เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย สภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีการขยับขับเคลื่อนในทิศทางที่ดีขึ้น ในวงการเครื่องเสียงก็เช่นกัน ทาง Hi End Audio โดยคุณมนู ได้ติดต่อผมมาถึงเรื่องที่ทางบริษัทจะเปิดตัวสินค้าใหม่หลายรายการ หนึ่งในนั้นได้แก่ครื่องเล่นแผ่นเสียงจากอังกฤษยี่ห้อ Vertere Acoustics ทำให้ผมสนใจอยากทดลองขึ้นมาทันที เพราะยี่ห้อนี้ไม่ธรรมดา เป็นผู้ก่อตั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ Roksan อันเลื่องชื่อในสมัยก่อนที่แยกตัวออกมาทำแบรนด์ของตัวเอง

Touraj Mogahaddam ชาวอังกฤษในปี 1985 ได้ก่อตั้งบริษัท Roksan ร่วมกับเพื่อนสมัยเรียน Imperial college ของเขาอีกคนหนึ่ง คือ Tufan Hashemi และได้ออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับตำนานในสมัยนั้นคือ Roksan รุ่น Xerxes เป็นที่ฮือฮาในวงการอย่างมากโดยเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ไม่ได้ใช้ระบบ spring suspension ที่นิยมในสมัยนั้น ในปี 2013 Touraj ได้เริ่มเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านบริษัท Roksan ของตนไปอยู่ในมือ Monitor Audio Group และออกมาตั้งบริษัทใหม่ของตนภายใต้ชื่อ Vertere Acoustics และในปี 2016 ก็ได้สร้างเครื่องเล่นแผ่นเสียงออกมาในนาม Vertere เป็นรุ่น RG-1 ซึ่งปัจจุบันยังเป็นรุ่นสูงสุดของ Vertere

Concept ของ Vertere ยังคงเป็นเหมือนกับสมัยของ Roksan คือการไม่ใช้ระบบ spring suspension แต่เลือกการใช้วัสดุและการใช้ rubber suspension ในการลดและสลายแรงสั่นสะเทือนแทน ในรุ่น top คือรุ่น RG-1 (RG = Reference Groove) จะเป็นแท่นที่ซับซ้อนทีเดียว มี plinth ซ้อนกันสามชั้น ร่วมกับ center plinth อีกชิ้นหนึ่ง โดยมีระบบ suspension ลูกยางที่สามารถให้ตัวได้ทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ แน่นอนว่าด้วยความเป็นรุ่น top และราคาก็จะทำให้นักเล่นทั่วไปจับต้องได้ยากสักหน่อย รุ่นที่รองลงมาที่เป็นแท่นสามชั้นเหมือนกันคือ รุ่น SG-1 (SG = Super Groove) ซึ่งเป็นรุ่นรองท็อป จุดแตกต่างอย่างแรกคือ ขนาดและการประกบชั้น platter ที่รุ่น RG จะใช้ platter ที่หนาและหนักกว่า มีองค์ประกอบที่มากกว่ารุ่น SG อย่างที่สองคือ ความเที่ยงตรงแม่นยำของ main bearing spindle ที่รุ่น RG ใช้ tungsten carbide ความแม่นยำน้อยกว่า 1 ไมครอน ขณะที่ SG จะใช้ stainless steel ความแม่นยำที่ 2 ไมครอน และในส่วนของ power motor drive ที่รุ่น RG เป็นรุ่นสูงกว่า (RG-1 reference motor drive) น้ำหนักเฉพาะส่วน supply หนัก 4 กิโลกรัม ขณะที่รุ่น SG-1 motor drive จะเล็กกว่า (1.1 กิโลกรัม)

รุ่นถัดลงมา จะเป็นรุ่น plinth สองชั้น คือรุ่น MG-1 (MG = Magic Groove) น่าจะเป็นรุ่นที่นักเล่นทั่วไปสามารถซื้อหาได้ และได้รับรางวัลจากนิตยสารอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นคือ Stereo Sound โดยในปี 2021 ได้รางวัลทั้ง HI-FI Grand Prix Award และ Best Buy Award ในฐานะ the Record Player of the year เลยทีเดียว ซึ่งเป็นรุ่นที่ผมได้รีวิวครั้งนี้ มาพร้อมกับอาร์มรุ่นใหม่ (SG-1 PTA arm) และ Power Supply รุ่นใหม่ (Tempo drive) พวกอาร์มกับ Power Supply ของเขาสามารถ swab เล่นข้ามไปมาได้ระหว่างรุ่นใหญ่สุดกับรุ่นรองๆ ลงมา

MG-1 Mk II exploration

อย่างที่เรียนให้ทราบข้างต้นว่า Vertere มีแนวคิดในการสลายแรงสั่นสะเทือนจากภายนอกที่ไม่ใช่ระบบสปริงเหมือนแท่นอังกฤษที่นิยมร่วมสมัย เช่น Linn LP12 หรือ Michell Gyrodec (ที่ผมเคยรีวิวไป) และก็ไม่ใช่แท่นตันแบบ Rega หรือ Nottingham แต่เป็นระบบที่อยู่กึ่งๆ กับทั้งสองแบบ คือการใช้ rubber suspension ในการสลายแรงสั่นสะเทือน

