พงศ์ทิพจักร์
ทพ. พงศ์ทิพจักร์ เชื้อเจ็ดองค์

โปรเจกเตอร์ที่ใช้เพื่อรับชมภาพยนตร์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้ภาพที่ได้จากเครื่องโปรเจกเตอร์ที่ใช้ในบ้านสามารถให้ภาพออกมาไม่แพ้ในโรงภาพยนตร์เลย BenQ ก็เป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องโปรเจกเตอร์รายใหญ่ ที่มีทั้งใช้ในงานธุรกิจและภายในบ้าน โดยตอนนี้ทาง BenQ มีโปรเจกเตอร์เพื่อใช้ใน Home Theater ออกมา หลากหลายรุ่น และรุ่นใหม่ล่าสุดที่ออกมาก็คือ W11000H โดยทางบริษัท BenQ ได้ส่งโปรเจกเตอร์ตัวนี้มาให้ทดสอบ ก่อนที่จะมีการวางจำหน่ายในประเทศไทยร่วมเดือน ซึ่งผมก็ได้ใช้เวลาในช่วงเดือนที่ผ่านมาทดสอบคุณสมบัติ คุณลักษณะของโปรเจกเตอร์ตัวนี้อย่างละเอียด และในฉบับนี้ก็ได้เอารายงานการทดสอบมาให้ผู้ที่สนใจในโปรเจกเตอร์ ตัวนี้ให้ได้อ่านกันว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง 

โปรเจกเตอร์ BenQ W11000H รุ่นนี้ใช้ชิพ Digital Light Processing (DLP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในจอโปรเจกเตอร์และทีวีมาหลายสิบปีแล้ว เป็นการพัฒนาของบริษัท Texas Instruments (TI) ภายใต้การผลิตของ Dr. Larry Hornbeck ตั้งแต่ปี 1987 โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด และน่าจะเป็น Nano-technology ตัวแรกที่ใช้ในอุตสาหกรรมการ แสดงภาพหัวใจของมันก็คือตัวชิพที่เรียกว่า DLP 4K UHD DMD ที่มีขนาด ใหญ่เท่ากับนิ้วหัวแม่มือ แต่เชื่อไหมครับ ว่าเจ้าตัวชิพนี้บรรจุกระจกขนาด เล็กๆ ที่บิดไปมาได้มากกว่า 4.15 ล้านชิ้นอยู่ในนั้น แล้วใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้กระจกแต่ละชิ้นสามารถเคลื่อนไปมาอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถ ประมวลผลถ่ายทอดความละเอียดของภาพระดับ 4K UHD 3840×2160 หรือ 8.3 pixels ในแต่ละเฟรมภาพได้ 

BenQ W11000H รุ่นนี้ใช้ชิพ DLP 4K UHD DMD
ที่สามารถแสดงภาพที่มีรายละเอียดได้ถึง 8.3 ล้านพิกเซล

เทคโนโลยี DLP นี้ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ครั้งใหญ่ของโลกและการผลิตภาพยนตร์ของอุตสาหกรรม ภาพยนตร์ช่วงสิบปีมานี้ ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีนี้คือ Dr. Larry Hornbeck วิศวกรที่ทำงานให้กับ Texas Instruments (TI) ซึ่งในงานประกาศผล รางวัล Oscar ครั้งที่ 87 ปี 2015 เขาได้รับรางวัลออสการ์ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Oscar® statuette) เนื่องจากชิพ DMD ที่เขาคิดค้นขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการผลิต การจำหน่าย และการรับชมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เปลี่ยนจากการใช้ฟิล์ม 35-mm มาเป็นระบบ Digital Cinema และใช้ DMD ชิพ ในปัจจุบันนี้นับได้ว่าเกือบทั่วโลก แล้วที่เปลี่ยนจากระบบฟิล์มเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งในโรง Digital Cinema กว่า 90% และ 100% ของโรงภาพยนตร์ IMAX ทั่วโลกใช้ระบบ DLP Cinema Technology ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ DLP Cinema Technology ให้ภาพที่สว่าง สีสันสดใส เมื่อเทียบกับฟิล์ม 35-mm แบบเดิม ทั้งยังง่ายต่อสตูดิโอ ในการจัดเก็บ จัดจำหน่ายจ่ายแจกไปยังโรงภาพยนตร์ต่างๆ ส่วนผู้ชมก็จะได้ รับประสบการณ์การรับชมที่ใกล้เคียงกับที่ผู้สร้างได้ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น โดยตลาดโปรเจกเตอร์ของโลกในปัจจุบันทางบริษัท BenQ ก็ถือได้ ว่าเป็น #1 Bestselling DLP Projector อย่างปีล่าสุดครึ่งปีแรกก็มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกกว่า 25% ซึ่งครองตำแหน่งที่ 1 นี้มาแล้ว 9 ปี รวมถึง โปรเจกเตอร์ DLP ที่ใช้เพื่อการศึกษาโปรเจกเตอร์แบบ 4K ก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นที่ 1 ในภาคพื้น Asia Pacific และ Middle East อีกด้วยเช่นกัน 

