Mola Mola: Tambaqui Stand-alone DAC สุดล้ำ ตัวเครื่องเป็น Iconic… ด้วยฟังก์ชันแห่งยุคสมัยให้ทำตัวเป็น ROON Endpoint รวมถึง Headphone Amplifier ชั้นดี จึงมีฟีเจอร์ครบเครื่อง เสมือนติดปีกให้กับ DAC ในยุคนี้

วงจร DAC ถูกกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เรียกร้องให้ Mola Mola ขยายผลต่อยอดความสำเร็จของ Discrete DAC ซึ่งเคยถูกติดต้ั้งมากับ Mola Mola: Makua I Pre-amp อันโด่งดังนั่นเอง โดยทำเป็น DAC Module ที่จะช่วยยกระดับชุดไฮเอนด์ให้กับเจ้าของคนพิเศษที่ต้องการคงคุณลักษณะแนวเสียงลื่นไหลงดงามประดุจสายน้ำของปรีแอมป์ตัวเดิมสู่โลกของดิจิทัลออดิโอในอีกระดับ แล้วค่อยต่อยอดความสำเร็จแยกร่างกลายเป็น Mola Mola: Tambaqui นั่นเอง

Intro..

สวัสดีทุกคน…  audiophile go digital อรรถคดีที่ว่าด้วยเรื่องราวในแวดวงดิจิทัลออดิโอ เพื่อคนที่ไม่ยอมตกเทรนด์มาแล้วครับ

“เรามาถึงทางแยกสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไฮไฟแล้ว ช่วงเวลาแห่งยุคสมัยของออดิโอไฟล์ จากแหล่งสัญญาณดิจิทัลและอะนาล็อกที่ดีที่สุด อันมีองค์ประกอบที่วัดได้คุณภาพสูงสุด มีความยอดเยี่ยมทัดเทียมกัน แม้ทุกอย่างดูแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่างมอบความเพลิดเพลินในการฟังระดับที่ใกล้เคียงกันแทบแยกไม่ออกในปัจจุบัน เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสตรีมมิ่งก็เหมือนติดเทอร์โบให้กับฝั่งดิจิทัลให้ทะยานสูงขึ้นในเชิงเข้าถึงง่ายและได้คุณภาพดีอย่างไม่เคยมีมาก่อน จน “เป็นเหตุสังเกตได้” จากงาน HiFi Show ทั่วโลกล้วนถูกครอบครองโดยสตรีมมิ่งทั้งสิ้น ไฉนเลยอีกฟากจะใจแข็งไม่ยอมเปิดใจมาลิ้มลอง”

ดัช์หรือฮอลันดา ขึ้นชื่อในด้านวิศวกรรมไม่น้อยกว่าชาติใด เนเธอร์แลนด์หรือฮอลแลนด์ตั้งอยู่ในยุโรป ตำแหน่งลติจูดที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณว่าชาวดัช์อยู่กับน้ำตั้งแต่เกิด ความท้าทายอยู่ในสายเลือด ดัช์เป็นนักเดินเรือ วิศวกรรมชลประทานเก่งระดับต้นๆ ของโลก Max Verstappen ก็เป็นดัช์ เขาคือจ้าวแห่งความเร็วทางเรียบ เป็นแชมป์โลก F1 สองสมัย ซึ่งดูท่าแล้วคงจะผูกขาดอีกหลายสมัย เสียดายฟุตบอลทีมอัศวินสีส้มเจ้าของตำรับ Total Football ไปไม่ถึงฝั่งฝันซักทีซิน่า เรากำลังคุยกันถึงผลิตภัณฑ์ในยุคตรีมมิ่งครองโลก

ชื่อ Mola Mola -Tambaqui มาจากชื่อปลา 2 ชนิด ทั้งสองเป็นจ้าวแห่งปลา ในบริบทไฮไฟในยุคสตรีมมิ่ง จึงขอเรียกบทความนี้ว่า the Way of STREAM มา มา ตามมา

Mola Mola

ตัวแทนหมู่บ้าน สินค้าเครื่องเสียงไฮเอนด์ แบรนด์ลูกของ HYPEX ขาใหญ่ในวงการ Mr. Jan-Peter van Amerongen ผู้ก่อตั้ง เทคโนโลยีล้ำสมัยสุดขอบจินตนาการ ภาคภูมิใจกับดีไซน์ เป็น iconic ด้วยรูปทรงโค้งเว้าคล้ายคลื่นน้ำ เข้ากับเรื่องราว the Way of STREAM พอดี

ออกแบบอย่างแยบยล ผลิต ประกอบอย่างประณีตจากวัสดุเกรดสูงในเนเธอร์แลนด์ ส่งให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปลักษณ์หรู สง่างาม กะทัดรัด ฟีเจอร์ที่ใช้งานได้จริง ง่ายในการตั้งค่าและสะดวกต่อการใช้งานประจำวัน ให้โซนิคระดับอ้างอิงอันเป็นเป้าประสงค์ของ Mola Mola ถูกนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ทุกสิ่งต่อผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ซึ่งก็คือกลุ่มออดิโอไฟล์นั่นเอง

Mola Mola ตั้งอยู่ใน Groningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์ รับหน้าที่โดย Bruno Putzeys พ่อมด, มือปืนรับจ้าง, กระบี่ไร้เงา ตำนานมีชีวิตคนนี้

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงคุ้นหูกันดีกับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแบรนด์เหล่านี้ ได้แก่ Grimm Audio, Kii Audio รวมถึง PURIFI ซึ่งแน่นอนคงหมายถึงในฐานะ Class D amplification guru นั่นเอง แต่แฟนพันธุ์แท้ของ Bruno รวมถึงคนในแวดวงอุตสาหกรรมไฮไฟทราบดีว่าน้าแกจีเนียสเพียงใด โดยได้ออกแบบ DAC ด้วยนะ

the Way of STREAM…

Mola Mola เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาทะเล Sunfish ตัวใหญ่หน้าตารูปทรงแปลกอย่างเท่ เช่นโลโก้ตัวจริงอย่างที่เห็นนี้ล่ะ

ส่วน Tambaqui คือปลาอีกประเภทที่เป็นญาติกับปลาปิรันย่า แต่ตัวใหญ่กว่าเยอะ โชคดีที่ไม่เป็นปลาสายโหดเหมือนญาติเพราะเป็นปลามังสวิรัติ ทั้งสองเป็นปลาตัวใหญ่ จึงเหมาะสมกับเรื่อง “the Way of STREAM” ชะมัด ก่อนจะไหลเป็นสารคดีนิเวศวิทยา ขอเข้าเรื่องเครื่องเสียงล่ะนะ

