ปัจจุบันมีลำโพงไวร์เลสให้เลือกซื้อหากันตามกำลังทรัพย์มากมายหลายรุ่น แน่นอนว่า คุณภาพของลำโพงไวร์เลสยุคนี้ต้องบอกว่า คุณภาพเสียงและฟังก์ชั่นการใช้งานไปไกลกว่าเดิมมากโข แต่ก็ยังมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่สามารถข้ามกำแพงของคำว่า “ไฮไฟ” มายืนรวมหัวแถวกับลำโพงบ้านชั้นดีสำหรับฟังเพลงได้อย่างไม่ขัดเขิน หนึ่งในนั้นต้องนับ KEF แบรนด์ดังจากอังกฤษเข้าไปด้วย เพราะแต่ละโมเดลที่เปิดตัวมา นับตั้งแต่ LS50 wireless รุ่นแรก ก็ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากสื่อหลายสำนัก ไม่แพ้ซีรี่ส์ลำโพงไฮไฟของตัวเองเลย

สำหรับ KEF LSX II LT เป็นลำโพงไวร์เลสรุ่นใหม่ล่าสุด (LT คือ เวอร์ชั่น lite) ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า KEF กำลังจะก้าวข้ามขีดจำกัดใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะว่าเป็น pain point ก็ไม่เชิง นั่นคือ เรื่องของ “ราคา” เพราะเมื่อ LSX II LT เปิดตัวมา ก็กลายเป็นลำโพงไวร์เลสที่ราคาจับต้องได้ง่ายที่สุดของ KEF ณ ชั่วโมงนี้ไปแล้ว

ทางผู้ผลิตเองยืนยันอย่างหนักแน่นว่า LSX II LT มีคุณภาพเสียงเหมือนรุ่นพี่ LSX II และยังคงฟีเจอร์หลักเอาไว้ทุกประการ แต่มีราคาที่จับต้องง่ายขึ้น (ต่างกันหมื่นกว่าบาท) เชื่อว่ากระตุกต่อมคนที่กำลังเล็งลำโพงไวร์เลสพรีเมี่ยมสักคู่อยู่ไม่น้อย ส่วน KEF ทำได้อย่างไร คำตอบมีอยู่ในบทความนี้ครับ

LSX II vs. LSX II LT ความเหมือนที่แตกต่าง

เพื่อไม่ให้เสียเวลา มาดูกันเลยว่าทั้งสองรุ่นนี้ต่างกันตรงไหน? อย่างไร? ส่วนของฟีเจอร์สำคัญหลักๆ ที่ยังคงเดิมคือ การใช้ Uni-Q Driver Array รุ่นที่ 11 ขนาด 4.5 นิ้ว ภาคขยายแบบ class D กำลังขับ 200 วัตต์ และ W2 Wireless แพลตฟอร์ม โดยตัวของ LSX II LT เอง มีข้อแตกต่างในส่วนฟีเจอร์ย่อยดังนี้

  • ไม่รองรับ Roon Ready, MQA
  • ไม่มีช่อง Analog 3.5mm AUX
  • ใช้ไฟเลี้ยงจากลำโพงหลักข้างเดียว (LSX II มีสายไฟทั้งสองข้าง)
  • เชื่อมต่อระหว่างลำโพงด้วยสาย USB-C (LSX II ใช้สาย RJ45)

เมื่อพิจารณาดูจะพบว่า KEF ฉลาดเลือกในการตัดฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นออก เพราะเป็นฟีเจอร์ที่เหมาะกับซีรี่ส์ใหญ่อย่าง LS50 Wireless II หรือ LS60 Wireless ที่สเปคเหมาะสมมากกว่า และการไม่ต่องจ่ายค่า license ให้กับ Roon และ MQA รวมถึงฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อที่ลดความซับซ้อนลงก็น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำราคาต้นทุนได้ต่ำลงกว่า LSX II ร่วมหมื่นกว่าบาทเลยทีเดียว

