วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้ทดสอบชุดเครื่องเสียง Audionet จากประเทศเยอรมนี ซึ่งคราวนี้คู่ปรี+เพาเวอร์แอมป์ Pre G2+MAX เป็นเครื่องที่ถือเป็นหน้าเป็นตาให้กับทางค่ายมาเป็นเวลานาน เพราะเป็นรุ่นสูงสุดที่ใช้ทำตลาดมาอย่างยาวนาน ผ่านการอัพเกรดมาอย่างต่อเนื่อง ครองสถานะเรือธงในกลุ่มไฮเอ็นด์มานาน ก่อนที่ตอนนี้ทางค่ายจะขยายตลาดไปสู่ระดับ Ultimate High-end ด้วยคู่ปรี+เพาเวอร์แอมป์ Stern & Heisenberg ที่มีราคาสูงขึ้นไปหลายเท่าตัว ออกมาเป็นเรือธงนำทัพลำใหม่แทน ดังนั้น ในคราวนี้ เราจะมาดูกันว่าคู่ของ Pre G2+MAX มีความแข็งแกร่งขนาดไหน ถึงได้เป็นเสาหลักให้ Audionet ยืนอยู่ในตลาดไฮเอ็นด์ได้เป็นสิบๆ ปี แถมยังสามารถต่อยอดไปเล่นในตลาด Ultimate High-end ได้อีกด้วย

ในส่วนของการออกแบบ เริ่มต้นที่ปรีฯ Pre G2 ซึ่งจะว่าไปหน้าตาก็เรียบๆ ขรึมๆ สไตล์เยอรมัน สามารถเลือกแผงหน้าจากโรงงานได้สองสี คือ… สีเงินอะลูมิเนียมปัดเสี้ยนธรรมชาติกับสีดำนอกจากนี้ยังสามารถสั่งสีของตัวหนังสือบนหน้าจอ ซึ่งเลือกได้ระหว่างฟ้าและแดง ตัวที่ได้รับมาทดสอบเป็นหน้าปัดเงิน จอฟ้า ก็ดูเข้ากันดี แต่ถ้าเป็นเครื่องดำจอฟ้า ก็จะดูเข้ากับชุดเครื่องเล่นดิจิทัลของ dCS Paganini ที่ใช้อยู่ในชุดอ้างอิงมากกว่า ดังนั้น ผมว่าขึ้นกับการจัดวางในชุดของท่านครับ ว่าสีไหนจะสวยกว่ากัน 

ในส่วนของการออกแบบภายใน เท่าที่หาข้อมูลมาได้ก็เป็นไปตามคาด คือหากดูจากท้ายเครื่องจะเห็นการเรียงขั้วต่อต่างๆ เหมือนกันทั้งแชนเนลซ้ายและขวา แล้วมีช่องเสียบสายไฟอยู่กลางเครื่อง ส่วนแผงวงจรถูกแยกออกจากกันเด็ดขาดระหว่างช่องซ้ายและขวา เอาจริงๆ เท่าที่เห็นมีเพียงแค่ขั้วต่อสายไฟเข้าเครื่องแค่นั้นที่ใช้ร่วมกัน เพราะขนาดหม้อแปลงยังแยกเป็นแชนเนลใครแชนเนลมัน เรียกได้ว่าออกแบบให้ป้องกันการกวนข้ามแชนเนลอย่างเต็มที่ (มากกว่านี้คงต้องแยกไปอยู่คนละตัวถัง สายไฟเข้าคนละเส้นกันแล้ว) อีกส่วนหนึ่งที่รู้สึกแปลก ไม่เคยเห็นในเครื่องเสียงตัวอื่นก็คือ ขารองใต้เครื่องที่มีปลายด้านล่างเป็นยางนิ่ม ซึ่งเมื่อวางลงไปแล้ว ตัวยางจะถูกน้ำหนักของตัวเครื่องที่หนักร่วม 15 กก. ซึ่งมาจากภาคจ่ายไฟที่แข็งแรงเป็นแหล่งพลังให้สามารถจ่ายเอาต์พุตอิมพีแดนซ์ได้ต่ำมากระดับ 22 โอห์ม ซึ่งทำให้ได้เสียงที่มีพละกำลังหนักแน่น เมื่อตัวเครื่องที่มีน้ำหนักขนาดนี้กดลงบนขายางนิ่มก็จะทำให้ยางแบนลงจนเหนียวเกาะชั้นวางนิ่งสนิทมากๆ เรียกว่า เวลายกต้องค่อยๆ ยก และอาจต้องใช้มือช่วยกดชั้นวางเอาไว้ด้วย เพื่อให้หลุดออกจากขาตั้งเครื่อง