ธรรมนูญ ประทีปจินดา

“รักการเล่นเครื่องเสียงต้องเดินงานโชว์ แน่นอนชอบอ่านหนังสือเครื่องเสียงด้วย ติดตามอ่านคอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE ที่อ่านมิใช่เพียงอยากรู้ว่าคนอื่นเล่นกันอย่างไร แต่ที่ชอบเพราะเจ้าของห้องทุกท่านมีเรื่องราว น่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องฟังที่ใช้เครื่อง เสียงชุดใหญ่ก็ได้ อย่างห้องของคุณทรงพล ดูลงตัว สวย บรรยากาศอบอุ่น ชอบแนวคิดของท่าน ส่วนของคุณอู๊ด ขอนแก่น เรื่องเล่าของตุ๊กแกห้อยหัวทำให้ได้ลำโพงในฝัน บทความ ถ่ายทอดได้เป็นธรรมชาติมาก หรืออย่างของคุณวสันต์ที่ต้องไปหาพื้นที่ปลูกบ้านทำห้องฟังใหม่ ที่คุณน็อท เนทีฟ เป็นคนเซ็ต หรือของคุณ โจ้ ซาวด์บ๊อกซ์ นั่นก็เป็นไอเดียดี อย่างที่ไปท่องคาราวานก๊วนเครื่องเสียง ผมว่าดีนะ คงสนุก คนคอเดียวกันทั้งนั้น นี่ถ้าว่างจากภารกิจยังอยากไปด้วยเลย อย่างที่คุณธรรมนูญบอกว่า ด้วยสถานะทางสังคม หมออาจไม่สามารถไปในสถานที่อโคจรได้เหมือนพวกวิศวกรหรืออาชีพอื่น เลยต้องหันมาเล่นเครื่องเสียงนั้น จริงเลย” …แค่คำโปรยก็น่าสนใจแล้วครับ

เมื่อถึงสถานที่นัดหมายที่สองของบ้านริม ทะเลสาบอีกฟากของเมืองกรุง เพื่อถ่ายทำห้องฟัง หลักของการเยี่ยมห้องฟังครั้งนี้ เราเดินผ่านซุ้มกล้วยไม้ พบนายหญิงของบ้านกำลังชื่นชมกับพรรณไม้ อยู่พอดี เดินอ้อมตัวบ้านออกไปด้านข้างเข้าไปสู่ ทางเข้าห้อง เป็นประตูบานกว้างของห้องฟัง เสียง เพลงโปรเกรสสีฟร็อกที่มีไดนามิกส์แน่นๆ ของเพลง Another Brick of the Wall ลอดออกมาทันที ที่เปิดประตูบานใหญ่เข้ามาในห้อง เหมือนกับทราบว่า น้านูญขาร็อกจะมาเยี่ยมบ้าน เพลงจากอัลบั้ม Pink Floyd: The Wall ที่เป็น Press แรกๆ ถูกเล่นอยู่ บนเทิร์น Kuzma Stabi XL2 สีบรอนซ์ทองตัวเขื่อง กับชุดเครื่องเสียงระดับ Super Hi-End ด้วยลำโพง Focal Grande Utopia EM สีขาว เป็นลำโพงบิ๊กไซส์ สูงเลยหัวของผมทีเดียว ชุดเครื่องใหญ่แบบนี้ให้เสียง สด ดุดัน กว่าทุกครั้งที่เคยได้ยินเสียงของลำโพงคู่นี้ ไฮไลต์อยู่ที่ห้องฟังไซส์บิ๊กขนาด 6 x 9 x 3.2 เมตร สร้างแยกออกอิสระออกจากตัวบ้านใหญ่ ถือเป็น ห้องฟังในฝันของนักเล่นเครื่องเสียงทุกคน …จะเป็น ภาพเปิดของคอลัมน์นี้ 

ด้วยเพราะคอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE เป็นของคู่กันกับนิตยสารเครื่องเสียงฉบับนี้ เนื่องจากได้รับความสนใจของผู้อ่านอย่างมาก เพราะเป็น คอลัมน์ที่ทุกคนอ่านได้ ไม่ว่าจะชอบวินเทจ แผ่นดำ หรือสื่อดิจิทัล ชุดเล็ก หรือชุดใหญ่ ไม่ว่าซิสเต็มที่เล่น จะใหญ่กว่า หรือใหญ่ไม่เท่าในหนังสือ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเราได้เรียนรู้ปรัชญาและแนวคิดของเจ้าของ ห้องแต่ละท่านที่ได้เข้ามาเยือนคอลัมน์เยี่ยมห้องฟังนี้ 

คุณนาวี บก. บห. นิตยสารออดิโอไฟล์/วิดีโอ ไฟล์ ตั้งเป้าไว้ว่าจะคงไว้ซึ่งคอลัมน์เยี่ยมห้องฟัง โดยไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในแต่ละฉบับก็จะมีห้องฟัง สลับสับเปลี่ยนเข้ามา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดอรรถรสใน การเล่าเรื่องที่มีความหลากหลาย สัมผัสได้ถึงอารมณ์ ความสุขของเสียงดนตรีที่รัก สมกับความทุ่มเทใส่ใจ ของท่านเจ้าของห้องฟัง 