โครงสร้างตัวแท่นประกอบด้วยแผ่นอะคริลิกใส (ขนาด กว้าง 46.8 ซม. ลึก 38.4 ซม. ความหนา 20 มม.) สองแผ่นประกบกัน แผ่นล่างจะเป็นแท่นผืนเดียวกันตลอดทำหน้าที่ซัพพอร์ตโครงสร้างทั้งหมด แผ่นบนจะมีแบ่งสองส่วน มีแบ่งส่วนตรงกลางที่ซัพพอร์ต arm และ platter รูปวงรีๆ ในคู่มือเรียกส่วนนี้ว่า “sub plinth”  จะมีลูกยางทั้งหมด 9 ตัวทำหน้าที่เชื่อมแท่นชิ้นบนกับล่างด้วยกัน สลายแรงสั่นสะเทือน และปรับระดับของแท่นส่วนบนในกรณีที่มีการยุบตัว แต่โดยปกติเราไม่จำเป็นต้องไปปรับความตึงหย่อนของลูกยางทั้ง 9 ชิ้นนี้ เพราะเขาได้ปรับตั้งมาจากโรงงานเรียบร้อยแล้ว

จะเห็นว่า จุด suspension ทั้ง 9 จุด จะมีหัวน็อตหกเหลี่ยมให้ปรับได้ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ แท่นขนานกันดี ไม่จำเป็นต้องปรับ ถ้าจะปรับผมคิดว่าควรให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายทำมากกว่าทำเอง เพราะเดี๋ยวมั่วขึ้นมาแล้วจะหาจุดเดิมกลับมาไม่ได้ ประเด็นที่สองจากภาพทั้งสองด้านบนคือ จะเห็นว่าส่วนของ sub plinth รีๆ ตรงกลางเป็นส่วนที่ซัพพอร์ตทั้ง platter และ arm และได้รับการออกแบบให้ isolate อย่างดีจากแท่นส่วนที่เหลือด้านล่างและข้างๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ plinth แรงสั่นสะเทือนจากด้านล่างจะมาไม่ถึงด้านบน (จากการสลายด้วยลูกยาง 9 จุด) และแรงสั่นสะเทือนจากด้านบนไม่เข้าถึง sub plinth เนื่องจากไม่แตะกัน main bearing ที่ออกแบบอย่างดีก็จะเกาะอยู่กับส่วน sub plinth ไม่ถึงแผ่นล่าง และการดีไซน์การใช้งานแกน spindle ที่ไม่เหมือนยี่ห้ออื่น ที่จะกล่าวต่อไป

ตัว Main platter ทำจากอะลูมิเนียมอัลลอยอย่างดี ด้านบนประกบติดแน่นด้วยแผ่นอะคริลิกสีดำหนา 3 mm. เรื่องงานโลหะของค่ายนี้หายห่วง ทำได้อย่างพิถีพิถันมาก ตัว main bearing จะทำการหล่อลื่นมาเรียบร้อยใช้งานได้ 7 – 10 ปี ไม่ต้องถอดแกนของ main bearing เพื่อมาหยอดน้ำมันแต่อย่างใด (และเสี่ยงที่จะใส่กลับเข้าไปแบบมีรอยขูดขีดด้วย เนื่องจากการประกอบ bearing ทำอย่างละเอียดมาก gap เพียงแค่ 2 ไมครอน)

แกน Platter spindle ออกแบบให้ไม่เหมือนยี่ห้อใดที่ผมเคยเห็น จะเป็นแกนแบบเล็กกว่าปกติ คือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 มม. (ขณะที่แกน spindle ทั่วไปจะพอดีกับรูกลางของแผ่นเสียงคือแถวๆ 7 มม.) ดังนั้นเวลาวางแผ่นเสียงลงไป เพื่อจะให้แผ่นได้ center ทาง Vertere จะทำปลอกสวมแกนให้มีขนาดเท่ากับรูกลางแผ่นเสียง เพื่อเวลาเราวางแผ่นจะได้ center และยกปลอกดังกล่าวออกไปไว้ด้านข้าง (ตรงตำแหน่งประมาณ 7 นาฬิกาข้าง platter) ที่เขาจะทำรูแม่เหล็กไว้วางปลอกแกนนี้

