วุฒิศักดิ์
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

หลังจากเมื่อฉบับต้อนรับปีใหม่ได้มีโอกาสทดสอบอินทิเกรตแอมป์จาก Anthem รุ่น STR ไปแล้ว ซึ่งในคราวนั้น ผมพบว่าเป็นเครื่องเสียงที่น่าสนใจมากตัวหนึ่ง เพราะมีความสามารถรอบตัว ในราคาที่ยังสามารถเป็นเจ้าของกันได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่ถือว่ายังติดค้างคาใจก็อยู่ที่กำลังขับที่ยังถือว่าน้อยเกินไป หากต้องนำมาขับลำโพงตัวใหญ่ๆ อย่าง Martin Logan: Renaissance ESL 15A ที่ผมใช้อ้างอิงอยู่ประจำจึงต้องทดสอบกับลำโพงเล็กในรูปแบบการเล่น 2.1 คือมีลำโพงวางขาตั้งหนึ่งคู่และซับวูฟเฟอร์อีกหนึ่งตัว ก็ดูเหมาะกับการใช้งานเป็นอย่างดี 

มาในคราวนี้เพื่อไม่ให้ต้องหลงเหลือความค้างคาใจใดๆ ทางบริษัทผู้นำเข้าก็ได้จัดส่ง Anthem STR Preamplifier & STR Power Amplifier ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือการเอา STR ตัวเดิมมาแยกตัวถังเพื่อให้มีพื้นที่สามารถจัดเต็มอุปกรณ์ภายในกันได้แบบไม่ต้องยั้ง โดยในส่วนของฟังชั่นการใช้งานเรียกได้ว่าเหมือนกันทุกประการ ต่างกันแค่แยกตัวถังระหว่างภาคปรีแอมป์เป็นรุ่น STR Preamplifier ที่ทำทุกอย่างได้เหมือนเดิม (รบกวนย้อนกลับไปอ่านบทความทดสอบอินทิเกรตแอมป์ดูว่ามีฟังก์ชันจัดเต็มมามากมายแค่ไหน ทุกอย่างก็ยังคงมีมาให้เหมือนกันตามนั้น) เพียงแต่แยกกล่องออกมาและมีภาคจ่ายไฟเป็นของตัวเองอิสระอยู่ภายในตัวถังที่มีความสูงบางลง ดูเพรียวสวยงามดี ซึ่งการแยกภาคจ่ายไฟและแยกตัวถังออกมาแบบนี้ ควรจะมีผลดีต่อเรื่องของสัญญาณรบกวนด้วย แต่เนื่องจากไม่ได้มีอินทิเกรตแอมป์มาทดสอบสลับกัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าต่างกันมากน้อยแค่ไหน ส่วนภาคแอมป์รุ่น STR Power Amplifier นอกจากจะถูกแยกตัวถังออกมาแล้ว ยังมีการปรับให้มีกำลังขับเพิ่มเป็น 400 วัตต์ที่ 8 โอห์ม และเพิ่มเป็น 600 วัตต์ และ 800 วัตต์ที่โหลด 4 และ 2 โอห์มตามลำดับ การบอกกำลังขับต่อเนื่องที่โหลด 2 โอห์มมาด้วยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มั่นใจมากสำหรับแอมป์ในระดับราคานี้ แสดงให้เห็นว่าแอมป์มีการออกแบบภาคจ่ายไฟที่มีกำลังสำรองค่อนข้างมากทีเดียว โดยตัวถังของแอมป์น่าจะมีขนาดเท่าๆ กันกับตัวอินทิเกรตแอมป์ แต่ได้ตัดปุ่มต่างๆ ด้านหน้าเครื่องออกไป ในส่วนของจอแสดงผลยังคงเป็นจอสีอยู่ แต่จะแสดงผลเป็นรูปเข็มกระดิกขึ้นลงตามกำลังขับเหมือนมิเตอร์เข็มทั่วไป ต้องบอกว่าดูสวยทันสมัยดี แนวๆ เหมือนพวก Virtual Cockpit ของรถยนต์สมัยใหม่ที่ตรงตำแหน่งของมาตรวัดความเร็วก็มักเป็นจอภาพไปหมดแล้ว แต่ก็ยังคงทำกราฟิกเป็นรูปเข็มความเร็ว วัดรอบ ฯลฯ ให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้นเคยอยู่ ซึ่งการแยกตัวถังระหว่างปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ ทำให้สามารถจัดวางให้แหล่งต้นทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Network Player, Streamer หรือแม้กระทั่งเครื่องเล่นแผ่นเสียง สามารถจัดวางไว้รวมกับปรีแอมป์ใกล้ตำแหน่งนั่งฟัง (เวลาเปลี่ยนแผ่นซีดี แผ่นเสียง จะได้ไม่ต้องเดินไกล) แล้วก็สามารถใช้สาย XLR ยาวๆ มาต่อใช้งานเพื่อนำแอมป์ไปวางไว้ใกล้ลำโพง เพื่อให้ไม่ดูรกตา และไม่ต้องเดินสายลำโพงยาวๆ ซึ่งทำให้ชุดดูสวยงามเรียบร้อยกว่า ถ้าจะให้หาเรื่องติจริงๆ ส่วนที่ผมไม่ชอบของแอมป์รุ่นนี้ก็คือ ขั้วต่อสายลำโพงที่เป็นไบดิ้งโพสต์ที่มีขอบพลาสติกใส ป้องกันสายลำโพงหลุดมาแตะกัน ผมพบว่าช่องสำหรับใส่หางปลาที่ติดมากับเครื่องมีขนาดเล็กเกินไป ไม่สามารถใส่หางปลาของ Acoustic Revive ที่ผมใช้งานอยู่เข้าไปได้ ทำให้ผมต้องใช้สายลำโพงสำรองที่เป็นขั้วบานาน่า ถึงจะต่อได้ ตรงนี้ถ้ามีการปรับปรุงให้ช่องใหญ่ขึ้นจนใส่หางปลามาตรฐานทั่วไปได้สะดวกจะดีมาก เพราะเอาเข้าจริงๆ ถ้ากลัวสายลำโพงจะหลุดมาแตะกันก็ควรออกแบบขั้วลำโพงให้อยู่ห่างกันในระยะที่มากพอจะขันให้แน่นได้อย่างปลอดภัยแต่แรกดีกว่า ซึ่งตรงส่วนนี้เข้าใจว่าอาจใช้ชิ้นส่วนร่วมกับแอมป์ดูหนังที่มักมีพื้นที่จำกัด จึงต้องใช้ขั้วที่มีพลาสติกปิดมิดชิดหน่อย ส่วนอื่นๆ นอกนั้นต้องบอกว่าเป็นแอมป์ที่ออกแบบมาสวยงาม งานประกอบเรียบร้อย เรียบหรูดูดีมีราคาดีจริงๆ

