เปิดประสบการณ์ครั้งใหม่ของการสตรีมมิ่งบนโฮมเน็ตเวิร์กทั้งแบบสายและไร้สาย ด้วยอุปกรณ์เสริมคุณภาพสูงระดับ audio grade เพื่อ audiopile เช่นคุณทุกคน ในราคาจับต้องได้ ไม่จำเป็นว่าออดิโอไฟล์ต้องจ่ายแพงเสมอไป

What IF?

เมื่อต้องใช้บริการอินเทอร์เน็ตจาก ISP ก็ต้องติดตั้ง WiFi Router ให้อยู่แล้วนี่นา

แน่ใจนะว่า WiFi Router ของ ISP นั้นดีพอ?

ทำไมต้องซื้อ WiFi router หรือ Network Switch เพิ่ม หรือเพราะ WiFi เข้าไม่ถึงจุดที่ต้องการใช้?

“เพราะต้องการคุณภาพทั้งเสียงและภาพที่ดีกว่า ในระดับที่ออดิโอไฟล์เช่นเรายอมรับได้” จริงดิ?

อุปกรณ์แห่งยุคสมัยตัวล่าสุดอีกตัว จาก Fidelizer audio จะช่วยอัพเกรดคุณภาพการเชื่อมต่อไร้สายของเครื่องเล่นสตรีมมิ่งได้อย่างเนียนกริบ เผยเนื้อแท้ของภาพและเสียงให้ไหลลื่นน่าฟัง เพลงจากสตรีมมิ่งเป็นดนตรีเช่นเดียวกับใช้สาย LAN จากเน็ตเวิร์กสวิตช์เทพทีเดียว นอกจากให้เสียงดีแถมยังทำหน้าที่หลายอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน  ด้วยค่าตัวเท่านี้ จนต้องถามซ้ำว่า

เฮ้ย.. อะไรกัน ไฮเอนด์เลยนะ ราคาเท่านี้น่ะเหรอ ของ ถูกและดี มีอยู่จริงหรือ

หักลบกลบหนี้กันระหว่างเร้าเตอร์รุ่นเดิมที่ยังไม่ได้โม (Modify) จะมีราคาต่างกันอยู่ราว 6 พันบาท แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ถือว่าสุดคุ้ม แค่ซื้อสาย LAN เทพเส้นหนึ่งก็อาจจะยังไม่ได้ด้วยนะ แต่นี่คุณได้ปรับปรุงคุณภาพโฮมเน็ตเวิร์กทั้งระบบ ทั้งมีสายและไร้สายในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังได้ฟังก์ชัน DLNA Server โดยไม่ต้องลงทุนซื้อ NAS กันเลย ตรงนี้ก็สุดคุ้มค่าแล้วครับ

….อยากรู้ว่าทำไม ต้องตามมา

Breaking news

Spotify เจ้าพ่อ Streaming Services ปรับลดพนักงานครั้งใหญ่จำนวนมากถึง 1,500 คน หรือราว 17% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดเพราะกำไรหด ที่ช็อกมากกว่าคือไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้พนักงานมากนัก ควรปลดไปตั้งนานแล้วนะ ส่วนอีกข่าวสายสตรีมยักษ์เล็ก Tidal ก็ถึงคิวปรับลด 40 คน จิ๊บๆ น่ะ

2 ข่าวนี้กองแช่ง “ก็อย่าได้ว้าวุ่นกันนักเลย” รอดูผลประกอบการโดยรวมของอุตสาหกรรมกันดีกว่า เพราะงานบางอย่างสมัยนี้ใช้ AI ได้ ดูซิอย่างผมนี่ไม่เคยมีอุปกรณ์ถ่ายภาพดีๆ ไม่มีฝีมืองานศิลป์ ยังสร้างงานดิจิทัลอาร์ตออกมาเป็นว่าเล่น เพียงมี AI เป็นเครื่องมือ ที่เหลือก็แค่มีจินตนาการเท่านั้น ยิ่งเรื่องสื่อดนตรีนี่คือของถนัดของ AI เชียวนา คนก็ตกงานซิครับ ปรับลดคนมันเป็นความจริงของธุรกิจ อุตสาหกรรมโดยรวมก็อาจไม่ได้แย่หรอกนะ