Mola Mola ผลิตเครื่องเสียงมาตั้งแต่ปี 2011 มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฮไฟที่เป็นเข้าพวกกัน

“แนวคิดดั่งเดิมคือ Mola Mola เรียกผลิตภัณฑ์ตัวแรกว่า ‘Preamp’ และ ‘Power amp’ แต่ผู้จัดจำหน่ายในญี่ปุ่นต้องการให้ใช้ชื่อรุ่น ‘ดังนั้นจึงค้นหาชื่อที่น่าสนใจใน Wikipedia ใช้เวลาสองวันในการหา Kaluga (ปลาสเตอร์เจียนชนิดหนึ่ง) [สำหรับเพาเวอร์แอมป์] และ Makua [สำหรับปรีแอมป์] เป็นภาษาฮาวายเอียนสำหรับสายพันธุ์ ‘Mola mola’ ” ปัจจุบันประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์หลักได้แก่

  • Kaluga: monoblock Amp
  • Makua: Pre-Amplifier
  • Kula Integrated Ampที่เพิ่งรีลีสเมื่อไม่นานมานี้
  • และ Tambaqui D/A Converterเป็นตัวล่าสุด

Makua และ Kula จะสามารถสั่งซื้อเพิ่มออปชัน ติดตั้งมาพร้อมอุปกรณ์เสริมคือ phono stage และ/หรือ DAC board ไม่ว่าจะเป็น Full Options ตั้งแต่แรกให้มาพร้อมเครื่อง หรือจะเพิ่มภายหลังก็ได้

DAC’s Conditions ที่มาจากคำกล่าวของ Bruno

หากมีสิ่งใดที่ผมต้องการจะพิสูจน์ นั่นก็คือว่าดิจิทัลที่ทำถูกต้องแล้ว ต้องเหมือนเสียงอะนาล็อกที่ทำได้อย่างถูกต้องนั่นเอง

Bruno มีเงื่อนไข 5 ข้อในการที่จะทำ DAC ซักตัวตั้งแต่เมื่อร่วม 10 ปีก่อนโน้น ก่อนหน้าที่จะออกแบบให้ Mola Mola เสียอีก

ข้อแรก DAC ต้องปราศจาก noise floor modulation
ข้อที่ 2 จะต้องมีความเพี้ยนต่ำที่สุดจากสัญญาณเล็กๆ จนถึงสัญญาณเอาต์พุตสูงสุด
ข้อที่ 3 Jitter จะถูกกำจัดให้ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น DAC ตัวใดๆ
ข้อที่ 4 ดิจิทัลฟิลเตอร์จะต้องมี in-band ripple ต่ำที่สุด หมายถึงแทบจะไร้ซึ่ง pre-echo
ข้อสุดท้าย จะต้องมีหางเสียงที่ไม่กุด ต้องทอดยาวอย่างสมเหตุสมผล

“โชคไม่ดี” ที่ DAC Chip ในตลาดนั้นล้วนขาดคุณสมบัติข้างต้นอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของ Bruno ดังนั้นจึงต้องออกแบบขึ้นเองในที่สุด โดยใช้ Solution ของ Field-Programmable Gate Array (FPGA) architecture หรือก็จาก FPGA Chip แล้วเขียนอัลกอริทึมกำกับลงไปโดยสามารถอัพเกรดได้ตลอด ซึ่งไม่ใช่ง่าย

นอกจากเงื่อนไขดังกล่าวนั้น DAC ยังต้องไร้ซึ่ง ASRC (Asynchronous Sample Rate Conversion) อีกด้วย เพราะจะจัดการกับสามข้อแรกได้ ซึ่งหมายถึง discrete PLL ที่ปราศจาก SRC ก็ควรถูกติดตั้งไว้ด้วย แม้ในที่สุดเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อแรกยังไม่ถูกติดตั้งไว้ใน DAC Chip มาตรฐานในปัจจุบันอยู่ดี ซึ่งความต้องการในขณะนั้น ดูเหมือนจะห่างไกลที่จะหา DAC CHIP ได้ในตลาด จึงต้องออกแบบทำขึ้นเอง

2004...

“ถ้าต้องใช้ sigma-delta converter ทั่วไปให้ป้อน constant code (เช่น DC) ค่า DC บางค่าให้เสียงหวีดที่ได้ยินอย่างชัดเจนที่ดูแย่ หากคุณต้องการเล่นกับ R2R DAC ในลักษณะเดียวกัน ให้ป้อนสัญญาณ ramp signal ต้องการบางสิ่งที่ระดับเสียงรบกวน (noise floor) เป็นเพียงเสียง hiss ที่คงที่จริงๆ ไม่ว่าคุณจะใส่สัญญาณใดๆ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราเลือกใช้ single-edge PWM เป็น digital intermediate code”

Mola Mola วางแผนที่จะติดตั้งให้กับ Makua: Integrated amp และ Kalugas: Pre amp

เพราะพบปัญหาในการหา DAC ที่เหมาะสมเอาไว้อวดคุณภาพของระบบโดยไม่ต้องลงทุนทุ่มทุนของการ Set up โดยรวม จนกลายเป็น “งานงอก” ดังนั้น DAC project จึงเกิดขึ้นจริงจังในปี 2013

ในที่สุดก็ DAC Boards คลอดออกมา ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม จนต่อมาทนการร้องขอจากผู้ใช้ที่ต้องการให้รีลีส Stand-alone DAC ออกมาเสียที ซึ่งกว่าจะออกปล่อยให้ “วัดใจ” รออยู่ซักระยะ ในที่สุดก็สนองตอบแล้ว เพิ่งได้เห็นนี่ล่ะครับ

Mola-Mola Tambaqui

วงจรภายในของ Mola-Mola Tambaqui ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดนั้นทำงานแบบ Stand Alone DAC ซึ่งเหมือนเด๊ะกับ DAC ของออปชันบอร์ดจากปรีและอินทิเกรตแอมป์ที่อ่านด้านบนนั่นแหละ แต่ทว่าการใช้ของเก่ามาทำซ้ำนั้นไม่ควรถูกมองอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นความขี้เกียจของทีมงาน แต่กลับควรชื่นชมถึงความชาญฉลาดในการใช้ทรัพยากรชั้นดีซึ่งถูกออกแบบอย่างเริดมาตั้งแต่แรกแล้วจริงๆ นะ ไม่ใช่เรื่องฟลุค

