ถ้าพูดถึงโปรเจกเตอร์ที่ใช้ในห้อง Home Theater โดยทั่วไป ความสว่างก็มักอยู่ที่ราวๆ 2000-3000 Lumens แต่สำหรับโปรเจกเตอร์ รุ่นใหญ่ของ BenQ รุ่น LK990 ตัวนี้ สามารถทำความสว่างได้ถึง 60000 Lumens โดยทาง BenQ ได้ส่งโปรเจกเตอร์พลังสว่างสูงตัวนี้ตัวแรกๆ มาให้ทดสอบ ซึ่งทำให้ผมได้พบจุดเด่นและข้อบ่งใช้ของโปรเจกเตอร์ตัวนี้อยู่หลายอย่าง วันนี้เลยจะนำสิ่งน่าสนใจเหล่านี้ มาเล่าให้ได้ทราบกัน 

รูปร่างหน้าตาของโปรเจกเตอร์ BenQ LK990 
รูปด้านหน้า • รูปด้านท้าย • รูปด้านบน 

จากรูปร่างหน้าตา และขนาดโดยทั่วไป พบว่าเหมือนกับ BenQ 11000H ที่ผมเคยทดสอบไป โดยมีมิติของขนาดอยู่ที่ 470 x 225 x 565 เซ็นติเมตร แต่ว่าน้ำหนักของเครื่องนั้นหนักกว่ารุ่น 11000H อยู่พอสมควร น้ำหนักที่แจ้ง ไว้คือ 20.2 กิโลกรัม ส่วนเลนส์ก็มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เรียกได้ว่าถ้าเอามาวางคู่กับ BenQ 11000H ดูผ่านๆ นี่ แทบจะแยกไม่ออกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน 

เมื่อเทียบกับโปรเจกเตอร์รุ่น BenQ 11000H 
รีโมตมีขนาดเล็กและเบากว่ารุ่นอื่นๆ 

โปรเจกเตอร์ตัวนี้ใช้ชิพ 4K เดี่ยว แบบ DLP ขนาด 0.67 นิ้ว รุ่น DC3 DMD Chip โดยในชิพมีกระจกขนาด เล็กๆ ถึง 4.15 ล้านชิ้น ที่เคลื่อนที่แบบ fast switching เพื่อให้สามารถแสดง ภาพระดับ 3840×2160 หรือ 8.3 ล้าน พิกเซลในภาพแต่ละเฟรมได้

การขยับกระจกแบบ fast switching ทำให้สามารถแสดงความละเอียด ในระดับ 8.3 ล้านพิกเซลได้

จุดเด่นที่สุดของโปรเจกเตอร์ตัวนี้ สำหรับผมแล้วก็คือ เรื่องความสว่าง ของภาพ โดยโปรเจกเตอร์ตัวนี้ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบ BlueCore Laser ที่ในสเป็กบอกไว้ว่าให้ความสว่างถึง 6000Lumens และจากการวัดจริง ถ้าเลือก Color Mode แบบ Bright นั้น ในห้องผมที่ใช้จอ Stewart FireHawk ขนาด 120 นิ้ว เกรน 1.25 สามารถวัดความสว่างได้ถึง 376nits (ดูไม่ผิดครับ สามร้อยเจ็ดสิบหก nits แปลงเป็น foot-lambert ได้ 110fL นี่ก็ระดับน้องๆ จอทีวีสมัยนี้เลย) และถ้าทำการ Calibrate แล้ว ใน Mode Cinema วัดได้ 260nits ซึ่งถือได้ว่าเป็นโปรเจกเตอร์สำหรับใช้ในห้อง Home Theater ตัวสว่างที่สุดที่ผมเคยวัดมาเลยทีเดียว เจอมาส่วนมากใช้ในห้อง Home Theater ความสว่างสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 100 – 150nits เท่านั้น และแน่นอนการใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบ Laser ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องของความคงทนของ หลอดภาพ ซึ่งสำหรับตัวนี้สเปกแจ้งไว้ว่าสามารถใช้งานได้ถึง 20,000 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยน การบำรุงรักษา เรื่องของหลอดภาพ 

BenQ LK990 ใช้แหล่งกำเนิดแสง แบบ BlueCore Laser 
แหล่งกำเนิดแสงแบบ Laser Engine สามารถให้ ความสว่างได้ยาวนานกว่าแบบ Lamp Based 

