ปฤษณ

ญี่ปุ่น ประเทศที่เป็นสรวงสวรรค์ในหลายๆ เรื่อง ว่าก็ว่าเถอะครับ ถ้าประเทศนี้ไม่แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกปัจจุบันคงมีโฉมหน้าเป็นอีกแบบก็ได้ ใครจะรู้ครับ

สำหรับคนรักเครื่องเสียงวินเทจ ญี่ปุ่นคือเป้าหมายแรก ที่ผมเชื่อว่าทุกคนอยากไปเยือน หลายปีมาแล้ว ที่ผมรู้จักชื่อของ Sakuma-san ผ่านทางพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เล่นเครื่องเสียงวินเทจ และได้เห็นหน้าค่าตาจาก Youtube ว่าก็ว่าเถอะครับ ถ้าใครเล่นเครื่องเสียงวินเทจ ผมว่าต้องอยากไปเยือนร้าน Concord ของ Sakuma-san สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ปีที่แล้ว ผมได้เรียบเรียงบทความเกี่ยวกับการเดินทางไปตามหาฮอร์นของคณะ สว. ที่ประเทศญี่ปุ่น มาปีนี้ ผมมีโอกาสได้เรียบเรียงบทความเกี่ยวกับการเดินทางไปตามหัวใจเรียกร้องของคนรักเครื่องเสียงวินเทจ สามหนุ่มใหญ่ ป๋าโอลดี้ (เอกดนัย ยอดสุขา), น้าภูมิ (ภูมิชาย วิยาภรณ์) และ คุณเบิ้น (กฤตภาส คูสมิทธิ์)

การเดินทางครั้งนี้ของทั้งสามท่านได้พานพบเรื่องราวที่น่าประทับใจมากมาย ซึ่งบางเรื่องก็เป็นคำถาม ที่ค้างคาใจเรามานาน นอกจากนั้น ด้วยความละเอียด ใส่ใจ และเคารพเจ้าบ้านในฐานะแขกที่ไปเยือน จึงทำให้ ทั้งสามได้รับประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างจากที่เคยคิดและเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดถูกนำมาบอกเล่า ในบทความพิเศษนี้ โดยไม่ตกหล่น

นี่เป็นบทความที่อยากให้คนรักเครื่องเสียงทุกคนได้อ่านครับ…

คุณเบิ้น: ขอเล่าให้ฟังตั้งแต่เริ่มต้นเลย คือจริงๆ ผมชอบเครื่องเสียงวินเทจ แล้วก็อย่างที่ผมเคยเล่าไว้ในบทความที่ลงใน AUDIOPHILE เมื่อสองสาม ฉบับก่อน ผมก็เอ่ยชื่อป๋า ก็คือ “ป๋าโอลดี้” และน้าก็คือ “น้าภูมิชาย” ทั้งสองเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำผมอยู่เสมอ แล้วป๋าก็เป็นคนที่ฟังเพลงเยอะมาก พอมีประเด็นเรื่องการฟังเพลง เรื่องอะไรต่างๆ หรือแม้กระทั่งเนื้อเพลง หรือหาชื่อเพลงอะไรต่างๆ ป๋าก็จะแนะนำ แล้วก็เครื่องเสียงที่บ้านป๋าก็เน้น ไปทางด้านวินเทจอย่างแท้จริง ผมก็จะใช้ป๋าเป็นสแตนดาร์ด ในการที่เราจะ ต้องจัดหาของมาเปรียบเทียบ เพื่อให้เราใกล้เคียงกับสแตนดาร์ดมากที่สุด โดยป๋าก็จะให้คำแนะนำผมอยู่เสมอ ส่วนน้าภูมิ เมื่อกี้ก็ได้คุยให้ฟังแล้ว ก็คือ… น้าภูมิก็เป็น น้าภูมิช่างรื้อ น้าภูมิจะเป็นในแนวชาเลนจ์ พอเราบอก แบบนี้ น้าภูมิก็จะชาเลนจ์เข้ามา มันก็ทำให้เรารู้สึกสนุกสนานในการหา พอคบกันไปก็เลยบอกได้ว่าเป็นพี่ชาย 2 คนที่ผมสนิทที่สุด

ทีนี้ใจผมอยากจะไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อทริปเครื่องเสียงวินเทจโดยเฉพาะมานานมาก ปกติผมเที่ยวต่างประเทศคนเดียวอยู่แล้ว ไม่ติดอะไรเลย แต่การจะไปค้นหา หรือว่าจะไป explore โลกกว้างของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโลก ของวินเทจโดยเฉพาะนั้น ผมก็อยากไปกับคนที่มีความรู้สึกว่า เราไปแล้วได้ ความรู้เพิ่มเติม หลายๆ คนอย่างพี่หมอไกรฤกษ์ก็เคยเล่าให้ฟังว่า เครื่อง- เสียงดีๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา มันมาอยู่ที่ญี่ปุ่นหมดเลย แล้วเราก็รู้จัก “คุณต๋อง” (Analoglism) เราก็ได้ยินว่า คุณต๋อง ชื่อ “ซากุต๋อง” แล้วทำไม ต้องชื่อ… ซากุต๋อง ก็ได้ค้นพบว่า จริงๆ แล้ว มีปรมาจารย์ด้าน DIY ชื่อ “Sakuma” อยู่ที่โน่น เลยมองว่า ถ้าอย่างนั้น เราอยากจะไปญี่ปุ่น แต่อยาก ไปกับคนที่มีความรู้สึกว่าเป็น “คอเดียวกัน” ก็เลยโทรคุยกับป๋า และชวนป๋า ว่าไปกันมั้ย ป๋าก็ตอบรับทันทีเลย เพราะว่าป๋าชอบเที่ยว พอป๋าบอกว่าไป ผมก็บอกว่าอยากให้น้าภูมิไปจังเลย ป๋าชวนมั้ย  ป๋าบอกว่าไม่ต้องชวน

