วิศัลย์
วิศัลย์ เอกธรรมกุล :

ยินดีต้อนรับสู่คอลัมน์ Wison Judge Wisdom Judge ลำดับที่ 95 ครับ

ฉบับนี้ ผมพาเที่ยวชมงานแสดงเครื่องเสียง มิวนิกไฮเอ็นด์โชว์ ที่เยอรมนีครับ งานมีขึ้นในระหว่างวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2017 ซึ่งผมและคณะทัวร์โชคดีมาก เพราะอากาศที่พยากรณ์เอาไว้ว่าฝนตกหนัก กลับไม่ตกเลย มีครึ้มนิดหน่อยและก็ละอองฝน อุณหภูมิระหว่าง 14 – 24 องศาเซลเซียสนี่ ดื่มเบียร์เพลินเลย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นับจากนี้ น่าจะเรียกได้ว่างานแสดงเครื่องเสียงไฮเอ็นด์แท้ๆ ระดับโลกที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุด คงจะต้องยกให้งานที่มิวนิกล่ะครับ เนื่องจากงานที่อเมริกาค่อนข้างกระจัดกระจายทั่วสหรัฐฯ และ CES ก็ไม่เน้นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์กันแล้ว ทั้งทำเลที่ตั้งก็ต้องยอมรับว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างเอเชียและอเมริกาในระหว่างการเยี่ยมชมงาน ผมได้มีโอกาสพบปะผู้นำเข้าเครื่องเสียงจากเมืองไทยมากมาย ซึ่งแปลกแต่จริงว่าอยู่เมืองไทยด้วยกันแท้ๆ ยังหาเจอตัวกันยากกว่าด้วยซ้ำ

ไฮไลต์ของงาน มิวนิกไฮเอ็นด์โชว์ ผมขอสรุปให้ฟังพอสังเขปได้เป็นจำพวก ดังนี้… พวกแรก คือ ได้แก่พวกผู้ขายไอเดีย เขามีนวัตกรรมอยู่ในมือ เพียงแต่ต้องการหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผู้ผลิต หรือการต่อยอดในการพัฒนาตัวต้นแบบที่เขาคิดค้นขึ้น เรียกว่าขายสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาครับ เห็นได้ชัดจากเฟซบุ๊กไลฟ์ที่ท่าน บก.นาวี อัพโหลด ที่นาย WJ คุยกับฝรั่งที่ทำเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวต้นแบบที่ล้ำมาก ชื่อว่า MagLev กล่าวคือ ตัวแพล็ตเตอร์ลอยอยู่บนอากาศด้วยสนามแม่เหล็ก ไม่ต้องมีแรงเสียดทานมาเกี่ยวแล้ว หลักการเดียวกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนที่เซียงไฮ้ หมุนไปอย่างนิ่งและโคตรเท่ แรงสั่นสะเทือนก็จะเกิดขึ้นจากการครูดของหัวเข็มกับร่องแผ่นเท่านั้น ตอนหยุดและตอนเริ่มจะมีเสามารองรับแพล็ตเตอร์ เมื่อวางโทนอาร์มและหัวเข็มลงบนแผ่น แพล็ตเตอร์จะค่อยๆ ลอยตัวพร้อมๆ กับเสารับจะค่อยๆ หดตัวลงจนเรียบ มีสีหลายสีด้วย เป็นการบอกสถานะการทำงาน คือผมรอมานานแล้วล่ะคอนเซปต์นี้ รีบๆ ทำเข้าจะได้อุดหนุนกัน ข้อจำกัดข้อหนึ่งที่ต้องคิดค้นกันต่อคือ มันใช้หัวเข็ม MM เท่านั้น เพราะ MC อาจจะอ่อนไหวกับสนามแม่เหล็กที่ขับเคลื่อนแพล็ตเตอร์ 