จุดประสงค์หลักของการทำแกน platter ให้เล็กกว่าปกติ คือเพื่อไม่ให้ส่วนของแกน platter สัมผัสกับแผ่นเสียงเลย หากมีแรงสั่นสะเทือนจากด้านล่างที่ยังหลงเหลือหรือจากมอเตอร์ สั่นมาถึงตัวแกน platter ก็จะไม่ไปยังตัวแผ่นเสียง ซึ่งเป็นวิธีการออกแบบที่ฉลาดทีเดียว นอกจากนี้ทาง Vertere ยังให้ mat แบบพิเศษมาด้วยเรียกว่า technomat ซึ่งเป็นส่วนผสมของแผ่นไม้ cork ร่วมกับใยไฟเบอร์ แถม mat ยังมีการเจาะร่องให้มี air cushion อีก จุดประสงค์คงเพื่อสลายแรงสั่นสะเทือน และให้เสียงที่ color น้อยที่สุด mat นี้เราสามารถซื้อแยกเพื่อมาใช้กับแท่นอื่นทั่วไปได้ แต่เวลาสั่งต้องระบุว่าแบบแกนกลางกี่ มม. ถ้าจะใช้กับแท่นรุ่นสูงของ Vertere เอง ต้องสั่งแบบ 4.5 มม. ถ้าจะไปใช้กับแท่นยี่ห้ออื่นทั่วไป ต้องสั่งแบบ 7 มม. (หมายเหตุ มาตรฐานรูกลางแผ่นเสียงขนาด 12 นิ้วคือ 7.3 มม.)

มาถึงส่วนของ motor จะเป็นแบบ 24 pole synchronous drive มี suspension แขวนลอย 3 จุดเพื่อสลายแรงสั่นสะเทือนและให้ belt tension คงที่ สามารถปรับจูนระดับสูงต่ำของมอเตอร์ได้ (แต่ทางโรงงานปรับตั้งมาอย่างดีแล้ว) ตัวระบบแขวนลอยมอเตอร์จำเป็นต้องประกบกันสะเทือนให้ดีเวลาโยกย้ายทางไกล

เนื่องจากตัวมอเตอร์มีการ “ให้ตัว” ได้เล็กน้อย ดังนั้นในขณะทำงานเมื่อคล้อง belt แล้ว แกนมอเตอร์อาจจะไม่ตั้งฉาก อาจมีการเอียงเข้าหา main platter สักเล็กน้อย ซึ่งเป็นการทำงานที่ปกติของ Vertere

องค์ประกอบสุดท้ายที่มีความสำคัญคือ Motor Supply ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง ตัวที่ได้รับมา มาพร้อมกับ supply รุ่นใหม่เรียกว่า Tempo Motor Drive

ตัวนี้ถอดแบบวงจรมาจากรุ่นใหญ่ ทำการแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็น pure sine และ cosine wave ให้สปีดที่แม่นยำทั้ง 33.3 และ 45 rpm เวลาเรากด 1 ครั้งจะเป็นสปีด 33 กดอีกครั้ง จะเป็นสปีด 45 และถ้ากดยาวจะหยุดการหมุนของมอเตอร์ เครื่องสามารถ fine adjust ได้ที่ปุ่มด้านล่าง แต่ผมเช็คค่าก่อนใช้งานพบว่าสปีดแม่นยำไม่ต้องปรับอะไรเพิ่ม การเชื่อมต่อสัญญาณใช้สาย 5 pin ของทาง Vertere เอง ซึ่ง Vertere เขาเชี่ยวชาญในการผลิตสายสัญญาณอย่างมาก วัสดุของสายที่เขาให้มาดูดี (รวมถึงสาย tonearm ด้วย) เรียกว่าไม่ต้องหาสายยี่ห้ออื่นมาใช้แทน ของเขาให้มาอย่างดีอยู่แล้ว

Setup

ในส่วนของ Tonearm เดี๋ยวผมจะว่าในขั้นตอน setup ในส่วนนี้เลย เริ่มต้นการเซ็ตเครื่องตามมาตรฐานทั่วไปคือ การเซ็ต level ของแท่น ยิ่งเป็นแท่นที่ไม่มีระบบ suspension และอาร์มเป็นแบบ univipot แล้ว ยิ่งต้องพยายามเซ็ตให้ได้ระดับที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ตัวแท่น MG-1 นั้นมีขาปรับระดับที่สัมผัสกับชั้นวาง 3 ขา การออกแบบทำได้ดีมาก

ขาเป็นลักษณะวงแหวนสองชั้น คลายชั้นล่างก้อนใหญ่เพื่อปรับระดับ เมื่อได้ที่ต้องการแล้วก็ทำการหมุนวงเล็กเพื่อให้ล็อก ไม่มีการเคลื่อนที่ขยับคลายตัว เป็นการออกแบบที่ฉลาดและเมกเซนส์มาก เนื่องจากขามี 3 จุด ทำให้ผมต้องใช้เวลาในการปรับระนาบทุกแนวให้เป๊ะที่สุด ใช้เวลาร่วมชั่วโมงเลยทีเดียว