น้าภูมิ: ไปแน่นอน

คุณเบิ้น: เปล่า ป๋าบอกว่าไม่ไปก็ต้องไป

น้าภูมิ: โดนบังคับฮะ ผมโดนบังคับ

คุณเบิ้น: เดี๋ยวช่วงเริ่มต้น ผมจะเล่าให้ฟังก่อนว่า ทริปนี้มาได้ยังไง ด้วย ความที่ผมเองกับป๋าก็มีงานค่อนข้างแน่น ก็เลยตัดสินใจว่า เราจะทำยังไง เพื่อที่จะไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม แล้วก็ช่วงเวลาที่เราสามารถจะจัดการ บริหารเรื่องงานได้ ก็ไปกันได้แค่ 4 วัน 4 วันเต็ม ก็จัดกันว่าจะทำยังไงดี สเต็ปที่หนึ่งก็คุยกับป๋าว่า เป้าหมายแรกเราอยากไปฟังเสียงของคนญี่ปุ่นที่ เขาเล่นเครื่องเสียงวินเทจในปัจจุบันเลยว่า เขาเล่นเครื่องเสียงกันอย่างไร เขาฟังเสียงกันอย่างไร เป้าหมายที่สอง ผมเอง เวลาไปเที่ยว นิสัยผมคือ ผมมักเข้าไปฟังคอนเสิร์ตฮอลล์ในประเทศนั้นๆ (เดี๋ยวจะมีเรื่องขำๆ เกี่ยวกับ เรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง) ก็อยากไป Suntory Hall และเป้าหมายที่สาม

จริงๆ แล้วเป็นหัวใจสำคัญเลยที่ชวนป๋าโอลดี้กับน้าภูมิ ก็คือการไปพบ Sakuma-san เพราะฉะนั้นก็จะเป็นหลักๆ สามเรื่อง ส่วนอันอื่นก็จะมีเรื่อง ของการช็อปปิ้ง ก็คือต้องไปซื้อแผ่นเสียง เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าขากลับเนี่ยมันบัดซบขนาดไหน ที่เราไปขนซื้อแผ่นเสียงกันมา เพราะฉะนั้นทั้งหมด 4 วัน ก็พอดีฟิตๆ เลยนะครับ

ทีนี้เราก็เลยตัดสินใจออกเดินทางกัน แล้ววางแผนกันว่า วันที่หนึ่ง เราอยากไปเจอใครสักคนหนึ่งที่ฟังเสียงเพลงแบบคนญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่ฟัง เครื่องเสียงวินเทจ ก็เผอิญคุณแมพ เขาเป็นเจ้าของแบรนด์ Soundaries Audio แบรนด์เล็กๆ ที่ขายของพวกแอ็กเซสซอรีส์ต่างๆ แล้วก็เป็นพวก ปรีแอมป์ของคุณลุงโตชิ ที่เขาขายอยู่ และเขาก็รับโมดิฟายเครื่องเสียงด้วย เครื่องเสียงของผมหลายๆ เครื่อง เขาก็เป็นคนโมดิฟายให้ เขาก็ซื้อคาพา- ซิเตอร์ต่างๆ จากบริษัท Spec Corporation เขาก็เลยประสาน แล้วก็ติดต่อ ให้เราไปพบกับ Yazaki-san แห่ง Spec Corporation เป็น agenda ที่หนึ่ง agenda ที่สอง เป็น agenda ที่อยากไปมาก ก็คือการไป Suntory Hall ซึ่งตอนแรกก็คุยกับป๋า ป๋าก็โอเคนะ เพราะตั๋ว 1,800 บาท เราก็… ตั๋วโอเค เลย เราไปกันเหอะ ทั้งๆ ที่ป๋าก็ฟังเพลงคลาสสิกน้อยมาก ผมก็ฟังแต่พวก คอนแชร์โต แต่น้าภูมิชายเป็นคนชอบในเสียงเพลงคลาสสิกมากที่สุด เรากลับได้รับคำตอบจากน้าภูมิว่า …ฟังที่ไหนก็เหมือนกัน ผมก็คอตก

ว้า! อดเลย ไม่เป็นไร ไม่ไปก็ได้ ป๋ายังไงก็ได้อยู่แล้ว เพราะว่าป๋าเขาหลักๆ อยากไปเจอ Sakuma-san แล้วก็อยากไปซื้อแผ่นเสียง แต่ผมก็ยังบ่นๆๆๆๆ ปรากฏว่าสองสามวัน…

น้าภูมิ: คืออย่างนี้ ในการฟังเพลงคลาสสิกจะต้องประกอบด้วยกัน 2 อย่าง คือ… ต้องดูโปรแกรม ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็ไป โปรแกรมอะไรก็ไม่รู้… ทีนี้ผม ก็แอบดู หนึ่ง Suntory Hall ผมไม่รู้จัก สอง… วันที่เบิ้นตั้งใจจะไปนั้น มันเป็น Quartet คือการที่ 4 คนมาเล่น แล้วฮอลล์ใหญ่ๆ แล้ว Quartet เดิมเนี่ย เขาไว้สำหรับห้องเล็กๆ เพราะฉะนั้นเวลาฟังไดนามิก หรือว่าอะไร อย่างนี้ มันไม่มี มันก็ไม่เหมาะในการฟังแล้วล่ะ หนึ่งมันไม่เหมาะ สอง Suntory Hall ไม่รู้จัก แต่พอเราได้คุย messenger กัน หมอไกรฤกษ์ ก็บอก ทำไมไม่ไป Suntory Hall มันเป็นอันดับหนึ่งเลยนะ อย่างนั้นอย่างนี้ เสียงดีมาก แล้วก็ส่งข้อมูลมา ผมอ่านเข้า เฮ้ย! มันเจ๋ง ในขณะที่บอกไปแล้วว่าไม่ไป วันนั้นคุณเบิ้นก็ตุ่ยๆๆๆ กลับไป แล้วพอมาอีกวัน ดูใหม่ ยังอยาก จะไปนะ แต่ผมนี่อยากไปแล้วล่ะ ดูสิ ไหนดูสิ ยอม ว่ามันคืออะไร ก็ให้ดู โปรแกรม โอ้โห! เท่านั้นแหละ พอเห็นเท่านั้นแหละ ใช่แล้ว

ป๋าโอลดี้: จริงๆ การที่ตัดสินใจว่าจะไปไม่ไปนั้น เราอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว อีกอย่าง Suntory Hall ก็ออกจากลิสต์ไปแล้ว แต่บังเอิญเบิ้นเขาบอกว่า พรุ่งนี้เราจะ ไปไหน เราจะไปวัดอาซากุสะ แล้วบ่ายจะไปไหน ก็ลองดู Suntory Hall สักหน่อย ว่าวันพรุ่งนี้มีโปรแกรมอะไร ปรากฏว่าโปรแกรมที่จะเล่นไปโดน น้าภูมิ เขารู้จักพอดี ก็เลยเอ้า