ในส่วนของการทดลองใช้งานระบบ ARC คราวนี้เนื่องจากใช้ Anthem STR Preamplifier และ STR Power Amplifier ร่วมงานกับลำโพง Martin Logan: Renaissance ESL 15A ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จึงสามารถใช้ไมโครโฟนวัดเสียงตัวเดียวกัน และใช้โปรแกรม ARC Genesis ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดในการวัดและปรับเสียงได้ 

คุณภาพเสียง

หลังจากที่ผมได้ทำการปรับตำแหน่งลำโพงจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็ลองใช้ ARC ทำการ Room Correction เมื่อ Calibrate เสร็จแล้วก็ลองฟังเปรียบเทียบ พบว่าโทนเสียงโดยรวมใกล้เคียงกัน แต่หากปิด ARC ทั้งที่ลำโพงและปรีแอมป์แล้ว ไดนามิกของดนตรีสวิงได้เป็นธรรมชาติขึ้น การวางตัวกระจายรูปวงของชิ้นดนตรีต่างๆ มีความลึกเลยเข้าไป ในผนังด้านหลังได้ชัดเจนขึ้น ความถี่ต่ำที่เป็นส่วนของฐานเสียงและแรงสั่นสะเทือนตามพื้นก็มีมากขึ้น ตรงนี้เข้าใจว่าเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการวัดความถี่ต่ำที่มักมีความคลาดเคลื่อนมากกว่า เพราะโดนเสียงแอร์หรือเสียงรบกวนภายนอกเข้ามากวนได้ง่าย ทำให้โปรแกรม ARC ทำการลดความถี่ต่ำกว่า 15Hz ออกไปมากเกินจำเป็น ซึ่งสาเหตุที่ผมทำการ Calibrate และฟังเปรียบเทียบ เพื่อเช็คความถูกต้องในการเซ็ตตำแหน่งลำโพงว่าได้เสียงที่มีคุณภาพดีแล้วหรือยัง ผลที่ได้ก็ยังคงเป็นตามคาดคือ ARC เป็นระบบที่มีคุณภาพใช้ได้ หากจำเป็นต้องจัดวางลำโพงในสภาพที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ถ้าที่ทางพร้อม มีความสามารถเซ็ตลำโพงได้อย่างละเอียด พบว่าการปิดระบบ ARC แล้วเซ็ตด้วยมือยังให้ผลที่น่าพอใจได้มากกว่า เช่น เมื่อฟังไฟล์เพลงอัลบั้ม Chie Ayado Live ที่เป็นการแสดงสดใน Jazz Club ก็จะพบว่า ถ้าเปิด ARC ก็สามารถรับฟังได้ถึงเสียงต่างๆ ที่มีความถูกต้องทางความถี่ดี คือเสียงแต่ละเสียงก็มีโทนบาลานซ์ดี ไม่บางหรือสดจัดจ้านแต่อย่างใด อีกทั้งก็ไม่อุดอู้จนอึมทึม แต่ถึงแม้มีโทนบาลานซ์ที่ดีก็ยังฟังไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเท่าใดนัก แต่เมื่อปิด ARC ก็จะพบว่าส่วนที่ขาดไปนั้นกลับมาครบ โดยที่โทนบาลานซ์ยังเหมือนเดิม แต่มีชีวิตชีวา เหมือนเราได้ไปนั่งอยู่ในสถานที่จริงกับเขาด้วย ทำให้ฟังสนุกขึ้นมาอีกมาก ดังนั้น แนะนำให้ท่านที่มีโอกาสได้ใช้ Anthem STR ลองใช้งาน ARC เพื่อฝึกฝนฝีมือในการเซ็ตลำโพงให้ได้โทนเสียงที่อิ่มเข้ม หนักแน่นแบบ ARC แต่ได้ไดนามิกความเป็นธรรมชาติที่เหนือกว่าการเปิดใช้งานระบบ Room Correction ซึ่งก็แสดงว่าท่านมาถูกทางแล้ว และสามารถรีดสมรรถนะชุดของท่านออกมาได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว

ในส่วนของการทดลองฟังแทร็ก Wheel of Fortune ของ Hans Zimmer ในแผ่น Dali CD 4 พบว่า ถ้าช่วงที่ดนตรีโหมหนักๆ เข็มบนหน้าปัด STR Power Amplifier จะตีขึ้นไปถึงราวๆ เกือบ 40w และเสียงความถี่ต่ำเริ่มมีอาการขุ่นมัวลง ไม่เด็ดขาด หนักแน่น เหมือนแอมป์อ้างอิง ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะราคาค่าตัวห่างกันอยู่เป็นเท่าๆ และกำลังสำรองที่ 4 โอห์ม (ลำโพงทดสอบมีอิมพีแดนซ์ปกติ 4 โอห์ม) ห่างกันเป็นเท่าตัว!!! แต่ถ้าไม่ใช่เพลงที่โหดขนาดนี้ หรือไม่ได้เปิดที่ระดับความดังนี้ ก็สามารถฟังได้โดยไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดด้านกำลังขับนี้ เช่น เมื่อเล่นเพลงเดียวกันที่ความดังลดลงมาจนเข็มอยู่แถวๆ 4 – 10w ก็ฟังได้ค่อนข้างดีกับเพลงที่ไม่ได้หนักหน่วงมากขนาดนี้ แต่มีไดนามิกสวิงได้กว้าง อย่างเช่น แผ่น Pat Coil: Just Ahead สังกัด Sheffield Lab ที่มีบางเพลงที่บางท่อนเข็มก็สวิงไปถึงเกือบ 40w เช่นกัน แต่เป็นเพราะพวกเสียงกระเดื่องกลองและเสียงฉาบ ที่เป็นเพียงแค่หัวเสียงที่มีพลังงานมาก แต่ระยะเวลาสั้นๆ STR Power Amplifier ก็สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี 

