ปฤษณ

นักเขียน : ปฤษณ กัญจา

ปกติ… เวลาเขียนคำเกริ่นนำเพื่อโยงเข้าสู่เนื้อหาของบทความ ผมมักเล่าเรื่องราวในเบื้องต้นให้ทราบความเป็นมาเพื่อปูพื้นก่อน แต่สำหรับครั้งนี้ ผมขอหยิบยืมเรื่องราวที่บันทึกไว้ในปกอัลบั้ม “13 samsen” มาขึ้นต้นแทน และต้องขอชื่นชมคนที่เขียนข้อความนี้ เพราะนอกจากเนื้อหาจะอธิบายภาพของอัลบั้มได้ชัดเจนแล้ว หากยังเผยให้เห็นมิตรภาพที่ผูกพันผ่านทางดนตรีอีกด้วยครับ

“ภราดรภาพในบลูส์

เบิร์ทกับป๊ง อเมริกันกับไทย โบกใหม่กับโลกเก่า แมนดะลินกับสไลด์กีตาร์

เขาได้พบและรู้จักกันคืนหนึ่งในดินแดนมะม่วงเขียวใหญ่ ที่ Adhere 13th Blues Bar หลังจากเบิร์ทแวะเข้าไปเที่ยวระหว่างรอเดินทางกลับบ้านที่สวีเดน มิตรภาพบังเกิดขึ้นในฉับพลันทันใด เพราะต่างก็มีบลูส์อยู่ในหัวใจ

คืนหนึ่งสองเพื่อนใหม่มีโอกาสได้แจมกัน จากนั้นความผูกพันทางดนตรีก็เกิดตามมา ทำให้ทั้งสองได้กลับมาพบและร่วมบรรเลงกันครั้งแล้วครั้งเล่า

ทว่านี่ไม่ใช่บลูส์ธรรมดา แต่เป็นบลูส์สไตล์มะม่วงเขียวใหญ่ เพราะเป็นการผสมผสานความทรงจำอันเจ็บปวดของทาสผิวดำกลางไร่ในอเมริกา กับความลำเค็ญของชาวนาไทยที่ ‘หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน’ อยู่กลางทุ่งกุลาในอีสาน

และนี่คือที่มาของบลูส์แนวใหม่ บลูส์แห่งยุคสมัยของเรา ทั้งเบาทั้งหนัก คือบทรักอันรัดตรึงของแมนดะลินกับสไลด์กีตาร์ ทั้งแสบทั้งซ่า ทั้งโหยหาทั้งอาลัย

แต่เป็นเครื่องยืนยันถึงภราดรภาพอันแน่นแฟ้นของเพื่อนชาวบลูส์”

จุดเริ่มต้นของภราดรภาพ 

คุณป๊ง: ผมเจอ เบิร์ท ครั้งแรกตอนปี 2005 มาเจอครั้งแรกคืนก่อนที่เขาจะเดินทางกลับ เพิ่งเจอกันที่นี่ เขาก็มาแจม แล้วเบิร์ทก็แบกแมนโดลินกับกีตาร์วินเทจ Gibson แมนโดลินผลิตปีอะไรนะ

คุณ เบิร์ท: ปี 1919 

คุณป๊ง: แบกมาจากหัวลำโพง แล้วก็เล่นไม่ธรรมดานี่หว่า ก็เลยติดต่อกันทางอีเมล หลังจากนั้นปีถัดมาก็ได้แจมกันอีก แจมกันเรื่อยๆ ครับ ครั้งที่สองที่เจอกัน ผมกำลังอัดเสียงของวงบางลำพูแบนด์ ก็เลยรบกวนให้ เบิร์ท ช่วยอัด 3 เพลง แล้วก็ทำเพลงบรรเลงเพลงหนึ่งชื่อ “หนองหารบลูส์” ก็ได้รางวัลคมชัดลึกอะวอร์ด เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม ถัดไปอีกปีหนึ่งก็คุยกันว่า เราน่าจะทำอัลบั้มร่วมกันนะ เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ 13 SAMSEN 

ที่มาของ 13 SAMSEN 

คุณป๊ง: 13 SAMSEN คือบ้านเลขที่ของร้าน Blues Bar ครับ ก็คือสิ่งที่เราเล่นกันนี่แหละ เอาสิ่งที่เราเล่น เอาเพลงที่เราเล่นมาทำมาเรียบเรียงกันใหม่

เพลงในอัลบั้มแต่งไว้สำหรับเล่นในร้านอยู่แล้ว หรือว่าแต่งขึ้นมาใหม่

คุณป๊ง: ในงาน 13 SAMSEN จะมีเพลง cover อยู่นะครับ เป็นเพลงบลูส์ มี Cypress Grove Blues, 44 Blues 