สวัสดีครับ.. ทุกคน

พบกันอีกแล้วกับ audiophile go digital อรรถคดีว่าด้วยเรื่องของ Digital Audio ซึ่งมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้เล่าขานบนสื่อออนไลน์อยู่เสมอ และนี่เป็นบทความบนเว็บไซต์ www.audiophile-videophile.com ขอบคุณสำหรับการติดตามเสมอมา

ยุคนี้คงจะคุ้นกับการสตรีม “ผ่านเน็ตบ้าน” จะบนอุปกรณ์บันเทิงราคาแพง เช่นสมาร์ททีวี ซาวด์บาร์ หรือสตรีมิ่งแด็ค ซึ่งทราบดีกันดีอยู่แล้ว กับ Chromecast, AirPlay, Tidal Connect, Spotify Connect หรือใกล้ตัวที่สุดคือฟังเพลงด้วยหูฟังไร้สาย หรือมีสายก็ได้  ทั้งหมดคือการส่งข้อมูลดิจิทัลด้วยการสตรีมไร้สายทั้งสิ้น แล้วจะมั่นใจได้ไงว่าได้คุณภาพเต็มประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น คุ้มค่าเงินที่ได้จ่ายไป อาจตกม้าตายได้นะ ก็ทุกอย่างต้องพึ่งระบบโฮมเน็ตเวิร์กทั้งสิ้น

“จะไม่ดีหรือที่จะได้ความเป็นที่สุดของอุปกรณ์ที่ลงทุนไปกลับมา โดยไม่ต้องใช้ของแพงที่สุด” ก็ให้ได้นี่ครับ

Way of Stream

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเสียงดนตรี ภาพยนตร์ เกมมิ่ง หรือวิดีโอที่เสพกันอยู่ทุกวันนี้ล้วนเป็นการสตรีมมาถึงเราผ่านทางอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น ฟังเพลงจาก Streaming services อย่าง Tidal, Qobuz, Spotify, Apple Music… Internet Radio หรือเปิดทีวีบนแอป AIS Play, TRUE ID ดูข่าวติดตามช่องยูทูบ ดูหนัง Netflix, DisneyPlus, HBO, Amazon Prime หรือถ่ายทอดสดกีฬาอย่าง F1, NFL, NBA, VNLหรือ Premier League จะผ่านแอปบน Smart TV หรือ Top Box ล้วนเป็นการสตรีมทั้งสิ้น

แม้ว่าต้นทางจัดการดีสักเพียงไร แต่องค์ประกอบพื้นฐานปลายทางซึ่งก็คือโฮมเน็ตเวิร์กในบ้านควรต้องวางระบบให้ดีที่สุด แต่ดีแค่ไหนล่ะ หรือดีตามมาตรฐาน IT ก็อาจจะใช่ แค่วัดสปีดอินเทอร์เน็ตได้ สัญญาณเสถียรก็บอกว่าดีพอแล้ว จริงอยู่ที่ข้อมูลดิจิทัลคือ 0 กับ 1 แต่สำหรับสายสตรีมจริงจังอย่างเราก็อาจดีไม่พอ ซึ่งแปลว่าต้องดีกว่านี้ได้อีก เราพูดกันถึง Latency และ Jitter นะ

“ก็เพราะผลที่ได้มันจะไปออกที่เครื่องเล่นที่ลงทุนซื้อไปด้วยเงินเป็นหมื่นเป็นแสนนั่นเอง” จริงดิ

Infrastructure…

เมื่อตกลงปลงใจลงทุนกับ Streamer / Player / Top Box หรือ TV เทพหมดไปหลายเงินอยู่ ก็เพราะมุ่งหวังว่าจะได้ภาพและเสียงดีที่สุดไม่ใช่เหรอ?… ถ้าอยากได้เช่นนั้นจริงมันก็ควรอยู่ในระบบนิเวศที่ดีด้วย

