ใครว่าผมสายอะนาล็อก?  ไม่จริงๆๆ

แล้วทำไมผมไม่ชอบดิจิทัล???  เบื่อหน่อยก็ต้องทนอ่านนะครับ

มันเป็นเรื่องวิถีการดำเนินชีวิต การใช้ชีวิต วิธีคิด และกระแส ซึ่งมันย้อนแย้งกับตัวตนของผม ก็เท่านั้น!!!

ผมเคยได้รับคำถามเกี่ยวกับเครื่องเสียงชุดสุดท้าย และผมก็เคยให้คำตอบไปว่า ก็คงมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง 1 ตัว ปรีหลอด 1 ตัว ซิงเกิลเอนด์อินทิเกรตแอมป์ 1 ตัว และลำโพง 1 คู่ ครั้นจะบอกว่าสูงสุดคืนสู่สามัญคงจะไม่ใช่ เพราะสูงสุดมันไม่เคยมีอยู่จริงในกระแสโลก 

ผมคิดว่าเราอยู่ในกระแสแห่ง “ภาพลวง” จนผิดเพี้ยนไปหมด  การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลซึ่งมากับคอนเซปต์ที่ดีก็กลายเป็นวงแชร์ที่เล่นกันทั่วโลกและจบลงไปพร้อมกับบาดแผลและซากศพมากมาย ส่วนเท้าแชร์ก็ฟ้องล้มละลายไปตามระเบียบ เงินที่ลงทุนไปในกระดานคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่ามหาศาล ท้ายสุดยังไม่มีแม้แต่ใบหุ้นเหลือให้ปลวกแทะ

กลับมาที่เครื่องเสียงหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เราอยู่ในยุคที่ถูกมาเฟียชักนำ กวาดต้อน และอาจจะถึงขั้นจำยอมให้ถูกว่ายไปท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากโดยไม่รู้ตัว แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้กล่าวว่า ทุกครั้งที่โทรศัพท์ผลไม้ออก OS ใหม่ จะมากับฟีเจอร์ที่สั่งให้เครื่อง (เก่า) ของท่านลดประสิทธิภาพหรือความเร็วในการประมวลผลและการจัดการพลังงานที่แย่ลงไป เพื่อเวลาออกสินค้าตัวใหม่ที่กำหนดให้ออกทุกปี (และดันให้การขายเติบโตขึ้นทุกปี) ลูกค้าจะได้เห็นถึงความแตกต่างในด้านความเร็วชัดเจนมากขึ้น และทุกการเชื่อมต่อจะรายงานพฤติกรรมผู้ใช้งานกลับไปเก็บเป็น Big data เพื่อเอามาประมวลผลและวิเคราะห์ นำไปสู่ความสามารถในการดูดเงินในกระเป๋าเราซึ่งแม้แต่จะจ้างคนยังไม่เอา ใช้ AI ทำงานแทน และมีดัชนีชี้ชัดว่า อายุการใช้งานของอุปกรณ์จะมีอายุสั้นลงไปจาก 10-7-5 ปีตามลำดับ ด้วยกลไกการอัพเดต OS ที่ติด Bug มาให้เป็นของแถม  ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะพบว่า อายุการใช้งานของสินค้าไฮเอนด์อาจจะอยู่ที่ 3 ปีเท่านั้น และจะไม่มีแม้กระทั่งอะไหล่ในการซ่อมแซมด้วย

ส่วนเครื่องเสียงนั้น แผ่นซีดีหรือแผ่นเสียงที่เก็บข้อมูลถูกยกเลิกไปแล้วเพราะไม่มีการผลิตหรือมีก็จัดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะผู้ผลิตได้ลงทุนไปกับระบบการจัดเก็บหรือคลังพัสดุเพลง ผมเรียกว่า นาย ก และให้ตัวกลางหรือผู้ออกแบบระบบการ “เบิกสินค้าคงคลัง” เป็นผู้บริหารจัดการและเก็บเงิน ผมเรียกว่า นาย ข   ซึ่งผู้บริโภค คือ นาย ค จะเป็นผู้ติดต่อซื้อบริการกับนาย ข ส่วนนาย ข กับ นาย ก ตกลงกันว่า สินค้าที่มีอยู่ในคลังพัสดุ จะเป็นระบบเช่าใช้เท่านั้น  และในขณะเดียวกัน นาย ก ก็จะเป็นผู้เจรจานำสินค้ามาเก็บไว้ในคลังพัสดุ ซึ่งผู้จำหน่ายสินค้า ก็คือ ศิลปินและค่ายเพลง

