นานๆ จะได้เห็นหนังเม็กซิกันจริงๆ ที่ประดิดประดอยโดยผู้กำกับ (เม็กซิกันเช่นกัน) อย่าง อัลฟองโซ กัวรอง ที่ออกสู่ตลาดโลกอย่างสง่าผ่าเผย แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าอัลฟองโซไม่ได้เครดิตผู้กำกับออสการ์จากหนัง Gravity จะได้มีโอกาสทำหนังอินดี้แบบนี้ตามใจตัวเองหรือไม่ หลายคนอาจจะงงๆ ว่าชื่อ “โรมา” ทำไมกลายเป็นหนังเม็กซิกัน มันน่าจะเป็นหนังอิตาลี
มิใช่รึ? จริงๆ แล้ว โรมาเป็นชื่อย่านคนชั้นกลางใน Mexico City เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในแนวอิตาเลียน หนัง ROMA นี้ถ่ายเป็นขาวดำทั้งเรื่อง เล่าเรื่องด้วยอารมณ์ย้อนอดีตสู่ยุค 70 ประมาณบันทึกความทรงจำของผู้กำกับ อัลฟองโซ กัวรอง หนังเปิดตัวอย่างงดงาม โดยได้รับรางวัลหนังยอดเยี่ยมสิงโตทองจากเทศกาลหนังเวนิส และคว้าอีกหลายรางวัลจากเทศกาลอื่นๆ ด้วยสไตล์การเล่าแบบส่วนตั๊ว ส่วนตัว ไม่ตามใจใครแบบหนังฮอลลีวู้ด แต่ก็ไม่ได้เล่าแบบต้องปีนกระไดดูแบบหนังอาร์ตของ เป็นเอก หรือ เจ้ย อภิชาตพงศ์ อัลฟองโซเล่าหนังของเขาแบบเรียบๆ เหมือนแอบไปชมช่วงชีวิตหนึ่งของสาวคนใช้ชาวเม็กซิกันพื้นเมืองที่ทำงานในบ้านเจ้านายฝรั่ง โดยที่ชีวิตของทั้งผู้เป็นนายและบ่าว วิ่งขนานกันไปในความไม่แน่นอนของชีวิต ซึ่งมีทั้งสุขและทุกข์ระทม แต่ความดีงามที่ปรากฏคือ มิตรจิตมิตรใจระหว่างนายจ้างและคนรับใช้ที่ห่วงใยรักใคร่กันยิ่งกว่าญาติ ต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนกันให้ผ่านมรสุมชีวิตอันหนักหนาสากรรจ์ไปได้
ดูไปก็ให้นึกถึงชีวิตของตัวเอง เพราะไลฟ์สไตล์ของชาวเม็กซิกันในยุคนั้นดูไม่ต่างจากคนไทยสักเท่าไร บ้านช่องก็คล้ายๆ กัน และเจอปัญหาคล้ายๆ กันกับการเลี้ยงหมาในบ้านที่ไม่มีบริเวณ และต้องผจญกับที่จอดรถอันคับแคบและ “ขี้หมา” ในที่จอดรถอยู่เป็นประจำ (555) ซึ่งทำให้เข้าใจเลยว่า การใช้ “ขี้หมา”เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการเล่าเรื่องทำให้การถ่ายเป็นหนังขาวดำเป็นเรื่องจำเป็น เพราะช่วยลดความ “แหวะ” ลงไปได้อย่างมหันต์ หนังเปิดเรื่องอย่างนิ่งๆ ด้วยภาพการล้างพื้นที่จอดรถลากยาวไปจนจบไตเติล ซึ่งก็ทำให้เข้าใจทันทีในตอนจบว่า ชีวิตมนุษย์นั้นมีเรื่องให้ต้องชำระล้างอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังต้องคอยเก็บมารผจญอย่างขี้หมาเป็นประจำ และมันก็ยังย้อนกลับมาเลอะเทอะอยู่ได้ทุกวี่ทุกวัน อยากจะเตะหมากระเด็นไปนอกบ้านก็กระไร ขณะที่หมอเจ้าของบ้านเองก็ยังโวยวายกับภรรยาเรื่องนี้ และเรื่องราวความสัมพันธ์ที่แย่ลงเริ่มลามไปจนถึงการที่หมอหายหน้าไปจากบ้านทิ้งลูก 4 คนกับเมียให้ผจญชีวิตตามยถากรรม ขณะที่แม่สาวใช้ก็ต้องผจญเวรกับแฟนหนุ่มที่ทิ้งไข่ไว้ให้อุ้มท้อง แล้วก็หายหน้าไป เจ้านายและบ่าวต่างก็ต้องดูแลกันเองเพื่อความอยู่รอด แสดงความเป็นเฟมินิสต์สู้ชีวิตจากผู้ชายชั่วๆ ซึ่งประมาณมีอยู่เต็มโลกใบนี้ คนละแบบกับเฟมินิสต์ฉลาดเป็นกรดอย่างใน A Simple Favor