พวกที่สอง คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ไฮเอ็นด์ที่ต้องตอบโจทย์ Life Style ที่แม้แต่ลำโพง Goldmund ของ Swiss ที่จัดเป็นไฮเอ็นด์ตัวพ่อยังต้องทำลำโพงที่รองรับ Streaming เลยครับ เราจะเห็นการออกแบบลำโพงที่มีแอ็กทีฟแอมป์ในตัวมากขึ้น พร้อมๆ กับการ Streaming ด้วย Wi-Fi ต่อไปนี้ ฟรอนต์เอ็นด์อาจจะอยู่บนไอโฟนเท่านั้น ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่แม้แต่ลำโพงที่เคยเรียกตัวเองว่าไฮเอ็นด์ วันนี้ก็ต้องมาคบกับลำโพงที่ไม่ต้องใช้สายลำโพงและไม่ต้องใช้แอมป์มาขับแล้ว กลายเป็นลำโพงมีปลั๊กไฟ แล้วก็แอมป์ + โมเด็ม + DAC ในตัว (แล้วมันจะมีอะไรให้เล่น? เผลอๆ แถม DSP ในตัว ไม่ต้องเซ็ตอัพลำโพงกันแล้ว หมดกันแล้วพี่น้อง)

พวกที่สาม คือ พวกเทิร์น-เทเบิลราคาแพงที่มีแนวโน้มในการใช้ระบบลมมาเป็นระบบกันสะเทือนแบบลอย และระบบดูดแผ่นที่กว้างขวางมากขึ้น ดูไปแล้วจะมาท้าชนกับเครื่องเล่นที่ใช้น้ำหนักตัวหรือขนาดใหญ่ (เกินไป) เพราะความยุ่งยากหรือความเป็นมิตรกับผู้ใช้เป็นปัจจัยผลักดันหลัก ส่วนโทนอาร์มก็มาแนวใหม่ครับ ออกจะไปทางยาวขึ้นไปเรื่อยๆ อีกหน่อยโทนอาร์มมาตรฐานจากเดิม 9” คงจะเป็น 10” ขึ้นไปแล้ว ส่วนพัฒนาการในเรื่องอื่นก็จะเป็นความสวยงามของการขึ้นรูปด้วยโลหะโดยใช้ CNC วัสดุทำแท่นเป็นพวกหินหรือลายไม้สวยงาม เน้นการติดตั้งโทนอาร์มได้หลายตัว

พวกที่สี่ อุปกรณ์ดิจิทัลแอมป์มีบทบาทสูงสุด ได้เปรียบตรงที่มี DAC และ Preamp ในตัว Streaming ได้ ประสิทธิภาพสูง คงจะต้องจับตาดูกันไปครับ ร้อนๆ หนาวๆ เพราะด้วยความที่มีขนาดเล็ก ความร้อนต่ำจะโดนจับยัดไปอยู่ในลำโพงนะ จะบอกให้ 

พวกที่ห้า บริษัทเครื่องเสียงที่ผลิตทุกอย่าง เช่น เคยทำแต่ลำโพงก็มาทำแอมป์ ทำสายไฟ สายสัญญาณ สายลำโพง ฟรอนต์เอ็นด์ เทิร์นเทเบิล ว่าไปยันชั้นวางเครื่องเสียง อันนี้ผมก็งงนะ คงจะเอาไว้รองรับคนฟังเพลงมากกว่าคนเล่นเครื่องเสียง ซึ่งแน่นอนว่า คนมีตังค์น่ะครับ เป็นกลุ่มที่เชื่อถือคำว่า Compatible มากกว่า Matching ข้ามสายพันธุ์ แม้แต่ Mark Levinson ปีนี้นำเสนอเทิร์นเทเบิลกะเขาด้วย พื้นฐานมากจาก VPI ผ่านการซิ่งบางจุดครับ 

พวกที่หก อะคูสติกจูนนิ่ง หรือทรีตเมนท์ อันนี้ผมดู แล้วยังไงก็ไปได้สวยครับ ได้เห็นดีไซน์ที่แปลกตาหลากหลายมาก ออกแบบให้สวยงามกลมกลืนไปกับห้องฟังได้ ดูยี่ห้อ Artnovion นั่นไง 