แม้ Mola Mola มีผลิตภัณฑ์ Makua preamp ซึ่งอาจเพิ่มออปชัน Phono และ DAC modules รวมถึง Kaluga mono box amps ก็จริงอยู่ แต่ถ้าจะไปให้สุดติ่งติดเทอร์โบชาร์ตกันเลยทีเดียว อาจต้องใช้ Tambaqui แยกชิ้นเป็นคู่หูุของ Makua/Kaluga เพราะคำว่า “สุด” นั่นแหละ

ยังมี Kula Integrated amp ที่เปิดโอกาสให้เลือกเพิ่มออปชันรวบทุกอย่างไว้ในตัวเดียว เพียงต้องการลำโพงดีๆ คู่เดียวก็จะได้ไฮไฟชุดโปรดในงบประมาณที่เหมาะสม ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก Kula integrated amp ใช้เวลาราว 2 ปี จาก Onboard DAC สุดล้ำ จึงแยกร่างออกไปเป็น Mola Mola Tambaqui DAC ที่สวย ฉลาด อเนกประสงค์ ให้เสียงดีและปังมากจากนักวิจารณ์ทุกสำนัก มาดูซิว่าสำนักออดิโอไฟล์บ้านเราจะมีความเห็นอย่างไร

DAC BOARDs: New SAGA COMING

Mola Mola ตัดสินใจที่จะออกแบบ DAC เริ่มจากศูนย์ ใช้หลักการของ discrete DAC ซึ่งไม่มีใครเทียบได้ คิดไว้เมื่อราวสิบปีก่อนเมื่อทำขึ้นจริง ได้ประสิทธิภาพล้ำหน้าไปมากกว่า 10 ปี โดยเทียบกับ Off-the-shelf DAC CHIP-based ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักอ้างว่ามีค่าไดนามิกส์ไม่เกิน 22 บิต แต่ในความเป็นจริงมีค่าความเป็น linear เพียง 20 บิตเท่านั้น ซึ่งเพลง Hi-Res ความละเอียดสูงล้วนสมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านั้นนี่นา เพื่อรองรับสิ่งนี้DAC ของ Mola Mola ได้รับการออกแบบโดยใช้วงจรและอัลกอริทึมที่ถูกพัฒนาขึ้นเองทั้งหมด

อย่างที่กล่าว DAC Boards ถูกออกแบบขึ้นใหม่หมด เริ่มจากกระดาษเปล่ากลายเป็นโซลูชันจาก FPGA โดยทำเป็น 2 บอร์ดวางซ้อน (Stack) กัน บอร์ดแรกเป็น Digital Inputs ซึ่งทุกอินพุตจะถูก upsampling ไปยัง 3.125MHz/32 bits 7-th order noise shape ที่ 80kHz band แปลงกลับไปเป็น noise shaped PWM (Pulse-Width modulation) ส่วนอีกบอร์ดเป็น Dual MONO discrete 32-stage FIR DAC ใช้วงจร single-stage 4th order filtering I/V converter เพื่อแปลง Pulse Width Modulator (PWM) เป็นอะนาล็อกซึ่งจะทำหน้าที่แปลงเป็นอะนาล็อกก่อนที่จะถึงเอาต์พุตของ Tambaqui

แม้ว่าเป็นมาตรฐานของดิจิทัลออดิโอที่เข้มข้นในปัจจุบัน การจัดการกับ jitter ใน DAC ของ Mola Mola จึงใช้ asynchronous upsampling algorithm ซึ่งถูกเขียนขึ้นเอง ความถี่ด้านอินพุตจะถูกหน่วงให้ช้าลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งหลังจากการล็อกเพียงไม่กี่วินาที การวัดอัตราส่วนความถี่จะถูกหยุดลง จากนั้นความเสถียรของความถี่จะถูกกำหนดโดย clock ภายใน ทั้งหมดเป็นออสซิลเลเตอร์ SC-cut 100MHz ระดับ Lab grade มันก็คือระดับ atomic clock เชียวนะ ต้องบอกว่าแพงและให้เสียงบริสุทธิ์มากด้วย จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้ง clock จากภายนอกถึงจะเสียงดี ตรงนี้แสดงว่า Bruno มั่นใจมาก

การควบคุมระดับเสียงได้รับการจัดการใน Digital Domain โดยใช้ dithering ซึ่ง “แปลงปริมาณความเพี้ยนให้เป็นสัญญาณรบกวนระดับต่ำที่บริสุทธิ์และคงที่” ในที่สุด สามารถทำเพอร์ฟอร์มานซ์ได้ทะลุถึง 130dB SNR. (Signal to Noise Ratio) อันใกล้เคียงขีดจำกัดของไฟล์ 24 Bits และไปไกลสุดกู่ถึง quad-speed DSD และมี -140 dB distortion ให้ Background noise ต่ำสุด จึงให้เสียงสะอาด มีไดนามิกส์DAC ตัวนี้รองรับ PCM ทะลุถึง DXD 384kHz/32-bit และ “Quad” DSD (DSD256) ได้รวมร่างกับวงจรเน็ตเวิร์กให้เป็น Streaming DAC กลายเป็น ROON Endpoint / ROON Ready ทันยุคทันสมัยกันเลยทีเดียว

พร้อมฟังก์ชัน lossless digital volume control และ headphone outputs ที่จะควบคุมสั่งการปรับค่อยดังในชุดเครื่องเสียง “น้อยแต่มาก” ในนิยามของ minimalist audio system สำหรับ music lovers ที่ต้องการดำดิ่งสู่ห้วงลึกของดิจิทัลออดิโออย่างแท้จริง เพียงจับกับคู่ของ Mola Mola: Kaluga แอมป์ mono blocks ที่รูปทรงกลมกลืนกันเลย จะเป็นตัวจบที่ง่ายและสมบูรณ์แบบนั่นเอง