น้าภูมิ: มันชั้นหนึ่ง มันจะโชว์ไดนามิกได้ ใครไม่เคยได้ยินก็สนุก เรารู้นี่นา เราเคยฟังมาแล้ว

ป๋าโอลดี้: แล้วจริงๆ โปรแกรมนี้ ตั๋วเขาจองกันไปหมดแล้ว

คุณเบิ้น: การที่เราเปลี่ยนใจไปดูคอนเสิร์ตที่ Suntory Hall นั้น เราได้อะไร หลายอย่างมาก คนญี่ปุ่นเขาคิดเผื่อเอาไว้เสมอว่า สำหรับคนท้ายที่สุด ที่ไม่รู้เรื่องโปรแกรมเลย   แล้วปรากฏว่ามีโปรแกรมที่อยากจะไปดูเหลือเกิน ใน Last Minute ทำอย่างไรถึงจะได้ดู ซึ่งถ้าเป็นประเทศไทยก็หมดแล้ว เราไม่สามารถจะดูได้ แต่ญี่ปุ่นเขาคิดเผื่อ โดยการเก็บตั็วไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้ ผู้ที่อยากไปชมมาเข้าคิวก่อนการแสดง และเราก็ไปเข้าคิวกันตั้งแต่บ่ายโมง และท้ายที่สุดเราก็ได้ตั๋วไปชมกัน

ไปญี่ปุ่นครั้งนี้ ผมทำรีเสิร์ชอย่างดีเลยนะ ทำทุกอย่าง แต่ท้ายที่สุด การเดินทางถ้ามันไม่มีการตกรถ หรือพลาด ก็จะไม่สนุก สำหรับครั้งนี้ จะเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เริ่มต้นการเดินทาง เราตัดสินใจไปลงที่ที่ฮาเนดะ ผมบอกได้เลยว่า คนที่ไปญี่ปุ่น ผมว่าลงฮาเนดะขาไป  และกลับนาริตะดี ที่สุด เพราะเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่า ขากลับจากโตเกียวโดยใช้สนามบินฮาเนดะ สำหรับคนที่แบกของเยอะๆ มันสุดแสนจะทรมานมาก (หัวเราะ) แต่ถ้าขาไป เราลงที่สนามบินฮาเนดะจะง่ายมาก เพราะสามารถขึ้นรถบัสไปลงกลาง ชินจูกุได้เลย ซึ่งมันใกล้มาก แต่ว่าขากลับจะค่อนข้างลำบาก ถ้าขากลับเราใช้สนามบินนาริตะ จะมีรถเร็วจากโตเกียวเข้านาริตะเลย มันทำให้คน แบกของเยอะๆ เดินทางได้สะดวก

พอลงจากเครื่อง ก็พบกับความฉลาดสิ่งแรกของญี่ปุ่นที่เราเจอ คือเราต้องซื้อตั๋วรถบัสที่จะเข้าเมือง ตอนนั้นมีเวลาเหลืออีก 10 นาที และเราก็คิดว่าจากที่เรายืนอยู่ตรงตู้ขายตั๋ว เราจะวิ่งไปที่รถบัสนั่นได้ภายใน 10 นาที ผมก็กดตั๋วใบแรกออกมา เป็นเที่ยวปัจจุบันอีก 10 นาที พอกดตั๋วที่ สองเท่านั้น มันไม่ได้ออกมาเที่ยวปัจจุบัน มันออกมาเที่ยวที่สอง เพราะเขา คำนวณอย่างดีว่า คุณไม่สามารถไปทันได้

น้าภูมิ: จากตู้ขายตั๋วที่จะไปขึ้นรถ 10 นาที เวลาที่เหลือไม่ทัน มันก็คำนวณ ไปงวดหน้าครึ่งชั่วโมง โดยอัตโนมัติ

คุณเบิ้น: ก็เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งว่า เราเสียตั๋วไปหนึ่งใบ (หัวเราะ) นี่ก็เป็นเรื่องขำอันแรก

น้าภูมิ: กี่บาทนะ จำได้ไหม

คุณเบิ้น: ไม่กี่บาทเอง น่าจะสองร้อยกว่าบาท สามร้อย ที่โตเกียว เราพักอยู่ ชินจูกุ โรงแรมที่เราไปก็ดีเลยนะ โรงแรมชื่อ APA Hotel ขอแนะนำ ไม่ได้ โฆษณาเลยนะ มันเป็นโรงแรมใหม่ ใหม่มาก แต่ว่าไปอย่างนี้ เดี๋ยวจะเล่า ให้ฟังว่าควรเตรียมตัวอะไร เพราะว่ามีความไม่สะดวกเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้น เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง เราก็มาที่ชินจูกุ

ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นต้องขอแนะนำ คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ผมไปกับผู้ใหญ่ 2 ท่าน แล้วก็รู้มาว่า น้าภูมิเนี่ย ถ้านอนไม่พอจะไม่มีแรง และจะปวดหัว เราก็เลยตัดสินใจ ซึ่งคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก คือ เราจองโรงแรมตั้งแต่ คืนก่อนที่เราจะเดินทาง เพราะที่ญี่ปุ่น เขาจะให้เราเช็กอินได้บ่ายสาม ซึ่งเราเครื่องลงตอนเช้า 6 โมง 20 ถ้าเราไปถึง เราก็ต้องแกร่วอยู่ข้างนอก

โดยไม่ได้อาบน้ำอาบท่าอีกเกือบ 9 ชั่วโมง พอไปถึงโรงแรมประมาณ 9 โมง เราก็กินข้าว กินปลา กินอาหารเช้าที่โรงแรมเลย ขึ้นไปอาบน้ำอาบท่าแล้ว ก็ลงมา แล้วเราก็นัด Yazaki-san สถานที่นัดก็อยู่ในตัวเมืองโตเกียว ซึ่งบริษัท Spec Corp ของ Yazaki-san อยู่กลางใจเมืองโตเกียว ใกล้ๆ กับ พระราชวังอิมพีเรียลสวยมาก สวยมากเลย

