ประมาณสิบปีที่ผ่านมา นิตยสาร AUDIOPHILE/VIDEOPHILE มีโอกาสได้ไปเยี่ยมห้องฟังของ อาจารย์สิทธิชัย เพ็งเจริญ นักไวโอลินชั้นแนวหน้าของวงการดนตรีคลาสสิกเมืองไทย มาแล้วครั้งหนึ่ง 

ในตอนนั้นต้องยอมรับว่าคาดไม่ถึงทีเดียวที่พบว่ามีนักดนตรี คลาสสิกเล่นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ด้วย 

กาลเวลาผ่านไปอีกราวๆ ทศวรรษ วันนี้ซิสเต็มเครื่องเสียงของ อาจารย์สิทธิชัย เพ็งเจริญ ก้าวมาสู่ในจุดที่มีความหลากหลายในเรื่องของแหล่งโปรแกรมต้นทางทั้งระบบอะนาล็อก และดิจิทัล ขณะเดียวกันก็บรรลุถึงศาสตร์ของการแม็ตชิ่งระหว่าง ภาคขยายปรีแอมป์-เพาเวอร์แอมป์และปลายทางคือลำโพง 

นี่อาจเรียกได้ว่า ประสบการณ์และความเข้าใจความต้องการของตัวเอง คือเครื่องมือนำพาให้มาถึงจุดที่ลงตัวระหว่างคุณภาพเสียงที่พอใจ กับการทุ่มเทลงทุนอย่างพอดีๆ 

ADP: ขอย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ตอนที่มาเยี่ยมห้องฟังของอาจารย์ ครั้งที่แล้วก็นานมาก เกือบ 10 ปี ถัดจากซิสเต็มนั้น ก่อนจะมาเป็นซิสเต็มนี้ เปลี่ยนไปเยอะไหมครับ 

อ. สิทธิชัย: แทบจะจำไม่ได้ครับ (หัวเราะ) เพราะว่าเปลี่ยนเยอะ ตอนที่ทำห้องฟัง จริงๆ เจตนาอยากทำเป็นห้องซ้อมและห้องสอนด้วย คิดว่าเอาเครื่องเสียงสวยๆ และก็จบ ไม่อยากจะไปเล่นอะไรเยอะๆ ปรากฏ ว่ามายังไงไม่รู้ แต่ว่าไม่ได้เปลี่ยนทีเดียว เปลี่ยนทีละชิ้นๆ อะไรอย่างนี้ ก็เกือบ 10 ปี 

ADP: ในการเปลี่ยนแต่ละครั้ง เครื่องที่เปลี่ยนเข้ามา อาจารย์มีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไรครับ 

