ธรรมนูญ ประทีปจินดา

เมื่อครั้งงาน Piyanas Opera Night Thank You Party บุคคลผู้เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ท่านหนึ่งก็คือ หมอโจ หรือ นพ. กมลพรรธน์ เมฆวรวุฒิ แห่งศูนย์การแพทย์ธนบุรี ซึ่งเป็นทั้งแขกผู้มีเกียรติ และลูกค้าวีไอพีของปิยะนัส ได้ขึ้นเวทีโชว์ฝีมือการบรรเลงเปียโนได้อย่างยอดเยี่ยม แถมยังพานักร้องรุ่นวินเทจขึ้นมาร้องร่วมกันด้วย คุณหมอมีอารมณ์ขัน และเอ็นเตอร์เทนผู้ชมเช่นนักดนตรีระดับมืออาชีพ 

และในค่ำคืนหนึ่ง ผมและทีมงานออดิโอไฟล์ พร้อม ผู้ร่วมสังเกตการณ์รวมกันทั้งสิ้นสิบชีวิตพอดีได้มีโอกาส ไปเยี่ยมบ้านหมอโจ ตามคำเชื้อเชิญของ คุณชัยวัฒน์ บอสใหญ่แห่งปิยะนัสกรุ๊ป 

เมื่อไปถึงที่หมาย กองทัพเดินต้องด้วยท้อง พวกเราได้อิ่มอร่อยบันเทิงลิ้นไปกับข้าวหมูแดง หมูกรอบรสเด็ด จากฝีมือ “เชฟมด” แต่ยังขาดไข่เจียวหมูสับในตำนาน ที่ต้องหาโอกาสไปลิ้มลองให้ได้ จากนั้นก็ถึงเวลารื่นรมย์ ทางหูด้วยเสียงดนตรีสดจากแกรนด์เปียโนสองหลัง คือ Yamaha และ Steinway & Sons เป็นที่สนุกสนาน ถือว่าลับหูกันก่อน แล้วหมอโจก็พาทัวร์ไปห้องคาราโอเกะ ของคุณแม่ ที่เห็นอุปกรณ์ในห้องต้องร้องว้าว ต่อด้วย ห้องฟังไฮไฟ แล้วก็ถึงคิวของ น้องแมค (ประสบโชค) เป็นดีเจให้พวกเราได้ฟังเพลงจากชุดเครื่องเสียง เริ่มจาก ชุดไฮไฟย่อมๆ และตบท้ายด้วยเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ชุดใหญ่ ซึ่งทั้งสองชุดเสริมฐานล่างด้วย REL Acoustics 

ภาษาดนตรี

ผมเป็นเด็กฝั่งธนฯ ชีวิตก็เลยวนเวียนอยู่แต่ฝั่งธนฯ นี่แหละ เป็นจีนไหหลำ ผมมีพี่น้องสามคนครับ ที่บ้านทำร้านขายยาคุณพ่อไปเป็นเซลส์ขายยาต่างจังหวัดให้กับบริษัทยาญี่ปุ่น ผมได้คุณพ่อเป็น role modelที่ทำงานมาตลอด รู้ที่จะก่อร่างสร้างตัวอย่างไร

เริ่มเรียนดนตรีมาตั้งแต่เล็กกับโรงเรียนสยาม-กลการ ตรงสะพานหัวช้างโน่นแน่ะ พอไปเป็นนักเรียนแพทย์ก็ห่างไปบ้าง เพราะเรียนหนัก แต่ก็ยังฟังเครื่องเสียงอยู่ เสียงดนตรีนี้ได้มรดกจากคุณพ่อ ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่มอบสิ่งเหล่านี้ให้กับเราผมก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไปที่ชอบเล่นลูกหินลูกข่าง แล้วก็วิ่งตามออกไปนอกถนน วันหนึ่งเกือบเกิดอุบัติเหตุ ดีที่รถเบรกทัน เสียงเอี๊ยดดังลั่น ถ้าเกิดอะไรขึ้น วันนั้นก็ไม่มีผมวันนี้ พ่อแม่ก็ต้องทำมาหาเลี้ยงเราจึงเป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้ผมเรียนดนตรี ซึ่งมีส่วนเสริมเรื่องสมาธิด้วย ทำให้เรารู้อีกภาษาหนึ่ง ภาษาดนตรีเหมือนกับภาษาจีนหรือญี่ปุ่น แนะนำสำหรับเด็กรุ่นใหม่ควรอย่างยิ่งที่ต้องมีภาษาดนตรีติดตัวมาด้วย