น้าภูมิ: มีคูน้ำ มีต้นไม้ คือโตเกียวต้นไม้น้อย แต่แถวนั้นต้นไม้ดีๆ ทั้งนั้น

คุณเบิ้น: ใช่ เราเข้าไปแล้ว เราก็มีความรู้สึกว่า ตรงนั้นทำไมหรูหรา แล้ว ก็ต้นไม้เยอะไปหมด Yazaki-san ก็บอกว่า ตรงนั้นอยู่ใกล้กับพระราชวัง อิมพีเรียล ทีนี้ น้องแมพที่พาเราไป คือเราไม่ได้ไปพร้อมกัน บังเอิญแมพ ไปธุระเพื่อจะไปซื้อของ แล้วก็ไปซื้อของกับ Yazaki-san พอดี เขาก็เลยเป็น ธุระในการจัดเตรียมการนัดครั้งนี้ให้ เราก็ไม่ได้คิดว่าการไปขอฟังครั้งนี้จะ เป็นเรื่องราวที่ใหญ่โต หรือว่าเป็นเรื่องที่เป็นพิธีรีตองมาก เมื่อกี้เล่าให้ฟังว่า เรากินอาหารเช้ากันตอนประมาณ 9 โมงกว่า ก็กินกันแบบเต็มเหนี่ยวเลย (หัวเราะ) เสร็จปุ๊บพอไปถึง Yazaki-san ตอน 11 โมงครึ่ง เขาชวนไปกินข้าว อีกแล้ว ปรากฏว่าร้านที่เขาไปเป็น Business Lunch ซึ่ง Business Lunch ของคนญี่ปุ่นน่ะราคาถูก และเยอะ โอ้โห กินกันแบบอิ่มมาก เสร็จแล้ว Yazaki-san ก็พาไปบ้านเขา ซึ่งอยู่ชานเมืองโตเกียว โดยนั่งรถไฟไป ซึ่งก็ค่อนข้างไกลทีเดียว

ADP: คือไปเจอ Yazaki-san ที่ออฟฟิศ แล้วไปฟังที่บ้าน

คุณเบิ้น: ใช่ครับ ตอนแรกเราเข้าใจว่า แกจะชวนไปฟังที่ออฟฟิศ

น้าภูมิ: ใช่ นี่คือบ้านเลย บ้านประธานบริษัทเครื่องเสียง

คุณเบิ้น: แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า โชคดีมาก

น้าภูมิ: คุณไม่รู้เลยหรอ

คุณเบิ้ล: ผมไม่รู้ คือผมก็รู้แค่ว่า เขาเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง ดีว่าตอนก่อนไป เราแวะซื้อของขวัญที่สุวรรณภูมิ เป็นช้าง ช้างไม้ลงรัก ปิดทองสวยงามเลย โชคดีมากที่เราถือติดไป เราก็มอบให้เขาเพื่อให้รู้ว่า เราเองก็ตั้งใจเหมือนกัน กินข้าวเสร็จ เราก็นั่งรถไฟไป Yazaki-san ก็นั่งไป พร้อมกับเราเลย บ้านเขาอยู่ที่ชานเมือง เราก็คิดว่า เรานั่งรถไฟไปถึงบ้าน เขาแล้วจบ ปรากฏว่าเขาให้ภรรยาขับรถมารับเราที่สถานีรถไฟ และภรรยา เขาก็ปั่นรถจักรยานกลับบ้าน แล้วรถที่มารับ คือ จากัวร์ (หัวเราะ) เราก็แบบ… เฮ้ย!!!

น้าภูมิ: จากัวร์ในญี่ปุ่น ยิ่งกว่าจากัวร์ในเมืองไทยอีกนา

คุณเบิ้น: เราก็มีความรู้สึกว่า ทำไมเขาตั้งใจขนาดนี้ เขาก็พาเราไปที่บ้าน คุณพ่อของผมมีเพื่อนสนิทเป็นคนญี่ปุ่น เราก็รู้ว่า คนญี่ปุ่น ถ้าไม่สนิทกัน เขาไม่พาไปบ้าน แต่ว่าเราเป็นใคร งานนี้เราก็ต้องขอขอบคุณ น้องแมพ คือ เขาก็คงพูดในมุมของเราที่ดี จึงทำให้เขาพาเราไปที่บ้าน เซอร์ไพรส์ที่หนึ่งคือ พาไปที่บ้าน เซอร์ไพรส์ที่สอง พอภรรยามาถึงบ้าน เราก็ได้ค้นพบว่า เขาได้ เตรียมขนมเอาไว้ให้เรากิน แล้วไม่ใช่ขนมที่ไปซื้อมาแต่เป็นขนมที่ภรรยาเขา ทำเอง เราก็มีความรู้สึกว่า ตายแล้ว เขาตั้งใจมากๆ

น้าภูมิ: ทำตามจำนวนคน อยู่ในภาชนะอย่างดี

คุณเบิ้น: แล้วก็ชาเขียว อยู่ที่นั่นผมก็บ่นกับน้าภูมิว่า เรากินชาเขียวที่ไหน ก็ไม่อร่อย น้าภูมิก็บอกว่าอยากกินชาเขียวที่อร่อยจัง ก็นี่เลย ได้กินชาเขียว เย็นที่แบบอร่อยจริงๆ

ซิสเต็มของ Yazaki-san ผมจะเล่าเท่าที่ผมเข้าใจ ตัวตู้เป็นตู้เก่า พอเป็นตู้เก่าแล้ว แกจะใช้ดอกตรงกลางข้างในเป็นดอก Altec ตัวฮอร์น เป็นฮอร์นไม้ของ Onken แล้ว compression driver ก็เป็น Onken ซึ่ง Onken ก็คือ Goto ในปัจจุบันนะครับ ซิสเต็มของ Yazaki-san เป็น

ซิสเต็มง่ายๆ ก็คือ ใช้ Marantz 7 แล้วแอมป์ที่วันนั้นเปิดให้ฟังเป็นแอมป์

DIY ที่แกทำเอง พร้อมกับแอมป์ของ Spec ซึ่งแอมป์ ตัวนี้ ถ้าเข้าไปดูใกล้ๆ ก็คือแอมป์ต้นแบบของ Spec ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน แล้วเราก็สงสัยทำไมทีวีต้องเป็น Pioneer เครื่องเล่นซีดีต้องเป็น Pioneer ทุกอย่างเป็น Pioneer เราก็ได้มาค้นพบว่า จริงๆ แล้ว Yazaki-san เคยเป็นระดับผู้บริหารในบริษัท Pioneer มาก่อน ยิ่งทำให้เรามีความรู้สึกว่า โอ้โห! แล้วเขาก็เริ่มเปิดเพลง ให้ฟัง