เท่าที่ลอง… เนื่องจากชั้นวางของผมเป็นหินแกรนิตมีน้ำหนักมาก ผิวเรียบ จึงวางได้มั่นคงดีมาก และไม่พบปัญหาคราบเหนียวติดชั้นวางแต่อย่างใด โดยในระหว่างทดสอบมีบางช่วงที่จำเป็นต้องยกเครื่องมาวางบนพื้นใกล้ๆ แอมป์ ก็พบว่าการรองด้วยตัวรองเครื่องที่มีระบบสลายแรงสั่นสะเทือนต่างๆ หรือแม้กระทั่งชั้นวางไม้ที่มีเสาและโครงเหล็ก หากเอามารอง Pre G2 แล้ว พบว่าได้ผลไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่ บางตัวก็ทำให้ขาดฐานเสียง ออกเป็นเสียงบางเจี๊ยวจ๊าวไปเลย ส่วนชั้นวางไม้ก็พบว่าทำให้เสียงขุ่นทึบลงไปเลย ดังนั้นเท่าที่ลอง ดูเหมือนมันจะชอบการวางบนพื้นที่เรียบได้ระดับ และแข็งแรงเป็นพอ เพราะเมื่อวางบนชั้นวางอะลูมิเนียม ท็อปด้วยหินแกรนิต หรือวางบนพื้นกระเบื้องแกรนิตโต้ตรงๆ พบว่าให้ผลเป็นที่น่าพอใจที่สุดครับ เรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องไปซน เพราะเขาออกแบบมาดีแล้ว ดูได้จากช่วงการตอบสนองความถี่ที่กว้างมากคือ 0 – 2 ล้าน Hz!!! (ไม่ได้ตาฝาดครับ ตอบสนองความถี่ขึ้นไปได้ถึง 2 ล้าน Hz จริงๆ) แถมยังมีอัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนที่สูงระดับ 120dB (ผลจากการออกแบบวงจรแยกเด็ดขาดจากกัน และการออกแบบตัวถังแข็งแรงแบบรถถังเยอรมัน พร้อมด้วยขายางที่จัดการกับแรงสั่นสะเทือนภายนอกได้เป็นอย่างดี) และจากที่ผู้ผลิตแจ้งมาว่า วงจรภายในของ Pre G2 เป็นวงจรซิงเกิ้ลเอ็นด์ ทำให้ช่อง RCA เหมือนเสียงจะดังกว่า XLR อยู่เล็กน้อย เพราะทางเดินสัญญาณที่ไม่ผ่านส่วนที่ใช้รวมสัญญาณ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นหม้อแปลงอินพุต

มาที่แอมป์ MAX เป็นแอมป์ที่มีการออกแบบให้เป็นทรงหน้าแคบ คือมีความกว้างเพียงครึ่งเดียวของแอมป์ปกติ แต่มีความสูงค่อนข้างมาก คือสูงมากกว่ากว้าง แต่เพื่อไม่ให้ดูเทอะทะเกินไป ขนาดตัวที่แท้จริงจึงไปอยู่ที่ด้านลึกแทน ขนาดคร่าวๆ แผงหน้าก็ราวๆ กระดาษ A4 แต่ลึกร่วมครึ่งเมตรเลย เครื่องที่ได้รับมาเป็นตัวเครื่องสีดำจอสีฟ้า ดูเคร่งขรึม ทีเดียว ถึงแม้ที่แผงหน้ามีปุ่มเพียงปุ่มเดียว แต่สามารถปรับตั้งการทำงานต่างๆ ของตัวเครื่องได้เยอะมาก เท่าที่ได้ลองๆ เล่นดูก็ใช้เปิดปิดเครื่อง ใช้เลือกอินพุตระหว่าง RCA และ XLR แถมยังใช้ปรับความสว่างของหน้าจอได้ด้วย โดยหน้าจอสามารถปรับสว่างได้ได้หลายระดับ ตั้งแต่ปิด-25-50-75 จนถึงสว่างเต็ม 100% นอกจากนี้ในจุดที่ผมเคยติเมื่อทดสอบแอมป์รุ่นเล็กกว่าอย่าง AMP II ที่จัดวางขั้วต่อต่างๆ ด้านหลังเครื่องค่อนข้างใกล้กันเกินไป พบว่าใน MAX