CHECK IN

Tambaqui ถูกส่งมาอยู่ในกระเป๋าแอร์ล็อกสีดำที่แพ็กกิ้งอย่างดี เครื่องถูกบรรจุอยู่ในถุงผ้าวางอยู่ในช่องโฟมรับแรงกระแทก ตัวเครื่องนอกเหนือจากความคล้ายคลึงกันทางกายภาพที่มีความโค้งมนของเกลียวคลื่นเห็นได้ชัดระหว่าง Tambaqui และผลิตภัณฑ์ Mola Mola ตัวอื่นที่เหลือ กล่าวคือ ตัวเครื่องอะลูมิเนียมผิว Sandblast ที่ถูกกัด-ตัดแต่งให้โค้งมนมีเอกลักษณ์รูปคลื่นน้ำตามวิถีแห่งสายน้ำเป็น Iconic ที่จดจำได้ทันที ถือว่าเข้าพวกยิ่งกับสมาชิก Mola Mola ตัวอื่น DAC ตัวนี้เมื่อได้ฟังดูแล้วเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสายพันธุ์อย่างกลมกลืนด้วยเช่นกัน ตรงตามเป้าหมายชัดเจน

ที่ตัวเครื่องจะไม่มีสวิตช์ปิดเปิดให้เห็น บนตัวแชสซีส์อะลูมิเนียมของ Tambaqui ผลิตในประเทศเยอรมนี เพลตด้านบนแบบหยักที่ขึ้นรูปชุบอะโนไดซ์ถูกพับเก็บ เพลตด้านหน้าก็เช่นกัน มีความแตกต่างของผิวแผงด้านข้างที่เป็นอะลูมิเนียมสีดำทำให้ได้ลุคทูโทนแบบมินิมอลที่ถูกขัดจังหวะสายตาด้วยช่องตรงกลางเพียงช่องเดียวบนแผงหน้าปัด สำหรับหน้าจอมีแสงสีเดียวขนาดเล็ก ช่องหน้าต่างนี้ถูกขนาบข้างด้วยปุ่มตัวเลือกอินพุตอะลูมิเนียมขัดเงาเล็กๆ ข้างละ 2 ปุ่มรวมเป็น 4 ปุ่ม เหนือแต่ละปุ่มมีไฟ LED สีขาวดวงจิ๋วเพื่อระบุการล็อกสัญญาณ (ไฟส่องสว่างคงที่) หรือปิดเสียง (กะพริบ) ไฟ LED สีขาวขนาดเล็กกว่าตรงเหนือหน้าจอ ติดตั้งไว้ที่ขอบซึ่งเป็นแผ่นปิดหน้ากลายเป็นแผ่นด้านบน แสดงว่า DAC ทำงานอยู่ การปิดเปิดเครื่องจากปุ่มใต้ LED ปุ่มใดปุ่มหนึ่งก็ได้ สิ่งที่โดดเด่นคือชื่อและโลโก้ของ Mola Mola ซึ่งสลักไว้อย่างงดงามบนแผ่นหลังเครื่องด้านบน ด้วยรูปทรงขนาด Half Size ถอดมาจาก Kaluga นั่นแหละ หากวางคู่กันจะกลืนกันสนิท

การที่แยกตัวถังออกอิสระนอกจากจะสามารถจัดเต็มกับภาคจ่ายไฟอิสระภายใน จัดการป้องกันปัญหาตัดการรบกวนใดๆ ทำให้คุณภาพขยับหนีห่างชั้นขึ้นไปจากเดิมขึ้นอีก ส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพื่อทดแทนกับเงินที่จ่ายไปก็อาจคุ้ม ทั้งยังทำให้ทีมออกแบบสามารถติดตั้งขั้วต่อได้มากกว่าติดตั้ง DAC แบบออนบอร์ด เพื่อรองรับการใช้งานได้หลากหลายขึ้นด้วย

เนื้อที่น้อยใช้สอยอย่างประหยัด

พื้นที่หลังเครื่องทุกตารางมิลลิเมตรมีความสำคัญอย่างยิ่ง ติดตั้งไว้ด้วยอุปกรณ์ขั้วต่อต่างๆ แถวบน คืออะนาล็อกเอาต์พุต เริ่มจากช่องเสียบแจ็คหูฟัง 2 ประเภท คือมาตรฐาน 6.3mm หรือ ¼ นิ้ว และอีกช่องเป็น Balanced XLR 4-pin และ XLR left and right balanced outputs ขออภัยไม่มี Unbalance outputs ถ้าจะใช้ก็ให้ตัวแปลงมาด้วยในกล่อง, 2x 3.5mm trigger outputs ตามด้วย IEC power socket แถวล่างที่จะพบคือ RJ45 (LAN input) ตรงนี้ทำให้ Tambaqui สวมบทของ Streaming DAC ก็เพราะจะกลายเป็น Roon Endpoint นั่นเอง ส่วนที่เหลือก็จะเป็น Digital Inputs อื่นๆ (HDMI I2S port, RCA S/PDIF, Optical, XLR AES/EBU, USB type B) รวมเป็น 7 ก็เลือกใช้ได้ตามต้องการ

การเชื่อมต่อแบบไร้สายรองรับ Bluetooth codecs หลายตัว เช่น SBC, AAC, aptX, LDAC

DSD รองรับ native โดย DoP (DSD over PCM) และเป็น PCM ไม่ใช่ MQA ซึ่งก็อย่าได้สนใจนักเลย

แอมพลิฟายเออร์สำหรับหูฟังของ Tambaqui คือใช้แอมพลิฟายเออร์เป็น Amp CHIP set เป็น Full Balanced ซึ่งมีความเที่ยงตรงและแม่นยำ โดยเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวที่ตัวกรอง RFI ที่เอาต์พุตถูกวางไว้ใน Feedback loop” สิ่งนี้ทำให้มั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพที่แม่นยำเที่ยงตรงสม่ำเสมอมากขึ้น

Control

ส่วนควบคุมด้านหน้านั้นตั้งใจออกแบบให้เรียบโดยมีปุ่มน้อยที่สุด ประมาณว่ามีปุ่มเล็กๆ ที่เป็นทั้งไฟ LED ด้านข้างของจอแสดงผลประเภทพอร์ทัลสำหรับการปิดเปิดเครื่อง รวมถึงเรียกใช้ค่าที่ตั้งไว้แบบ Preset ตั้งได้ 4 ค่า หมายถึง 4 ตัวจาก 7 Inputs นั่นเอง หน้าปัดสไตล์คลื่นน้ำเช่นหน้าเป็นโปรไฟล์ด้านข้างที่เหมือนคลื่นน้ำของตัวเครื่อง DAC ที่แยกมันออกมาอย่างสวยงาม ต่างจากเครื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่มักเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่เกลื่อนตา

