การเลือกสายไฟเอซี โดยเฉพาะสายไฟเอซีจาก outlet ที่ผนังมายังปลั๊กลอยหรือเครื่องกรองไฟขนาดใหญ่ของระบบเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ ถือเป็นสายไฟหลักที่รับผิดชอบส่งผ่านกระแสไฟไปยังอุปกรณ์ทั้งระบบ รวมถึงอุปกรณ์จำพวกที่บริโภคกระแสไฟสูง เช่น เพาเวอร์แอมป์, อินทิเกรตแอมป์ขนาดใหญ่ หรือแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ซึ่งมีทริคคือ ให้เลือกใช้สายไฟเอซีที่มีขนาดหน้าตัดใหญ่สัก 10AWG ขึ้นไปเอาไว้ก่อน มากกว่าเลือกสายไฟที่มีขนาดหน้าตัดเล็ก เช่น 14AWG ลงไป เนื่องจากสายไฟเอซีที่ใช้ตัวนำขนาดหน้าตัดใหญ่ จะมีค่าความต้านทานไฟฟ้าต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องแรงดันไฟฟ้าตก ที่เหลือจากนี้ก็เป็นเรื่องของดีไซน์ สายไฟเอซีออดิโอเกรดแต่ละแบรนด์ก็มีการออกแบบโครงสร้างสาย เกรดวัสดุตัวนำ ฉนวน ชิลด์ หัว-ท้ายปลั๊ก แตกต่างกันไป ซึ่งตรงนี้สามารถเลือกซื้อหาได้ตามรสนิยมและงบประมาณ

แม้การหาสายไฟเอซีหน้าตัดใหญ่คุณภาพดี โดยเฉพาะออดิโอเกรดพรีเมี่ยมแบรนด์ ในราคาที่ไม่ต้องจ่ายมากจนเกินไปค่อนข้างมีตัวเลือกน้อย แต่ก็ยังมีสายไฟเอซีที่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ในช่วงงบประมาณหนึ่งหมื่นบาทบวกลบ นั่นคือ Pangea Audio AC-9 MKII Power Cord จากสหรัฐอเมริกา ที่จะมารีวิวในครั้งนี้ (ขอเรียกย่อๆ ว่า AC9) เป็นสายไฟเอซีความยาว 2 เมตรแบบประกอบสำเร็จมาจากโรงงาน ที่มีขนาดหน้าตัดรวมของสายเบอร์ใหญ่สะใจถึง 7AWG หรือ กว่า 10 สแควร์มิล กันเลยทีเดียว

Pangea Audio คือเฮ้าส์แบรนด์ของ Jay Victor เอ็นจิเนียร์เจ้าของสิทธิบัตรประมาณ 40 ฉบับในด้านของโครงสร้างสายและคอนเน็กเตอร์ จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการวิศวกรรมออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องมือทดสอบทางวิทยาศาสตร์มากว่า 12 ปี ก่อนจะมาเป็นออดิโอดีไซน์เนอร์ ทุกกระบวนการผลิตจึงมีหลักการพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ และใช้เครื่องมือทดสอบที่สลับซับซ้อนทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการฟังทดสอบด้วยหูอย่างเข้มข้น นำมาเปรียบเทียบกันเพื่อสรุปผลออกมาเป็นดีไซน์ท้ายสุด

ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Pangea ออกแบบในสหรัฐอเมริกา ส่วนฐานการผลิตปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่ได้หวัน โดย Jay Victor เป็นคนเฟ้นหาและดีลตรงกับแหล่งผลิตด้วยตัวเองทั้งในสหรัฐและเอเชีย เพื่อให้ได้สเปคที่ตรงตามความต้องการ และยังทำราคาได้ต่ำกว่าคู่แข่งในท้องตลาด

