นักเขียน : หมีบางกอก :

หมู่นี้ไม่ค่อยได้ย่างกรายออกไปชมภาพยนตร์นอกบ้าน เรื่องบัตรราคาโลกแตกก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่ที่แน่ๆความขี้เกียจเป็นสาเหตุหลัก ถ้าไม่ใช่เพราะต้องมีธุระปะปังอย่างอื่น ไอ้ที่จะตั้งใจจะมุ่งไปดูหนังถูกใจอย่างเดียวนั้น… ยากส์ การจะเดินทางฝ่าการจราจรจลาจลไปนั้น ต้องมีการวางแผนและเช็ครอบหนังให้แน่นอน ส่วนใหญ่จะพยายามจองผ่านแอปของค่ายหนัง แต่ปรากฏว่า…ล่มประจำโดยเฉพาะของเมเจอร์ ไม่เข้าใจ… นอกจากใช้ยากแล้วยังพิกลพิกาลเป็นกิจวัตรของ SF ดูจะเฟรนด์ลี่กว่ามาก ใช้บัตรเครดิตผ่านได้ง่ายดายกว่า แล้วจริงๆ คูปองลดราคาของค่ายมือถือก็ลดให้มากกว่าด้วย เมเจอร์ 129 บาท ส่วน SF คิดเพียงร้อยเดียว เออ… … มันต่างจนเห็นได้ชัดอะนะ จะเอาอะไรกันนักหนา ขนาดมีบัตร M-Gen ของ สว ยังลดได้ไม่ถึงเลยไม่ทราบว่าจะท?ำบัตรไว้เพื่อพระแสงด้ามยาวอันใดให้เปลืองกะตังค์ อยากจะคืนกำไรให้สังคมก็น่าจะทำเหมือนเมื่อก่อน ใช้แค่บัตรประชาชนก็ลดให้ สว. (เยอะๆ) ได้ทันที

แล้วการดูหนังของข้าพเจ้านั้น เป็นการดูหนังแบบคนโสด คือ ห้ามมีใครมารบกวนอารมณ์การชม เบื่อการต้องมาระวังรสนิยมการชมภาพยนตร์ของผู้คน อยากดูอะไรก็เลือกดูได้ตามใจ โอกาสที่จะไปดูหนังกับประชาชีนั้นเลยแทบไม่มี (เพราะพยายามไม่เปิดโอกาส 555) ฉะนั้น อย่าได้มีความหวังในการเชิญชวนข้าพเจ้าให้ไปดูหนังด้วย เพราะบางทีผลลัพธ์หลังจากเดินออกมาจากโรง อาจจะกลายเป็นการทำลายมิตรภาพไปได้ไม่รู้ตัว ข้าพเจ้าคงเป็นคน Difficult ตามวัยเบบี้บูม และชัดเจนเรื่องรสนิยมตนเอง (เกินไปหรือเปล่า??)

 หลังๆ มักจะไม่ค่อยเอ็นจอยการชมตัวอย่าง หรือที่เรียกกันเกร๋ๆ ว่า Trailer สักเท่าไร มีอยู่หนหนึ่ง ด้วยความเมื่อยสายตาเลยหลับตาฟังแต่เสียงของหนังตัวอย่าง “ตูม…โครม…เปรี้ยง…แซบ…ฟิ้ว…ผ่าง ฯลฯ” มันมีแต่เสียงซาวด์เอฟเฟกต์ที่เหมือนกับมาจากห้องสมุดเสียง (Sound Effect Library) เดียวกันเด๊ะๆ บอกได้เลยว่าก็อปปี้กันมา ใช้เหมือนกัน (เกือบ) ทู้กเรื่อง ลองไปเปิดยูทูบเช็ค Trailer ดูก็ได้ โดยเฉพาะหนังฮอลลีวู้ดแนวแอ็กชั่นมันหยดสยองขวัญเขย่าประสาทระทึกอารมณ์ผีหลอกวิญญาณหลอนเวอร์วังแฟนตาซีซูเปอร์ฮีโร่….เฮ้อออ เดี๋ยวนี้เลยกลายเป็นเทรดิชั่นในการทำหนังตัวอย่างให้ดู “ตื่นเต้น” เกินเหตุแข่งกัน อาศัย Sound Effects ตูมตามเป็นสรณะ คนดูก็สะดุ้งเฮือกๆ เป็นระยะๆ ท้ายสุดจำอะไรไม่ได้ซักกะเรื่อง เพราะดูเหมือนๆ กันไปโม้ด… ชั้นเชิงในการประดิดประดอยหนังตัวอย่างให้ดูแปลกออกไปเลยกลายเป็นถูกละเลย ยัดเยียดความตูมตามเข้ามาแทน ฝรั่งนี่ก็ใช้ครีเอทีฟไม่เป็นเหมือนกัน เวลาจะซื่อบื้อเลียนแบบกันเองก็ไม่ต่างจากเราแหละ ทำเป็นละครไทยไปด้าย… ใส่เอฟเฟกต์เกมดุ๊กดิ๊กเข้าไปกลัวคนดูจะไม่ตลก (จริงๆ มันก็ไม่ตลกเลยนั่นแหละ) แทนที่จะเขียนบทให้มันตลกในตัวมันเอง เดี๋ยวนี้เรื่องไหนเรื่องนั้น ต้องมีเสียงเอฟเฟกต์เกมตู้ใส่เข้ามาทุกครั้ง