อ. สิทธิชัย: แรกๆ ผมซื้อเพราะว่าเลือก McIntosh เพราะหน้าปัดมันสวย ถามว่าเราฟังเป็นไหม คือเราก็เป็นคนเล่นเครื่องเสียงเล่นดนตรี ด้วยกันมาตลอด แต่เราไม่คิดว่าจะเอาเงินมาลงกับการเล่นเครื่องเสียงเยอะแยะ กะว่าเอาที่สวยๆ เพราะๆ แต่มาฟังแล้วก็อดจับผิดโน่นนี่ไม่ได้ จุดนั้นจุดนี้ก็ไม่ดีพอไปกันใหญ่เลยทีนี้ ก็เริ่มจากเปลี่ยนลำโพงจาก ProAc D15 ไปนู่นเลย Sonus Faber: Amati Palladio ตอนนั้นก็แพงมาก ผมซื้อมือหนึ่งจาก KS ก็คิดว่าจบ เพราะหลายๆ อย่างผมมีหลักว่า นอกจากเสียงดีแล้ว ต้องสวย ตอนนั้น Amati ตอบโจทย์ เพราะสวยมาก มันเป็นไม้ ก็เข้ากับเครื่องดนตรีที่เราชอบที่เราเล่นอยู่ ฟังแล้วเสียงไวโอลินก็เสียงดี อย่างอื่นไม่ค่อยน่าพอใจ แต่โอเคแหละ เอาเสียงไวโอลินให้ดีที่สุดไว้ก่อน ก็อยู่กับลำโพง แล้วคนเล่นเครื่องเสียงเขาจะรู้ว่า ถ้าไม่ใช่หรือตรงนี้ยังไม่พอ ก็เปลี่ยนแอมป์ เปลี่ยนอะไรไปเรื่อย (หัวเราะ) แต่ว่าแต่ละครั้งที่เปลี่ยน เริ่มคิดว่า ถ้าเราเปลี่ยนอย่างนี้บ่อยๆ เปลืองมาก แล้วก็ไม่จบแน่ๆ เลยต้องคิดว่าจะ ซื้ออะไรที่ขายได้ไม่ขาดทุน ทีนี้ในเรื่องของทุนของอะไรก็เอามาเกี่ยว ตัวไหนมันดีจริงๆ มันหาไม่ได้ ตรงนี้โจทย์ของเราแต่ละคนไม่แน่นอน แต่ว่าเริ่ม เข้าใจอย่างหนึ่ง ทำไมคนถึงเล่นวินเทจ แล้วก็ซื้อย้อนยุค เพราะว่าถ้าเราไปตามตลาด หนึ่ง… ไอเดียในการออกแบบจะเปลี่ยนไปตามการผันแปรของ ทั้งแฟชั่น ทั้งหลายๆ อย่าง หลายอย่างที่เป็นรุ่นใหม่กลับสู้รุ่นเก่าไม่ได้ เราเริ่มเข้าใจเรื่องหลักการตลาด จะซื้ออะไรเราคิดหนักมาก และก็ศึกษาข้อมูลจากนักเล่นด้วยกัน แล้วเราก็ลองฟัง อันไหนเข้ากับแนวเรา ก็ไปเล่นแอมป์หลอดอยู่พักหนึ่ง เพราะว่าหลังจากเล่น McIntosh รู้สึกว่าต้องมา Jadis ต้องมา Manley แล้วก็ไปสุด อาจจะไม่สุดของหลอด แต่ว่าเท่าที่เรา จะหาได้ แล้วก็งบประมาณเราสู้ไหว มันก็ขาดอะไรหลายๆ อย่างที่หลอด ไม่มีเลยเริ่มสนใจมาเล่นทางโซลิดสเตท แล้วศึกษาว่าอะไรที่มันสุดของโซลิดสเตท สมัยเราเด็กๆ เราไม่กล้าเดินเข้าไปด้วยซ้ำมองอยู่ข้างนอก เมื่อก่อนไฮเอ็นด์สุดๆ ก็คือ Cello ก็เลยไปหาฟัง ปรากฏว่า โห!!! นี่ใช่เลย อย่างที่ชุดเราขาด ก็ไปได้ Cello มา พวกแอมป์ก็มาจบที่ Cello ครับ 

ADP: แอมป์ Cello จะมาก่อนลำโพง 

อ.สิทธิชัย: ระหว่างนั้นผมจะลำดับไม่ค่อยถูก เพราะว่าจำได้ว่า ชุด Amati กับหลอด รู้สึกว่ามันทู่ เราก็ไปโทษหลอด แล้วก็มารู้ทีหลังว่า Sonus เป็นอย่างนี้ พวกอิตาเลียนเบสมันทู่ๆ แล้ว Sonus ก็ได้ เสียงกลางๆ ประมาณนี้ ก็รู้สึกว่า Sonus ไม่จบ แล้วทำไง ต้องการความใส ก็ไปนู่นเลย ริบบ้อนเลย บางคนเขาบอกว่าต้อง Infinity ที่สุดแล้ว เป็นตำนาน ผมก็ไปเจอ Infinity IRS Beta ก็ใช่ ก็ตอบโจทย์อีก แต่แอมป์ไม่พอ เลยเริ่มมองหาโซลิดสเตท ก็ได้ Cello มา ก็โอเค! ใช่ ก็อยู่กับ Cello มานาน ทั้งแอมป์ทั้งปรีแอมป์มาใกล้ๆ กัน Infinity ก็ตอบโจทย์อยู่นาน หลายปีเหมือนกัน ปรากฏว่าริบบ้อนเสีย เดือดร้อนอีก (หัวเราะ) ซ่อม เขาบอกซ่อมไม่จบ ตัว Emit พวกตัวเล็กๆ ยังพอได้ หาอีเบย์ได้ แต่ตัวแผ่น ใหญ่ๆ ที่เป็นเบส มีช่างเก่งๆ ซ่อมก็จริง แต่ว่ามันไม่เดิม แล้วก็เสียงไม่ clean เท่าเดิม ผมเริ่มเครียดอีก เราจะรู้กันว่า เรื่องเครื่องเสียง ถ้ามันนิดๆ หน่อยๆ ถ้าเราไม่สบายใจ โอ้โห! อยู่ไม่ได้ครับ 