ทว่าบางฉบับก็ต้องขออภัยที่คอลัมน์นี้อาจว่าง เว้นไปบ้าง เพราะโอกาสอาจไม่อำนวย เนื่องจาก การนัดหมายกว่าลงตัวนี่ไม่ง่ายเหมือนกันนะครับ แต่สัญญาครับ ว่าจะพยายามให้มีความต่อเนื่องทุกฉบับ สำหรับฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้ เราได้รับความกรุณาจากท่านเจ้าของบ้าน ซึ่งขอนุญาตที่จะ ไม่เอยนาม เนื่องจากท่านของดการออกสื่อ โปรดติดตามได้เลยครับ 

ตัวตน 

ผมเป็นคนหาดใหญ่ เป็นหมอเฉพาะด้าน“มีบุตรยาก” เป็นบริษัทของตัวเอง มีสามสาขา สาขาที่สี่ที่ขอนแก่น กำลังตามมา เรามีบริษัทรับสิ่งส่งตรวจ (เด็กหลอด แก้ว) จากคลินิกอื่น เท่ากับเรามีห้าออฟฟิศ มีฮอบบี้ เล่นเครื่องเสียงมานานตั้งแต่สมัยเรียนประถมปลาย เล่นแอมป์ DIY มาตั้งแต่อายุราวๆ สิบขวบเอง ขณะเดียวกันก็เล่นกีฬา ฟุตบอลโกล์หนู บาสเก็ตบอล บางช่วงก็เห่อเทนนิส บางทีก็ไปเล่นแบดมินตัน พอเล่นได้ แต่ไม่ดีสักอย่าง สุดท้ายมาเล่นกอล์ฟ เพราะอายุมากขึ้น สอนเราเยอะเลย การวางแผน รู้จักรุก รู้จักถอย ไม่บู๊ซะทีเดียว ในก๊วนกอล์ฟที่เราเล่นด้วย กันจะรู้ได้เลยว่าแต่ละคนมีนิสัยเป็นอย่างไร ใจร้อน จอมวางแผน เป็นคนละเอียด รอบคอบ สุดท้ายก็เลิก กอล์ฟเพราะไม่มีเวลา มาจบว่ายน้ำ พยายามว่าย ทุกวันเพื่อสุขภาพ แล้วก็เล่นเครื่องเสียง ส่วนฮอบบี้ อื่นก็ไปเที่ยวกับครอบครัว จริงๆ ในทริปพวกนั้น มักมีงานแฝงอยู่เกินครึ่งด้วยทุกครั้ง 

ฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก 

จะเรียกว่าถูกหล่อหลอมมาแต่เล็กด้วยเสียงเพลง ก็ได้ พี่สาวมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง เปิดเพลงลีลาศ กับเพื่อนๆ ของเขา เราเองมีวิทยุกระเป๋าหิ้ว จำได้ว่าด้วยวัยเพียงสิบขวบ หัดเล่นเครื่องเสียง DIY พอดีมีเพื่อนเรียนเทคนิค ปวช. ช่างอิเล็กทรอนิกส์ก็ เลยให้เขาช่วยต่อให้ เป็นแอมป์บ้านหม้อ เขาก็ได้ลองวิชา ต่อตู้ลำโพงวางพื้นเสียด้วย งบน้อยก็ต่อลำโพง ตู้เดียวเป็นโมโน ว่างั้น แต่ราคาไม่แพงได้ ตู้ใหญ่ด้วย แรกๆ ที่ได้ฟังก็ร้องอู้ ว่าเสียงมันใหญ่ดี ก็เล่นมาตลอด จนเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ก็เล่นน้อยลง โดยเฉพาะช่วงปีสองต้องเรียนหนัก มาก ถือว่าห่างไป พวกอาจารย์ทราบว่าเราชอบ ก็ได้ แต่เพลงนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับขาดไปเลย เนื่องจากที่บ้านเปิดเป็นผับจึงรู้จักเพลงเยอะ และได้มีโอกาสไปดูดนตรีสด หูก็คุ้นชินกับดนตรีสดด้วย ใจก็ยังรักเสียงเพลง อย่างช่วงปีแรกของมหาวิทยาลัย ผมกับพี่ชายขึ้นมากรุงเทพฯ ไปขนเทป Peacock จากแถว คลองถม ลงไปขายที่หาดใหญ่ เปิดแผงเทปใช้พื้นที่ ตรงหน้าบ้านนั่นแหละ ขายได้ไม่ได้ไม่มีปัญหา ก็เอาไว้ ฟังเอง เลยรู้จักเพลงเยอะ อ่านหนังสือเครื่องเสียงมา นานมาก สมัย Hi-Fi Stereo โน่นแน่ะ ผมเป็นสมาชิก หนังสือออดิโอไฟล์มาอย่างยาวนาน เคยมาเยี่ยม ห้องฟังที่ ADP ด้วยนะ นานมากแล้ว 

