วุฒิศักดิ์
วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ 

Fyne Audio อาจเป็นชื่อใหม่ที่ไม่คุ้นหูนักเล่นเครื่องเสียงในบ้านเรามากนัก สำหรับตัวผมเองได้มีโอกาสรู้จัก Fyne Audio เป็นครั้งแรก ในงานเครื่องเสียงที่ฮ่องกงที่ผมได้ไปเมื่อปีที่แล้ว ผมพบว่าเป็นลำโพงยี่ห้อหนึ่งที่ให้เสียงได้น่าสนใจดี เป็นห้องหนึ่งที่เข้าไป ฟังแล้วรู้สึกว่าเสียงมีแววดี แต่ในเวลานั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน และในเวลานั้นก็ยังไม่มีตัวแทนในบ้านเรา กระทั่งได้รับ Fyne Audio F702 มาทดสอบ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นคนละ รุ่นกับที่ได้ฟังที่ฮ่องกง) เมื่อได้ดูการออกแบบในหลายๆ จุด ก็มี ความรู้สึกคุ้นเคย และทำให้นึกถึงลำโพง Tannoy Revolution XT 8F ที่ผมเคยทดสอบในปี 2015 ในช่วงที่เริ่มเข้ามาร่วมงานกับนิตยสาร Audiophile ใหม่ๆ อยู่ไม่น้อย ซึ่งหลังจากค้นคว้าข้อมูลก็พบว่า จริงๆ แล้ว ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง Fyne Audio ก็คือทีมงานที่เคยอยู่กับ Tannoy นั่นเอง กล่าวคือ… ราวๆ ปี 2002-2015 เป็นช่วงที่ Tannoy ถูกควบรวมกิจการโดย TC Group และมีการให้น้ำหนักไปที่ การทำลำโพง Home Studio Monitor ซึ่งกำลังมีความนิยมมากขึ้น ทำให้โรงงานในสก็อตแลนด์ที่เป็นหน่วยงานออกแบบลำโพงไลน์ High-End ที่ยึดมั่นในการออกแบบ Dual-Concentric เริ่มมีอนาคต ที่ไม่แน่นอน ทางทีมงานเดิมจึงมีการรวมตัวกันตั้ง Fyne Audio เพื่อเป็นผู้ผลิตลำโพงสำหรับใช้ในบ้านอย่างจริงจัง โดยมี Andrzej Sosna เป็น MD และมี Dr. Paul Mills ผู้เคยเป็น Engineering Director จาก Tannoy มาดำรงตำแหน่ง Technical Director ให้กับ Fyne Audio ซึ่ง Dr. Paul คนนี้มีประสบการณ์ในการออกแบบลำโพง อยู่กับ Tannoy มากว่า 30 ปี นอกจากนี้ยังมี Max Maud เป็น Sales & Marketing Director มี Stuart Wilkinson เป็น Products Director มี Gabriel O’Donohue เป็น Operations Director เมื่อรวมทีมงานหลักๆ ทั้งหมด นับรวมประสบการณ์กันได้มากกว่า 200 ปีทีเดียว จึงถือว่า Fyne Audio ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหน้าใหม่แต่อย่างใด 

จุดที่ถือว่ามีความน่าสนใจของ Fyne Audio อยู่ตรงที่ ถ้าเราเปิดโอกาสให้นักออกแบบมือเก๋า ได้ Fresh Start เริ่มออกแบบลำโพงโดยร่างจาก กระดาษเปล่า สามารถหยิบยกเทคโนโลยีที่เคย ออกแบบแล้วได้ผลดีเอามาใช้ และไม่ติดกับส่วน ที่เคยเป็นข้อจำกัดเดิมๆ เช่น การต้องใช้ตัวขับ เสียงที่มีในสต๊อก, การต้องมีรูปร่างหน้าตา อนุรักษ์นิยมเอาใจฐานลูกค้าเดิม ฯลฯ ทำให้ผู้ออกแบบสามารถโยนข้อจำกัดพวกนั้นทิ้งไป ได้หมด แล้วเริ่มต้นใหม่แบบมีประสบการณ์ สามารถสรรหาสิ่งที่คิดว่าดีกว่าเดิมเอามาใช้ ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุใหม่ๆ รูปทรงตู้ กระบวนการผลิตใหม่ๆ ก็สามารถนำมาใช้ ได้หมด ด้วยกระบวนการแบบนี้ เรามักจะได้พบ กับงานออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่มี ความน่าสนใจเป็นอย่างมาก และในคราวนี้ก็มี หลายจุดที่เห็นได้ใน Fyne Audio F702 ครับ 