ค่อนข้างมีพื้นที่หายใจหายคอมากขึ้น แถมให้ขั้วต่อสายลำโพงมา 2 ชุด เผื่อสำหรับต่อไบไวร์ด้วย และทางผู้ผลิตก็แนะนำมาอีกว่าให้ต่อใช้งานขั้วที่อยู่ทางฝั่งขั้ว RCA ก่อน เนื่องจากทางเดินสัญญาณจะตรงมาจากวงจรโดยตรง ส่วนขั้วต่ออีกชุดจะพ่วงจากชุดนี้ไป เรียกได้ว่าใส่ใจในการจัดวางทางเดินสัญญาณ RCA ให้เข้าวงจรได้ใกล้ที่สุด (ขั้ว XLR ต้องไปผ่านหม้อแปลงรวมเฟสเหมือนปรีแอมป์) แล้วก็ออกที่ขั้วลำโพงให้ใกล้ที่สุด ให้ทางเดินสัญญาณสั้นที่สุด เพื่อให้ได้มาซึ่งการถูกรบกวนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยน้ำหนักเกือบ 40 กก. มากับกำลังขับ 400 วัตต์ที่ 8 โอห์ม และ 700 และ 1100 วัตต์ ที่ 4 และ 2 โอห์ม ตามลำดับ ซึ่งในส่วนของกำลังขับอาจจะดูไม่ได้หวือหวามากมายสำหรับแอมป์ในระดับราคานี้ แต่เมื่อพบกับการตอบสนองความถี่ที่กว้างจาก 0Hz – 500,000Hz ก็เรียกได้ว่ากว้างจนน่าตกใจยังมากับ Damping Factor ที่สูงแบบแอมป์ Class D ยังไม่อาจเทียบได้คือ ไม่น้อยกว่า 1800 และที่ความถี่ต่ำๆ อย่าง 100Hz ที่แอมป์ส่วนมากจะส่ออาการแผ่ว เพราะต้องจ่ายกระแสมากๆ ปรากฏว่า MAX กลับยิ่งแสดงให้เห็นถึงภาคจ่ายไฟที่ทรงพลังมากด้วยค่า Damping Factor ที่สูดสุดๆ ระดับ 10,000!!! เรียกว่าสมศักดิ์ศรีเครื่องระดับเรือธงตัวท็อปจริงๆ

ทดลองฟัง

ในการทดลองฟัง ในช่วงแรกผมได้จับคู่ปรี Pre G2 ทำงานร่วมกับแอมป์ MAX โดยเลือกระหว่างช่องอินพุต XLR และ RCA แต่เนื่องจากไม่มีสายสัญญาณรุ่นเดียวกันตรงๆ จึงไม่ขอฟันธงว่าช่องไหนให้เสียงดีกว่ากัน แต่ทางผู้ผลิตแนะนำให้ใช้ช่อง RCA ก็พบว่ามาลงตัวที่สาย RCA ของ Synergistic Researches ออกมาลงตัวที่สุด โดยไปกันได้ดีมากกับแผ่น the Dali CD Vol. 5 ที่มีเพลงร้องหลากหลายแนวจากนักร้องหลายๆ คน สิ่งที่น่าสนใจคือ เสียงร้องมีความจริงจัง เหมือนนักร้องแต่ละคนตั้งใจร้องมากขึ้น แต่ไม่ใช่การเน้นเสียงย่านกลางสูงเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดเสียงสดจัดจนมีเสียงขึ้นขอบกัดหู และในทางกลับกันก็ไม่พยายามเน้นให้เสียงย่านกลางต่ำมีมากเกินจริงเพื่อให้มีบุคลิกเสียงหนา นุ่ม เฉื่อย ช้า ดังนั้น เสียงของคู่ Pre G2+MAX จึงเรียกว่าลงตัวพอดีๆ สังเกตได้จากเพลงที่มีจังหวะการเหยียบเน้นย้ำกระเดื่องกลองก็ให้ความคมชัด หนักแน่น มีทั้งรายละเอียดของหัวเสียงและระลอกคลื่นที่ตามมาได้เป็นอย่างดี ทำให้เพลงที่ควรมีจังหวะคึกคักก็สามารถถ่ายทอดอกมาได้ดี และกับเพลงเบาๆ อย่าง Up to the Mountain ของ HUSH ที่ไม่ได้มีเสียงกลองแต่อย่างใด ก็สามารถถ่ายทอดลีลาการร้องออกมาได้อย่างน่าฟัง