การดูหนังอยู่กับบ้านกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ จริงๆ ก็ไม่ใหม่ซักเท่าไร ม่ายงั้น Netflix, HBO, FX หรือ Hulu คงไม่เฟื่องกันขนาดนี้ มีหนังใหม่ๆ ที่ผลิตเองออกมาเป็นพรวน ชนิดที่คุณภาพไม่ใช่สุกเอาเผากิน เข้าชิงรางวัลดังๆ กันเป็นว่าเล่น แล้วสตูดิโอเหล่านี้ล้วนเป็นนายทุนใหญ่ใจถึงที่กล้าลงทุนให้กับไอเดียใหม่ๆ ด้วยสไตล์หนังอินดี้ที่สตูดิโอใหญ่ไม่ค่อยจะกล้าลงทุนหนังแนวๆ แปลกๆ หรือหนังคุณภาพที่ผู้กำกับ อยากจะทำแต่ไร้ผู้สนับสนุนจึงมีโอกาสลืมตา อ้าปากได้วางแผงกันมั่ง

จริงๆ การชมภาพยนตร์อยู่กับบ้านไม่ว่า หนังเรื่องหรือซีรีส์ มันทำให้พฤติกรรมการเสพ สื่อหนัง Feature Film มันผิดเพี้ยนอะนะ.. คือ สมาธิอาจจะแตกซ่านได้ เพราะเราอาจจะนึก อยากเข้าห้องน้ำอยากกินไอติม หรือรับโทรศัพท์ เมื่อไรก็ได้ แล้วบรรยากาศของห้องซึ่งไม่ได้ มืดสนิทเหมือนในโรง ก็มีส่วนรบกวนสมาธิ Perception ของหนังที่ควรจะโฟกัส มันอาจจะ ไหลเรื่อยเจื้อย ออกนอกลู่นอกทางไปได้ คนดู จำเป็นต้องมีสมาธิอันดีเยี่ยมในการสร้างความ ต่อเนื่องในการชม หนังเรื่องเป็นสื่อร้อนโดย บุคลิกดั้งเดิม เพราะต้องการบรรยากาศทั้งภาพ และเสียงที่คุณภาพต้องถึง หลังๆ คุณภาพของ หนังทีวีได้กลายพันธุ์มาดีเทียบเท่าหนังใหญ่ และเล่าต่อเนื่องไม่ได้จบเป็นตอนๆ เหมือนเดิม มีทั้ง Mini series และซีรีส์ยาวเป็น Season ที่สำคัญ ไม่ต้ องรอดูข้ามอาทิ ตย์เหมือนเมื่อก่อน ดูรวดเดียวจนจบเล่นเอาตาค้างข้ามวันข้ามคืน ย่อมได้ กลับกลายเป็นสื่อแบบใหม่ที่ไร้ข้อจำกัด ไม่ใช่สื่อเย็นอย่างทีวีโปรแกรมเหมือนเมื่อก่อน