ทีนี้ กระผม ซึ่งก็คือ นาย ค ก็จะต้องเช่าซื้อสัญญาณจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือนาย ง เช่น  AIS, True, TOT  เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาณก่อน  มีระดับความเร็วให้เช่าไปตามเรื่องราว (บ้านเรา สคบ ไม่ได้ควบคุมผู้ให้เช่าสัญญาณในการการันตีความเร็วกับผู้เช่า) จากนั้น เราก็ต้องมีตัวจ่ายแจกสัญญาณ (เหมือนปลั๊กพ่วงไฟฟ้า แต่เป็นปลั๊กพ่วงสัญญาณ ผมขอเรียกว่า นาย จ) เข้าไปที่ตัวรับสัญญาณซึ่งในที่นี้ คือ Network Streamer (พอจะเข้าใกล้เครื่องเสียงละ)  ตัว Network Streamer นี่เอง จัดเป็น Front End ของระบบการเล่นกลับด้วย Format Digital Streamer นั่นเอง  เราก็จะเรียกมันว่า นาย A สำหรับนาย A นี่ เรามีให้เลือกว่า จะให้มันรับ Digital Stream Data แล้วมีภาค DAC ในตัวส่งเป็น Analogue Output หรือจะให้ออกเป็น Digital Output แต่นั่น เรายังฟังอะไรไม่ได้

เราต้องลงทะเบียนเช่าซื้อบริการกับนาย ข ให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งจะมีให้เราเลือกว่า ความละเอียดของข้อมูลที่เราต้องการเช่าซื้อ จ่ายคนละราคา ค่าบริการของนาย ข เช่นจะจ่ายกันรายเดือน รายปี หรือตลอดชีพ  จ่ายด้วยการหัก บ/ช บัตรเครดิต (ส่วนใหญ่จะถูกอัตโนมัติ) จากนั้น มันจะถูกโยงใยกับอุปกรณ์ นาย A แล้วถ้าการ Configuration เรียบร้อยดี คุณก็ควรจะได้ยินเสียงออกมาละ 

ทีนี้ เรามาที่ข้อดี ของการเล่น Digital Streamer กัน

  1. มีเพลงในคลังพัสดุให้เช่าฟังมากมายเป็นล้านๆ รายการ ทั้งความละเอียดสูงและความละเอียดต่ำ
  2. สามารถจัดทะเบียนรายการเช่าฟังเก็บไว้ในอุปกรณ์พกพาของเรา ตามใจชอบ
  3. ทะเบียนรายการตามข้อ 2 สามารถส่งต่อให้ผู้อื่น และพกพาไปใช้กับอุปกรณ์นาย A ในจุดอื่น ๆ ได้
  4. ทะเบียนรายการตามข้อ 2 สามารถเข้าถึงและค้นหาได้เร็ว และมีรายละเอียดของอัลบั้มนั้นด้วย