รับอิทธิพลจากคุณพ่อ

คุณพ่อไปทำงานต่างจังหวัด กลับมาบ้านสามสี่วันก็ไปอีก เราก็อยู่กับคุณแม่ พ่อไปหาดใหญ่ก็ซื้อแผ่นเสียงกลับมาเสมอ เขามี JVC รีซีฟเวอร์อยู่ตัวหนึ่ง มีลำโพง AR อยู่สี่ตัว วางไว้บนตู้ขายยาแล้วเปิดเสียงแบบสี่ทางที่เรียก Quadraphonic ในสมัยนั้น เพลง If ของ Bread เป็นเพลงฮิตติดหู เสียงกลองที่รัว มันหมุนวน อัศจรรย์ มันยอดมาก พ่อกลับมาพักผ่อนก็จะเปิดเพลงฟัง ท่านไม่ให้เรายุ่งนะ เหมือนเรากลัวคนงานไปทำหัวเข็มหักประมาณนั้น เข้าใจท่านเลย เราก็ด้อมๆ มองๆ เวลาท่านเปลี่ยนแผ่นหรือสลับหน้าต่อมาเมื่อเล่นๆ ไป พอหมดหน้ากินเวลาสิบกว่านาทีเท่านั้น ท่านอาจเริ่มเบื่อเพื่อเปลี่ยนแผ่น ระยะหลังก็อนุญาตให้ผมเล่น อายุก็ราวสิบเอ็ดสิบสองขวบเท่านั้น ดังนั้น เพลงทุกเพลงที่ดังๆ ในยุคนั้นก็เป็นเพลงที่พ่อเปิด ผมก็ซึมซับเพลงเหล่านั้นติดตัวมาความจริงเรามีแผ่นไม่มาก ก็เปิดวนไปมาอยู่นั่น แทร็กนี้อยู่แผ่นอะไร เพลงต่อไปเป็นเพลงอะไร รู้หมด อีกอย่างผมเป็นเด็กใฝ่รู้ ไปไหนกับพ่อ ไปต่างจังหวัดไม่เคยหลับ เราจะดูป้ายบอกทาง ซ้ายไปไหน ตรง ไปเป็นอะไร จำได้หมด ข้อสำคัญระหว่างทางคุณพ่อก็เปิดเพลงให้ฟังอยู่เสมอ

เด็กเซนต์… กับภาษาดนตรี

ผมเป็นเด็กเซนต์คาเบรียลครับ ด้วยความที่พ่อแม่ผมเรียนมาน้อย เขารู้ว่าการศึกษาทำให้ลูกดี ก็เลยส่งเสียให้ผมเรียนโรงเรียนเซนต์ฯ ฐานะอย่างเรายามนั้น ท่านคงต้องเหนื่อยต้องทำงานหนักเพื่อเราซึ่งเมื่อโรงเรียนดี เราได้สังคมที่ดี เลือดน้ำเงินขาวมันเข้มข้น ทุกวันนี้เรายังมีปฏิสันถารกัน ทั้งเรื่องส่วนตัวและธุรกิจอยู่เลยครับ