ต้องยอมใจต่อ Bruno Putzeys & Co คารวะซัก 3 จอกที่กล้าตัดสินใจกับกลยุทธ์นี้ ประทับใจกับ DAC ที่ให้เสียงมีจิตวิญญาณเป็นดนตรีสด เปิดเผยได้อย่างน่าทึ่งเกินกว่าจะตำหนิได้ ชอบแนวคิด วิธีขมวด “สิ่ง” อันซับซ้อนที่ควรมีในยุคนี้เข้าด้วยกันไว้ในตัวเดียวโดยไม่จำเป็นต้องมีปุ่มอะไรเยอะไว้บนหน้าปัด ดึงมันไปไว้บนแอป ง่ายซะ แอมป์หูฟังที่ให้มาแบบไม่ต้องร้องขอนั้นก็เริด

การควบคุมผ่านรีโมตไร้สายมาตรฐานมากับเครื่องทำจากสเตนเลสตัวเล็กๆ ถ้าต้องการหรูกว่านี้จะเป็น “ออปชันเสริม” ซึ่งมีความโค้งมนเก๋เชียว

สะดวกสุดก็ใช้แอป Mola Mola สำหรับ Android/iOS โหลดได้ฟรี นอกเหนือจากการควบคุมระดับเสียงแล้ว ก็เพื่อเป้าหมายในการตั้งค่า DAC และตั้งค่าเริ่มต้น เลือก Preset รวมถึงการอัปเดตเฟิร์มแวร์ เพิ่มลดระดับเสียงกรณีหูฟังหรือใช้ฟังก์ชันปรีด้วยการเลือก Digital Inputs นั่นเอง

ปกติผมใช้ Integrated amp ตั้งเพียงเป็น Direct แต่เมื่อต้องการฟังด้วยหูฟังและปรีแอมป์

เลือกที่จะตั้งค่า Headphone หรือ Line ก่อนเสียบหูฟังหรืออินเตอร์คอนเนกต์ดิจิทัลเข้ากับ Tambaqui ซึ่งหมายถึงเราต้องการใช้ฟังก์ชันปรีจากตัวมันจะทำงานนั่นเอง เข้าไปเปิดฟังก์ชันหูฟัง (Headphone) หรือปรี (Line) จากแอป ซึ่ง Default จะเป็นที่ -50 dB ทั้งคู่ เพื่อความปลอดภัยเกนขยายจะถูกลดลงทันทีมาที่ -50 dB ตรงนี้ดี รอบคอบมาก

Hook Up/SetUp

Tambaqui สามารถใช้เป็น External DAC แบบ Fix Output (Direct) ใช้กับปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์หรืออินทิเกรตแอมป์ หรือ Line ต่อเข้ากับเพาเวอร์แอมป์โดยตรง เมื่อจับคู่กับ Pachanko Labs: Constellation Mini (Computer Audio Transport) จะรับบทเป็น ROON Core ซึ่งเชื่อมต่อกับ Tambaqui ได้สองวิธีคือทาง USB และทางเน็ตเวิร์กผ่านสาย LAN จากเน็ตเวิร์กสวิตช์

รวมถึงลองใช้หูฟังแบบครอบซึ่งต้องเสียบด้านหลัง ส่วนอีกซ็อตหนึ่งก็ต้องขอลองต่อตรงกับแอมป์ แม้พี่เจ้าถิ่นเป็นอินทิเกรตแอมป์ บังเอิญตั้งค่า Pass Through ไว้ช่องหนึ่ง ก็เลยจัดไปซะ ได้อีกอารมณ์นึงแฮะ ประมาณว่าถ้าต้องการน้อยชิ้นยิงตรงไปยังลำโพงแอ็กทีฟหรือเพาเวอร์แอมป์ก็ทำได้ จัดไปได้เลย มั่นใจได้เลยว่าดีแน่ แนะนำให้สอย Kaluga: monoblock Amp มาประกบจะเริดมาก

เพราะตัวเครื่องมีหน้าจอเล็ก แถมไม่ได้วางบนแร็ก คงต้องก้มๆ เงยๆ กดปุ่ม คิดว่าใช้แอปสะดวกสุด App นี้ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก อ้อ..แอปนั้นไม่ได้มีไว้เล่นเพลง แต่เอาไว้ควบคุมการทำงาน เชื่อมต่อกับเครื่องทาง Bluetooth สามารถ ปิดเปิด ใช้กำหนดค่าต่างๆ ที่จำเป็น จากปุ่มอินพุตสี่ปุ่มของ Tambaqui ได้ตามที่คุณต้องการ การอัปเดตเฟิร์มแวร์

ล่าสุดทำให้สามารถตั้งค่าปุ่มด้านหน้าของ Tambaqui เป็นการเพิ่มและลดระดับเสียงได้ สามารถตั้งชื่อแต่ละอินพุต เลือกแหล่งอินพุต และเลือกการกำหนดค่า Line, Headphone, Direct และการตั้งค่าเฟส

นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดค่าการตั้งค่าหน่วย รวมถึงความสมดุล ความสว่างของจอแสดงผล ระดับเอาต์พุต 6, 2 หรือ 0.6V และยังมีค่า Offset ได้อีก -15 dB เพื่อให้แมตชิ่งกับแอมป์ของคุณ

เพื่อให้แมตช์กับ VITUS RI100 เลือกใช้ 2V ครับเนียนสุด ไม่ต้องปรับ Offset เลย

อีกอย่างบังเอิญว่ารีโมตถ้าใช้ของ Apple มันจะรบกวนกัน ก็ควรเปิดฟังก์ชันตัดการทำงานของรีโมตตัวอื่นไปซะ เหนือสิ่งอื่นใด ตราบเท่าที่ Tambaqui เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถตรวจหาการอัปเดตเฟิร์มแวร์ที่อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียงได้โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องกวนใจ เป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ดีที่เคยใช้กับส่วนประกอบระดับไฮเอนด์ชั้นดี เครื่องจะทันสมัยอยู่เสมอเพียงอัพเฟิร์มแวร์เท่านั้น ข้อดีอีกอย่าง Tambaqui ได้รับการ Certified รับรอง Roon Ready ก็หรูพอตัวแล้ว

