“ความเรียบง่ายในความซับซ้อน…
ดิจิทัลออดิโอจากโรมาเนีย” ROCKNA: WAVEDREAM DAC
“Simplicity in Complexity”
ROCKNA: WAVEDREAM DAC อยู่ในทำเนียบ Stand-alone R-2R D/A Converter รุ่นเรือธงสุดล้ำ จัดเต็มแบบไม่เกรงใจขาใหญ่ด้วย Discrete Hybrid ladder (R-2R) + FPGA + DSP + JFet and BJT transistors ทำงานด้วย Class A stage… External DAC มีบุคลิกเสียงอันเป็นลายเซ็น ออกแบบจากปลายปากกาของพ่อมดดิจิทัล Nicole Jitariu: Designer/Founder บุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง DAC รุ่นดังของวงการ Digital Audio เช่น MSB, PS Audio, Goldmund ซึ่งแต่ละตัวล้วนเป็นงาน Custom เป็น Unique… หาใช่งาน mass ที่จะทำกันง่ายๆ… ยืนยันในความเป็นยอดฝีมือของวงการ
…ผ่านไปแล้วกับ LIVE STREAM การเปิดตัว ROCKNA WAVEDREAM DAC เทพแห่ง External D/A Converter รุ่นเรือธง ROCKNA AUDIO ผู้ผลิตสัญชาติโรมาเนีย ประเทศในกลุ่ม EURO Zone หนึ่งใน “สายแข็งแห่งวงการดิจิทัลออดิโอ“ ที่น่าจับตา อยากฟังซ้ำย้อนไปฟังได้นะ
FLASH BACK
audiophile go digital บทความรีวิว Digital audio ในนิตยสาร Audiophile-Videophile ฉบับสิ่งพิมพ์ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่สมัยทำงานประจำเป็น Sr. Manager ในโรงงานผลิต ประกอบ ทดสอบ Micro Electronics ระดับโลก ซึ่งมีความเป็น Dynamic ที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากนักเขียน นักทดสอบสมัครเล่น กลายจริงจังเป็นอาชีพจับแนว Digital audio มาตลอด ก็เพราะรักและสนุกกับงาน หลังเกษียณมาเกินกว่า 10 ปีรวมเวลาแล้วก็ร่วม 20 ปี + กับวิถีการเล่นเครื่องเสียงมาตั้งแต่เด็กยังตื่นตาตื่นใจในสิ่งใหม่เสมอ
บางคนถามว่าเบื่อบ้างไหมกับงานเล่นเครื่องเสียงแนวนี้ อย่าแปลกใจที่ได้กล่าวว่ามีเครื่องเสียงแนว Digital audio ผ่านมือไปเป็นร้อยก็จริง แต่มีความหลากหลายมากเมื่อเทียบกับเครื่องเสียงแนวอื่นที่แทบจะเป็น Passive เช่นแอมป์หรือลำโพง คำตอบคือ... ไม่เบื่อเลย เพราะ Digital audio มีสิ่งใหม่ท้าทายให้ค้นหาได้ตลอด เรียกว่าสินค้ามีความเป็น Dynamic มีความเคลื่อนไหวให้ต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยได้เสมอ นึกไม่ออกเหมือนกันถ้าต้องรีวิวสินค้า Passive อาจตันได้ง่ายๆ เหมือนกัน… อย่ากระนั้นเลยมาเข้าเรื่องกันดีกว่า...
หลังงาน BAV HI-END SHOW 2022 งานโชว์แห่งปี ที่โรงแรม Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park ทาง Bulldog ส่งเครื่องกลับมาอีกรอบ “ผมเปล่าเร่งนะ… เจ้าสำนัก Bulldog แจ้งมา” ให้ฟังกันให้จุใจ มีเวลาขยี้อีกเยอะๆ ให้หนำใจ แต่ทว่า บกบห. แอบกดดันด้วยการส่งเครื่องหลายตัวมาจ่อคิวไว้นี่ซิ… ก็ตามคิวนะ ตัวไหนยังไม่ถึงวาระก็เผาไปก่อน
What is...
การเติบโตของ Digital audio ทำให้ทุกอย่างต้องติดตั้งด้วย DAC Stage (Digital to Analog Converter) ทั้งสิ้น ตั้งแต่สิ่งใกล้ตัว มือถือยันเครื่องเสียงบ้าน แน่นอนว่า DAC stage ยังพัฒนาต่อเนื่อง หลากหลาย DAC architecture และด้วยความก้าวล้ำของอุตสาหกรรม Micro electronics ก่อกำเนิดเป็น DAC Chip มากมายหลายประเภท ล้วนแล้วเป็นส่วนหนึ่งของ DAC Stage ในปัจจุบัน Smart phone ที่ใช้ DAC Chip ตัวจิ๋วยัน Super Hi-End Player ใช้ DAC Chip ตัวใหญ่เป้ง 2 ตัวคู่ก็มี ยังรวมถึงเครื่องเสียงบ้านอีกเพียบ เอาเป็นว่าอะไรก็ตามที่เป็นสินค้าดิจิทัลแล้วต้องมีเสียง ทั้งนี้เพื่อสนองตอบความต้องการของทุกวงการ ถูก Chip Maker หรือผู้ผลิต Micro Electronics ผลิตกันเป็นเรือนแสนเรือนล้านตัว ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีการพัฒนา device ใหม่ๆ มากมายเสมอ DAC Chip รวมถึง FPGA ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์นั้นเช่นกัน
