ชานนท์

แนวทางการใช้งาน 1 ซับวูฟเฟอร์ 2 ระบบ (Hi-Fi + Home Theater)

เชื่อว่าน้อยนักที่ไม่รู้จัก REL เพราะถ้าพูดถึงลำโพงซับวูฟเฟอร์แล้ว ยี่ห้อนี้ต้องติดโผตัวเลือกแน่นอน และหนึ่งในรุ่นที่ได้รับความนิยมสูง คือ T Series จากศักยภาพรองรับการใช้งาน 2 ระบบพร้อมกันทั้งไฮไฟและโฮมเธียเตอร์ มาดูกันว่ารุ่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวสด ๆ ร้อน ๆ ในปี 2021 นี้ จะตอบสนองการใช้งานได้ดีเพียงใด

T/x คือ หนึ่งในซีรี่ส์ลำโพงซับวูฟเฟอร์ล่าสุดของ REL โดยได้รับการพัฒนาปรับปรุงเพื่อมาแทนที่ T/i มีจำนวนทั้งหมด 3 รุ่น เช่นเคย ไล่ตั้งแต่น้องเล็ก T/5x, T/7x ไปจนถึงพี่ใหญ่ T/9x

นอกจากขนาดตัวตู้แตกต่างกันแล้ว ขนาดและจำนวนตัวขับเสียง ไปจนถึงกำลังขับของภาคขยายก็แตกต่างกันเรียงตามลำดับรุ่น

Design

T/7x คือรุ่นกึ่งกลาง ซึ่งบาลานซ์ในส่วนของขนาดและประสิทธิภาพระหว่าง T/5x และ T/9x ได้โดดเด่น หากทำการเทียบกับรุ่นก่อน (T/7i) ถึงแม้ขนาด จำนวนตัวขับเสียง ตัวเลขกำลังขับ (Class A/B 200 วัตต์) ไปจนถึงการตอบสนองความถี่จะเท่าเดิม ทว่า REL ก็ทำการปรับปรุง T/x Series จนสังเกตความแตกต่างได้อย่างชัดเจนอยู่ 2 จุด ใหญ่ๆ

จุดที่ T/7x แตกต่างจาก T/7i ประการแรก คือ “รูปทรงและมิติตัวตู้เปลี่ยนแปลงไป” รุ่นใหม่ดูเตี้ยลงกว่าเดิมแต่ขยายออกด้านกว้างและลึก มุมตู้ทั้ง 4 รวมถึงหน้ากากถูกปาดให้ดูมีความโค้งมน ลดความแข็งทื่อแบบกล่อง โดยรวมให้ความลงตัวดูสวยขึ้น ขารองรับตู้ลำโพงขึ้นรูปจากโลหะ ก็ได้รับการปรับขนาดให้ความรู้สึกถึงความมั่นคง รากฐานดูกว้างขึ้น มีการลบเหลี่ยมขอบมุมดูสัมพันธ์กับดีไซน์และมิติตัวตู้ลำโพงที่เปลี่ยนแปลงไป

T/x Series มีให้เลือก 2 สี คือ สีดำ และ สีขาว ผ่านกระบวนการพ่นสีหลายชั้นเพื่อผิวที่เรียบลื่น เงางาม ดูสวยหรู

หน้ากากทำจากไม้ MDF หนา หุ้มผ้า ยึดเข้ากับแผงหน้าตัวตู้ด้วยหมุดโลหะที่ฟิตพอดีกับเบ้ายาง ให้ความแน่นหนามั่นคง

จุดต่างจาก T/7i ประการที่สอง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปรับปรุง T/x Series ให้มีศักยภาพที่สูงกว่าเดิม คือ “อัพเกรดตัวขับเสียง” ถึงแม้ขนาดเท่าเดิม คือ ตัวขับเสียงหลัก (Active Driver) 8 นิ้ว จับคู่กับ Passive Radiator ขนาด 10 นิ้ว และใช้วัสดุเส้นใยผสานกับโลหะผสมในการทำไดอะแฟรมเหมือนเดิม ทว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้มีน้ำหนักเบาลง