แนวที่ซีเรียสที่สุดในการปรับระดับคือภาพทางขวา แนวเฉียงๆ ในการเดินทางของหัวเข็มแผ่นเสียง แนวนี้ต้องเป๊ะที่สุด ถัดมาคือเรื่องของอาร์ม ที่มากับรุ่น MG-1 นี้จะเป็นรุ่น SG-1 pta arm ซึ่งเป็นลักษณะ unipivot คือแกน bearing ของอาร์มอยู่บนจุดหมุนเดือยแหลม มีการเอียงตัวได้ทุกทิศทาง การแทร็กของปลายเข็มในร่องแผ่นเสียงจะเป็นไปได้โดยอิสระกว่า ball bearing ปกติ ไม่ว่าแผ่นจะบิดหรือร่องแผ่นเสียงจะโค้งงออย่างใดก็ตาม และ unipivot ของ Vertere จะพิเศษกว่ายี่ห้ออื่นคือ เป็นเดือย stainless steel ที่ปักจิกลงบนลูกกลม nitride สามลูก ซึ่งจะช่วยให้ pivot ไม่ดิ้นจนเกินไป และยังคงความเป็น univipot อยู่

เนื่องจาก unipivot bearing ของ Vertere มีความพิเศษ ในคู่มือจึงเขียนเน้นย้ำมากในการเคลื่อนย้ายแท่นไปที่ไกลๆ จะต้องยกกะโหลกอาร์มขึ้นและใช้น็อตสีแดงล็อก bearing ไม่ให้มีการกระแทกสึกกร่อน และเวลายกขึ้นต้องได้ศูนย์ ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

ในส่วนของ counterweight จะมีตุ้มใหญ่ที่เจาะรูแบบ off center และห้อยลงแบบต่ำกว่าศูนย์กลาง pivot เพื่อให้อาร์ม stable ตัวตุ้มใหญ่มีแกนเกลียวร้อยทะลุจากซ้ายไปขวา ไว้สำหรับการปรับ azimuth ได้ง่ายและสะดวกมาก ถ้าเป็นอาร์ม unipivot ยี่ห้ออื่นๆ การปรับ azimuth จะปรับแนวเบี่ยงศูนย์ของตุ้มให้เอียงซ้ายหรือขวาตาม azimuth ที่ต้องการ ซึ่งการปรับแบบนี้จะยากมาก เพราะเมื่อมีการขยับตุ้มหลัง มักจะทำให้ค่า tracking force เปลี่ยนไปด้วย บางทีก็มากไปน้อยไป บางทีเปลี่ยนค่าหมดทั้ง azimuth และ VTF ต้องเสียเวลานาน  ของ Vertere จะง่ายกว่า การปรับ azimuth ไม่กระทบกับส่วนของ VTF เรียกว่าทำการบ้านมาดีมาก

สิ่งที่ Vertere คิดเผื่อมาให้อีกคือ จะมีแหวนดำๆ ที่มีสกรูหกเหลี่ยมยึด ตัวนี้ไว้ใช้ในการหาตำแหน่งของตุ้มหลัง ในกรณีที่ใช้หัวเข็มเดิม แล้วจำเป็นต้องย้ายเครื่องไปไกลๆ ก็ให้วงแหวนดำนี้เลื่อนมาชิดกับ counterweight แล้วล็อกตำแหน่งไว้ จากนั้นก็ถอด main counterweight ออกและทำการเคลื่อนย้าย เมื่อเซ็ตใหม่ก็ขยับ counterweight มาชนกับแหวนสีดำนี้ จะได้ VTF ที่ต้องการได้โดยไว และตัวแหวนดำนี้ก็ย้ายมาติดกับฝั่งกะโหลกอาร์ม (parking position)

อาร์มตัวนี้มีจุดพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีแหวนสีเงินเลื่อนไปมาได้ตรงก้านอาร์ม ตรงนี้ไว้สำหรับช่วยในการปรับค่า VTF ได้อย่างละเอียด ในคู่มือบอกด้วยว่าเป็นการช่วยจูนค่า resonance ของอาร์มได้ด้วย แต่ไม่ได้บอกละเอียดว่าจูนอย่างไร รูปแบบนี้เคยมีการใช้มาแล้วในอาร์มญี่ปุ่นเช่น Audio Technica 1502

ส่วนกลไกค่าอาร์มอื่นๆ เช่น antiskating ก็เป็นแบบ nylon thread + ลูกตุ้ม ก้านอาร์มทำจาก carbon fiber ส่วนของ headshell มีทั้งเป็นอะลูมิเนียมอัลลอยและไทเทเนียมในรุ่นสูง อาร์มสามารถปรับขึ้นลงได้ (VTA) ด้วยการคลายล็อกหกเหลี่ยมและขยับขึ้นลง

การวัด alignment ของหัวเข็ม

ทั้งค่า offset และ overhang ใช้สูตร null points ของ Baerward คือใช้ค่า null points ที่ 66 และ 120.9 มม. จาก center หัวเข็มที่ผมใช้ทดสอบในรอบแรกคือหัว Mystic ของ Vertere ซึ่งเป็น MC low output 0.5 mV และในตอนที่สองใช้ Benz micro Glider 0.4 mV

Trick ในการปรับค่า overhang ได้ไวขึ้นจากในคู่มือคือ จัดระยะหัวเข็มให้ปลายเข็มจรดพอดีกับระดับขอบของ headshell