ย่างก้าว ของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ 

คนส่วนใหญ่ก็คงมองที่ลำโพงเป็นสิ่งแรก เพราะ ว่าสไตล์เสียงของดนตรี ลำโพงเป็นตัวถ่ายทอด ออกมา มักมีบุคลิกของแต่ละค่ายชัดเจน อย่างเช่น ลำโพงอังกฤษ อเมริกัน บอกตัวตนของสินค้าชัดเจน ส่วนแอมป์ให้รายละเอียด ผมได้ลำโพง Rogers LS3/5a มา ตัวแรกต้องบอกว่า มันจุดประกายให้ผม เลย เสียงดีมาก เสียงสมจริง เรารักมันมาก ใช้แอมป์ Adcom GFA-555 Professional ตัวนี้ใช้นานเลย ได้ มาจากเฮียฉ่าง ร้านอัษฎางฐ์ เสียงสดๆ ผมชอบลำโพง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยมาก เอาคร่าวๆ Celestion SL6, Infinity, JBL, AR, Altec Lansing ก็เคยใช้ ผ่านมาพอควร แต่ก็ไม่เคยถึง Mark Levinson, Watt Puppy สักที แล้วก็ต้องหยุดเล่นไป เพราะไม่มีเวลา 

ทำห้องฟัง 

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วนี่เอง หันกลับมาเล่น เครื่องเสียงใหม่อีกครั้ง ตอนนั้นคบกับบ้านทวาทศิน ใช้ลำโพง NHT ตัวใหญ่, NAD Master Series ก็ถือว่า เป็นซิสเต็มใหญ่ของเขาแล้ว เราเคยมีประสบการณ์ ไปดูคอนเสิร์ตในคอนเสิร์ตฮอลล์ดีๆ ประมาณว่าถ้า จะเล่นเครื่องเสียงต้องมีห้อง เพราะว่าเราชอบเปิด ดังๆ เกรงจะไปรบกวนคนอื่น ก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับอะคูสติกส์ห้องฟัง ไหนๆ จะทำห้องก็ให้ความสำคัญ กับอะคูสติกส์ห้องฟังด้วย ตอนนั้นบ้านอยู่ที่หมู่บ้านแมกไม้ ตรงรามอินทรา แถวสวนสยาม ก็ให้ร้านที่รับ ทำห้องฟังมาทำ เราก็เห็นเขานำเสนอว่าเป็นหน้าที่ ของเขา ดิฟฟิวเซอร์ เบสแทร็ป ต้องอยู่ตรงไหน เชื่อถือเขาว่าน่าจะเป็นมืออาชีพ แต่งานที่ออกมามันไม่ใช่ อย่างที่เราฝันเลย ตั้งแต่วัสดุจนถึงฝีมือช่าง ต่างกับ ของที่บ้านลิบลับ เรื่องเหม็นสี กลิ่นกาวอยู่สองเดือน ก็เข้าใจอยู่ รู้สึกผิดหวัง รับไม่ได้กับงานที่ออกมาเลย โดยเฉพาะพื้นนี่ เดินก๊อบแก๊บเลย ต้องหาพรมมาปู ซึ่งไม่ชอบเลย เมื่อไม่ถูกใจซะแล้ว ประกอบกับไม่ทันไร ไม้ที่ทากาวไว้เริ่มร่อนหลุดออกมาก็เลยรื้อออก แต่ก็ ยังเล่นอยู่ในห้องเดิมดิบๆ แบบนั้น ใช้ได้ปีหนึ่งเท่านั้น 

สำหรับเครื่องเสียง เริ่มย่างก้าวเข้าสู่ไฮเอ็นด์ แบบอ่อนๆ จัดชุดเครื่องเสียงให้ด้วย Cary SLI-80, เครื่องเล่นซีดี California Audio Labs, ลำโพง Aurum Cantus, เทิร์นเทเบิ้ล Clear Audio ประมาณนี้ เซ็ตอยู่ในห้อง 4 x 7.5 เมตร ห้อง ค่อนข้างยาว ต่อมาผู้ให้บริการรายใหม่ ก็มีคุณตั้ม ร้าน Audi เข้ามาเสนอให้บริการ เริ่มขยับเอา ลำโพง Ariel T20 เป็นของมือสองเข้ามา แอมป์ก็ใช้ ของ Ayre V5 กับปรี K5 เครื่องเล่นซีดี CX-7 แล้วก็ CX-5 ซึ่งเปลี่ยนไปชัดมากเลย ตอนนั้นเริ่มเล่น เทิร์น Kuzma แล้วก็เล่นเทิร์นมาตลอด 