ก้าวไปอีกขั้น… ถึงยุคที่คุณชายสายสตรีมส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้อ External DAC ซักตัว จะต้องถามหาสเปก… ลามมาถึงการถามถึงภาค D/A Converter หรือ DAC ใน Digital Audio Player หรือ Network Player คำถามยอดฮิตต้องถามว่า ใช้ Chip อะไร ตรงนี้จะคุยเกทับกันเลยล่ะ รองรับ format อะไรบ้าง ก็ประมาณว่ารองรับ DSD ไหม ได้ถึง DSD เท่าไหร่ บางคนถามไปถึง MQA โน่นเลย จริงอยู่ที่เครื่องเล่นทั่วไปก็ต้องใช้ Chip DAC เป็นตัวขับเคลื่อน คำว่า D/A Converter เป็นชื่อของวงจรซึ่งมีหลายดีไซน์ คงไม่ต้องสาธยาย สงสัยตามไปดูในคลิป Live Stream ได้เลย มิเพียง DAC Chip คือองค์ประกอบหลักของ D/A Converter เท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นอีกมากมายที่ทำให้เสียงดีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งตรงนั้นก็เป็นฝีมือของพ่อมดดิจิทัลว่าจะออกแบบอย่างไร ให้มี DAC Architecture หลากหลาย ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องใช้ DAC Chip สำเร็จรูปตัวดังของวงการในการผลิต External DAC ซักตัวหรอก…
ยิ่ง “DAC เทพของวงการ” ส่วนใหญ่มักจะเป็นประเภท custom made แม้จะใช้ Chip set ก็จะต้องใช้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรเท่านั้น หรือบางทีอาจไม่ได้ใช้ Off Shelf DAC Chip เลยซักตัว ก็แปลว่า “CHIP หาย” น่ะซิ พวกเขาเชื่อว่าถ้าใช้ Off Shelf DAC Chip (สำเร็จรูป) จะถูกตีกรอบจินตนาการ DAC Architecture ของพ่อมดดิจิทัลผู้ปรุงยา …เอ้ย “Designer” ไง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้เสียงเป็น Signature ของ Designer หรือพ่อมดดิจิทัลคนนั้นๆ ซึ่งก็มีหลายแนวทาง
R-2R Ladder DAC
R-2R ก็เป็น “หนึ่ง“ ในวงจรอมตะนิรันตร์กาลของ “DAC” มาอย่างยาวนาน พูดได้ว่าเป็น External DAC ที่ “CHIP หาย” ไป เพราะ “ไม่ใช้ DAC Chip” เป็นองค์ประกอบหลัก เนื่องจากต้องการให้มีบุคลิกเสียงที่ไม่เหมือนใคร มี Signature ของตัวเองนั่นเอง
ทางเลือกทางหนึ่งคือ R-2R หรืออีกชื่อคือ Ladder DAC ทำงานแบบ Switch Resister นี่ก็เป็นอีกวิธีในการทำ DAC แบบ “CHIP หาย” (ไม่ใช้ชิพ) อันที่จริง R-2R เป็นวิธีการดั้งเดิมเลยตั้งแต่ยุค CD ออกใหม่ๆ เป็นการใช้ R (resister) หรือตัวต้านทานมาต่อกันแบบ R-2R คล้ายๆ บันได จึงถูกเรียกว่า Ladder DAC ไง มันไม่ใช่เรื่องใหม่ ถือว่าอนุรักษ์หรือย้อนยุคก็ว่าได้ แต่จะเป็นการทำแบบ Extreme สุดๆ เชื่อว่าจะให้เสียงสะอาดบริสุทธิ์ เป็นอะนาล็อก (เพราะไม่ใช้ IC) ตรงนี้ส่วนตัวค่อนข้างค้านนิดตรงที่ว่า Micro Electronics หรือ IC (Integrated Circuit) ก็ทำงานแบบอะนาล็อกได้นะ
R-2R DAC ถูกจริตเหล่านักเล่นบริสุทธิ์ ว่ากันว่ามีความสมจริง ให้ความเป็น “analog” สุดๆ และถ้าบิตต่ำๆ ก็คงอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป เรียกว่ายิ่งบิตสูงก็ยิ่งทำยากและมีต้นทุนการผลิตที่สูงหรือแพงนั่นเอง จากยุค Bit stream สู่ยุค High resolution ที่บิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 16 bit ถึง 24 bit ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์ตัวความต้านทาน (resister) ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก R (resister) ที่ใช้แต่ละตัว ยิ่งต้องมีความคลาดเคลื่อนน้อยลงไปกว่าเดิม (เพิ่มแต่ละ bit เพิ่ม resister เป็นทวีคูณ และต้องใช้ resister ที่มีค่าTolerance (ความคลาดเคลื่อน) แคบหรือต่ำลงไปเรื่อยๆ เทคโนโลยีในยุคนั้นอาจไม่สามารถผลิต R (Resister) ที่มีค่าคลาดเคลื่อนต่ำขนาดนั้นได้ R-2R ต้องสู้กับต้นทุนที่สูง สวนทางกับประสิทธิภาพกับ DAC Chip ที่พัฒนาให้เล็กและดีขึ้น ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อทำเป็น mass ได้ก็ยังมีต้นทุนต่ำลง เพราะได้ Economy of scale รองรับ มีความต้องการจำนวนมาก ผลิตได้จำนวนวอลลุ่มสูงในอุตสาหกรรมที่นับกันเป็น 10K… 100Kunits (หมื่นแสนตัว) อีกด้วย