เมื่อเป็นเด็กเซนต์คาเบรียล คุณพ่อไม่มีเวลาที่จะรับส่งผมหรอกครับ โชคดีที่มีมาสเตอร์คนหนึ่งอยู่ในซอยใกล้บ้านเราซึ่งต้องเดินทางไปสอนที่โรงเรียนอยู่แล้ว คุณแม่ก็เลยพาผมไปฝากเพื่อให้เดินทางไปโรงเรียนพร้อมกับท่าน ขออนุญาตเอ่ยนามเลย ชื่อ มาสเตอร์วิชาแสงประสิทธิ์ ท่านก็เป็นวัยรุ่น ท่านฟังเพลงอีกแนวคือเพลงพ็อพ รวมถึงแนวโอลดี้ อย่าง ซู ทอมสัน, แพ็ท บูน, เอลวิส ซึ่งต่างจากคุณพ่อที่ฟังเพลงบรรเลง ลาติน เพลงจีน มาสเตอร์ก็เปิดวนอยู่นั่น ประกอบกับหลังจากห่างลูกหินลูกข่าง แล้วมาเรียนดนตรีที่สยามกลการ ผมจำทำนองจำไลน์ประสานของชิ้นดนตรีได้ แต่ผมด้อยกว่าคนอื่นตรงจำเนื้อร้องไม่ได้ ประมาณว่าธรรมชาติสร้างผมมาเป็น Musician ไม่ใช่ Singer เพราะผมเป็นนักดนตรีพอร้องได้ ร้องได้ตรงจังหวะ แต่ไม่มีทางร้องเพราะเลย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักร้องนี่ครับ นอกจากเรียนอิเล็กโทนจนได้เป็นแชมป์ของสยามกลการ เคยไปประกวดที่สิงคโปร์ จากนั้นมาเรียนเปียโนซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากที่สุด และคลาสสิกกว่าอิเล็กโทนที่เป็นเสียงสังเคราะห์ นอกจากนั้นก็เรียนเรียบเรียงเสียงประสานเพิ่ม เคยมีประสบการณ์เขียนสกอร์วงใหญ่ให้กับบิ๊กแบนด์ อาจารย์ผู้มีพระคุณ เช่น อาจารย์ประสิทธิ์ พยอมยงค์, อาจารย์ ตรอง ทิพยวัฒน์ ที่ล่วงลับไปแล้ว ส่วนที่ยังมีชีวิตและแข็งแรงดีอยู่ ท่านอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ จากนั้นก็มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเยาวชน กับน้อง (ดร.) อินธุอร ศรีกรานนท์ ด้วยครับ ที่ต้องเรียนเปียโนก็เพราะสามารถเข้าถึงงาน Standard ได้ ดูซิว่าที่ไหนๆ ก็มีแต่เปียโนทั้งนั้น ความฝันของนักดนตรีต้องได้เล่นที่ล็อบบี้บาร์โรงแรมโอเรียนเต็ลสิครับ ถือว่าสุดยอดเลยผมเคยไปเล่นด้วย ไปแทนนักดนตรีอีกคน นับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำยิ่ง

หมอที่มีอีกมุมเป็นกึ่งๆ นักดนตรีอาชีพ

รับจ็อบไซด์ไลน์เล่นดนตรีมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่เซนต์คาเบรียล ก่อนเรียนแพทย์แล้วครับ ขณะเรียน ดนตรีจึงไม่ขาดหายไปหรอก ผมเป็นนักกิจกรรมที่อาจารย์ที่ศิริราชจำผมได้ดี ผมยังเล่นดนตรีอย่างสม่ำเสมอ เราเป็นนักดนตรีที่ไปเล่นให้เขากับการที่รับงานมาเอง รับเป็นจ็อบ ก็อยากใหญ่เหมือนกัน เป็น CEO เลย เล่นดนตรีก็สนุก มีความสุข ได้เงินด้วย ตอนเรียนหมอ เรียนหนัก กดดันด้วย ถึงขั้นคิดว่าจะลาออกจากแพทย์มาเป็นนักดนตรีอาชีพ จะไปเรียนที่ Berkley College of Music เสียเลย