หากแต่หนังใหญ่บางแนวยังจำเป็นต้อง อาศัยการฉายตามโรง เพราะยังต้องการโชว์ ความยิ่งใหญ่ตระการตาของระบบการฉาย และระบบเสียง โดยเฉพาะเทคนิคด้านภาพ แต่อย่างนั้นก็เถอะ… ทฤษฎีเหล่านี้มันโบยบิน ไปไหนไม่ทราบในยุคดิจิทัลสตรีมมิ่ง จอทีวียุคนี้ เบ้อเร่อเบ้อร่า ราคาก็ถูกกว่ามือถือ ความนิยม ในการชมอยู่กับบ้านของค่าย Netflix นับวัน จะเพิ่มขึ้น คงเพราะคุณภาพของอุปกรณ์ที่ นับวันจะดีขึ้น คนดูต้องการความสะดวกสบาย และที่สำคัญ ตั๋วหนังเดี๋ยวนี้ราคาออกจะเวอร์วัง อย่างที่ว่าไว้ คุณภาพหนังออนไลน์เดี๋ยวนี้ หนังโรงบางเรื่องยังสู้ไม่ได้ หนังดีๆ ระดับชิง รางวัลซึ่งเป็นผลผลิตของ Netflix เพิ่มขึ้นอย่าง น่าทึ่ง ดูได้จากงานลูกโลกทองคำ(Golden Globe Awards) ที่เพิ่งผ่านไป มีหนังที่ผลิต โดย Netflix เข้าชิงรางวัลใหญ่อยู่จนลานตา

ลองดูตัวอย่างหนังของ Netflix ที่เข้าชิง รางวัลคราวนี้ดูสิ เริ่มจากตัวเต็ง The Irishman ของเจ้าพ่อหนังมาเฟีย อย่าง มาร์ติน สกอร์เชซี แต่ว่าไปก็ไม่ได้สักรางวัล The Two Popes การประชันฝีมือการแสดงระดับครูของ โจนาธาน ไพรส์ และ แอนโธนี ฮ็อปกินส์ หรือ Unbelievable ที่เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยมรวมทั้งสามดารานำหญิง และสมทบ The Crown เข้าชิงซีรีส์ยอดเยี่ยม และดารานำชายหญิง แต่คว้าได้ดารานำหญิง โดย โอลิเวีย โคลแมน (อีกแล้ว) The Kominsky Method เข้าชิงซีรีส์คอมเมดี้ยอดเยี่ยม แต่สองปู่ไมเคิล ดักลาส และอลัน อาร์กินพลาดไป เหมือน กับ พอล รัดด์ ใน Living with Yourself เช่น เดียวกับบทของ ซาชา บารอน โคเฮน ใน The Spy หรือ Dolomite is my name ที่ได้เข้า ชิงทั้งหนังยอดเยี่ยมสาขาคอมเมดี้ และดารานเอ็ดดี้ เมอร์ฟี่ ส่วน Marriage Story ที่เข้าชิง ถึง 6 รางวัล ได้ไปเพียง ลอร่า เดิร์นในบทสมทบ ส่วน อดัม ไดรเวอร์ กับ สการ์เลต โจแฮนสัน พลาดไปในบทนำ(มีอะไรผิดไปไหม??)

จะเห็นได้ว่า เฉลี่ยดูแล้วจากหลายค่าย Netflix มีหนังเข้าชิงมากกว่าใครเพื่อน แม้จะ กวาดรางวัลไปไม่ได้มากนัก แต่ก็ทำให้เห็นว่า หนังของ Netflix มีคุณภาพและหลากหลาย โดยเฉพาะ Original Series ที่ Netflix สร้างเอง มีครบเกือบทุกสไตล์ ทั้งดราม่า คอมเมดี้ อีพิค อัตชีวประวัติ และหนังที่สร้างจากเรื่องจริง (Based on a true story)