มาดูลักษณะรูปร่างทางกายภาพของเครื่องกันบ้าง เครื่องรุ่นนี้มีขนาด รูปร่างเหมือนกับรุ่นเดิม W11000 ที่ผมเคยทดสอบไปเมื่อปีก่อนทุกอย่าง โดยด้านบนมีปุ่มหมุนสองปุ่มเพื่อใช้ขยับภาพซ้าย-ขวา บน-ล่าง ตอนติดตั้งด้านข้างเลนส์ทั้งสองข้างเป็นครีบระบายความร้อน ที่ด้านขวาจะดูดอากาศเข้าไปในเครื่อง และปล่อยออกครีบทางด้านซ้าย ช่องต่อต่างๆ อยู่ด้านขวาของเครื่อง ประกอบด้วย… ช่องเสียบสาย LAN เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเครื่องผ่านทางระบบ Network ถ้าใครสนใจเพิ่มเติมก็สามารถศึกษาได้จาก BenQ Network Projector Operation Guide, ช่องที่สองเป็นช่อง IR extender เพื่อขยายการรับสัญญาณ Infrared ของรีโมต, ช่องที่สามเป็นช่องต่อ VGA cable เพื่อรับสัญญาณภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนช่องต่อ HDMI มีอยู่ สองช่อง โดย HDMI1 เป็นVersion2.0, HDMI2 เป็น Version1.4a นอกจากนี้ ก็มีช่องต่อ 12V Trigger อีกสองช่องเพื่อต่อพ่วงกับอุปกรณ์อื่นให้ควบคุม การเปิดปิดเครื่องพร้อมกัน ต่อมามีช่องต่อ USB Mini-B เพื่อต่อกับกล้องถ่ายรูป และช่องสุดท้ายเป็น RS-232 เพื่อสามารถต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ได้อีกเช่นกัน นอกจากช่องต่อต่างๆ แล้ว ก็มีแผงควบคุม External Control Panel อยู่ ใกล้ๆ กัน แผงควบคุมนี้ใช้ควบคุมโปรเจกเตอร์ได้เหมือนใช้ Remote Control คือมีทั้งปุ่มเลือก Source, ปุ่มลูกศร, ปุ่มเลือกเมนู, เลือกโหมดภาพ และปุ่ม เปิดปิดเครื่อง ช่วยให้บางทีไม่สะดวกที่จะใช้ Remote ก็สามารถกดปุ่มต่างๆ ได้จากเครื่องโปรเจกเตอร์โดยตรง 

ช่องต่อ และ External Control Panel อยู่ด้านขวาของเครื่อง
ในปัจจุบัน BenQ ถือว่าเป็น #1 Bestselling DLP Projector

โปรเจกเตอร์รุ่นนี้จะเน้นเรื่องของเลนส์เป็นพิเศษ โดยเป็นเลนส์คุณภาพสูงที่ออกแบบมาสำหรับความละเอียดภาพแบบ 4K โดยเฉพาะ ใช้เลนส์แก้วชนิดลดการฟุ้งของแสง (Low Dispersion Lens) จำนวน 14 ชิ้น วางเป็นกลุ่ม 6 กลุ่มในท่อโลหะ จึงส่งผลให้ภาพที่ออกมาจากเลนส์ชุดนี้มีสีสันสดใส ภาพมีความคมชัดทั่วทั้งจอภาพ ตั้งแต่ตรงกลางจนถึงมุมของจอภาพ สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของภาพได้ครบถ้วน โดยมีความผิดเพี้ยนน้อย 