รูปลักษณ์และดีไซน์

LSX II LT มีสัดส่วนเท่ากับ LSX II แทบทุกประการ ดีไซน์โดย Michael Young อินดัสเชี่ยล ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวอังกฤษคู่บุญของ KEF เช่นกัน แต่มีสีให้เลือกน้อยกว่าคือ Sage Green, Graphite Grey (ตัวที่ส่งมารีวิว), และ Stone White ผิวตู้เป็น semi-gloss ไม่มีผิวพิเศษ หรือลายผ้าแบบ LSX II แผงหน้าบริเวณด้านล่างดอกลำโพงมี LED indicator ระบุสถานะการทำงานด้วยโค้ดสีต่างๆ พอร์ตเชื่อมต่ออยู่ที่แผงหลังของลำโพงหลัก จ่ายไฟเลี้ยงไปยังลำโพงอีกข้างผ่านสาย USB-C (interspeaker) เท่ากับว่ามีสายไฟเอซีออกจาก LSX II LT แค่ข้างเดียว ลดความรุงรังของการเชื่อมต่อสายไฟเอซีสองเส้น

ส่วนของ Accessories ของ LSX ซีรี่ส์ที่แยกจำหน่ายและใช้งานกับ LSX II LT ได้ คือ.. P1 Desk Pad สำหรับวางลำโพงบนโต๊ะทำงาน, ขาตั้ง S1 Floor Stand ความสูง 27 นิ้ว, และ C-Link Interspeaker Cable ความยาว 8 เมตร สำหรับใครที่ต้องการวางลำโพงห่างกันมากๆ นอกจากนี้ ถ้าต้องการเสริมความถี่ต่ำให้สมบูรณ์ KEF ก็ออกแบบซับวูฟเฟอร์รุ่น KC62 ให้มาเซ็ตอัพร่วมกันเป็นระบบ 2.1 แชนเนล พร้อม KW1 Wireless Subwoofer Adaptor Kit ในกรณีต้องการเชื่อมต่อกับซับวูฟเฟอร์แบบไร้สาย

มิติของ LSX II LT คือ 240 x 155 x 180 มม. (สูง x กว้าง x ลึก) อะคูสติกส์ของตู้เป็นระบบ bass reflex ที่ออกแบบมาอย่างดีเยี่ยมไร้เสียงรบกวน ติดตั้ง Uni-Q Driver Array เจเนอเรชั่น 11 กึ่งกลางของกรวยติดฝังทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมขนาด 0.75 นิ้ว พร้อม Tangerine Waveguide ช่วยให้เสียงย่านสูงมีความใสและนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น ส่วนเบส/มิดเรนจ์เป็นกรวยแมกนีเซียม/อะลูมิเนียมอัลลอยขนาด 4.5 นิ้ว ที่เบาและแกร่ง ไล่ความถี่ที่ตัวกรวยจะเกิดอาการเบรคอัพไปไกลลิบ เสริมด้วยขอบยาง Z-Flex ทำให้ได้ย่านเสียงกลางที่มีความสะอาดและราบรื่น

ภายในลำโพงแต่ละข้างใช้เพาเวอร์แอมป์แบบ class D แยกขับย่านเสียงสูง 30 วัตต์ และขับย่านความถี่ต่ำ 70 วัตต์ ทั้งหมดถูกควบคุมการทำงานด้วยคัสต้อม DSP ประสิทธิภาพสูงที่ KEF พัฒนาแบบ in-house เรียกว่า “Music Integrity Engine” จัดการเรื่องของฟิลเตอร์ความถี่ครอสโอเวอร์, การปรับแต่ง Phase Correction, ปรับแต่งเสียงเบส และการปรับแต่งอิควอไลเซอร์ ส่วนของช่องเชื่อมต่อจะอยู่ด้านหลังของลำโพงหลัก Primary โดยช่องดิจิทัลอินพุตแต่ละช่องสามารถรองรับความละเอียดดังนี้

  • Network สูงสุด 384kHz/24bit
  • Optical สูงสุด 96kHz/24bit
  • USB Type C สูงสุด 192kHz/24bit
  • HDMI สูงสุด 1.411Mbps PCM

หมายเหตุ ด้วยการเชื่อมต่อระหว่างลำโพงผ่านสาย Interspeaker ไม่ว่าแหล่งสัญญาณที่เข้ามามีความละเอียดเท่าไหร่ ข้อมูลจะถูกทำ re-sample เป็น 96Hz/24bit PCM ทั้งหมด