ที่เรียนหมอก็เพราะว่าสมัยนั้น เด็กเรียนสายวิทย์ไม่หมอก็ต้องวิศวะเท่านั้นคุณพ่อผมเป็นเซลส์ขายยาก็พบแต่หมอ เขาก็บอกว่าหมอน่ะดี มีพื้นที่ที่ใครก็รุกล้ำไม่ได้ วิชาชีพหมอ ไม่รังเกียจ แต่ก็ไม่ถึงกับรักมันนะ จนถึงวันนี้ถือว่ามีบุญที่เลือกวิชาชีพหมอ เป็นอาชีพที่ดี เรามีจริยธรรมที่จะช่วยเหลือสังคมได้ เมื่อเรามีผลงาน ฐานะทางโลกก็จะตามมาเอง

หลังจากจบหกปีของนักศึกษาแพทย์ และจะต้องต่อแพทย์เฉพาะทางตามที่แพทยสภาฯ กำหนด แต่ขณะที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ปีห้าคุณพ่อเส้นโลหิตในสมองแตกเป็นอัมพาต ผมต้องดูแลท่าน พอจบหกปีก็เลยเปิดคลินิกอายุรศาสตร์ มีคนไข้จำนวนมาก แล้วก็แต่งงานมีครอบครัว จนในที่สุดไม่ได้เรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง แต่ความรู้ไม่มีจบ ผมก็ไปเรียนเฉพาะโรคนั้น เช่น เรื่องสิว เรื่องรักษาผมบาง รวมถึงเรียนเรื่องที่หมอคนอื่นคงไม่เรียนบริหารธุรกิจ เช่น เรียลเอสเตทที่ธรรมศาสตร์

กิจกรรม

กิจกรรมนอกบ้าน อย่างถ้าศิลปินคนโปรดมาเมืองไทยก็ต้องไปดู ไม่ต้องอะไรมาก คิดถึงอาจารย์อั๋น (ปธัย วิจิตรเวชการ) อยากฟังดนตรีสดก็ต้องติดตาม Bangkok Connection เป็นวงหนึ่งที่ต้องหาเวลาไปฟัง

นักดนตรีกับเล่นเครื่องเสียง

น้อยมากที่นักดนตรีจะเล่นเครื่องเสียง และก็มีมุมมองต่างกันด้วย นักดนตรีอาจไม่เข้าใจความต้องการของออดิโอไฟล์ อย่างเช่นสายสัญญาณนี่ ก็ต้องลองสัมผัส จริงๆ มันปรู๊ฟได้ด้วยหูตนเอง เขาต้องเปิดใจก่อน

หมอเล่นเครื่องเสียง

จริงครับที่หมอเล่นเครื่องเสียงมากกว่าวิชาชีพอื่น หมอเป็นวิชาชีพที่มีโลกส่วนตัวสูง ดนตรีเป็นภาษาสากล หมอบางครั้งก็เครียดครับ ต้องฟังปัญหาของคนอื่น ต่อให้ตัวเองมีปัญหาก็ต้องเก็บไว้ในใจก่อน ต้องฟังปัญหาของคนไข้เสียก่อน ยิ่งคนไข้เป็นเด็ก ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว พอดีแม่พามาต้องคุยกับแม่ ตรวจสักพักบอกว่าต้องนอนโรงพยาบาล แม่บอกว่าต้องโทรหาพ่อก่อน พ่อบอกว่าไม่เข้าใจ ทำไมต้องนอนโรงพยาบาล ขอสายหมอหน่อย หมอก็ต้องอธิบายอีก เมื่อนอนโรงพยาบาลแล้ว ญาติมาเยี่ยม ยาย ย่ามากันอีก สงสัยอยากเจอหมออีก …มึนครับ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะบอกว่าหมอเล่นเครื่องเสียงกันเยอะ แต่เล่นกันลึกแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง หมอมีศักยภาพที่จะลงทุน เขามีทางเลือกไม่มากเหมือนอาชีพอื่น เช่น ไปในที่อโคจร อย่างเช่นเป็นหมอต่างจังหวัด มีหมออยู่คนเดียว ไปก็ไปได้ แต่เขาก็ทัก …หวัดดีหมอ! จะกล้าไปไหม เล่นเครื่องเสียงดีกว่า