Fyne Audio F702 เป็นลำโพงตั้งพื้น 2.5 ทาง รองรับกำลังขับ 30-200 วัตต์ ความไว 92dB ที่ 2.83V ที่ระยะ 1 เมตร อิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม ตอบสนองความถี่ 30Hz – 34kHz โดยมี การออกแบบเป็นลำโพง Dual-Concentric คือมีการวางตัวขับเสียงสูงที่เป็น Tweeter แบบ Compression Horn ขนาด 1 นิ้ว โดม แมกนีเซียมอัลลอย ติดตั้งไว้ตรงกลางกรวย 

Mid/Woofer ขนาด 8 นิ้ว เพื่อให้ตัวขับเสียงทั้ง 2 ตัวนี้ทำงานซ้อนทับกัน เหมือนเสียงกำเนิดมาจากจุดเดียวกัน ซึ่งสามารถพบข้อดีของการออกแบบ Dual-Concentric ได้จากการที่สนามเสียงมีการกระจายตัวอิสระเป็นสามมิติ มีทั้งด้านกว้างและลึก โดยจุดตัดความถี่ระหว่าง Mid/Woofer จะตัดที่ 1.7kHz ตัว Mid/Woofer ทำงานตลอดย่านตั้งแต่ 1.7kHz ลงมาถึงความถี่ต่ำสุดที่ 30Hz โดยที่ความถี่ต่ำกว่า 250Hz จะมี Woofer อีกตัวที่ทำจากวัสดุเดียวกัน หน้าตาภายนอกเหมือนๆ กัน รับหน้าที่ไป ขอบยางเซอร์ราวด์ของไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัวมีการออกแบบให้เป็นแนวเส้นบากเป็นช่วงๆ เรียกว่า Fyne FluteTM Surround ตรงกลางของ Woofer ตัวล่างจะติดตั้งเฟสปลั๊กมาแทนตำแหน่งของ Tweeter 

อีกส่วนหนึ่งที่ถือว่าน่าสนใจคือ การออกแบบตู้ภายในให้มีปริมาตร 2 ตู้แยกกัน (Twin Cavity Loading System) โดยตัวขับเสียงอยู่ในตู้บน แล้วมีท่อระบายพลังงานความถี่ต่ำมาที่ตู้ที่สอง เพื่อเป็นการกรองความถี่สูงออกอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงค่อยปล่อยให้เสียงต่ำออกทางพอร์ตที่ออกแบบให้เป็นฐานตู้บริเวณขาตั้ง ซึ่งถูกออกแบบให้มีตัวบังคับคลื่นเสียงให้ค่อยๆ ระบายออกรอบตัวลำโพง

อย่างเป็นระเบียบ เพื่อให้เสียงต่ำมีความสะอาด ทาง Fyne Audio เรียกระบบนี้ว่า BassTraxTM ซึ่งถือว่าเป็นการออกแบบที่น่าสนใจในการเอาอะคูสติกส์มาช่วยส่งเสริมการทำงานของลำโพง เพื่อจะได้ไม่จำเป็นต้องใช้วงจรในภาคครอส-โอเวอร์ที่ซับซ้อนเกินจำเป็นในส่วนของงานตู้ต้องขอชมเชย เนื่องจากคู่ที่ได้รับมาเป็น Piano Gross Walnut ต้องขอชมว่ามีความเรียบร้อย เงางามสมชื่อ Piano Gross อย่างแท้จริง นับว่าเป็นงานตู้ลำโพงที่ดูดีมีราคาเกินหน้าลำโพงในระดับราคานี้ไปพอควร นอกจากนี้ยังมีสีดำและขาว ให้เลือกด้วยเช่นกัน 