ส่วนการสั่งงานระบบใช้แพลตฟอร์มไร้สาย W2 ที่ทาง KEF ออกแบบให้ทำงานร่วมกับแอพ KEF Connect ในการสั่งงานและควบคุมลำโพง เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสตรีมเพลงจาก Qobuz, TIDAL, Deezer, Amazon Music, สถานีวิทยุอินเทอร์เน็ต และ พอดแคสต์ ผ่านโปรโตคอล AirPlay2, Spotify connect, TIDAL connect, Google Chromecast, UPnP, หรือ Bluetooth 5.0 ส่วนการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานเป็นลำโพงแบบตั้งโต๊ะ ก็เชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB-C เหมือนเราต่อซาวด์การ์ดแยกภายนอก หรือหากจะใช้งานกับทีวีก็เชื่อมต่อผ่านพอร์ต HDMI ARC ได้เลย และถ้าอยากชมภาพยนตร์ให้สนุกขึ้นไปอีก เสริมซับวูฟเฟอร์ KC62 เข้าไปอีกตัวเป็นระบบ 2.1 แชนเนล เท่านี้ก็กระหึ่มแซงหน้าซาวด์บาร์ไปหลายขุมแล้ว

อุปกรณ์ที่อยู่ภายในกล่อง

  • ลำโพง LSX II LT
  • สายไฟเอซี
  • สาย USB-C Interspeaker 3 ม.
  • รีโมทคอนโทรล
  • เอกสาร / คู่มือ

การเซ็ตอัพ

พอเสียบปลั๊กให้ LSX II LT ทำงาน จากนั้นเปิดแอพ KEF connect บนมือถือ และทำการล็อกอิน account ของ KEF ให้เรียบร้อย จากนั้นตัวลำโพงจะทำการสแกนหาเน็ตเวิร์กภายในบ้าน ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปจนจบ ผมเลือกเชื่อมต่อด้วย WiFi 2.4 GHz เป็นหลัก เพราะสะดวก และตัวลำโพงเองอยู่ห่างจาก Router แค่ 3-4 เมตร ทำให้สัญญาณ Wi-Fi มีความแรงและเสถียรมากเพียงพออยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องลากสาย LAN ให้วุ่นวาย

แม้จะเป็นลำโพงที่ดูไลฟ์สไตล์ แต่ถ้าพิถีพิถันเรื่องการเซ็ตอัพสักหน่อย การจะสัมผัสมิติเสียงที่ยอดเยี่ยมแบบการฟังชุด 2 แชนเนลแยกชิ้นชั้นดี ก็ไม่ใช่เรื่องเกินตัวสำหรับ LSX II LT เคล็ดลับคือ ควรเซ็ตอัพตำแหน่งลำโพงให้ลงตัวก่อน จากนั้นค่อยเลือกปรับแต่งด้วย DSP เพื่อชดเชยภายหลัง ผมเริ่มต้นด้วยการเซ็ตอัพเพื่อฟังแบบ near-field จำลองการใช้งานแบบลำลองบนโต๊ะทำงาน สำหรับการใช้งาน LSX II LT จะเลือกวางลำโพงหลัก (Primary) เอาไว้ข้างใดก็ได้ตามสะดวก (สามารถ swap ข้างซ้าย-ขวาได้จากแอพ KEF connect)

เว้นระยะห่างระหว่างลำโพงทั้งสองเอาไว้ที่ 90 เซ็นติเมตร ห่างจากผนังด้านหลังอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อให้มีระยะทำการของท่อเบสรีเฟลกด้านหลัง และที่สำคัญ หากไม่ได้ใช้ขาตั้ง P1 Desk Pad ที่เป็นออปชั่นเสริม แนะนำให้ลองหาบล็อกไม้มายกลำโพงให้ลอยสูงขึ้นสัก 3-4 เซนติเมตร จะทำให้ได้ความคมชัดของเสียงเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วยลดเอฟเฟกต์จากการสะท้อนของเสียงกับพื้นผิวโต๊ะ และหันหน้าลำโพงทั้งสองข้างเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังสัก 10-15 องศา ให้เสียงในแนวแกน (on-axis) ยิงตรงเข้าหูมากขึ้น และได้มิติด้านลึกที่ถอยเลยระนาบลำโพงเข้าไป ส่วนจุดนั่งฟังวัดจากลำโพงแต่ละข้างถึงใบหูประมาณ 1 เมตร

