วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

ครั้งนี้ถือเป็นงานยากอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากประมาณราวๆ สองเดือนที่ผ่านมา ผมเพิ่งทดสอบลำโพง PMC fact.8 ไป แถมยังได้แจกรางวัล The Best ของปี 2018 ให้กับ fact.8 ไปแล้วด้วย และด้วยความที่ PMC fact.12 ที่ถูกส่งมาให้ทดสอบในคราวนี้มีความใกล้เคียงกับ fact.8 มาก แต่ราคาที่ได้รับแจ้งมาห่างกันถึง 2 เท่า และถูกกว่า PMC MB2 SE ที่เคยทดสอบเมื่อราวเกือบสองปีที่แล้วสัก 20% ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสน เรามาลองเทียบกันดูคร่าวๆ ดีกว่าว่า ทั้ง PMC fact.8 และ fact.12 และ MB2 SE มีความเหมือนและความต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อให้เห็นภาพถึงการวางตำแหน่งการตลาดที่มิได้ซ้อนทับกันแต่อย่างไร โดยขอเริ่มที่ PMC fact.8 เทียบกับ fact.12 ดังนี้…

เริ่มด้วยการเพิ่มจากลำโพง 2 ทาง มาเป็น 3 ทาง โดยได้เพิ่มโดมเสียงกลางขนาด 2 นิ้วเข้ามา ทำให้จุดตัดครอสโอเวอร์เปลี่ยนจาก 1.7kHz จุดเดียว มาเป็น 400Hz, 4kHz ทำให้วูฟเฟอร์และทวีตเตอร์แบ่งเบาภาระการทำงานจากเดิมไปมาก มีขนาดตู้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ได้ทางเดิน ATL เพิ่มขึ้นจาก 3 เมตรเป็น 3.3 เมตร ทำให้เบสลงได้ลึกกว่าเดิม จาก 28 Hz เป็น 26Hz (คร่าวๆ ก็ราวๆ 10% ตามความยาวท่อที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักรวมเพิ่มขึ้นข้างละ 6 กก. จาก 20 กก. มาเป็น 26 กก. ตรงนี้ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเพิ่มโดมเสียงกลางมาตัวเดียว ตัวตู้ใหญ่ขึ้นไม่มาก แต่หนักขึ้นร่วม 30% ที่น่าแปลกใจมากคือ ความไวที่ลดลงจาก 89dB 1w @ 1m มาเหลือ 84dB เข้าใจว่ามาจากตัวขับเสียงกลางที่อาจจะมีความไวต่ำกว่าเดิม จึงต้องลดความไวไดรเวอร์ตัวอื่นลงมาให้เสมอกัน ทำให้ต้องใช้แอมป์ที่มีกำลังขับมากขึ้น แต่จากที่แยกการทำงานเป็น 3 ทาง ก็คาดหวังได้ว่าเมื่อได้แอมป์ที่มีกำลังขับมากพอจะสามารถให้ไดนามิกเสียงที่กว้างกว่าเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มขั้วต่อลำโพงจากเดิม 2 ชุด เป็น 3 ชุด เพื่อรองรับการต่อแบบไตรแอมป์ ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าเกินความจำเป็นไปหน่อย เพราะเมื่อคิดถึงว่า สมัยนี้เราสามารถหาแอมป์ตัวเดียวที่มีกำลังมากพอและมีคุณภาพดีพอมาขับ fact.12 แล้วใช้สายลำโพงแบบ Single Wire ได้ไม่ยากเย็นนักแล้ว น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการใช้แอมป์ 3 ชุด ที่จริงๆ ก็ต้องมีตัวละ 200 วัตต์เป็นอย่างน้อยเพื่อขับวูฟเฟอร์ 5.5 นิ้ว 2 ตัว แถมยังต้องใช้สายต่างๆ อีก 3 ชุดเพื่อขับลำโพงตัวแค่นี้ ดูจะออกแนวขี่ช้างจับตั๊กแตนมากไปหน่อย จริงๆ ให้มาแค่ 2 ชุด ใช้แอมป์ขับวูฟเฟอร์หนึ่งชุด และอีกชุดขับกลางและแหลม ก็เกินพอแล้ว ในส่วนของ Crossover ยังคงมีสวิตช์ปรับความไวของตัวขับเสียงแต่ละตัว ใน fact.12 ซึ่งเป็น 3 ทาง แต่มีสวิตช์ 2 ตัวไว้ปรับปริมาณเสียงแหลมและเสียงเบส คราวนี้ก็ไม่ได้ใช้เช่นเดิม ดังนั้นเท่าที่ดู ความคาดหวังของ fact.12 ก็ควรอยู่ที่ตัวขับเสียงกลางที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเราจะได้หาคำตอบกันต่อไป