ในช่วงเบิร์นอิน ผมได้ต่อกับแอมป์ Classe’ CA-M600 ที่มีกำลังขับเหลือเฟือจะควบคุม Fyne F702 ให้อยู่กับร่องกับรอย เสียงตรึงตำแหน่งแน่นกระชับ รูปวงทั้งกว้างและลึกทำได้ดี โทนเสียงออกมาทางอิ่มหนาจนออกจะหนาเกินไปนิดเสียด้วยซ้ำทำให้เหมือนมีบางอย่างที่ขาดหายไป คือฟังได้ดี แต่ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมเท่าไหร่ จึงลองเปลี่ยนมาลองแอมหลอดดูบ้าง โดยลองเล่นกับ Cary Audio V12 ที่สามารถปรับกำลังขับได้ทั้ง 50 และ 100 วัตต์ ก็ได้สำเนียงความเป็นหลอด แต่ดูไม่ค่อยเข้าขากับ F702 เท่าไหร่ เพราะโทนเสียงที่ได้ออกสดสว่างมากไปนิด ตรงจุดนี้ถือเป็นข้อดีที่ Fyne Audio F702 นับว่ามีความเป็นมอนิเตอร์ที่สามารถถ่ายทอดความแตกต่างของแอมป์ทั้ง 2 ตัวข้างต้นได้อย่างชัดเจน แปลว่าลำโพงมีความเที่ยงตรงดีทีเดียว ไม่ได้มีบุคลิกประจำตัวเด่นชัดมากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงลองเปลี่ยนมาเป็น Aurorasound PADA ซึ่งเป็นแอมหลอด EL34 Triode Push-Pull ที่ใช้หลอด EL34 ข้างละ 4 หลอด ได้กำลังขับ 43 วัตต์ ตอนแรกก็แอบหวั่นๆ อยู่ว่าจะไหวไหม แต่เมื่อได้ลองก็พบว่าไปด้วยกันกับ F702 ค่อนข้างดีมาก ดังนั้น ในการทดสอบครั้งนี้จะเน้นจับคู่กับ Aurorasound PADA

คุณภาพเสียง

โดยเริ่มต้นด้วยแผ่นเสียง Vanessa Fernandez: When the Levee Breaks ที่เป็นการนำเพลงของวง Pink Floyd มาเรียบเรียงใหม่ได้น่าสนใจดี ไม่เบา ไม่หนักจนเกินไป ส่วนมากบรรเลงด้วยอะคูสติกกีตาร์ ซึ่งเหมาะสมดีกับเสียงของนักร้องหญิง อารมณ์คล้ายๆ Sara K ในบางเพลงมีการใช้กีตาร์ไฟฟ้าใส่เอฟเฟ็กต์เสียงแตกให้มีกลิ่นอายของเพลงต้นฉบับติดมาด้วย แต่ก็ไม่ได้ใส่มาเต็มๆ ให้ผิดสไตล์เพลงในอัลบั้มไป ซึ่ง Fyne Audio F702 สามารถให้รายละเอียดของเสียงร้องและเสียงกีตาร์ได้เป็นอย่างดี สามารถติดตามลีลาการเล่น การร้องได้อย่างเพลิดเพลิน น้ำเสียงมีความนุ่มนวลผ่อนคลายน่าฟังในแบบฉบับของเพลง Audiophile แนวหลงเสียงนาง ไม่เสียทีที่เล่นด้วยแผ่นเสียงขับผ่านแอมป์หลอด 

ต่อด้วยแผ่นเสียง G3: Live in Tokyo บันทึกการแสดงสดของมือกีตาร์ระดับเทพ 3 คน อย่าง Joe Satriani, Steve Vai และ John Petrucci เมื่อเปลี่ยนมาเล่นแผ่นที่เป็น Rock Concert ก็จะพบข้อจำกัดด้านกำลังของแอมป์หลอดที่นำมาขับบ้าง อาทิ ในเพลงสุดฮิตนักแจมอย่าง Smoke on the Water ถึงแม้ Fyne Audio F702 จะสามารถถ่ายทอดสำเนียงของนักกีตาร์ทั้ง 3 คนที่มีความแตกต่างออกมาชัดเจนในระหว่างที่โซโล่อย่างเมามันพร้อมๆ กัน อีกทั้งก็ยังสามารถติดตามลีลาการเล่นของแต่ละคนได้ไม่มีตกหล่น ทว่า เสียงเบสไฟฟ้ากับกลองอาจจะยังขาดพลังไปบ้าง ซึ่งผมได้ฟังแทร็กนี้ตอนที่ต่อใช้งานกับ Classe’ CA-M600 ด้วย แต่จะขอเล่ารายละเอียดอีกทีในส่วนหลัง

ย้ายจากแผ่นเสียงมาฝั่งดิจิทัลกันบ้าง กับแผ่น SACD Radka Toneff: Fairy Tales หัวเสียงเปียโนมีความกังวานดีมาก บอดี้เนื้อไม้ของตัวเปียโนมีพอประมาณตามขนาดตัวของลำโพง F702 ที่ถือเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางไม่ได้ใหญ่มากมาย เสียงร้องมีความนุ่มนวลน่าฟัง มีการสวิงไดนามิกดังเบาที่ต่อเนื่องเป็นธรรมชาติดี มีรายละเอียดของการเลี้ยงลมในการร้องที่ดี

