นี่คงจะเป็นรีวิวฉบับรวบรัดที่สุดเท่าที่ WJ เคยทำ

ณ วันใดวันหนึ่ง เดือนใดเดือนหนึ่ง ในปี 2565 ผมได้รับเชิญให้ไปฟังและนัดหมายกันเพื่อทดลองฟังและอัดคลิปวิดีโอบทสัมภาษณ์การฟังลำโพง Fyne Audio รุ่น Classic และ Vintage ที่โชว์รูมผู้นำเข้า Audio Force ธีมงานก็ไม่ได้ต้องกะเกณฑ์อะไรมากมาย เพราะลำโพงเพิ่งถูกส่งมาเปิดตัวในประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว เข้าใจว่าให้เราไปลองฟังดูก่อน จะได้ทำคลิปเพื่อการโปรโมตต่อไป ส่วนใหญ่จะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันมากกว่าหลังจากที่ WJ ห่างหายไปนาน

วันนั้นผมเตรียมแผ่นซีดีไปหลายแผ่น เพราะทราบมาว่าทางร้านจะแมตชิ่งทั้งชุดเครื่องเสียงและลำโพงให้เข้าธีมกัน โดยใช้แผ่นซีดีเป็นตัวอ้างอิง คือไม่ได้ใช้ Digital Streamer เพื่อให้ดูเข้ากันเหมาะสมกันกับชุดนี้ที่มีความโอ่อ่าและหวนคืนสู่ยุคทองของความวินเทจอันชวนหลงใหล เราต้องการฟังอย่างจริงจังและมีความเสถียรสูง จึงใช้ซิสเต็มอ้างอิง ได้แก่ Bow Wizard II CD Player ใช้ปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ Niro Nakamichi System 1000 ซึ่งเป็นคู่ขวัญระดับขึ้นหิ้งที่คงจะหาฟังได้ยาก ลำโพงก็ Fyne Audio รุ่น Classic และ Vintage วางติดกันเลย

ผมลองด้อมๆ ตระเวนดูว่าสภาพห้องฟังเป็นอย่างไรบ้าง  ก็ต้องตอบว่า มีสภาพอะคูสติกส์แบบกลางๆ ดี ไม่แย่มากนัก คือจริงๆ มันจะแย่มากเพราะมีตัวการเป็นกระจกบานใหญ่ตามรูปแบบของโชว์รูม แต่ด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งแอมป์ ลำโพง ของโชว์ ที่วางกองกันกระจัดกระจายเต็มห้อง (แต่เป็นสัดส่วน) จึงทำให้ความสามารถในการเกลี่ยความถี่ไม่พึงประสงค์ในการฟังพอจะทุเลาเบาบางไปได้ รูปแบบการวางของลำโพงวันนั้น วางห่างกันซ้าย-ขวาราว 2 เมตรปลาย ถึงสามเมตรต้น ผมนั่งลงบนเก้าอี้นั่งฟัง ห่างจากลำโพงในระยะที่ใกล้เคียงกัน ผมมีแผ่นซีดีที่เลือกฟัง 4 แผ่น มีค่าย Telarc เพื่อฟัง Egmont Overture  ค่าย Clarity Record 2 แผ่นสำหรับ Jazz & Vocal (You’ve got music in me, Secret Island) และแผ่น Jurassic Park Soundtrack

ลำโพง Fyne Audio รุ่น Classic และ Vintage ออกแบบมาเพื่อตอบสนองนักเล่นเครื่องเสียง โดยเฉพาะคอลำโพงที่ต้องการลำโพงเสียงดีและสวยงามทรงคุณค่าน่าสะสม  ลำโพงทั้งสองรุ่นที่ได้มีโอกาสนั่งฟังใช้ไดร์เวอร์เบสขนาด 12 นิ้ว และทวีตเตอร์ติดตั้งในแนวกึ่งกลางของเบสไดร์เวอร์ เรียกว่าลำโพงแกนร่วมหรือ Coaxial แต่เขาจะใช้ชื่อเทคโนโลยีเอกสิทธิ์ในนามว่า IsoFlare Point Source ตัวตู้สามารถปรับจุดตัดครอสโอเวอร์และความไวได้จากด้านหน้าและด้านหลัง โดยที่การวางตำแหน่งจะแตกต่างกันตามความสวยงามของตู้ที่ต้องการสื่อความให้แตกต่างออกไป งานเข้าไม้ งานเลือกลายไม้ การเข้ามุม การให้สี งานแกะสลักป้ายโลหะ ชุบทอง สัดส่วน ดูลงตัวและท้าทายกาลเวลามาก  สวยจริง ๆ  เอาแค่ดู ผมคิดว่าเขาสอบผ่านแล้วล่ะ อย่างน้อยงานช่างฝีมือที่ประณีตระดับช่างเฟอร์นิเจอร์ ก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าการซื้อเฟอร์นิเจอร์นี้จะตัดสินใจได้ยากเลย