ต่อมาดูที่ PMC fact.12 เทียบกับ MB2 SE เมื่อมองที่หน้าตา เรียกได้ว่าคนละรุ่นคนละแนวทางการออกแบบเลย เริ่มที่น้ำหนักตัว MB2 SE หนักถึง 58 + 17 (ตัวลำโพง + ขาตั้ง) เทียบกับ fact.12 ที่ 26 กก. แต่น่าสนใจที่ความยาวของท่อ ATL ของ fact.12 ยาวถึง 3.3 เมตร ซึ่งยาวกว่า 3 เมตรของ MB2 SE แต่กลับให้เสียงเบสลงไปได้เพียง 26Hz ในขณะที่ MB2 SE ลงไปได้ถึง 20Hz ตรงนี้พอจะแสดงให้เห็นถึงการออกแบบช่องทางเดิน ATL ภายในตู้ของ fact.12 ที่น่าจะมีความเรียบง่ายกว่า เพราะเมื่อลองจิ้มเครื่องคิดเลขคร่าวๆ พบว่าความยาวท่อ 3.3 เมตร ก็ตรงกับ ¼ ของความยาวคลื่น 26Hz ตามสูตรมาตรฐานของลำโพง TL พอดีๆ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจว่า เบสของ fact.12 จะสะอาด รวดเร็วตามแบบลำโพง TL ชั้นดีในอุดมคติมากกว่าหรือไม่ เป็นส่วนที่เราจะได้หาคำตอบกัน และด้วยความที่รูปทรงตู้แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ fact.12 เป็นลำโพงตั้งพื้นทรงหน้าแคบ ผอมสูง ดูเพรียว สวยงาม สามารถเข้ากับการตกแต่งบ้านได้หลากหลาย เรียกได้ว่าเป็นลำโพงที่มีแนวโน้มจะได้รับการยอมรับจาก ผบทบ. ได้ง่ายกว่า ส่วน MB2 SE เป็นลำโพงวางขาตั้งขนาดใหญ่มาก เรียกว่าเป็นลำโพงตั้งพื้นที่มีขายกสูงขึ้นมาอีกเล็กน้อยมากกว่า โดยส่วนตัวผมว่ามันก็สวยคลาสสิกไปอีกแบบดี ดังนั้นอาจขึ้นกับแนวทางการตกแต่งห้องด้วยเช่นกัน ถัดมาจากเรื่องขนาดตู้ ต่อมาเมื่อมองที่ขนาดตัวขับเสียงจะยิ่งเห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย fact.12 เสียงแหลมมีขนาด 19 มม. ในขณะที่ MB2 SE มีขนาด 27 มม. ในส่วนนี้ ผมพบว่าเสียงแหลมของอนุกรม fact ตอบสนองได้สูงกว่าเล็กน้อย สามารถรับรู้ถึงความสดเฉียบพลัน และการเลี้ยงบรรยากาศได้ดีกว่าเล็กน้อย สำหรับตัวขับเสียงกลาง fact.12 ใช้โดมขนาด 50 มม. ในขณะที่ MB2 SE ใช้โดมขนาด 75 มม. เข้าใจว่าเพราะ MB2 SE เป็นลำโพงที่ออกแบบมาให้ฟังในระดับความดังที่มากกว่า เพราะเดิมเป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่ออกแบบมาให้ใช้ในห้องอัด ซึ่งมักมีสภาพอะคูสติกที่ซับเสียงมากกว่าบ้านคนทั่วไปอยู่พอควร และเมื่อดูที่ตัวขับเสียงต่ำจะพบความแตกต่างมากที่สุด นั่นคือ fact.12 ใช้ตัวขับเสียง 5.5 นิ้ว 2 ตัว (ให้พื้นที่กรวยเท่ากับ 8 นิ้ว 1 ตัว) เทียบกับ 12 นิ้วใน MB2 SE พบว่าต่างกันค่อนข้างมาก และด้วยความไว 84dB เทียบกับ 90dB ก็ต่างกันมากเช่นกัน ดังนั้น เรื่องเสียงเบส ผมคาดหวังความกระชับฉับพลันของเสียงเบสที่ได้จากวูฟเฟอร์ขนาดเล็กจำนวน 2 ตัว น่าจะมีความได้เปรียบอยู่บ้าง แถมส่วนที่น่าสนใจและน่าจะหวังผลได้คือ เสียงแหลม 19 มม. ที่อยู่ใน fact.8 ที่ให้คุณภาพรายละเอียดเสียงแหลมได้เป็นธรรมชาติมากๆ ตอนนี้ใน fact.12 เมื่อมีเสียงกลางเพิ่มเข้ามา ทำให้ลดภาระลงได้ก็ยิ่งควรจะฉายแววมากขึ้นไปอีกระดับ