เลนส์ชนิดลดการฟุ้งของแสงทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัด สีสันถูกต้องมากกว่าเลนส์ที่มีการฟุ้งของแสง

โปรเจกเตอร์ BenQ W11000H ได้รับการรับรองจากสถาบันเกี่ยวกับ ด้านภาพหลายแห่ง ทั้งจาก THX ที่ได้ทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการ มากกว่า 200 หัวข้อ จำนวน 500 Data points แล้วให้การรับรองว่า ผ่านมาตรฐานด้านภาพของทาง THX, สถาบัน ISF ก็ให้การรับรองการ ปรับภาพและสีของภาพทั้งใน Day mode สำหรับกลางวัน และ Night mode สำหรับกลางคืน ใน Preset ที่ให้มาเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ใช้ช่างที่ได้รับ การรับรองจากทาง ISF เพื่อมา Activate ก็สามารถใช้ mode ทั้งสองนี้ได้ ซึ่งในเมืองไทยช่างปรับภาพที่ได้ ISF Certified ก็น่าจะมีไม่ถึงสิบท่าน ยังไง ใครต้องการให้ภาพที่ออกมาจากโปรเจกเตอร์ตัวนี้มีความถูกต้องเที่ยงตรง ตามมาตรฐานก็สามารถติดต่อช่างจาก ISF ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ทาง CinematicColorTM ก็ให้การยืนยันด้วยว่า สีใน Color Space แบบ Rec709 นั้นมีความถูกต้องสูงสุดถึง 100% หลังจากการวัดในห้องแล็บแล้ว 

สถาบันด้านภาพต่างๆ ที่ให้การ
ยืนยันถึงคุณภาพของภาพ
จากโปรเจกเตอร์ตัวนี้

การติดตั้งโปรเจกเตอร์ BenQ W11000H นั้นถือว่าทำได้ง่าย ด้วยขนาด และน้ำหนักของตัวเครื่องที่ใกล้เคียงกับโปรเจกเตอร์ตัวอื่นในท้องตลาด ไม่ว่าจะวางบนชั้นหรือแขวนไว้บนเพดาน ก็ทำได้ไม่ยาก และการมี Lens Shift ที่ครอบคลุมระยะทั้งในแนวตั้งและแนวนอนได้กว้าง ทำให้มีความยืดหยุ่นใน การวางโปรเจกเตอร์ได้มากขึ้น 

การมี H/V Lens Shift ที่ดี ทำให้สามารถจัดวางโปรเจกเตอร์ไว้ในห้องได้ไม่ยาก

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วก็ถึงเวลา Set up และปรับแต่งภาพ ซึ่งอุปกรณ์ที่ผมใช้ ในการทดสอบได้แก่… เครื่องเล่น Oppo UDP-203, สาย HDMI ที่ใช้เป็นของ PXL Glass (THX certified) ส่วน Meter หรือ Probe ที่ใช้ทดสอบมีสองตัว คือ Klein K10 (Colorimeter) และ JETI Spectraval1511 (Spectro-radiometer) โดยใช้ Pattern Generator ของ Murideo Six-G, จอภาพใช้ จอของ Stewart รุ่น FireHawk สัดส่วน 16:9 ขนาด 121 นิ้ว Gain ของภาพ อยู่ที่ 1.2 สำหรับโปรแกรมที่ใช้วัดภาพใช้อยู่ 3 โปรแกรม ได้แก่… LightSpace HTP, CalMAN for Business และ ChromaPure Professional 

