียงฮาร์ดแวร์เท่านั้น เราเลือกใช้ชิพประเภท Field-Programmable Gate Array (FPGA) แปลว่าส่วนสำคัญมันอยู่ที่การเขียนซอฟต์แวร์ต่างหาก ก็หมายถึงโปรแกรมมิ่งที่เป็นข้อมูลเฉพาะตั้งแต่ต้นที่เป็นของเราใครก็ไม่สามารถทำตามเราได้ การที่เราใส่ใจในทุกเรื่องสำหรับวงจรของแอมป์ ซึ่งหัวใจอยู่ที่ภาคจ่ายไฟ การเลือกใช้อุปกรณ์ การออกแบบคำนึงถึงความต่อเนื่องของสัญญาณเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้การเล่นกลับ (Sound Reproduction) สมบูรณ์แบบที่สุด และนี่คือที่มาของคำว่าPure Audio นั่นเอง ที่สำคัญ Chord ผลิตจากฐานการผลิตในอังกฤษทุกตัว

CHORD PRODUCT IDENTITY

ถ้าพูดถึงเมนสตรีมโพรดักต์ เช่น BLU MK II CD Player, Reference Pre Amp, DAVE DAC เราต้องบอกว่ามันเป็น Unique ที่ไม่เหมือนใคร ไร้ตัวเทียบ ตัวเครื่องประกอบด้วยมืออย่างประณีต ภาคจ่ายไฟที่บึ้กด้วยทรานสฟอร์เมอร์และคาปาซิเตอร์ที่มีกำลังสำรองเหลือเฟือ โครงสร้างตัวเครื่องเป็น Air Craft Grade Aluminum ที่บึ้ก แผงวงจรเป็นชนิด Multi Layer ที่กะทัดรัด มีระยะทางของสัญญาณสั้น ส่งผลต่อคุณภาพเสียง งานผลิตเนี้ยบและดูดีมีราคาชิ้นงานผลิตด้วย CNC ให้ความแตกต่างจากเครื่องเสียงยุโรปอื่นๆ ที่มักบอบบาง ซึ่งหาใช่ Chord ไม่ เราคือความแตกต่าง ดูจากแอมป์ทุกตัวของ Chord ถูกถ่ายทอดจากรุ่นเรือธง SPM 14000 MK II Mono Power Amplifier ที่มีกำลังขับถึง 1000 วัตต์ จากนั้นก็ย่อส่วนลงมาใน DNA เดียวกัน

CHORD CORE PRODUCTS PORTION

สัดส่วนของผลิตภัณฑ์ 40% เป็นฟรอนต์เอ็นด์ พวก CD Player, DAC, Streamer ส่วนอีก 40% เป็นพวกแอมป์ ที่เหลือก็เป็น DAC รุ่นเล็กๆ และ Phono Stage

MUSIC INDUSTRY TODAY

ต้องยอมรับว่าธุรกิจดนตรีเป็นยุคของวัยรุ่นหรือคนทันสมัย ก็ต้องใช้ง่าย ให้ความสะดวกสบายเข้าถึงง่ายอย่าง Streaming หรือ Download ต้องให้เวลาพวกเขาที่จะเข้าใจงานเพลงคุณภาพระดับ Studio Master 24/192k หรือ320 Bit rate แต่ถ้าฟังด้วยหูฟังจากไอโฟน ผมว่าเขาแยกความแตกต่างไม่ออกว่าแตกต่างอย่างไร แต่เมื่อประสบการณ์มากขึ้น เขาจะฟังได้ว่าแตกต่างเช่นไร แล้วจะโผเข้าหาเครื่องเสียงชุดใหญ่ขึ้นเอง

เมื่อแนว Streaming ร้อนแรง Roon กำลังฮอตเป็น Media Server ที่ดีมาก Chord ก็ทำงานร่วมกันกับRoon อยู่แล้ว Chord Streamer DSX1000 ก็รองรับ Roon EndPoint, Tidal, Spotify แน่นอนอยู่แล้วที่กำลังฮอต เราจะมองข้ามไม่ได้ เพราะมันคือโลกอนาคตของธุรกิจในวันนี้ที่ดำเนินไป ในทำนองเดียวกัน ไวนิลก็กำลังกลับมาเรามีผลิตภัณฑ์โฟโนสเตจอยู่แล้ว ส่วนอินทิเกรตแอมป์ของเราก็ติดตั้งโฟโนสเตจมาให้ด้วย

