ธรรมนูญ ประทีปจินดา

“ทำไม Alexandria คู่นี้ถึงถ่ายทอดเสียงเพลงแนว ‘หลงเสียงนาง’ ได้ช่างอ่อนโยน ออดอ้อน อิ่มฉ่ำ และหวานปานนี้ ขัดกับลุคพี่บึ๊กชะมัด เล่นเอาพรรคพวกที่ไปด้วยถึงกับเคลิ้มตาปรอยไปตามกัน”… นั่นคือความคิดแรกที่แว้บเข้ามา

เป็นใครถ้าได้เห็นลำโพงหุ่นสูงทะมึนตั้งตระหง่านแบบนี้ก็ต้องคาดเดาว่า Wilson Audio: Alexandria คู่นี้คงจะให้เสียงดุดันสมกับลุค “ล้ำๆ คล้ายกับ Optimus Prime ตัวพ่อแห่งพลพรรค Transformers” แน่ๆ ทว่าในความเป็นจริง ลำโพงคู่นี้บทจะหวานก็หวาน แต่ครั้นเมื่อถึงเพลงที่มีไดนามิกส์ทรานเชี้ยนต์ก็สามารถให้รายละเอียดของชิ้นดนตรีอันสลับซับซ้อน รวมทั้งเสียงกลองที่โหมกระหน่ำก็ให้พลังดุดันสมกับหุ่นอันน่าเกรงขามของมันจริงๆ 

…ว่าแต่ว่าอยากทราบไหมครับ ว่าเขาเซ็ตอัพอย่างไร?

“คอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่าง ‘นักเล่น’ ด้วยกันเอง เพราะเป็นการดีที่ได้ทราบว่าพี่ๆ เพื่อนๆ คนอื่น เขาเล่นเครื่องเสียงกันอย่างไร เล่นเครื่องเสียงไม่ควรเล่นคนเดียว หลงทางแย่เลย ผมมีก๊วนเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เล่นเครื่องเสียงมาสามสี่สิบกว่าปี พวกเขามาช่วยฟัง เอาสายที่ทำขึ้นเองเอามาแม็ตช์ สนุกดี”

ข้อความตอนหนึ่งในบทความที่ผมยกมานี้เป็นของ “คุณธัชวิน สุรเศรษฐ” หรือ “คุณวิน” นักธุรกิจในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับระดับประเทศ ที่ให้เกียรติมาเป็นแขกรับเชิญของคอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE ฉบับเดือนกันยายน 2558 ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่เราได้มาเยี่ยมเยือนคุณวิน พร้อมกับห้องฟังห้องใหม่ และเครื่องเสียงชุดใหม่ยกชุด แต่ที่ยังไม่เปลี่ยนก็คือ แนวคิดในการเล่นเครื่องเสียงของคุณวินที่น่าสนใจเช่นเดิม 

คุณธัชวิน สุรเศรษฐ, กรรมการผู้จัดการ L.S Jewelry Group(Lee Seng Jewelry, L.S. Oriental Jewelry, L.S. Gems, Diamond House) / กรรมการสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ / ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจทองคำ / ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) (องค์การมหาชน) / ที่ปรึกษาพิเศษกองบังคับการปราบปราม / ผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายความมั่นคงและเศรษฐกิจกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 (กต.ตร.บก.น.1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ / ที่ปรึกษาและกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร) / ที่ปรึกษาสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม / ที่ปรึกษาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / ที่ปรึกษาสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย / ที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย / ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาพันธ์สื่อมวลชนและช่างภาพเพื่อประเทศชาติ

สำหรับผม เรื่องจูนเสียงไม่มีสิ้นสุด ลองไปเรื่อย เราได้อะไรเพิ่มขึ้นเสมอ
ดีที่สุดของวันนี้อาจไม่ใช่
ดีที่สุดของวันพรุ่งนี้

ตัวตน

ผมเริ่มเข้าสู่ธุรกิจในแวดวงอัญมณีตั้งแต่สามสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นเพิ่งอายุสิบห้าตอนนั้นไปซื้อเพชรที่เบลเยียม เราเป็นบริษัทเพชรที่เก่าที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่ทำธุรกิจนี้มาแปดสิบปีแล้ว ผมเป็นเจเนอเรชั่นที่สาม ซึ่งก็ค่อยๆ สร้างมาจนถึงวันนี้เราเป็นรายเดียวที่ร่วมทุนกับโรงงานผู้ผลิตเพชรชั้นเลิศของโลก DTC Sight Holder ประเทศเบลเยียม ถือสิทธิ์ในการนำเข้าเพชร Heart & Arrow ซึ่งเป็นเพชรน้ำงามที่สุด โดยตรงจาก DTC Sight Holder ประเทศเบลเยียม Debeer ซึ่งเป็นเหมืองเพชรที่ดีที่สุดในโลกขายเพชร 250 ประเทศ แต่มีตัวแทนซึ่งเรียกว่า DTC Sight Holder แค่ 80 โรงงานทั่วโลกเราเป็นรายเดียวที่ร่วมทุนกับ DTC Sight Holderประเทศเบลเยียม และเป็นผู้ผลิต – จำหน่ายส่งปลีก – ส่งออกจิวเวลรี่เพชร Heart & Arrow โดยตรง

ผมฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ฟังจากมินิคอมโป เสียงเพลงช่วยดึงสมาธินะ เปิดเพลงดังพอสมควร อ่านหนังสือได้ดีเลยล่ะ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธีนี้ เหมือนทำสมาธิให้เราฮอบบี้หลักก็คือ “เล่นเครื่องเสียง” นี่แหละ มันสะดวก ผมอยู่บ้านตลอด เพราะทำงานที่บ้าน ก็มีเล่นปืนบ้าง ไม่เล่นรถ ใช้รถทั่วๆ ไปครับ ท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสไป จะเดินทางเฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจเท่านั้น

เครื่องเสียง

ผมเล่นเครื่องเสียงมาซัก 30 ปีได้ เครื่อง-เสียงตัวแรกๆ ที่เป็น Brand เท่าที่จำได้น่าจะเป็นอินทิเกรตแอมป์ Arcam, ลำโพง AR ตู้ปิดเล่นมาเรื่อยๆ จนถึง Audio Physic, Thiel ก่อนมา Mira Grand ของ Rockport ผมเล่นแอมป์หลอดมาตลอด ชอบ Single-ended,เล่นปรี-เพาเวอร์ของ EAR มานานแล้วล่ะต่อมาก็เล่น Conrad Johnson เล่นมานานเหมือนกัน เล่นมาหลายรุ่น ปรีแอมป์ก็มี Premier, Art สุดท้ายก็เป็น Art 3 ที่มีเพียง 25 เครื่องทั่วโลก เพาเวอร์ของ EAR Single – ended 30 วัตต์ เอามาขับ Thiel CS2.3 นี่เหนื่อยเลย ตอนนั้นยังเล่นที่บ้านเก่าใช้ Conrad Johnson – Premier 12 ต่อมาเป็นรุ่นท็อป Premier 8 ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นทรานซิสเตอร์ (Solid State ) 

เครื่องเสียงได้ฟังจริงๆ ประมาณวันละหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น นั่งนานๆ ไม่ค่อยได้ ไม่มีเวลาหรอกครับ อนาคตอยากเล่นเทปรีล เอาไว้ได้มาแล้วจะชวนมาอีกรอบหนึ่งนะครับ

จากหลอดมาเป็นทรานซิสเตอร์

เรารู้อยู่แล้วว่าทรานซิสเตอร์ Sound Stage ดีกว่ามีไดนามิกส์ที่ดีกว่าแต่เสียงกลางไม่น่าจะสู้หลอดได้ ผมมีโจทย์ข้อหนึ่งว่าหากจะเปลี่ยนจากแอมป์หลอดไปเป็นทรานซิสเตอร์ เสียงกลางต้องไม่แพ้ตัวเดิมที่เคยเล่นอยู่ เพราะเราติดกับหลอดมาตลอด เราก็รู้ว่าหลอดไดนามิกส์ไม่มีทางสู้ทรานซิสเตอร์ เพลงที่ซับซ้อนมากๆ หลอดยังไงก็ไม่ถึง

ตอนแรกซื้อ Karan Mono block มือสองมาเล่น เอามาเปิดแว้บแรก โอ้โฮ… อยากจะขายทิ้งเลย พูดตรงๆ ว่ารับไม่ได้ เสียงหยาบกว่าที่เราเคยเล่นหลอดเยอะนะ โชคดีที่มีคอนเน็กชั่นกับฝรั่งที่เป็นลูกค้าเราเขาซื้อจิวเวลรี่เราexport ไปขายที่ยุโรป และเขาก็เล่นเครื่องเสียงด้วย ก็คุยกัน ปรากฏว่าเพื่อนของเขาเป็นเพื่อนสนิทกับเจ้าของ Karan ชื่อ Mr. Karan Milan ก็เลยฝากตัวเดิมที่ซื้อมือสองมาไป Trade มาเป็น KARAN M2000 SE mono ของใหม่ ซึ่งตัวนี้เป็น KARAN M2000 รุ่นพิเศษ ในใบรับประกัน 5 ปี จากโรงงานจะระบุรุ่นว่าM2000 SE เลย