กำลังทดสอบภาพของ BenQ W11000H

การวัดค่าก่อนการปรับ พบว่าค่า Color Temp และ RGB Balance ของ Grayscale ที่เริ่มต้นจากโรงงานมีความเที่ยงตรงดีมาก ทั้งในภาพแบบ Full HD และ 4K HDR อย่าง Color Temperature นี่เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องปรับ ค่า 2point grayscale ก็ยังได้เลย ส่วนค่าของสี Primary และ Secondary Color อาจต้องมีการปรับเล็กน้อยเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน และเมื่อปรับจน เสร็จแล้ว ค่าความเพี้ยนของสีต่างๆ หรือ Delta E นั้นมีค่าน้อยมาก โดยเฉพาะ ภาพ Full HD ที่ Rec.709 นั้น มีค่า Delta E ได้เท่ากับ 1 เอง ซึ่งถือว่า ยอดเยี่ยม ไม่เสียชื่อที่ได้รับการรับรองในเรื่องสีจากสถาบันต่างๆ ว่ามี ความเที่ยงตรงสูง ส่วนภาพแบบ 4K HDR นั้น หลังจากปรับแล้วจะวัด BT.2020 Gamut Coverage ได้ 65.5% ส่วน HDR UHDA-P3 Gamut Coverageได้ 87.6% ความสว่างสูงสุดที่ทำให้ในสภาพห้องและจอภาพ ของผมวัดความสว่างได้ประมาณ 28 foot-lambert การปรับภาพแบบ 4K HDR ก็ปรับภาพให้ภาพที่ออกมาตรงตามมาตรฐานจนถึงระดับความ สว่าง, สี ที่เครื่องโปรเจกเตอร์จะทำได้ ส่วนภาพที่มีความสว่างและเฉดสีเกิน ความสามารถของโปรเจกเตอร์ก็จะปรับให้ Tone Mapping ได้ตามตัวของ เครื่องเอง ไม่ได้เข้าไปปรับมาก เพราะถ้าเข้าไปปรับในส่วนของ 4K HDR มากเกินไป ส่วนมากภาพที่ออกมาจะเพี้ยน แต่ถ้าอยากจะเข้าไปปรับภาพใน ส่วนของ 4K HDR ให้ละเอียดและแม่นยำมากที่สุดในขณะนี้ที่ทำได้ก็คงต้อง เอา Metadata ของ HDR ออก แล้วทำการปรับแบบ 3D LUT บนข้อมูล แบบ 4K SDR แล้วจึงทำการสร้าง Tone Mapping ใหม่ให้ภาพที่ออกมา เหมาะสมกับเครื่องโปรเจกเตอร์แต่ละเครื่อง หรือภาพยนตร์ในแต่ละเรื่อง อีกทีหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างยุ่งยากและต้องใช้อุปกรณ์เสริมเข้ามาช่วย ยังไง ก็คงไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้ ใครสนใจก็สามารถหาอ่านเพิ่มเติมจากที่ผมเคยเขียน อธิบายเรื่อการปรับภาพแบบ 3D LUT ไว้ในบทความก่อนหน้านี้ 

ค่า RGB Balance ของ Grayscale มีความเที่ยงตรงมาก
เมื่อปรับภาพแบบละเอียดเสร็จแล้ว พบว่าค่า Average DeltaE 2000 ของสี Rec.709 ที่ได้มีค่าเท่ากับ 1 เอง ถือว่าน้อยมาก
กราฟแสดง Spectral Power Distribution ของโปรเจกเตอร์ BenQ W11000H

ค่าของการปรับในเมนูต่างๆ ผมขอเอามาเสนอเผื่อเป็นแนวทางให้ใคร บางคนเอาไปปรับเล่นที่เครื่องของตัวเองว่าจะเหมาะสมกับเครื่อง อุปกรณ์ ต่างๆ สิ่งแวดล้อม และสภาพห้องของตัวเองไหม ถึงแม้อาจจะไม่ได้ตรง 100% เพราะสภาพแต่ละห้อง อุปกรณ์แต่ละตัว มีความแตกต่างกันเป็นพื้นฐาน อยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าพอเป็นค่าเริ่มต้นได้ 

