วิศัลย์
FB Page: Wison Wisdom Talks
(WJ116)

ก่อนอื่น WJ ต้องขอสารภาพก่อนว่า ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรีวิวอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่มาปรับปรุงคุณภาพเสียงในระบบ อันนั้นขอยกให้กับเจ้าสำนักพ่อมดของสำนักออดิโอไฟล์/วิดีโอไฟล์ครับ ด้วยความคิดที่ว่า อุปกรณ์หลักที่ใช้ร่วมกันควรจะอยู่ในคาแรกเตอร์ที่เป็นไปในทางสมดุล สนับสนุน หรือส่งเสริมไปในทางที่ดีสอดคล้องกันอยู่แล้ว การใช้อุปกรณ์เสริมต้องไม่ไปขยายจุดด้อย หรือทำให้คาแรกเตอร์ของอุปกรณ์หลักเปลี่ยนแปลงไป และด้วยวิศวกรรมศาสตร์และเครื่องมือคำนวณด้วยสมองกลอัจฉริยะในวันนี้ เราจะพบว่า อิทธิพลของอุปกรณ์เสริมสมัยใหม่ ได้แก่… สายไฟฟ้า, สายนำสัญญาณ, สายลำโพง, ชั้นวางเครื่องเสียง, อุปกรณ์รองรับเพื่อสลายแรงสะเทือน ให้อิทธิพลที่รุนแรงถึงขนาดที่ทำให้คาแรกเตอร์ของอุปกรณ์หลักเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าหรือแย่กว่า ชัดเจนขึ้นไปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายต่อหลายครั้งได้ถูกชี้นำให้เป็นส่วนหนึ่งของการแม็ตชิ่งของเครื่องเสียงหลักเข้าไปด้วย 

โดยส่วนตัว ผมไม่เคยปฏิเสธทฤษฎี หรือการปฏิบัติด้วยการฟัง ว่าอุปกรณ์เสริมที่ว่ามีผลกับเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะดีขึ้นหรือเลวลง ผมคิดว่า จุดสมดุลระหว่างเงินที่จ่ายและสิ่งที่ได้ เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด เพราะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั้น จะแพงหรือถูก หรือความคาดหวังอีกนิดเดียวก็บรรลุความต้องการ เหล่านี้เป็นเรื่องของใครของมัน 

กลับมาที่อุปกรณ์เสริมที่ผมจะมารีวิวในครั้งนี้ครับ เป็นผลงานการออกแบบและผลิตด้วยคนไทย ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและวิศวกรรมในระดับอัศจรรย์พันลึก ด้วย Know How ระดับยานอวกาศ คือ ถ้าใช้คำว่าอุตสาหกรรมการบินก็ดูจะไม่ตรงเป้า   เช่น เครื่อง CT Scan เป็นต้น ท่านได้รู้จักวิศวกรผู้ออกแบบเครื่องมือแพทย์ในระหว่างการทำธุรกิจ ในขณะที่ท่านก็ชอบเครื่องเสียงมาก เลยมีความคิดว่า วิศวกรรมในแขนงนี้ โดยเฉพาะการควบคุมและการใช้ประโยชน์จากแม่เหล็กนั้น น่าจะนำมาต่อยอดกับอุปกรณ์เสริมที่ผมจะทำการทดสอบได้เป็นแน่ อันนั้นเป็นไอเดีย ส่วนราคาขายเท่าไหร่ยังไม่ได้กำหนด

จากนั้น ด้วยแนวคิดนี้จึงเป็นจุดกำเนิดของสายและผลิตภัณฑ์ในชื่อ EDL (Exotic Design Labs)