ช่วงที่ Yazaki-san เปิดเพลงให้ฟัง ผมจะเล่าความ รู้สึกของผมก่อน และเดี๋ยวจะให้ ป๋าโอลดี้ กับ น้าภูมิ เล่าให้ฟัง… ความรู้สึกของผม มันไม่ใช่เสียงที่ผมเคย ได้ยิน ตัว Yazaki-san เอง เขามักจะใช้คำพูดในโค้ด ของเขาว่า “Real Sound” เท่าที่จับใจความจากที่คุย กับเขาได้ ก็คือ มันเป็นเสียงที่เป็นธรรมชาติและเหมือน จริง จากนั้น Yazaki-san ก็ค่อยๆ เปิดเพลงให้เราฟัง เริ่มต้นจากแผ่นซีดี แล้วต่อด้วยแผ่นเสียง แผ่นซีดีก็คือ มีทั้งปกติที่ขายทั่วไป แผ่นซีดีที่เป็นออดิโอไฟล์ของญี่ปุ่น แล้วก็เป็นแผ่นซีดีพวก ออดิโอไฟล์ของจีน ซึ่งพอเราฟังเสร็จปุ๊บ ตัวผมเองมีความรู้สึกว่า แผ่นซีดีของ จีนมันคัลเลอร์มากๆ และมันหลอก แต่แผ่นซีดีปกติทั่วไป แล้วก็แผ่นซีดีออดิโอ- ไฟล์ที่ทำในญี่ปุ่น ผมว่าเสียงให้เสียงที่เป็นธรรมชาติ ถามว่าส่วนตัวผมเอง เสียงที่ได้ยินนี้มีความรู้สึกว่า มันเป็นเสียงที่ไม่ใช่เสียงวินเทจที่เราเคยได้ยิน แล้วก็ไม่ใช่เสียงออดิโอไฟล์ที่เราเคยได้ยิน ผมมีความรู้สึกว่าเป็นเสียงที่เหมือน เราได้ยินจากการพูดคุยกัน ก็เลยมีความรู้สึกว่า การฟังเพลงจากที่ Yazaki-san เปิดให้ฟังเนี่ย มันก็เลยเปลี่ยนโลกทัศน์ของผมว่า จริงๆ แล้วก็มีวิธีฟังเพลงแบบ เสียงธรรมชาติ แล้วเขาฟังกันเบาๆ ทุกวันนี้ตั้งแต่ผมกลับมาจากญี่ปุ่น ผมก็ เปลี่ยนวิธีการฟังเพลง เป็นฟังเบาๆ แล้วรู้สึกว่าการฟังเบาๆ เนี่ย ตอนแรกมัน จะเบา และพอนั่งฟังซักพักมันจะดัง แล้วมันจะเริ่มมีความสุขกับการฟังเพลง อันนี้เป็นส่วนตัวของผม

ADP: ผมขอถามแทรกนิดหนึ่งครับ ในเมื่อลำโพงเป็นฮอร์นใช่ไหมครับ แต่ว่าบุคลิกไม่ได้เป็นฮอร์นอย่างที่เราเคยได้ยินจากลำโพงฮอร์นในเมืองไทย หรืออย่างไรครับ

คุณเบิ้น: อยากให้ป๋าโอลดี้ เล่าให้ฟังนิดหนึ่ง

ป๋าโอลดี้: มันก็คงเกี่ยวเนื่องไปได้หลายส่วนนะครับ เกี่ยวเนื่องจากหัวเข็ม แล้วก็แอมป์ที่แกสร้างขึ้นมาเอง แล้วก็หลายๆ อย่าง มันประกอบออกมาเป็น เสียงที่มีเอกลักษณ์ตามที่แกต้องการ ลำโพงฮอร์นที่เราได้ฟังเลยรู้สึกจะแปลก ออกไปกว่าที่เราเคยฟังมา สิ่งที่แกดีไซน์ขึ้นมา จูนมาเพื่อจะรองรับสิ่งที่แกชอบ

ADP: ผมเคยอ่านประวัติของ Yazaki-san ถ้าจำไม่ผิด ลำโพงฮอร์นคู่นี้ใช้ ตั้งแต่แกเรียนจบใช่ไหมครับ

น้าภูมิ: ใช่ครับ

คุณเบิ้น: ไม่เคยเปลี่ยนเลย แกใช้ลำโพงตัวนี้มาตลอด และส่วนตัวผมมีความ รู้สึกว่า ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นฮอร์น จากการฟังครั้งนี้เลย น้าภูมิรู้สึกยังไงครับ

น้าภูมิ: ทางด้านเทคนิคนะ เขาใช้ไบแอมป์ ตัววูฟเฟอร์ 12 นิ้วที่เป็น Altec รุุ่นเก่า เขาใช้แอมป์ของ Spec ที่เขาทำขึ้นมาเองขับ แล้วใช้พาสสีฟครอสโอเวอร์ แล้วส่งไปที่แอมป์หลอด DIY Triode Direct Heat หรืออะไรประมาณ นั้น ทีนี้พอทำเป็นไบแอมป์ ซึ่งมันก็ต่างละ ปกติที่เราเล่นกันทั่วไป ไม่ว่าจะใคร ก็ตาม เราใช้แอมป์ตัวเดียว ในทางเทคนิคจะตอบคุณเบิ้นได้ว่า เสียงที่คุณได้ยิน ที่มันเปลี่ยนไป คือวิธีของการเล่นไบแอมป์ มันจะชัด เบสจะเอาอยู่กว่า ถ้าคุณจูนได้ คุณจะให้เบสมันเร็วกว่าที่ฮอร์นทำได้

คุณเบิ้น: เพราะส่วนตัวผม พอเราฟังฮอร์น มันจะมีความเร็วความช้าของฮอร์น จึงทำให้มีคาแร็กเตอร์ของฮอร์น แต่พอมาฟังที่นี่ ผมกลับมีความรู้สึกว่า ทุกอย่างออกมาได้อย่างกลมกลืน แล้วก็เลยรู้สึกว่า มันไม่มีความรู้สึกว่าเป็น ฮอร์น แต่กลับมีความรู้สึกว่าเป็นคาแร็กเตอร์ของเสียงที่ฟังแล้วน่าฟัง