ลำโพง เราก็ยังชอบแนวริบบ้อนแบบ Infinity อยู่ ทำให้นึกถึงว่า ถ้าจะเปลี่ยน Infinity ก็คงไปไม่รอด เพราะว่าเรื่องของทั้งเวที ความใหญ่ เวลาฟังออร์เคสตร้า ดูลำโพงในท้องตลาดแพงมหาศาลขนาดไหนก็ไม่ใช่ แต่ว่าไปนึกถึง MBL ซึ่งตามงบเราไม่เล่นอยู่แล้ว ปรากฏไปเจอมือสอง โชคดีเจอมือสอง ก็เลยลองดูว่า ถ้าขาย Infinity แล้วเพิ่มเงินประมาณนี้ เราพอใส่ลูกบ้าได้ คือผมคิดหลายอย่างแล้ว ขายแล้วไม่ขาดทุน เพราะว่า เราเล่นไปเรื่อยๆ ถ้าเล่นแล้วราคาตก ไม่ไหว เราเอาเงินไปทุ่มกับสิ่งที่เรารัก แต่ส่วนที่บริหารการเงินเนี่ย ไม่สมเหตุสมผล หลายเรื่องที่ผมเสียเงินเยอะ คือ ที่หลักๆ คือ… หนึ่ง เครื่องดนตรีไวโอลินกับคันชัก นี่เท่าไหร่เท่ากัน เท่าที่สามารถหามาได้ จากนั้นก็มีเรื่องเครื่องเสียง เพราะเพื่อนๆ นักดนตรี เขาไม่มีใครเล่นเครื่องเสียงขนาดเรา เพราะว่าเขาฟังถูกๆ เขาก็ได้ยิน นี่อาจจะเป็นมุมหนึ่งที่คนฟังเพลงคนเล่นเครื่องเสียงอาจจะสนใจก็ได้ ว่านักดนตรีนี่ได้ยินอะไรมากกว่าเสียงดนตรี มันมากกว่าตรงที่ว่าเราเรียนมา แล้วเราได้ยินในแง่ที่เราฟังด้วยความรู้ที่เราเรียนมา ประสบการณ์การเล่นดนตรี บางอย่างเสียงมันอยู่ตรงหน้าเนี่ย แต่คนฟังเพลงที่ไม่ได้รู้เรื่องเพลงก็ไม่ได้ฟัง ไม่ ได้ยิน เพราะว่าฟังแล้วก็ผ่านไป ในขณะที่ใช้เครื่องเสียงแพงๆ สามารถออกมาทุกอย่างในเรื่องรายละเอียด นักฟังเพลงอาจจะไม่ได้ยิน เพราะไม่รู้ว่าจะ ฟังตรงไหน แต่ว่านักดนตรีบางทีเสียงมันแทบไม่ได้ยิน แต่ด้วยการที่เราเรียน มันก็เลยได้ยิน สมมติว่าเพลงที่เราเคยเล่นมาในวง แล้วเรารู้ว่าเครื่องไหนมา ตอนไหน เสียงมันริบหรี่อยู่ในแผ่น แทบจะไม่ออกมา แต่เราได้ยินไอ้มุมนี้ จะไปเถียงว่าใครรู้มากรู้น้อย มันก็จะเถียงกันไม่จบ เพราะว่านักเล่นเครื่อง เสียงก็จะได้ยินหลายอย่างที่นักดนตรีไม่ได้ยิน สมมติว่า เขาไปได้ยินในมุมที่เรียกว่า เครื่องนี้ให้เบสในบุคลิกนี้ เสียงกลางบุคลิกนี้ เสียงร้องบุคลิกนี้ นักดนตรีก็ได้ยินเหมือนกัน แต่อาจจะไม่สนใจเลย เพราะในมุมที่เขาฟังกับที่เขาเล่นดนตรี มันรู้อยู่แล้วว่า แหล่งกำเนิดเสียงยี่ห้อนี้ เสียงต้องเป็น อย่างนี้ อะคูสติกส์ในห้องนั้น เสียงต้องเป็นอย่างนี้ แต่เขาจะไม่รู้ว่า แอมป์ยี่ห้อนี้เสียงเป็นอย่างนี้ ลำโพงยี่ห้อนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ ก็เถียงกันไม่จบ ก็จะไม่เกทับกันว่า ใครรู้มากกว่าใคร เพราะถ้าเรื่องเครื่องเสียง ผมก็ต้องถามนักเล่นเครื่องเสียง หรือคนขายมากกว่า แต่ไปไหนเขาก็จะให้เกียรติว่า เป็นนักดนตรีต้องได้ยินมากกว่า ซึ่งผมจะรู้สึกว่า ไม่ใช่ขนาดนั้น 