ห้องฟังในบ้านหลังใหม่ 

บ้านแมกไม้เดิมทีมีสองหลัง หลังหนึ่งมันเก่ามาก แต่อีกหลังยังไม่เก่านัก แต่เราอยากให้เป็นหลังเดียว ทางสถาปนิกให้คำแนะนำว่าต้องทุบทำเป็นหลังเดียว ทั้งๆ ที่ยังรักอยู่ เขียนแบบเสร็จ โชคดียังไม่ได้ตอกเสาเข็ม ระหว่างรอทำก็ย้ายมาพักอยู่ที่บ้านเล็กๆ แถวๆ นี้ ก็ไม่มีห้องฟังไม่มีห้องฟังก็ห่างไปนิด ไม่ถึงกับหยุด ยังได้ซื้อ Vivid G1, Krell เป็นรุ่นโมโนบล็อก จำรุ่นไม่ได้ พอเขาเปิดเฟสใหม่ริมทะเลสาบ ก็เลยตัดสินใจซื้อ ตรงนี้จริงๆ เป็นแบบบ้านมาตรฐาน แต่เอาเข้าจริง เหลือแต่โครง เราปรับแบบใหม่ทั้งหมด ทั้งพื้นที่ ใช้สอยและอินทีเรียร์ ส่วนห้องฟังตอกเข็มพร้อมตัว บ้านเลย ได้สัดส่วน 6 x 9 x 3 เมตร บ้านนี้เสร็จ ประมาณต้นปี 2013 ห้องนี้คุณนทีจาก N Acoustics มาทำให้ออกมาหน้าตาแบบที่เห็นนี่แหละ 

ว่าด้วยเรื่องเครื่องเสียง 

จริงๆ เราผมไม่สนใจว่าจะเป็นของของใหม่หรือมือ สอง หรือจำกัดค่ายใดค่ายหนึ่ง ดูสิ ผมมีเครื่องเสียง หลายค่าย เพียงแต่ควรต้องรู้ที่มาที่ไป เจ้าของเก่า เปลี่ยนเพราะต้องการอัพเกรด เป็นต้น รู้ประวัติว่าเขา ใช้มาไม่มีปัญหามานะ อีกอย่างผมซื้อกับสมชาย เขา รับผิดชอบให้ แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาเลย พอได้ห้องก็เริ่ม หาเครื่องมาเล่น อย่างลำโพงคู่ใหญ่ Focal Grande Utopia EM เนื่องจากว่าเราเคยใช้ลำโพงคู่เดิม เป็น Focal มาแล้ว ซึ่งได้มาจากคุณพิชัย ซึ่งผมก็ชอบนะ พอเราเห็นว่ามีตัวใหม่ออกมา มันสวยมาก ไปเห็น ที่ฮ่องกง ยังไม่ได้ฟังเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่ได้เปิด แต่ผมก็มั่นใจว่ายังไงต้องดีแน่ ไม่ลังเลที่ตัดสินใจเลือกคู่นี้เลย ที่เลือกสีขาวเพราะที่บ้านชอบสีขาว ดูสิ รถทุกคัน สีขาวหมดเลย ถ้าเลือกได้ ก็รออยู่หลายเดือนเหมือนกัน เครื่องเสียงแม้ว่าเสียงดีต้องสวยด้วย ไม่สวยไม่ซื้อหรอก เรานั่งมองมันทุกวันเบื่อแย่เลย 

Wilson Duette นี่ อยากได้ลำโพงสำหรับ ห้องนอน เพราะสมัยก่อนห้องนอนที่บ้านเป็นลำโพง ฝังฝ้า NHT ของโคไนซ์ เอาเข้าจริงๆ ชุดเครื่องเสียง ในห้องนอนเป็นอะไรที่ใช้มากที่สุด ก็เลยปรึกษาคุณ สมชาย ก็มี Wilson Audio Duette 1 เป็นของเดโม ใช้กับ Boulder 865 เหมือนของน้องต้านั่นแหละ CD Ayre CX7 แต่ปรากฏว่าสีมันแตกลายงา มีสอง อ็อปชั่นคือ เอาไปซ่อม หรือเทรดเป็น Wilson Duette 2 มา พอดีที่ห้องนอนที่คอนโดสาทรมีปรีกับ เพาเวอร์ Moon เป็นของเดโมเหมือนกัน เนื่องจาก เราจะไม่อยู่ที่นั่นก็เอามา แต่ลำโพง Avalon มันใหญ่ เกินไปก็เลยไม่เอามา จึงขายไป ปรากฏว่าเสียงดีเลย แต่บังเอิญเพาเวอร์เสีย ก็เปลี่ยนเพาเวอร์ใหม่ ทีนี้เลย เอาซีดีมาด้วยเพื่อจะให้ลุคเข้ากัน จากเดิมปรี 740 ไป เอาเพาเวอร์ซัพพลายมาเพิ่มเพื่อจะจ่ายไฟให้กับทั้งปรี และซีดีแบบ 1:2 เอาเข้าจริงๆ ทำไม่ได้ จึงต้องขยับไปเป็นรุ่น 850 ของใหม่เลย แล้วแยกเพาเวอร์ซัพพลาย ออกจากกันอย่างที่เห็นนี่แหละ 