โปรดักชันของหนังดูเหมือนง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงต้องใช้ทีมโปรดักชันใหญ่และพร้อมในทุกแผนก ถึงจะสร้างรายละเอียดบรรยากาศย้อนยุคได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้ กล้องสามารถดอลลี่ไปตามถนนหนทางเห็นผู้คน ตึกรามร้านค้า โรงหนังสแตนด์อะโลน รถราแบบอเมริกันคันโตในยุคนั้น รวมทั้งเหตุการณ์จลาจลที่สร้างความพลิกผันให้กับเรื่องราว ฉากการคลอดลูกของสาวใช้ที่ใช้เทคยาวของการถ่ายภาพแบบเรียบๆ ที่ไม่ต้องหวือหวา แต่ได้อารมณ์จริงจัง ซึ่งดูจะเป็นสไตล์ในการถ่ายทำของ อัลฟองโซ กัวรอง ที่ปูพรมอยู่ตลอดเรื่อง เขาเอี่ยวไปทุกหน้าที่ตั้งแต่โปรดิวซ์ กำกับ เขียนบท ตัดต่อ ถ่ายภาพ บลาๆๆๆ นับเป็นหนังส่วนตัวของเขาอย่างแท้จริง ต้องเรียกว่าบารมีผู้กำกับออสการ์นั้นคุ้มค่าที่จะส่งให้เขาได้ใช้ทีมงานอเมริกัน+เม็กซิกันได้อย่างเต็มแม็ค สร้างบรรยากาศได้สมจริงด้วย มุมกล้องและระยะชัดลึกแบบเลนส์สแตนดาร์ด ไม่ต้องหวือหวา แต่เล่าได้ต่อเนื่องเก็บอารมณ์ของแต่ละซีนได้ครบถ้วน ซึ่งก็ดูเข้ากันกับความเป็นหนังขาวดำได้เป็นอย่างดี เพียงแค่ใช้อุปกรณ์เบสิกอย่างการแพนกล้องหรือดอลลี่ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องใช้ Steadycam เลื้อยตามไปทุกรูเรี้ยวอย่างหนังสมัยนี้
หนังเล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องกันไปโดยไม่ได้ใช้เทคนิคลัดเวลาฝ่าอนาคตสลับย้อนอดีตให้งงงวย..อะไรเทือกนั้น มีแฟลชแบ็กบ้างตามความจำเป็น ให้อารมณ์ของภาพและการแสดงแบบธรรมชาติ ทำหน้าที่ของมันไป ตัวเอกที่เป็นสาวใช้พื้นเมือง Yalitza Aparicio ก็แคสต์จากคนธรรมดาที่ไม่ได้มีแบ็กกราวด์ด้านการแสดง หรือเคยเรียนการแสดงมาแต่อย่างไร อาชีพหลักของเธอคือ ครู ข้อดีของความโนเนมและสดใหม่ คือ ความเป็นธรรมชาติ ไร้การปรุงแต่ง ซึ่งนับว่าลงตัวกับคาแรคเตอร์
ในหนังเป็นอย่างมาก เธอได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์ดังๆ และได้เข้าชิงรางวัลมากมายในเทศกาลประกวดภาพยนตร์ทั่วโลก
ROMA ได้รับเลือกจากนิตยสาร Time และ New York Film Critics Circle ให้เป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปี และเป็นหนึ่งในสิบหนังยอดเยี่ยมแห่งปี 2018 จาก National Board of Review และยังคว้ารางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม รวมทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ และแน่นอน ไม่พลาดการเป็นตัวแทนหนังเม็กซิกันเข้าชิงออสการ์ในปีนี้