เครื่องเล่นแผ่นเสียง MICRO RX-5000 

ADP: นักดนตรีจะฟังในแง่ของเสียงที่เป็นดนตรี 

อ.สิทธิชัย: ในความหมายทางดนตรี คือสิ่งที่เราได้รู้สึกตามการเล่น ตามธรรมชาติของเครื่องดนตรีต่างๆ และระดับฝีมือของแต่ละคน สไตล์การเล่นของแต่ละคน และในความหมายที่นักแต่งเพลงสื่อสารมาผ่านนักดนตรี จะเป็นในลักษณะนี้มากกว่า 

ADP: ไม่ได้ฟังแบบคนเล่นเครื่องเสียงที่บอกว่า เบสกระชับ เห็นโน้ต เป็นเส้นๆ 

อ.สิทธิชัย: ซึ่งมันก็ได้ยินอย่างนั้นแหละ แต่ภาษาที่เราพูดให้ ความสำคัญอาจจะไม่ตรงกันเท่าที่ควร เพราะว่าบางทีนักเล่นเครื่องเสียง ก็บอกว่า ชุดนี้ให้เบสกระชับ ชุดนี้เบสอ่อน ห้องนี้เบสบูม อะไรอย่างนี้ 

ADP: นักดนตรีจะไม่ค่อยไปสนใจตรงนั้น 

อ.สิทธิชัย: จริงๆ ก็ไม่เชิงถึงกับไม่สนใจ สมมติเข้าไปเล่นในฮอลล์ ไหนที่เสียงมีแต่เบสอย่างเดียว เสียงกลางไม่ค่อยออก แหลมไม่ค่อยกังวาน อะไรอย่างนี้ ก็ได้ยินเหมือนกัน เรื่องเดียวกันทั้งหมด เพียงแต่ว่าอธิบายคนละประเด็น เพราะว่าจุดที่เราทำงานอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย ก็สนุกดี พอเป็นนักดนตรี เพื่อนทุกคนที่เล่นดนตรีก็จะสนใจเครื่องเสียง เพราะไม่เคยฟัง ก็เลยทึ่งว่า มันจำลองอะไรมาได้ขนาดนี้เลยเหรอ เครื่องเสียงทำได้ขนาดนี้ เลยเหรอ มันสนุก ทุกคนก็ต้องชอบเครื่องเสียง นักดนตรีทุกคนชอบ เครื่องเสียงแน่นอน แต่เหตุผลในการลงทุนกับเครื่องเสียงจะแตกต่างกัน 

ลำโพง MBL ก็ตอบโจทย์ในแง่ความโปร่ง ความใส ความสด แล้วก็ต้อง จูนไม่ให้บาดหู เพราะริบบ้อนเสี่ยงมาก เมื่อใช้กับโซลิดสเตทอย่าง Cello เรื่องเวทีเสียง เรื่องอะไรทุกอย่างเพอร์เฟ็กต์ แต่ว่าเอาอะไรไปจูนไม่ให้ คมไป ไม่ให้มันแห้ง ห้องด้วย สายต่างๆ ทุกอย่างเราก็ค่อยๆ ลองนู่นลองนี่ จนกระทั่งได้จุดที่เราลงตัว 

ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็มีคนบอกว่าจะให้สุดก็ต้องไปที่ Micro แต่รุ่น 1500 ก็ไม่เท่าไหร่ ส่วนรุ่น 5000 ราคาพอสู้ไหว แต่ 5000 Air ตอนนั้นไม่มีของ พอไปเจอก็เป็นช่วงที่ราคาขึ้นมาเกือบเท่าตัว จริงๆ สมัยนั้น ราคาของ 5000 Air เมื่อเทียบกับตัวธรรมดาต่างกันไม่เท่าไหร่ พอเรามาเล่น Micro ช่วงที่เขาซื้อเก็บกันหมดแล้ว มันก็เลยหารุ่น Air ไม่ได้ คนเล่นบางคนเชียร์ว่า ถึงพี่มี Air พี่ก็จะไม่ชอบหรอก Air มันลอยๆ มันสู้ตัวดั้งเดิม ไม่ได้ ก็พูดมีเหตุผลเนอะ ในทางทฤษฎีมันคงจะได้สะอาด แต่น้ำหนักมันน่า จะสู้ไม่ได้จริงๆ แต่เราก็ไม่เคยเล่น เรามีอย่างนี้ เราก็โอเค เติมสุดเลย หาแอ็กเซสโซรี่ส์อะไรได้ที่หายากๆ เจอจากอีเบย์ก็เก็บมาทีละเล็กละน้อย ก็ค่อนข้างเต็ม เปลี่ยนขาเป็นเท่ารุ่น 8000 เปลี่ยน Ring รอบๆ มัน เพื่อให้ หนักแน่นขึ้น เสียงมันก็ดีขึ้นเป็นชั้นๆๆๆ จริงๆ ก็แฮปปี้ แล้วพอไปเจอ Air อีกที จะ bid มา หรือจะเอาเข้ามาจากญี่ปุ่นก็ไม่เอา ไม่สู้ เกือบล้าน ก็ไปเล่นหัวเข็ม เล่นอะไรไปเรื่อยๆ 

ADP: โทนอาร์มเป็น SME 12 นิ้ว 

อ.สิทธิชัย: 12 นิ้ว เราก็เจอไปเรื่อย ก็ได้ SME 3012R แต่ว่าเป็น ตัว Black ตัว Gold ตัว Limited ได้มา 2 ชุด ชุดหลังได้แบบ NOS มา ยังไม่ได้แกะกล่องเลย ดีใจมาก เห็นแล้วตะครุบ อดไม่ได้ แต่พอมาอยู่กับเรา นานๆ มันก็เท่านั้น เพราะรู้สึกว่าเป็นของที่เราอยากได้ พอได้แล้วเรา ก็วางไว้ หมดความอยากได้ ในที่สุดผมก็ค่อยๆ ย่อยระบบ กลับมาระบาย ของที่ไม่ได้ใช้ แล้วก็ให้คนที่เขาอยากเก็บ ยังมีอารมณ์ที่อยากเก็บ อะไรที่ซ้ำๆ แล้วปล่อยหมด ก็เลยเหลือเท่าที่จำเป็น แล้วก็เท่าที่เราอยากเก็บจริงๆ 

ADP: หัวเข็ม Cello 

อ.สิทธิชัย: หัวเข็ม Cello คือเราเล่นแอมป์ Cello อยู่แล้ว แล้วก็ พวกเซียนทั้งหลายเขาบอกว่า ถ้าเล่น Cello ก็ต้องหาหัวเข็ม Cello ด้วย เพราะว่าหัวเข็มที่ดีที่สุดในโลกอันหนึ่งคือ Cello นอกเหนือจาก Koetsu เราก็มีแล้ว แต่รุ่นท็อป เรายังไม่มี เพราะว่าเราไม่สู้ราคา เคยทำท่าจะซื้อมา คือเมืองนอกบางทีจังหวะที่ได้ถูกกว่าบ้านเราก็มี ไม่ถึงแสน แต่เราก็รู้สึกว่า เริ่มเห็นการเล่นเครื่องเสียงเป็นเรื่องเท่าที่เราพอใจจริงๆ เหมือนกับ ทุกๆ เรื่อง พอถึงจุดหนึ่งแล้วเราพอใจกับมัน แล้วก็จบ แล้วก็อยู่ตรงนั้น 

ADP: ก่อนหน้านี้ยังมีความอยากอยู่บ้าง 

อ.สิทธิชัย: ใช่ มีความอยากในแง่ที่มันเลยความเป็นดนตรีไปแล้ว เพราะว่าจะไปเอาอะไรกันนักกันหนา ถ้าเราอยากฟังดนตรีจริงๆ เราเล่นอยู่ ทุกวัน (หัวเราะ) เราก็อยู่ในฮอลล์ทุกวัน แล้วเราก็รู้สึกว่า มันจำลองมาได้ถึง จุดหนึ่ง มันจบได้ ถ้าเราไปจู้จี้กับมัน มันไม่จบ มันก็จะเพิ่มนู่นเพิ่มนี่ แต่จะ เห็นว่า งบประมาณมันไปเรื่อย แล้วก็ถึงจุดหนึ่ง เงินเพิ่มจริงๆ แต่ว่า สิ่งที่เพิ่มมาไม่จำเป็นต้องดีกว่า ในหลายๆ สถานการณ์เพิ่มมาแล้วแย่ลง ตัวที่เป็นรุ่นท็อปกลับเสียงสู้รุ่นเก่าไม่ได้ ที่เป็นรุ่นรอง เราก็เริ่มจับจุดได้ ข้อสรุปว่า เล่นเครื่องเสียงมันจบที่ความพอใจกับรสนิยมส่วนตัวจริงๆ เพราะความต้องการของคนมันไม่มีสุด ตามไปเรื่อยๆ มันก็เท่านั้น 