ส่วนในเรื่องความร้อนของเครื่องที่เป็นแบบ Laser นั้น โปรเจกเตอร์ BenQ LK990ใช้ระบบระบายความร้อนถึงสองระบบเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ทำให้อุณหภูมิสูงเกินไปในขณะเครื่องกำลังใช้งาน ระบบแรกเป็นการใช้ Liquid Cooling ป้องกันในส่วนของ Laser Light Source และระบบ DLP engine อีกระบบเป็นการใช้พัดลมร่วมกับท่อระบายความร้อนในส่วนชิพ DMD นอกจากนี้ก็ใช้ระบบตรวจจับอุณหภูมิแบบ real-time เพื่อควบคุมระบบ จัดการความร้อนให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์อีกด้วย ที่ดีอีกอย่างสำหรับ การระบายความร้อนของเครื่องโปรเจกเตอร์ตัวนี้ก็คือ ระยะเวลาในการ ปิดเครื่องที่เร็วมาก พัดลมระบายความร้อนทำงานหลังจากเครื่องปิดไม่เกิน 5 วินาทีก็ดับแล้ว ไม่เหมือนโปรเจกเตอร์บางตัวที่กว่าจะปิดเครื่องได้ต้องรอ ให้พัดลมทำงานก่อนหลายนาที ทำให้ไม่สะดวกในการใช้ที่ต้องเปิดปิดเครื่องเป็นประจำแต่เสียงของพัดลมเมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ผมว่าเสียงยังดังอยู่ ยิ่งเวลา เปิดโหมดที่เป็น Normal นั้น เสียงจะดังถึง 37dBA เลย ถ้าเปลี่ยนเป็นโหมด Economic ก็จะมีเสียงดังลดลงหน่อยอยู่ที่ประมาณ 34dBA ซึ่งผมก็ว่ายัง ดังอยู่ ดังนั้น ถ้าจะติดตั้งโปรเจกเตอร์ตัวนี้ก็ควรต้องให้โปรเจกเตอร์อยู่ห่าง ตำแหน่งนั่งฟังอยู่ซักหน่อย หรือไม่ก็ออกแบบให้ติดตั้งภายนอกห้องจะดีกว่า 

ระบบระบายความร้อนภายในเครื่อง 

และถ้าสังเกตให้ดีบนตัวเครื่องจะเห็นโลโก้ DUST GUARDpro ซึ่งหมาย ถึงเครื่องนี้ได้รับการรับรองว่าได้ถูกออกแบบซีลระบบกำเนิดภาพ Laser ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น DMD chip, วงล้อสี, Laser Light Source รวมถึงอุปกรณ์เลนส์เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าไป ทำให้ยืดอายุการทำงานของเครื่อง และป้องกันการเกิดภาพที่ผิดปกติจากฝุ่นที่เข้าไปในเครื่องด้วย 

โลโก้บนเครื่องแสดง 
DUST GUARDpro 
ระบบป้องกันฝุ่นภายในเครื่อง 

คราวนี้มาถึงผลการทดสอบกันบ้าง หลังจากได้รับเครื่องและได้ยกขึ้น แท่นวาง เปิดดูแนวภาพคร่าวๆก่อนที่จะมีการ Calibrate พบว่านอกจาก ความสว่างที่เปิดออกมาต้องร้องโอ้โหแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของโปรเจกเตอร์ตัวนี้ก็คือ เรื่องความคมชัดของภาพ ส่วนหนึ่งก็คงต้องบอกว่าเป็นเพราะ เทคโนโลยี Single DMD DLP ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความคมชัดแบบธรรมชาติ และไม่ต้องมีการปรับตำแหน่ง Panels ของหลายชิพให้อยู่ตรงกัน อีกส่วนหนึ่ง ที่สำคัญก็คือ เรื่องของเลนส์ ซึ่งโปรเจกเตอร์ BenQ LK990 ได้ใช้เลนส์แก้ว ที่ออกแบบสำหรับภาพ 4K HDR โดยเฉพาะ ตัวเลนส์เท่าที่ผมมองเทียบกับ โปรเจกเตอร์ BenQ 11000H พบว่าตัวเลนส์มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย จากคุณภาพ ของเลนส์ส่งผลให้ภาพที่ออกมาจากโปรเจกเตอร์ตัวนี้มีความคมชัด สีสันสดใส ไม่พบปัญหาในเรื่องเบลอ ภาพเป็นเงา และความผิดปกติบิดเบี้ยวของภาพ  