การทดสอบคราวนี้ก็ใช้อุปกรณ์หลักเหมือนๆ กับที่ทดสอบ fact.8 นั่นคือ dCS Paganini เป็นต้นทางดิจิทัล, เครื่องเล่นแผ่นเสียง Brinkmann Brado ติดหัวเข็ม Linn Kandit, ปรีโฟโน Aurorasound VIDA ต่อด้วยปรีแอมป์ Mark Levinson No.32 และแอมป์ Classe’ CA-M600 ขับลำโพง PMC fact.12 ได้สบายๆ ในห้องขนาดราวๆ กว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร สูง 3 เมตร

สิ่งที่พอรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่าง fact.8 มาเป็น fact.12 คือ… ช่วงเสียงกลางที่มีความนุ่มนวลขึ้น อย่างเช่นเมื่อฟัง Pat Coil: Just Ahead พบว่า หัวเสียงเปียโนฟังดูหนา นุ่มนวลขึ้น ในขณะเดียวกันเสียงย่ำกระเดื่องกลับมีแรงปะทะอัดออกมาเป็นลูกๆ ที่ดุดันกว่า อีกทั้งเสียงเครื่องเป่าต่างๆ ยังคงความสด กระฉับกระเฉงเช่นเดิม นั่นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในย่านเสียงต่ำที่วูฟเฟอร์ทั้งสองตัวไม่ต้องรับภาระในช่วงเสียงกลางอีกต่อไป จึงสามารถจะถ่ายทอดพลังงานความถี่ต่ำทั้งในส่วนของเสียงกระเดื่องและเบสให้ออกมามีพละกำลังมากกว่า ในย่านเสียงกลางที่เคยต้องทำงานช่วยกันระหว่าง วูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ อย่างเสียงเปียโน ตอนนี้ก็มี ตัวขับเสียงกลาง 2 นิ้วมารับหน้าที่ไป ซึ่งถึงแม้ฟังดู เหมือนเสียงนุ่มขึ้น แต่เมื่อลองย้อนกลับไปหาข้อมูล ก็พบว่า อัลบั้มนี้เล่นด้วยคีย์บอร์ดเป็นเสียงเปียโน แสดงว่า fact.12 ไม่ปล่อยผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงเสียงสังเคราะห์ของคีย์บอร์ดที่มี ไดนามิกสวิงตัวน้อยกว่าเสียงเครื่องดนตรีจริงชิ้นอื่นๆ เมื่อลองเปลี่ยนมาเป็นอัลบั้มที่อัดด้วยเปียโนจริงอย่าง Dave Brubeck Quartet: Time Out ก็พบว่า เสียงเปียโนมีไดนามิกที่เป็นธรรมชาติกลมกลืนกับ เครื่องดนตรีชิ้นอื่นมากกว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ที่โดมเสียงกลางที่เพิ่มเข้ามาสามารถช่วยยกระดับ การแจกแจงรายละเอียดให้กับ fact.12 ได้เป็นอย่างดี