ในภาพแสดงให้เห็น “ระบบนิเวศน์ของระบบ Home Network” ว่า สาย LAN ต้องต่อเชื่อมกับ WiFi Router และ Network Switch ไปสู่เครื่องเล่นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นถ้าจะรีดเค้นความเป็นที่สุดกันแล้วสิ่งแรกที่นึกถึง ที่จะต่อกับอุปกรณ์บันเทิงราคาแพงของเรา “ที่คู่ควร” ที่จะไม่ไปลดทอนคุณภาพจากเครื่องเล่นที่ลงทุนไป ตราบใดที่รับรู้ถึงความแตกต่าง “คนคัน” อย่างเราก็ต้องหาจำเลยให้เจอ มันต้องมีซิ… ว่ามะ

ระบบนิเวศของนักเล่นสายสตรีมในกลุ่ม audiophile ต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ทั้ง 3 นี้คือ network switch + wireless router + streamer ซึ่งล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ต้องอยู่ในเกรด audiophile ทั้งสิ้น 

อุปกรณ์เชื่อมต่อในระบบนิเวศ Home Network ในยุคนี้ ล้วนแล้วแต่ถูกติดตั้งไว้แทบทุกบ้านของนักฟังหูทองนั่นแหละ เช่นเครื่องกรองไฟเหรอ แรกทีก็เส้นสาย สายไฟ หรือ “สาย LAN เทพ” จนก่อนหน้านี้ Network Switch อาจเป็น “อุปกรณ์แห่งยุคสมัย” ตัวเดียวที่ต้องเล่น  ติดตั้งง่ายเพียงติดตั้งคั่นระหว่าง Router ของ ISP (Internet Service Provider) และเชื่อมมิวสิสเซิร์ฟเวอร์กับ Player / Top Box นั่นเอง สาย LAN กับ Network Switch อยู่ในวงของการต่อพ่วงในระบบนั่นแหละ

ความจริงเราก็ชินกับการใช้สาย LAN มาต่อกับ ANS (Audio-grade Network Switch) เพราะเชื่อว่าไร้สายคงสู้ไม่ได้ แต่ว่ากันจริงๆ แล้วทั้ง WiFi Router และ Network Switch ก็คือ the Weakest Link  นั่นเอง แต่ WiFi Router ยังไม่ใช่อยู่ดี จะดีไหมถ้ามีอุปกรณ์ audio grade ที่รวบทั้งสองฟังก์ชันอยู่ในตัวเดียว?

Now and then…

Hi-End WiFi Router ทั้งๆ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าจะมีใครทำขายไหม ขอบอกว่าก็มีนะ แต่กลับไม่มีใครทำตลาดนำเข้าเร้าเตอร์ไฮเอนด์จริงจังแฮะ ที่ทราบก็เพราะราคามันช่างบ้าเลือดจนผู้นำเข้าไม่กล้านำเข้ามาทำตลาดนั่นเอง จู่ๆ คุณคีตะกวี (น้านนท์) เจ้าสำนัก Fidelizer ก็คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า AirStream ออกมาในราคาจับต้องได้ ไล่ๆ กับเน็ตเวิร์กสวิตช์ EtherStream และ PSU (Nikola) ครบทีม ที่แน่ๆ AirStream นั้นถือว่าค่าตัวต่ำมากในตลาดโลก แต่กลายเป็นว่าจับตลาดบนในบ้านเราไปเสียฉิบ แถมขายดีเสียด้วย มีประชากรนับร้อยทีเดียว จนเวลาผ่านไปถึงมี AirStream 2 เป็นเวอร์ชันที่ได้รับการอัปเกรดขึ้น ถูกรีลีสออกมาในราคา 17,900 บาท ขณะที่ลูกค้า AirStream เดิม สามารถส่งเครื่องมาอัพเกรดได้ด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจู่ๆ Fidelizer StreamHub ก็มาถึง ใช้เทคโนโลยีรุ่นพี่ที่ถูกถ่ายทอดลงมาในราคาค่าตัวเพียงครึ่งเดียวของ AirStream2 เท่านั้น โอ้วราคาที่จับต้องได้ง่ายมากยิ่งขึ้นแต่รู้ไหมว่ามีฟีเจอร์ที่น่าสนใจ มาลงรายละเอียดกัน ทำไม และเหมาะกับใคร