จึงทำให้ R-2R DAC เหลือที่ยืนแคบลง กลายเป็น Niche ไปเพราะ “ทำให้ดี” ก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งเป็น mass จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลิตเป็นหมื่นเป็นแสนตัว เหมือนที่ Chip Maker ผลิตเป็น Production line แถมยังมี DAC Chip ไม่รู้กี่ Devices และ กี่ Bin (เบอร์… เกรด) เพื่อสนองตอบความต้องการของอุตสาหกรรมอันเป็นเมนสตรีมของเครื่องเสียง ภาพ หรือ Mobile devices โดยรวม ทำให้บริษัท Chip maker เฟื่องฟู หลาย Chip Maker ก็ยังมีแต่ละ Devices หลากหลายใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ครอบครองตลาด DAC maker ในทุกอุตสาหกรรมนั่นเอง
R-2R Ladder DAC today…
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า… ในทุกสิ่งไม่มีคำว่าล้มหายตายจาก เช่นกันกับ R-2R ladder DAC จึงยังคงอยู่ แต่จะเป็น Niche ยังมีผู้ผลิต External DAC ค่าย High-End จนถึง Mid End บางรายมั่นใจใน R-2R DAC เชื่อมั่นในเสียงแนว analog ให้รายละเอียดดี มีไดนามิกส์ การทำงานแบบ R-2R Ladder DAC จะต้อง “ถูกจริต“ นักเล่นกลุ่มบนผู้แสวงหาความแตกต่าง
ผู้ผลิต “สายแข็ง” ยังคงยึดมั่นในแนวทาง หรือไม่ก็กลับมาพัฒนา R-2R DAC ขึ้นมาอีก… โดยพัฒนาฉีกไปในอีกรูปแบบที่ผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลหรืออาจเรียกว่า Hybrid ให้มีลูกเล่นมากขึ้น สิ่งที่ข้ามขึ้นมาอีกขั้น คือนำเทคโนโลยีของ FPGA มาเสริมการทำงานของ R-2R เขียนอัลกอลิทึมให้ล้ำขึ้น ซับซ้อนขึ้น ให้ทำงานสมบูรณ์แบบไร้ข้อผิดพลาด เสริมกับอุปกรณ์คุณภาพสูง จึงทำให้ประสิทธิภาพสูง ยกระดับสินค้าขึ้นหนีคู่แข่งได้สบายๆ
ถึงอย่างไร R-2R DAC ก็คงหนีไม่พ้นขั้นตอนหินที่ดูเหมือนจะง่าย คือการคัดเกรด R (resister) ให้ได้ค่าเท่ากันเป๊ะหรือใกล้เคียงที่สุด แม้จะต้องเสียเวลาแบกต้นทุนสูงที่ต้องเสียไปกับการคัดทิ้ง Resister แทบทั้งล็อต ก็เป็นไปได้ว่าถ้าจะเลือกให้ได้ Yield ดี มีอัตราการคัดทิ้งน้อยลง ก็คงต้องสั่งซื้อวัตถุดิบ (Resister) จากผู้ผลิต Resister คุณภาพสูงซึ่งอาจมี Tolerance (ค่าคลาดเคลื่อน) ต่ำ ซึ่งก็ย่อมต้องมีต้นทุนสูงอยู่ดี แม้การคัดเกรด R อาจใช้เครื่องมือทันสมัยคงไม่ถึงต้องใช้คนมานั่งวัดทีละตัวแล้วก็ได้ ที่แน่ๆ ถ้าวัดกันจริง โดยกำหนดค่า Tolerance (ความคลาดเคลื่อน) แคบหรือต่ำเท่าไหร่ก็ยิ่งมี R ที่ถูกคัดทิ้งมากขึ้นเป็นทวีคูณ ยิ่งค่ายไฮเอนด์ที่ต้อง Over design กันทั้งสิ้น ที่แน่นอน DAC พวกนี้ส่วนใหญ่มักต้องมีราคาสูงเรือนแสนจนถึงล้านบาททีเดียว เช่น MSB, dCs, Total DAC, Aqua รวมถึง ROCKNA เป็นต้น
จริงอยู่ที่ R-2R DAC มักราคาสูง แต่อาจไม่เสมอไปหรอก… DAC จีนราคาหลักหมื่น ยันแสนก็มี ขึ้นอยู่ที่ใครผลิต ใช้ R ของค่ายอะไร การผลิตกำหนดค่า Tolerance แคบ QC เข้มข้นเพียงไร แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าจะจูนเสียงได้ผลลัพธ์ดีเพียงไร มีชื่อชั้นและเสียงถูกจริตหรือไม่ต่างหาก
ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ FPGA เป็นองค์ประกอบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ที่สำคัญสุดก็เห็นจะเป็นอัลกอลิทึมที่เขียนคำสั่งขึ้นมาสั่ง FPGA ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเจ๋งของ DAC ตัวนั้น
แม้ว่าเป็น Custom DAC ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่เคยเล่าให้ฟังใน Live Stream เท่านั้น ยังไม่พอ องค์ประกอบที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น Clock, up-sampling, filter, USB interface, Network interface, analog output stage, volume control, ภาคจ่ายไฟ, การจัดการ Noise เป็นต้น ซึ่งหลายส่วนเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถซื้อ PCB (แผงวงจร) สำเร็จรูปมาใส่ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีการแบ่งเกรดอยู่ดี แม้ Chip set device เดียวกัน แต่ Bin ต่างกันก็ห่างกันไกล ประมาณว่าแบ่ง Bin เหมือนไวน์นั่นแหละ อุปกรณ์ที่ใช้ใน PCB เองก็ต่างกันเช่นกัน ซึ่งยังไงซะ Tolerance (ความคลาดเคลื่อน) แคบก็ต้อง QC เข้มข้นทุกชิ้นของอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นแผงวงจรนั้นๆ… เชื่อเถอะ “คุณภาพ ตามราคา“ ยังเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อยู่ดี
ROCKNA audio….