ซึ่งวิธีแบบนี้ใช้ได้เฉพาะหัวเข็มบางหัวที่ปลายเข็มยื่นออกมาเกิน body เข็ม (เช่น Glider) แต่หัวเข็มส่วนใหญ่ก้านเข็มสั้น ไม่พ้น body เข็ม วิธีนี้เลยจะใช้ไม่ได้ จำเป็นต้องใช้ alignment protractor ที่เขาให้มา ผมใช้เวลาในการ set หัวเข็มแต่ละหัวบนอาร์มนี้ประมาณ 30 – 45 นาที ซึ่งสั้นกว่าการตั้ง level ของแท่น

Equipments

การทดสอบครั้งนี้ผมแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกจะเป็นการทดสอบกับหัวเข็ม MC low ของ Vertere เองคือรุ่น Mystic (0.5 mV, น้ำหนัก 9 กรัม) ผมเลือก phono ของอังกฤษด้วยกันคือ EAR 834P ซึ่งเป็น phono stage ยอดนิยมเสียงคุ้มค่า และขั้นตอนที่สองเป็นการทดสอบด้วยหัวเข็มภายนอกคือ Benz micro Glider 0.4 mV output ที่เลือกหัวนี้เพราะได้ไปดูรีวิวต่างประเทศ มีบางที่เขารีวิว MG-1 ร่วมกับ Glider และผมมีหัวนี้ไว้ใช้พอดี ส่วน phono stage ผมใช้ tube interstage phono ของ Keen audio (ของปรมาจารย์คนไทยทำนี่แหละครับ) ร่วมกับ step-up transformer ของ Soundarie audio รุ่น 618B (คือใช้หม้อแปลงของ P&C ญี่ปุ่น โดยลุงโตชิ พันตามสเปก Western Electric 618B) เป็น combination ของ step-up + phono stage ที่เสียงดีกว่า EAR 834P ไปอีกพอสมควรเลยทีเดียว

ในคลิปการทดสอบแต่ละตอน จะมีการริปสัญญาณหลังผ่าน phono stage เป็น digital files 24 bit 44.1 KHz แล้วไปฝากไว้บน soundcloud เช่นเคย เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้ฟัง จะฟังแบบ streaming หรือจะ download ตัว wav file มาฟังทีหลังก็ได้ คุณภาพเสียงเมื่อเทียบกับการฟังจากแผ่นเสียงตรงๆ แล้วจะด้อยกว่าสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ท่านสามารถเข้ารับฟังและดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่ https://soundcloud.com/emt930/sets/vertere-mg1-mk2-turntable

Sound

Vertere MG-1 ตัวนี้ พร้อมกับหัวเข็ม Mystic ได้มีการเบิร์นอินมานานพอสมควรทีเดียวตั้งแต่ที่ออฟฟิศ ไปจนถึงการนำไปเปิดตัวที่งานเครื่องเสียงที่โรงแรม Marriott สุขุมวิท หัวเข็มได้มีการติดตั้งมาแล้วจากทางตัวแทนจำหน่าย เมื่อมาถึงผมก็จัดการ setup ใหม่ตามขั้นตอนข้างบน โดยเสียเวลาไปกับการตั้ง level เพื่อให้ได้ระดับที่ดีที่สุดพอสมควร หลังจากนั้นก็มีการเช็ก offset angle กับ overhang ปรับแต่งอีกนิดหน่อยให้เป๊ะมากที่สุด เช็กเรื่องสปีดของทั้ง 33.3 และ 45 rpm ด้วย KAB speed strobe ก็เป๊ะเช่นกัน

MG1 + Mystic cartridge + EAR 834P

ผมเลือกตัวแทนหมู่บ้าน phono stage ที่ทดสอบช่วงแรกเป็น EAR 834P เนื่องจาก 1.เป็น phono จากประเทศอังกฤษเช่นเดียวกับ Vertere  2.มีน้ำเสียงที่คุ้นเคยกับนักเล่นบ้านเรา ถือว่าเป็น reference ได้ตัวหนึ่ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะ discontinue ไปแล้ว แต่รุ่นใหม่ที่มาแทนคือ phonobox ก็มีแนวเสียงเช่นเดียวกัน เรื่อง gain ­ขยายทำได้เหลือเฟือแน่นอน แผ่นเสียงแผ่นแรกที่ผมฟังจริงจังหลังจาก set เสร็จและให้แท่นวอร์มสักพักหนึ่งแล้วคือ แผ่นของ Etta Cameron ชื่อชุด Etta