ข้อเสียที่ผมไม่ชอบ  

  1. พันธะกับนาย ง ซึ่งไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ ทั้งแบนด์วิดท์และความมั่นคง (ติดๆ – ดับๆ) โดยที่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า  ที่สำคัญ ไม่พบว่า ช่วง downtime หรือ speed down เราจะได้เงินคืน
  2. พันธะกับนาย ข หรือพันธมิตรที่เมื่อไหร่ธุรกิจเริ่มไม่คุ้มทุน ก็พร้อมจะไปแบบบิทคอยน์ โดยที่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
  3. ทะเบียนรายการตามข้อ 2 เมื่อทำการเรียกเพลงผ่านนาย ข ไปที่นาย ก  เมื่อไหร่ถ้านาย ก คุยกับผู้จำหน่ายสินค้า คือศิลปินและค่ายเพลงไม่รู้เรื่อง หรือหมดสัญญา ทะเบียนรายการที่คุณมี มันก็เรียกมาฟังไม่ได้ โดยที่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
  4. ที่จริงการทำทะเบียนรายการตามข้อ 2 มันก็คือ เพลงที่เราชอบฟังและฟังบ่อย  มันก็ทำให้จุดขายตามข้อ 1 เป็นแค่ฟีเจอร์เสริมไป บ่อยครั้งเพลงที่เราชอบฟังไม่อยู่ในคลังสินค้าของนาย ก และนาย ก หรือ นาย ข จะบอกว่า ฟังเพลงอื่นแทนสิ คือตรูอยากกินไก่ผัดกะเพราแต่บอกว่าเอาสเต๊กไก่แทนได้ไหม เอิ่ม มีใกล้เคียงกว่าก็ไก่ผัดกระเทียมจะรับไหม
  5. เมื่อไม่มีอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ โครงข่ายรองรับไม่ได้ หรือไม่มีโครงข่ายความเร็วที่สูงพอ ความได้เปรียบในข้อ 3 จะหมดไป  ค้างจ่ายค่าโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตแพ็กเกจก็อดฟังเพลงไป
  6. อุปกรณ์เชื่อมต่อนาย จ ที่ได้จากนาย ง ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ คุณภาพอุปกรณ์เชื่อมต่อขึ้นอยู่กับผู้จำหน่ายรายใดที่ชนะการประมูลจากนาย ง

เอาจริงๆ ข้อเสียมันมีมากกว่านั้น แต่โดยสรุปความก็คือ ถ้าผมนึกอยากจะฟังเพลง เพื่อตอบสนองความอยากนั้น มันควรจะเป็นผมที่เป็นผู้กำหนดหรือควบคุมในสิ่งที่ผมจะฟัง ไม่ใช่นาย ก นาย ข นาย ง มากำหนดหรือควบคุม และการ Configuration ของอุปกรณ์เชื่อมต่อสำหรับผม ผมคิดว่ายังไม่ง่าย ถ้าสแกนแล้ว Config เองทั้งหมด ถึงจะเรียกว่าง่าย สำหรับการทดสอบ Nimitra จึงตกเป็นภาระของผู้จำหน่ายมาเซ็ตอัพให้ผมทั้งหมด อุปกรณ์เชื่อมต่อของ Streamer ได้แก่ สาย Lan Cat 6 จาก AIS Router มายังห้องฟัง Ultimate Judge ปลายสาย Lan ต่อที่ Network switch และมาที่ Nimitra ตามลำดับ

ดังนั้น การทดสอบเจ้า Nimitra ที่ถือว่าเป็น Front End ของระบบนี้ ผมขอละความเป็นตัวตน ที่ “ไม่ชอบ” การเล่นในรูปแบบนี้ แล้วมาโฟกัสว่า “เสียงที่ได้ฟัง” จากการเล่นในรูปแบบ “Digital Data Streaming” ว่าอยู่ในระดับ “ไฮเอนด์” แล้วหรือยังเท่านั้น เข้าใจตรงกันนะครับ

เซ็ตอัพ

เนื่องจาก Nimitra ไม่มี DAC ในตัว โดยเหตุผลของผู้ออกแบบกล่าวไว้ว่า DAC ในท้องตลาดคุณภาพสูงหาได้ง่าย แต่ Streamer คุณภาพสูงต่างหากที่หาได้ยาก จึงต้องทำขึ้นมาขาย จาก Nimitra จึงใช้การเชื่อมต่อไปยัง DAC ของ Meridian 818 Reference Core 2 เส้นแบบ Digital Data คือใช้ สาย Lan และสาย USB ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ 2 ช่องสัญญาณ จาก Meridian 818 ใช้ XLR Analogue O/P ไปยัง NAT Magnetic Reference Pre-Amplifier แล้วต่อ XLR O/P ไปที่เพาเวอร์แอมป์ Constellation Centaur แล้วขับลำโพงปลายทาง ตั้งแต่ Celesion SL700 และ ProAc Response 4  ส่วนอุปกรณ์ไวริ่ง ค่อนข้างจะหลากหลาย ตัวนำสัญญาณ XLR Nordost Tyr2 สายลำโพง QED Genesis Silver Spiral Biwire Jumper JPS Aluminata รองสายด้วยไม้แท่งกับโฟมรองสายของ Shunyata  สายไฟหลักใช้ Cardas Golden Reference