The Irishman

การได้เข้าชิงรางวัลสำคัญๆ แสดงให้เห็นถึง ศักยภาพของหนังที่อาจหานายทุนสตูดิโอใหญ่ระดับ ฉายโรงสนับสนุนได้ยาก อย่าง The Irishman ซึ่ง เป็นตัวเต็งมาแต่แรกด้วยชื่อชั้นของผู้กำกับ หนังยาว สามชั่วโมงกว่าของ มาร์ติน สกอร์เชซี ซึ่งกลับมาวน เวียนเรื่องราวของแก๊งสเตอร์แนวถนัด แต่แรกบอก ตามตรงว่าข้าพเจ้าเบื่อแนวนี้เต็มทน (เหมือนที่เบื่อ ชีวิตรันทด แนว Joker) และสงสัยว่าลุงมาร์ติน แกไม่เบื่อสร้างหนังแนวนี้บ้างหรือไง? ดูแกจะถนัด ขลุกอยู่แต่โลกของมาเฟียโบราณ ความคิดสร้างสรรค์ ใหม่ๆ ไม่เคยโผล่ ไม่เหมือนเควนติน ทาแรนติโน ที่มักฉีกแนวเนื้อหาตัวเองเป็นประจำแม้จะมี ซิกเนเจอร์เรื่องความรุนแรงประทับตราอยู่ก็ตาม ลุงมาร์ตินแกยังวนกลับมาแท็คทีมกับดาราคู่บุญ อย่าง โรเบิร์ต เดอนีโร โจ เปสซี และอัล พาชีโน โดยเฉพาะ เดอนีโร ในฐานะของคู่หูโปรดิวเซอร์ ก็แน่นอนว่าต้องได้คว้าตำแหน่งดารานำซึ่งเขาเล่นได้ดีตามมาตรฐานดารามาเฟีย แม้มันจะเป็นบท มือปืน คล้ายจะดูซ้ำซ้อนไปหน่อยหรือเปล่ากับ บทรุนแรงที่เคยผ่านๆ มา แต่บทบาทที่ถูกตีได้ แตกกระจุยกว่าแม้จะดูเหมือน “ซ้ำ” ก็ตาม กลับตก ไปเป็นของ อัล พาชิโน และโจ เปสซี โดยเฉพาะบท จิมมี่ ฮอฟฟาของ อัล พาชิโน ที่บอกตามตรงว่า เล่นได้ยาก แต่เขาสามารถตีบทได้ “ทรงพลัง” และ มีชีวิตชีวาจนเรา “เชื่อ” ในความเป็นผู้มีอิทธิพล ในสหภาพแรงงานในยุคนั้น ยุคเดียวกับจอห์น เอฟ เคเนดี้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และเป็นไม้เบื่อ ไม้เมากับเขา น่าเสียดายที่รางวัลลูกโลกทองคำกลับ ไปตกอยู่ในมือของ แบรด พิตต์ แทน บทของแบรด ก็ไม่เลวหรอกใน Once upon a time in Hollywood แต่ในความยิ่งใหญ่ของบทแล้ว อัล พาชิโน ได้ใช้ ศักยภาพความเป็นนักแสดงเหนือชั้นกว่า แต่อย่างว่า ฮอลลีวู้ดคงอยากแจกรางวัล แบรด พิตต์จะแย่แล้ว เขาถึงคราวที่จะได้รางวัลอะไรสักอย่าง… สักที

The Irishman เป็นหนังมหากาพย์เล่าถึงชีวิต ของมือปืนที่อดีตเป็นคนขับรถส่งของ และขยับมา รวยลัดโดยหัดทุจริตกับธุรกิจของตัวเอง โรเบิร์ต เดอนีโร เล่นบทนี้เองตั้งแต่ยังหนุ่มแน่นขับรถบรรทุก จนแก่นั่งรถเข็น วิวัฒนาการการแต่งหน้าดิจิทัลทำได้ เนียนจนจับไม่ได้ บุคลิกก็..เดอนีโร นั่นแหละ จำแนว มาเฟียเบะปากของเขาได้ดีจนเป็นเทรดมาร์ค ใช่ว่า เดอนี โร จะเล่ นไม่ ดี เขาเป็ นมืออาชี พชั้ นยอดอยู่ แล้ วเพียงแต่มันไม่มีความใหม่ในบทของเขา ทั้งๆ ที่เป็น บทนำเลยไม่แปลกใจว่าทำไมถึงไม่ได้เข้าชิงดารานำในลูกโลกทองคำกลับกลายเป็น พาชิโน กับ เปสซี ซึ่งเด่นกว่าเข้าชิงแทน อย่างไรก็ตาม บทของเดอนีโร เป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญที่สุด นำพาให้เห็นสัจธรรม ของกงเกวียนกำเกวียน คนที่ไม่เห็นแก่บาปบุญ คุณโทษแบบเขาย่อมลงเอยเดียวดาย ทรมานใน ความรู้สึกผิดในบั้นปลาย คนที่สังหารได้ไม่เลือกหน้า แม้กระทั่งเพื่อนที่ไว้ใจกันที่สุด เพียงเพราะพวกพ้อง และความอยู่รอดต้องมาก่อน นี่แหละผลของ การเมืองเรื่องอิทธิพลไม่เข้าใครออกใคร ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร วันนี้ดีๆ กันอยู่ วันหน้าอาจฆ่าทิ้ง…