น้าภูมิ: ซึ่งตรงนี้ในทางเทคนิคนะ ยากมาก เพราะฉะนั้น เขาถึงเลี่ยงไปฟัง ฟูลเรนจ์ เพราะว่าไม่มีรอยต่อ แม้กระทั่งลำโพงไฮเอ็นด์ก็ตาม ที่มันดีๆ ทั้งหลาย คำว่าดีส่วนหนึ่งก็คือ ไม่มีรอยต่อ เพราะฉะนั้นเนี่ย เขาทำได้ดี จริงๆ ฝีมือของ เขาอาจจะไม่ได้อยู่ที่แอมป์ แต่อาจะอยู่ที่เน็ตเวิร์ก ตัวนี้สำคัญมาก และเขาก็ให้ ไดอะแกรมมานะ คุณถ่ายมาหรือเปล่า

คุณเบิ้น: นี่เลย คือเขาวางให้ดูเสร็จปุ๊บ แล้วผมก็ถ่ายเลย คือแอมป์ของ Spec เอง เป็นแอมป์โซลิดสเตท ไม่ใช่หลอด แต่แกใช้วิธีการไบแอมป์อย่างที่น้าภูมิ บอก กับแอมป์ DIY ซึ่งสร้างขึ้นมาเอง และสิ่งที่แกจัดการให้พวกเรายิ่งไปกว่า นั้นคือ แก shooting หลอดเร็กติฟายให้พวกเราฟัง แกไปหยิบหลอดเร็กติฟาย มาหลายตัว ซึ่งพูดในมุมของผมที่ไม่รู้เรื่องเทคนิค แต่ผมฟังจากหู และเดี๋ยวจะ ให้น้าช่วยบอก กับป๋าช่วยเล่าให้ฟัง ซึ่งมีหลอดเร็กติฟายสารพัดหลายแบรนด์ เลย แต่ที่เข้าวินจริงๆ มีอยู่ 2 แบรนด์ ซึ่งดูเหมือน Yazaki-san จะชอบ RCA แต่ส่วนพวกเรา รวมทั้งป๋า ผมก็มองตาป๋า ถามว่าชอบอะไร ป๋าชอบ

ป๋าโอลดี้: WE

คุณเบิ้น: WE ก็คือ Western Electric ซึ่งก็ไม่ได้ผิดคาด เพราะว่าการฟังแบบ คนญี่ปุ่น คือเสียง RCA ที่มันให้ออกมาเป็นธรรมชาติ แต่พอเป็น WE เราสังเกต เห็นหน้าแกเลยว่า แกไม่ชอบ เพราะว่าเสียงมันหนา และมันเข้ม ซึ่งเขาไม่ชอบ แต่เราเอง เรากลับชอบ

ADP: มันเป็นเรื่องความชอบ

คุณเบิ้น: ใช่ครับ มันเป็นเรื่องความชอบ แต่เรื่องควอลิตี้ของเสียง มันมีเท่าเดิม นะ แต่มันจะเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ เรื่องนี้ก็เป็นอีกความรู้หนึ่งในส่วนตัวของผม ซึ่งผมเอามาเริ่มเล่นละ คือการที่เราทำแอมป์ขึ้นมาหนึ่งเครื่อง ถ้าเราซื้อ หลอดเร็กติฟายมาหลายๆ แบบ แล้วเราเปลี่ยนหลอดเร็กติฟาย คาแร็กเตอร์ ของเสียง มันจะเปลี่ยน แต่ควอลิตี้ของเสียงที่เราเซ็ตขึ้นมามันไม่เปลี่ยน ก็นี่คือความรู้สึก น้าภูมิมีอะไรจะเพิ่มเติมมั้ยครับ

น้าภูมิ: ในทางเทคนิค หลอดเร็กติฟายจะช่วยในเรื่องความถี่ต่ำ พอมาเรียง กระแสแล้ว คือทุกครั้งที่เปลี่ยนหลอด ความถี่ต่ำก็จะเห็น ข้อที่หนึ่งก็คือ เขาเปลี่ยนแล้ว อย่าลืมว่าเมื่อกี้ใช้ไบแอมป์ แอมป์หลอดขับฮอร์นกับทวีตเตอร์ แต่ที่คุณสัมผัสได้คืออะไร ความถี่ต่ำ เฮ้ย! มันเปลี่ยนไป ตรงนี้น่าจะเป็น บทเรียนกับเด็กรุ่นใหม่     หรืออะไรก็ตามนี่นะว่าพออยากได้เบสคุณไปซื้อซับฯ มา แล้วคุณก็เร่งซับ คุณอยากได้เบส 12 นิ้วไม่พอ เป็น 15 นิ้ว เพราะคุณ ต้องการเบส ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพูดอย่างนั้น คุณจะนึกว่าฟิลิปส์ไม่มีเบส 8 นิ้วยังไงก็ไม่มีเบส คุณเห็นโรเธอร์ 8 นิ้วขอบบางๆ เวลาตุ้งๆ แล้วไม่ขยับเลย เปิดดังยังไงมันก็ไม่ขยับ คุณนึกว่ามันไม่มีเบส นี่คือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า พอคุณเปลี่ยนแนวของเสียงกลางหรืออะไร เบสสามารถ จะเปลี่ยนไปได้ เปลี่ยนไปได้โดยที่ทุกคนสัมผัสด้วยนะ ข้อที่สามก็คือ ผมจะ โยงไปที่ Suntory Hall ถ้าน้าเบิ้นเล่นก็อาจจะเล่น Klipschorn แต่ที่ทุกคน ลืมไปหมดก็คือ เนชั่นแนล ฮิตาชิ ชาร์ป ซันซุย แอมป์หลอดเคนวูด ซึ่งผมเล่น ผมไม่เคยทิ้งอะไรเลย โซนี่ แอมป์หลอดจากรีล ผมก็เล่น และผมรู้ว่าซาวด์ของ ญี่ปุ่น คือไม่ถูกหูคนอื่น เพราะว่ามันบาง แต่มันละเอียด โยงไปได้ถึง Suntory Hall เสียงนั้นเลย ผมกำลังจะบอกว่า เพราะผมเพิ่งได้ฟังเสียงจาก Suntory Hall และเมื่อวานผมเพิ่งฟัง Carmina Burana ในฮอลล์ของมหิดล เข้ม เพราะ เยอรมันเป็นคนออกแบบ แล้วก็ใช้ไม้ ทุกอย่างเป็นไม้ แต่ของที่โน่น ที่ผมบอก ตั้งแต่ทีแรกก็คือ ใช้หินอ่อนเป็นส่วนประกอบมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมัน ต้องชิ่วๆๆ หินอ่อนก็คือกระจก เพราะฉะนั้นเสียงที่ได้ มันบาง มันลอย มันมีรายละเอียด เพราะฉะนั้นไม่ผิดอะไรเลยที่เขาจะชอบ RCA และไม่ผิดอะไรเลยที่เราจะชอบ WE ถูกต้อง ทุกอย่าง ทุกอย่างถูกต้องหมด จบ