ผมเป็นคนที่เล่นเครื่องเสียงตัวไหนก็จะคุยกับเจ้าของทุกที อย่างสมัยเล่น EAR ก็ไปเจอ Tim de Paravicini ที่ฮ่องกง ก็คุยกัน Tim นี่มีเมียเป็นคนไทย มาเล่น Conrad ก็คุยกับเขาอีกนั่นแหละ ต้องบอกว่าฝรั่งที่ทำเครื่องเสียงพวกนี้ Friendly มาก เข้าถึงง่าย เขาดีใจด้วยซ้ำที่ได้ feedbackจากเราเครื่องเสียงไฮเอ็นด์บริษัทมันเล็ก ทำกันเอง ยิ่งเล็กแปลว่าทำเองกับมือ ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนสเปกอะไรพิเศษ เช่น เสียงกลางดีกว่าหรือเทียบเท่าแอมป์หลอดที่เคยเล่น เขาทำให้ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก Karan ตัวนี้ก็เลยได้สเปกพิเศษ ก็เพราะสนิทกันเป็นพิเศษ เขาถึงทำให้ผมคนเดียว ไม่ใช่ที่ขายทั่วไป เป็นรุ่น KA-M2000 SE ซึ่งมีอยู่ตัวเดียวเท่านั้น เขาบอกอย่างนั้นนะครับ ซึ่งเขาอาจจะทำให้ใครอีกหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ เขาบอกว่าตัว M2000 Special Edition นี้ “MoreDynamic, More Energy, Lower NoiseFloor, Better Sound Stage Depth thannormal KARAN M2000” ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เอาว่าผมชอบมันล่ะ

ผมก็เพิ่งรู้จาก Milan นี่แหละ ว่าจริงอยู่ที่ว่าแอมป์คลาส A ด้วยกัน มันอยู่ที่ Bias แค่ไหนจริงๆ แล้ว เขาบอกว่าเพาเวอร์แอมป์หัวใจอยู่ที่ Power Supply และต้นทุนก็อยู่ที่ PowerSupply เหมือนกัน เขาเพิ่ม Power Supply เข้าไปอีก 25% ก็เพื่อเพิ่ม Bias ให้แก่ขึ้น 25%นี่ล่ะ ราคาก็เลยเพิ่มจากตัวธรรมดาไป 25%ตามขนาด Power Supply แล้วรู้ไหมครับเพาเวอร์แอมป์แพงๆ เราเหมือนฟัง PowerSupply กันแท้ๆ เลย

เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ต้องแม็ตชิ่ง

เล่นเครื่องเสียงไม่จำเป็นว่าต้องเป็นรุ่นล่าสุด หรือแพงที่สุด มันมีสาเหตุที่บางทีผมชอบรุ่นเก่ามากกว่าทั้งปรีแอมป์และลำโพง ผมเลือกรุ่นเก่าหรือรุ่นเดิมก่อนเปลี่ยนรุ่น แทนที่จะเลือกรุ่นล่าสุด ไม่ใช่เพราะมันถูกกว่าหรือเพื่อประหยัดเงินแต่อย่างแอมป์ Karan ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อรุ่นพิเศษ มีเยอะไปที่สุดยอดของเครื่องเสียงมารวมกัน ดีก็ดีไป แล้วถ้าเสียงไม่ดีเพราะไม่ match ล่ะ เครียดเลย

ผมจูนเองทุกอย่าง คำว่า“จูนเอง” มันตั้งแต่กำหนดสัดส่วนเพื่อสร้างโครงสร้าง ทำห้องอย่างไร ยกเว้นไม้ร่องก็ซื้อคุณนัท วางระบบไฟ ใช้สายไฟธรรมดานี่ล่ะ แต่เดินไฟมาสามชุด เอาปลอดภัยไว้ก่อน สายไฟเครื่องก็เล่น แต่ไม่ใช่แบรนด์ที่แพงมาก แพงหรือถูกไม่เกี่ยว DIY ก็ได้ขอให้มันแม็ตช์ อย่างหัวปลั๊กมีเป็นเข่ง เอาไว้จูนเข้ากับสาย ผมมีเพื่อนก๊วนที่เก่งเรื่องนี้ เฮียๆ บางคนอายุหกเจ็ดสิบแล้ว แต่หูดีมาก น่าจะเป็นนักเล่นเครื่องเสียงกลุ่มต้นๆ ของเมืองไทยเลยนะเรื่องแม็ตช์สายเก่งมาก เอาสายมาเข้าหัวเอง สายนี้แม็ตช์กับหัวอะไรอย่างนั้น เก่งมาก ที่ทำพวกนี้ เราไม่ได้อยากจะประหยัดตังค์ แต่อยากได้อะไรที่ต้องการจริงๆ มากกว่าพวกเราเล่นเครื่องเสียงนี่เหมือนเป็นพ่อครัวเมื่อเครื่องปรุง (ingredients) ของเราดีอยู่แล้ว บางทีอยากได้ความหวานอีกนิด ซึ่งถ้าซื้อเขามันก็ดี แต่พอมาแม็ตช์กับของเราบางทีก็เกิน บางทีก็ขาด อยากได้ก็ต้องทำเองแบบนี้ล่ะ ซึ่งก็ต้องถึงขั้นต่อไปคือ Fine tune

“ผมซื้อเครื่องเสียงมาเล่น”