รูปลักษณ์และดีไซน์

ทุกองค์ประกอบของ AC9 ถูกคิดคำนวณมาแล้วเป็นอย่างดี สาย Line, Neutral, และ ground แต่ละเส้นประกอบด้วยสาย 6 กลุ่ม โครงสร้างตัวนำแบบ 5 way multi-gauge จูนมาสำหรับกระแสไฟ 50/60Hz โดยเฉพาะ หุ้มฉนวน PE ใช้เทคนิดตีเกลียวย้อนเพื่อลด noise ตัวสายมีชีลด์สองชั้น (อะลูมิเนียมฟอยล์/ตาข่ายทองแดงชุบดีบุก) ป้องกัน noise ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีกระแสสูงวิ่งผ่านสาย แจ็กเกตชั้นกลางและชั้นนอกสุดเป็น PVC หุ้มทับด้วยไนล่อนถักสีดำ-เทา มีเหลือบเส้นสีน้ำเงินให้รู้ว่าเป็นเวอร์ชั่น MKII ตรงหัวท้ายปลั๊กหล่อพิมพ์เชื่อมติดกับตัวสาย ส่วนคอนแท็คเป็นทองแดงเนื้อหนาเคลือบทอง 24K ตรงท้าย IEC ดีไซน์ DeathGrip™ ให้ส่วนคอนแท็คมีหน้าสัมผัสใหญ่และเสียบได้แน่นเป็นพิเศษ

สิ่งที่อัพเกรดขึ้นมาจากสายไฟเวอร์ชั่นเก่าคือ การเพิ่มตัวนำเกรดพิเศษที่เรียกว่า “Cardas Grade 1 Copper” เป็นตัวนำทองแดงความบริสุทธิ์สูงที่คิดค้นโดย George Cardas ซึ่งมีกระบวนการหลอมและรีดเฉพาะตัวที่ช้ามากๆ แต่ทำให้ได้เนื้อทองแดงที่มีผลึกเรียบลื่นไร้รอยต่อตั้งแต่พื้นผิวไปจนถึงแกนกลาง เหนือกว่ากระบวนการ OFHC หรือแม้แต่ OCC ร่วมกับตัวนำทองแดง OFC 99.99% ในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งทาง Jay Victor การันตีว่า การอัพเกรดด้วยตัวนำใหม่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพรุ่น MKII ให้เกินราคาไปไกลหลายเท่า

เซ็ตอัพ

แม้จะเป็นสายเอซีเส้นใหญ่ แต่สามารถดัดตัวไปตามพื้นที่ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง ตามที่ผู้ผลิตดีไซน์มา แต่ตัวสายมีน้ำหนักต่อนข้างมาก บางกรณีหากเครื่องที่ใช้วางบน rack สูงอาจต้องหาตัวรองมาหนุนสายไม่ให้รั้งเครื่องสักหน่อย ในการทดสอบจะใช้ AC9 เป็นสายไฟเมนจากปลั๊กผนังมายังปลั๊กลอย Clef PB10 ซึ่งจ่ายไฟให้ทั้งซิสเต็มเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งแหล่งโปรแกรมต่างๆ, ลิเนียร์เพาเวอร์ซัพพลาย, ปรีแอมป์, อินทิเกรตแอมป์, และเพาเวอร์แอมป์

เปรียบเทียบกับสายไฟเอซีเมนขนาด 10AWG เส้นเดิมทีใช้อยู่ประจำ มีข้อสังเกตเล็กน้อย กรณีที่เอาสายไฟ AC9 ไปใช้งานกับปลั๊กรางกรองไฟ PB10 ด้วยดีไซน์ที่ต่างจากหัวปลั๊กตัวเมียทั่วไป เวลาเสียบเข้าปลั๊กลอย PB10 ซึ่งมี power สวิตช์อยู่เหนือเบ้า IEC พอดี ถ้าเสียบเข้าไปจนสุด ขอบหัวปลั๊กของ AC9 จะไปชนสวิตช์ปิดเปิด ต้องขยับปลั๊กออกมาเล็กน้อยถึงจะกดสวิตช์ได้ตามปกติ แต่ถึงอย่างนั้นหน้าสัมผัสของคอนเน็กเตอร์ก็ยังคงแน่นหนาดีมาก