สาย EDL ที่ผมได้มาทดสอบและใช้งานนี้เป็นสายไฟฟ้า EDL รุ่น Ultramag Mk 6 และสายนำสัญญาณบาลานซ์ รุ่น Ultima 6 Supreme ซึ่งต้องขอบอกว่ามีมูลค่าสูงครับ (สูงเลยครับ ผมไม่ชอบ และพยายามหลีกเลี่ยงการบรรยายด้วยคำว่า “ค่อนข้าง” เหมือนกับพวกที่กลัวโดนฟ้องร้องชอบพ่วงท้ายคำว่า “หรือไม่ อย่างไร”) ในขณะที่สายไฟฟ้าที่ผมใช้อ้างอิงนั้นเป็นสาย Cardas รุ่น  Golden Reference รุ่นท่อหดเทาและท่อหดดำ เป็นหลัก สายนำสัญญาณ(ที่ไม่ได้มาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงและโฟโนสเตจ)ที่ผมใช้เป็นแบบบาลานซ์ คือ Nordost รุ่น Tyr 2 นับว่าสายไฟที่ใช้อยู่ก็มีคาแรกเตอร์อะไรอยู่บ้าง แต่ก็จัดว่ามีคุณภาพระดับมาตรฐาน ราคาปานกลาง ส่วนสายนำสัญญาณก็มีคาแรกเตอร์ประจำตัวเหมือนกัน ราคาไปทางสูง กลายเป็นว่า สายไฟ EDL และสายนำสัญญาณ ที่ทดสอบมีมูลค่าพอ ๆ กับเครื่องเสียงที่ผมใช้เลยครับ

แล้ว? OK ถ้าสายไฟและสายนำสัญญาณ มันดีจริง ซื้อครั้งเดียว จะเปลี่ยนเครื่องเสียงยังไง มันก็ใช้งานได้ ไม่มีอายุการใช้งาน!

ผมชอบก็อีตรงที่ไม่มีอายุการใช้งานนี่แหละ! อุปสรรคอย่างเดียวคือ การเปลี่ยนมือ มันจะมีมูลค่าคงเหลือเท่าไหร่ อันนี้เรามองที่คุณค่าของแบรนด์ ซึ่งบอกตรง ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการเล่นเครื่องเสียงเลย