Fidelizer StreamHub

หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดตัว Fidelizer AirStream2 (WiFi Router) โดยปัจจุบันมีประชากร AirStream มากกว่า 100 ตัวที่จำหน่ายไปทั่วโลกโดยไร้การคืนสินค้า ทำให้แน่ใจว่าการปรับปรุงเครือข่ายไร้สายจะเป็นกุญแจสำคัญที่ขาดหายไปในการสตรีมมีเดียให้สมบูรณ์ในอนาคต

แม้ว่า AirStream2 จะมีการออกแบบที่สมบูรณ์แบบสำหรับการปรับปรุงโฮมเน็ตเวิร์กในการสตรีมทั้งแบบมีสายและไร้สาย แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงสำหรับคนส่วนใหญ่ แม้ว่า AirStream2 จะเป็น WiFi Router สำหรับออดิโอไฟล์ที่ถือว่ามีราคาไม่สูงมากอยู่แล้วก็ตาม ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ในราคาเพียงครึ่งเดียว ให้ง่ายต่อการเข้าถึงในสิ่งที่ยูเซอร์ส่วนใหญ่ใช้ในวงกว้างยิ่งขึ้น

เป็นวิธีที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของ Home Network เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ของการสตรีมบนสมาร์ททีวี ซาวด์บาร์ หรือ Streaming DAC ซึ่งก็คือ Fidelizer: StreamHub ตัวนี้นั่นเอง

How?

ไม่แปลกที่ Fidelizer: StreamHub จะเลือกใช้อุปกรณ์ WiFi Router ในตลาดมาโม (Modify) หลังจากที่คัดเลือกผลิตภัณฑ์มาอย่างมากมาย ในที่สุดก็พบผลิตภัณฑ์ ASUS ที่มีสเปกเกือบจะเหมือนกับ RT-AX55 ยกเว้นตัว CPU Quad Core ให้สามารถเสียบไดรฟ์ USB เข้ากับ StreamHub และสตรีมไฟล์มีเดียเป็นเซิร์ฟเวอร์ DLNA และแชร์ไฟล์ในเครือข่ายเดียวกันได้ด้วย

ด้วย clock ที่มีความแม่นยำสูงและ PSU ให้พลังงานที่สะอาดยิ่งขึ้น พร้อมตัวเก็บประจุความต้านทานต่ำที่อัปเกรดบนเครือข่ายทั้งแบบมีสายและไร้สาย เครื่อง StreamHub ยังสามารถปรับปรุงประสบการณ์การสตรีมบน Chromecast, AirPlay, DLNA หรือแอปพลิเคชันฟังเพลง Tidal / Qobuz บน MConnect รวมถึงแอปที่สตรีม Content ผ่าน Wi-Fi ได้อย่างยอดเยี่ยม

Get to the point?

StreamHub คือเร้าเตอร์ไร้สายสำหรับออดิโอไฟล์ + สวิตช์เครือข่าย + เซิร์ฟเวอร์ DLNA ในราคาที่ไม่แพงมากนัก อเนกประสงค์และคุ้มค่าที่สุด “จะทำให้ถึงตรงนั้นต้องทำอะไรบ้าง”

เล็งให้ตรงประเด็นซิครับ เป้าหมายคือลด “latency และ jitter” ซึ่งก็คือหัวใจของระบบไง โดยเลือกใช้ clock รุ่นเดียวกันจาก AirStream2 เพื่อใช้การปรับเปลี่ยนกับวงจรไร้สายและอีเทอร์เน็ตพร้อมการปรับแต่งการลดเสียงรบกวนบน clock module นอกจากนี้ยังเลือกตัวเก็บประจุความต้านทานต่ำที่ดีที่สุด มาปรับแต่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและส่งผลต่อเสียงให้ดีที่สุด ร่ายเรียงตามนี้เลย