Etta Cameron ชุด Etta แผ่นสังกัด Stunt record เดนมาร์ก (รหัสแผ่น STULP09171) แผ่นออกปี 2011 เลือกเพลงแรกหน้า 2 ชื่อ Motherless child ซึ่งเป็นแทร็กที่พี่ธานี โหมดสง่าชอบ แทร็กนี้เราควรจะได้ยินอะไรบ้าง สิ่งที่ได้อย่างแรกคือ เสียงร้องของ Etta ที่อิ่มใหญ่ ตำแหน่ง dead center ระหว่างลำโพง และเป็นเสียงร้องที่มี ambient สะท้อนจากหลังเวทีเสียง เสียงเบส (น่าจะมาจาก keyboard) ที่เลี้ยงบรรยากาศของเพลงไปตลอด และเสียง metallic percussion พวกเสียงเคาะกรุ๊งกริ้งกระจายอยู่ด้านหลังเสียงร้องทั้งซ้ายขวา MG-1 รายงานผลการบันทึกแผ่นนี้ได้อย่างน่าทึ่ง background เงียบสนิทไม่มีเสียงอื่นรบกวนเลย เสียงร้องของ Etta จับได้ทุกการปั้นคำร้อง แม้กระทั่งเสียงกลืนน้ำลายของนาง สิ่งที่ MG-1 ทำได้ประทับใจผมคือ การแยกแยะชิ้นดนตรี ไม่มีอาการมัวหรือทับซ้อนกัน เสียงกลางอิ่มมีมวล เมื่อสลับกลับมาฟังแท่นตัวเดิมที่ผมใช้อยู่เสียงกลางไปถึงแหลมจะมัวเหมือนมีหมอกปกคลุมอยู่

ลองเช็กย่านเสียงเบสกับแผ่นนี้ครับ Gary Karr : Adagio d Albinoni แผ่นเก่าปี 1989 สังกัด King super analog disc แผ่นนี้มีเครื่องดนตรี 2 ชิ้นเท่านั้นคือ double bass และ organ ท่อ แต่มันไม่ได้บันทึกแต่เบส มีครบทุกย่านความถี่ แต่ย่านเบสจะโดดเด่นหน่อย Pedal bass ของออร์แกนท่อนั้นยิ่งใหญ่และลงลึกมากครับ ขณะที่ Gary Karr หนีไปสี double bass ในส่วนของ melody เป็นส่วนใหญ่ ที่แกสีสายเบสลงคีย์ต่ำจริงๆ จะอยู่แถวๆ 2:38 และ 3:36 นาที เสียงเบสลึกออร์แกนท่อเป็นอะไรที่ท้าทายการเล่นกลับด้วยแผ่นเสียงอย่างมาก เนื่องจากเบสต่ำๆ มีความยาวคลื่นสูง จะมี groove modulation มาก ถึงแม้ว่ามีการใช้ RIAA equalization เพื่อชดเชยปัญหาเหล่านี้แต่มันก็ยังไม่สามารถช่วยได้หมดในแนวเพลงแบบนี้ ดังนั้นต้องพึ่งระบบการเล่นกลับของหัวเข็ม อาร์มและแท่นที่ดี การที่ MG-1 ตัวนี้ใช้อาร์มแบบ unipivot จะมีข้อดีในการเดินไปตามร่องแผ่นเสียงได้ดี ไม่มีการ “ขืน” หรือ “ฝืน” ร่องแผ่นเสียงแบบอาร์ม pivot ราคากลางๆ (ร่วมกับการ setup ที่ไม่ละเอียดพอ)

MG-1 ให้บรรยากาศของคอนเสิร์ตฮอลล์ สถานที่บันทึก (Takarazuka Vega hall, ญี่ปุ่น) และรายละเอียดที่ครบถ้วน เช่นเสียงสายคันชักที่ลากไปบนสาย double bass Amati (ค.ศ.1611)  รายงานได้ครบทุกเม็ดและเป็นธรรมชาติมาก

อีกสิ่งหนึ่งที่ใช้ในการสังเกตปัญหาของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเรื่องของ wow & flutter คือเรื่องของสปีดของ platter ที่ไม่นิ่ง รอบเร็วบ้างช้าบ้างในเวลาสั้นๆ ให้สังเกตแผ่นที่บันทึกเสียงเครื่องดนตรีน้อยชิ้น เช่นเครื่องสาย เปียโน ในท่อนที่ช้าๆ มีการ sustain ตัวโน้ตยาวๆ ว่ามีการแกว่งของ pitch เสียงหรือไม่ (ถ้าเป็นเครื่องสายเราต้องแยกจาก vibrato ของการเล่นนะครับ แต่ถ้าสายเปียโนไม่มีปัญหานี้)  MG-1 ให้เสียงลากสายการสี double bass ของ Gary Karr ได้เด็ดขาด ไม่มีการแกว่งของ pitch เสียง

ยังมีอีกหลายแผ่นที่ผมทดสอบและได้เก็บคลิปเสียงไว้บน soundcloud เช่นแผ่นของ RCA living stereo (LSC-2147) ชุด Schubert : Trout quintet แผ่น reissue ของค่าย Classic records ที่ทำออกมาแค่รอบเดียวแล้วก็ไม่เคยเห็นค่ายไหนทำออกมาอีก  MG-1 รายงานเสียงที่บันทึกมาได้ดี เวทีเสียง จังหวะ การสอดประสานเสียงของเครื่องสายที่มีความซับซ้อน ทาง MG-1 รายงานได้ครบถ้วน