กลับมาที่สายไฟฟ้า ความสำคัญของมัน และเรื่องน่าขบคิดอยู่ที่ว่า

  1. เครื่องเสียงและอุปกรณ์ใด ๆ ที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าย่อมบริโภคไฟฟ้า
  2. ไฟฟ้าได้ถูกเปลี่ยนจากไฟกระแสสลับเป็นไฟกระแสตรง แล้วนำไปใช้งานในวงจร จากนั้นสัญญาณขาออกก็จะถูกเปลี่ยนให้มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นเช่นนี้ตั้งแต่ ฟรอนต์เอนด์ -> ปรีแอมป์ -> เพาเวอร์แอมป์
  3. แหล่งกำเนิดเสียงแหล่งสุดท้าย ในที่นี้ คือลำโพงแบบที่ไม่ต้องต่อไฟฟ้านะครับ ก็เอาสัญญาณกระแสสลับนี้ นำไปสร้างแรงกระพือด้วยอำนาจการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กและการขับดันอากาศเข้า/ออกของกรวยลำโพงและการยึดรั้งของขอบลำโพง เราก็ได้ยินเสียงออกมา
  4. ตัวนำของไฟฟ้ากระแสสลับย่อมมีความต้านทานเฉพาะตัวที่แปรผันกับความถี่ที่ผ่านตัวของมัน หรือเรียก “อิมพีแดนซ์” แทนที่จะเรียกว่า “รีซิสแตนซ์” นอกจากนี้ ความเป็นตัวนำของสายไฟฟ้าย่อมทำตัวเองเป็นสายอากาศเหนี่ยวนำความถี่ที่แพร่กระจายในอากาศเข้ามาร่วม หรือขจัด การไหลของกระแสไฟฟ้าให้ถูกรบกวนไปจากพลวัตรการเดินทางของไฟฟ้า
  5. หากเปรียบขนาดของตัวนำไฟฟ้าเป็นท่อน้ำ การกินกระแสของเครื่องเสียง หากกินไฟฟ้าน้อย และใช้ตัวนำไฟฟ้าหน้าตัดมาก กระแสก็จะใช้ความเร็วในการเดินทางช้า และก็เช่นกัน หากเครื่องเสียงกินกระแสมากกว่า ใช้ตัวนำไฟฟ้าหน้าตัดเท่ากัน อัตราความเร็วในการเดินทางของกระแสผ่านตัวนำก็จะเร็วมากกว่า ข้อสังเกตอันยากจะอธิบายก็คือ การที่นำเครื่องเสียงในระบบที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับเหมือนกัน ใช้กราวด์ร่วมกัน มีอัตราบริโภคไฟฟ้าต่างกัน ขนาดตัวนำไฟฟ้าอาจจะเท่ากันหรือต่างกัน แต่ทั้งหมดได้ถูกเชื่อมต่อกันทางไฟฟ้าในรูปแบบของสัญญาณเข้า/ขาออกเข้าด้วยกัน ซึ่งมี “ความไว หรือ ความเร็ว” ในการผ่านกระแสไฟฟ้าที่เลี้ยงวงจรแตกต่างกัน ดังนั้น ในเชิงของเฟสทางไฟฟ้า หรือการเดินทางในระดับอิเล็กตรอนนี้อาจจะพิจารณาหรืออุปมาได้ว่า สัญญาณที่เชื่อมต่อนี้ อ้างอิงจาก “Clock” ทางไฟฟ้าที่เหลื่อมกันได้หรือไม่? อันนี้ยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่น่าสนใจ และเป็นหนึ่งในความพยายามอธิบายสัมพันธภาพของการแมตชิ่งสายไฟกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่องเสียงของผม ไม่ขอพูดหรืออุปโลกน์ตนเป็นเจ้าทฤษฎี เพียงตั้งไว้ให้เป็นข้อสังเกต
  6. ความบริสุทธิ์ของตัวนำ การผลิตตัวนำที่ทำให้การเดินทางของอิเล็กตรอนมีรอยต่อระหว่างโมเลกุลน้อยที่สุดหรือเรียบที่สุด อันนี้ก็เปรียบได้กับทางเดินที่ขรุขระหรือราบเรียบ ความขรุขระหรือความมีมลทินเจือปนในตัวนำ ก็จะสูญเสียพลังงานไปในรูปของความลำบากยากเย็นที่สัญญาณหรือกระแสที่ไหลผ่านตัวนำนั้น
  7. ความไวต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่ไฟฟ้าวิ่งผ่านตัวนำที่สามารถเกิดพลังงานแม่เหล็กที่อาจจะเป็นตัวเชิญชวนคลื่นแม่เหล็กในอากาศเข้ามาผสมโรงด้วย   สายไฟและสายนำสัญญาณสามารถออกแบบให้มีชีลด์กันการรบกวนจากภายนอกได้
  8. ความต้านทานต่อแรงสั่นสะเทือนในระดับไมโครไวเบรชั่น ก็ถ้าหากการเดินทางเป็นกระแสสลับไปในทิศทางใด ย่อมเกิดการกระเพื่อมเพื่อไปในทิศทางนั้น แรงกระเพื่อมย่อมมีโอกาศเกิดการสั่นพ้อง หรือเรโซแนนซ์ เป็นค่าความถี่หนึ่ง ๆ ที่ถูกสะสมหรือหักล้างด้วย สายต่าง ๆ ที่ถักหรือควั่นขึ้นมาจะได้เรโซแนนซ์สะสมขึ้นมาค่าหนึ่ง อันนี้คือ เรโซแนนซ์จากตัวนำเมื่อมีการไหลของสัญญาณหรือไฟฟ้าผ่าน ต่อมา เมื่อมีการกำเนิดเสียง ได้แก่… คลื่นกดอากาศจากลำโพงที่เราได้ยินเสียง ก็จะเป็นพลังงานภายนอกกระทำกับฉนวนและตัวนำ ซึ่งความยาว วัสดุ อันได้มาซึ่งมวลนั้นก็มีค่าความถี่เรโซแนนซ์จากภายนอกเฉพาะขึ้นมาไปกระตุ้นกับเรโซแนนซ์ภายในของตัวนำ ซึ่งอาจสะสมให้มากขึ้น หรือหักล้างก็ได้ ณ ช่วงความถี่ใดความถี่หนึ่ง   
  9. เรื่องการสั่นสะเทือนภายนอกนี้ ผู้ผลิตอาจใช้การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มมวลเข้าไปในบริเวณที่เกิดความเสี่ยง โดยการใช้กระเปาะเพื่อปรับมวลของตัวนำและฉนวน เพื่อให้เรโซแนนซ์ประจำตัวเปลี่ยนแปลงไปให้พ้นจากความถี่วิกฤต หรือเพิ่มมวลด้วยเส้นใยผ้า การฉีดโฟม หรือแม้แต่ของเหลว ก็เคยมีใช้กัน การปรับจูนนี้ใช้การฟังเป็นหลักครับ การคำนวณยังคงทำได้แค่การประมาณการเท่านั้นเอง เราจะเห็นว่า สายไฟหรือสายนำสัญญาณจากผู้ผลิตที่ใช้พื้นฐานการออกแบบที่เข้มข้นระดับนี้จะกำหนดความยาวในการจำหน่ายเป็นช่วง ๆ ไป  ไม่ได้ตัดมาแบ่งขายพร่ำเพรื่อ