รวมทั้งเสียงเครื่องดนตรีชิ้นต่างๆ ก็มีความชัดเจนมีรายละเอียดดี หลังจากนั้นเปลี่ยนมาที่เสียง T-Rex เดินในแผ่น TELARC the Great Fantasy Adventure กันบ้าง เรียกได้ว่าน่าประทับใจมาก ถึงแม้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนสายลำโพงในระบบ แต่ด้วยความที่แนวเสียงของ Audionet คู่นี้ค่อนข้างเป็นกลาง และมีพลังในการควบคุมเสียงต่างๆ ได้ค่อนข้างนิ่งสนิท ทำให้เสียงเอฟเฟ็กต์ต่างๆ มีความรู้สึกเหมือนจริงค่อนข้างดี ไม่เพียงเสียง T-Rex เดิน แต่รวมถึงเสียงลูกธนูวิ่งผ่านอากาศมาก่อนขึ้นซาวด์แทร็ก Robin Hood ก็เรียกได้ว่าฟังแล้วแทบต้องเอี้ยวตัวหลบกันเลยทีเดียว และเมื่อได้ชุดที่ให้รายละเอียดเสียงย่านเบสได้ดีจึงต้องหยิบงานของ S.M.V. ชุด Thunder มาลองฟัง เพราะเป็นอัลบั้มของสามมือเบสขั้นเทพอย่าง Stanley Clarke, Marcus Miller และ Victor Wooten คิดเอาแล้วกันครับ ว่าปกติแค่มีเบสตัวเดียว ถ้าชุดเครื่องเสียงคุมความถี่ย่านตั้งแต่กลางลงไปยันเบสต่ำได้ไม่ดี มันก็ขาดความน่าฟังไปเยอะแล้ว แล้วเมื่อมีเบสสามตัวที่เล่นสอดผสานผลัดกันปล่อยของ ถ้าชุดที่ให้เสียงเบสได้ไม่กระชับ บวมช้า ขาดรายละเอียด คิดเอาแล้วกันว่าเสียงเบสมันจะมั่ว ยุ่งเป็นยุงตีกันขนาดไหน หรือถ้าแอมป์ที่เน้นเสียงกลางขึ้นไปถึงแหลมเป็นหลัก กดเบสให้น้อยๆ ไว้ก่อน กันเบสกวนกัน มันจะเป็นอย่างไร ถ้ามือเบสสามคนเล่นแล้วเพลงไม่มีฐานเสียงความถี่ต่ำให้ติดตาม เพลงก็คงหมดความน่าฟังไปทันที ซึ่ง Audionet Pre G2+MAX ไม่ทำให้ผิดหวังเลย เพราะสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของเบสแต่ละตัวที่เล่นในแต่ละโน้ตออกมาได้อย่างครบถ้วน ไม่มีตกหล่น ไม่มีตีรวนควบมั่วให้เห็นเลย ทำให้สามารถติดตามลีลาการปลองของมือเบสทั้งสามคนได้อย่างดี ฟังสนุกจริงๆ

ถ้าในระดับราคานี้ Audionet Pre G2+MAX ยืนอยู่ในแนวหน้าไม่แพ้เครื่องแบรนด์อื่นอย่างแน่นอน

ช่วงต่อมาเป็นการจับแยกคู่ โดยเอาปรีแอมป์ Mark Levinson No.32 มาจับคู่กับแอมป์ MAX ซึ่งตรงนี้มีความน่าสนใจตรงที่ทั้งดิจิทัลฟรอนต์เอ็นด์ของ dCS และปรีแอมป์ Mark เป็น Fully Balanced ในขณะที่ MAX มีการออกแบบวงจรเป็น SE ซึ่งสังเกตจากอินพุตอิมพีแดนซ์ของแอมป์ที่ช่อง RCA ก็มีค่า 37kOhm ซึ่งก็ถือว่าปกติ ไม่มากไม่น้อย แสดงว่าช่อง RCA น่าจะต่อตรงเข้ากับวงจรโดยตรง แต่ในช่อง XLR ที่มีอิมพีแดนซ์ต่ำผิดปกติอยู่ที่ 3kOhm เข้าใจว่าอาจต่อผ่านหม้อแปลงหรือวงจรรวมสัญญาณ ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้เป็นเหตุผลที่ทางผู้ผลิตแนะนำมาว่าให้ต่อใช้งานในช่อง