Timbre คือการแยกแยะเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เล่นพร้อมกันในโน้ตเดียวกัน ซึ่งแผ่นนี้จะฟังแยกได้ไม่ยากนัก เว้นแต่ในช่วงการสีของ cello และ double bass ในโน้ตเดียวกันในบางท่อน  ส่วนการแยกแยะเสียง violin กับ viola สำหรับผมจะค่อนข้างฟังออกยากครับ เพราะส่วนใหญ่จะเล่นแนว melody ที่จะตีคู่กัน ทักษะฟังคลาสสิกยังไม่ถึงขั้นเพียงพอ ที่ผมถูกใจคือในส่วนของ dynamic range ช่วงเสียงเบามากๆ (pianissimo) ไปถึงดังมากๆ(fortissimo) ตัว MG-1 ให้เรนจ์ที่กว้างเพียงพอต่อการฟังเพลงคลาสสิก อันเนื่องมาจากการออกแบบแท่นให้มี isolation ที่ดี bearing แม่นยำ และแผ่นเสียงที่ไม่มีการแตะกับส่วนใดของ platter เลย

แผ่น commercial สมัยใหม่บันทึกใหม่ ก็ฟังได้ดี เช่น แผ่นของ J. Lamotta Suzume ชุด Re Blue (Flower record) ที่นำเพลงของ Joni Mitchell มาร้อง หรือแผ่นของ Diana Panton – to Brasil with love (eWise records)  

เลือกเพลงง่ายๆ ฟังลื่นๆ อย่างเช่น all I want ในอัลบั้มแรก และ maha de carnival ในอัลบั้มที่สอง (เพลงนี้ถูก block บน soundcloud ฮ่ะ เอาลงไม่ได้ เดี๋ยวไว้ผมเอาลง youtube แทน) ผมชอบการแยกแยะรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาบันทึกมาในแทร็ก all I want มันมีเสียงต่างๆ หยุมหยิมมากมายซ่อนอยู่ MG-1 เปิดและเกลี่ยรายละเอียดเสียงเหล่านั้นรายงานให้เราได้ยินหมด ไม่มีการสับสน แทร็ก maha de carnival ให้ความลื่นของเพลง และเสียง vibe ที่โดดเด่นทีเดียว

ช่วงที่ 2 ผมเปลี่ยนหัวเข็มเป็นหัวที่ผมคุ้นเคยคือ Benz micro Glider (low output version) และผ่านสัญญาณมา step-up transformer ของ soundarie audio 618B กับ tube interstage phono ของปรมาจารย์สาธร เมืองนนท์ ซึ่งเป็น phono stage ที่เสียงดีที่สุดในบ้านผมตอนนี้ การ setup ก็ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีก็พร้อมที่จะลงเข็มฟังกัน

พบว่าเมื่อเปลี่ยนหัวเข็มและใช้ phono stage ที่ดีขึ้น เสียงก็ดีขึ้นอีกอย่างที่น่าพอใจ มีความอิ่มของเสียงมากขึ้น ไดนามิกส์ และเบสที่ลงได้ลึกขึ้น

เลือกแผ่นเสียงเดี่ยวเปียโนของ Kunihiko Sugano ชุด portrait II สังกัด Audiolab (ALJ-1026) ผมว่าแผ่น solo piano ที่บันทึกได้ดีมากก็สองแผ่นของ Kunihiko Sugano นี่แหละครับ (Portrait 1 และ 2) เพลง Blues and girl of my dreams เสียงคลีน เคลียร์ ไดนามิกส์ของการเคาะเปียโนถ่ายทอดได้ดีมาก จังหวะฉับไว เสียงเบสของเปียโนคีย์ต่ำทำได้ดี ไม่มีพร่ามัว และสิ่งที่บันทึกมาด้วยอีกอย่างที่ได้ยินชัดเจนคือเสียงการใช้เท้าเหยียบ pedal ของเปียโน ซึ่งปกติไม่ค่อยได้ยินชัดนักจากแท่นอื่น แต่แท่น MG-1 ได้ยินจังหวะการเหยียบและเร่งจังหวะตอนท้ายเพลงเสียด้วย ส่วนแผ่นของ Patricia Barber ชุด modern cool อันนี้เป็นปั๊มเก่าดั้งเดิมของสังกัด Premonition การบันทึกเสียงยังเหมือนกับชุด café blue แผ่นเดิมคือ เสียงออกจะก้องๆ ใส่ reverb เยอะ เบสก็มีปริมาณเยอะด้วย (ในแผ่น reissue หลังๆ จะตัดตรงนี้ไปหมด เสียงจะบางกว่าแผ่นปั๊มแรก) เสียงจาก MG-1 + Glider อิ่มใหญ่มาก เบสดีมาก ลงลึกมากๆ  เสียงร้องทุ้มนุ่มลึก จังหวะที่เสียงเปิดเช่นเสียง trumpet ก็เปิดสว่างได้ตามที่ควรจะเป็น คราวนี้ได้ครบทุกสิ่งที่ต้องการของเสียงจาก Analog playback ระดับ Hi-End คือรายละเอียด เวทีเสียง เบส ความอิ่มของชิ้นดนตรี sound stage เมื่อย้อนกลับไปฟังแผ่นเพลงที่เคยใช้ทดสอบในขั้นแรก เช่นแผ่น Etta Cameron ก็ได้เนื้อเสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิมไปอีกขั้น