การเล่นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์คงไม่ใช่ยกมาวางแล้วจบ ไม่ต้องทำอะไร อาจจะเหมาะกับคนที่มีกำลังซื้อเยอะ ให้ร้านมาทำให้ นานๆ มาเซ็ตที การเล่นเครื่องเสียงสำหรับผม นอกจากอุปกรณ์ต้องดีแล้ว สำคัญที่สุดคือ เรื่อง Fine tuneผมให้น้ำหนักมากถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์เลยนะ ไม่ใช่แค่เซ็ตลำโพงอย่างเดียวผมจูนเอง ผมไฟน์จูนบ่อยมาก เรียกว่าขยับเกือบทุกครั้งที่เข้าห้องฟัง จนเพื่อนแซวว่าผมปรับ Room Tune เหมือนปรับ VTA เทิร์นเลย อย่าว่าแต่เปลี่ยนสายเลยถ้าขยับอะไรนิดจะเปลี่ยนเลย ถ้าเซ็ตลงแล้ว ห้ามขยับ ห้ามแตะอะไรทั้งสิ้นเลย คือถ้าลงแล้ว หรือที่ฝรั่งเรียก ถึงจุด DPoLS (Dead Point of Life Sound) แล้ว อย่างเช่นห้องผมยาว 7 เมตร ตำแหน่งนั่งฟังถึงดิฟฟิวเซอร์หลังก็ราวๆ 5 เมตร แค่แตะนิดหนึ่งที่ Room Tune ตัวกลาง จุด DPoLS จะเลื่อนไปราว 5 เซน เสียงก็เปลี่ยนเยอะแล้วครับ อาจจะดูว่าทำไมต้องยุ่งยากขนาดนั้น แต่ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากอะไร ผมกลับสนุก สำหรับผม เรื่องจูนเสียงไม่มีสิ้นสุด ลองไปเรื่อย เราได้อะไรเพิ่มขึ้นเสมอ ดีที่สุดของวันนี้อาจไม่ใช่ดีที่สุดของวันพรุ่งนี้ เราพอใจตั้งนานแล้วตั้งแต่ซื้อมาเราจูนของเราไปได้เรื่อยๆแต่ถ้าลำโพงให้เสียงดีที่สุดก็เมื่อเราเลิกเล่น วันหนึ่งที่ผมขายไปก็ไม่ได้หมายความว่าลำโพงไม่ดี เราฟังของเราทุกวัน ร้านนานๆ มาครั้งจะสู้เราทำเองได้ยังไง อย่างลำโพงRockport Mira Grand คู่นี้ ตอนนี้ไม่มีอะไรให้ผมเล่นอีกแล้ว ผมเล่นเขานานที่สุด คุ้มค่ากับราคามาก ลำโพงสูงเกือบสองเมตรหุ่นแบบนี้ เสียงแบบนี้ เดี๋ยวนี้ราคาต้องไม่ต่ำกว่าสามล้านแล้ว

แม้ว่าจะเปลี่ยนเพาเวอร์ไปเป็น Karan M2000 SE ตัวนี้ ซึ่งผมเอามาเติมไดนามิกส์ที่ดีมากๆ กับซาวด์สเตจ และพละกำลังที่แอมป์ทรานซิสเตอร์เหนือกว่าแอมป์หลอด แถมยังให้เสียงกลางดีกว่าConrad ตัวท็อปเสียด้วยซ้ำเรียกว่าดีกว่าทุกย่านเลยก็ว่าได้ คือถ้าเสียงกลางดีกว่าหลอดแล้วอย่างอื่นก็ไม่ต้องน่าห่วง อย่างอื่นมันกินอยู่แล้ว แม้วาเล่นกับปรีแอมป์ตัวเดิมก็ตาม ส่วนปรีแอมป์ตัวใหม่นี้เป็น Veloce’ ซึ่งก็เป็นหลอดเหมือนกัน ผมเอาความสมดุลและแม็ตชิ่งเป็นที่ตั้งครับ อย่างชุดของผมมีทั้งสายแพงสายถูก ทำเองก็ยังมี อะไรก็ได้ที่เติมแล้วลงตัว

เล่นเป็นก๊วน ดีอย่างไร

การมีเพื่อนก๊วนที่จะช่วยเราฟัง สำคัญมาก ต้องมีเลย ถ้าเล่นคนเดียว ฟังคนเดียว ทีโอกาสพลาดสูง ออกทะเลกันง่ายๆ เลย แต่ไม่ควรเป็นก๊วนพาแห่ เฮโลกันไปซื้อแต่ของแพงๆ แบบนั้นก็อันตราย อย่างก๊วนผมนี่เขาเล่นมานาน แต่ละคนเกินสามสิบปี แล้วเขาเล่นกันหลากหลาย เชื่อไหมว่ามีผมคนเดียวที่เล่นหลอด พอเราหันมาทรานซิสเตอร์ ทุกคนชอบ แต่ว่าไป ผมยังใช้ปรีแอมป์หลอดกับ DAC หลอด คนอื่นเขาไม่เล่นหลอดเลย ซึ่งก็ถือเป็นการเล่นแบบไฮบริด เป็นการจูนเสียงอีกนั่นแหละครับ เพื่อนผมเชื่อว่าทรานซิสเตอร์เที่ยงตรง แต่ผมเอาตามที่ผมชอบ ชุดผมยังไงก็ต้องมีหลอดด้วย ผมเอาหลอดมาเติมความหวานที่เคยได้ฟัง ผมว่าเล่นหลอดมันสนุก ผมสนุกกับการ Tube Rolling เอาหลอดมาจูนเสียงที่ต้องการ บังเอิญว่าผมมีลูกค้าเป็นฝรั่งยุโรป บ้านเขาหาหลอดดีๆ ได้ ยังไงก็ตามผมยังเก็บหลอดอยู่เยอะ อีกอย่างยังไงปรีแอมป์ก็ยังเป็นหลอดอยู่ดี