หลังเซ็ตอัพแบบนี้แล้ว ผมพบว่า แทบไม่ต้องพึ่งการปรับแต่ง DSP ช่วยเลย ในกรณีที่จะปรับแต่งเพิ่มเติมด้วย DSP ให้เข้าไปที่เมนู EQ Settings และสร้างโปรไฟล์ใหม่ ซึ่งมีสองโหมด Normal และ Advance สามารถเลือกปรับพารามิเตอร์ให้เหมาะกับสภาพการใช้งานจริงได้อย่างละเอียด รวมถึงการเซ็ตอัพจุดตัดความถี่เพื่อใช้งานร่วมกับซับวูฟเฟอร์

การทดสอบจะสตรีมเพลงผ่านแอพ KEF connect เป็นหลัก ทั้ง TIDAL, Spotify ส่วนการเล่นไฟล์เพลงที่เก็บไว้บน HDD คอมพิวเตอร์ ผมใช้โปรแกรม Asset UPnP ซึ่งทำงานร่วมกับแอพ KEF connect ได้ลื่นไหลจนน่าแปลกใจ อาจจะด้วยวงจรประมวลผลทำงานเบาขึ้น (จากฟีเจอร์ทั้งหลายที่ตัดออกไป) ทำให้เวลาสตรีมเพลงจำนวนมากจากคอมพิวเตอร์ด้วยแอพ KEF connect ไม่เกิดอาการหน่วงช้าแม้แต่นิดเดียว ในกรณีถ้าจะใช้งานร่วมกับ Roon ก็เชื่อมต่อผ่านทาง AirPlay2 ได้เลย (สุงสุด 48kHz/24bit)

คุณภาพเสียง

จากประสบการณ์ที่เคยฟัง LSX II มาก่อน บอกได้เลยว่า น้ำเสียงของ LSX II LT นั้น เหมือนกัน  ทั้งความแม่นยำ ถ่ายทอดรายละเอียดของดนตรีได้ครบถ้วนอย่างที่ควรเป็น น้ำเสียงย่านเสียงกลางแหลมมีความใสเคลียร์ชัดเจน ละเอียดและนุ่มนวล รับกับย่านทุ้มได้อย่างกลมกลืน และไม่เกินเลย ให้ปริมาณของย่านทุ้มพอเพียงกับการฟังดนตรีทุกแนวโดยเฉลี่ย ไม่รู้สึกว่าทุ้มบางขาดน้ำหนัก เมื่อเทียบกับขนาดไดรเวอร์ 4.5 นิ้ว ถ้าเปิดดังหน่อย แล้วผนังหรือเพดานไม่แข็งแรงก็เขย่าจนสั่นได้เหมือนกัน แต่หากนำไปชมภาพยนตร์หรือฟังดนตรีที่ต้องการไดนามิกเรนจ์กว้างๆ ขนาดของไดรเวอร์ก็หนีกฎของฟิสิกส์ไม่พ้น การเสริมซับวูฟเฟอร์เข้าไปก็เป็นทางเลือกในการเสริมการตอบสนองความถี่ย่านต่ำลึกให้ดีขึ้น รวมถึงมีไดนามิกย่านทุ้มที่สมจริงยิ่งขึ้นไปอีกระดับ

จุดเด่นที่เรียกว่าเป็นไม้ตายของ Uni-Q ไดรเวอร์ คือให้การกระจายเสียงที่กว้างครอบคลุมพื้นที่ห้องได้อย่างน่าทึ่ง ทดลองลุกจากจุดนั่งฟัง แล้วเดินไปตามตำแหน่งต่างๆ ภายในห้อง พบว่าโทนัลบาลานซ์แทบไม่เปลี่ยนเลย

เรื่องของมิติเสียง เมื่อเซ็ตอัพตามที่กล่าวมา KEF LSX II LT จะให้ภาพจำลองของเวทีเสียงขนาดย่อมขึ้นมาบนโต๊ะทำงานที่มีทั้งด้านสูงกว้างลึกเป็นสามมิติ เพียงแต่สเกลจะย่อขนาดลงตามระยะของการจัดวาง อารมณ์เหมือนเวลาฟังเครื่องเสียงรถยนต์ที่ติดตั้งอย่างดี ก็จะเกิดความชัดเจนของมิติที่บริเวณหน้าคอนโซลในลักษณะคล้ายกัน ถ้าเทียบกับลำโพงเล็กที่ขึ้นชื่อต้านมิติเวทีเสียง LSX II LT ก็ให้ความชัดเจนตรงนี้ได้อย่างไม่น้อยหน้า เพียงแต่จะย่อสเกลรูปวงลงมาตามลักษณะการจัดวาง ในหลายๆ อัลบั้ม ลำโพงสามารถแสดงการวางชิ้นดนตรีที่มีความลึกเลยลำโพงไปทางด้านหลังได้ แม้วางห่างผนังแค่ 10 กว่าเซ็นติเมตรเท่านั้น รวมถึงด้านกว้างที่เลยลำโพงสองข้างออกไปพอสมควร สรุปคือ แม้วางห่างกันแค่ 3 ฟุต ก็ยังให้ช่องไฟ การแยกแยะอิมเมจ ที่ชัดเจนไม่เบียดเสียด