ก่อตั้งบริษัทมาเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้วตั้งแต่ปี 1999 ROCKNA Electronics SRL ใน Suceava, Romania ประกอบด้วยแบรนด์เครื่องเสียงแบรนด์พี่ ROCKNA AUDIO และแบรนด์น้อง Audiobyte ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 แบรนด์ถูกพัฒนาวิจัย ออกแบบ ผลิต ประกอบด้วยมือ ทดสอบในโรงงาน ROCKNA Electronics SRL ใน Suceava, Romania
ผลิตภัณฑ์ ROCKNA AUDIO เริ่มจากแอมป์มาก่อน ต่อมาหันมาเอาดีทางถนัดกับผลิตภัณฑ์ดิจิทัลออดิโอที่เรียกว่า ROCKNA RD-2 DAC และ ROCKNA WAVE QUEST DAC เมื่อปี 2013 ที่ถูกออกแบบให้ทำงานด้วย FPGA เป็นตัวแรกในขณะนั้น ในที่สุดได้รับการพัฒนามาเป็น Product lines ที่ชื่อว่า ROCKNA WAVEDREAM รวมถึง ROCKNA WAVELIGHT ที่เป็นซีรีส์รองลงมาในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งไม่ทับไลน์กับ Audiobyte แบรนด์น้องรองในสังกัดเดียวกัน
ROCKNA WAVEDREAM ซีรีส์เรือธง แบ่งเป็น 2 ผลิตภัณฑ์หลัก แยกย่อยตามออฟชันที่ต้องการเลือกได้อีก
– WAVEDREAM NET: CD transport / Network Transport / Music server w SSD Storage / ROON Core
– WAVEDREAM DAC: PCM / DSD DAC ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบสุดขั้วเป็น Discrete Hybrid R-2R Ladder DAC มาพร้อมกับ FPGA แบบจุกๆ DSP ใช้อัลกอลิทึมที่เขียนขึ้นเอง ใส่ลูกเล่นที่สุดติ่งมากมายที่ทำให้ผู้ใช้ซึ่งเป็นเจ้าของสามารถ Custom ปรับแต่งได้ตามต้องการ… ถึงกับต้องร้องว้าวว่าอะไรจะเยอะปานนั้น… DAC เทพ ต้องทำถึงขนาดนี้เชียวหรือ …
“Simplicity in Complexity”
ความเรียบง่ายในความซับซ้อนของดิจิทัลออดิโอ ซึ่ง Nicole Jitariu: Designer ตั้งใจให้เป็น จึงจัดเต็มไร้ซึ่งการประนีประนอม สุดขอบจินตนาการของ Custom DAC โดยเลือกที่จะไม่ใช้ DAC Chip สำเร็จรูป เพราะเชื่อว่าการใช้ Off Shelf DAC Chip จะจำกัดจินตนาการของผู้ออกแบบไปเสียฉิบ ดังนั้นจึงหาใช่งาน mass มันถูกติดตั้งไว้ด้วยวงจร Discrete Hybrid Ladder (R-2R) โดยเลือกที่จะใช้ FPGA ซึ่งเขียนคำสั่งให้ควบคุมอัลกอลิทึมอันซับซ้อน เพื่อสั่งการให้กับวงจร Hybrid Ladder R-2R รวมถึง DSP ทำงานอย่างแม่นยำเที่ยงตรง ประสานการทำงานอย่างลงตัวกับ FemtoVox Clock System (300 fS) คือการใช้ Clock ระดับ FEMTO second ที่มีคุณภาพสูงสุด มีความเที่ยงตรงที่สุดในยุคนี้ โดยมี Jitter ที่ต่ำที่สุดอันเป็นหัวใจของคุณภาพเสียงที่ดีมากนั่นเอง ทั้งยังสามารถเลือกโหมดสัญญาณ PLL (Phase Lock Loop) Clock ได้ทั้งแบบ Stream และ Local รวมถึงเลือก Filter หลายค่าตามรสนิยมและ Dither ที่จะเลือกการทำงานของ R-2R ladder ให้เหมาะสม
ภาค Output stage ใช้วงจร JFet และ BJT transistors ทำงานแบบ Class A Output analog stage เพื่อใช้เป็นภาคปรีแอมป์ที่มีโวลุ่ม 256 สเตป สามารถเชื่อมต่อตรงกับเพาเวอร์แอมป์อย่างไหลลื่น
ROCKNA ออกแบบวงจร DAC Stage ให้มี DAC Architecture ที่แตกต่างจาก DAC Stage ตัวอื่นๆ
หัวใจของวงจร D/A Converter แยกเป็นโมดูล ที่เรียกว่า Discrete DAC Module อิสระ หรือจะเรียกว่า RD-0 (Signature -27 Bit) และ RD-1 (Edition -26 Bit) ทำงานแบบ Hybrid Ladder Topology ควบคุมโดยอัลกอลิทึมที่ถูกฝังไว้ใน FPGA Chip สามารถอัพเกรด Firmware ได้ตลอด ซึ่งก็หมายความว่า DAC ตัวนี้จะไม่ตกรุ่นง่ายๆ มันดีแบบนี้นี่เอง โมดูล RD-0/1 สามารถรองรับ Sampling Rate ได้ถึง 6MHz นั่นก็คือสูงสุดในมาตรฐานอุตสาหกรรมในปัจจุบันนี้แล้ว Output ของ DAC Modules จะไร้ซึ่ง Buffer ก็หมายถึงจะได้เสียงที่โปร่ง สะอาด เป็นธรรมชาติที่สุดนั่นเอง โมดูล RD-0/1 เป็นออฟชันที่สามารถเลือกได้ตามกำลังทรัพย์ ไปให้สุดเท่าที่ใจไขว่คว้าก็ยังได้ สังเกตดูซิว่าแค่ 1 bit ใช้ R เพิ่มขึ้นกี่ตัว ซึ่งหมายถึงความยากในการคัดเกรดเป็นทวีคูณนั่นเอง
แม้กระทั่ง ขั้ว Analog Output Balanced / Unbalanced ก็จ่ายราคาค่าตัวต่างกันด้วย ซึ่งแฟร์ดี ถ้าไม่ใช้ “ทำไมต้องจ่าย“ ตรงนี้คือข้อเด่นอีกข้อที่ควรพิจารณา คุณสมบัติเช่นนี้สาแก่ใจไหมพี่น้อง….