ผู้ก่อตั้ง ผู้ออกแบบและสร้าง Fyne Audio รุ่น Classic และ Vintage มาจากลำโพง Tannoy ทั้งหมด ซึ่งนั่นก็หมายถึงองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความคาดหวังที่จะให้ตัวเองได้ถูกจารึกความสำเร็จอีกครั้งที่ต่อยอดจาก Tannoy เดิม ในลำโพง Tannoy รุ่นใหญ่ไปจนถึงเรือธง ใช้หลักการติดตั้งไดรเวอร์แบบ Point source หรือ Coaxial เพื่อให้เฟสของเสียงจากลำโพง สอดคล้องสมดุลราวกับมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน แน่นอนว่ามันให้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ และยิ่งกว่านั้นคือความโอ่โถง สวีทสปอตกว้าง ฟังสบายโดยเฉพาะในห้องขนาดใหญ่ นั่นเป็นสิ่งที่ผมจำได้ แต่ก็ย่อหย่อนความเฉียบพลันแบบลำโพงไดนามิกส์หลายๆ ดอกเช่นกัน

เมื่อผมได้ฟัง Egmont Overture แค่เสียงฮอร์นขึ้นจากลำโพง Fyne Audio รุ่น Classic เท่านั้นแหละ เฮ้ย ทำไมมันสดได้ขนาดนั้น? การจัดรูปของวงที่นอกเหนือจากความโอ่โถงและสวีทสปอตที่กว้างจากการจัดวางโครงสร้างของไดรเวอร์แบบนี้ มันให้ชีวิตชีวา ไดนามิกส์ที่ดุดัน ปลดปล่อย และอิสระชนิดที่เหมือนกับการนั่งฟังลำโพงไดนามิกส์ไดรเวอร์หลายทางแบบไฮเอนด์ยังไงยังงั้น มันเป็น Coaxial เปลี่ยนโลกเลย เมื่อพิจารณา (โดยที่ไม่ต้องเพ่ง) ถึง Timbre ทั้งเครื่องสาย เครื่องเป่า เครื่องเคาะ มันมี resolution ที่มัน “หลุดพ้น” จากสิ่งที่ผมเคย “ติดใจ” กับลำโพง Coaxial  ซาวด์สเตจนำเสนอออกมาชัดเจนแบบโอบล้อมให้เราฟังสบาย ๆ แบบมีช่องไฟ ไม่เบียดเสียดยัดเยียดแบบชำแหละรายละเอียดแย่งกันนำเสนอยั้วเยี้ย เมื่อเราชำเลืองไปทางไหนก็ราวกับแสงไฟจะฉายไปที่กลุ่มเครื่องเล่นในโซนนั้นให้ติดตามลีลาได้  ราวกับเราเป็นคอนดักเตอร์ของวง ให้ความรู้สึกแบบนั้นเลย

มาที่เสียงร้องและแจ๊ส ผมพบว่า Fyne Audio รุ่น Classic นี่ ไม่ประนีประนอมในเรื่องของความน่าฟัง ความน่าติดตาม ไม่แพ้เพลงคลาสสิกวงใหญ่เลย มิหนำซ้ำการส่งอารมณ์ของศิลปินกลับมายังผู้ฟัง และไดนามิกส์ของเครื่องเป่าและกลองยังง่ายดายราวกับเจ้าหล่อนและพวกเขาอยู่ห่างจากผมแค่ 3 เมตร (ใกล้เคียงกับระยะการนั่งฟังมาก) มีชีวิตชีวามาก และส่งยิ้มให้เราได้ด้วย (ถ้าเราปล่อยอารมณ์ไปถึงจุดนั้นได้) ผมประทับใจกับ Live performance ของ Fyne Audio รุ่น Classic จริงๆ แม้แค่ช่วงระยะเวลาแค่ 20 นาที!!!