วินเทจ ไฮไฟ …ไฮเอ็นด์

ตอบยากนะ ว่าเสน่ห์อยู่ตรงไหน เอาเป็นว่าพี่ธรรมนูญมีเมียสามสี่คนอยู่ในบ้านหลังเดียวกันได้ไหมล่ะครับ ได้มีหัวแตกกันบ้างล่ะ แต่ถ้าอยากได้เครื่องเสียงที่มีบุคลิกเสียงต่างกันสามชุดในบ้านหลังนี้คงไม่เป็นไร ความจริงยังมี PA อีกชุด และก็มีเปียโนจริงสองหลังด้วย 

เครื่องเสียงชุดนี้ไม่เชิงวินเทจนัก เอาแบบฟังเบาๆ คุยกัน มี JBL L300, Pathos Hybrid, Garard 301 ร้านสวนเสียงทำให้ ไม้สวยมาก ฟังง่ายๆ คุยกันรู้เรื่อง

Software

แผ่นที่เห็นมีอยู่เป็นของที่หามาสะสมใหม่ทั้งหมด ของเก่าของคุณพ่อไม่มีเหลือมาเลยสักแผ่น พอคุณพ่อป่วย แผ่นเสียงเหล่านั้นก็ไม่ได้มีโอกาสมาเล่นอีกเลย แผ่นเสียงที่มีอยู่เยอะ จะเรียกอะไรดีน่ะเหรอ ง่ายนิดเดียว แค่เห็นสันปก ส่วนใหญ่ผมจะคุ้นกับศิลปินคนนี้มานานแล้ว ถ้าไม่ทราบก็ใช้ความถ่อมตน มอบความเป็นมิตรให้เขาเขาก็ให้เราถามพี่ๆ ผู้รู้ ร้านค้าบ้าง เขาก็ยินดีที่จะบอกเราทุกวันนี้ผมไม่ต้องเสาะหาแล้วครับ พี่ๆ เขายินดีที่จะจัดหามาให้ผม 

วงการไฮเอ็นด์ 

มาเล่นชุดเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ชุดใหญ่ด้านบน ที่เห็นอยู่นั้นก็ราวสี่ปีนี่เอง ตอนนั้นไปเดินงาน BAV HI-END SHOW ที่ทางปิยะนัสไปออกงานที่โชว์ ด้วย Focal Grand Utopia ก็เลยติดกับร้านปิยะนัสตั้งแต่บัดนั้น เราชอบเครื่องเสียง เดินงานเครื่องเสียงก็ต้องเดินทุกห้อง แต่ห้องปิยะนัสมีความอบอุ่น มีมิตรภาพ เขาป็นศูนย์รวมของลูกค้าที่มีประสบการณ์ในการลองผิดลองถูกมาก่อน ผมก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก copy เลย เห็นไหมว่า Focal, Octave, Transrotor, A Arts ขาดแต่ the Beast เท่านั้น ไม่ต้องพูดหรอกว่าเขามีอะไรใหม่บ้าง ผมรู้หมด ไอ้เจ้า REL ที่มาใหม่นี่ ทำให้ฟังเพลงที่มีไดนามิกส์ได้ดี หาใช่เพลงพื้นๆ มีเสียงกลองทิมพานี เบสลงลึก แผ่ลง พื้นที่ลำโพงทั่วไปทำไม่ได้ วันนั้น น้าอ้อมือหนักไปหน่อย ทดสอบดูหนัง ทำเอาผมต้องถูกเพื่อนบ้าน โทรมาขอร้องว่าสะเทือนไปถึงบ้านเขาเลย ตัวเก่าเปิดมาสามปียังไม่เคยโดนเลย ไม่รู้มันดีหรือเปล่า ..ฮา

