นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับการเดโมระบบเสียงรอบทิศทางแบบ 9.2.4 ผ่านชุดลำโพง Studio Monitor รูปแบบ Active ภายใต้แบรนด์ Meyer Sound ที่ได้รับความไว้วางใจให้นำไปติดตั้งเป็นลำโพงอ้างอิงในสตูดิโอตัดต่อภาพยนตร์ระดับโลกหลายแห่ง การออกแบบ ไปจนถึงคุณภาพเสียง จะแตกต่างจากชุดลำโพงบ้านที่เราคุ้นเคยกันหรือไม่ อย่างไร ติดตามกันต่อได้เลยครับ

ต้องขอขอบคุณ Deco 2000 แม่งานและผู้แทนจำหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์ภายใต้แบรนด์ Meyer Sound อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ที่ให้โอกาสทดลองสัมผัสคุณภาพเสียงของซิสเต็ม Active Studio Monitor ในครั้งนี้ โดย Mr. Chris D’bais ผู้บริหารจากทาง Meyer Sound ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Business Development ประจำภูมิภาค Oceania & Southeast Asia เป็นผู้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับสื่อมวลชน พร้อมทั้งให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของบริษัทฯ ไปจนถึงคุณสมบัติเด่นที่ส่งให้ชุดลำโพงแบรนด์นี้เป็นที่ยอมรับระดับโลก

Mr. Chris เล่าถึงประวัติคร่าวๆ ของ Meyer Sound ว่า ก่อตั้งขึ้นโดย John และ Helen Meyer ในปี 1979 ทั้งคู่ต่างก็เป็นผู้หลงใหลในเสียงดนตรีจึงไม่แปลกที่มันจะกลายเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาอุปกรณ์ระบบเสียงสำหรับงานโปรเฟสชันนัล และสินค้าตัวแรกที่ผลิตจำหน่าย คือ ลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ที่ใช้ชื่อรุ่นว่า ACD/John Meyer สำหรับงานบันทึกเสียงดนตรีและภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทำการพัฒนาลำโพงขนาดเล็กใหญ่เพื่อให้วงดนตรีนำไปใช้จัดแสดงคอนเสิร์ตอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแนวทางการออกแบบลำโพงของ Meyer Sound ขณะนั้น ดูล้ำและแตกต่างจากระบบอื่นๆ อยู่ไม่น้อย จึงไม่แปลกที่จะได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นต้นแบบของมาตรฐานระบบเสียงโปรเฟสชันนัลต่อมา

ในช่วงแรก Meyer Sound ออกแบบผลิตลำโพงแบบพาสซีฟไม่ต่างจากผู้ผลิตอื่น แต่หลังจากปี 1994 เป็นต้นมา ลำโพงทุกรุ่นก็ได้รับการติดตั้งภาคขยายมาพร้อม ประเดิมด้วยรุ่น MSL-4 กับภาคขยาย Class AB/H กำลังขับสูงถึง 620 วัตต์ต่อแชนเนลเลยทีเดียว

Self-Powered for simplicity

แนวคิดการออกแบบลำโพงพร้อมภาคขยายในช่วงแรกนั้น เอื้อประโยชน์สำหรับงานโปรเฟสชันนัลอย่างงานระบบเสียงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ แต่ขณะเดียวกันก็พบว่ามันเป็นข้อดีสำหรับคอนซูเมอร์เช่นเดียวกัน เป้าหมายนั้นเพื่อความสะดวกอันจะส่งผลไปถึงศักยภาพสูงสุดที่ผู้ใช้จะได้รับ

การที่ไม่มีอุปกรณ์ต่อพ่วงจำนวนมากมีส่วนช่วยให้การขนย้ายและติดตั้งระบบเสียงของ Mayer Sound เป็นไปได้โดยสะดวก ความเสี่ยงที่อุปกรณ์จะเสียหายไปจนถึงสูญหายขณะขนย้ายย่อมน้อยลง ในส่วนของภาคขยายที่ถูกออกแบบแม็ตชิ่งกับศักยภาพของลำโพงแต่ละรุ่น จึงการันตีว่าจะตอบสนองได้อย่างเต็มที่ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องจ่ายส่วนเกินไปกับสิ่งที่ขาดหรือไม่จำเป็น และไม่เสี่ยงกับการวุ่นวายจัดหาภาคขยายที่ไม่ชัวร์ว่าการทำงานจะแม็ตช์กับลำโพงและระบบอื่นๆ ได้ 100% หรือไม่