– “ภาคจ่ายไฟ” ถูกอัปเกรดตัวเก็บประจุ (Capacitor) ด้วยความจุสูงและความต้านทาน (Impedance) ต่ำ
– Crystal clock ได้รับการอัปเกรดด้วย clock ที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งปรับให้เหมาะกับการใช้งานเครือข่ายพร้อมการปรับแต่งการลดเสียงรบกวน
– เชื่อมประกอบกลับด้วย Solder คุณภาพสูงที่จะให้เสียงเบสและไดนามิกส์ที่หนักแน่น
– ถูกกำหนดค่าสำหรับแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งออดิโอไฟล์ที่มี latency ที่ต่ำ
– รวมถึงการกำหนดค่าเฟิร์มแวร์ที่มีการปรับปรุงใกล้เคียงกันกับ AirStream2

ภาพที่เห็นไม่ใช่นั่งนับเพียงมูลค่าอุปกรณ์ที่ดูเหมือนไม่น่าเยอะ แต่ต้องรวมค่า research และ trial and error ตรงนี้ใช้เวลาเยอะ ยิ่งคิดเป็น manhour แล้วตีมูลค่าออกมานั่นแหละ ถือว่าคุ้มค่ามาก

ทั้งหมดนี่ไม่ได้ทำเล่นๆ ทุกอย่างนี้ล้วนได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการทดสอบอย่างเข้มข้นและการวัดผลที่แท้จริง ปรากฏผลด้วยค่าวัดที่บ่งบอกถึงความแตกต่างชัดเจนในพารามิเตอร์สำคัญ 2 ตัวคือ latency และ jitter ที่จะผลต่อคุณภาพของการส่งผ่านข้อมูล ซึ่งหมายถึงส่งผลต่อคุณภาพเสียงและภาพนั่นเอง กรุณาตามอ่านได้บนเว็บไซต์ Fidelizer นะครับ

Check In

StreamHub หน้าตาก็เป็น Wifi Router ของ ASUS AX1800 รุ่นใหญ่ 4 เสา WiFi 6 Dual Core Processor ที่เห็นได้ทั่วไปในตลาด IT นี่แหละ มี Ports: RJ45 for Gigabits BaseT สำหรับ WAN x1 (สีน้ำเงิน), RJ45 for Gigabits BaseT for LAN x3 (สีเหลือง) เพื่อใช้เสียบอุปกรณ์, USB Port x1 ซึ่งถ้าโฟลเดอร์ไม่ใหญ่โตนักก็สามารถใช้ USB Storage มาเสียบให้ตัวมันเป็น DLNA server ได้เลย ซึ่งรองรับได้ถึง 4TB ทีเดียว อะไรจะง่ายปานนั้น

Hook Up & Set Up

ทดลองใช้งานเป็น 2 ลักษณะคือใช้มันครบทั้ง 3 ฟังก์ชัน คือ wireless router + network switch + DLNA server

สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายกับอุปกรณ์ในเครือข่ายก่อนหน้าด้วยการกำหนดค่าเดียวกัน อุปกรณ์ใน StreamHub, เร้าเตอร์โมเด็ม/สวิตช์เครือข่าย และอุปกรณ์ไร้สายสามารถสื่อสารในเครือข่ายเดียวกันได้

หลังจากเสียบสายอีเทอร์เน็ตจาก ISP เข้ากับพอร์ตสีน้ำเงินของ StreamHub แล้ว สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์กับ “StreamHub” โดยมีคำว่า “fidelizer” เป็นรหัสผ่านได้ หรือสามารถป้อนชื่อ WiFi และรหัสผ่านของคุณเองก่อนสั่งซื้อ เป็นระบบ Plug and Play อย่างแท้จริง ซึ่งก็สะดวกดีสำหรับนักฟังออดิโอไฟล์ที่ไม่สนใจเทคโนโลยี IT นัก อ้อๆ ไม่ลืมที่จะเสียบ USB thumb drive ไว้ด้วยล่ะ