ในภาคความคิดที่เกี่ยวข้องกับสายไฟฟ้าและสายนำสัญญาณ ผมเห็นว่าน่าจะครอบคลุมหมดแล้ว  ทีนี้ มาดูที่สาย EDL ครับ

แนวคิดของสาย EDL ที่เป็นเครื่องหมายการค้าและจุดแข็ง คือ…

  1. มีการใช้แม่เหล็กติดตั้งที่สายเพื่อให้สนามแม่เหล็กนั้นสร้าง “เกราะ” ให้กับการเดินทางของอิเล็กตรอนในตัวนำให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ให้มีสิ่งรุกเร้าหรือขัดขวางให้อิเล็กตรอนเดินทางช้าหรือเร็ว คือ เดินทางไปได้อย่างที่ควรจะเป็นได้สะดวกที่สุด
  2. สนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นเป็นการป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอก โดยเฉพาะคลื่นวิทยุและการแพร่ความถี่ในย่านต่าง ๆ ที่มากับอากาศ เท่ากับแก้ปัญหาที่ตัวนำเป็นเสาอากาศดักความถี่รบกวนเข้ามาเสียเอง
  3. การให้ความสำคัญกับ “จุดเชื่อมต่อ” ได้แก่ ปลั๊กไฟ หรือหัวขั้วต่อนำสัญญาณ โดย EDL จะติดตั้งแม่เหล็กที่จุดเชื่อมต่อนี้ แน่นอน ทิศทางในการบังคับควบคุมสนามแม่เหล็กก็เป็นความลับทางธุรกิจ ที่แน่ ๆ “ผู้ผลิต” ปลั๊กนี่ เขาบอกว่าเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกครับ   นี่เป็นตัวหลักของราคาก็ว่าได้เลย
  4. ตัวนำมีการใช้ตัวนำที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุดเท่าที่จะผลิตได้ ด้วยเทคนิคการยืดและรีดให้ตัวนำนั้นมีรอยต่อระหว่างโมเลกุลให้น้อยที่สุด คือให้ถนนทางเดินสัญญาณเรียบที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง 
  5. ตัวนำมีการออกแบบให้มีขนาดความโตของหน้าตัดและปริมาณที่แตกต่างกันเพื่อให้ความเร็วของสัญญาณที่เดินในย่านความถี่หลัก (ต่ำ/กลาง/สูง) มาถึงพร้อม ๆ กัน (Time, Phase) และสมดุลกัน (Balance) ในข้อ 4 และ 5 นี้ รวมไปถึงชนิดของวัสดุตัวนำที่เลือกใช้อีกด้วย
  6. ฉนวนเลือกชนิดที่ให้ผลสมดุลกับตัวนำ ไม่เป็นตัวขัดขวางคุณสมบัติที่ดีของตัวนำเสียเอง
  7. มีกระเปาะเพื่อใช้ปรับมวลของสาย หรือเรโซแนนซ์ทางกล