สำหรับ DAC ในตัว STR Preamplifier มีคุณภาพค่อนข้างดี สามารถใช้เป็นศูนย์กลางของระบบได้โดยไม่ต้องไปหา DAC ภายนอกมาเพิ่มเติม ซึ่งก็เป็นการใช้งานตามจุดประสงค์ที่ STR Preamplifier ถูกออกแบบมา จะมีส่วนที่น่าเสียดายคือ ช่อง Network ที่เสียบสาย LAN เข้าท้ายเครื่อง แต่ใช้งานได้เฉพาะเอาไว้สั่งงานรีโมต และเชื่อมต่อระบบ ARC ไม่สามารถเล่น Network Audio ต่างๆ ได้ ยังจำเป็นต้องต่อ PC เข้ากับ STR Preamplifier อยู่ แต่ในส่วนของการใช้งาน ARC นอกจากจะใช้ต่อโปรแกรมใน PC แล้ว ยังมีในรูปแบบ App ทั้งใน Android และ iOS ซึ่งทำให้ STR Preamplifier เป็นปรีแอมป์ที่สามารถทำการ Calibrate ระบบ ARC ได้จาก App นอกจากนี้ยังสามารถลง App Anthem ที่ใช้สั่งงานเป็นรีโมตได้ ถ้าสามารถเล่นพวก Spotify หรือ Tidal ได้โดยตรงโดยไม่ต้องต่อกับ PC ผมคงไม่ขออะไรมากไปกว่านี้แล้ว ซึ่ง ณ วันที่ทดสอบ ยังคงต้องต่อ PC ในการเล่นไฟล์เพลงจาก Network อยู่ ไม่สามารถ Stream เพลงจากมือถือได้โดยตรงเหมือนพวก Network AVR สมัยใหม่ ส่วนในอนาคตก็ไม่แน่ เพราะไหนๆ ก็มีช่อง LAN อยู่ท้ายเครื่องแล้ว จะทำให้เล่น Network Audio ได้ ก็ไม่น่าจะยากมากมาย 