คุณภาพเสียง

สายไฟเอซี AC-9 ใช้เวลาเบิร์นอินไม่นาน เสียบใช้งานทิ้งไว้ข้ามวันน้ำเสียงก็เข้ารูปเข้ารอยแล้ว (โฟกัสเข้ารูปเป็นตัวไม่ฟุ้ง) และจะนิ่งเมื่อผ่านพ้น 50 ชั่วโมงไปแล้ว ผิดกับขนาดตัวที่คาดว่าจะต้องเบิร์นอินกันยาวนานกว่านี้มาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการใช้ฉนวนและชีลด์ที่ไม่หนาจนเกินไป ซึ่งก็ได้ข้อดีเรื่องของการการดัดโค้งได้ง่ายไปด้วยในตัว และจะมีพฤติกรรมหากไม่เสียบไฟให้กระแสไหลผ่าน เมื่อนำมาใช้งานช่วงแรกมีอาการเสียงฟุ้งเล็กน้อย พอผ่านไปสักระยะไม่กี่นาทีก็กลับเข้าที่เหมือนเดิม

สิ่งที่สัมผัสได้อันดับแรกจากสายไฟเอซีเส้นนี้ คือเรื่องของโทนัลบาลานซ์ที่รักษาปริมาณของระดับเสียงย่านทุ้มกลางแหลมออกมาได้สมานเสมอกันดีมาก อันนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรกของคุณสมบัติสายไฟเอซีที่ดี ยิ่งการนำมาใช้เป็นสายไฟเมนหลักด้วยละก็ยิ่งสำคัญ เพราะมันทำให้สามารถรับฟังบุคลิกของซิสเต็มหรือการเปลี่ยนแปลงของเสียงเมื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ได้แม่นยำชัดเจนขึ้น

สายไฟเอซีที่มีโทนัลบาลานซ์สมดุลราบเรียบ ช่วงแรกของการฟังจะไม่รู้สึกถึงโทนเสียงที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน แบบเสียบปุ๊บร้องว้าว อะไรแบบนั้น แต่พอยิ่งฟังไปนานๆ จะเริ่มสังเกตได้ว่ารายละเอียดต่างๆ ได้ยินชัดเจนมากขึ้นในทุกๆ ย่านเสียง แต่ทั้งหมดไม่ถูกเน้นให้เด่นสะดุดหู กับซิสเต็มซึ่งโทนเสียงค่อนไปทาง bright ย่านกลางแหลมเด่นกว่าทุ้ม พอเสียบสายไฟ AC9 เข้าไป จะช่วยเติมเนื้อเสียงและเสริมปริมาณย่านเบสให้สมดุลมากขึ้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ซิสเต็มให้ได้อยู่แล้ว) ในขณะที่ซิสเต็มที่เสียงติดหนาหรือโทนออก dark ก็จะได้โทนเสียงแบบเดิม แต่เพิ่มเรื่องน้ำหนักการย้ำเน้น และไดนามิกที่จะแจ้งขึ้น

การตอบสนองไดนามิกก็น่าสนใจ ใครที่มองว่าสายไฟเส้นโตๆ ให้ไดนามิกทรานเชี้ยนต์ที่อืดหรือหน่วงช้าไปซะหมดนั้น ผิดถนัด โดยเฉพาะกับช่วงระดับราคานี้ ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากอยู่ไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่หากเป็นสายไฟระดับเริ่มต้น ถ้าไม่ติดไปทางนุ่มเพื่อกลบเกลื่อนจุดด้อยก็จะมีความหยาบกระด้างติดปลายนวมให้รับรู้ได้อยู่ เวลาที่ไดนามิกของเสียงสวิงตัวอย่างรวดเร็วรุนแรง ยิ่งฟังดังอาการยิ่งออกชัด