อุปกรณ์เสริม EDL ได้ถูกนำมาใช้งานในห้องฟังราว 3 เดือน ซึ่งกว่าจะมาครบ ๆ พร้อม ๆ ก็ใช้เวลาประมาณหนึ่ง ประกอบด้วย… ปลั๊กพ่วง EDL, สายไฟ EDL รุ่น Ultramag Mk 6 (สามกระเปาะ) สำหรับเพาเวอร์แอมป์ และรุ่น Mk 3 สำหรับฟรอนต์เอนด์, สายนำสัญญาณ XLR EDL รุ่น Ultima 6 Supreme ที่มีการฝังแม่เหล็กไว้ที่หัว XLR ฟินิชชิ่งของขั้วต่อนี่สุดหรูหราแน่นหนาแข็งแรงมาก 

ผลการรับฟังนี่ต้องขอบอกว่า EDL เป็นสายที่อยู่ในระดับอุดมคติ (ในวันนี้) ที่ผมยกย่อง! ยังไงครับ?

เมื่อซิสเต็มคุณอยู่บนมาตรฐานที่ดีแล้ว ผมไม่ต้องการให้อุปกรณ์เชื่อมต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายไฟฟ้า ซึ่งผมจัดให้มีอิทธิพลสูงสุดของระบบสายเชื่อมต่อมาบิดเบือนคาแรกเตอร์ของอุปกรณ์หลัก กล่าวคือ เสียงของซิสเต็มเป็นแบบนี้ มันสามารถผลักดันให้ผมเห็น “ศักยภาพสูงสุด” ที่เครื่องเสียงนั้นพึงจะให้ตัวตนและสมรรถนะของมันออกมาได้แบบหมดเปลือก ทั้งข้อดี และข้อด้อย แต่คุณลักษณะทางเสียงที่ผมหาไม่ได้จาก “สาย” ที่มีผลต่อเครื่องเสียงทั้งระบบ คือ “บรรยากาศของความเงียบ” ครับ ขอขยายความสักเล็กน้อย

ปรกติเวลาเราฟังเพลง หากจะตรวจดูว่า เครื่องเสียงเราให้ความเงียบหรือแบ็กกราวด์น้อยส์ของระบบมากน้อยอย่างไร เราสามารถเอาหูของเราแนบไปที่ทวีตเตอร์ จะชิดหรือห่างก็ว่ากันไป ในขณะที่หรี่/เพิ่มวอลลุ่ม โดยไม่กดเพลย์ ในกรณีนี้ ผมใช้หลักการเดียวกัน แต่เนื่องจากซิสเต็มที่ผมใช้เป็นระบบแบบบาลานซ์ทั้งหมด แบ็กกราวด์น้อยส์เงียบในระดับที่น่าพอใจมากอยู่แล้ว แต่ที่บอกว่า “บรรยากาศของความเงียบ” ที่ได้จาก EDL มันเหมือนกับคุณฟังเครื่องเสียงที่คุณเคยฟังในห้องคุณนั่นแหละ แต่ฟีลเหมือนการฟังในห้องตอนตีสอง เย็น สงบ ไฟสลัว และ “ปิดแอร์ฟังเพลง” ใช่ครับ EDL มันให้ฟีลนั้น!!! มันปรับฟีลและอารมณ์ในการรับรู้ให้ผม สงบ มีสมาธิ และเงียบจริง ๆ ราวกับรอการกดเพลย์ รอไดนามิกส์ที่นักดนตรีปลดปล่อยออกมา มันทำให้ S/N Ratio ของดนตรีในห้องฟังของผมมันมากขึ้นไปอีก ที่แน่ ๆ ความเงียบที่ว่าไม่ได้มาจากการ “แดมป์” ให้เสียงมันมาในโทนมืดเลย