Show Time

จะเล่นเพลงคุณต้องใช้ Roon remote ที่น่าจะทราบกันดี ความจริงก็ฟังเพลงจากสตรีมมิ่งเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว มีไฟล์จากคลังแสงบ้าง ฟังหลายอัลบั้ม หลายแนว แนวอะไรล่ะ ก็แนวผมนี่ล่ะ ร็อกหนัก ร็อกนุ่มๆ  ยกตัวอย่างซักอัลบั้มที่กำลังหลอนอยู่เลยก็ได้

โควิดทำให้ลุงน้ำ Roger Waters เครียดกับการ Lockdown ที่ทำให้ไปไหนไม่ได้ เพราะคอนเสิร์ตห้ามจัด เลยออกทัวร์ไม่ได้ แกบอกเหมือนต้องอยู่ในหลุมหลบภัยสงครามนิวเคลียร์ นักดนตรียังไงก็ต้องเล่นดนตรี เข้าห้องซ้อมในบ้านจึงทำวิดีโอขาวดำในสไตล์หม่นๆ ขึ้น YouTube ให้ดูแก้ขัดมาซักปีนึงได้ ใครที่ไม่รู้จักแกคงนึกว่าตาแก่คนนี้ทำไมแก่แบบนี้ฟะ หัวยุ่ง หนวดเคราไม่โกน โทรมเชียว ร้องเพลงที่คุ้นๆ เสียด้วย เช่นจากอัลบั้ม The WALL และอัลบั้มของแก เช่น  Mother, Vera, Comfortably num และจากอัลบั้มอื่นอีก

จู่ๆ เพลงเหล่านี้นี้ถูกรีลีสมาเป็นอัลบั้ม Roger Waters: the Lockdown Session (EP) มี 6 แทร็ก เมื่อต้นเดือนนี้เอง โอ้ว ชอบมาก ดนตรีถูกอะเรนจ์ใหม่หมด บันทึกแบบสดจากคนละแห่งประมาณว่าบ้านใครบ้านมัน จัดว่าบันทึกค่อนข้างดี รับรู้ถึงอาการสั่นไหวของเส้นเสียงของเครื่องดนตรี เช่นเปียโน อะคูสติกส์กีตาร์ สแนร์ เสียงร้องโทนต่ำๆ ของลุงแก เสียงประสานจากสองสาวผมหน้าม้า เบส หัวไม้กระทบหนังกลอง เสียง hihat, cymbal รวมถึง Sound Effect มาครบ ได้อารมณ์ไปอีกแบบ ชอบ ชอบ 

เครื่องติดแล้ว ต้องตามด้วย Amuse to Death ฉบับตำนานเสียงหมาเห่า เสียงกระแอม ยิงขีปนาวุธ เบสหนักๆ รับได้หมด Top Gun: Maverick บันทึกไม่ถึงกับดี แต่ก็น่าฟัง Face it Alone แทร็กใหม่ของ Queen ทำให้คิดถึงเฟรดดี้ จากนั้นก็ฟังอัลบั้มที่เป็น DSD (SACD rip) “เจ้แพท Patricia Barber หลายอัลบั้ม ลุง Mark Knofler กับพลพรรค Dire Straits หลายอัลบั้ม อย่าลืมว่า Tambaqui เล่น DSD แบบ DoP นะ ซึ่งก็ไม่แปลก เนียนกริบ สงัด ไม่แห้งแล้ง น่าฟังดีทีเดียว ความที่ Tambaqui มีจุดเด่นตรงให้ 130dB SNR. (Signal to Noise Ratio) และ -140 dB distortion ทำให้ Background noise ต่ำสุดลึกถึงก้นบึ้ง จึงมีความสงัด ส่งผลให้เสียงดนตรีสะอาดเป็นธรรมชาติ รับ Dynamic การสวิงสัญญาณเสียงร้องของแม่นางผมหน้าม้าที่ขึ้นสูงปรี๊ดของเพลงโปรเกรีฟร็อกสไตล์ลุงน้ำ หรือออร์เครสตร้าได้ไดนามิกส์เฮดรูม “เต็มคาราเบล” กันเลยทีเดียว

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อพาคุณไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของอัลบั้มขึ้นหิ้งทั้งหลาย ถ่ายทอดรายละเอียดชิ้นดนตรี เผยให้เห็นฝีมือการบันทึกของมาสเตอริ่งเอ็นจิเนียร์ แสดงทักษะดนตรีของศิลปินนักร้องและนักดนตรี กลเม็ดเด็ดพราย ลูกเล่น ลูกหยอดที่ิศิลปินบรรจงแต่งเติมไว้ให้ค้นหา Tambaqui ถ่ายทอดรายละเอียดออกมาหมดจด ทั้งบรรยากาศ อารมณ์ ความไพเราะครบ มีอะไรจะต้องการมากกว่านี้อีกเหรอ

Feel The Pulse

Tambaqui เป็น DAC ที่ทำงานแบบยิ่งร้อนยิ่งวิ่ง ใช้เวลาอุ่นซักไม่น้อยกว่าครึ่งชัวโมง แต่เอาเข้าจริงอยู่กับผม แทบไม่เคยปิดเครื่องเลย ให้ความสงัดดีเยี่ยม เสียงจึงสะอาดและอุ่นเป็น tube-like มีเนื้อแบบ Full Body ให้รายละเอียดดีมาก มี Airy เกิดช่องว่างระหว่างตัวโน้Timing เป๊ะมาก ให้ทรานเชี้ยน มีสปีดน่าประทับใจ ฟังดนตรีที่มี Texture ได้ชัด เช่นเสียงสากๆ ของแซ็ก เสียงร้องแหบๆ ของลุง ประมาณว่าเสียงจะไม่เนียนไปเสียหมด เมื่อต้องการพลังฉีดคราวใดก็ต้องมาซิ จึงให้เบสหนึบลงพื้นและทรงพลังเมื่อต้องการ ประมาณว่า พลังดีดพุ่งทะยานหลังติดเบาะเหมือนติดเทอร์โบ ฟังเพลงร็อกโปรเกรสสีฟมันฉิบ แม้บางอัลบั้มบันทึกไม่ถึงกับดีนักก็ยังออกมาได้อารมณ์ ถ้าฟังอัลบั้ม โอ้ฟายก็ให้การแยกระดับเสียงที่มี pitch แม่นเป๊ะ ชิ้นดนตรีเป็นธรรมชาติ การจัดวางตำแหน่งเสียงแบบสามมิติตื้นลึก บนล่าง มี layer โทนัลบาลานซ์ดีเยี่ยม ให้บรรยากาศโอบล้อม