PSU…
ขุมพลังของเครื่องเสียงไฮเอนด์ก็คือภาคจ่ายไฟ ส่วนของวงจรดิจิทัลและอะนาล็อกแยกอิสระที่จะชีลด์กันอย่างดี ลดปัญหา EMI ด้วย โดยใช้ Toroidal Transformer จำนวน 3 ลูก 2 ลูกซ้ายขวาจ่ายให้กับวงจรอะนาล็อกแยกอิสระ ลูกกลางใหญ่หน่อยแยกจ่ายให้กับวงจรดิจิทัล รวมทั้งหมดจ่ายไฟให้กับวงจร Regulator Linear Power Supply จำนวนรวม 20 ชุด ออกแบบให้มีความต้านทานต่ำและสัญญาณรบกวนน้อยที่สุดเพื่อผลของคุณภาพเสียงดีที่สุดนั่นเอง
วงจรภายในนั้นถูกวางไว้แบบ Full Balanced แบบคู่ขนานทั้ง 2 ข้าง แบบ Symmetry เชื่อมต่อด้วยมาตรฐานที่เรียกว่า LVDS standard (Low-voltage differential signaling) ที่จะลดหรือตัดการรบกวนใดๆ ลง ซึ่ง Noise ที่อาจเกิดขึ้นก็คือ Jitter ที่คือตัวปัญหานั่นเอง จะส่งผ่านสัญญาณอย่างรวดเร็ว เที่ยงตรง ไร้ความเพี้ยน
ทั้งหมดติดตั้งอยู่บนตัว Chassis อะลูมินัมอย่างหนา ผิวโลหะถูกอะโนไดซ์เป็นสีดำหรือสีเงินให้เลือกตามรสนิยม ซึ่งก็ไม่ถึงกับเนี้ยบ หรูหรานัก จึงทำให้ค่าตัวไม่แพงเวอร์วังจนเกินไป แต่ก็ออกแบบได้เรียบ มีปุ่มที่เฉพาะใช้งานได้จริง อย่างตัวนี้สีดำก็บ่งบอกถึงความดุดัน เอาจริงเอาจัง
…และนี่คือ “ความเรียบง่ายในความซับซ้อน”
ในนิยามของ ROCKNA AUDIO ไฮเอนด์จากโรมาเนียตัวนี้นี่เอง
Check In
ROCKNA: WAVE DREAM DAC ตัวที่ส่งมาเป็น Chassis อะลูมิเนียมสีดำอะโนไดซ์ แผงหน้าเป็นอะลูมินัมหนาถึง 20 mm
ตัวนี้เป็นรุ่น Edition Balanced ซึ่งก็แปลว่ามีโมดูล RD-1 (Edition-26 Bit) 2 โมดูลติดตั้งมาแบบ Full Balanced
ฝาหลังเครื่อง CNC กัดเจาะเป็นอักษรคำว่า ROCKNA อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมดุเชียว
ท้ายเครื่องประกอบด้วยตรงกลางขั้วต่อ Digital Inputs ครบ เช่น
- Coaxial (S/PDIF) รองรับ24/192… DSD64
- XLR (AES/EBU) รองรับ24/192… DSD64
- USB รองรับ24/384… DSD64-256/512
- HDMI LVDS (I2S HD-Link1r/p) รองรับ24/384… DSD64-256/512
- HDMI LVDS (I2S HD-Link2r/p) รองรับ24/384… DSD64-256/512
Connectivity
ขั้วต่อดิจิทัลทุกรูปแบบ S/PDIF via coax, AES/EBU on XLR, USB และ 2 HD links on HDMI (I2S อ่านว่า ไอ สแควร์ เอส) ซึ่งการเชื่อมต่อวิธีนี้จะ Bypass conversion process ทั้งหลายออกไป ทำให้ได้สัญญาณดิจิทัลแท้ๆ ซึ่งตรงนี้จะให้เสียงดีที่สุด คล้ายกับ Coax แต่ไปได้ไกลกว่า I2S นี้ โดย Nicole Jitariu ตัวพ่อคนนี้เป็นผู้ให้กำเนิดมันนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับ Sampling Frequency: PCM ทะลุ DXD 384kHz รวมถึง DSD512 (11.28MHz) โดยการ Upsamples ทุก Inputs ขึ้นไป 16 เท่า ที่จะให้ DAC ทำงานที่ 768kHz หรือ 705.6kHz แล้วแต่สัญญาณต้นทางจะมาอย่างไร
Firmware สามารถอัพเวอร์ชันได้ตลอดเหมือนได้เครื่องใหม่ทุกครั้งที่อัพ หมายถึงสามารถรองรับการเล่นได้อย่างยาวนานโดยไม่ตกรุ่น
ภายในถูกวางผังวงจรแบบ Symmetry สังเกตตรงด้านซ้ายและด้านขวาดีๆ ว่าขั้วจะห่างกันมาก
ที่สำคัญรุ่นที่เป็นวงจร Balanced ท้ายเครื่องก็จะพบขั้วต่อ Analog Output ชนิด Balanced และ Unbalanced ติดตั้งมาคู่ แน่นอนว่าราคาสูงกว่ารุ่น Unbalanced ก็ใช้เท่าไรควรจ่ายเท่านั้นไง
อ้อๆ มีรีโมตไร้สายทำด้วยอะลูมิเนียมสีเดียวกับตัวเครื่องอย่างดี หนาและหนักให้มาด้วย
Set Up /Controlled
หน้าปัดมีปุ่ม On/Off อยู่ด้านซ้าย ตรงกลางเป็นจอดิสเพลย์บอกสถานะการทำงานของเครื่อง ด้านข้างเป็นปุ่ม 4 ปุ่มเพื่อเลือก Menu เป็น Sequent และปุ่มทางขวา กด +/- เพื่อเลือก Inputs รวมถึงตั้งค่าต่างๆ เช่น Filter, DSD Bandwidth, Clock ปรับลดแสงสว่างของหน้าจอได้ 4 steps รวมถึงปรับเร่งวอลลุ่มในกรณีที่ใช้ภาคปรีแอมป์จากตัวมันบอกถึงไฟล์ที่เล่น PCM/DSD Sampling Rate, Input คืออะไร
ปุ่ม MENU ให้กดไปเรื่อยๆ จนกลับมาที่เดิม มีรายละเอียดดังนี้
1st press – Inputs select เมื่อกดปุ่มด้านขวาเพื่อเลือกก็จะได้ดังนี้
- Coaxial (S/PDIF)
- XLR (AES/EBU)
- USB
- HDMI LVDS (I2S HD-Link1r/p)
- HDMI LVDS (I2S HD-Link2r/p)
2nd press – Filter เป็นอะไร เช่น Linear; • Minimum; • Hybrid; • Off
3rd press – DSD Band Width selection • Wide; • Narrow.