มาที่ The Coal Train ในแผ่น Hugh Masekela ชุด Hope ที่ตอนแรกก็หวั่นๆ ว่า fact.12 จะให้ฐาน เสียงได้เพียงพอในห้องขนาดราว 35 ตารางเมตร หรือไม่ แต่พบว่าไม่เพียงให้เสียงเบสและกลองที่ หนักแน่นกำลังดีแล้ว แต่เสียง Cow Bell ที่เคาะ เลียนแบบเสียงรถไฟก็มีรายละเอียดของของน้ำหนัก ในการเคาะแต่ละครั้งที่มีความต่างกัน ทำให้เกิดเสียง ที่ต่างกัน และในแต่ละช่วงถึงเป็นการเคาะ Cow Bell ใบเดิม แต่ก็มีการเคาะในตำแหน่งที่ต่างกันเพื่อให้ได้ เสียงที่แตกต่างกันด้วย ตรงนี้ถือว่าเหนือความคาดหมาย ที่ fact.12 สามารถถ่ายทอดเสียงของการเคาะแต่ละ ครั้งออกมาได้อย่างเที่ยงตรงมาก จนเราสามารถ จับรายละเอียดสำเนียงการเคาะแต่ละครั้ง ที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน

ในแทร็ก T-Rex ของแผ่น The Great Fantasy Adventure ของ Telarc พบว่ามี ความน่าสนใจดี คือสามารถรับรู้ได้ถึง Infrasound มาแต่ไกล แต่ปริมาณอาจมี ย่อหย่อนไปบ้าง เมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่สูง ท่วมหัวอย่าง PMC MB2 XBD SE ที่ทดสอบไป เมื่อปีที่แล้ว แต่ต้องบอกว่าเหนือความคาดหมายมาก สำหรับลำโพงหน้าตาผอมสูงเพรียวที่ใช้วูฟเฟอร์ 5.5 นิ้วสองตัว และระบุการตอบสนองความถี่ต่ำสุดไว้ ที่ 26Hz เช่นนี้ นอกจากนั้นยังสามารถให้สเกลเสียง ยิ่งใหญ่เต็มห้องได้ โดยไม่รู้สึกว่าลำโพงเล็กเกินห้องไป แต่อย่างใด และยังให้รายละเอียดของแต่ละย่างก้าว ของเจ้า T-Rex ได้เป็นอย่างดี มีกิ่งไม้หักอย่างไร เสียงเดินกระชับหนักแน่นแค่ไหน fact.12 ก็ถ่ายทอด ออกมาได้หมด แต่ในส่วนของเสียงกลางที่เป็น พวกเสียงแมลง บรรยากาศป่า ดูจะนวลๆ ขึ้นมาหน่อย ไม่ได้รู้สึกสดเหมือนนั่งอยู่ในป่าเหมือนคราวที่ทดสอบ fact.8 ซึ่งตรงจุดนี้ก็พอจะรู้สึกได้ในหลายๆ แผ่น เช่น The Super Jazz Trio ชุด The Standard ก็พบว่า ดนตรีโดยรวมหนักแน่นสนุกสนานดี แต่พวกหัวฉาบดู จะซอฟต์ๆ ขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งตรงจุดนี้เป็นเรื่องของ รสนิยมความชอบอยู่เหมือนกันครับ คือถ้าท่านที่ฟัง fact.8 แล้วรู้สึกว่าเสียงสดบาดหูเกินไป น่าจะชอบ เสียงของ fact.12 มากกว่าได้อย่างง่ายดาย เพราะใน ย่านอื่นๆ ยังคงคุณสมบัติเสียงแนวเดียวกันอยู่ เพิ่มเติมสเกลเสียงที่ใหญ่ เต็มอิ่ม เบสหนักแน่นขึ้นมาเสริมให้มีความกลมกล่อมน่าฟังได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าใครที่กลัวว่าลำโพงมอนิเตอร์เสียงสดกัดหู ต้องบอกว่า PMC fact.12 ไม่มีอาการนั้นแน่นอน