ต่ออีกแบบคือบังเอิญว่ามี network switch มีอยู่แล้วก็ใช้มันร่วมกันไปเลย แนะนำให้ต่อพ่วง Series โดยให้ StreamHub อยู่ติดกับตัวเครื่องเล่น

Fidelizer เองสามารถมอบคุณภาพการสตรีมที่ดีขึ้นด้วย EtherStream เพื่อรับแพ็กเกจเครือข่ายที่ “เต็มประสิทธิภาพ” พร้อมการปรับปรุงวงจรเครือข่ายเฉพาะก่อนที่จะสตรีมไปในอากาศ แนะนำคอมโบ EtherStream + StreamHub + Nikola เพื่อประสบการณ์การสตรีมที่ดีที่สุด

นอกเหนือจากการกำหนดค่า Plug and Play เพื่อขยายเครือข่าย WiFi ในแบบออดิโอไฟล์แล้ว StreamHub ยังสามารถกำหนดค่าเป็นเร้าเตอร์ / บริดจ์ WiFi / รีพีตเตอร์ / AiMesh เปลี่ยนโหมดการทำงานหลังการจัดส่งได้

ปัญหาคลาสสิกอย่างหนึ่งใน Home Network คือการที่อุปกรณ์บางตัวไม่สามารถมองเห็นได้จาก  WiFi เนื่องจากการกำหนดค่าเครือข่ายที่แตกต่างกัน StreamHub สามารถจัดการการกำหนดค่าเครือข่ายเป็นจุดเข้าใช้งานแบบ Plug and Play โดยปราศจากปัญหาใดๆ เลย สามารถกดปุ่ม WPS ค้างไว้เพื่อปิดใช้งานไฟ LED และช่วยลดเสียงรบกวนในอุปกรณ์ได้เช่นกัน

Note; ทดสอบโดยเปรียบเทียบกับ ISP WiFi Router ปกติ

Show Time

ระยะนี้ช่วงเช้าอากาศเย็น สบายกำลังดี ยังปลอดจากฝุ่นอยู่ กิจวัตรประจำวันเป็นคนตื่นเช้าชอบออกมาเดินนอกบ้านสูดอากาศ ตัดแต่งต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ จากนั้นจะทานอาหารเช้า ดูกีฬาโปรด NFL หรือเปิดทีวีฟังข่าวสารบ้าง จากนั้นสายๆ ก็ไปออกกำลัง ลงสระว่ายน้ำ ต่อด้วยฟิตเนสในยิม ระหว่างอยู่ในยิมหรือเดินรอบบ้าน นอกจากออกจากบรรยากาศอุดอู้ในห้อง และเพื่อไม่ให้เหงาหูนักก็หยิบหูฟังอินเอียร์ไร้สายคู่โปรดมาเสียบหู ฟังเพลงจาก iPhone เปิดเพลงจาก Tidal บางทีก็ Qobuz จะมี Apple music หรือ Spotify บ้าง ฟังเพลินๆ ปฏิบัติแบบนี้มานานนับปี โดยที่ทั้งสองแห่งก็เชื่อมต่อด้วย WiFi ทั้งคู่

เออ ทำไมระยะหลังมานี่ฟังที่บ้านกลับฟังดีกว่า จริงๆ ก็ควรจะใกล้เคียงกันนี่นา มาเอ๊ะตรงช่วงนี้นี่เอง ที่ว่าฟังดีฟังเพลิน ฟังได้นาน น่าแปลกก็คือมีไดนามิกส์ สงัดขึ้น ดนตรีมีน้ำหนัก ปลายแหลมพลิ้ว ทุกอย่างดีขึ้นต่างกันยังกับฟังหูฟังคนละคู่… อึ้งดิ มีความต่างอยู่อย่างเดียวคือที่บ้านใช้ StreamHub นี่เอง ไม่น่าเชื่อว่าจะส่งผลได้มากขนาดนี้ 