4th press – Phase selection • Normal; • Invert.
5th press – Dither selection • On; • Off.
6th press – Clock selection • Stream; • Local.
7th press – Return to home MENU
– Vol Control ตั้งไว้กี่ dB ซึ่งเป็นแบบ Custom multiplier array, ละเอียดยิบถึง 256 steps, 0.5dB step
ก็น่าจะสะดวกดีเมื่อใช้ Remote control
คำเตือน ก่อนเปิดเครื่อง
สิ่งที่ควรทำอยู่แล้วคือเปิด DAC ก่อน แล้วจึงค่อยเปิดแอมป์ตาม ส่วนถ้าจะปิดต้องปิด DAC ก่อนเช่นกัน แล้วค่อยปิดแอมป์ตาม ป้องกันปัญหาเสียงป๊อปออกลำโพง ที่อาจทำความเสียหายต่อลำโพงและหูของผู้ฟังเอง… ส่วนผมไม่มีปัญหา เพราะไม่เคยปิด DAC เลย เนื่องจากรู้ว่าถ้า DAC ปิดไว้นานๆ กว่าจะวอร์มจนได้ที่ ใช้เวลานานมาก หลายชั่วโมงเลย ROCKNA WAVEDREAM ก็เป็นเช่นนั้น แนะนำว่าถ้าจะปิดก็ปิดแอมป์อย่างเดียวไปก่อน
Hook UP
ROCKNA WAVEDREAM DAC ถูกทำมาคู่กับ ROCKNA WAVEDREAM NET ซึ่งเป็นเน็ตเวิร์กทรานสปอร์ตที่ครบเครื่อง ทาง Bulldog ไม่ได้ส่งคู่หูมาให้ ก็เลยอดได้ฟังแบบเต็มรูปแบบ เราเองก็อยากเล่นให้สุดด้วยช่องเสียบ USB กับ I2S HD-Link ก็เล่นไฟล์ผ่าน A+ และ ROON Core นั่นแหละง่ายดี… จะเล่นจาก music server ตัวอื่น ก็ไม่มีช่องเสียบ I2S เสียด้วย อยากลองอ่ะ อย่ากระนั้นเลย คุณมุแห่ง Bulldog รู้ใจจึงจัดส่งของดีมาพร้อมกัน คือ Audiobyte Hydra Z USB Audio Bridge + Hydra ZPM ultra capacitor Power bank จัดมาเป็นเซ็ต มาใช้เป็นตัวเชื่อมหรือเรียกว่า Interface ก็คงไม่ผิด… แอบอัพสาย HDMI เป็นของ AQ เข้าไป แน่นอนว่าสายยังไงก็มีผลค่อนข้างชัดอยู่แล้ว
ถ้าบังเอิญต้องเล่น WAVEDREAM DAC กับคอมตรงๆ สำหรับ MAC คงไม่ต้องทำอะไร ส่วน Windows ต้องติดตั้ง Driver นิดนึงนะ
จากช่องเสียบ Outputs ไปเข้าอินทิเกรตแอมป์ VITUS RI100 เพื่อขับกับ Manger ZeroBox สองคู่หูเจ้าถิ่น ที่อยู่ในห้อง โฮมสตูดิโอ แถบชานเมือง ห้องที่เห็นบ่อยจนคุ้นตาใน Live Stream นั่นแหละ
Show Time
เปิดเครื่องหน้าจอเป็น LED แสงสีขาวจะแสดงผลให้เห็นว่า WAVEDREAM ตัวนี้เป็น RD-1 (Edition-26 Bit) พร้อมกับInput ที่เลือกไว้ก็คือ HD-Link1r/p บอก Bit rate เป็น PCM และจะเปลี่ยนไปตามไฟล์ที่เล่น อีกอย่างคือ filter ที่เลือกด้วย เดิมเป็น linear ซึ่งก็จะได้ลองกันล่ะ
“ฟังแว่บแรก… ได้อารมณ์นึกย้อนไปหลายสิบปีก่อน เมื่อครั้งที่ได้ฟัง WADIA CD Player ครั้งแรก จับคู่ต่อตรงกับแอมป์หลอด 845 โมโนบล็อกโดยไม่ใช้ปรี ขับลำโพง PROAC Response 4 ในห้องของ 4D ที่งานโชว์เครื่องเสียงโรงแรมแอมบาสซาเดอร์เมื่อครั้งกระโน้นวูบเข้ามาเลย“ จากนั้นไม่นานทั้ง PROAC Response 2.5 และ WADIA 830 ก็ได้มาเป็นสมาชิกในห้องฟังของผม… โอ้ว… กี่ปีแล้วนี่
อัลบั้มที่ฟังก็กระจายไปจากแหล่งสตรีม QOBUZ, TIDAL รวมถึงไฟล์ใน NAS ซึ่งจะเน้นเฉพาะ Hi-Res PCM หรือไม่ก็ DSD64 เสียส่วนใหญ่ ก็มีบ้างที่เป็น DSD128