เมื่ออยากเปลี่ยนลำโพง

พอถึงลำโพงที่อยากเปลี่ยน มีสองตัวเลือก คือ Rockport Altair 2 และ Wilson Alexandria Series 2 ก็ในเมื่อเล่น Rockport อยู่แล้ว แต่พอมาคิดดู ผมไม่ได้ฟังเพลงเท่าไหร่นัก ผมซื้อเครื่องเสียงมาเซ็ตเล่นนะ ถ้าAltair มาจริง เล่นได้สามเดือนก็คงจะเบื่อ เพราะน่าจะวางใกล้ๆ ที่เดิม ก็คงไม่มีอะไรทำ อย่าง Rockport Mira Grand คู่ที่กองอยู่นี้ ไม่ใช่ไม่ดีนะ เพราะผมเล่นมันหมดแล้วไม่รู้จะทำอะไรกับมันอีกแล้ว มันดีที่สุดแล้ว เราจึงหยุดที่จะเล่นกับมัน ก็หาตัวใหม่มาเล่น

Wilson Audio

Alexandria Series 2 เคยฟังมาแล้ว มีลูกค้าของผมที่ฮ่องกงใช้อยู่ ก็ติดใจเสียงเขาโดยเฉพาะเสียงกลางมาตลอด ขณะที่ Wilson ออก XLF มาในเว็บก็บอกว่าไม่ได้มาแทน Alexandria 2 นะ เขาก็ขายทั้งคู่แหละ เมื่อจะซื้อ ผมก็เช็คกับทาง Wilson ให้สัดส่วนห้องฟังไป เขาก็บอกว่าต้อง Series 2 นี่แหละ กับ XLF เข้าไม่ได้ ซึ่ง Series 2 นี่ทำมาเจาะตลาดเอเชียอยู่แล้ว เพราะว่าห้องฟังของพวกเราเล็ก หน้ากว้างของห้องก็แคบอยู่กันแบบนี้แหละ ทีนี้ Series 2 เอง ถ้าเล่นห้องใหญ่แล้วเสียงเบสไม่พอ เสียงจะบางเมื่อเล่นอยู่ในห้องใหญ่ ถึงเห็นว่าฝรั่งเมื่อเล่นในห้องใหญ่เขาต้องเอาซับ Thor มาช่วย บางทีก็ตัวหนึ่ง บางทีก็สองตัว ที่ใส่ซับไม่ได้ต้องการเบสเพิ่ม แต่ต้องการเอาเบสมาเติมฐานเสียงกลางให้อิ่ม ที่เห็นในรูปห้องฝรั่งนั่นส่วนใหญ่เป็น Alexandria 2 ทั้งนั้น ไม่ใช่ XLF หรอกนะ เพราะหน้าตามันเหมือนกันยังกับแกะ ใน facebook ยังโชว์กันหราอยู่เลยSeries 2 ก็เลยเข้าทางผมเลย เพราะห้องเราเล็ก กว้างสี่เมตรกว่าแค่นี้เอง

เมื่อซื้อมาจริงๆ ต้องบอกว่าชอบมาก ทราบมาว่ามีความแตกต่างกับ XLF หลายจุดอย่างเช่น ทวีตเตอร์, ตู้เบสที่ XLF ใหญ่กว่ารวมถึงครอสโอเวอร์ ผมชอบ Alexandria Series 2ที่สุดในบรรดาลำโพง Wilson Audio ทุกตัวผมชอบตรงที่ให้เสียงกลางหวานที่สุด ส่วนเรื่องไดนามิกส์ หรือรายละเอียด แบรนด์นี้ไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว ฝรั่งที่เขายังเล่นรุ่นนี้ ไม่ใช่ไม่มีตังค์ที่จะเปลี่ยนรุ่นใหม่ เพราะเขาชอบเสียงกลางของรุ่นนี้มากกว่า XLF 