ADP: มันเป็นเรื่องความชอบล้วนๆ เลย

น้าภูมิ: คิดว่า ผมคิดว่า

ป๋าโอลดี้: แม้แต่แผ่นเสียงของ Yazaki-san ที่เปิด ก็เป็นแผ่นออดิโอไฟล์ และเป็นแผ่น re-issue เสียส่วนใหญ่ ซึ่งแกชอบเสียงในแนวกว้างๆ และก็ใส ชัด อะไรพวกนี้ ตามคาแร็กเตอร์ของเครื่องเสียงที่แก มีอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะได้ฟัง Julie London หรือ Diana Krall หรือใครก็ตาม จะแปลกต่างไปจากชุดที่ เราเคยเอามาเล่นนะครับ อย่าง Julie London แกก็ถามว่า เราอยากฟังเพลงอะไร ผมจะชอบชุด Love Letter แกก็มี ก็เปิด Love Letter ให้ฟัง ซึ่งโอเค มันก็เป็นสไตล์อีกสไตล์หนึ่งเลยนะ เพราะว่า แกฟังจากเครื่องเสียงที่เซ็ตออกมาให้เป็นแบบนั้น

มันก็จะ Real ใส ก้องกังวาน อะไรพวกนี้

ADP: ที่เราพูดกันว่า แอมป์ญี่ปุ่นก็เสียงแบบนี้

น้าภูมิ: ใช่ และทุกคนก็จะยี้

ป๋าโอลดี้: ก็คาแร็กเตอร์เขาเป็นแบบนี้

น้าภูมิ: แต่ผมไม่ยี้นะ ผมก็เล่นมาตลอด คือเรารู้ว่า ผมชอบแล้วนะ ผมเล่น ผมรื้อ ผมต้องการรู้ทั้งหมดว่า แอมป์ตัวนี้เป็นอย่างไร นี่คือลักษณะสไตล์ผม เรารู้เลยว่า มันมีอะไรที่เป็นบุคลิกของเขา

คุณเบิ้น: แต่อย่างหนึ่งที่ผมสังเกต คือตลอดทริปนี้ที่เราไป เราไม่เคยได้ยินร้าน เครื่องเสียง หรือว่าที่ที่เราไปเปิดเพลงเสียงดังเลย เราจะได้ยินที่เขาเปิดเพลง เบาๆ แล้วก็พอได้ยิน แล้วก็นั่งเงียบและตั้งใจฟัง สิ่งที่เกิดขึ้น ผมจึงมีความรู้สึก ว่า อันนี้ความรู้สึกผมนะ ผมว่าคนไทยเวลาเราฟังเพลง เราต้องเปิดให้ดัง ใหญ่ หนา แต่คนญี่ปุ่นที่เขาฟัง คือเขาฟังที่เสียงความละเอียด เขาจึงฟังด้วยเสียงที่ เบา ทีนี้พอการฟังเพลงแบบเบาๆ ของเขา มันก็เลยทำให้เขาได้ยินเสียงอีกอย่าง หนึ่ง ซึ่งถ้าเราเอาแอมป์ญี่ปุ่นมาเปิดในคาแร็กเตอร์ของคนไทย คือเปิดเสียงดังๆ เสียงมันก็แป๊ด แผด แล้วมันก็ฟังไม่เพราะ เพราะฉะนั้น กลับมาแล้วผมจึงลอง ซื้อเทิร์นญี่ปุ่นมา ลองเซ็ต แล้วลองเปิดเพลงที่เบา มันเพราะอย่างประหลาด เมื่อกี้ผมเพิ่งคุยกับป๋ากับน้าว่า ตอนฟังครั้งแรก มันมีความรู้สึกว่าไม่ได้ยิน แล้วนั่งอยู่สักพัก มันจะได้ยิน มันจะดังเอง แล้วพอมาถึงจุดที่ได้ยิน แล้วดังเอง โดยที่มันสงัดนะ โอ้โห! มันสามารถทำอะไร นั่งเงียบๆ อ่านหนังสือ ทำอะไรได้ เยอะแยะไปหมดเลย

ป๋าโอลดี้: คือคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sakuma-san หรือว่า Yazaki-san นะครับ นอกจากเครื่องเสียงแล้ว เขาเน้นฟังเพลง คือเขาฟังเพลงไม่ได้ต้องแบบว่า อันนี้ เสียงต้องลึก มีมิติ มีซาวด์สเตจอะไร ไม่ใช่เลยนะ เขาฟังภาพรวม แล้วเอาความ ไพเราะของเพลง กับเครื่องเสียงของเขาซึมซับเข้ามา ค่อยๆ ซึมซับเข้ามาถึง ตัวเราได้ คือไม่ได้เน้นว่าเบสต้องอย่างนี้ เสียงไอ้นั่นอย่างงั้น คือภาพรวม ทั้งหมดที่เขาออกมา

ADP: ผมว่า นี่เป็นอินฟอร์เมชั่นใหม่เลยนะ ที่จะทำให้ทุกคนย้อนกลับมาคิด ทำไมแอมป์ญี่ปุ่นเสียงไม่เพราะ คือผมอาจ จะต้องตัดสินใจไม่ขาย Pioneer M-77 แล้ว (หัวเราะ)

คุณเบิ้น: ใช่ เพราะเราสงสัยว่า ญี่ปุ่นมันบ้า หรือเปล่า เอาเครื่องเสียงตัวใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ยัดเข้าไปในห้องเล็ก แล้วจะฟังยังไง ปรากฏว่า เขาฟังเบามาก พอเราได้มาเจอกับ Yazaki-san จึงทำให้เรารู้ว่า เขาซื้อคาแร็กเตอร์ของมัน แต่ เขาฟังเพลง นั่งฟังเพลงอีกสักพัก ขนมหวานก็ มาเสิร์ฟ นี่คือภรรยาเขาทำ และก็ทำด้วยความ ตั้งใจมาก เราก็ได้ทานกันอย่างเอร็ดอร่อย