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงคราวที่ทดสอบ MB2 SE ขึ้นมา จนต้องย้อนกลับไปนั่งอ่านบทความที่เคยเขียนเอาไว้ พบว่ามีการอธิบายถึงเรื่องเสียงกลางที่มีความนุ่มนวลกลมกล่อมไม่จัดจ้านแข็งทื่อแบบที่คนกลัวลำโพงมอนิเตอร์กลัวกัน เข้าใจว่าเป็นเพราะ PMC สามารถออกแบบตู้ ATL ให้ย่านความถี่ต่ำมีความสะอาด มีเสียงเบสรวดเร็วเพียงพอที่จะเสริมความอิ่มหนาให้ช่วงเสียงกลางได้ดี จึงทำให้เสียงกลางฟังดูนุ่มนวล แต่เป็นความนุ่มนวลที่มีรายละเอียดให้ติดตามในแบบลำโพงมอนิเตอร์ชั้นดี ซึ่งเมื่อลองเปิด The Dark Knight ดูหนังในแบบ 2 Ch ก็พบว่า PMC fact.12 สามารถเติมเต็มห้องขนาด 35 ตารางเมตรได้เต็มอารมณ์แบบไม่ต้องใช้ซับวูฟเฟอร์กันเลยทีเดียว เสียงพูด เสียงปืน เสียงเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ก็มีความชัดเจนดี แม้กระทั่งเพลงประกอบที่มีความถี่ต่ำจำนวนมาก PMC fact.12 ก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้ โดยไม่มีอาการขุ่นมัวที่อาจจะเกิดจากลำโพงที่มีการกดช่วงกลางสูงให้เสียงร้องฟังดูอิ่มหนาแต่อย่างใด เป็นเรื่องน่าประทับใจสำหรับลำโพงทรงผอมสูงแบบนี้

สรุป

PMC fact.12 เป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่มีความเที่ยงตรงประเภทที่สามารถจะโยนเสียงอะไรไปออกผ่านมันก็ได้ ไม่ว่าจะเพลงแนวใด ภาพยนตร์แนวไหน PMC fact.12 ก็ให้เสียงน่าฟังตามแบบแหล่งสัญญาณถูกบันทึกมาอย่างที่ควรจะเป็น โดยอย่าได้โดนรูปทรงผอมเพรียวหลอกตาเชียว PMC fact.12 เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางที่สามารถเติมเต็มห้องในบ้านพักอาศัยโดยเฉลี่ยทั่วไปได้เป็นอย่างดี ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะด้วยรูปทรงผอมเพรียวดูทันสมัย งานผิวไม้ตัวตู้สวยงาม เข้ากับการตกแต่งห้องได้ง่าย ย่อมเป็นส่วนสนับสนุนให้ PMC fact.12 เป็นลำโพงที่มีความน่าสนใจในระดับราคานี้. ADP

AUDIOPHILE - VIDEOPHILE 264