อัลบั้มบันทึกการแสดงสดที่บันทึกมาดีมาก เช่น ERA: the LIVE Experience ดนตรีมีความซับซ้อนหลากหลายแนวทั้งออร์เครสตร้าและสตริง จังหวะโจ๊ะๆ ดี นักร้องประสานเสียง นักร้องสาวเสียงดี แทร็กติดหู the Mass ที่คนไทยรู้จักดี ให้ไดนามิกส์ อิมแพ็คดี รายละเอียดของชิ้นดนตรีเครื่องเคาะโลหะ กลอง เบสกระชับ บีตแน่นๆ ตึบๆ ในเพลง Something Exiting หรือ Avemano รับมืออยู่โดยแทบไม่ต้องพึ่งซับวูฟเฟอร์ที่ปกติจะใช้ต่อแบบ 2.2 อยู่แฮะ หรืออีกอัลบั้มก็ต้อง Loreena Mckennitt: Live at Royal Albert Hall ดนตรีมีความสด สมเป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสด เสียงร้องของตัวแม่นั้นได้อารมณ์มาก โดยเฉพาะเพลง the Ballad of the Foxhunter ขนลุกเลย ให้เสียงไหวพลิ้วมีชีวิตของชิ้นดนตรีเครื่องสายอย่าง Harp และ Violin ฟังเพลินมาก อัลบั้มบันทึกการแสดงสดโปรเกรสสีฟร็อกของวง Porcupine Tree: ATLANTA ฟังกี่ครั้งติดลมทุกครั้งซิน่า อีกอัลบั้มคือ Closure/Continuation สตูดิโออัลบั้มใหม่ล่าสุดเพิ่งรีลีสไม่นานนี่เอง หลังห่างเหินไปนาน 10 ปีทีเดียว ได้หวนกลับมา Reunion กับวง PT เพราะตาแว่น Steven Wilson มัวเพลินกับ Solo Artist กับงานล้นมือในการรีมาสเตอร์ ผลงานรุ่นใหญ่ที่วางใจให้ทำวงร็อกที่บันทึกดีมาก ใครที่ชอบดนตรี Progressive บีตหนักๆ บันทึกดีมาก ชอบฝีมือ Gavin Harrison มือกลองที่หวดได้สะใจ มีลูกเล่นแพรวพราว WAVEDREAM DAC ถ่ายทอดได้ถึงอารมณ์ดีแท้ เปิดดังแบบไม่เกรงใจใคร ทำไมล่ะก็อยู่คนเดียวในห้องลับนี่นา ไฟล์ DSD ให้รายละเอียดดีมาก เสียงดุ มีพลัง บอกเลยว่าผมเฉยๆ กับไฟล์ DSD ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรนักหรอก มันก็แค่ฟอร์แมตหนึ่ง ในสตูดิโอเขาทำงานบน PCM กันทั้งสิ้น แต่เมื่อเล่นกับ DAC บางตัว อย่าง ROCKNA
WAVEDREAM นี่มีอึ้งเหมือนกัน ฟังสนุกมากทีเดียว ผมฟังหลายชุดส่วนใหญ่เป็น DSD64 เช่น Dire Strait: Love Over Gold หรือBrother in Arm อย่าง DSD128 ก็ OPUS 3 Show case กับ DXD 24/382.4 ก็เล่นได้เนียน รายละเอียดระยิบกันเลยทีเดียว
ถึงตรงนี้ WAVEDREAM DAC เป็น Stand-alone DAC ที่ให้ความคล่องตัวในการใช้งานสูง มีลูกเล่นช่วยในการปรับแต่งเพื่อ Custom ให้ลงตัวกับซิสเต็มของคุณ สนุกกับลูกเล่นของฟิลเตอร์ ที่ตั้งค่า linear, minimum,จนถึง hybrid ซึ่งไปๆ มาๆ ผมมาลงตัวกับ hybrid ที่สุด ได้ความสมดุลของ Timing, Image และให้รายละเอียดดีที่สุด
เพิ่งพบเหมือนกัน DAC ที่มีออฟชันปรับเลือก Clock rate จากวงจร PLL อีกอย่างก็ไม่เคยเจอเหมือนกันกับ Dither ปิดหรือเปิด ซึ่งจะส่งผลกับการทำงานของ R2R ladder ให้ Linear มีผลต่อ ultrasonic dither ใน 4 Bits สุดท้ายของ digital 24-bit word สัญญาณระดับต่ำๆ (-80dB) ก็ต้องเปิดซิ… ทำไมจะไม่ล่ะ
เสียงของ WAVEDREAM DAC นั้นให้เสียงเปิด รายละเอียดโค–ตรดี แม่นเป๊ะ ให้เสียงเป็นธรรมชาติซึ่งดีงามมาก ใครๆ ก็พูดว่าเสียงเป็นธรรมชาติกันทั้งสิ้น จะต่างกันตรงที่เรากำลังพูดถึง Hi-End External DAC ในแง่ของ Digital audio ที่ให้เสียงธรรมชาติในระดับที่ DAC ทั่วไปไม่อาจทำได้เท่า แม้ว่า DAC ตัวนั้นจะถือว่าทำได้ดีแล้วก็ตาม ก็ดีตามราคานั่นแหละ
แต่เมื่อมาเทียบกับเครื่องไฮเอนด์ระดับนี้ อย่างตัวที่อยู่ตรงหน้าผมสองตัวนี้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน พูดได้ว่าดีเยี่ยมทั้งคู่… ก็เช่นตัวนี้คือ ROCKNA WAVEDREAM DAC เท่าที่ผ่านมาแล้วหลายสิบ… Oops!!! น่าจะเป็นร้อยตัวแล้วซิ เคยผ่านมีดหมอบนเขียงในห้องฟังโฮมสตูดิโอแห่งนี้ ก็ว่าดีแล้วเชียว ณ ตอนนั้น แม้ไม่ใช่เทียบแบบ Apple to Apple ก็ตาม ก็ยังติดหูอยู่ เชื่อหรือไม่ว่า เจอ WAVEDREAM เข้า จะ “ขุ่น” ไปเลย ..ให้ตายซิ