เริ่มจากในภาพแบบ Full HD SDR ที่ความกว้างเฉดสี Rec.709 ผมปรับ ไว้ใน Picture Mode “User1” ค่าการปรับในหน้าแรกที่เป็น User Mode Management จะเป็นค่าเริ่มต้นทั้งหมด Brightness50, Contrast50, Color50, Tint50, Sharpness10 ส่วน Gamma Selection เลือกที่ 2.8, Color Temperature จะปรับเล็กน้อย Red Gain101, Green Gain98, Blue Gain100, Red Offset250, Green offset250, Blue offset250 สำหรับการปรับสีใน Color Management สีแดง Hue173, Saturation201, Gain175 สีเขียว Hue185, Saturation187, Gain195 สีน้ำเงิน Hue194, Saturation192, Gain176 สีฟ้าอ่อน Hue200, Saturation180, Gain200 สีม่วง Hue200, Saturation191, Gain181 สีเหลือง Hue200, Saturation187, Gain195 ในเมนู Cinema Master ปรับ Color Enhancer0, Flesh Tone0, Pixel Enhancer 4K 2 ส่วน DCTI, DLTI จะ off หรือ on ก็ได้ ผมลองดูก็ไม่ค่อยเห็นความแตกต่างเท่าไร แต่ในคำแนะนำ เขาบอกว่าเป็น การเกลี่ยของภาพสีและขาวดำให้มีความ Smooth มากขึ้น ยังไงก็ลอง ปรับเล่นดูได้ สำหรับ Dynamic Iris ปรับไว้ที่ On ก็ได้เพื่อเพิ่ม Contrast ของภาพ แต่ถ้ารู้สึกขัดตาเวลาเปลี่ยนฉากมืด สว่างเร็วๆ แล้วความสว่าง ไม่คงที่ก็สามารถปรับเป็น Off ก็ได้, Brilliant Color ตั้งไว้ที่ Off, Light Mode เป็น Normal สำหรับในภาพ 1080p rec.709 ผมได้ปรับไว้แค่นี้ ต่อมา ส่วนภาพแบบ 4K HDR นั้น เครื่องจะทำการเข้าสู่ Picture Mode “Cinema” โดยอัตโนมัติ เมื่อตรวจพบสัญญาณภาพแบบ 4K ก็อย่างที่บอกไว้ในตอนแรกว่า การปรับภาพ 4K HDR นั้น อย่าปรับมากเกินไป เพราะจะทำให้ Tone Mapping เปลี่ยนจนเพี้ยนได้ ซึ่งจาการวัดค่าต่างๆ ค่าตั้งต้นของ 4K HDR ในเครื่อง BenQ W11000H ก็ทำมาดีอยู่แล้ว อย่างใน User Mode Management ค่าต่างๆ ก็สามารถใช้ค่าตั้งต้นได้เลย, HDR Brightness  ปรับไว้ที่ 0 แต่ถ้าไปเจอหนังที่ดูแล้วมีความสว่าง หรือความมืดมากกว่าปกติ ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้สว่างมากขึ้น หรือมืดลงได้ตามต้องการ, Color Temperature ปรับไว้ที่ค่าตั้งต้นของ Preset Normal ได้เลย, Color Management ก็ใช้ค่าตั้งต้น, Color Gamut ตั้งไว้ที่ BT.2020 หรือ Auto ก็ได้ ส่วน Cinema Master ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเป็น Color Enhancer1, Flesh Tone1, Pixel Enhancer 4K 2, DCTI On, DLTI On, Dynamic Iris On, Light Mode Normal สำหรับภาพ 4K HDR ผมปรับไว้แค่นี้ 