เรื่องของไดนามิกคอนทราสต์ทำได้โดดเด่นกว่าลำโพงระดับ entry-level อย่างชัดเจน ให้การไล่ระดับความดังอ่อน-แก่ของเสียงที่ละเอียด มีความประณีต เวลาฟังเสียงพวกเครื่องสาย เช่นไวโอลิน หรือ เชลโล่ จะรู้สึกถึงระดับเสียงดังค่อย ขณะเล่นออกมาได้ดี รวมถึงเสียงเคาะอย่างเปียโนก็แสดงความหนักเบา ความพลิ้วไหวของท่วงทำนองออกมาให้สัมผัสได้ง่าย ได้ยินฮาร์โมนิกตามการบันทึกที่ชัดเจน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของลำโพง KEF ที่ใช้ Uni-Q ไดรเวอร์รุ่นใหม่

ลักษณะการนำเสนอไดนามิกคอนทราสต์มีความผ่อนปรนเล็กน้อย ไม่ถึงกับลำหักลำโค่นซะทีเดียวเหมือนสตูดิโอมอนิเตอร์บางรุ่น ซึ่งเมื่อฟังต่อเนื่องนานๆ จะเกิดอาการล้าหูได้ง่าย แต่กับ LSX II LT ไม่เกิดอาการดังกล่าว แม้จะเซ็ตอัพแบบ near-field ซึ่งนั่งใกล้ลำโพงกว่าการฟังตามปกติ ก็ยังฟังสบาย และบาลานซ์เรื่องความสดได้อย่างลงตัว ไม่ได้นุ่มหรือสปีดช้าเกินจริง จนฟังแล้วขาดความตื่นตัว และเป็นลำโพงที่รองรับไดนามิกเรนจ์ได้ค่อนข้างกว้างกว่าลำโพงเล็กทั่วไปที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งส่วนใหญ่โทนัลบาลานซ์จะเริ่มเสียสมดุลแล้ว เมื่อฟังในระดับความดังพอๆ กับ LSX II LT อานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากวงจร DSP Music Integrity Engine ที่ช่วยจัดการทุกอย่างให้เสียงออกมาราบรื่นเป็นธรรมชาติมากที่สุด ทำให้ครอบคลุมการฟังได้อย่างหลากหลาย

สรุป

คงไม่เกินเลยถ้าจะบอกว่า KEF LSX II LT เป็นลำโพงไวร์เลสที่น่าเล่นมากที่สุดในงบประมาณ 4 หมื่นนิดๆ ณ เวลานี้ ทั้งดีไซน์ที่สวยลงตัว คุณภาพเสียงพรีเมี่ยมระดับออดิโอไฟล์ ใช้งานได้หลากหลาย รองรับการอัพเกรดร่วมกับซับวูฟเฟอร์ หากคุณไม่ได้ซีเรียสกับสีของลำโพงที่มีให้เลือกน้อยกว่า การตัดฟีเจอร์บางอย่างออก เช่น MQA, Roon Ready หรือ การใช้ช่องเชื่อมต่อ AUX 3.5mm แล้วละก็ เท่ากับว่าคุณจะได้ลำโพงไวร์เลสที่ประสิทธิภาพและน้ำเสียงยอดเยี่ยมเทียบเท่า KEF LSX II ในราคาค่าตัวที่จ่ายน้อยลงกว่าเดิมร่วมหมื่นกว่าบาทเลยทีเดียว แล้วแบบนี้จะไม่ให้หลงรักได้อย่างไร ADP

ราคา 42,900 บาท/คู่

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/vgadz/
https://www.vgadz.com/kef

สอบถามเพิ่มเติม
บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
Line OA: @kefthailand