ตัวขับเสียงหลัก (Active Driver) ขนาด 8 นิ้ว ติดตั้งแบบยิงหน้า ในรุ่น T/7x ถูกปรับโครงสร้างไดอะแฟรมไปเล็กน้อย วัสดุสีดำที่มีลวดลายเท็กเจอร์ คือ เส้นใยสังเคราะห์ ส่วน Dust cap สีเงินที่ใจกลาง ขึ้นรูปจากโลหะผสม ผ่านการรีดจนมีความบางทว่ายังคงความแกร่ง น้ำหนักตัวขับเสียงโดยรวมเบาจึงลงกว่าเดิม ให้การตอบสนองที่ฉับไวมากยิ่งขึ้น

เทคนิคข้างต้นถูกนำมาใช้กับ Passive Radiator ขนาด 10 นิ้วเช่นกัน โดยติดตั้งที่บริเวณส่วนล่างของตู้ลำโพง ลักษณะของ Passive Radiator ที่เป็นตัวขับเสียงแบบไม่มี Voice coil การทำงานจะขยับเคลื่อนตัวตามตัวขับเสียงหลัก หน้าที่มีไว้ปรับแรงดันภายในลำโพงตู้ปิด และช่วยเพิ่มพื้นที่หน้าตัดเพื่อผลักดันมวลอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดย่านเสียงความถี่ต่ำอีกทางหนึ่ง

แผ่นโลหะหนา ปั๊มตราโลโก้ REL  ที่ด้านบนตัวตู้เป็นที่คุ้นเคยดี เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้งานกับลำโพงซับวูฟเฟอร์หลายรุ่นก่อนหน้านี้ นอกจากใช้ตกแต่งเพิ่มความสวยงามแล้ว ยังทำหน้าที่แดมป์ตู้ลำโพงเพื่อสลายเรโซแนนซ์ด้วย

พูดถึงจุดต่างไปแล้ว มาดูจุดเด่นที่เหมือนกับรุ่นก่อนบ้าง… แผงหลังยังคงอิงเลย์เอาต์ช่องต่อเหมือนกับรุ่นก่อน (T7i) โดยจะเห็นครีบอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ เพื่อระบายความร้อนให้วงจรภาคขยาย Class A/B ที่ติดตั้งอยู่ภายใน เท่าที่ลองสัมผัสด้วยมือหลังจากเปิดใช้งานซับวูฟเฟอร์สักพักใหญ่ ๆ แค่รู้สึกอุ่นเล็กน้อย

ช่องต่อด้านบนสุดแบบ DB9 สีฟ้า มีไว้สำหรับเชื่อมต่อ REL Arrow อุปกรณ์เสริมรับสัญญาณเสียงความถี่ต่ำแบบไร้สาย, ถัดมาทางขวาคือสวิตช์ปรับชดเชย Phase แบบ 2 ตำแหน่ง 0° และ 180°

ปุ่มปรับชดเชยระดับเสียง (Hi/Low Level) และจุดตัดความถี่ (Crossover 30Hz – 120Hz) ชุดบนนี้ เอาไว้ปรับจูนเสียงความถี่ต่ำที่มาจากซิสเต็มไฮไฟ เมื่อเชื่อมต่อทางช่องสัญญาณ Hi-Level (Speaker Output จาก Integrated amp/Power amp) หรือ Low-Level (ช่อง Pre out/Sub out จาก Integrated/Pre amp หรือ Active Speakers/Studio Monitor)

ส่วนปุ่มปรับชดเชยระดับเสียง .1/LFE Level ที่อยู่ถัดลงมา สำหรับปรับจูนเสียงความถี่ต่ำที่มาจากชุดโฮมเธียเตอร์ (Sub-out จาก AV Receiver/Processor)