RCA จะให้เสียงที่ดีกว่า ซึ่งถ้าเป็นการต่อใช้งานร่วมกับปรีของเขาเอง คำกล่าวนี้ก็เป็นจริง เพราะทั้งระบบทำงานในแบบ SE และไม่ต้องผ่านหม้อแปลงรวมสัญญาณ แต่ผมพบว่า เมื่อนำแอมป์ MAX มาต่อใช้งานกับแอมป์ที่มีวงจรเป็น Fully Balanced แท้ๆ พบว่าการต่อใช้งานในช่อง XLR จะได้อานิสงส์ของการหักล้างสัญญาณรบกวน ทำให้ได้มาซึ่งการแยกแยะชิ้นดนตรีที่ชัดเจนกว่า ดนตรีมีช่องไฟมากกว่า สามารถติดตามรายละเอียดเสียงของแต่ละเสียงได้ดีกว่า แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการที่อินพุตอิมพีแดนซ์ต่ำลง ทำให้รู้สึกเหมือนแอมป์เรี่ยวแรงน้อยลง ซึ่งค่อนข้างชัด เมื่อหยิบงานอย่าง Monkey Disco Boy ของ พี่สุกี้ มาฟัง จะพบว่าเมื่อต่อใช้งานในช่อง RCA เสียงเบสจะหนักแน่นสะใจ เต้นตามได้ในแบบที่เพลงแนวนี้สมควรเป็น แต่ก็รู้สึกว่าเสียงร้องฟุ้งๆ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เสียงดนตรีต่างๆ ก็ตีรวนปนๆ กันหน่อย เรียกว่าฟังเอามันได้อย่างเดียว แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น XLR เสียงร้องในแต่ละเพลงมีความชัดเจน มีความถูกต้อง สามารถติดตามรายละเอียดของเสียงต่างๆ ในเพลงได้เป็นอย่างดี รูปวงมีทั้งความกว้าง ลึก และมีระยะห่าง มีช่องว่างของพื้นที่ว่างของเสียงแต่ละเสียงอย่างน่าฟัง คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า เพลงแนวนี้ เสียงส่วนมากมันก็เป็นเสียงสังเคราะห์ ซึ่งไม่ได้มีเรื่องอะคูสติกห้องบันทึกเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ตอนทำเพลง เขาก็จะมีการวางตำแหน่งเสียงต่างๆ ไปตามจินตนาการของคนแต่ง เสียงแต่ละเสียงที่ใส่ลงไปก็มีตำแหน่งของมันแยกออกจากเสียงอื่นๆ ในวง และเขาก็จะมีการแพนตำแหน่งเสียงให้ไม่ซ้อนทับกันจนมั่ว ซึ่งถ้าเราไปฟังในผับ เขาก็จะมิกซ์ดาวน์เสียงให้เป็นโมโนเพื่อให้ทุกๆ พื้นที่ในร้านได้ยินเสียงเหมือนๆ กัน แต่เมื่อฟังที่บ้านเป็นสเตริโอที่ต้องมีตำแหน่งเสียง มีช่องว่างระหว่างเสียง มีทิศทางของบางเสียงที่จงใจทำให้เสียงวิ่งไปมา ตรงส่วนนี้ เมื่อต่อใช้งาน XLR จากปรีที่เป็น Fully Balanced แท้ๆ แล้ว ต้องบอกว่าเหนือชั้นกว่าต่อ RCA ค่อนข้างชัดเจนมาก แต่จากที่โดนผลกระทบเรื่องอิมพีแดนซ์ที่ทำให้เหมือนกำลังน้อยลง ทำให้เสียงเบสไม่กระแทกกระทั้นเท่าการต่อ RCA ก็ทำให้ความมันของเพลงแนวนี้หดหายไปไม่น้อยเลยทีเดียว เรียกว่ารักพี่เสียดายน้อง เลือกไม่ถูกเลยทีเดียว ถ้าได้การแยกแยะแบบ XLR แต่เบสหนักเท่า RCA คงต้องบอกว่าไม่ขออะไรอีกแล้ว