หลังจากวัดค่า ปรับค่าต่างๆ เสร็จแล้วก็ถึงเวลามาดูภาพของจริง ภาพที่ ออกมาจากโปรเจกเตอร์ BenQ W11000H ตัวนี้ยังคงจุดเด่นของชิพ DMD ได้อย่างเหนียวแน่น คือสีสันที่ออกมามีความสดใส เป็นธรรมชาติ ไม่เข้มจนเกินไป ถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงแนวสีของภาพในโรงภาพยนตร์ดิจิทัล หรือโรงภาพยนตร์ IMAX ได้เลย เพราะในปัจจุบันโรงภาพยนตร์เหล่านี้ ส่วนมากก็จะใช้ชิพ DMD อยู่ แต่ที่ต่างคือ Contrast ของภาพในโปรเจกเตอร์ รุ่นนี้มีมากกว่ารุ่นก่อนๆ ภาพออกมาจะให้ความดำได้ลึก รายละเอียดในส่วนที่มืดก็ทำได้ดี ส่วนจุดเด่นที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในเรื่องความคมชัด เพราะว่าชิพ DMD ที่โดยพื้นฐานจะให้ความคมชัดของภาพดีอยู่แล้ว เนื่องจาก ใช้หลักการการสะท้อนของกระจกขนาดเล็ก มาเจอกับเลนส์แก้วที่มีคุณภาพเข้าไปอีก ทำให้ภาพออกมามีความคมชัด รายละเอียดดีมาก เรียกได้ว่าเปิด โปรเจกเตอร์ขึ้นมานี่เห็นโดดเด่นมาเลยในเรื่องความคมชัดของภาพ และเมื่อได้ลองภาพจากการดูภาพยนตร์จริงๆ ทั้งจากภาพแบบ 1080p SDR หรือ 4K HDR พบว่าภาพที่ออกมามีความคมชัด รายละเอียดดี ไม่ว่าจะทั้งในฉากมืดหรือฉากที่สว่าง ความดำของภาพถึงแม้ไม่ให้ความดำลึกสุดๆ เหมือน เทคโนโลยีภาพอย่างอื่น เนื่องจากว่าเป็นชิพแบบ DMD แต่ความดำของภาพ ที่ออกมานั้นสามารถดูหนัง HDR ได้อย่างสวยงาม ไม่ขัดตา เรียกได้ว่า BenQ ทำการบ้านในเรื่องนี้มาอย่างดี ส่วนในเรื่องความสว่างไม่ต้องพูดถึงชิพ DMD ให้ภาพออกมามีความสว่างสดใสโดดเด่นอยู่แล้ว เท่าที่ผมทดสอบจากตาดู พบว่าถึงแม้โปรเจกเตอร์ให้ค่าความสว่างของภาพออกมาใกล้เคียงกัน แต่เวลาดูชิพ DMD ก็จะให้ความรู้สึกว่า ภาพมันสว่างสดใสกว่า รวมถึงให้ความเป็น ธรรมชาติของสีได้ดี โดยเฉพาะสีของเนื้อของคนที่เป็นสีที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการปรับภาพ เนื่องจากในธรรมชาติมนุษย์เราให้ความ สำคัญและจดจำสีเหล่านี้ได้ดีกว่าสีอื่นๆ โปรเจกเตอร์ตัวนี้ก็สามารถไล่สีเนื้อคนได้ละเอียดและแม่นยำ ดูเป็นธรรมชาติได้ดี ทดสอบได้โดยดูจากภาพยนตร์ที่โชว์สีเนื้อ เช่น Lucy, X-Men Apocalypse หรือคลิปทดสอบทีวี 4K ต่างๆ ที่คลิปเหล่านี้จะให้คุณภาพที่ดี โดยเฉพาะ Contrast ของภาพดีมาก เพราะ ใช้ทั้งกล้องและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพในการถ่ายทำ การทำ Post Production ก็จะเน้นเป็นพิเศษ ซึ่งเมื่อลองดูแล้ว โปรเจกเตอร์ BenQ W11000H ทำได้ ดีมาก คุณภาพของภาพที่ออกมาเรียกได้ว่าเกินราคาค่าตัวไปเยอะเลย 

BenQ W11000H โปรเจกเตอร์ดูหนังแบบ
4K HDR ที่คุ้มค่า และให้คุณภาพของภาพ
เกินราคาค่าตัว

ความกว้างของเฉดสีในภาพแบบ 4K HDR ที่กว้างมากขึ้น แสดงให้เห็นสีที่มีความเข้มข้น
สว่างสดใสมากกว่าภาพแบบ SDR เช่น สีลิปติกของนักแสดงจะเห็นได้ชัดเจนมาก

ถ้าใครต้องการโปรเจกเตอร์ 4K HDR เพื่อดูภาพยนตร์ที่ราคาไม่สูงเกินไป แต่ให้คุณภาพของภาพออกมาดี ให้ความคมชัดสดใสเป็นธรรมชาติของภาพ เฉกเช่นดูในโรงภาพยนตร์ที่ดูแล้วภาพบนจอภาพยนตร์จะถ่ายทอดเนื้อหา ให้มีความสนุกสนาน ทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ผมว่าโปรเจกเตอร์ BenQ W11000H ตอบโจทย์ของคุณเลยครับ. VDP 

ราคา สอบถามรายละเอียด 
จัดจำหน่ายโดย 
บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) จำกัด 
โทร. 0-2670-0310-1

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 263