นอกจากนี้ ในบางช่วงของการทดสอบมีการสลับมาเล่นแผ่นซีดีจาก dCS Paganini Transport ผ่านสาย Transparent Reference Digital AES EBU ก็พบว่า STR Preamplifier แสดงข้อมูลเป็น 44.1kHz ตามที่ได้รับมา และก็ทำการแปลงสัญญาณออกมาได้เป็นอย่างดีเป็นที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่าในคราวนี้ไม่ได้เปรียบเทียบกับการต่อ DAC ตัวอื่น แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมก็พอใจกับการใช้งาน STR Preamplifier เป็น DAC ในตัว และใช้ Phono ในคราวนี้ได้ทดสอบการใช้งานด้วยการต่อช่อง MC Phono ซึ่งเกนขยายไม่ถือว่าสูงมากนัก เพราะเมื่อทดลองต่อกับหัวเข็ม Linn Kandid ที่มี Output Voltage อยู่ที่ 0.4mV ต้องเร่งความดังของปุ่มโวลุ่มขึ้นจากช่อง USB ที่เล่นไฟล์เพลงเดียวกันจาก PC ร่วม 12 – 15dB เพื่อให้ได้ความดังใกล้เคียงกัน จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะ STR Preamplifier สามารถชดเชยได้ด้วยการปรับตั้ง Input Level แยกแต่ละแหล่งสัญญาณได้อยู่แล้ว โดยการทำงานของภาคโฟโน MC ถือว่ามีความเงียบดีตามมาตรฐานปรีโฟโนโซลิดสเตทชั้นดี อาจไม่ได้เงียบที่สุดถ้าไปเทียบกับโฟโนที่มีราคาแพงกว่า แต่ไม่น้อยหน้าปรีโฟโนหลักต่ำกว่าห้าหมื่นแน่ๆ โทนเสียงมีความหนักแน่นเที่ยงตรงดี อาจไม่ฉอเลาะแบบหลอด แต่ก็นับว่าเป็นปรีโฟโนโซลิดสเตทที่มีคุณภาพดีมากทีเดียว เรียกได้ว่าตั้งใจใส่มา ไม่ได้ให้มาแบบของแถมแน่นอน หวังผลได้เป็นอย่างดี ถ้าท่านคิดจะไปหาปรีโฟโนภายนอกมาต่อ คิดให้ดีๆ ลองให้มั่นใจก่อนนะครับ ว่ามันจะดีกว่าที่มีอยู่ในตัว STR ไม่งั้นเดี๋ยวโดนของแถมกินขาด แล้วจะมานั่งเสียดายทีหลัง แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้มีคุณภาพถึงขั้นที่คุณจะซื้อ STR Preamplifier มาใช้งานเป็นปรีโฟโนแยก เพื่อเอาไปต่อเครื่องเสียงชุดใหญ่เช่นกัน มันแค่เป็นภาคปรีโฟโนที่คุณภาพดีเมื่อเทียบกับราคา รวมกับฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายของปรีตัวนี้ โดยเมื่อเล่นแผ่นเสียง The All Star Percussion Ensemble สังกัด FIM ในแทร็ก Carmen Fantasy เสียงไซโลโฟนมีความสดใสและมีประกายดี กลองใบใหญ่ที่อยู่ด้านหลังก็ลึกเข้าไปด้านในอย่างที่ควรจะเป็น เครื่องเคาะแต่ละชนิดสามารถแจกแจงรายละเอียดของวัสดุออกมาได้ดี เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นกระจายตัวกันดี ไม่มีซ้อนทับกัน สนามเสียงกว้างใหญ่ ลึกเลยผนังหลังห้องไปไกลมาก กับแผ่นเสียง Three Kingdoms Resurrection of the Dragon พบว่า เสียงกลองจีนใบใหญ่ให้ความหนักแน่นดีมาก แม้จะเปิดดังระดับเหมือนย่อการบรรเลงจริงมาไว้ในห้องฟัง ก็ยังพบว่าเข็มแสดงกำลังขับที่แอมป์ก็ยังขึ้นไปไม่เกิน 20 วัตต์ ซึ่งน้อยกว่าตอนฟัง Pat Coil เสียอีก เข้าใจว่าการบันทึกน่าจะมีการบีบอัดข้อมูลมามากกว่า ทำให้เสียงโดยรวมฟังดูดังกว่า แต่พีคของหัวเสียงจริงๆ ต่ำกว่า ซึ่ง STR Power Amplifier สามารถคุมลำโพง Martin Logan: Renaissance ESL 15A ได้อยู่หมัดแบบเหนือความคาดหมายมาก เพราะการที่แอมป์ราคาเพียง 1 ใน 4 ของลำโพงที่สูงท่วมหัวขนาดนี้ เอาจริงๆ น้ำหนักแอมป์แค่ราวๆ ครึ่งหนึ่งของลำโพงข้างเดียวแบบนี้ เล่นแผ่นที่ค่อนข้างโหดขนาดนี้ได้นิ่งสนิท ไม่มีอาการเป๋ให้เห็น ต้องนับว่าน่าประทับใจมากๆ 

ต่อด้วยแผ่นเสียง Sara K – Water Fall จากค่ายปลายิ้ม Stockfisch เสียงร้องมีเนื้อหนังอิ่มดี บอดี้กีตาร์ใหญ่ หัวเสียงสายที่มือรูดไปตามฟิงเกอร์บอร์ดได้ยินชัดเจน แต่ไม่ได้มากจนเกินไป ไม่มีอาการบาดหูให้น่ารำคาญ โดยเฉพาะเพลง Water Fall ที่มีเสียงกลองใบใหญ่ ก็รับรู้ได้ถึงขนาดของกลองใบใหญ่ที่ตีเบาๆ อยู่ไกลๆ ให้เสียงค่อยๆ วิ่งมาจนแผ่โอบล้อมได้ดี แต่ไม่แน่ใจว่ามีการใส่ subsonic filter มาด้วยรึเปล่า เพราะรู้สึกว่าคลื่นความถี่ต่ำไม่ได้แผ่มาตามพื้นมากเท่าที่เคยฟัง คือก็พอมีให้รู้สึกได้ แค่มันน้อยกว่าที่คุ้นเคยไปบ้าง แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดีในแอมป์ระดับราคานี้