เป็นเพลงบลูส์ที่มีอยู่แล้ว

คุณป๊ง: มีอยู่แล้ว ไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว ใครเอามาทำก็ได้ เอามาเล่นเรียบเรียงกันใหม่ แต่ Black Nanany แต่งใหม่ เบิร์ท แต่งให้ 

นอกจากเพลงที่เอามา cover เพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่มีส่วนเชื่อมโยงกับเพลงที่นำมา cover ยังไงครับ

คุณป๊ง: มันก็ยังเป็นผมกับ เบิร์ท มันก็เลยต้องเชื่อม เพราะว่า… หนึ่ง – คนเล่นคนเดียวกัน คนคิดงานคนเดียวกัน มันต้องเชื่อมกันด้วย อย่างอัมพวานี่ ผมใช้ทำนองไทยเลย ใช้ pentatonic ไทยๆ เลย แทบจะไม่ดัดอะไรมากมาย เพลงอัมพวา ผมไปแต่งที่คุ้มแสงทอง บ้านรุ่นพี่ แกทำเป็นรีสอร์ต เป็นร้านอาหาร โฮมสเตย์ ตื่นมาตอนเช้า พอดีรุ่นพี่ผมเป็นกวีพื้นบ้าน คนเมืองเพชร เขาก็เป่าขลุ่ยริมน้ำคลอๆ ไป ก็เลยเกิดมาเป็นเพลงอัมพวา

แผ่นเสียง 13 SAMSEN

การบันทึกเสียง

คุณป๊ง: อัดที่ Studio Sexy Pink ของ คุณบอล อพาร์ตเมนต์คุณป้า เป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว แต่ตอนอัดเรื่องราวมันโอ้โห อัดหลังปีใหม่พอดี นัดกันไว้วันที่ 2 มกรา 3 มกรา 4 มกรา จองไว้ 3 วัน วันที่ 2 ผมจะเข้าไปก่อนกับคุณ เบิร์ท และคุณจอห์น ดูลีย์ ที่เล่นเบส ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ไปกัน 3 คน ปรากฏว่าสตูดิโอไม่มีใครอยู่เลย ก็เลยโทรไปหาซาวด์เอ็นจิเนียร์ เขาก็บอก… โอ! พี่ ผมลืม (หัวเราะ) ผมยังปาร์ตี้อยู่เลย ก็เลยเหลือเวลา 2 วัน คือวันที่ 3 และวันที่ 4 

มันเลยเหลือเวลา 2 วัน เพื่ออัด 10 เพลง ก็เลยเร่งกันวันละ 5 เพลง วันละ 5 เพลงนี่ เบิร์ท ป่วยเลย เสร็จแทร็กสุดท้ายวันที่ 4 มกรา เบิร์ท ก็ป่วย และเราก็ได้เบสิกแทร็กมา เกือบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของอัลบั้มนี้ แล้วค่อยๆ มาเติมกัน มาเติมพาร์ตที่จะต้อง overdub เข้าไป แล้วก็ส่งไฟล์กับเบิร์ต โชคดีที่ได้ Charlie Musselwhite (นักเป่าฮาร์โมนิก้าบลูส์ระดับตำนาน เคยร่วมงานกับนักดนตรีบลูส์ชั้นนำอย่าง Muddy Waters, Howling Wolf และคนอื่นๆ อีกมากมาย) มาร่วมอัดด้วย

Charlie Musselwhite มาเล่นให้ได้ยังไงครับ

คุณป๊ง: แกมาที่ร้านเราเนี่ยแหละครับ พอดีปีนั้นมี ภูเก็ต บลูส์ เฟส แล้วแกก็มาพักกับภรรยาที่สามเสนซอย 3 เป็นบ้านคล้ายๆ กับโฮสเทลเล็กๆ แกเดินผ่าน วันนั้นผมไม่อยู่ เพื่อนผมที่เป็นคนอเมริกันอีกคนบอก เฮ้ย นี่ Charlie เดินผ่านเรา ผมก็เลยบอกให้ทักก่อน Charlie ก็เลยบอกว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมานั่งดูผมเล่นดนตรี

บันทึกเสียงพร้อมกัน 

คุณป๊ง: อัดพร้อมกันครับ เพลงที่ผมเล่นกับเบิร์ต 2 คนก็คืออัดพร้อมกัน นั่งหันหน้าเข้าหากัน ส่วนมากจะเป็นเทคแรกทั้งหมด