บทสรุป

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราได้ฟังจากการประเมินเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวหนึ่ง เป็นผลจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงจริงๆ หรือเป็นผลจากองค์ประกอบส่วนอื่นด้วย เช่นหัวเข็ม และ phono stage ตรงนี้ขออนุญาตอธิบายว่า เรื่องของ tonal balance จะเป็นผลจากหัวเข็มและ phono stage เป็นส่วนใหญ่ คือถ้าเราอัปเกรด 2 ส่วนนี้เราจะได้สิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น ความอิ่ม หวาน ความเป็นประกายของปลายเสียง แต่สิ่งที่เป็นผลของตัวแท่น จะเป็นส่วนของความเคลียร์ กระจ่างของเวทีเสียง ความนิ่งของชิ้นดนตรี อากาศหมอกมัวของเวทีเสียง ตรงนี้แท่นที่ดีกว่าจะทำได้ดีกว่า (คือถึงแม้ว่าจะเค้นประสิทธิภาพแท่นที่ถูกกว่า หรือการออกแบบที่ด้อยกว่าอย่างไรก็ตาม ก็จะมีข้อจำกัดของเสียงในส่วนของความนิ่ง รายละเอียด clarity ของรายละเอียด เมื่อเทียบกับแท่นที่ออกแบบมาดีกว่า) Vertere MG-1 สามารถให้ในส่วนของรายละเอียด ชิ้นดนตรีที่แม่นยำ ไดนามิกส์เรนจ์ที่กว้าง อันเนื่องมาจาก background noise จากกลไกที่จะมารบกวนแทบจะไม่มีหรือไม่ได้ยินเลย ทีนี้ก็เหลือในส่วนของ tonal balance ความอิ่มหวาน แรงปะทะของเสียง อันนี้อยู่ที่หัวเข็มและ phono stage ซึ่งจากการทดสอบก็เป็นเช่นนั้น ในช่วงแรก คอขวดของระบบจะเป็นส่วนของ EAR 834P phono stage ที่ถึงแม้ว่าจะเป็น phono หลอด แต่ก็จะมีอาการ gain เสียงพุ่งนิดๆ เบสกระชับเก็บตัวเร็ว ดังนั้นในช่วงหลังเมื่อเราใส่ phono stage ที่ระดับสูงขึ้น สิ่งต่างๆ จะได้มาครบหมด ทั้ง image soundstage inner detail dynamic จากตัวแท่น และ tonal balance ที่อิ่ม ลึก ผ่อนคลาย แต่ทั้งหมดต้องร่วมไปกับการใส่ใจในการ setup ตัวแท่นและอาร์มให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพของเขาด้วย

ถ้าถามผมว่า Vertere MG-1 เป็นแท่นที่เหมาะกับใคร ผมว่ามันเหมาะกับนักเล่นที่ผ่านการเล่นแท่นระดับเริ่มต้น และต้องการจะขยับก้าวใหญ่ๆ หน่อยเพื่อรองรับองค์ประกอบอื่น (หัวเข็ม phono stage) ในอนาคต ถ้าเป็นนักเล่นมือใหม่แล้วจะลงทุนเผื่ออนาคต เล่นตัวนี้ไปยาวๆ จนถึงระดับ Hi-End ก็ได้ครับ แต่ว่าต้องทำความเข้าใจกับกลไกการทำงานของแท่น โดยเฉพาะ tonearm สักหน่อย  ผมว่าแท่นนี้ถ้าเราเอาของดีๆมาใช้ร่วมกับมัน เสียงก็จะสามารถขยับขึ้นตามได้อีกแน่นอน ไม่เป็นคอขวดของระบบ analog ในอนาคตแน่นอน ตัวเครื่องมีการรับประกันจากผู้ผลิตเป็นระยะเวลาสิบปี แสดงว่า Vertere มั่นใจทีเดียวในอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ผลิต สุดท้ายอย่าลืมเข้าไปกดฟังเพลงที่ผมริปจากแท่น MG-1 นี้ทาง soundcloud นะครับ ได้ทำ playlist ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ลองฟังแล้วจับแนวเสียง ถ้าท่านมีแผ่นที่ผมใช้ทดสอบในบ้านของท่านก็จะยิ่งดี จะได้ฟังเปรียบเทียบว่าดีหรือด้อยกว่ากันอย่างไร. ADP

MG-1 standard set ไม่รวมหัวเข็ม ราคา 510,000 บาท
MG-1 upgrade set ไม่รวมหัวเข็ม ราคา 560,000 บาท
หัวเข็ม Vertere MC รุ่น Mystic ราคา 120,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่าย Hi End Audio
โทร. 062-551-2410

ไกรฤกษ์

ผู้เขียน: นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์
Audiophile/Videophile Reviewer