แล้วก็นี่คือแผ่นเสียงที่ฟัง ป๋าช่วยบอกว่ามี แผ่นอะไรบ้างครับ

ป๋าโอลดี้: มี Diana Krall, Julie London – Love letter แล้วก็ Latin in Satin Mood อันนี้น่าจะเป็น John Pizzarelli

น้าภูมิ: ของผมก็ Beethoven Symphony No. 7 แล้วก็ท่อน 3 ที่ผมลอง

ป๋าโอลดี้: แกก็ถามว่า เราอยากฟังเพลงอะไร ก็เปิดให้ฟัง เปิดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มี interrupt ตรงกลางเพลง ไม่มีการถามว่า คุณคิดว่ายังไง แกไม่ แกให้เรา ฟังซึมซับเอง

ADP: วอลลุ่มเปิดประมาณเท่าไหร่ครับ

คุณเบิ้น: เบามาก

ADP: ประมาณ 9 โมงได้มั้ยครับ

คุณเบิ้น: ผมว่าไม่นะ ผมว่าประมาณ 8 โมง ฟังแล้วมีความรู้สึกว่า เรายังคุยกัน ได้ ฟังและเรายังคุยกันได้ และสิ่งที่เราจะเห็นเลยก็คือ Yazaki-san แทบจะ ไม่พูดอะไรเลย และแกก็ไม่พูดเพื่อจะหว่านล้อมให้เรารู้สึกแบบเดียวกับแก แต่สิ่งที่เรารู้ เราจับจากสีหน้าและสิ่งที่แกทำ เช่น เรามีความรู้สึกว่า แกชอบ หลอดเร็กติฟายยี่ห้อ RCA เรารู้สึก

ADP: จากที่ฟังมา แสดงว่าบุคลิกของคนญี่ปุ่น วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต ของเขา สะท้อนออกมาจากเครื่องเสียงและวิธีการฟังเพลงของเขาใช่ไหมครับ คือเขาเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัว แบบเงียบๆ อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การฟัง เพลงเลยออกมาแบบบุคลิกนี้ด้วย

คุณเบิ้น: ใช่ คือเราจับต้องได้ถึงวัฒนธรรมกับการใช้ชีวิต เพราะเราก็คิดว่า ด้วยเสียงที่เขาเปิดแบบนี้ มันไม่รบกวนชาวบ้านแน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขา ฟังก็คือ เขาฟังอย่างตั้งใจ แล้วก็ฟังเพลงจริงๆ เราก็เลยมีความรู้สึกว่า มันเป็น วัฒนธรรมที่สะท้อนจากการฟังเพลง เพราะอย่างที่บอกเลยว่า กลับมาครั้งนี้ สิ่งที่ผมได้ก็คือ การฟังเพลงแบบไม่โฉ่งฉ่าง

ป๋าโอลดี้: พี่เสริมนิดหนึ่ง คือตอนที่เราไปหา Yazaki-san หรือว่า Sakuma-san ก็ตาม เราไม่ได้จะไปเพื่อเรียนรู้เทคนิคอะไรเขาเลย

คุณเบิ้น: ใช่ เราไปขอเขาฟังเพลง ต้องบอกเลย

ป๋าโอลดี้: เราจะไม่ถามรายละเอียดลึกถึงว่า เครื่องเสียงคุณใช้อะไร ต่อยังไง ไม่เลย

น้าภูมิ: ขนาดผมชอบทาง Technical นะ ผมก็ไม่ถามสักคำหนึ่ง

ป๋าโอลดี้: เรารู้สึกว่า เราไปในรูปแบบนี้ เขายิ่งยินดีที่เขาจะพรีเซนต์ หรือว่าจะ เสนออะไร ตามที่เขาอยากจะให้เรารับรู้

คุณเบิ้น: เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ คือ เราก็เป็นกังวล พูดตรงๆ

ถ้า AUDIOPHILE/VIDEOPHILE ฉบับนี้ออกไป เราอยากให้คนที่จะไปตามรอย สำคัญมากนะครับ อันนี้ต้องบอก ผมว่าจำเป็นมากๆ เลย ข้อที่หนึ่งคือ… เรื่องมารยาท กับเรื่องวัฒนธรรมที่เราต้องเข้าใจเขา ข้อที่หนึ่ง เราจะไม่ถาม เลยว่า คุณใช้นี่เหรอ คุณใช้แบบนี้เหรอ เขาจะเป็นคนอธิบายให้เราฟัง เราไป พบเขา เราฟัง ตั้งใจฟัง และทำในสิ่งที่เขาต้องการพรีเซนต์ให้เราฟัง ถ้าเขาเปิด โอกาสให้เราถาม ตอนนั้นน่ะ เราจึงถาม แล้วสิ่งที่ต้องทำก็คือ การไปพบต้องนัด ล่วงหน้า ต้องไปให้ตรงเวลา พวกเราไปตรงเวลาเป๊ะเลย เพราะญี่ปุ่น เรื่องตรง เวลาเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ เราจำได้เลยว่า Yazaki-san เขาบอกว่า เขาจะต้องไปธุระต่อ พอใกล้ๆ เวลา เราจะรู้แล้วว่า เขาเริ่มมีความกังวล หน้าที่ เราคือ จับความกังวลนั้น แล้วค่อยๆ บอกว่า เราจะไปแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ แม้กระทั่ง Sakuma-san เอง ตอนเราไปถึงร้าน มีคนญี่ปุ่น คู่หนึ่งเป็นสามีภรรยาไปถึงก่อนหน้าเราไม่เกิน 15 วินาที พอเขาไปในร้านสิ่งที่ Sakuma-san ทำเลยคือ เขาจะเข้าไปดูแลคนญี่ปุ่นคู่นี้ก่อนเลย ส่วนเราก็อยู่ห่างๆ แล้วก็รอ พอกลับ Sakuma-san ก็เข้ามาดูแลเราเป็นอย่างดีต่อไป แต่ ในระหว่างที่เขาดูแลคนญี่ปุ่น เขาส่งภรรยาซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยมาดูแล เรา เราก็ต้องคุยกันแบบ… แต่ก็สนุก ดังนั้น ถ้าจะไปทำกิจกรรมแบบที่เราไป ครั้งนี้ ผมว่าเราต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมเขาครับ. ADP

(ติดตามตอนที่ 2 ฉบับหน้า)