Helen Meyer, John Powell และ John Meyer ที่ The Newman Scoring Stage
Roskilde Festival 2018 เลือกใช้ระบบเสียงของ Meyer Sound: มหกรรมงานแสดงดนตรีขนาดใหญ่ล่าสุดที่ประเทศเดนมาร์ก จัดขึ้นเป็นเวลา8 วัน และกว่า184 ศิลปิน-นักดนตรี อาทิ Bruno Mars, Eminem, Gorillaz, Nick Cave and the Bad Seeds ฯลฯ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมกว่า130,000 คน
John Powell นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อดัง กับ Meyer Sound’s Bluehorn System ที่ 5 Cat Studios
“Full-Bandwidth, Phase-Accurate Monitoring Speakers” คำจัดกัดความของ Meyer Sound Bluehorn System ข้างต้นนี้คงไม่ใช่สิ่งเกินเลย เพราะสามารถยืนยันได้จากกราฟตอบสนองความถี่และเฟสดังภาพ

Develop with film pros, for film pros

ดังที่ Mr. Chris เล่าให้ฟังตอนต้นว่า Meyer Sound คร่ำหวอดอยู่กับระบบเสียงโปรเฟสชันนัลมาช้านาน นอกจากงานจัดแสดงดนตรี ระบบเสียงในโชว์รูม ศูนย์ประชุม และนิทรรศการแล้ว การใช้งานเป็น “ลำโพงอ้างอิง” ในสตูดิโอบันทึกเสียงก็เป็นสิ่งที่เชี่ยวชาญไม่แพ้กัน และประสบการณ์ตรงนี้เองที่มีส่วนให้ Meyer Sound และพันธมิตรห้องอัดชื่อดังระดับโลกทั้งหลาย (หนึ่งในนั้น คือ Skywalker Sound) ร่วมกันสร้างสรรค์ลำโพง Studio Monitor สำหรับถ่ายทอดอ้างอิงการบันทึกเสียงภาพยนตร์หลากหลายรุ่น แต่รุ่นล่าสุดที่ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับลำโพง Professional Studio monitor คือ Bluehorn System

Bluehorn System: A new standard of accuracy

นอกจากเอกลักษณ์โครงสร้างปากฮอร์นสีน้ำเงินตามชื่อแล้ว ทาง Meyer Sound ได้ให้คำจำกัดความของรุ่นนี้ว่า “Powerful, full-bandwidth monitoring with zero phase shift” หรือลำโพงมอนิเตอร์ศักยภาพสูงที่ให้การตอบสนองความถี่ตลอดย่านรับฟังได้อย่างเที่ยงตรง และไร้ซึ่งปัญหาความผิดเพี้ยนทางเฟสอย่างแท้จริง

อันที่จริง Bluehorn System ประกอบขึ้นจากอุปกรณ์สำคัญ 3 ชิ้น ได้แก่ ลำโพง Monitor 2 ทาง ที่มาพร้อมโครงสร้างปากฮอร์นสีน้ำเงินผนวกเข้ากับตัวขับเสียงสูงและวูฟเฟอร์อันเป็นสิทธิบัตรเฉพาะของ Meyer Sound

ถัดมาคือ Low-frequency module หรือลำโพงซับวูฟเฟอร์ ออกแบบตัวตู้พร้อมท่อ Bass-reflex ขนาดใหญ่เพื่อขยายย่านการตอบสนองความถี่ต่ำลึก

สุดท้าย คือ Electro-acoustic Processor ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญเพื่อจัดการแก้ในส่วนของเฟสได้อย่างเที่ยงตรง ตอบสนองฉับไวเพราะมีดีเลย์ต่ำเพียง 50ms เท่านั้น

ปัจจุบันมีสตูดิโอบันทึกเสียงชื่อดังหลายแห่งตอบรับนำBluehorn ไปใช้งานเป็นลำโพงอ้างอิงแล้ว อาทิ The Newman Scoring Stage สถานที่บันทึกเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ Deadpool, Maze Runner, X-Men: Apocalypse, Life of Pi เป็นต้น

ซึ่งทาง Deco 2000 กระซิบมาว่า คนไทยมีโอกาสได้สัมผัสเสียงและตัวเป็นๆ ของ Bluehorn System สุดยอดลำโพง Professional Studio Monitor ระดับอ้างอิงของทาง Meyer Sound ในแบบใกล้ชิด… อีกไม่นานเกินรอครับ