เลนส์ที่มีคุณภาพขนาดใหญ่ จะส่งผลต่อคุณภาพของภาพ โดยตรง 

มีอีกอย่างหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในโปรเจกเตอร์ตัวนี้ และในจอภาพของ BenQ อีกหลายรุ่นคือ สามารถแสดงภาพในโหมด DICOM (Digital Imaging and Communication in Medicine) ได้ ซึ่งบางท่านที่คุ้นเคยกับสินค้าของ BenQ อาจจะพอทราบว่า BenQ มีสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในกลุ่มการแพทย์อยู่มากมาย หลายแขนง DICOM ก็เป็นมาตรฐานหนึ่งที่ใช้ในการจัดการ จัดเก็บ จัดพิมพ์ และจัดส่งข้อมูลรูปภาพทางด้านการแพทย์ โดยสำหรับ DICOM โหมดที่อยู่ ในจอภาพก็จะเป็นโหมดภาพที่ใช้สำหรับดูภาพ Grayscale ทางการแพทย์ เช่น ภาพ X-rays รวมถึงมีการจัดการเรื่องของ Grayscale Level ในระดับ สูงเพื่อใช้ในการ Training และการศึกษาโดยเฉพาะ 

การแสดงภาพแบบ DICOM X-ray Imaging 

เครื่องที่ส่งมาเป็น เครื่องใหม่เอี่ยมยังไม่มี การใช้งาน จึงต้องทำการ burn เครื่องหลายสิบ ชั่วโมง ก่อนทำการ Calibration อุปกรณ์ที่ใช้การ ในวัดและปรับภาพก็มี เครื่อง Murideo Six-G pattern generator เพื่อสร้าง pattern ใน การวัดค่า ส่วนตัววัดภาพใช้ meter ทั้งแบบ Colorimeter และ Spectro-radiometer ได้แก่ Klein K10-A Colorimeter และ Jeti Spectraval 1511 ตามลำดับ โปรแกรมที่ใช้วัดภาพใช้อยู่ 3 โปรแกรม ได้แก่… LightSpace HTP, CalMAN for Business และ ChromaPure Professional เริ่มสิ่งแรก ที่ผมทำการวัดก็คือ ค่า Spectral Power Distribution (SPD) เพราะว่า แหล่งกำเนิดภาพเป็นแบบ Laser Engine ที่บางทีการกระจายของแสงใน ความถี่ต่างๆ อาจจะไม่สม่ำเสมอ แต่สำหรับสีม่วงสีน้ำเงิน ความถี่ประมาณ 440 – 460 นาโนเมตรที่สูงโด่งขึ้นนั้นก็เป็นลักษณะ SPD เฉพาะของ Laser engine อยู่แล้วที่จะต่างจาก lamp base ซึ่งสำหรับ SPD ของ BenQ LK990 ตัวนี้ก็ถือว่าปกติดี ไม่มีช่วงสีไหนที่ขาดหายไปมาก 

เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ โปรเจกเตอร์ BenQ LK990 
กราฟแสดง Spectral Power Distribution (SPD) 

หลังจากนั้นก็ทำการวัดค่าการครอบคลุมเฉดสี พบว่าในระดับ Rec.709 จะอยู่ที่ประมาณ 90% ส่วนระดับ DCI-P3 อยูที่ 80% ซึ่งถ้าเทียบกับโปรเจกเตอร์ สำหรับ Home Theater ของ BenQ เช่น ในรุ่น W11000H ก็ถือว่า การครอบคลุมน้อยกว่า คงเนื่องจากว่าโปรเจกเตอร์ตัวนี้เน้นในเรื่องของ ความสว่างเป็นหลัก เช่นเดียวกับค่า RGB Balance ของ Grayscale ที่ความ สว่างหรือ IRE ต่างๆ พบว่าค่าตั้งต้นก็ยังมีความเพี้ยนอยู่ และเท่าที่ผมวัดดู ในทุกโหมดพบว่า โหมดภาพแบบ Cinema ให้สีใกล้เคียงกับค่ามาตรฐาน มากกว่าโหมดภาพแบบอื่นๆ ส่วนในการปรับ ถ้าต้องการให้ค่า RGB Balance มีค่าดีที่สุด แนะนำให้ลดความสว่างของโปรเจกเตอร์ลงก็จะทำให้ค่า RGB Balance ของ Grayscale มีความถูกต้องใกล้เคียงมาตรฐานมากขึ้น โดยโปรเจกเตอร์จะสามารถปรับความสว่างไว้หลายระดับมาก ตั้งแต่ระดับ Normal ที่ให้แสงสว่างของภาพสูงที่สุด, Economic ให้ความสว่างของ แสงลดลงมาเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานแหล่งกำเนิดแสงและลดความดังของ พัดลมในเครื่อง, SmartEco ก็จะเป็นการลดความสว่างของแหล่งกำเนิดแสง โดยอัตโนมัติตามระดับความสว่างของ content ที่กำลังดูอยู่, Dimming เป็นการลดความสว่างแหล่งกำเนิดแสงมากกว่า Economic ลงอีกระดับหนึ่ง ส่วน Custom จะเป็นการลดความสว่างตามความต้องการ ของผู้ใช้ได้เลย ส่วนสำหรับค่า Input lag ของเครื่องวัดได้ประมาณ 50 millisecond ก็ถือว่าสามารถใช้เล่นเกมส์ได้ ไม่มีความหน่วงของภาพมากนัก 