แผ่น The Super Jazz Trio: The Standard เสียงเปียโนมีความสดใสดี ดับเบิลเบสแน่นกระชับ ติดตามโน้ตได้ดี เสียงกลอง พวกเสียงการใช้แส้แปรงในการเล่น ทั้งการไล้ไปบนผิวฉาบ และการตีลงบนกลองสแนร์ ก็สามารถให้รายละเอียดได้อย่างน่าติดตาม เสียงกลองกระเดื่องหนักแน่นพอประมาณ เรื่องความหนักแน่นของกระเดื่องอาจเป็นได้ว่า ลำโพงยังถือว่าเล็กเกินห้องทดสอบไปหน่อย แถมแอมป์หลอดที่เอามาขับก็ยังมีกำลังค่อนข้างต่ำไปนิด ถ้าวางในห้องที่เล็กลงประมาณราวๆ 24 ตารางเมตร ก็น่าจะให้เสียงกระเดื่องกลองได้หนักแน่นขึ้น ซึ่งที่บอกว่ายังไม่สุดนี้ จริงๆ ก็หนักแน่นกระชับค่อนข้างดีมากแล้ว เพียงแต่ช่วงเสียงกลางและกลางต่ำที่เป็นเสียงกลองสแนร์ กลองทอม มันหนักแน่นเกินหน้าเกินตากระเดื่องไปบ้างเล็กน้อย เลยทำให้อยากได้กระเดื่องที่มีพละกำลังมากขึ้นอีกนิด ให้สมดุลกันเฉยๆ อีกจุดที่น่าสนใจคือ การตรึงตำแหน่งของเสียงต่างๆ ได้นิ่งดี ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการวางตัวขับเสียงแบบ Dual-Concentric ให้มีแหล่งกำเนิดเสียงเหมือนออกมาจากจุดเดียวกัน 

ในช่วงหลังได้ลองเอา Classe’ CA-M600 มาต่อใช้งานอีกรอบ แต่คราวนี้มีการเปลี่ยนวิธีการต่อสายลำโพงเล็กน้อย เนื่องจากสายลำโพงที่ผมใช้เป็นสายซิงเกิลไวร์ ในช่วงแรกผมต่อสายลำโพงเข้าที่ขั้ว Low Frequency แล้วใช้จัมเปอร์ต่อมายังขั้ว High Frequency ซึ่งได้เสียงที่กลมกล่อมน่าฟังดี แต่คราวนี้เมื่อเสียงออกหนาเกินไป เลยลองย้ายสายลำโพงมาต่อที่ขั้ว HF แทน พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก และเมื่อโทนบาลานซ์ของเสียงมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการปรับตำแหน่งลำโพงเพิ่มเล็กน้อย เมื่อได้จุดที่ลงตัวดี พบว่ากำลังขับระดับ 600 วัตต์ก็สามารถฉายแววการขับเสียงเบสให้มีปริมาณเหมาะสมกับลำโพงดีขึ้นมาก อีกทั้งเสียงกลางขึ้นไปถึงแหลมที่เคยรู้สึกทึมๆ ขาดความน่าฟังก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อลองเอาแผ่นเสียง G3: Live in Tokyo มาเปิดฟังแทร็ก Smoke on the Water ก็พบว่าเสียงกีตาร์มีการแยกแยะลีลาของทั้ง 3 คน ชวนให้น่าติดตามเหมือนตอนที่เล่นกับ Aurorasound PADA แล้ว แถมยังได้ปริมาณเบสและกลองที่ออกมามีความเสมอสมานกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เลยพาลให้ไป หยิบงานของวง Silly Fools อัลบั้ม Candy Man มาเปิดต่อ ก็พบว่า Fyne F702 สามารถถ่ายทอดเพลงดุดันแบบนี้ออกมาได้ดี ไม่มีภาพของแนวเสียงแหลมที่ติดจัดจ้าน เจิดจ้า พุ่งสาด แบบที่หลายท่านเคยพูดไว้เกี่ยวกับลำโพง Dual-Concentric ที่ใช้ Horn Tweeter เข้าใจว่าอาการนั้นน่าจะเกิดจากความไม่เข้ากันของอุปกรณ์ในชุด มากกว่าที่จะโทษให้มาเป็นบุคลิกของลำโพง ซึ่งพบว่า Fyne Audio F702 เมื่อจับคู่กับแอมป์ได้ลงตัวแล้วจะให้โทนเสียงที่ติดอิ่มหนา อบอุ่นอยู่ในที เสียงแหลมไม่ได้เน้นให้มีปริมาณมากเกินจริง เพื่อให้รู้สึกว่าหางเสียงทอดยาวเป็นประกาย รายละเอียดระยิบระยับ เสียงแหลมของ F702 ที่เซ็ตลงตัวแล้วจะให้ตำแหน่งเข้าไปอยู่ถูกที่ ถูกทาง อยู่ลึกเข้าไปในวงเหมือนเสียงอื่นๆ เหมือนอย่างเสียงนิ้วรูดไปบนคอของกีตาร์โปร่ง มันก็ต้องอยู่ลึกเข้าไปในวงที่ระดับความลึกเดียวกันกับบอดี้ไม้ของตัวกีต้าร์ ซึ่งตรงจุดนี้ F702 ถือว่าทำได้ดี 