เจ้า Series 2 คู่นี้ ด้วยความที่เราเล่นมานาน เลยง่ายขึ้น เราหาตำแหน่งจนขยับอีกครึ่งเซนไม่ได้แล้ว ขยับหัวไปสามรอบ สุดท้ายไม่ได้ใช้สูตร Wilson ด้วยนะ ก็อยากจะบอกถึงนักเล่น Wilson บ้านเราว่าสูตรของ Wilson เขาทำมาสำหรับฝรั่ง เขาจะให้ป้อนค่าความสูงจากหูถึงพื้น (Listening Height) หมายถึงเรานั่งสบายๆ ไม่ใช่นั่งตัวแข็ง ค่าตามสูตรของ Wilson Listening Height ต่ำสุดอยู่ที่ 36 นิ้ว อย่างความสูง 170 ซม. แบบผมนี่ ยังไงก็ไม่ถึงแปลว่าเข้าสูตรไม่ได้ ดังนั้นใครก็ตามที่ป้อนค่าความสูงตามนี้ผิดหมด เพราะมันต่ำกว่านี้ไม่ได้ สูตรเขาไม่ผิดหรอกแต่เราเตี้ยเอง โชคดีที่ Alexandria เป็นลำโพงห้าทางที่ออกแบบได้ละเอียด หัวขยับได้ทุกตำแหน่ง ได้หลายระดับทุกท่อน มีไดรเวอร์ด้านหลังด้วย มันยังปรับความดังของทวีตเตอร์ และปรับเฟสของมิดเร้นจ์ เลือก Damping Factor ได้ด้วย เรียกว่าเป็นลำโพงที่ให้เราเล่นได้ เรียกว่าเหมาะกับนักเล่น เพราะมันมีลูกเล่นให้จูนได้เยอะ คู่ของผมเป็นสีพิเศษ 

การเล่นเครื่องเสียงต้องเปิดโลกทัศน์จะอ่านหนังสือเครื่องเสียง เข้าเว็บไซต์ หรือเพจใน Facebook
เดินงานเครื่องเสียง
เพื่อหาความรู้เพิ่ม

ปรีแอมป์

ปรี Veloce’ เป็นหลอดครับ ใช้ Battery ในภาคจ่ายไฟ จริงๆ เป็นรุ่น LS1 เหมือนกัน รุ่นใหม่รุ่นเก่าราคาก็เท่ากัน แต่รุ่นเก่าเสียงดีกว่ารุ่นใหม่ มีเหตุผลที่ว่ารุ่นเก่าใช้หลอด NOS (New Old Stock) ได้ 12AU7, 12AT7 ซึ่งหลอด NOS ดีๆ โรงงานมันหายากมากพอออกมารุ่นใหม่ก็ไปเปลี่ยนวงจร แล้วเปลี่ยนหลอดไปเป็นหลอดรัสเซีย 6H30 เสียงมันแห้งกว่าแล้วก็ไปเปลี่ยน Battery จากตัวเดิมเป็นตัวใหม่ด้วยเหตุผลความเสถียร ไม่ใช่เรื่องคุณภาพเสียง เราเอามาแม็ตช์กันเพราะเราชอบมากกว่าปรีหลอดที่ใช้แบตเตอรี่สิ่งที่ได้มาก็ตรงความสงัดที่จะทำให้ชิ้นดนตรีมีตัวตน หรือมีทรวดทรงเด่นชัด

Front End

ก็เล่นทั้งอะนาล็อกและดิจิทัล Linn CD12, LP12 ก็เล่นมาแล้ว ที่หยุดเล่นไปเพราะเสียงไม่หนี CD12 เสียงไม่ต่างกันมากนัก ตอนนี้ยังไม่ได้เล่นแผ่นเสียงเลย ยังไงก็ต้องกลับมาเล่น แผ่นก็ยังเก็บอยู่ราวๆ สี่ห้าร้อยแผ่น เป็นแผ่นที่เราเก็บไว้ฟังได้ พวกแผ่น Test Pressing ก็มีเยอะ แผ่นซีดีก็เยอะ ตอนนี้เล่นซีดีผ่าน CEC – TLOX / Audio Note DAC 4.1X Balanced ซึ่งเป็น DAC ที่มีภาคอะนาล็อกเอาต์พุตเป็นหลอด

Cable

จริงอยู่ครับ ที่มีคนพูดว่าสายควรเล่นแบรนด์เดียวกัน แต่ไม่ใช่แนวผม ผมเล่นหลากหลาย มิกซ์กันตามความเหมาะสม และลงตัว Mixed & Match อย่าง Transparent ใช้สายลำโพงกับสายไฟ, สายสัญญาณใช้หลายอย่างสลับกัน Nordost, DIY ก็มีสาย Digital กับสายไฟกับสายสัญญาณใช้สายหลายๆ อย่างมามิกซ์กัน