มึนนิดๆ กับรีโมตเพราะใช้โค้ดเป็นตัวเลข ไม่ใช่บอกเป็นตัวอักษร โถ… ใครจะจำได้ ยิ่งความจำสั้นอยู่… ฮา แต่ถ้าใช้บ่อยๆ ก็คงคล่องเองแหละ ว่าแต่ว่าความจริงมันอาจทำมาเพื่อให้ทำงานร่วมกับ WAVEDREAM Net มากกว่านะ อีกอย่างเราคงไม่ได้ใช้บ่อยๆ หรอก เลือก Input ตั้งค่าครั้งเดียวก็จบ อีกอย่าง… เพราะผมเองไม่ได้ใช้ฟังก์ชันปรีในตัวมัน เพราะ VITUS RI100 เป็นอินทิเกรตแอมป์ไง…วางไว้เท่ๆ ก็พอ
“Simplicity in Complexity”
ROCKNA WAVEDREAM DAC ภายใต้ตัวถังที่ดูเรียบ มีความซับซ้อนซ่อนอย่างแยบยลอยู่จริง ให้บุคลิกเสียงเข้มข้น สเกลใหญ่ โอ่อ่าเต็มวง มีพลัง รายละเอียดดี กระจะเปิดเผย มิติชัดเป๊ะสมคำเล่าลือ ชอบที่ได้ฟังอัลบั้มบันทึกการแสดงสด ให้บรรยากาศดนตรีสมจริงเหมือนได้ฟังดนตรีสดอยู่หน้าเวที ได้แรงประทะ ดนตรีเป็น 3D โอบล้อม ผนังห้องล้มของห้องโฮมสตูดิโอแคบๆ แห่งนี้กลับหายไปฉิบ ได้ความโอ่อ่าของเวทีเสียงเข้ามาแทน อันเป็นสไตล์เสียงเฉพาะตัวของ “R-2R Ladder DAC ชั้นดี” แท้ๆ ที่ยากที่ใครๆ จะทำได้เหมือน เสียงมี Signature ของพ่อมดดิจิทัล Nicole Jitariu เอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือนใคร เป็น External DAC อีกตัวที่ทำให้ผมกระหายที่จะฟังฟังแต่ละครั้งดึกทุกคืน ระหว่างรอเชียร์ F1 รอบดึกก็ต้องวอร์มหูด้วย ROCKNA WAVEDREAM DAC ด้วยทุกคืนซิน่า
ROCKNA WAVEDREAM DAC ต่างจาก R-2R Discrete DAC ตัวอื่นๆ ที่เคยเล่นมาพอสมควร คุณสมบัติของงานCustom ที่ทำมาอย่างประณีตบรรจง แม้แต่ตัวคุณยังสามารถ Custom เองเช่นนี้ ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่ใช่ “ความเรียบง่ายในความซับซ้อนของ Digital Audio” ในนิยามของ Nicole Jitariu แห่ง ROCKNA..ROMANIA
ด้วยค่าตัวสมเหตุสมผล ยากที่จะหาได้ในตลาด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทำเองทั้งหมด ไม่ต้องจ่ายค่าตัวให้กับพ่อมดดิจิทัลนักปรุงยาคนอื่น อีกทั้งเป็นโรมาเนีย ยุโรปตะวันออก ค่าแรงไม่ดุเท่ายุโรปตะวันตก… ROCKNA กล้ารับประกันเครื่องถึง 3 ปีเสียด้วย ไม่แปลกใจว่าทำไมขายดีหลังเปิดตัวใน Live Stream ไป
…นี่ถ้าได้จับคู่กับ WAVEDREAM NET… จะเป็นลมใต้ปีกเสริม ROCKNA WAVEDREAM DAC ให้บินสูงขึ้นไปอีก นึกไว้ได้เลยว่าจะให้ประสิทธิภาพสุดขอบจินตนาการเพียงไร… ก็ Nicole ตั้งใจปั้นออกมาคู่ทั้งทีนี่นา เหมาะกับผู้ที่ต้องการอะไรที่ Extreme ซึ่งต้องเป็นของยุโรป ไม่ติดแบรนด์ที่คุ้นหูในบ้านเรา ด้วยงานคัดสรรมาอย่างดี ฝีมือจากพ่อมดโรมาเนียนผู้อยู่เบื้องหลัง DAC เทพในวงการนี่เอง
…ได้ข่าวว่าสั่งมาไม่ง่ายนะ ยิ่งทำไม่ได้มากในแต่ละล็อต โดนขาใหญ่ฉกไปก่อนกว่าได้เข้ามาในตลาดเมืองไทย แต่ละล็อตก็เหลือน้อยเต็มที ชวนให้รีบไปฟังและสั่งจองด่วน เลือกสีตามที่ต้องการ Balanced /UnBalanced ใช้อย่างไรก็จ่ายตามจริงไง แนะนำเลยครับ. ADP
WAVEDREAM Edition DAC SE ราคา 275,000 บาท
WAVEDREAM Edition DAC SE/XLR ราคา 365,000 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Bulldog Audio
โทร. 081-454-0078
ผู้เขียน: ธรรมนูญ ประทีปจินดา
Audiophile/Videophile Reviewer
อดีตที่ปรึกษาฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิตโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ
ผู้เฝ้าติดตามความเป็นไปของดิจิทัลออดิโอ ตาไม่กะพริบ
No Comments