ตอนนั้นเรามีแอมป์อยู่แล้วจากคอนโดสาทร เป็น Boulder ซีรี่ส์ 2000 Power กับปรีรุ่น 1000 ก็หาเพาเวอร์แอมป์มาเพิ่มอีกตัว กลายเป็นไบแอมป์ เลย ก็ชอบนะ เล่นได้สักปีหนึ่ง จากนั้นเราก็เปลี่ยน ปรีเป็นรุ่น 2000 ซึ่งดีมากขึ้นเยอะ ปรีมีความสำคัญ มาก เข้าใจว่าได้รายละเอียด พอดี Boulder รุ่น 3000 ออกมาสักระยะหนึ่งก็อยากลอง ลองไปลองมาก็ไม่ได้ คืน ผมชอบ Boulder ตรงที่พลังและความสงัด เสียง มีความละเอียด ลุคมันสวยงามมาก 

Dan D’Agostino เพาเวอร์จับมือสองมานะ เขาโทรมาบอก ผมไม่ลังเลเลยครับ เห็นบอกว่า DJ EK รออยู่ ถ้าผมไม่เอาเขาเอาแน่ อ่านหนังสือยังขำเลย คุณ EK แกให้สัมภาษณ์ไว้ในออดิโอไฟล์ นี่แหละ ตอนที่ซื้อตอนนั้นไม่มีปรี ก็ขับตรงกับ Puccini แต่เมื่อมีประสบการณ์ว่า ถ้าไม่มีปรี รายละเอียดมันหายไป พอดีว่า Dan D’Agostino ได้ตัวแทนใหม่ ก็เลยสั่งปรีใหม่กับคุณบอลมาเพิ่ม จะได้เข้ากัน มันสวยมาก ผมว่าลุคไปได้ดีกับ Vivid Giya นะ 

อย่างสาย Odin มีคนเทรดเข้ามา เดิมผมใช้ Vahalla 2 อยู่ แล้วก็เอาไปเปลี่ยนกับ Vahalla 1 สินค้ามือสองสภาพดีๆ ถ้ามีโอกาสเราก็จับไว้ ตอนนั้นมีลิสต์อยู่เพียบ ผมลงมาทีหลัง พอเหลืออยู่ บ้าง ไม่ทันก็ไม่มีปัญหา ต้องปล่อยวางบ้าง จะได้ ไม่เครียด เดี๋ยวก็มีมาอีก 

ส่วนเพลเยอร์ตอนนั้นเราใช้ Ayre CX5 แต่มันเสีย เขาเสนอ dCS Scarlatti ใช้มาราวห้าปี เพื่อนเราซื้อ Vivaldi ก็ชมใหญ่ โอกาสอำนวย เราเลยเทรดไปเป็น Vivaldi ซะเลย เล่นไฟล์เพลงได้น่าทึ่ง มาก ต้องยอมรับว่าเล่นไฟล์ได้เนียนกว่าที่เคยได้ยิน จากเครื่องเล่นตัวอื่น 

ชั้นวาง Still Point นี่ ลงไปดูที่ร้าน Muse บ่อยๆ ก็เห็นอยู่ ไม่ตัดสินใจซื้อ เพราะมันแพงเกิน จนกระทั่งพบว่า สมชายบอกว่าเดี๋ยวจะไปส่งชั้น Still Point อีกวันก็ไปส่งอีก เอ๊ะ! มันขายดีแฮะ ต้อง มีอะไรดีสักอย่าง เราเองก็เบื่อๆ ชั้นชุดเก่า ก็สั่งเอา เข้ามา ยอมรับว่านอกจากสวยแล้ว เสียงก็ดีขึ้นด้วย ได้ความสงัดดีมาก 

ห้องฟังที่คอนโดสุโขทัย 

เดิมใช้ Ayre Series 5 ต่อมาเปลี่ยนไปเป็น MXR ตั้งแต่อยู่ที่แมกไม้ ตอนนั้นใช้ลำโพง Vivid B1 อยู่ บางทีไม่ได้ใช้ก็เก็บไว้ ส่วนเครื่องเล่นซีดีได้ Accuphase 900+901 มา สภาพดีมาก ก็สะสมไว้ ส่วนลำโพงก็เปลี่ยนมาเป็น Duette 2 

ห้องด้านล่าง เนื่องจากเรามีแอมป์ Boulder ซีรี่ส์ 2000 Power เหลืออยู่สองชุด ก็เลยเทรดเพาเวอร์แอมป์ออกชุดหนึ่ง ไปแลกปรีรุ่น ซีรี่ส์ 2000 เข้ามาจับคู่กัน ตอนนั้นเราใช้ Gand Utopia มือสองก็โอเคอยู่แล้ว แต่เราใช้มานาน อยากลองตัวใหม่ ก็ไปเอา Wilson XLF มา ใจมัน ชอบ Wilson อยู่แล้ว ไม่รู้เพราะว่าใช้ไดรเวอร์ของ Focal ด้วยหรือเปล่า หูเราชิน มันก็เลยชอบ แต่ที่แน่ๆ มันเท่ดี ส่วนเพลเยอร์ก็เอา dCS Rossini มาเล่น ผมว่าดีนะ เล่นไฟล์ได้เนียนทีเดียว

การใช้งานห้องฟังแต่ละห้องแตกต่างกันอย่างไร? 