Software

แผ่นซีดีก็เยอะ แต่ฟังซ้ำๆ ไม่เกินยี่สิบแผ่น ก็เพราะผมเป็น “นักเล่น” มากกว่า“เป็นคนฟังเพลง” ดังนั้นฟังไปฟังมาก็จะฟังอยู่ที่แทร็กเดิมทุกที เช่นแทร็กนี้เอาไว้ Test Sound Stageหรือ Test Bass, Test Dynamics แทร็กนี้ Test เสียงแหลม หรือลองฟังเสียงร้อง ฟังไปฟังมาไม่กี่แผ่น ฟังไม่ถึงเพลง ฟังไปฟังมาฟังเป็นประโยค ก็เพราะเราเอามาเล่น เราจึงต้องมี Benchmark เพื่อต้องการจะรู้ว่าเปลี่ยนแล้วเป็นอย่างไร จริงแล้วฟังทั่วไปก็ฟังนะ เพลงไทยก็ฟัง แผ่นดีๆ ก็เยอะ มีความสุขกับการที่ได้เพลงไทยเก่าๆ สมัยเด็กๆ เพลงไทยเก่าๆ เขาแต่งเพลงดี เสียงดีมากด้วยได้อารมณ์เพลง และอัดจากเมืองนอกนะครับแต่มันหายากหน่อย ส่วนเพลงฝรั่งก็มาทางคลาสสิก ซึ่งถ้าซิสเต็มไม่ถึงนี่ ฟังคลาสสิกไม่เพราะจริงๆ มันไม่ได้อรรถรส ถ้าชุดเล็กๆมันจะไม่เพราะ แล้วคุณก็ไม่ชอบ เคยสงสัยว่าพวกฟังเพลงคลาสสิก เขาฟังอะไรกันนะ จริงเลยครับที่ว่าเขาเล่นเครื่องเสียงชุดใหญ่ ลำโพงฮอร์นตัวเท่าบ้านเขาก็ยังฟังเพลงร้อง เสียงร้องมีไดนามิกส์ของมัน เพราะเสียงร้องจะสมจริงขึ้น

แทร็กอ้างอิงสำหรับเสียงกลอง YimHokman, เสียงร้องเพลงร้อง Salena Jones, FIM Producer Choice 1 มีเพลงหลายๆ แนว มีเพลงคลาสสิกด้วย ใช้ได้ดี หรือแผ่นของค่ายเครื่องเสียง เราก็เลือกแผ่นที่เราคุ้นหู อย่าจูนโดยใช้แผ่นที่บันทึกมาไม่ดี เพราะถ้าทำมาเอียงก็จะหลงทางไปใหญ่

ห้องฟัง

ห้องนี้กว้างสี่เมตรนิดๆ ยาวเจ็ดเมตรกว่าๆสูงไม่ถึงสามเมตร วัสดุเรียบๆ ไม่ชอบให้เป็นอะไรที่รกรุงรัง มีดิฟฟิวเซอร์ด้านหน้าเบสแทร็ปสองลูก ด้านหลังไม่มี แค่นั้นเอง ที่เบสเก็บได้ดีไม่บูม เพราะเพาเวอร์แอมป์แท้ๆ คือถ้าแอมป์คุมเบสไม่อยู่ก็คงฟุ้ง ห้องนี้สร้างได้สองปี เป็นห้องฝังที่สามของผม สองห้องแรกผมจ้างเขาทำพอห้องที่สามอยากทำเอง กำหนดโครงสร้างเอง มีอินเทอร์เน็ตเป็นที่ปรึกษาแบบอินทีเรียร์ , diffuser และ tube trap ได้จากพี่ณัษฐ์ เรื่องลำโพงใหญ่ในห้องเล็ก ผมเฉยๆ เลย ถ้าเราแม็ตช์ชุดให้ดี แอมป์ถึงๆ Alexandria ยังอยู่สบายๆ เลย คุมให้อยู่ ต้องรู้ว่าResonance ที่ย่านไหนตัวไหนไม่ควรไปเพิ่ม เซ็ตอัพให้ได้เข้มยังกับซดเอสเพรสโซ่เลย

บริการจากร้านเครื่องเสียง

ผมเป็นลูกค้าหลาย “ร้าน” ถึงแม้ว่าชอบเซ็ตอัพเอง ยังไงซะก็ต้องใช้การบริการจากร้านอยู่ดี เรียกว่าร้านเครื่องเสียงที่อยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ ถือว่าดีหมดเลยครับ ถ้าไม่เวิร์กก็ล้มหายตายจากไปแล้ว คำว่าไม่เวิร์กก็คือ ราคาโหดเกินไป แบรนด์ไม่ดี มีปัญหากับการบริการ ปากต่อปากอยู่แล้ว ยิ่งช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งเห็นชัดว่าจะอยู่รอดไหม สายป่านยาวไหม ต้องมีดี ถ้าแบรนด์มันแข็งจริง บริการดี ถึงอยู่ได้

เล่นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์

อยากบอกว่าคุณเล่นเครื่องเสียงต้องเซ็ตเองบ้าง ถึงแม้ร้านเครื่องเสียงจะมาเซ็ตให้คุณก็ตาม แต่ว่าเครื่องเสียงไฮเอ็นด์นี่ แค่ขยับอะไรนิดหนึ่ง เสียงก็เปลี่ยน แล้วคุณเองก็ฟังออกเสียด้วยก็ควรจะทำเองบ้าง อย่ารอให้คนอื่นมาเซ็ตให้เสมอ มันจะสนุกกว่าการที่ให้คนอื่นมาเซ็ตให้ตลอดแล้วอย่าลืมว่าเราก็ต้องมีก๊วน พูดคุยกันเยอะๆ อย่างผมเนี่ยอาจารย์เยอะ เราไม่รู้ เราก็เรียกเขาอาจารย์ไปเถอะ เราไปคุยกับใคร เขาต้องมีบางเรื่องที่เก่งกว่าเราเป็นอาจารย์เราได้ ผมมีเพื่อนเก่งๆ เยอะมาก ได้ความรู้ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์มาจากรุ่นพี่ๆ ทำให้เราไม่เสียเวลาลองผิดลองถูกเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ผมยินดีถ่ายทอดประสบการณ์ต่อให้นักเล่นรุ่นต่อไปที่สนใจ จะได้ไม่ต้องเสียเงินมากมายเปลี่ยนลำโพง เปลี่ยนเครื่องแล้วไม่ลงตัวซะทีจะบอกว่าเราควรต้องลงมือเซ็ตอัพเองบ้างจะผิดจะถูกก็ช่างมัน ความสนุกอยู่ตรงนั้น แล้วเราจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ เราอาจใช้เวลาเซ็ตลำโพงเป็นเดือน แล้วจะกลายเป็นสามอาทิตย์สองอาทิตย์ จนเหลือห้าวัน หรือแค่วันเดียว