แต่แรกเห็นความยาวของหนังแล้วก็ขยาด เล็กน้อย และยังเริ่มเรื่องแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ เล่าย้อนยุคเหมือนหนังชีวประวัติทั่วไป เสียงเล่าของ เดอนีโร ไม่ได้เป็นตัวเชื่อมอะไรชัดเจน เล่าไปแล้วก็ ทิ้งหายไปนานกว่าจะกลับมา ต้องอาศัยความอดทน และใจเย็นในการติดตาม ไม่ได้เล่าเปิดเรื่องตูมตาม ดึงดูดความสนใจคนดูก่อนเหมือนหนังฮอลลีวู้ด ทั่วไป แต่เรื่องราวของยุคสมัยที่เกิดขึ้นจริงนั้น มันทำให้เรื่องราวดูจริงจังน่าสนใจ แม้จะเป็นเสี้ยวเดียว ของเหตุการณ์สำคัญในอเมริกา คนอเมริกันย่อมมี ความรู้สึกอินกว่าคนดูกะเหรี่ยงแบบเราๆ ท่านๆ ยกเว้นคนในยุคเบบี้บูมอย่างข้าพเจ้า ซึ่งจะสัมผัส ได้ถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่ยังจำได้ของฉาก เรื่องราว และเพลงต่างๆ ในยุคนั้น แม้แต่ในฉากย่อยๆ ที่ทุกคนกำลังฟังข่าวเคเนดี้ถูกยิงออกอากาศ ก็ได้ อารมณ์ของคนอเมริกันร่วมสมัยที่มีแตกต่างกันไป ทั้งตกใจ เสียใจ สะใจ สยอง แอบดีใจ งงๆ รวมกัน อยู่ในบาร์ที่เดียว สรุปมาร์ติน สกอร์เชซี ยังคง คุณภาพของฝีมือทำหนัง (ในแบบของเขา) ได้อย่าง คงเส้นคงว่า ใครเป็นแฟนคลับก็ไม่ต้องลังเล ความ เข้มข้นรุนแรงและสยองในทียังคงเปี่ยมอยู่ในหนัง ของเขา ไม่แปลกใจถ้าเข้าชิงออสการ์ตามโผ

Marriage Story

ส่วนอีกเรื่องของ Netflix ที่พาเหรดกันเข้าชิง ถึง 6 รางวัล เรียกได้ว่าเยอะที่สุดในครั้งนี้ คือ Marriage Story แต่รางวัลก็ได้ไปเพียง ลอรา เดิร์น สาขาดาราสมทบ ส่วน สการ์เล็ต โจแฮนสัน และ อดัม ไดรเวอร์ รับบทหนักสองผัวเมียเจ้าของรักร้าง แต่ต้องทำเสมือนยังเป็นเพื่อนกันอยู่นั้น กลับพลาด รางวัลดารานำไป ที่สำคัญ บททนายสาวที่ ลอร่า เดิร์น ได้ไปนั้น หาได้เป็นบทวิเศษเลิศลอยโดดเด่น กว่าคู่แข่งคนอื่นไม่ ดูแล้วก็งั้นๆ บทเด็กน้อย เฮนรี่ ซึ่งเล่นเป็นลูกยังมีอะไรมากกว่า ส่วนรางวัลอื่นที่ พลาดไปนั้นก็ไม่ได้มีอะไรติดใจ เพราะเนื้อหนังไม่ได้ มีอะไรโดดเด่นเป็นนัยยะสำคัญ ใครที่เคยดูหนัง Kramer VS Kramer ที่คว้าออสการ์มาแล้วในปี 1980 จะรู้สึกเลยว่าดูสนุกกว่า โครงเรื่องก็มีความ ละม้ายกันมาก แต่การแสดงของดัสติน ฮอฟแมน และเมอริล สตรีป นั้นดูเหนือชั้นกว่ามาก