ที่บอกว่าเป็นอะนาล็อก ฟังได้ชัดที่สุดคือไร้ซึ่งอาการคมและความแข็ง หยาบกร้าน ไร้สากเสี้ยนอย่างที่เคยโดนถากถางโดยสิ้นเชิง แต่กลับอิ่มเมื่อเทียบกับ DAC แบบใช้ชิปตลาดในอดีตที่อาจจะทำง่ายกว่าก็จริง เมื่อกล้าเล่นของยากจึงได้ ความเป็นดนตรี กลับมา เป็นการเอาชนะวัตถุประสงค์ ผ่านทุกเงื่อนไขที่ตั้งไว้อย่างหมดจด

Tambaqui มิได้บดบังหรือซ่อนอะไรไว้เลย แต่กลับเผยให้เห็นภายในโครงสร้างดนตรีอันความซับซ้อนที่ยากกว่าจะได้ยินใน DAC ตลาด สร้างความประทับใจได้ดีที่สุดก็คือเวทีเสียงที่เป็น 3D กว้างและลึกกว่าที่คิดไว้

Tambaqui ได้เพิ่มรสละมุนให้กับเสียงดนตรีของดิจิทัลออดิโอ เป็นการผสมผสานที่กลมกล่อมที่สุด จนพบว่าเมื่อฟังนานๆ ไป ปรากฏว่าได้เสพติดมันไปแล้ว เชื่อว่าแม้ “คนหูทองสายแผ่นดำ” ที่ได้ลิ้มลองจะยอมรับและเข้าถึงได้อย่างแท้จริง

เมื่อลองฟังจากหูฟังเหยี่ยว Night Hawk ผ่านแอมป์หูฟัง Tambaqui นำเสนอความแน่นของชิ้นดนตรี ให้เราได้เข้าใกล้ชิดกับนักดนตรียิ่งขึ้น เพราะ Driver ติดกับหูเลยไง ฟังจากหูฟังแม้ทำให้ความเป็นสามมิติน้อยลงไป รวมถึงอาจขาดมนต์ขลังน้อยลงเมื่อเทียบกับลำโพง ซึ่งก็แน่อยู่แล้ว แต่เหลือเชื่อว่าให้รายละเอียดเล็กๆ มากมายที่ได้ยินชัดขึ้น บรรยากาศยังคงอยู่ น่าเสียดายที่เหยี่ยวอาจมีศักยภาพไม่สูงพอที่จะบอกอะไรได้มากกว่านี้

จะมีใครรับรู้ถึง “ความจริง” นี้บ้าง หากเจ้าของหูฟัง “เทพ” เหล่านั้นจะได้ยินมัน ก็อาจบรรยายได้ดีกว่าผม?

Analogue that’s as good as digital…!

คุณสมบัติที่สาธยายมา ไม่แปลกใจว่าทำไม Mola Mola Tambaqui จึงประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าให้ความแตกต่างของ เสียงดิจิทัลที่ถูกต้อง ให้เสียงอะนาล็อกที่ถูกต้องสมจริงด้วย

หรู เป็น Iconic ดูเป็นมิตรกว่าคู่แข่ง ในราคาค่าตัวสูสีกัน นาทีนี้ ตลาดสำหรับ DAC ระดับพรีเมียม ค่าตัวใกล้เคียงกันนั้นแม้มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็มีไม่น้อยสำหรับแบรนด์ที่มีชื่อเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเชื่อว่าตลาดกลุ่มนี้จะร้อนระอุขึ้น  คู่แข่งอย่าง DAVE, DAC50x, N-05XD รวมถึง Bartok ทั้งหมดที่กล่าวมาก็ต้องระวังตัวให้ดี Mola Mola Tambaqui คือผู้ท้าชิง และเป็นหนึ่งใน Roon Endpoint ที่ออกแบบได้ล้ำไม่เป็นรองใคร ถึงเวลาที่นักฟังบ้านเราจะได้สัมผัสเสียที… แล้วไปวัดกัน

Tambaqui จัดอยู่ในกลุ่มของดี “ค่าตัวสูง” พอๆ กัน โดยวงจรภายในเป็น FPGA คล้ายพี่หมื่น DAVE แต่ฟังก์ชันกลับเหมือนกับ DAC50X ซึ่งพูดได้ว่าเป็น Streaming DAC @ROON Ready แต่จะไม่สามารถเล่นด้วยตัวเองถ้าขาด ROON core โดยที่ DAC ทั้ง 5ตัว DAVE, DAC50x, N-05XD, Bartok และ Tambaqui ต่างมีแอมป์หูฟังติดตั้งมาด้วยทั้งสิ้น อ้อๆ บางตัวเป็นออปชันที่ต้องจ่ายเพิ่ม

ทั้ง Tambaqui และ DAC ใหม่ๆ สมัยนี้ต่างหลีกเลี่ยงที่จะใช้ off-the-shelf parts เพราะต้องการสร้างความแตกต่าง ก็ต้องใช้ FPGA: SHARC processors ปัจจุบันอยู่ภายใต้ร่มเงาของ AMD ยักษ์ใหญ่ในวงการ Chip Maker ตรงนี้คือความต่างที่่ DAC ส่วนใหญ่ในตลาดล้วนเลือกใช้  DAC CHIP จากผู้ CHIP Maker ระดับ Big Name กันทั้งสิ้น Chip Set ทั่วไปจาก ESS Technology หรือ AKM ไว้ภายใน

เว็บไซต์ของ Mola Mola กล่าวถึง Tambaqui ว่า ดิจิทัลที่ดีพอๆ กับอะนาล็อก วลีนี้เป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในหมู่ออดิโอไฟล์มานานหลายทศวรรษแล้ว 15 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยนวัตกรรมต่างๆ เช่น Berkeley Audio Design, dCS และ Weiss Engineering พัฒนาปรับปรุงดีขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่า Tambaqui ช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยในแบบของตัวเองโดยมี Bruno’s Signature ในรูปแบบของดิจิทัลออดิโอซึ่งให้คุณภาพเสียงแบบอะนาล็อกชัดขึ้นไปอีก ซึ่งอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนใน DAC ในตัวอื่น