ใน 10 นาทีสุดท้าย เราลองสลับฟังลำโพง Fyne Audio รุ่น Vintage ดูบ้าง เฮ้ย คนละเรื่องเลย ลำโพง Vintage วางอยู่ถัดจากรุ่น classic แต่มันให้สเกลของเสียงที่กระชับ ชัดเจน และจริงจังกว่ากัน อันนี้ผมสังเกตจากตำแหน่งไดรเวอร์ที่เจาะจงวางให้สูงเสมอหูของนักฟัง จังหวะจากเดิมที่ผ่อนปรน กลับกลายมา “เน้น” ความแม่น สเถียร และติดไปทางดุดันมากกว่า แน่นอนว่าคุณลักษณะที่เป็นบวก ไม่ว่าจะเป็น Timbre หรือรูปวงยังคงดีเยี่ยม แต่มันก็เปลี่ยนโทนสีไปทางร้อนหน่อยๆ  ผมเลยบอกผู้จัดจำหน่ายว่า ในวันที่จะถ่ายคลิปจริงๆ ขอลองเปลี่ยนเอาปรี/เพาเวอร์ของ Chord ลงไปแทน เพราะดูมันต้องการการควบคุมที่ดีกว่านี้

ในวันที่อัดคลิปวีดีโอ ผมทดลองฟัง  Fyne Audio รุ่น Vintage อีกครั้งผ่านปรี/เพาเวอร์ของ Chord (รุ่นกลาง) พบว่า ความเน้นของเสียงก็ยังมีให้เห็นอยู่ แต่จังหวะผ่อนหนักเบาดูจะลื่นไหลน่าติดตามมากกว่า มีความจริงจังผสมผสานกับความน่าฟังที่ลงตัวดีกว่าเมื่อคราวขับด้วย Niro Nakamichi 1000 แสดงว่า เจ้า Fyne Audio รุ่น Vintage ต้องการการเซ็ตอัพด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อที่พิถีพิถันมากกว่า และรวมไปถึงสภาพของห้องฟังด้วย จึงจะเล็งผลเลิศจากมันถึงที่สุด

แล้วเหมาะกับใคร?

Fyne Audio รุ่น Vintage เหมาะกับการฟังเพลงสไตล์มิวสิคัลที่มีสัดส่วนของเสียงไปทางออดิโอไฟล์มากกว่า Fyne Audio รุ่น Classic แน่นอนว่าพื้นฐานที่ดี ได้แก่ ความสด การตอบสนองทางเฟสและ Timbre ที่เที่ยงตรง ส่งผลให้อิมเมจและซาวด์สเตจมีความชัดเจน ไม่พบอาการเสียงตู้มาก่อกวน (ในระดับความดังที่ฟัง) ทำให้เสียงใสมาก การส่งผ่านอารมณ์ของศิลปินนี่ ผมให้คะแนนไปทางสูงมาก (ไม่อาจให้เต็มสิบได้ เพราะฟังแป๊บเดียวยังไม่เห็นจุดสูงสุดของมันในสภาพการฟังและเซ็ตอัพ)

ส่วน Fyne Audio รุ่น Classic ก็จัดว่าเป็นลำโพงที่จัดวางง่าย รูปสวยเสียงดีเหมาะมากกับการเป็นเฟอร์นิเจอร์ร้องเพลงเพราะในห้องรับรอง  ถ้าคุณมองลำโพงที่มีคุณค่านอกเหนือไปจากคุณภาพเสียงดี สะสมได้ เป็น Masterpiece Collection เป็นเฟอร์นิเจอร์ร้องเพลงได้ ที่สำคัญ มีหลายขนาดให้ได้เลือกซื้อหาตามกำลังทรัพย์และสถานที่จัดวาง งานช่างฝีมือระดับสูง Handmade ในประเทศอังกฤษทุกกระบวนขั้นตอน ที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะทำออกมาได้กี่คู่ ก็เห็นจะต้องบอกว่า รีบหน่อยเดี๋ยวอดกัน…

รายละเอียดติดตามในคลิปวิดีโอของ AUDIOPHILE VIDEOPHILE CHANNEL ครับ. ADP

Classic XII ราคาโปรโมชัน 478,000 บาท
Vintage Twelve ราคาโปรโมชัน 1,280,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Audio Force
โทร. 090-004-2380

ผู้เขียน: วิศัลย์ เอกธรรมกุล
Audiophile/Videophile Reviewer