พวกที่เจ็ด วินเทจ รวมไปถึงแอมป์หลอดที่จัดวงจร แบบเก่า (แต่ใช้ของใหม่), ลำโพงฮอร์นแบบเก่า (แต่ทำใหม่) พวกนี้ยังคงมีจุดยืนที่ชัดเจน และผมคงต้องบอกว่า ฟังไป ฟังมาอยู่สองสามวัน ห้องที่ใช้ซิสเต็มยี่ห้อ Einstein ผมฟังแล้วชอบที่สุดในงานเลย เอ้า! ตัวแทนจำหน่ายบ้านเรา เช็คบิลด่วน! อีกห้องก็โชว์ลำโพงฮอร์นของ Western Electric นำเสนอโดยชาวญี่ปุ่น นั่นก็ยิ่งใหญ่เช่นกัน 

พวกที่แปด คือ หูฟังและเฮดแอมป์ไฮเอ็นด์ อันนี้บอกตามตรงว่าผมยังไม่เก็ตครับท่าน กำลังขับนิดเดียว หูฟังก็ นิดเดียว ราคาซื้อรถเก๋งได้เลย ที่ดูจะแย่กว่า คือ OEM มันน่าจะมาจากแหล่งเดียวกันครับ แถวบ้านเรานี่เอง นั่งเครื่องบินสองชั่วโมงก็ถึงแล้ว 

พวกที่เก้า ของเล่นต่างๆ เช่น เครื่องล้างแผ่นเสียง ดูจริงจังมากครับ ราวกับคีออส เหมาะกับร้านขาย LP ครับ คิดค่าบริการล้างแผ่นก่อนส่งมอบแผ่นละ 50 บาทก็จะดี ไม่น้อย บวกไปกับราคาแผ่นเลยก็ได้ เปลี่ยนซองในใหม่ ให้เลย คิด 100 หนึ่ง ดูของ HANNL washing station ครับ ที่น่าสนใจคือ อุปกรณ์เครื่องกรองไฟฟ้าที่ผมว่า จะโดดเด่นกลายเป็นซิสเต็มหลัก และจะลดบทบาทของ สายไฟเอซีราคาเส้นละหลายแสนบาทแน่นอน อย่างที่เก็บ รูปมาเป็นยี่ห้อ Stromtank เห็นแล้วยังอยากได้เลยครับ อีกตัวก็ Torus Power มีโชว์ในงาน TAV ด้วย WJ คงจะ ได้ทดสอบเร็วๆ นี้ ที่น่าอัศจรรย์ก็พ่อมด van den Hul ยังทำอุปกรณ์แอ็กทีฟขึ้นมาหนึ่งตัวต่อกับลำโพง พอแอ็กทีฟแล้วมันทำให้อิมเมจและซาวด์สเตจดีขึ้น อย่างน่าตกใจ เป็นเดโมที่น่าสนใจครับ 

คราวนี้ มาดูว่ามีอะไรใหม่ที่พอจะนำเสนอได้บ้าง ขอเริ่มจากค่าย Project ครับ เทิร์นเทเบิลครบรอบ 75 ปี ชุบทองกับลายไม้ตัดกันดูเลอค่า และมีการยุ WJ ให้จองเป็นระยะ อืมม์ มันก็สวยจริงๆ แหละครับท่าน ถัดมาค่าย Symphonic Line ที่มาครบไลน และแอมป์ตัวใหม่ใหญ่มาก งานตัวถังนี่เรียบง่ายมากมาย คงจะเน้นเสียงแหละครับ ชัดเจนดี เทิร์นเทเบิลของ Clearaudio นี่ก็ต้องมาออกงาน เพราะบ้านตัวเอง วางเรียงกันทั้ง Master Innovation และ Statement นี่ยังกะคอนโดริมแม่น้ำเลย อลังมาก ค่าย Ayon Audio ก็มา ซิสเต็มดำทะมึน ดุดันมาก แอมป์ Hafler และก็ Dynaco ที่เคยผลุบๆ โผล่ๆ ก็ดูราวกับฟื้นจากหลุมขึ้นมาอีกครั้ง เสียดายที่ไม่ได้ฟังเสียง เพราะตั้งโชว์อย่างเดียว เทิร์นเทเบิล Acoustic Signature มากับการติดตั้งโทนอาร์มถึง 4 ตัว เอาเข้าไป ไม่อยากจะคิดเลยว่าต้องใช้โฟโนกี่ตัวกันถึงจะรองรับมันได้ เทิร์น-เทเบิลของ Kuzma รุ่นใหม่มาพร้อมกับ Linear Tonearm ก็น่าสนใจครับ 