สำหรับนาย ข ผมมีบัญชี ROON ซึ่งเชื่อมต่อกับ Tidal ทำให้ผมเลือกใช้ทะเบียนรายการเช่าฟังที่ใช้อยู่ได้เลย (ยังไงผมก็มีบัญชีรายเดือนอยู่ดีแหละ เกลียดตัวแต่ก็กินไข่ โบราณว่างั้น) ถือว่าเป็นข้อดีครับ เอาล่ะ พอแล้วกับ นาย ก ข ค ง จ เริ่มมึน พร้อมแล้ว เริ่มเลย !!!

ในระหว่างการฟัง Playlist หลังจากเซ็ตอัพและทดสอบด้วยอัลบั้มเดียวกันแทร็กเดียวกัน สลับ Input ที่ Meridian 818 ระหว่าง USB และ SLS(Sooloos) ซึ่ง Nimitra สามารถส่งข้อมูลดิจิตัลไปให้ Meridian ประมวลผลทั้ง 2 รูปแบบ สรุปว่า USB เป็นช่องจราจรและประมวลผลที่ดีที่สุดอย่างชัดเจน  แน่นอนว่าผมไม่อาจบรรยายภาษาทางดิจิทัลเทคนิคได้ จึงใช้ USB เป็นการประเมินคุณภาพเสียง Nimitra ครับ

เริ่มจาก Bonnie Koloc อัลบั้ม Visual Voice  เสียงร้องของเธอ บัดนี้ได้มาสถิต เปล่งเสียงก้องกังวานในห้องผมดั่งตัวตนมาร้องให้ฟังอยู่ตรงหน้า สดมาก การเชื่อมต่อ บรรยากาศความกังวานหรือฮาร์มอนิกส์ระหว่างเสียงร้องและเสียงดนตรี ถูกเชื่อมถึงกันบางๆ และเว้นระยะด้วยช่องไฟ นี่แหละ… สำคัญตรงนี้  ดิจิทัลฟรอนต์เอนด์ที่หลุดพ้นความเป็นดิจิทัลนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจและคลื่นเสียงซึ่งจะต้องกลืนกันในขณะที่ต้องมีช่องไฟ  ไม่ห้วน ไม่หักล้าง ไม่เด่น แต่กลมกลืน อารมณ์แบบนี้แหละครับที่ดิจิทัลหรืออะนาล็อก ไม่มีความจำเป็นในการบรรยายหรือชี้ชัด สิ่งที่ได้ยินคือ ดนตรีสดๆ เท่านั้น ที่ดีที่สุด เท่าที่เครื่องเสียงของเราจะให้ได้ ได้พร่างพรูออกมาอย่างหมดจด  ความเกลี้ยงเกลา สะอาด ให้ความรู้สึกจมดิ่งและอิ่มเอิบไปกับการร้องของเธอ จังหวะและเบส ให้ความแม่น ไม่ตึงหรือหย่อน มันพอดีๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็ก เครื่องเป่าเมื่อต้องแผดเสียงดุดันก็ถึงใจ บทจะวกวนอ้อล้อก็ติดตามลีลาการเคลื่อนไหวไปตามช่องลม นี่ยิ่งทำให้ผมประหลาดใจมากว่า เจ้าลำโพง Celestion SL700 นี่มันให้คุณภาพระดับนี้ได้อย่างไรกัน?