วิธีเล่าเรื่องของ Marriage Story ดูตั้งใจให้คนดู เก็บตกรายละเอียดย้อนหลังเอาเอง บทเขียนตาม แนวของนักเขียนรุ่นใหม่ เล่าแบบห้วนๆ เป็นช่วงๆ ผูกเรื่องเหมือน Flash back กลายๆ ตามสไตล์ยุคนี้ ซึ่งไม่นิยม Continuity แบบเนียนๆ ลื่นไหล เริ่มแรก เขาจะใช้วิธีเล่าถึงความดีของคู่แต่งงานคู่นี้ เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยในแง่บวกของพระเอกนางเอก แล้วใช้วิธี ตลบกลับว่ามันกำลังเป็นวิธีการของจิตแพทย์จะให้ ทั้งสองพยายามเยียวยาความสัมพันธ์ที่กำลังจะล่ม สลายด้วยการเล่าถึงความดีของอีกฝ่าย? แล้วจึงค่อยๆ เผยปัญหาที่ค้างคาในใจของทั้งสองผัวเมีย ด้วยการ ให้ผู้หญิงเล่าให้ทนายความ (คนดู) ฟัง หรือเผยการ กระทบกระทั่งรุนแรงแม้เพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของ ทั้งสอง ซึ่งคนดูอย่างเราจะพยายามทำความเข้าใจ อย่างงง ๆ ว่า มันเกิดอะไรขึ้นถึงขนาดต้องฟ้องหย่า ตัวลูกชายเองก็เหมือนเข้าใจปัญหาของพ่อแม่ดี ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการแยกกันอยู่ของพ่อกับแม่ซึ่งเราไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร เด็กที่มีพ่อแม่แบบนี้น่าจะ มีปัญหามากกว่าเพื่อน

วิธีการแทรกบททะเลาะกันแบบใช้อารมณ์ไม่มี เหตุผลมักจะโผล่มาเป็นระยะไม่มีปี่มีขลุ่ย การพร่ำพรรณนาบรรยายความในใจของนางเอกให้ทนาย สาวฟัง ไม่ได้ทำให้คนดูเข้าใจอะไรมากขึ้น ฟังแล้ว งงๆ ยิ่งบางเหตุผลที่มาเผยทีหลังก็ดูเป็นเมโลดราม่า ไปไหม? เช่น ตอนนางเอกด่าใส่ว่าไปค้นเจออีเมล สมัยพระเอกเป็นชู้กับเพื่อนร่วมงาน จู่ๆ ก็จับยัด เหตุผลเข้ามาว่านางไป “แฮ็ก” เจอ ส่วนเรื่องปัญหา ความสัมพันธ์ ความพยายามของการเป็นเพื่อนกันดู จะไร้ความหมาย ท้ายสุดกฎหมายก็ต้องมาเกี่ยวข้อง ในที่สุด เนื้อเรื่องพยายามบอกว่าความรักที่มีอยู่มัน ไม่ได้ไปไหน เพียงแต่มันไม่ได้เป็นปัจจัยให้ชีวิตคู่ ดำเนินต่อไปได้ และที่แน่ๆ อย่าคิดจะหาเรื่องหย่า กันง่ายๆ ในเมกา ไหนจะเจ็บปวด ไหนจะเรื่องเงิน