ADP: อาจารย์เริ่มสนใจ Open reel เมื่อไหร่ครับ 

อ.สิทธิชัย: จริงๆ เราสนใจเพราะว่า ตอนหลังเขาเริ่มกลับมาฮิต เทิร์นฯ แล้วก็ไปตามร้านที่เขาเล่น Open reel โห อะไร ไปกันใหญ่แล้ว เรื่องของอะนาล็อกต้องย้อนไปถึง Open reel ว่ามันดีกว่ายังไง เมื่อก่อน เราทำงานในห้องอัดเสียง ไปอัดเสียงอะไรต่ออะไร เราก็เห็นอยู่ แต่เราก็ไม่ คิดว่าจะมาอยู่ในห้องฟัง ก็เริ่มสนใจ เพราะว่าได้ฟัง โอ้โห เนื้อนี่ มันให้อะไร ที่ดิจิทัลกับเทิร์นฯ ให้ไม่ได้ ก็เริ่มคลานใหม่ (หัวเราะ) เริ่มต่อยอด ก็ทุ่มเล่นเทิร์นฯ ขนาดนี้เนี่ย เฮ้ย น่าสนใจ เครื่องมันถูกกว่าหัวเข็มอีก แต่มันไปตาย ที่ม้วน ม้วนดีๆ ถ้าเป็นม้วนตลาดสมัยก่อนสภาพดีๆ หายากมาก แล้วก็ไม่ถูก บิดอีเบย์สักพัก ตอนหลังมันบล็อกพวกแผ่นซีดีหรือแผ่นเสียง พอสั่ง บ่อยๆ เขาจะบล็อกไม่ส่งบ้านเรา เพราะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ต้องอาศัยร้าน ที่เขาเอามา ก็ไม่พอ ต้องเป็นม้วนมาสเตอร์ ม้วนมาสเตอร์ม้วนละหมื่นกว่า บาทขึ้นไป เราเล่นอยู่ 4 – 5 ม้วน เรารู้สึกว่า โอเค มันมีเสียงเรเฟอเรนซ์ไว้ ในห้อง แต่ว่าเวลาฟังเพลงจริงๆ เราจะฟังเพลงที่อยากฟัง ปรากฏว่ามันไป อยู่ในซีดีเสียงแย่ๆ แต่ว่าศิลปินสุดยอด หรือว่าอยู่ในยูทูบที่เราหาฟังไม่ได้ แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องของดนตรีกับเรื่องของเครื่อง ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ไปตามเครื่องเท่าไหร่ก็ไม่จบ บางทีก็ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราหาในเรื่อง ของดนตรี ก็จบเรื่องเครื่องเสียง รู้สึกว่าอะไรที่พอเราอยากได้ เราอยากสะสม เรามีพอแล้ว อะไรที่เป็นส่วนเกิน เราขายได้ข้อสรุปตรงนั้น 