‘ทึ่ง’ เป็นอีกคำที่อธิบายความแปลกใหม่ที่ Mola-Mola Tambaqui ทำอย่างไรให้โลกจำ… มีความเฉพาะ ไม่ว่าจะใช้หูฟังหรือใช้ผ่านสายสัญญาณไปยังแอมป์ DAC ตัวนี้มีความแม่นยำ ให้ไดนามิกส์ที่โดดเด่น ให้เสียงที่สามารถดึงผู้ฟังดำดิ่งเข้าถึงรายละเอียดด้านในสุดของการบันทึกจากอัลบั้มเทพๆ ของศฺิลปินคนโปรดอัลบั้มแล้วอัลบั้มเล่า นี่คือ DAC ที่มีความพิเศษ โปรดอย่าเพิ่งเชื่อผม ท่านผู้อ่านต้องได้ยินกับหู

สาวกผู้ที่บูชาอะนาล็อกเชื่อว่า “เป็นที่สุด” นั้น ต้องไม่มีทางเชื่อคำกล่าวนี้แน่นอน อาจยังฝังลึกถึงความเชื่อเก่าๆ เกี่ยวกับดิจิทัลออดิโอในยุคแรก แม้ว่าดิจิทัลออดิโอในยุคนี้ถูกพัฒนาขัดเกลามาจนได้ที่นั้นจะให้เสียงธรรมชาติสูงสุด ถึงดิจิทัลออดิโอจะเหนือกว่าในทุกพารามิเตอร์ พวกเค้าก็ยังคิดเช่นเดิมว่ายังเป็น “เสียงดิจิทัล” เพราะความเชื่อฝังหัวนั่นเอง… นี่พูดแบบ Soft Soft นะ…

ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำของวันนี้ ดิจิทัลออดิโอจะให้เสียงที่เป็นอะนาล็อกสูงสุด แสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน การแบ่งขั้วฟอร์แมตช์ระหว่างดิจิทัลและอะนาล็อก นั้นมีช่องว่างที่ แคบลงเพียงใด คออะนาล็อกถ้าไม่ตั้งการ์ดสูงเกินไปนัก เชื่อว่าก็คงต้องยอมเปิดใจรับฟังก็คราวนี้ล่ะ

the Way of STREAM

มิเพียงรูปทรงตัวเครื่องโค้งเว้าเป็นคลื่นน้ำ ไฮไฟที่ถ่ายทอดด้วยสตรีมมิ่งให้เสียงลื่นไหลเป็นธรรมชาติประหนึ่ง “วิถีแห่งสายน้ำ” ทีเดียว ติดหู นุ่มนวล ฟังง่าย คือนิยามของ Mola Mola: Tambaqui มี Signature ชัดเจน การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และเด่นในคุณลักษณะเฉพาะ ก็คิดเยอะที่ทำ DAC เพื่อทุกคน นี่ยิ่งกว่าพี่เบิร์ดที่รักทุกคนอีกนะ อเนกประสงค์ จะต่อแบบใดก็รับได้หมด ดีสำหรับ “สายตรีมติด Roon“ เป็นตัวเลือกของผู้ที่ต้องการของดี ควรเชื่อหูตนเอง โดยไม่ติดแบรนด์ที่คุ้นหูและไม่จำเป็นต้องเล่นเหมือนคนอื่น

ไม่ว่าตัวต้นทางจะเป็นอะไรจาก CAS หรือ CD Transport ผ่านอินพุตดิจิทัลอื่น ยิ่งผ่านการเชื่อมต่อ ROON Core ชั้นดีอย่าง Pachanko Labs: Constellation Mini (CAT) ที่่เสี่ยทอมมี่ ส่งประกวดมาพร้อมกันทำให้ฟังเพลินจนถอนตัวไม่ขึ้นได้เชียวนา เพราะการเพิ่มขีดความสามารถให้เป็น Roon Endpoint / Roon Ready ให้กับ DAC ในยุคนี้มันช่างเข้าทางเสียนี่กระไร ประมาณว่า Tambaqui ปรับตัวเข้ากับ ระบบนิเวศในยุคตรีมมิ่งครองโลกได้ดีนี่คือบทรุปของ “the Way of STREAM” ที่มีเครื่องเสียงชื่อเป็นปลาตัวใหญ่นี้ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ Digital Audio ที่โดดเด่นของวันนี้

มิเพียงแค่ว่าทำเสียงของไฮไฟได้ถูกต้องจนคออะนาล็อกยังอ้าปากค้าง ดิจิทัลออดิโอทำแบบนี้ก็ได้เหรอ เบสลึกและแน่น เสียงกลางนุ่ม เสียงแหลมเปิด ชัด โอบล้อม คมชัดและสะอาดเป็นธรรมชาติ ฟังสนุก ถูกจริตล่ะซิ แม้ชื่อเป็นปลาแต่กลับสะอาดไร้กลิ่นคาวโดยสิ้นเชิง

Mola Mola: Tambaqui ด้วยคุณสมบัติ ค่าตัวพอๆ กันอาจซื้อได้แค่ตัวเริ่มต้น แต่เพราะ Mola Mola มี DAC ตัวเดียวจึงอยู่กันอีกนาน ซึ่งอาจไม่ใช่ DAC ที่หรูหราที่สุด หรือมีฟีเจอร์ครบครันที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นหนึ่งใน DAC ที่เป็น Iconic ให้เสียงเป็นอะนาล็อกกว่า DAC ตัวใดๆ นุ่มนวลแต่ทรงพลัง สปีดดีอย่างกับติดเทอร์โบ แนวเสียงติดหูง่าย คออะนาล็อกต้องถูกจริต จะดีที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมาหรือไม่ เอ้อใช่ ใช่ซิ เป็นเช่นนั้นจริงๆ

…”Jake “... คุณต้องแวะมาฟังให้ได้ แล้วลบความเชื่อเดิมๆ ทิ้งไป. ADP

ราคา 420,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย  บริษัท คอมฟอร์ด ซาวด จำกัด
โทร. 083-758-7771

ผู้เขียน: ธรรมนูญ ประทีปจินดา
Audiophile/Videophile Reviewer
อดีตที่ปรึกษาฝ่ายวิศวกรรมสนับสนุนการผลิตโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ
ผู้เฝ้าติดตามความเป็นไปของดิจิทัลออดิโอ ตาไม่กะพริบ