ง่ายๆ นะ ถ้าฟังจริงจังก็ต้องฟังในห้องฟังห้องใหญ่ เพราะอะคูสติกส์ถูกทรีตมาอย่างดี เบสกระชับแน่น ให้รายละเอียดทุกเม็ด ส่วน Vivid ต้องบอกว่ามันสวย ฟังสบายๆ เห็นทะเลสาบ มีบรรยากาศด้านนอก ฟัง สบายๆ แบบไลฟ์สไตล์ ไม่ซีเรียส บางครั้งก็นั่งทำงาน ตรงนั้น ฟังเบาๆ ส่วนห้องนอนใช้มากที่สุด เรากลับมา คงไม่มีเวลาไปฟังเพลงจริงจัง ไม่ได้เข้าห้องใหญ่หรอก ครั้งหนึ่งห้องใหญ่โดนลูกยึดด้วย ส่วนห้องนอนเรา นอนอยู่ทุกวัน ยกเว้นไม่ได้นอนที่นี่ ไปนอนที่คอนโด หรือไปต่างจังหวัด จริงๆ แล้วห้องใหญ่เป็นห้อง สันทนาการของครอบครัว ส่วนใหญ่ก็ดูหนังด้วยกัน โฮมเธียเตอร์เป็นอะไรที่อบอุ่นของครอบครัวเลย ฟัง เพลงเราฟังคนเดียว พวกเขาไม่ได้ฟังกับเราด้วยหรอก 

ต้องฟังให้เป็น 

คนเล่นเครื่องเสียงควรต้องมีพื้นฐานการฟังเพลงมา ก่อน ควรต้องมีประสบการณ์ฟังดนตรีสดบ้าง จะได้ ทราบว่าอะไรเหมือนจริง จะเล่นตามเพื่อนหรือเชื่อ ร้านนั้นไม่สำคัญ คิดว่ายังไงเสียต้องมีประสบการณ์ เราต้องรู้ว่าเราชอบอะไรก่อน แน่นอนว่าทุกอย่าง ต้องมี Learning Curve ดีที่สุดวันนี้ วันหน้าอาจไม่ใช่ ตัวอย่างเช่น เจอลำโพง Utopia ที่ต้องใช้เวลาตั้งปีกว่าจะเอาอยู่ เป็นคนอื่นอาจถอดใจไปแล้ว คำแนะนำสำหรับคนที่ยังหาความต้องการของตัวเองไม่พบ งบไม่มากนัก หาเครื่องมือสองจากร้านที่ไว้ใจได้ น่าจะเป็นหนทางที่ดี เพราะเครื่องเบิร์นมาแล้วงบไม่สูงด้วย เวลาออกตัวก็ไม่เจ็บตัว 

ผมว่าให้มืออาชีพทำบ้างเถอะ แน่นอนก็อย่าไปเชื่อเขาทั้งหมด คุณจะเก่งกว่าหมอคงไม่ได้ แต่อาจ ต้องฟังคำแนะนำจากหมอคนอื่น หรือค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นบ้าง

เรื่องที่บอกว่าต้องเชื่อหูตัวเอง ซื้อเครื่องเสียง ต้องฟังด้วยหูตัวเอง อย่าหูเบาฟังคนขาย หรือฟัง เพื่อนมากกว่าหูตัวเอง ให้ฟังเองดีที่สุด บางครั้งมี เครื่องมาให้ลองสองตัว ใจเราชอบตัวนั้น แต่ไม่แน่ใจ ครั้นจะฟังคนขาย เขาก็เชียร์จัง ทั้งสองฟาก ทั้ง Esoteric จำรุ่นไม่ได้, dCS เราก็ไปชวนเพื่อนมาช่วย ปรากฏว่าเขาเลือก Puccini ซึ่งโชคดีที่เลือกตรงกับ ใจเรา ถ้าเกิดไม่ตรงกันนี่ทำไงดี ตอนนี้ยังอยู่กับชุด Vivid เลย 

เรื่องของอารมณ์อีกอย่าง ถ้าเครียดๆ ฟังยังไง ก็ไม่เพราะ ชุดใหญ่ๆ เมื่อวานทำไมเพราะกว่าวันนี้ ปรากฏว่าวันนี้หงุดหงิด อารมณ์บูด ถ้าเราอารมณ์ดี สบายใจ เครื่องเสียงชุดเล็กๆ ยังฟังเพราะเลย นี่คือ เหตุผลที่ว่า บางคนชุดเล็กๆ เขาก็มีความสุขได้ เพราะไม่ซีเรียสที่จะจับผิด 

เราก็อาจมีความรู้พอสมควร เนื่องจากเราเล่น มานาน แต่เราอาจไม่มีความชำนาญเท่าคนที่คลุกคลีอย่างเดียวทุกวัน