ADP: นอกจากนั้น อาจารย์ก็ยังเล่น Digital Source ด้วย 

อ.สิทธิชัย: ดิจิทัลก็เล่นด้วย แต่ว่าที่จริงไม่เคยคิดว่าจะมาลงทุนกับ ดิจิทัลแพง แต่สารภาพว่าที่ซื้อ dCS เพราะไปเห็นรุ่น Paganini เราเป็น นักไวโอลิน ชื่อ Paganini เป็นนักไวโอลินในตำนาน เราก็คิดว่า ชื่อมันล่อใจ มากเลย (หัวเราะ) แต่เดิม เราไปได้ Audio Analogue ซื้อเพราะเหตุผล เรื่อง… ชื่อ รุ่น Paganini สมัยก่อน หมื่นกว่าบาท แล้วมันก็สวยด้วยนะ เป็นตัวถังบางๆ แล้วก็เป็นอะลูมิเนียมทั้งตัว เสียงก็โอเค ก็ไปอัพเกรดเป็น รุ่น Maestro ตอนนั้นกลับมาเล่นใหม่ๆ แล้วมันเสียง่าย ก็เลยเปลี่ยนอะไร ต่ออะไร จำแทบไม่ได้แล้ว แล้วเขาบอกว่า Esoteric ได้รายละเอียด ได้อะไร สไตล์ญี่ปุ่น แต่ DCS มันได้เนื้อ ก็ไปเปรียบเทียบฟังของจริง แล้วพอดีพี่วินัย (Deco 2000) มีของเดโม ซึ่งเห็นอยู่นานละ เราก็ไปถามราคา แล้วเรา ก็ไม่เอา เพราะไม่คิดจะเล่นเยอะขนาดนั้น จนวันหนึ่งมันถึงจุดที่หยุดนิ่ง แล้วเราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! นิสัยคนเล่นเครื่องเสียง อะไรต่อดี เหลืออย่างหนึ่ง Paganini ยังติดอยู่ในใจ ก็ไปแหย่ๆ พี่วินัย พี่คิดเท่าไหร่ เพราะว่าผมกับ พี่วินัยก็สนิทกันตั้งแต่สมัยทำงานกับอาจารย์ดนู วงไหมไทย สมัยนั้นพี่วินัย ยังไม่ขายเครื่องเสียง ก็ไปทัวร์ไหมไทยต่างจังหวัดด้วยกัน พี่วินัยก็เป็น ผู้ติดตาม ไปอยู่ในทีมที่เป็นคนรักดนตรี ไปทัวร์ต่างจังหวัดด้วยกัน รู้จักกัน ตั้งแต่สมัยยังไม่ขายเครื่องเสียง วันหนึ่งพี่วินัยมาขายเครื่องเสียง ก็คุยกันมา ตลอด เลยไปแหย่แกบอกว่า เต็มที่เท่าไหร่ แกให้ราคามาซึ่งพิเศษมาก ผมก็โอเค สู้ แต่ว่าขาดทรานสปอร์ต ซึ่งเราต้องเอาเข้ามาเอง ถึงจะครบ 4 ชิ้น ก็กลายเป็นมาจบที่ Paganini

ADP: เซ็ตดิจิทัล อาจารย์เล่นซีดีเป็นหลัก 

อ.สิทธิชัย: ซีดีเป็นหลัก แล้วก็มีไฟล์เพลงด้วยครับ 

ADP: ไฟล์เพลงเล่นจากไหนครับ 

อ.สิทธิชัย: เล่นจาก Fidelizer ตอนนั้นเราก็ดูว่า รีวิวดี แล้วก็อีก อย่างหนึ่ง เราไม่ได้อยากเก็บแผ่นแพงๆ ที่เขาเล่นกัน 4 – 5 พัน ถึง 2 หมื่น อะไรอย่างนี้ เราไม่เล่นอย่างนั้นอยู่แล้ว บางแผ่นเรามีของเก่าเก็บไว้ โชคดี ซื้อตอนยุคที่ออกมา ก็เลยซื้อ Fidelizer ปรากฏว่าลองแล้วเสียงดีด้วย ก็เลยเก็บ เทียบกับของนอกซึ่งราคาแพงกว่าเท่าตัว เราก็เลือกอันนี้ดีกว่า แต่ก็ต้องอัพเกรดอย่างนู้นอย่างนี้ เติมเข้าไป เสียงดีขึ้นเรื่อยๆ เลยเปลี่ยน เพาเวอร์ซัพพลาย ก็ยาวอยู่ดี แต่ว่าได้โทนเป็นที่น่าพอใจ เพราะว่าบุคลิก ของไฟล์เพลงกับซีดีมันคนละอย่าง มันลื่นอีกแบบหนึ่ง ผมก็ไม่สามารถ สรุปได้ แต่มันคนละอย่าง บางอัลบั้มเปิดจากซีดีเสียงดีกว่า บางอัลบั้ม เปิดจากไฟล์ดีกว่า 