WITH NEW DEALER IN THAILAND MARKET ..NEW USER

ผมรู้จัก คุณประทวน มามากกว่ายี่สิบปี ต้องบอกเลยว่าAudio Force จะเน้นไฮเอ็นด์สุดๆ กับ Chord ส่วนตัวเล็กๆ ก็ยังสั่งได้ไม่มีปัญหาแม้นักเล่นทั่วไปอาจจะรู้จักแบรนด์เราเฉพาะ DAC เล็กๆ อย่าง MoJoหรือ Hugo ที่ทำชื่ออย่างมากมาก่อน นั่นเป็นส่วนหนึ่งแห่งความสำเร็จเท่านั้น เราทราบดีว่าตลาดเครื่องเสียงไฮเอ็นด์แบบเมนสตรีมยังอีกกว้าง เป็นหน้าที่เราที่จะต้องทำงานร่วมกันให้ลูกค้าทราบในวงกว้างว่า Chord Electronics เป็นบริษัทเครื่องเสียงที่มีพื้นฐานทางเอ็นจิเนียริ่งอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์มาอย่างยาวนาน มีผลิตภัณฑ์หลากหลายครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์ ไม่เว้นแม้แต่ไฮเอ็นด์ระดับเริ่มต้น ที่มาจากนวัตกรรมอันเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ Chord เท่านั้น

HOW TO BUILT BRAND IN THAILAND?

ไม่มีอะไรซับซ้อน ก่อนตัดสินใจจะซื้อเครื่องเสียงก็ต้องฟัง ชอบหรือไม่ก็เป็นปัจเจก ลูกค้าต้องหาโอกาสมาฟัง Chord ให้ได้ ผมมีหน้าที่ช่วยเทรนทีมงานให้เข้าใจผลิตภัณฑ์ของเราเทคนิคการนำเสนอพวกเขาช่ำชองอยู่แล้ว สำหรับผมไม่ยากเลย จากฮ่องกงมาที่นี่แค่สามชั่วโมงเอง เรายังต้องมีเอ็นจิเนียร์บินตรงจากอังกฤษมาช่วยอีก ไฮไฟโชว์ก็เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ต้องมาร่วมงาน แต่ในงานโชว์อาจไม่เหมาะที่จะมาฟังอย่างจริงจัง โชว์รูมมีห้องฟังที่เซ็ตอัพไว้อย่างดี เราต้องจัดอีเวนต์ที่จะได้มีโอกาสได้พูดคุยกับลูกค้ารวมถึงมีตัวเดโมให้ลูกค้าไปทดลองเล่นที่ห้องฟังของเขาก็จะทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น ซึ่งถึงตรงนี้ก็ต้องบอกเลยว่าเราเต็มที่กับ Audio Force ในการเปิดตัวเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ของ Chord ในเมืองไทย ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ John Frank รวมถึงทีมงานจะเดินทางมาที่กรุงเทพฯ มาพบกับนักเล่น พร้อมกับสื่อมวลชนอย่าง คุณธรรมนูญ นี่แหละ ซึ่งผมคิดว่าตลาดเมืองไทยสำคัญมาก

SPM 6000 MK II MONO POWER AMPLIFIER
WHICH PART IN ENTIRE WORLD ARE THE MOST SUCCESS?

สำหรับเรามีสี่ภูมิภาค UK เป็นบ้านเกิด อเมริกาก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จดีมาก ตลาดในเยอรมนีถือว่าไปได้ดีมาก ในเอเชียดูเหมือนจะเป็นจีนและญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเป็นนักเล่นที่ซีเรียสมาก เขาชอบ Chord มาก เชื่อไหมว่าดิสทริบิวเตอร์เป็นผู้หญิงเหมือนคุณมุ้ยนี่แหละ เธอเก่งมาก ที่ญี่ปุ่น Chord แข็งแกร่งมาก ลูกค้าเหนียวแน่นมากและหวังว่าChord จะประสบความสำเร็จในเมืองไทยเช่นกัน

HIFI BRAND IN THE SAME ARENA..

ส่วนตัวแล้ว ผมชอบ Dan D’Agostino นะ มันดูเก๋าดี แต่ถ้าคุณเห็น Chord SPM ของเราบอกเลยว่าไม่ต่างกันนัก แนวคิดเดียวกันเลยครับ เนื่องจากแนวคิดเอ็นจิเนียร์เดียวกัน ต่างกันที่เป็นอังกฤษ และราคาค่อนข้างจะ Make Sense กว่าเสียด้วย

TO OUR READER … AGAIN

ถือว่าเป็นการเปิดตัวเต็มรูปแบบของ Chord ในสายของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ อยากเรียนเชิญให้มาฟังChord ที่ห้องโชว์ของ Audio Force ทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นแอมป์ เพลเยอร์ รุ่นต่างๆ เสียก่อน อย่าเพิ่งเชื่อใคร ถ้ายังไม่ได้สัมผัส ฟังกับหูท่านเอง คุณต้องหาโอกาสมาฟังกับหูตนเองให้ได้ ขอบคุณสำหรับการต้อนรับ ขอบคุณสำหรับการที่ได้พูดคุยกันอีกครั้ง. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 247