หมายเหตุ: ปุ่มปรับหมุนทั้งหมดจะเป็นแบบสเต็ป ซึ่งส่วนตัวผมว่าดี เพราะใช้อ้างอิงเพิ่มลดระดับตอนไฟน์จูนเสียงได้สะดวกดี เวลาที่เปลี่ยนลำโพง สามารถจดค่า Level, Crossover เดิมไว้ได้ โดยนับตามจำนวนสเต็ปจากตำแหน่งสูงสุดหรือต่ำสุด

หากสรุปช่องต่อของ REL T/7x จะพบว่ารองรับการรูปแบบการเชื่อมต่อกับชุด Hi-Fi และ Home Theater ได้หลายวิธีดังภาพ แต่รูปแบบที่ผมจะเน้นใช้งานในบทความนี้ “รูปแบบที่ 4” ใช้งานกับชุดเครื่องเสียงแบบ Hybrid ครับ

Hybrid System – 1 ซับวูฟเฟอร์ 2 ระบบ (Hi-Fi + Home Theater)

Hybrid System คือ การใช้งานชุดฟังเพลงและชุดดูหนังร่วมกัน ซึ่งด้วยศักยภาพของ REL สามารถใช้งานซับวูฟเฟอร์ตัวเดียวกับทั้ง 2 ระบบได้ มีแนวทางดังนี้ครับ

1. แนวทางนี้เหมาะสำหรับใครที่มีชุดฟังเพลง หรือชุดโฮมเธียเตอร์อยู่ก่อน แล้วต้องการขยับขยายเพื่อรองรับความบันเทิงที่หลากหลายขึ้น
2. ลำโพงหลักในชุดฟังเพลง และลำโพงคู่หน้าสำหรับโฮมเธียเตอร์ ใช้คู่เดียวกัน
3. AV Receiver ต้องมี Pre out
4. Integrated amp ต้องมี Power amp Direct (หรือบางยี่ห้อเรียก Home Theater Direct)
5. ต้องใช้ร่วมกับ REL Subwoofer ที่ออกมาให้สามารถปรับจูนสัญญาณความถี่ต่ำจาก Hi-Level และ .1/LFE ได้อิสระจากกัน*

*ซับวูฟเฟอร์รุ่นอื่นที่ไม่มีฟีเจอร์นี้ ไม่สามารถทำตามแนวทางนี้ได้ครับ!


วิธีการเชื่อมต่อสัญญาณREL T/7x Subwoofer ร่วมกับ Hybrid System (Hi-Fi + HT) จะเป็นดังภาพ

หมายเหตุ: การเชื่อมต่อสายสัญญาณ Hi-level ฝั่ง Integrated amp (หรือ Power amp) อิงการใช้งานร่วมกับภาคขยายแบบ Class A/B **กรณีที่ Integrated amp (หรือ Power amp) ใช้งานภาคขยายรูปแบบอื่น การเชื่อมต่อสาย (แดง-เหลือง-ดำ) จะแตกต่างไปจากนี้** แนะนำให้ศึกษาคู่มือการใช้งานก่อน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ครับ

แนวทางการติดตั้ง REL Subwoofer

สิ่งสำคัญอันดับแรกของการใช้งานซับวูฟเฟอร์ คือ * หาตำแหน่งตั้งวางภายในห้อง ที่ให้ดุลเสียงที่ดีที่สุดก่อน (ตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบจาก Room Mode น้อยที่สุด)

กรณีที่ขยับตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ไม่ได้ หรือทำได้ในระยะจำกัด ให้ทดลองขยับตำแหน่งนั่งฟังเพื่อหาจุดที่ให้ดุลเสียงดีที่สุดแทน แต่จะดีกว่าถ้าทำได้ทั้ง 2 อย่างครับ ทั้งนี้ตำแหน่งซับวูฟเฟอร์ และจุดนั่งฟัง ต่างก็ได้รับผลกระทบจาก Room Mode ทั้งคู่ เมื่อได้จุดที่เหมาะสมแล้ว ก็ไปสู่ขั้นตอนปรับเซ็ตเสียงกัน…