ได้มีโอกาสทดสอบ Streaming Amp โดยต่อเข้ากับ StreamHub เช่นกัน ลองฟังด้วย Apple music, AirPlay ส่งผลชัดเจน หูเรารับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงได้ชัดขึ้นเช่นกัน ยิ่งซิสเต็มใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งฟังได้ชัดขึ้น เปรียบเหมือนมีเลนส์กำลังขยายสูงขึ้นนั่นเอง

ปลายปีแบบนี้ศิลปินพากันปล่อยของ พวกเราสายตรีมกำลังมีความสุขกับอัลบั้มใหม่ล่าสุดที่เพิ่งถูกรีลีสทุกคืนวันพฤหัส อย่าง Porcupine Tree: Blackest Eyes (CLOSURE / CONTINATION LIVE) อัลบั้มบันทึกการแสดงสดของพี่แว่นกับเพื่อนพ้องแห่ง Porcupine Tree เพื่อสนับสนุนสตูดิโออัลบั้ม P/T C/C ของที่พี่แว่น Steven Wilson กับพลพรรคหวนกลับมาออกทัวร์ แค่ได้ฟังเสียงรัวกลอง กระทืบกลองกระเดื่องของเฮีย Gavin Harrison ที่รัวกระหน่ำอย่างกับจักรกล หรือการตบเบสของ Colin Edwin นี่ก็มันส์มาก บันทึกดีสุดๆ มาแบบเต็มโชว์เสียด้วย ว่ากันเต็มโชว์ 21 แทร็ก ความยาว 2:29 ทีเดียว ลำโพงได้ออกแรง รับแรงประทะเต็มๆ ไปกับเบสและกลองที่หวดได้ “ถึง” จริงๆ รับมือกับกีตาร์และคีย์บอร์ด เสียงร้องของตาแว่นก็ยัง Boxy เหมือนเดิม ไม่ต้องโทษนะ เพลงจากอัลบั้มใหม่ก็ว่ากันแต่กับเพลงเอกในอัลบั้ม Fear and a blank planet อย่าง “Anesthetize” ที่ต้องหวดกันยาวถึงสิบกว่านาที หรือเพลง HALO อีกเพลง เสียงหัวไม้กระทบหนังกลองได้แน่นเป๊ะ ขาร็อกหูทองแนะนำอย่างยิ่ง

ไหนๆ ก็ฟังแนวเพลงสไตล์โปรเกรสีฟ British Rock กันแล้ว ขอแถมอีกวง CAMEL วงโปรดอีกวงเพิ่งเปิดกรุ รีลีสอัลบั้มรีมาสเตอร์แบบ Extended version กับบ็อกซ์เซ็ตบันทึกการแสดงสดในช่วงปี 1974-1977 หลายโชว์เลย ความยาวราว 7 ชั่วโมง แม้เป็นเพลงที่อาจเคยได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ก็ได้อารมณ์ ฟังแล้วต้องซี้ดปาก มันฉิบ ประมาณว่าขับรถไปเชียงใหม่ยังไม่หมดอัลบั้มล่ะ บอกตรงๆ ว่าถ้าฟังแล้วกัดหูคงทนฟังไม่ไหวเหมือนกัน แต่นี่ฟังสบายยิ่งฟังยิ่งมัน

อ้อๆ ลองใช้แอป M Connect เปิดไฟล์บน StreamHub DLNA Server ด้วย Noon NAS ก็เลยไม่ต้องเปิดเลย แถมเสียงดีด้วยซิ

วันก่อนกำลังฟังเพลงอยู่ในห้องฟัง เล่นโซเชียลไปด้วย มี Live Stream ของ บ.ก.อุ้มเด้งขึ้นมาบน iPhone แหม่ดูจอเล็กๆ ไม่สะใจอยากเห็นบนจอโปรเจกเตอร์ก็เลย AirPlay ไปที่ Apple TV เลยดูจอใหญ่ไปซะ โอ้โฮ ภาพใสมีมิติเป็น 3D เลย จากนั้นเลยติดลมดูหนัง Indiana Jones ภาคใหม่บน Disney Plus ต่อเสียเลย ภาพใส มีมิติ คอนทราสต์ดี ให้รายละเอียดดีขึ้นอย่างชัดเจน ลุงอินดี้หน้ายับต้องลากสังขารไปล่าสมบัติข้ามภพ เสียงแน่นดีชะมัด

“There are high fidelity audio and visual in the air.”