ต่อมาลองแยกกันทำงานบ้าง เริ่มด้วยชุดต้นทางดิจิทัลจาก dCS Paganini มาเข้าปรีแอมป์ Mark Levinson No.32 และไปยัง Anthem STR Power Amplifier กับแผ่น Robert Stanton Acoustic Strom เสียงกีตาร์มีบอดี้ที่ใหญ่ขึ้น นิ่งขึ้น รับรู้ได้ถึงลีลาการเล่นที่ละเมียดขึ้นจนรู้สึกเหมือนดนตรีโดยรวมเล่นช้ากว่า เพราะเราสามารถแปลความเสียงต่างๆ ได้ง่ายกว่า แนวว่าสมองไม่ต้องทำงานหนักเพื่อตีความเสียงที่ได้ยิน เพราะทุกฮาร์โมนิกของทุกเครื่องดนตรีมันมาครบถ้วนแล้ว แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่า STR Preamplifier เสียงเป็นรองชุดอ้างอิง เพราะเป็นเรื่องที่คาดหมายไว้แล้ว เนื่องจากทั้งหมดรวมกันราคาน่าจะเลยหน้า STR Preamplifier ไปร่วม 12 เท่าตัว!!! แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ STR Power Amplifier ที่มีราคาน่าคบหาเช่นนี้ และยังสามารถฉายแววว่าดีขึ้นได้อีก หากได้รับสัญญาณมาจากแหล่งต้นทางที่ดีขึ้น เรียกได้ว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก ยิ่งเมื่อต่อด้วยแผ่น Hans Zimmer Live in Prague ก็พบว่า STR Power Amplifier สามารถขับลำโพง Martin Logan: Renaissance ESL 15A ออกมาได้เป็นอย่างดี แม้มีความถี่ต่ำในหลายๆ ท่อนที่มีพลังงานมาก ก็พบว่า STR Power Amplifier เอาอยู่ ไม่พบอาการแผ่วให้เห็นเลย ให้รูปวงที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างน่าประทับใจ

เมื่อลองเอา STR Preamplifier มาจับคู่กับ Classe’ CA-M600 เล่น The Electro Suite จาก Amazing Spyder-Man 2 ในแผ่น Hans Zimmer Live in Prague พบว่า เมื่อจับคู่ STR Preamplifier เข้ากับแอมป์ที่มีพละกำลังสำรองมากจริงๆ ระดับ 1200 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม ในขณะที่ STR Power Amplifier จะเป็น 600 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม ก็จะพบว่ามีความสามารถในการถ่างขยายรูปวงให้มีความกว้างออกไปด้านข้างที่เลยผนังห้องออกไป และมีความลึกเลยผนังหลังเข้าไปอีกลึกมาก เรียกว่าขนาดใกล้เคียงการแสดงจริงมากขึ้น แถมด้วยความชัดเจนในรายละเอียดของหัวเสียงต่างๆ เช่น เสียงของสายเบสไฟฟ้าที่กระทบเฟลตบนคอเบส ก็สามารถแยกความแตกต่างออกจากหัวไม้กลองที่เป็นไม้กระทบกับหนังกลองใน The Dark Knight Trilogy ได้ชัดเจนขึ้น แสดงให้เห็นว่าภาค DAC ในตัว STR Preamplifier ก็นับว่าไม่ธรรมดาทีเดียว ปิดท้ายด้วยแผ่นเสียง Sara K – Water Fall พบว่าเมื่อจับคู่ STR Pre กับ CA-M600 เสียงร้องและ บอดี้กีตาร์ เหมือนมีขนาดเล็กลง แต่แยกแยะออกจากบรรยากาศที่เป็นโถงของห้องชัดเจนขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ใช้สายลำโพงคนละชุด เนื่องจาก STR Power Amplifier ไม่สามารถใส่หางปลาของสายลำโพงหลักที่ใช้ประจำได้ ดังนั้น คงสรุปแต่เพียงว่า STR Preamplifier เป็นปรีแอมป์ที่มีคุณภาพดี สามารถจับคู่กับแอมป์อื่นที่ไม่ใช่ยี่ห้อเดียวกันก็ยังสามารถทำงานได้ดี แต่ด้วยความที่เมื่อนำ Anthem STR Preamplifier และ STR Power Amplifier มาใช้คู่กันแล้ว มันช่างหน้าตาดูดีจริงๆ ผมจึงขอแนะนำให้ใช้คู่กันจะดีกว่า เพราะทั้งสองตัวออกแบบมาได้ลงตัวกันดี ไม่ได้มีใครเด่นเกินหน้าเกินตากันจนอีกตัวเป็นตัวถ่วงของระบบอย่างที่เคยเจอในบางยี่ห้อ ถ้าแบบนั้นแยกคู่ดีกว่า แต่สำหรับ STR แนะนำให้ใช้คู่กันลงตัวดีมากในระดับราคานี้