เมื่อกำลังขับและแนวเสียงของแอมป์ไม่เป็นปัญหา จึงขอเพิ่มดีกรีความดุเดือดด้วยแผ่นเสียง Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon ก็ต้องบอกว่า F702 ไม่ทำให้ผิดหวังกับเสียงเบสที่ค่อนข้างใหญ่ ให้สเกลของวงดนตรีที่มีความกว้างและลึกเข้าไปได้อย่างถูกต้อง เสียงกลองจีนใบใหญ่ และเสียงความถี่ต่ำอื่นๆ ก็สามารถให้ปริมาณออกมาได้กำลังดี คือสมส่วนกับการเป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางๆ ในระดับราคานี้ มันอาจจะไม่ได้ให้เบสหนักแน่นสะเทือนเลื่อนลั่นแบบการตีกลองจริงๆ แต่ก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดว่า ลำโพงในระดับราคานี้ให้เบสได้หนักแน่นขนาดนี้ก็ควรจะเหมาะสมดีแล้ว ยิ่งเมื่อได้ฟังความกว้างใหญ่ของรูปวงที่ได้กล่าวไป ผมถือว่าอยู่ในระดับเหนือความคาดหมายจากลำโพงในระดับราคานี้ไปมากพอสมควร ดังนั้น เมื่อรวมกับงานการออกแบบรูปทรง และความสวยงามในการผลิตตู้ ผมถือว่า Fyne Audio F702 เป็นลำโพงที่น่าสนใจมากตัวหนึ่งในระดับราคานี้ เพียงแต่ต้องใส่ใจในการจับคู่ร่วมกับแอมป์ และการใส่ใจในการแม็ตชิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ เพราะเป็นลำโพงที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง

ถ้ามีห้องขนาดราวๆ 4 x 6 เมตร แล้วจัดลำโพง Fyne Audio F702 มาใช้งาน ถ้างบประมาณจำกัดหน่อย อยากได้เครื่องน้อยชิ้น ทำให้ผมนึกถึงอินทิเกรตแอมป์ Anthem STR ขึ้นมาทันที น่าเสียดายที่ไม่ได้เอามาลองในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ดูจากราคา กำลังขับ และแนวเสียง ขอเดาว่าน่าจะมีแววไปด้วยกันได้ดีทีเดียว แต่ถ้ายังมีงบเหลือ แล้วได้ลองจับคู่กับ Aurorasound PADA ก็นับว่าเป็นคู่ที่น่าจะเข้าขากันได้ดีมากๆ คู่หนึ่ง แต่ถ้ายังต้องการพละกำลังแบบไร้ขีดจำกัด Classe’ CA-M600 ก็เป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ได้ดี 

Fyne Audio F702 ถือเป็นลำโพงที่มาก ด้วยชื่อชั้นทีมงานออกแบบที่ครำหวอดในวงการมานานมาก และงานผลิตตัวตู้ที่เรียกได้ว่าสวยงามเกินหน้าเกินตาลำโพงในระดับราคาเดียวกัน บวกกับน้ำเสียงที่มีความกลมกล่อมน่าฟัง ทำให้ Fyne Audio F702 เป็นลำโพงที่น่าสนใจมากอีกตัวหนึ่งที่ได้ทดสอบในปีนี้. ADP

ราคาพิเศษ 298,000 บาท
จัดจำหน่ายโดย HIGH END GALLERY – THE NINE พระราม 9
โทร. 0-2056-7934, 086-252-2429
HIFI STUDIO – CDC SHOPPING CENTER
โทร. 087-070-1685

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 270