WJ คิดว่าอินทิเกรตแอมป์ที่น่าสนใจอีกตัวในงานน่าจะเป็น Sugden Master Class IA-4 โหงวเฮ้งเนื้อตัวดูดีมาก คงต้องมีลุ้นว่าจะเอาเข้ามารึเปล่า ค่าย EMT ก็น่าสนครับ เทิร์นเทเบิลหยุดทำแล้ว ขายแต่หัวเข็มและก็โฟโน นี่ก็เหลือรับทานแน่นอน เห็นแท่น EMT ตัวใหญ่แล้วน้ำลายหกครับท่าน เชิญทัศนาเอาเอง ห้อง Avangarde นี่ก็น่าสนใจครับ เบสต่ำระดับ 20Hz ของออร์แกนท่อในโบสถ์นี่ โชว์ศักยภาพของซิสเต็มโดยแท้ ทำแอมป์เองด้วยครับ อันนี้ก็คงไม่แปลก ไหนๆ ก็ทำแอมป์ ขับซับแล้วก็เอากลางแหลมอีกหน่อยคงจะไม่เป็นไร สอบ ผ่านครับสำหรับห้องฟังที่มีแต่กระจกยังเซ็ตได้ขนาดนี้ ที่ดู แล้วน่าตื่นตาตื่นใจเห็นจะไม่พ้นแอมป์ของ Naim Audio รุ่น Statement ที่ใหญ่โตมโหฬาร ทิ้งภาพลักษณ์ความ เรียบง่าย กะทัดรัดออกไปแบบจำไม่ได้ ข้อสังเกตอีกอย่าง ในงาน คือ มีการใช้สินค้าของ Nagra Swiss หลายห้อง มากๆ น่าจะสปอนเซอร์อยู่พอสมควรเลย ส่วนขาประจำไม่ว่าจะเป็น Vitus, Raidho, MBL ก็มากันครบ ค่าย Dan D’Agostino ก็แจกของเพียบ ทั้งโมโนแอมป์รุ่นเรือธงตัว ใหม่ที่ทราบมาว่า บ้านเรามีคนสั่งไปประจำการเรียบร้อย โฟโนสเตจและปรีที่มี DAC รุ่นใหม่ที่สวยงาม เท่ากับว่า ครบไลน์แล้วครับ ขาดแต่ลำโพง ลำโพง Heco จาก เยอรมนีที่หายไปนาน มากับดีไซน์ใหม่ที่ตัวแทนบ้านเราก็ สอยมาเรียบร้อย ได้โชว์ในงาน TAV ที่ผ่านมาด้วย เสียงดี ราคาดีด้วย ขอจบกับ Ayre Acoustic ที่มากับ Series 8 ที่ดูเขี้ยวเล็บแล้วไม่ธรรมดา ก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ทดสอบ ต่อไปครับ 

ทริบนี้ก็จัดว่าแฮปปี้มาก ผมอาจจะสาธยาย บรรยากาศในงานได้ไม่ครบ ก็ขอใช้ภาพถ่ายจากกล้อง Leica M เป็นสื่อนำเสนอครับ ฉบับนี้ นาย WJ คงต้องลา ไปก่อน แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 245