ผมไม่อยากเชื่อว่า การรบกวนที่แฝงมากับสายไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่ผมอธิบายได้และอธิบายไม่ได้ จะให้ประสบการณ์ระดับนี้กับผมได้ แบบที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน

การทดสอบ

เริ่มจากสายไฟ EDL ที่ต่อเข้ากับเครื่องเล่นซีดี Tascam: 901 Mk II Professional ที่วางบน Alto-Extremo: Equipment Feet และสายนำสัญญาณ EDL Ultima 6 Supreme Balanced (ยืนพื้นและยอดเยี่ยม) เข้ามาที่ Accuphase: E-650 Integrated Amp Class A ผ่านสายไฟ EDL: Ultramag Mk 6 ที่ต่อผ่านปลั๊กพ่วงของ EDL เช่นกัน ขับลำโพง ProAc: Response 4, JBL: S2600 และ Celestion: SL700 ขอขยายความ ดังนี้…

อันเนื่องจากเครื่องเล่นซีดี Tascam: 901 Mk II ใช้งานในสตูดิโอ ตัวถังไม่ได้มีน้ำหนักมากนัก เน้นความเที่ยงตรงและแม่นยำจากภาคกลไกขับเคลื่อนและภาค DAC ในการอ่านและแปลข้อมูล   คาแรกเตอร์ของมันออกมาในโทนที่เป็นกลางอย่างมาก ไม่ให้โทนที่อุ่น นุ่ม หรือ เย็น ช้าหรือเร็ว ทรงพลัง หรือไปทางลีลาอะไรเลย ในแง่นี้ต้องบอกว่า มันขึ้นกับแผ่นที่บันทึกมาโดยแท้ คือ EDL บ่งบอกว่า เจ้าเครื่องเล่นซีดีตัวนี้ มันไม่มีเสน่ห์ดึงดูดทางเสียงอะไรเลย หรือมากพอที่จะบ่งบอกคาแรกเตอร์ได้ชัดเจน ความดีของมันคือ ถ้าแผ่นมันบันทึกออกมาดี มันก็ออกมาดี สิ่งที่จะฟ้องเจ้าเครื่องเล่นซีดีตัวนี้ คือ คุณภาพของ Chassis หรือ ตัวถัง ที่ไม่ได้สนับสนุนให้ “ฐานของเสียง” สร้างคาแรกเตอร์ให้เสียงมีความอิ่มหรือหนักแน่น ให้มีเสน่ห์ชวนฟังแบบเครื่องเล่นไฮเอนด์ในโฮมยูส 

สำหรับอินทิเกรตแอมป์แอมป์ Accuphase: E-650 ต้องเลือกซีเล็กเตอร์บาลานซ์ให้ invert phase สาย EDL บ่งบอกว่า นี่คือ Accuphase ในยุคใหม่ ถ่ายทอดเสียงกลางที่มีความสด ให้ความเที่ยงตรงในแง่ของสเกลและความเร็วดีกว่ายุค 10 ปีที่ผ่านมาของค่ายอย่างชัดเจน โดยยังคงลีลาออดอ้อนของเสียงร้อง ซึ่งบ่งบอกคาแรกเตอร์ประจำตัวของค่าย ความหวานและใหญ่ของเสียงกลางลดทอนลงไป ได้ความสดและรายละเอียดในการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นมา เบสของ E-650 ไม่เน้นพละกำลังที่ปริมาณ ให้ความลึกและสะอาดควบคุมได้ดี แบ็กกราวด์น้อยส์สงัดมาก  ให้รายละเอียดของเสียงดี และทอดตัวมากกว่า Class A รุ่นที่ผ่านมาชัดเจน โดยเฉพาะที่ความถี่สูง นั่นคือ สิ่งที่ EDL กำลังนำเสนอ “ศักยภาพและตัวตน” ของ Accuphase: E-650 ออกมาครับ