อันที่จริงการปรับเซ็ต จะทำขั้นตอนในส่วนของ Low-level (.1/LFE – Home Theater) ก่อน หรือจะปรับ Hi-Level (Hi-Fi) ก่อนก็ได้ ไม่มีข้อกำหนด แต่จะให้ง่าย ผมแนะนำปรับในส่วนของ Low-level ผ่านระบบโฮมเธียเตอร์ก่อนจะง่ายกว่า เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบ Auto Speaker Calibration ของ AVR มาช่วยได้ เช่นนำค่าจุดตัดความถี่ (Crossover) ที่ระบบตรวจวัดได้ มาใช้อ้างอิงเป็นค่าจุดตัดความถี่เริ่มต้น ในขั้นตอนปรับเซ็ต Hi-level crossover กับชุดฟังเพลง

แนวทางการอ้างอิงเสียง เพื่อปรับจูน REL’s High-Level ร่วมชุด Hi-Fi

1. ทดลองฟังกับเพลงที่มีเบส หากพบว่า ปริมาณเสียงความถี่ต่ำอื้ออึงกระทบกับการรับรู้รายละเอียดเสียงย่านอื่น (ความใสของเสียงร้องหดหาย ประกายเสียงไม่ชัดเจนเหมือนเคย) ให้ปรับลด Level (Hi-level Gain) ของลำโพงซับวูฟเฟอร์ลง
2. หากพบว่าเบสขาดแรงปะทะ มีแต่เสียงย่านต่ำลึก เบสต้นหาย ถ้าไม่เป็นเพราะปรับCrossover ต่ำเกินไป ก็เป็นเพราะตั้ง Phase ไม่ถูกต้อง
3. ก่อนปรับ Crossover ให้เช็ค Phase ก่อน และเมื่อปรับเปลี่ยนค่า Crossover ให้ทำการเช็ค Phase อีกครั้ง
4. หากพบว่าเสียงต่ำบางย่านความถี่บวมโด่ง ขาดความกลมกลืน แสดงว่าตัดความถี่ Crossover สูงเกินไป ให้ปรับลดลงจนอาการดังกล่าวหายไป

เน้นย้ำว่า หน้าที่ของลำโพงซับวูฟเฟอร์กับชุดฟังเพลง คือ เติมเต็มย่านเสียงความถี่ต่ำที่ซิสเต็มลำโพงหลักขาดแคลนหรือยังให้ได้ไม่เต็มที่ แต่กระนั้นอย่าพยายามปรับซับวูฟเฟอร์เพื่อเติมเสียงย่านความถี่ต่ำกับเพลงที่บันทึกเบสมาน้อย เพราะถ้าทำแบบนั้น จะส่งผลกระทบให้เพลงที่บันทึกเสียงมาดี เสียสมดุล !

หลังจากปรับจูนในส่วนของ Hi-level ลงตัวดีแล้ว ให้กลับไปลองกับชุดโฮมเธียเตอร์อีกครั้ง แต่คราวนี้ก่อนอ้างอิงเสียง ให้เข้าเมนูตั้งค่าของ AVR แล้วปรับ Speaker Configuration ในส่วนของ Front Speaker ให้เป็น Large

หากต้องการไฟน์จูน REL Subwoofer กับระบบโฮมเธียเตอร์ (.1/LFE) เพิ่มเติม ให้ปรับผ่านเมนูตั้งค่าของ AVR ในส่วนของ Bass Management (Subwoofer Level, Subwoofer Distance) รวมถึงทดลอง On และ Off ฟีเจอร์ Room EQ ของ AVR แล้วทดลองฟังผลลัพธ์เปรียบเทียบดูว่า แบบไหนให้สมดุลเสียงที่ลงตัวกว่ากัน