ความคิดนี้ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อฟังเสียง T-Rex ในแผ่น Telarc the Great Fantasy Adventure Album ซึ่งเมื่อต่อ XLR เสียงนก เสียงแมลง ที่เป็นเสียงของป่า สามารถให้รายละเอียดออกมาได้เป็นธรรมชาติดีมาก แต่เสียงอินฟราซาวด์ที่เป็นแรงสั่นสะเทือนของย่างก้าวของ T-Rex ถึงจะนับว่าทำได้ดี แต่ก็ยังเป็นรองเมื่อต่อ RCA อยู่พอควร แต่ถ้าไม่ได้ฟังแผ่นทำลายล้างที่ต้องการพละกำลังในการผลักดันคลื่นความถี่ต่ำได้อย่างดุดันแบบที่แผ่นพวกนี้ต้องการ ผมก็แนะนำว่าให้ต่อใช้งานช่อง XLR สำหรับปรีแอมป์ที่เป็น Fully Balanced จะได้ความเป็นดนตรีที่มีรายละเอียดดีว่า ในคราวนี้ผมก็ตั้งใจจะใช้ช่อง XLR ตลอดการทดสอบกับปรีที่เป็น Fully Balanced แต่มาถึงตรงนี้ก็มีจุดที่สังเกตและต้องลองต่ออีกอย่างหนึ่งคือ มีการเปลี่ยนสายสัญญาณ XLR จากเส้นที่ใช้งานอยู่ปกติ ด้วยความที่ว่าสายสัญญาณ XLR ที่ใช้อยู่ประจำเป็นสายประเภทมีกระเปาะ ซึ่งมีการแยกระหว่างเครื่องหลอดและเครื่องโซลิดฯ จริงๆ แล้วเป็นในเรื่องของสัดส่วนระหว่างอินพุตอิมพีแดนซ์ของแอมป์เทียบกับเอาต์พุตอิมพีแดนซ์ของปรี ซึ่งโดยปกติ ถ้าเอาอินพุตหารด้วยเอาต์พุต ถ้าได้ค่ามากๆ เป็นหลักหลายๆ ร้อยหรือหลักพัน ให้ใช้สายที่จูนมาสำหรับเครื่องโซลิดฯ แต่ถ้าหารแล้วออกมาหลักสิบหรือร้อยต้นๆ ให้เลือกรุ่นสำหรับหลอด ในคราวนี้ เมื่อจับคู่ระหว่าง MAX และ Mark No.32 ก็จะได้สัดส่วนอิมพีแดนซ์เหลือแค่ 60 คล้ายเครื่องหลอด จึงพบว่ามีอาการไม่ค่อยเข้าขากับสายที่ใช้อยู่ประจำเท่าไหร่ อาการคือเสียงจะออกสดสว่างไปนิด เมื่อลองเปลี่ยนสาย XLR เป็น Signal Project Apollon XLR ที่เป็นสายไม่มีกระเปาะ และมีโทนเสียงออกทางอิ่มหนาขึ้นมาจากสายอ้างอิงอีกหน่อย พบว่าเสียงลงตัวพอดีๆ ในแผ่น Chick Corea Rendezvous in New York เสียงเปียโนมีความชัดเจนของหัวเสียงเปียโนเป็นอย่างดี มีบอดี้ของตัวเปียโนที่กำลังดี น่าฟัง เสียงไซโลโฟนมีประกายน่าฟัง เสียงกลองทำได้ดี แต่ยังไม่เด็ดขาดเท่าเสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่น คือเสียงฉาบ เสียงเคาะขอบกลองก็ฟังดี แต่กระเดื่องจะขาดแรงปะทะไปบ้าง น่าจะเป็นเพราะการใช้งาน XLR ที่ต้องผ่านหม้อแปลง แต่โดยรวมนับว่ามีความลงตัวน่าฟังดี เรียกได้ว่าแผ่นที่ไม่ถึงขั้นบ้าพลังอย่างเช่นแผ่นนี้ก็ให้ความเป็นดนตรีได้ครบถ้วนดี แค่อาจจะไม่ได้เด็ดขาดสดสมจริงที่สุดเท่าที่เคยฟังแผ่นนี้มา แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า