เมื่อเล่นกับอินทิเกรตแอมป์ LFD: NCSE HR หนังคนละม้วนเลย EDL บอกผมว่า เจ้า LFD นี่ มันให้เสน่ห์ของเสียงกลางที่ให้โทนัลบาลานซ์ของเสียงกลางที่กินย่านกว้างมาก เรียกว่า เอากันตายเลย ลื่นมาก สะอาดมาก กลมกล่อมชวนฟังสุดๆ  พลังแฝงในแอมป์ตัวนี้ เลือกที่จะปลดปล่อยพลานุภาพตั้งแต่เสียงต่ำย่านกลางจนถึงเสียงกลางย่านสูงถึงขีดสุด คุมโทนหรืออารมณ์ในการฟังให้สมดุลแบบไม่ตกหล่นหรือขาดเกิน หากเล่นกับทวีตเตอร์พวกเพชรหรือเบอริลเลี่ยม อาจจะได้ความรู้สึกว่าถูกขัดเกลา (โรลออฟ) ความถี่สูงไม่ให้กระจายละลายในอากาศในระดับฮาร์โมนิกส์ที่ 4 กระมัง คือ ได้น้ำได้เนื้อสวยงามมาก (บททดสอบอยู่จะใน WJ117 ครั้งหน้า โปรดติดตามครับ)  

เมื่อใช้ Accuphase และ LFD กับลำโพง ProAc: Response 4 สาย EDL บ่งบอกความสุดยอดของเสียงกลางและมิติซาวด์สเตจที่เป็นจุดที่ดีที่สุดของลำโพงในค่ายนี้ รายละเอียดของเสียงกลางไม่มีตกหล่น แม่นยำเที่ยงตรง และขอยกให้เป็นลำโพงที่ให้เสียงกลางที่ผมชอบมากที่สุด (เบสยังไม่ลงตัวกับห้องผมเท่าไหร่ คือต้องการอากาศหายใจมากกว่านี้ เมื่อเทียบกับ B&W: 800 D2 และ Wilson Audio: MAXX3 ที่ลงมากกว่า) ครั้นเมื่อเชื่อมต่อกับลำโพง Celesion: SL700 สาย EDL ก็จะบอกผมว่า รายละเอียดของเสียงกลางลดลงไปจาก ProAc: Response 4 ไปพอสมควร (คือถ้าไม่เทียบกับ ProAc ก็จัดว่าดีมากแล้ว) ในขณะที่ลำโพงตู้อะลูมินั่มใช้กับขาตั้งเดิม ให้พลังของเบสเด็ดขาด อิมเมจและซาวด์สเตจ ยอดเยี่ยมมาก โดมอะลูมินั่มให้เสียงละเอียดยิบที่ปราศจากคู่แข่งโดยสิ้นเชิง(ในยุคนั้น) เมื่อเทียบกับทวีตเตอร์ยุคนี้ ข้อเสียเปรียบคือ ถ้าแอมป์ที่นำมาขับ คุณภาพไม่ถึง ทวีตเตอร์ของมันจะฟ้องด้วยอาการเสียงจัดหรือหยาบ โอเค! มันไม่ได้ให้ความเข้มข้นของพลังงานเทียบเท่ากับ Dynaudio หรือ Totem Acoustic แต่มันก็มีกลิ่นอายของ ProAc: 1SC อยู่บ้าง และความพลิ้วในลีลาการนำเสนอของมันก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับแนวหน้า แม้จะนำมาเทียบกับลำโพงในยุคนี้

เมื่อผ่านลำโพง JBL: S2600 สาย EDL จะฟ้องออกมาว่า นี่เป็นลำโพง Horn ที่ให้คาแรกเตอร์แบบ JBL Horn สมัยใหม่ หากจะฟังในแนวย้อนยุคกว่านี้ นาย WJ ต้องเปลี่ยนไปใช้แอมป์หลอดยุค 70’s และใช้ Thorens: TD124 เป็นฟรอนต์เอนด์ ณ บัดนั้น แหม! มันช่างรายงานออกมาแบบไม่เกรงใจกันบ้างเลย (แต่ก็จริงนะ ฟังด้วยแผ่นเสียง JBL ดูจะไปได้ดีกว่า)

สรุป

หากจะนิยาม ว่าสาย EDL มีลักษณะอย่างไร?