มีความรู้สึกไม่ค่อยเนียนในบางตอน อย่างเช่น ฉากร้องเพลงมิวสิคัลผลงานของ สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ ของทั้งตัวพระตัวนาง อารมณ์เหมือนจับมาตัดแปะ เพราะทั้งสองผัวเมียไม่เคยมีลีลาเลยว่าจะโผล่มาทำอะไรเช่นนี้ เหมือนจะบอกเป็นสัญลักษณ์กลายๆ ว่า เออ ชีวิตเปลี่ยนแล้วนะ ฉันยอมรับมันแล้ว คงเป็น ความตั้งใจของผู้กำกับแหละ โดยรวมการแสดงของ 2 ตัวเอกก็ช่วยนำพาให้เรื่องดำเนินไปได้ เพราะเป็นหนังที่ชวนติดตามได้ด้วยแอ็คติ้งล้วนๆ รวมทั้งมุกเบาสมองระหว่างครอบครัวของนางเอก ตอนจะต้องแจกซองคดีฟ้องหย่า และเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ที่ต้องไปคอยเฝ้าดูพฤติกรรมของ คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวว่าจะไปรอดไหม? ว่าไปก็เปิด โอกาสให้ทุกคนได้แสดงความสามารถกันเต็มที่แต่แอบเบื่อพระเอก 555 กว่าจะจบเรื่องรู้สึกว่ามัน ยาวไปไหมเนี่ย ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงพลาดรางวัล สำคัญๆ ไป เพราะบทหนังมันไม่คมเท่าที่ควร อดัม ไดรเวอร์ ไม่ได้มีเสน่ห์พอที่จะดึงคนดู การแสดง ไม่เลวหรอก แต่หน้าตาไม่ได้ 555 สการ์เล็ต โจแฮนสัน ยังดูดีกว่าและดูหล่อนฉายแววกับบทชีวิตแบบนี้ มากกว่าเป็น Black Widow ให้กับมาร์เวล

Unbelievable

ยังมีหนังม้ามืดที่ทำตัวเป็น Limited Series คือฉายจบภายใน 8 ตอนของ Netflix ที่เข้ามาชิง อยู่หลายรางวัล โดยเฉพาะรางวัลทางด้านการแสดง ของดาราหญิงทั้งสาม คือ Toni Collette, Merritt Wever และ Kaitlyn Dever ซึ่งเราดูจะคุ้นเคยกับ Toni Collette นักแสดงหญิงชาวออสซี่อยู่คนเดียว ชื่อชั้นของเธอนั้นประมาณดารานำแต่เวลาเข้าชิง กลับไปอยู่ในดาราสมทบ คงเพราะเห็นว่าซีรีส์ ดำเนินไปกว่าครึ่งแล้วกว่าที่เธอจะโผล่เข้ามาใน เนื้อหนัง? หรือว่าคงเพราะดารานำหญิงทั้งสามได้ เข้าชิงพร้อมๆ กัน ก็เลยต้องเฉลี่ยๆ กันไป? แต่โดย สายตาคนดูอย่างข้าพเจ้า ถ้าจะเอาเข้าชิงแล้วก็ต้อง ให้เกียรติบทบาทของโทนี่ คอลแลต ว่าความสำคัญ เท่าเทียมกันกับอีกสองคน

Unbelievable ยังเข้าชิงรางวัลใหญ่คือซีรีส์ ยอดเยี่ยมอีกรางวัล เนื่องจากความสมจริงสมจังใน การเล่าเรื่อง และความเข้มข้นของเนื้อหาเรื่องราวที่ ทำจากบทความ An Unbelievable Story of Rape ซึ่งคว้ารางวัลพูลิทเซอร์ โดยเล่าเรื่องราวของ นักข่มขืนต่อเนื่องในแถบวอชิงตันและโคโลราโด ในช่วงเวลา 2008-2011 เป็นผู้ร้ายที่เชี่ยวชาญ ในการลบร่องรอยชนิดที่ทำเอาตำรวจเคว้งไล่ล่า ไม่ถูก จนเวลาผ่านไปหลายปี มันกลับมาล่าเหยื่อใหม่ และเด็กสาวอย่างมารี แอ็ดเลอร์ (Kaitlyn Dever) ต้องมาตกเป็นเหยื่อ