แอมป์ที่เคยให้เสียงได้สดมีชีวิตชีวาสมจริงได้มากกว่านี้ก็มากับค่าตัวที่แพงกว่าเกือบเท่าตัวทีเดียว ดังนั้น ในส่วนนี้ เมื่อมองถึงระดับค่าตัวก็พบว่า MAX ให้คุณภาพเสียงได้น่าสนใจทีเดียว และเมื่อต้องหาคำตอบว่า เพลงประมาณไหนที่เรียกว่าเล่นด้วยช่อง XLR ได้ดี ก็ลดดีกรีความโหดลงมาลองเพลงจากละครเวทีอย่าง Love Never Dies ซึ่งก็ต้องบอกว่าเหลือเฟือ แม้จะเป็นแทร็กที่ต้องการฐานเสียงต่ำๆ อย่าง ‘Til I hear you sing ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรี่ยวแรงที่ลดลงไปบ้างจะไม่พอแต่ประการใด และในเพลง Love Never Dies ก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของ คริสติน ที่ตอนต้นๆ เพลงยังรู้สึกลังเล สับสน แต่เมื่อร้องๆ ไปก็มีความมั่นใจมากขึ้น ในช่วงท้ายๆ ของเพลงที่ต้องใช้พละกำลังในการร้องสูงๆ ก็พบว่า MAX สามารถคุมลำโพงได้อย่างอยู่หมัด ไม่มีส่ออาการเพี้ยนใดๆ ให้รู้สึกระคายหูเลย เรียกได้ว่าในอัลบั้มนี้ ความนิ่งสงบต่อเนื่องของ XLR ทำได้ดีจนไม่รู้สึกต้องพึ่งพละกำลังของฐานเบสจากการต่อ RCA เลยแม้แต่น้อย ส่วนถ้าเพลงที่เรียกร้องพละกำลังจากแอมป์น้อยกว่าแผ่นนี้ ก็คงต้องบอกว่า ไม่มีปัญหาแน่นอน 

สรุป 

Audionet Pre G2 และ MAX ถือเป็นคู่ปรี+เพาเวอร์แอมโมโนบล็อกที่ทำงานเข้าขากันได้ดี เมื่อเชื่อมต่อด้วยสาย RCA ตามที่ผู้ออกแบบแนะนำมีความนิ่งที่มาจากพละกำลังที่สามารถควบคุมลำโพงได้เป็นอย่างดี มีโทนเสียงที่เป็นกลาง ไม่มีความแข็งกระด้าง ไม่เติมบางย่านความถี่เพื่อจูนเสียงให้หวานเกินจริง สามารถรองรับกับเพลงได้ทุกแนวเป็นอย่างดี และเมื่อแยกเอาแอมป์ MAX มาจับคู่กับปรีอื่นก็พบว่าสามารถจับคู่ได้ค่อนข้างดี แค่อาจจะมีเรื่องอินพุตอิมพีแดนซ์ หากต้องการใช้ XLR ที่นับว่าค่อนข้างต่ำไปหน่อย แต่หากจับคู่ลงตัวได้ดีแล้วก็สามารถให้เสียงที่มีคุณภาพสูงมาก เมื่อเทียบกับราคาแล้ว นับว่าเป็นตัวเลือกตัวหนึ่งที่น่าสนใจมากทีเดียว อาจไม่ถึงขั้น Ultimate High End ที่มีราคาสูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัว แต่ถ้าในระดับราคานี้ Audionet Pre G2+MAX ยืนอยู่ในแนวหน้าไม่แพ้เครื่องแบรนด์อื่นอย่างแน่นอน สำหรับใครที่มองหาแอมป์โซลิดสเตทกำลังสูง คุณภาพดี ตัวนี้ต้องอยู่ในลิสต์ที่ต้องลองฟังให้ได้ ก่อนตัดสินใจ ไม่งั้นอาจเสียใจทีหลังได้ แล้วอย่ามาหาว่าไม่ยอมบอก ผมเตือนคุณแล้ว. ADP

Audionet PRE G2 ราคา 550,000 บาท
Audionet MAX ราคาคู่ละ 750,000 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย LIVING SOUND
โทร. 089-517-2222

นิตยสาร AUDIOPHILE - VIDEOPHILE ฉบับที่ 258