EDL เป็นอุปกรณ์เสริมที่ “ปลดเปลื้อง” ตัวตนและศักยภาพสูงสุด เท่าที่อุปกรณ์หลักที่คุณใช้อยู่นั้นจะให้ออกมาได้ ซึ่งต้องขอบอกว่า มันทำตัวให้มีความเป็นกลาง เป็นอิสระจากการรบกวนจากคลื่นรบกวนต่าง ๆ เรโซแนนซ์ต่าง ๆ ถูกจูนอัพมาอย่างพิถีพิถัน การจัดการการนำสัญญาณหรือพลังงานไฟฟ้าของตัวนำ ให้เดินทางไปในเส้นทางเดินที่เรียบที่สุด คือ เร็ว-ช้า อยู่ที่การดึงกำลังของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อ แต่คุณแน่ใจได้ว่า ในทางสัญจรจะไม่มีคำว่า Side Track สะดุด มึนงง หรือ ช้า-เร็ว มันเป็นธรรมชาติของมัน เมื่อ EDL ถูกใช้ในทางเดินไฟฟ้าและสัญญาณทั้งระบบ  คุณจะรู้สึกถึงการ In-Phase ของระบบ และความ “เงียบ” ในประสบการณ์การฟังอีกระดับที่คุณหาไม่ได้จากอุปกรณ์เสริมชนิดอื่น มันไม่เข้าไปเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของเครื่องเสียงในระบบ แปลว่า ตัวมันเองไม่ได้ทำหน้าที่ “แม็ตชิ่ง” ให้กับระบบ มันเป็นตัวเปิดเผย “ศักยภาพและตัวตน” ของระบบมากกว่า หากจะลงทุนให้ EDL เป็น Reference Accessories ก็เหมาะสมมาก เข้าใจว่าขณะนี้ยังหาวิธี Optimum ราคาสายลำโพง EDL ยังไม่ได้เลย คือตัวต้นแบบออกมาแล้ว แต่ยังหาราคาที่เหมาะสมไม่ได้ คือ ยังมีราคาแพงมากอยู่

สายนำสัญญาณ XLR Ultima 6 Supreme ให้ข้อสังเกตที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ นอกเหนือจากแบคกราวด์ที่มืดสนิทเช่นเดียวกับคาแรกเตอร์ของสายไฟ Ultramag Mk 6 มันให้ไดนามิกที่รู้สึกแม่นยำเที่ยงตรงที่ไม่รู้สึกว่ารุกล้ำหรือเน้นย้ำ คมชัด จนขาดการไล่ลำดับความตื้นลึกอ่อนแก่ตามรสชาติที่ทำให้ผู้ใช้งานหันกลับไปหาสายนำสัญญาณแบบซิงเกิลเอนด์ มัน เอ่อ! ประดุจทากาวไว้ ไม่อยากจะถอดเลยพับผ่า

หากงบประมาณไม่ใช่ปัญหา WJ ขอแนะนำระบบสาย EDL เป็น Reference อย่างยิ่ง และพบกับสาย EDL ในงาน BAV Hi-End Show 2024 ที่โรงแรม Bangkok Marriott Marquis ซอยสุขุมวิท 22 ครับ นี่ก็มาอีกเส้น สายดิจิทัลระดับ Reference ส่งมาให้เล่น คงจะมีต่อภาค 2 ครับ กับสาย EDL ตอนนี้ขอเซ็ต DAC ให้เข้าระบบก่อน แล้วจะอัพเดตอีกที สวัสดีครับ. ADP

สาย ULTRAMAG 6 (15A) ราคา 250,000 บาท
สาย ULTIMA 6 SUPREME ราคาสอบถามเพิ่มเติม

ผลิตและจัดจำหน่าย
Exotech Design Lab
โทร. 0986145156
Line: 0986145156

#AudiophileVideophile
#ExotechDesignLab
#EDL