ความช็อกจากเหตุการณ์ทำให้มารีสับสนกับ การสอบสวนของตำรวจ จนกลายมาเป็นเรื่อง โอละพ่อ ต้องมาตกเป็นเหยื่อกับการให้การเท็จ ซ้ำซ้อนหนักเข้าไปอีก เรื่องราววิ่งคู่ขนานกันไปกับ คดีข่มขืนที่เกิดขึ้นในต่างรัฐในช่วงเวลาที่ต่างกัน นักสืบหญิง แคเรน ดูวาล (Merritt Wever) เจ้าของคดีสาวอ้วนที่ถูกข่มขืนได้พยายามสืบสวนหาหลักฐาน ซึ่งล้วนแต่ไร้ร่องรอย ผู้ร้ายฉลาดเกิน ลบกระทั่ง ดีเอ็นเอของตัวเองในที่เกิดเหตุ ในที่สุดแคเรนตามมา เจอกับนักสืบ เกรซ จอมเขี้ยว (Toni Collette) จากเบาะแสที่อยู่ต่างรัฐ เลยพบว่าหลักฐานที่ตำรวจ หน่วยอื่นทำคดีไว้อย่างหละหลวม ทั้งๆ ที่พฤติกรรม ของผู้ร้ายต่างมีซิกเนเจอร์ซ้ำๆ ที่ทำกับเหยื่อ หนังเล่า เรื่องละเอียดลออกับสิ่งที่เหยื่ออย่างมารีต้องผจญกับ ความกระทบกระเทือนจิตใจจากการสอบสวนของ ตำรวจ (ผู้ชาย) ความบีบคั้นที่ประดังประเดใส่มารี จนทำให้เธอเสียศูนย์ วิธีเล่าเรียบๆ แต่สมจริงสมจัง ทำให้เรื่องราวน่าติดตาม จะเริ่มมาดราม่าบ้างก็ ในช่วงกลางๆ เรื่อง ซึ่งน่าเสียดายที่ทำให้ความรู้สึก จริงจังแบบ Based on a true story นั้นมันเริ่ม เพี้ยนไป เริ่มเล่าเป็นนิยายมากขึ้นว่างั้นเหอะ

ที่น่าสนใจคือวิธีร้อยเรียงพฤติกรรมของ นักข่มขืนกับการติดตามคดีของสองตำรวจหญิง ที่ทั้งลองผิดลองถูกกว่าจะจับทางของผู้ร้ายได้ วิธีตัดต่อเล่าแยกเหตุการณ์ต่างเวลาต่างยุคของ เหยื่อเด็กสาว และเหยื่ออื่นๆ ซึ่งต่างวัยต่างบุคลิก ไม่มีซ้ำตั้งแต่สาววัยรุ่น เมียชาวบ้าน สาวอ้วน มาจน ถึงเหยื่อแก่งั่กขนาดคุณยาย! เรียกว่าคาดเดารสนิยม นักข่มขืนต่อเนื่องรายนี้ไม่ได้เลยทีเดียว

การแสดงที่โดดเด่นของดาราหญิงทั้งสามนั้น ต้องบอกว่าบทที่ซับซ้อนและเล่นยากกว่าเพื่อน น่าจะเป็นของเด็กสาวมารี แอดเลอร์ สวมบทโดย Kaitlyn Dever ซึ่งเธอเล่นได้ชนะเลิศมาก ทั้งน่า สงสารและน่าหมั่นไส้ ดูแล้วเชื่อว่างั้นเถอะ ส่วนสอง ตำรวจหญิง ซึ่งบุคลิกจะต่างกันสุดขั้ว ต่างตีบทได้ ยอดเยี่ยม Merritt Wever บุคลิกเรียบๆ แต่เอาเรื่อง กัดไม่ปล่อย ส่วน Toni Collette นั้นอาวุโสกว่า เขี้ยวด้วยประสบการณ์ หยิ่ง ไม่แคร์ใคร แต่ท้ายสุด สองตำรวจหญิงก็จับมือกันไล่ล่านักข่มขืนต่อเนื่อง ตัวฉกาจนี้แบบไม่ยอมท้อ ซึ่งในหนังเองไม่เคย เผยตัวร้ายให้เห็นเลยจนวินาทีสุดท้าย และได้เห็น ความร้ายจริงของมันว่า มันสนุกกับการเล่นเอาเถิด เจ้าล่อ ก้าวล้ำตำรวจไปก้าวหนึ่งเสมอ เพราะอะไร… เพราะไอ้เปรตนี่ได้ตำรานิติวิทยาศาสตร์ด้านคดี ข่มขืนจากตำรวจมาเป็นคัมภีร์!!!. VDP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 276