ADP: อาจารย์ฟังดนตรีคลาสสิกเป็นหลักหรือเปล่าครับ 

อ.สิทธิชัย: ส่วนใหญ่เล่นเครื่องเสียงเราฟังเพลงคนเล่นเครื่องเสียง ฟัง ฟังแจ๊ส ฟังออดิโอไฟล์ ฟังทุกอย่างซึ่งเราชอบ เพราะว่าส่วนใหญ่ เทสต์เรเฟอรเรนซ์เนี่ย มันจะรวม มันก็มีทุกอย่างมาเลย เป็นเพลงซึ่งปกติ คนคลาสสิกไม่ค่อยฟัง เวลาเพื่อนคอนดักเตอร์ที่เล่นเครื่องเสียงมาเยี่ยมบ้าน ก็บอกว่ายูฟังอะไร พูดเหมือนดูถูกเรา แต่เราไม่รู้สึก เพราะเราอยู่กับเครื่อง เสียงแล้ว เราก็เป็นปกติ แต่ถ้าในมุมของคนเล่นดนตรี ก็จริง นักร้องบางคน นี่นี่ร้องไม่ได้เรื่องเลย แต่เสียงอัดมาดี แผ่นดังๆ เลยนะ นักดนตรีฟังแล้วรู้ เลย นักร้องคนนี้ร้องเพี้ยน แล้วร้องไม่ได้เรื่องเลย แต่ไปอัดกับสังกัดที่บันทึก เสียงดี อัดด้วยเครื่องหลอด ซึ่งเสียงออกมาดีจริงๆ เขาฟังกันอย่างนี้ แต่ถ้า มานั่งเอ็นจอยในเรื่องของเพลง เรื่องของการฟังเพลงทั่วไปจริงๆ เราก็ไม่ฟัง เราก็ไปฟังคลาสสิก ซึ่งบางทีอัดไม่ค่อยดี มันหาจุดที่ร่วมกันยากมาก จริงๆ คนเล่นเครื่องเสียงก็จะรู้ แต่เราก็ซื้อ เพราะว่าเทคโนโลยีมันอัดมาดี สุดยอด 

ADP: อาจารย์มีอะไรจะฝากถึงผู้อ่านบ้างครับ จากประสบการณ์ที่ อาจารย์ได้ผ่านมา 

อ.สิทธิชัย: ประสบการณ์เล่นเครื่องเสียงก็สอดคล้องกับดนตรี ผมว่าคงไม่มีใครเล่นเครื่องเสียงก่อนฟังเพลง แล้วก็คงไม่มีใครเล่นเครื่องเสียง โดยที่ไม่ชอบดนตรี แล้วก็คงไม่มีใครเล่นเครื่องเสียงโดยที่ไม่ได้ฟังเพลง (หัวเราะ) วงจรนี้มันหนีกันไม่รอด แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เราอยากให้ข้อคิดก็คือ ถ้าเราตามเครื่องเสียง มันไม่มีวันจบ จะกลายเป็นการเล่นเครื่อง แล้วเราก็ ไม่รู้ว่า จริงๆ เราชอบอะไร จนกว่าเราจะได้ซื้อมา เสียตังค์แล้วก็ลองไป เรื่อยๆ แล้วเราก็คิดว่า ไอ้นั่นมันดี ไอ้นี่มันดี เพราะว่าเราเลือกตรงตอน เฉพาะสถานการณ์นั้น จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ชอบรูปลักษณ์ ชอบเสียงในห้องที่เราไปลอง แต่พอมาอยู่ที่บ้านปุ๊บ มันคนละเรื่อง ทั้งๆ ที่เหมือนกันทุกอย่างเลย เราก็ไม่รู้ว่ามันคนละเรื่อง ตกลงไอ้นี่เรียกว่า ดี กว่าจะเจอจริงๆ ก็ย้อนกลับไปถามตัวเราเองว่า เราเริ่มฟังเพลง แล้วเราชอบเพราะอะไร ก็ต้องหาจุดเริ่มต้นให้เจอก่อน แล้วค่อยถึงไปหา เครื่อง ว่าอันนี้มันตอบโจทย์ที่เราหาจริงหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเราตระเวน ฟังตามห้องต่างๆ ตามงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ถึงจุดหนึ่ง เราจะ ไม่เคยชอบห้องไหนเท่ากับห้องที่เราทำเอง ถึงจะถูกกว่า ห้องเล็กกว่า อะไรอย่างนี้ แต่ว่าห้องฟังที่เราทำเครื่องอาจจะถูกอาจจะแพงอะไรก็แล้วแต่ แต่เป็นห้องที่เราค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ จูนตามความพอใจที่เราเลือกเอง ให้อีกคนมาฟัง เขาก็อาจจะไม่ชอบเลย บอกว่าทำไมเสียงออกมาแบบนี้ แต่ว่านั่นน่ะเป็นสิ่งที่เราเริ่มอยู่กับตัวเอง แล้วก็ตอบโจทย์ตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งเราถามจากคนอื่นไม่ได้ มันก็ต้องย้อนไปดูว่า เราอยากได้ยินอะไร แล้วเราชอบดนตรีเพราะอะไร. ADP 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 253