เมื่อต้องใช้บริการอินเทอร์เน็ตจาก ISP ก็ต้องติดตั้ง WiFi Router ให้อยู่แล้วนี่นา แต่มั่นใจนะว่า WiFi Router ของ ISP นั้นดีพอ? ไม่สงสัยบ้างเหรอ ว่าทำไมถึงมี WiFi Router ขายออกเต็มตลาดไปหมด จะไปขายใคร แถมมีทุกสนนราคาด้วย ต่างกันตรงไหน ที่แถมมาน่ะก็ใช้ได้นะ สัญญาณไม่สะดุด จะดีหรือเปล่าตอบไม่ได้ แต่เอาจริงๆ ของฟรีดีๆ นั้นไม่มีอยู่จริงหรอก โดยเฉพาะพวกหูดีตาดีเช่นเราด้วยแล้ว จะมีประสาทสัมผัสที่จะรับรู้ความแตกต่างได้ พร้อมจะเสียเงินอยู่แล้ว ถ้ามันต่าง

อยากให้ลองหักลบกลบหนี้กันระหว่างค่า WiFi Router ของ ASUS รุ่นเดิมที่ยังไม่ได้โม จะมีความต่างอยู่ราว 6 พันบาท หรือ StreamHub ก็ถือว่าแพงกว่าของเดิมราว 3 เท่า นับว่าถูกมาก ปกติที่เจอจะไม่ต่ำกว่า 5-10 เท่าทั้งสิ้น ไม่ใช่มูลค่าอุปกรณ์แต่เป็นค่า R&D ต้อง trial and error กี่รอบล่ะตรงนี้ใช้เวลาเยอะ ถ้าคิดเป็น man-hour แล้วตีมูลค่าออกมานั่นเอง ถือว่าคุ้มมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ แค่สาย LAN เทพเส้นนึงก็อาจจะยังซื้อไม่ได้ด้วยนะ แต่นี่คุณได้ปรับปรุงคุณภาพโฮมเน็ตเวิร์กทั้งมีสายและไร้สายในคราวเดียวกัน และยังได้ฟังก์ชัน DLNA Server โดยไม่ต้องซื้อ NAS แล้วจ่ายเป็นหมื่นกันเลย

ตรงนี้ก็สุดคุ้มค่ากับเงินที่ลงไปกับ Streamer DAC หรือ Smart TV แม้แต่หูฟังแพงๆ แล้ว งบประมาณเทียบกันไม่ได้เลยครับ ได้คืนคุณภาพเสียงและภาพกลับมาตามที่ควรจะเป็น จะเสียดายเกลือทำไม

ตามที่จั่วหัวไว้เลย อุปกรณ์แห่งยุคสมัยที่ชื่อ Fidelizer: StreamHub จะมาช่วยขจัดปัญหาหนักอกของสายสตรีมที่พิถีพิถันอย่างสมเหตุสมผลที่สุด

Fidelizer: StreamHub หนึ่งในของดีราคาดีเกินคาด ประมาณว่าถูกมากกก เพียงครึ่งนึงของรุ่นพี่ แต่มิได้ลดคุณภาพลงเลย จาก FIDELIZER Audio ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงดิจิทัลสัญชาติไทยที่ก้าวข้ามขอบจินตนาการของดิจิทัลออดิโอไปอีกระดับ แนะนำอย่างยิ่งครับ. ADP

Fidelizer StreamHub ราคา 8,900 บาท

ผลิตและจำหน่ายโดย
Fidelizer Audio
(+66)84-655-3548

ผู้เขียน: ธรรมนูญ ประทีปจินดา
Audiophile/Videophile Reviewer
อดีตที่ปรึกษาฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิตโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ
ผู้เฝ้าติดตามความเป็นไปของดิจิทัลออดิโอ ตาไม่กะพริบ