หากสภาพห้องมีปัญหา Room Mode ค่อนข้างหนัก ผลลัพธ์ทางเสียงเมื่อ On และ Off ฟีเจอร์ Room Eq จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก จากการที่ระบบพยายามจะลดทอนผลกระทบจาก Standing Waves ซึ่งผลลัพธ์จาก Room Eq นี้ อาจทำให้เสียงดีขึ้นหรือแย่ลงได้ ต้องตัดสินด้วยการทดลองฟังดูครับ

มีความเป็นไปได้หากเซ็ต Hi-level ยังไม่ลงตัวแล้วจะส่งผลกระทบลดทอนคุณภาพเสียงเมื่อรับชมภาพยนตร์ด้วย (มักพบในรูปแบบเสียงความถี่แปลกปลอมโด่งขึ้นมา) หากพบอาการทำนองนี้ ให้กลับไปแก้ Hi-level กับชุดฟังเพลงอีกครั้งครับ

เมื่อเซ็ต REL T/7x ลงตัวแล้วจะได้อะไร ?

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์ คือ เติมเต็มย่านความถี่ต่ำที่ลำโพงหลักขาดแคลน หรือให้ได้ไม่เต็มที่ ซึ่ง T/7x รับภาระในส่วนนี้ได้ดี ย่านต่ำช่วงตั้งแต่เบสต้นลงไปจนถึงเบสลึกราว ๆ สัก 30 Hz ที่เคยเบาบาง ก็ดูมีน้ำหนักขึ้นมาทันที ความฉับไวของไดรเวอร์ 8 นิ้ว ที่ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาสามารถขยับเคลื่อนตัวและหยุดเพื่อการตอบสนองแบบฉับพลัน เสริมด้วยอานิสงส์ของภาคขยายที่แม็ตชิ่งกันจึงให้อิมแพ็คต่อเนื่องได้ดี ขยายไดนามิกของซิสเต็มให้ครอบคลุมลงมาถึงย่านต่ำ เบสมีพลังและให้แรงปะทะหนักแน่นขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อได้ย่านเสียงครอบคลุมครบถ้วนกว่าเดิม ย่อมจะฟังเพลงได้อรรถรสขึ้น โดยเฉพาะใครที่ใช้ลำโพงวางหิ้งอยู่ เชื่อเถอะว่าบางเพลงฟังแบบ 2.1 แล้วเหมือนเปิดโลกใหม่เลยทีเดียว แต่มีข้อแม้ว่า การเซ็ตอัพต้องลงตัวระดับหนึ่งนะครับ

ซึ่งในจุดนี้ ขนาดตัวขับเสียงหลักของ T/7x ที่ไม่ใหญ่เกินไป เพิ่มโอกาสให้ได้เสียงที่ลงตัวกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำโพงวางหิ้งหรือลำโพงตั้งพื้นที่ใช้วูฟเฟอร์ขนาดตั้งแต่ 4 นิ้ว ขึ้นไปได้ดีมาก

ด้านการรับชมภาพยนตร์ใครที่เคยใช้ REL HT Series มาก่อน อาจรู้สึกว่าเบสลึกมีปริมาณเบาบางกว่าเล็กน้อย แต่ก็แลกมาด้วยเสียงย่านต่ำที่กระชับ เก็บตัวเร็ว ฟังดูจะได้ดีเทลกว่าโดยเฉพาะเบสต้น โดยรวมไม่รู้สึกว่าขาดแคลน หากใช้งานกับห้องขนาดเล็กถึงกลาง สัก 20 ตร.ม. T/7xก็จะเติมเต็มย่านเสียงได้ครอบคลุมลงตัวดี

หวังว่าบททดสอบนี้ จะเป็นแนวทางการใช้งานลำโพงซับวูฟเฟอร์เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับซิสเต็มไฮ-ไฟและโฮมเธียเตอร์ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการดูหนัง-ฟังเพลง และปลอดภัยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 นี้ครับ. ADP

ราคา 49,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โซนิค วิชั่น จำกัด
โทร. 0-2681-7500