เล่นเครื่องเสียงต้องมีมืออาชีพช่วย 

ผมมองว่า คุณสมชายเหมือน Outsource ชำนาญการเฉพาะด้าน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ทำธุรกิจต้องมีกำไร คบกันมานานแล้วล่ะ มากกว่าห้าปีแล้ว ที่ต้องมีมืออาชีพมาช่วยเซ็ต หรือหาของตัวนี้ตัวนั้นมาแมตชิ่ง ข้อแรกเลย… เราไม่มีเวลา ผมเชื่อ ในความเป็นมืออาชีพ อย่างเราจะออกแบบบ้าน เราต้องใช้สถาปนิก อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ หรือแลนด์สเคป จัดสวน เราต้องใช้มืออาชีพ แต่เขาต้องรู้ ความต้องการของเรา สำหรับเครื่องเสียง เราก็อาจมี ความรู้พอสมควร เนื่องจากเราเล่นมานาน แต่เราอาจ ไม่มีความชำนาญเท่าคนที่คลุกคลีอย่างเดียวทุกวัน มันเป็นอาชีพของเขา ถ้าเรามีมืออาชีพ เป็นคนที่เรา ไว้ใจได้อย่างคุณสมชาย ก็น่าจะดีกว่าการลองผิด ลองถูก เขาช่วยเราเยอะ เวลาเราก็ไม่ค่อยมี ข้อเสีย ของคนที่มีเงินก็คือไม่มีเวลา เว้นแต่ว่ามีมรดกเยอะ ไม่ต้องทำงานก็มีเงิน แต่เรามีอะไรเยอะที่ต้องทำในเรื่องธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบ ในการบริหารองค์กร มีลูกน้อง มีลูกค้าที่ต้องดูแล ผมว่าให้มืออาชีพทำบ้างเถอะ แน่นอนก็อย่าไปเชื่อเขาทั้งหมด คุณจะเก่งกว่า หมอคงไม่ได้ แต่อาจต้องฟังคำแนะนำจากหมอคนอื่น หรือค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่นบ้าง 

ประสบการณ์ในคอนเสิร์ตฮอลล์ระดับโลก 

เล่นเครื่องเสียงควรหาโอกาสดูดนตรีแสดงสดด้วย เคย ฟังดนตรีในหลายฮอลล์ ก็มีคาแรกเตอร์เสียงต่างกัน ทั้งดีและไม่ดี สมัยวัยรุ่นก็ชอบดูดนตรีสด เพราะชอบ มานานแล้ว ประสบการณ์มันๆ ตอนสมัยเรียนหมอ ทราบจากหนังสือดนตรีพวกสตาร์พิคอะไรนี่แหละ ว่า Michel Schenker มาเล่นที่บ้านเรา ทราบไหมว่าเล่น ที่สมาคมแต้จิ๋ว งงล่ะสิ ขึ้นรถไฟจากหาดใหญ่มาเลย เป็นประสบการณ์ที่ดีเลยครับ ส่วน Roger Waters In the Flesh เล่นที่เมืองทอง จ?ำได้ จะเป็นเพราะ ได้ที่นั่งไม่ดีหรือเปล่าไม่ทราบ ระบบเสียงไม่ดีเลย เรา พยายามหาฟังคอนเสิร์ตฮอลล์ดีๆ ได้มีโอกาสไปฟัง ที่บูดาเปส ได้ที่นั่ง Balcony เสียงไม่ประทับใจนัก 

ต่อมาได้ไปที่คาร์เนกีฮอลล์ ซึ่งที่นั่งไม่ถึงกับดีมาก แต่ก็ถือว่าเสียงดีมาก เชื่อว่าคอนเสิร์ตฮอลล์ดีๆ ยังมี อีกเยอะ อย่างรอแยลอัลเบิร์ตฮอลล์ก็น่าไปฟัง 

แนวดนตรีที่ฟัง 

ตอนนี้ฟังแจ๊สเป็นหลักกับพ็อพ มีเพลงคลาสสิกบ้าง ร็อกเหลือแต่ Queen ถือเป็นศิลปินวงโปรด จำได้ว่าสมัยเปิดเลเซอร์ดิสก์ อัลบั้ม Queen Greatest Hits ปกสีดำๆ เป็นอัลบั้มโปรด มีเพลง Bohemian Rhapsody เป็นเพลงเอก เปิดเป็นพันๆ ครั้ง ดีที่แผ่นเลเซอร์ไม่สึกกร่อน ไม่งั้นคงทะลุแน่ ปกติฟังเพลงอย่างน้อยสัปดาห์ละสี่วัน เฉลี่ยครั้งละชั่วโมงเดียว แต่จะไม่ดูหนังที่เห็นชุดโฮมฯ นี่ติดไว้ให้ลูกและครอบครัว ดูคอนเสิร์ตชอบ The Eagles: Farewell Tour 1, A MusiCares Tribute to Carole King ชอบที่เธอแต่งเพลงเก่ง เขาเป็นคนดี น่ารักมาก ดูเหมือนว่าทุกคนรักเขานะ ช่วงที่เลดี้ กาก้า ในชุด ขาวบนเปียโนสีขาว เยี่ยมมาก เมื่อเธอแจมกับ เจมส์ เทย์เลอร์ ก็ชอบมาก 