แต่ AC9 ให้ไดนามิกที่ตอบสนองได้อย่างฉับไว มีแรงปะทะหัวเสียงที่ชัดคม โดยไม่มีอาการเสียงหยาบเข้ามาปะปน แม้ลองเร่งโวลุ่มขึ้นไปสูงๆ เรียกว่าผสานพละกำลังแรงอัดฉีดเข้ากับความนุ่มนวลได้อย่างพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อย อันนี้ขอปรบมือให้ดังๆ กับฝีมือของ Jay Victor จริงๆ ในแง่ของไดนามิกเรนจ์ ไม่ว่าฟังดังหรือเบา สายไฟเอซีเส้นนี้สามารถรักษาโทนัลบาลานซ์เอาไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง สามารถกวาดโวลุ่มได้กว้างมากขึ้น เปิดได้ดังมากขึ้น โดยไม่มีอาการเสียงแหลมสาดพุ่ง หรือทุ้มล้นกวนย่านกลางแหลม ในขณะเดียวกันที่โวลุ่มระดับเบาๆ ก็ยังได้ยินรายละเอียดเสียงทุกย่านพอๆ กัน นั่นแปลว่า สายไฟเอซีเส้นนี้ไม่เพียงแค่เหมาะกับซิสเต็มฟังเพลงเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับการนำไปใช้กับซิสเต็มโฮมเธียเตอร์อีกด้วย

บุคลิกเสียงโดยรวมของ AC9 ค่อนมาทาง dark มีความอบอุ่นเจืออยู่เล็กน้อย เกรนเสียงมีความเนียนใช้ได้เลยทีเดียว (อานิสงส์จากตัวนำ cardas grade 1) เนื้อเสียงออกไปทางทึบเข้ม แต่ไม่ใช่อิ่มหนาจนฟังแล้วอึดอัด หรือฟังแล้วทึบด้าน ยังคงพื้นเสียงที่สะอาดและให้ความโปร่งของช่องไฟ อิมเมจชิ้นดนตรีต่างๆ ก็มีสเกลเล็กใหญ่ลดหลั่นกันไป ลอยเด่นออกมาแยกแยะได้ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการจัดการเรื่อง noise ภายในสายไฟที่ดี เมื่อเอาไปทดสอบกับระบบภาพก็ช่วยให้สีสันอิ่มเข้มขึ้น ภาพเนียนใสแต่ไม่ขึ้นขอบ เทียบกับสายแบรนด์จีนที่มีขนาดหน้าตัดใหญ่แต่ราคาถูก จะให้ความเหยาบของเสียงมากกว่า รวมถึงความละเอียดอ่อนในการแยกแยะรายละเอียดเสียงก็ด้อยกว่า AC9 พอสมควร

สรุป

Pangea AC-9 MKII เป็นสายไฟที่ไม่ทำตัวเด่นสะดุดหูตั้งแต่แรกฟัง แต่ยิ่งใช้งานก็จะยิ่งพบข้อดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไปได้กับทุกซิสเต็มตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับไฮเอ็นด์ก็ยังสามารถใช้งานสายเส้นนี้ได้ไม่ขัดเขิน หรือหากอยากได้คุณภาพดีกว่านี้ ก็มีรุ่น AC-9SE MKII ที่เพิ่มตัวนำ Litz wire copper และสัดส่วนปริมาณ Cardas Grade 1 copper ขึ้นไปอีก รวมถึงอัพเกรดวัสดุชีลด์ ก็จะได้ความโปร่งใส เบสที่กระชับแน่น เกรนเสียงที่ละเอียดยิ่งขึ้นในภาพรวม แต่สำหรับเรื่องของความคุ้มค่าต่อราคา AC-9 MKII ยังคงทำคะแนนได้สูงกว่า และเป็นสายไฟเอซีแบบไฮเคอเร้นท์ที่น่าหามาใช้งานมากที่สุดสำหรับงบประมาณนี้เส้นหนึ่ง highly recommend ครับ. ADP

ราคา 11,400 บาท (ราคาตั้ง) / 2.0 เมตร

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Clef Audio
โทร. 02-932-5981