แสดงการครอบคลุมสีระดับ DCI-P3
โปรเจกเตอร์ BenQ LK990 ที่มีความสว่างมากจนสามารถเปิดไฟดูหนังได้เลย
แสดงค่า RGB Balance ของ Grayscale ก่อนและหลังการปรับ 

หลังจากที่ได้ Fully Calibration โปรเจกเตอร์ BenQ LK990 และได้ ทดลองดูภาพจากภาพยนตร์ สารคดี รายการทีวี รายการกีฬาต่างๆ แล้ว ต้องบอกว่าเป็นโปรเจกเตอร์ที่ให้ความประทับใจในเรื่องความสว่างมาก ผมสามารถเปิดไฟในห้อง Home Theater ได้ทุกดวง โดยที่แสงสว่างจากหลอดดาวน์ไลต์กว่า 8 ดวงในห้องแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ของภาพที่ปรากฏบนจอเลย ผมจึงแนะนำอย่างยิ่งสำหรับใครที่ต้องการ โปรเจกเตอร์เอาไปใช้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมแสงภายนอก ได้หมด อยากเปิดไฟดูหนังดูทีวี หรือต้องการใช้ในจอภาพขนาดใหญ่ จอภาพ แบบ Acoustic Transparent Screen (TA) ที่กินแสงมาก จอภาพเกรนน้อย สถานการณ์ต่างๆ ที่ใช้โปรเจกเตอร์แบบธรรมดาแล้วให้แสงไม่พอ แม้กระทั่ง ในสิ่งแวดล้อมแบบ Outdoor ดูกีฬาดูหนังในห้องนั่งเล่นห้องกินข้าว จนไปถึง เอาไว้เป็นโปรเจกเตอร์แสดงในงาน event งานจัดนิทรรศการต่างๆ ผมว่า โปรเจกเตอร์ตัวนี้มีความเหมาะสมมาก สำหรับในเรื่องที่ว่าแสงสว่างมากขนาดนี้จะปวดตาเวลาดูนานๆ ในห้อง Home Theater หรือไม่ ตอนแรกผมก็สงสัยในประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน แต่พอดูของจริงพบว่าความรู้สึกเรื่องปวดเมื่อยสายตานี่ ผมว่าน้อยกว่าเวลาปิดไฟดูจอทีวีนะ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะว่าภาพจากโปรเจกเตอร์เป็นการดูแสงสะท้อนจากจอรับภาพ แต่ทีวี เป็นการดูจากแหล่งกำเนิดแสงตรงๆ จึงมีผลต่อตามากกว่า แต่ถ้าคิดว่าดูแล้ว สว่างมากไป เราก็สามารถลดความสว่างของโปรเจกเตอร์รุ่นนี้ได้ไม่ยากครับ สำหรับเรื่องคุณภาพของภาพโดยทั่วไปทั้งจากภาพ SDR และ HDR ภาพ ก็ยังคงคุณสมบัติของชิพ DMD DLP คือให้ภาพที่สวยใสดูเป็นธรรมชาติ สีไม่เข้มจนเกินไป แต่ความดำของภาพก็อาจจะไม่เท่าเครื่องที่ใช้เทคโนโลยี แบบอื่น การเคลื่อนไหวของภาพอยู่ในระดับดี ไม่มีสะดุด 

สรุปได้ว่าโปรเจกเตอร์ BenQ LK990 ตัวนี้เป็นโปรเจกเตอร์ที่มีจุดเด่น เรื่องพลังความสว่าง และยังคงให้คุณภาพของภาพที่ใช้สำหรับดูภาพยนตร์ ดูทีวี ได้อย่างดีตัวหนึ่งในท้องตลาดขณะนี้
ก็ต้องขอขอบคุณทางบริษัท BenQ ที่ส่งโปรเจกเตอร์พลังแสงสูงตัวนี้มาให้ผมทดสอบด้วยครับ. VDP 

ราคา 699,000 บาท 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย 
บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 0-2670-0310-1