Famous Blue Raincoat 20th Digital Remastered ผ่าน Nimitra สิ่งที่ประเมินถึงความยอดเยี่ยมคือ เสียงลมหายใจของเจ๊หวานที่สามารถรับรู้ถึงภาวะการสูดลมจากห้องอัดเข้าปอดก่อนจะเปล่งออกมาจากลำคอผ่านริมฝีปากออกมา ภาวะสภาพการบีบอัดของลมเสียงที่ร้องออกมา เมื่อรวมกับเส้นสายของเบสที่มีเสียงดีดตัวลงบนฟิงเกอร์บอร์ด ออกอาการฟ้าหม่นจากการหน่วงสาย เสียงเครื่องเป่าแผดจ้าแบบแสงอาทิตย์ที่ราวกับกำลังถูกเมฆฝนบดบังและฉายแสงลดเลี้ยวสร้างความแตกต่างท่ามกลางโทนทะมึนทึบของเบส  สาธยายความอันดื่มด่ำงดงามนี้ เกิดขึ้นเพียงช่วงอินโทรของเพลง Famous Blue Raincoat เพียงไม่ถึง 45 วินาที เมื่อเสียงเปียโนพรมลงมาก็คือฝนลงเม็ดนั่นแหละ โทนดนตรีสวยงามมาก  ฟังอย่างไรก็ไม่เบื่อเลยครับ แล้วมันจะต้องอะนาล็อกหรือดิจิทัลล่ะ? เมื่อมันถึงจุดที่ได้ฟิลลิ่งแบบนี้ ก็ต้องขอชมกันตั้งแต่ผู้ Arrange ดนตรี ผู้ขับร้อง นักดนตรี ผู้บันทึกเสียง แล้วสุดท้าย เครื่องเสียงในระบบที่เล่นกลับนี่เอง โดยให้เครดิตที่ต้นทาง Nimitra และองคาพยพทั้ง Network Switch + power supply ด้วย เพราะถือว่าเรากำลังทดสอบมันอยู่

Stories for the Steeples โดย Mary Black อัลบั้มนี้ Nimitra ยังคงให้โทนที่รู้สึกได้ถึงไดนามิกส์ที่อั้น เช่นเดียวกับฟอร์แมตซีดี คือความสะอาด ความละเอียด ยังไม่ถึงระดับไฮเรส (เป็นที่มาสเตอร์ 16 บิต) แต่ถึงกระนั้น มันไม่ได้ย่อหย่อนในแง่การนำเสนอพื้นฐานอันสวยงามของเพลงลงไปได้เลย ตรงที่การถ่ายทอดความเศร้า ความหวัง ผ่านเสียงร้อง Mary Black การเรียบเรียงดนตรี จังหวะ ความแม่นยำ ความสด ที่ดูจะเป็นการตอกย้ำว่า Streamer ตัวนี้ หลุดพ้นตัวตนของฟรอนต์เอนด์ดิจิทัลโดยสิ้นเชิง เธอยังคงสะกิดตาปลาให้ผมน้ำตาซึมทุกครั้งที่ได้ฟังเธอขับร้องผ่านซิสเต็มที่เซ็ตอัพได้ดี เพราะมันเจ็บแปลบเข้าไปในหัวใจทุกครั้ง (แต่ก็ยอม) มันทำให้เราแกร่งขึ้น ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์ Cast Away ของ Tom Hank ตอนจบที่เขาปรับทุกข์กับเพื่อนของเขา ว่าตอนนี้เขารู้สึกเหงามากกว่าอยู่บนเกาะเสียอีก (ขยายความก็คือ การได้อยู่คนเดียวบนเกาะกับนางเอกที่เป็นล็อกเกตห้อยคอของตัวเอง ยังไม่เหงาเท่ากับการที่ได้เจอนางเอกตัวเป็นๆ แต่นางเอกกลับไปอยู่กับคนอื่นซะแล้ว) มันให้อารมณ์ที่สื่อความจับใจประมาณนั้นแหละ คือถ้าเครื่องเสียงไหนมันสื่อความทางบทเพลงได้ชัดเหมือนเราดูหนัง ก็นั่นแหละครับ (นิมิตร) Nimitra

ขอจบกับ The Man From God Knows Where ของพ่อ Tom Russel อันนี้ โหดร้ายเข้าไปใหญ่  เสียงกีตาร์ชัดเจน ดุดันแบบการเล่นสไตล์คันทรีโฟล์ค อิมแพ็ก หางเสียง คม ชัด (ไม่ใช่บาดหูนะ หมายถึงฝีมือนักเล่นกีตาร์ฝีมือดีมาก โน้ตคมกริบ) เสียงนักร้องชายเสียงอิ่ม อุ่น มีเสน่ห์ และให้บอดี้ต่อเนื่องแบบนักร้องหนึ่งคนร้อง (ไม่รู้จะบรรยายยังไง)