ฝากสำหรับนักเล่นรุ่นใหม่

ถ้าเขาอยากเริ่มเล่นเครื่องเสียง ต้องเริ่มจากสถานที่ที่จะตั้งเครื่องเสียง เลือกลำโพงที่เหมาะกับพื้นที่นั้นๆ ต้องไม่ใช่ลำโพงเล็กในห้องใหญ่ เสียงมันจะบาง แล้วจะทำให้มันเต็มยากครับ ลำโพงใหญ่อยู่ห้องเล็กแก้ง่ายกว่าล้นไม่ล้นอยู่ที่การแม็ตชิ่งและจูน ลำโพงใหญ่ในห้องเล็กถ้าเซ็ตลงตัวฟังเพราะครับ แต่ถ้าลำโพงเล็กในห้องใหญ่ เหนื่อยเลยกว่าจะเพิ่มเนื้อเสียงให้เต็ม จะจืดชืด แล้วค่อยหาแอมป์และเครื่องเล่นอื่นๆ มาแม็ตช์ตามงบประมาณ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นได้

อย่าลืมว่าการเล่นเครื่องเสียงต้องเปิดโลกทัศน์ จะอ่านหนังสือเครื่องเสียง เข้าเว็บไซต์ หรือเพจใน Facebook เพื่อหาความรู้เพิ่ม ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่มีทางรู้ทุกเรื่อง งานเครื่อง-เสียงต้องเดิน อย่าบอกว่าซื้อเครื่องเสียงแล้วเลิกเดินงานเครื่องเสียง ต้องเปิดหูเปิดตาด้วยต้องขอบคุณนิตยสารออดิโอไฟล์ที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักเล่นด้วยกันเอง ไม่ว่ามือเก่าหรือมือใหม่ แม้ว่าจะเป็นมือเก่าแล้วก็ตาม อย่าเพิ่งเลิกอ่าน มีความเคลื่อนไหวให้ติดตามตลอดยิ่งยามเศรษฐกิจไม่ดี อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนเครื่องเสียง ซื้อมาแล้วถ้าเล่นไม่ได้ ต้องถามตัวเองก่อนว่าเซ็ตให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง อย่าเปลี่ยนเครื่องเสียงเพราะซื้อมาแล้วเล่นไม่ได้ เซ็ตไม่ลงตัว ประเภทที่ว่ายังไม่พ้นเบิร์นก็ขายแล้ว นั่นไม่ใช่เลย ควรจะเปลี่ยนเพราะไม่รู้จะเล่นกับมันยังไงต่อแล้วนั่นเพราะว่าเล่นมาหมดแล้ว จะได้ไม่ต้องเสียดายเงิน ประมาณว่าอยู่กับเราก็เสียงดีนะ เล่นคุ้มแล้วจนเราไม่รู้ว่าจะท?ำยังไงให้ดีกว่านี้ได้อีก นั่นคือเหตุผลที่จะเปลี่ยน แต่ถ้ามัน mismatch ผมก็จะไม่ฝืน เราอย่าไปเชื่อคนอื่นมากกว่าหูตัวเองถ้าแววมันดีก็จะดีนั่นแหละขอให้มีความสุขกับเสียงดนตรีนะครับ

แนวคิดในการเล่นเครื่องเสียงของคุณวิน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนเล่นเครื่องเสียงที่ชอบเปลี่ยนเครื่องเสียงบ่อยๆ เพียงเพราะไม่อดทนกับการค้นหาจุดที่ดีที่สุดของเครื่องเสียงนั้นๆ สำหรับคุณวิน การเค้นเอาคุณภาพให้ได้มากที่สุดคือ การเล่นเครื่องเสียงที่คุ้มค่าที่สุดไม่ว่าเครื่องเสียงนั้นจะถูกหรือว่าแพง และทั้งหมดที่คุณได้อ่านนี้ ก็คือความเห็นดีๆ ที่เป็นประโยชน์จากนักเล่นเครื่องเสียงอีกท่านหนึ่งและที่เราได้ทราบเรื่องราวดีๆ เช่นนี้ ก็เพราะ…

“WE ARE AN AUDIOPHILE”. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 223