เล่นเครื่องเสียงให้สนุก ก็ต้องมีก๊วน 

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะคำว่าฮอบบี้ไม่ควรเล่นคนเดียว ยังไงก็ต้องมีก๊วนถึงจะสนุก โชคดีที่ผมมีก๊วนเล็กๆ ราว สิบกว่าคน แอ็กทีฟสักเจ็ดแปดคน เราแลกเปลี่ยน ข้อมูลกัน กินข้าวกันสองสามเดือนครั้ง คุยกับคน คอเดียวกันสนุกดีครับ นี่ผมก็เพิ่งกลับจากตรัง ไป เยี่ยมเยือนคุณพิชัย นักเล่นเครื่องเสียงรุ่นใหญ่ที่เรา เคารพนับถือกันในหมู่ออดิโอไฟล์ ยังแอบยุให้ผม ขยับไปเป็น 3050 เลย ผมว่าจะยุท่านกลับนะ.. 555

เครื่องเสียงไฮเอ็นด์มิเพียงแค่จับเสียบปลั๊กแล้วดังนะ ต้องแม็ตชิ่ง ใช้เวลาปรับจูน เราต้องใจเย็นๆ อย่าใจร้อนเป็นอันขาด อย่าได้รีบเปลี่ยนเสียก่อนที่จะลงตัว อย่างเจ้า Focal Grande Utopia EM กว่าจะปรับได้ลงตัวเป็นปีเชียว มันไม่ใช่ลำโพงธรรมดา ใช้ระบบ Field Coil มีตัวปรับความแรงเส้นแรงแม่เหล็กอยู่ด้านนอก กว่าจะได้เสียงสด สมจริงแบบนี้ที่ผมชอบ จะเป็นเพราะคุ้นเคยกับดนตรีสดหรือเปล่าก็ไม่ทราบ นวดลำโพง เปลี่ยนแอมป์ เปลี่ยนสาย เปลี่ยนเครื่องเล่น ชั้นวางก็เปลี่ยน ว่ากันไปแล้วเปลี่ยนทั้งห้องนั่นแหละ กว่าจะลงตัวเป็นปีจริงๆ ผมเข้าใจดีว่าไม่ง่าย ณ ตอนนี้ ก็ถือว่าพอใจมากที่สุดแล้ว ย้ำว่าตอนนี้นะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดแต่เพียงนี้ ก็พอมีโครงการในใจอยู่บ้าง คงเป็นโครงการระยะยาวสักนิด… 

เครื่องเสียงไฮเอ็นด์มิเพียงแค่จับเสียบปลั๊กแล้วดังนะ ต้องแมตชิ่ง ใช้เวลาปรับจูน เราต้องใจเย็นๆ อย่าใจร้อนเป็นอันขาด อย่าได้รีบเปลี่ยนเสียก่อนที่จะลงตัว

หลังจากจบการสนทนากันในโต๊ะอาหารมื้อค่ำ เราก็กลับไปที่บ้านอีกครั้ง คุณหมอหยิบแผ่นมาเรียงหลายแนว ทั้งเพลงร้อง เพลงแจ๊ส แน่นอนว่าต้องมีอัลบั้มเพลงร็อกที่คุณหมอเองก็มีไว้ในคอลเลกชั่น รวมทั้งแผ่นโมโนด้วย ซึ่งต้องเล่นด้วยหัวเข็มโมโนของ Miyajima Zero ให้เสียงใหญ่ แตกต่างจากที่เล่นกับหัว Stereo แบบเทียบไม่ได้เลย เพลง Brother in Arm ไตเติ้ลแทร็ก อันเป็นแทร็กสุดท้ายของอัลบั้ม ที่ผมขอให้เร่งวอลลุ่มให้ดังกว่าปกติ เจ้า Focal Grande Utopia EM ได้ปลดปล่อยพลังออกมาอย่างเต็มที่ เสียงเบส เสียงกลอง กีตาร์ของ Mark Knopfler ให้เสียงสด เหมือนเล่นอยู่ตรงหน้า เสียงแบบนี้บอกได้เลยว่า เท่าที่เคยได้ฟังลำโพงคู่นี้มาบ้าง …มันต้องแบบนี้สิ ตบท้ายด้วย Local Hero OST แทร็กสุดท้ายคือเพลง Going Home ถือเป็นเพลงส่งท้ายของค่ำคืนนี้ หกชั่วโมงที่บ้านหลังนี้ กว่าจะกลับถึงบ้านก็หลังเที่ยงคืนพอดี เต็มอิ่มจริงๆ ใช้เวลาสองวัน รวมเวลามากถึงเก้าชั่วโมง คือการทำงานสำหรับคอลัมน์นี้ เต็มอิ่มกันไปเลย 

และที่คุณผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวเช่นนี้ก็เพราะ…. “WE ARE AN AUDIOPHILE”

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 228