สรุป

ในส่วนของการจับคู่ใช้งานร่วมกัน Anthem STR Preamplifier และ STR Power Amplifier เป็นชุด Preamplifier และ Power Amplifier ที่มีคุณภาพ และมีความสามารถรอบตัวมากในระดับราคานี้ มีน้ำเสียงที่ทรงพลัง หนักแน่น แต่ไม่รุกเร้า ไม่บ้าพลังจนขาดความละเมียด เรียกได้ว่ากลมกล่อมน่าฟังดี ในส่วนของปรีก็สามารถใช้แทน DAC ในงบ DAC+Pre ราคานี้ได้เลย และเมื่อนับรวมด้วยว่ามีภาคปรีโฟโนคุณภาพหลักหลายหมื่นที่แถมมาเหมือนได้เปล่า ก็ต้องบอกว่าเป็น DAC+Pre ที่น่าสนใจมาก ส่วนแอมป์ก็มีพลังเสียงที่หนักแน่น จริงจัง สามารถคุมลำโพงขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี พาลจินตนาการไปว่า ถ้ามีห้องราวๆ 4 x 6 เมตร แล้วเปลี่ยนจาก Martin Logan: Renaissance ESL 15A ลงมาเป็น Martin Logan: Impression ESL 11A หรือถ้าเป็นลำโพงตั้งพื้นตัวไม่ใหญ่มากที่อยู่ในระดับราคาราวๆ สามแสน ก็น่าจะขับออกมาได้ลงตัวน่าฟังเหมาะสมทั้งกำลังขับและระดับราคาดีทีเดียว ดังนั้น ถ้าใครที่มีลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางๆ อยู่แล้ว แต่เครื่องในระบบชิ้นอื่นๆ อาจจะเริ่มเก่าจนภาคดิจิทัลเริ่มล้าสมัย อยากได้เครื่องใหม่ที่มีความสามารถรอบตัว ผมว่าจัดแค่ Anthem STR Preamplifier และ STR Power Amplifier ก็มีโอกาสที่จะจบลงตัวได้ไม่ยาก เพราะด้วยพละกำลังสำรองที่ค่อนข้างเยอะ โทนเสียงที่น่าฟัง แถมปรีแอมป์ยังลูกเล่นแพรวพราว ถ้าจะซื้อทุกอย่างแบบแยกชิ้นหมด แล้วยังต้องโดนค่าสายไฟสายเชื่อมต่ออีกมากมาย ผมมองว่ากว่าจะได้ฟังก์ชั่นการใช้งานขนาดนี้ และเสียงที่ดีขึ้นกว่า Anthem STR Preamplifier และ STR Power Amplifier คงต้องจ่ายอีกเป็นเท่าตัวแน่ๆ แนะนำมากๆ สำหรับใครที่มองหาเครื่องในงบประมาณนี้. ADP 

STR Preamplifier ราคา 175,000 บาท
STR Power Amplifier ราคา 255,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โซนิค วิชั่น จำกัด โทร. 0-2681-7500

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 268