ความหมายคือ ไดนามิกส์คอนทราสต์ตั้งแต่ต่ำถึงสูงมันให้ความละเอียดยิบกลมกลืนเป็นมนุษย์คนเดียวกัน  นักร้องเขาไล่โทนเสียงในแง่นี้ดีเยี่ยม เพลงง่ายๆ นี้ได้เปลี่ยนบรรยากาศในห้องฟังเป็นทุ่งนากว้างใหญ่และคอกม้า นี่เขาสามารถอัดเสียงม้าร้องเข้ามาก็ได้นะ โดยใช้เทคนิคขยุ้มสายกีตาร์ คล้ายๆ หยดน้ำค้างบนยอดหญ้าที่เปล่งแสงออกมาเมื่อได้รับแสงแดด ฟังแล้วชื่นใจมาก 

นี่เป็นการกลับมาทดสอบเครื่องเสียงของ WJ ที่เรียกว่า เป็นเรื่องเป็นราวจริงจังหลังจากการว่างเว้นมาหลายปี  NImitra ทำให้การกลับมาเล่นเครื่องเสียงของผมในครั้งนี้สมบูรณ์แบบ คือหลังจากที่เซ็ตอัพให้มันเป็นส่วนหนึ่งในซิสเต็มแล้ว ผมฟังเพลง ฟังดนตรีได้อรรถรสอย่างที่สาธยายเอาไว้ ก็เลยไม่ได้สนใจว่า Front End มันคืออะไร แค่หา Playlist และอัลบั้มที่บันทึกได้ดี เราสามารถเข้าถึง “การฟังดนตรีจริง” แทนที่จะมานั่งฟังดนตรีจากเครื่องเสียงไฮเอนด์อะไรพวกนั้น

ท้ายสุด Nimitra ได้ถูกนำมา Set Up ร่วมกับลำโพง ProAc Response 4 ด้วย  สิ่งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ คือ Nimitra มีคุณภาพที่เที่ยงตรงมากพอที่จะทำให้ผมสามารถประเมิน to do list ในการไฟน์จูนลำโพง Response 4 ว่า ควรจะต้องปรับแต่งอย่างไร ผมมีคลิปเสียงแชร์ในเฟซบุ๊กเพจ Wison Wisdom Talks ลองไปฟังดูครับ แนะนำให้ฟังจากหูฟังจะได้อรรถรสที่ดีกว่า แล้วท่านจะได้สัมผัส ไดนามิกส์จากการบันทึกสด ผ่าน Nimitra และซิสเต็มประกอบครับ

สรุป

ผมไม่อาจพูดถึงเบื้องหลังและอุปกรณ์ประกอบทางเทคนิครวมถึงการเซ็ตอัพได้ อันนั้น ขอให้เป็นหน้าที่ผู้จำหน่ายและผู้ติดตั้ง

สำหรับเรื่องเสียง  ก็คงจะต้องตอบว่า มันเป็นแค่ตัวกลางส่งผ่านไฟล์ดิจิทัล ที่ถ้ามันอัดมาดี แน่นอนมันไม่ทำให้ตกหล่นหรือเป็นคอขวดซะเอง แล้วมันจะให้เสียงดิจิทัลหรืออะนาล็อก? ความปลื้มปิติและดื่มด่ำในดนตรีที่ผมฟังได้ถูกบรรยายไว้ในข้างต้นแล้ว ส่วนข้อสรุป Nimitra คือมันจะถูกบรรจุเป็น Reference ของ WJ แต่ก็ต้องว่ากันตามคิวส่งมอบนะครับ สวัสดีครับ. ADP

Fidelizer Audio: Nimitra2
ราคา 79,900 บาท

Fidelizer Audio: Nikola2 High End Linear Power Supply
ราคา 27,900 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บริษัท ฟิเดลไลเซอร์ ออดิโอ จำกัด
โทร. 084-655-3548

ผู้เขียน: วิศัลย์ เอกธรรมกุล 
Audiophile/Videophile Reviewer