ให้น้ำหนักอย่างไร 

งานเป็นหลัก ความสุขของครอบครัว ต้องเรียบร้อย สุขภาพเราเอง สุขภาพทางใจก็สำคัญ อารมณ์ดีฟัง เพลงก็เพราะ ถ้ามันมีปัญหาฟังเพลงยังไงก็ไม่เพราะ ไม่อยากเข้าไปในห้องนั้นเลยด้วย เชื่อไหมว่าอารมณ์ดีมีตังค์ สุขภาพดี ปิยะนัสขายของได้แน่ เปียโนต้องซ้อม จริงอยู่ถ้าไม่ซ้อมยังไงก็เล่นได้ แต่อาจจะเล่นไม่ดี เพราะมันติดตัวผมมานานมากแล้ว มันเป็นอีกภาษาหนึ่งในตัวผม 

ฝากถึงมือใหม่ 

จะเล่นเครื่องเสียงต้องมีความสุขก่อน มีปัจจัยน้อยก็เริ่มน้อยๆ ฟังแล้วมีความสุขก็เล่นได้ ถือว่าผ่าน ถ้าเล่นแล้วไม่มีความสุขจะเล่นทำไม แนะนำให้ วางแผนก่อนว่าจะเอาไปตั้งไว้ตรงไหนในบ้าน ถ้าเราสามารถพาคนที่เราปรึกษามาที่บ้าน เราก็ควรทำนะ อย่าลืมว่าเวลาเราไปฟังที่ร้าน มันเพราะในที่ตรงนั้น แล้วถ้าซื้อกลับมาบ้าน มันจะได้หรือเปล่าแอมป์กับลำโพง ต้องไปด้วยกัน เลือกยากว่าจะเอาอะไรก่อน เหมือนเลือกระหว่างน้องเมียหรือเมียเลย 

ทิ้งท้าย 

ผมว่าทุกวงการ เราเป็นน้องใหม่ ต้องหากัลยาณมิตร ต้องคบหาคนดีที่มีความจริงใจ จะรู้ได้ยังไงว่าคนนั้นดี หรือเชื่อถือได้ ชื่อเสียงในวงการ ยอมรับกันเพียงไร ดูคนขายที่น่าเชื่อถือ ศึกษาค้นคว้าเองด้วยนะ แล้วค่อยประมวลผลด้วยตัวเอง อย่างหนังสือออดิโอไฟล์ก็เป็นแหล่งความรู้ที่มีครบ ทุกด้านมี ดร.ชุมพล, คุณธรรมนูญ และนักเขียนท่านอื่นๆ เขียนถึงเรื่องราวหลายๆ ด้าน การเซ็ตอัพลำโพง การเลือกซื้อเครื่องเล่น ทดสอบสาย รวมถึง ความรู้ในแวดวงเครื่องเสียง มีครบ เมื่ออยู่บ้านมีเครื่องเสียงมีแผ่นก็หัดฟัง ข้อสำคัญที่ไม่ควรพลาด คือ งานโชว์เครื่องเสียงก็ต้องเดินให้คุ้มเขาตั้งใจจัด คนจัดงานนี่เหนื่อยนะครับ ลงทุนเสียเงินจัดงาน แต่ละร้านเซ็ตกันสองวันก่อนเริ่มงาน อุปกรณ์ค่าสายกี่สิบล้านกัน อย่างปิยะนัสจองห้องสุขุมวิท 5 ชั้น 3 ทุกปี ปิยะนัสและร้านอื่นๆ ต้องเสียเงินค่าเช่าห้องค่าขนของไปจัดให้ฟัง ส่วนผมฉลาดกว่าปิยะนัสอีก ก็แค่ขับรถติดแอร์สบายใจไปฟังฟรีๆ… จะไม่ไปเหรอ สูจิบัตรงาน BAV HI-END SHOW เล่มนี้มีคนสักกี่คนที่อ่านทุกหน้าทุกตัวอักษร จำได้ หมดว่าห้องไหน อยู่ชั้นอะไร วันไหนมีอะไร งานโชว์ดีๆ เช่นนี้ไม่ไปได้ยังไง… เราก็แค่มาฟังฟรี ฟังกี่วันก็ได้ สุดท้ายขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่ให้ความรู้ และให้ความรักความจริงใจกับผมจนมีผมวันนี้. ADP 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 235