Cinema Sound Quality Demo with 9.2.4 Meyer Sound Studio Monitor System

ส่วนการเดโมคุณภาพเสียงร่วมกับชุดลำโพง Meyer Sound ที่โชว์รูมของ Deco 2000 ในครั้งนี้ ดำเนินการผ่านซิสเต็มลำโพง 9.2.4 ประกอบไปด้วย Amie (FL, FR, C, FWL, FWR, SBL, SBR), UP-4slim (SL, SR), Amie-SUB (Subwoofer x2) และ HMS-5 (TFL, TFR, TRL, TRR) การตอบสนองความถี่ที่มีความต่อเนื่องเที่ยงตรงตลอดย่าน หากใช้งานในห้องอัดก็สามารถอ้างอิงความถูกต้องของสมดุลเสียงได้ หากนำมาใช้กับระบบโฮมเธียเตอร์ก็จะได้คุณภาพเสียงเทียบเคียงสตูดิโอที่ใช้บันทึกเสียง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเสียงสนทนา เสียงดนตรีประกอบไปจนถึงเอฟเฟกต์รายล้อม มีความชัดเจนจะแจ้ง มีมิติชัดลึก ความนุ่มนวล ละเมียดละไม อาจมิใช่แนวทางของ Studio Monitor แต่สิ่งที่จะได้จากซิสเต็มนี้คือ “ความตรงไปตรงมา” ไม่เสแสร้งเอาใจหูนั่นเอง

ถึงแม้ตัวตู้ของ Amie ที่มีขนาดย่อมกว่า Bluehorn System อยู่มาก แต่ยังคงดีกรีลำโพงมอนิเตอร์เอาไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งน้ำหนักที่ไม่มากจนเกินไป การจับยึดหรือตั้งวางไม่ยุ่งยากซับซ้อน จึงช่วยให้การติดตั้งทำได้โดยสะดวก จะนำไปใช้เป็นลำโพงคู่หน้า เซ็นเตอร์ หรือแม้แต่ลำโพงเซอร์ราวด์ก็ได้ และด้วยศักยภาพของภาคขยายสามารถเติมเต็มเสียงภายในพื้นที่ห้องฟังไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ได้ จึงเป็นลำโพงที่มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นสูงเมื่อเทียบกับงบประมาณ ถึงแม้เร่งวอลลุ่มในระดับเสียงที่ค่อนข้างดังมาก Amie ก็ยังคอนโทรลดุลเสียงได้ดี

ด้วยปัจจัยด้านขนาด จุดที่ Amie ยังขาดไปบ้าง คือ ย่านความถี่ต่ำลึก ในจุดนี้ Amie-SUB นับเป็นอุปกรณ์เติมเต็มความสมบูรณ์ที่ขาดไม่ได้เลย แน่นอนว่าได้รับการออกแบบให้ใช้งานร่วมกับ Amie ได้อย่างเหมาะเจาะ จึงผสานน้ำเสียงได้อย่างกลมกลืนไร้รอยต่อ ส่งผลให้การบรรเลงดนตรีออร์เคสตร้าช่วงโหมมีไดนามิก แรงปะทะจากเสียงระเบิดมีความหนักแน่นดุดันพร้อมๆ กับความฉับไวต่อเนื่อง ถึงแม้ตัวตู้จะดูไม่ใหญ่โตมาก แต่ Amie-SUB ตอบสนองย่านความถี่เสียงลงได้ต่ำถึง 25Hz เลยทีเดียว

ในแง่เสริมสร้างสนามเสียงโอบล้อมนั้น HMS-5 ที่รับหน้าที่เป็นลำโพง Top Surround ทั้ง 4 แชนเนล มีความสำคัญไม่แพ้แชนเนลอื่น โดยเฉพาะกับยุค Immersive Audio Formats อย่าง Dolby Atmos และ DTS:X ซึ่งหากลำโพงให้การตอบสนองได้ดี มิติเสียงด้านสูงจะมีความเด่นชัด สอดรับกลมกลืนกับแชนเนลหลัก นับเป็นประสบการณ์ทางเสียงอันน่าประทับใจที่แตกต่างจากที่ได้ฟังผ่านลำโพง Home Audio ทั่วไปอยู่ไม่น้อย สำหรับท่านใดที่สนใจอยากทดสอบประสิทธิภาพเสียงแบบ Home Cinema ของลำโพงระดับ Professional Studio Monitor ของ Meyer Sound สามารถรับฟังได้ที่โชว์รูม Deco 2000 @Amarin Plaza โทร. 0-2256-9700. VDP