ส่วนที่ overdub เข้ามาเป็นเครื่องดนตรีอะไรครับ

คุณป๊ง: อย่างเพลง “อัมพวา” ก็จะมี Bouzouki พาร์ตนั้น เบิร์ท ก็อัดที่สวีเดนครับ อัดที่บ้านเขาเลย แล้วก็จะมีส่วนของ Charlie Musselwhite ผมกับ เบิร์ท ต้องรอ เพราะว่า Charlie ยังคงทัวร์อยู่ และแกน่ารักมาก ส่งอีเมลไปหา แกก็ถามว่าจะรอเหรอ 6 เดือนนะ ค่อยกลับ เพราะตอนนี้แกทัวร์จีนบ้าง ทัวร์ออสเตรเลียบ้าง

คุณเบิร์ท: ตอนนั้น Charlie กำลังทัวร์กับ Cyndi Lauper ที่ญี่ปุ่น

คุณป๊ง: ผมก็ตัดสินใจ เราจะรอไหม เอ้า! รอ ผมก็รอ รอเกือบปีครับ แล้วพอแกกลับไปที่บ้านแก แกส่งไฟล์มา ผมนี่ขนลุก 

ตอนที่ทำอัลบั้มปีไหนครับ

คุณป๊ง: ต้นปี 54 ปีที่น้ำท่วมครับ

ตอนนั้นสามารถส่งไฟล์ทางอีเมลได้แล้ว เป็นไฟล์อะไรครับ 

คุณป๊ง: เป็น WAV File 48kHz/24-bit แล้วก็มามิกซ์ที่ Kangaroo Studio

นักดนตรีแต่ละคน คุณป๊งต้องเขียนโน้ตให้

คุณป๊ง: ไม่ครับ แต่มีน้องคนหนึ่งชื่อ… เป็ด ปัฐพงษ์ ศรีสมบุญ เขาจะทำสกอร์ให้ทุกคน ร่วมโปรดิวซ์ด้วย คือพวกผมเล่นอย่างเดียว เขาจะเป็นคนบันทึก เพลงไหนที่เขาไม่ได้อัดเสียง เขาจะต้องมาคุมทุกคนว่าอย่างนี้นะ ก็ช่วยได้เยอะ เป็ดจะเป็นคนฟัง เป็ดตัดสินใจเลย เพราะเป็นโปรดิวเซอร์เหมือนกัน เพราะผมอัดมาจนหูล้าแล้ว จะไปฟังในห้องคอนโทรล ผมบอกผมไม่เอาแล้ว มีกฎอย่างหนึ่งที่ เบิร์ท ตั้งไว้ให้ผมตอนอัดเสียง ห้ามดื่ม (หัวเราะ)

แล้วก็ตอนทำอะไรทุกอย่างเสร็จ มิกซ์เสร็จ อะไรเสร็จ ก็ต้องรอ เพราะว่าน้ำท่วมพอดี งานก็ต้องล่าช้าไปอีก เสร็จเมื่อกุมภา ปี 55 ประมาณนี้ครับ ก็ปีกว่าครับ

คุณเบิร์ท: ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ Charlie Musselwhite ตำนานเพลงบลูส์ และ สุรชัย จันทิมาธร นักดนตรีระดับตำนานของเมืองไทย และเป็นกวีด้วย ที่เข้ามามีส่วนร่วมในอัลบั้มนี้

คุณป๊ง: ผมเอาเพลงของ “น้าหงา” มา 2 เพลง แต่ในแผ่นเสียงจะไม่มีเพลง “ดอกไม้ให้คุณ” วันที่น้าหงาเข้ามาร้องเพลงดอกไม้ให้คุณ ผมก็เลยเปิดเพลง “หาบครุน้ำ” ให้ฟัง เพราะตอนแรกผมว่าจะร้องเอง ผมดีไซน์ว่าผมจะร้องเอง พอดีแกได้ฟัง แกบอก โอ๊ย! มันคือม่วนแท้วะ เฮาฮ้องเองกะได้ (หัวเราะ) หรือโต๋จะมาฮ้องทับกับเฮา แกก็ไปร้องอัดเลย แกบอกว่า เดี๋ยวร้องเองดีกว่า เดี๋ยวนายก็ค่อยๆ ร้องอีกท่อนหนึ่งละกันนะ แกก็เลยร้องทั้งหมดเลย ผมก็นั่งฟัง โอ้โห! แกร้องขนาดนี้ แล้วผมไม่ใช่นักร้อง ถ้าผมร้องไป ผมโดนเขาด่าตาย แต่หลายคนสงสัยว่า เฮ้ย! ทำไมไม่ร้องเองล่ะ ทำไมต้องให้น้าหงามาร้องเองด้วย ก็อู้หู ร้องดีซะขนาดนี้ ถ้าผมไปร้องทับกับแกนี่ จะกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้

คุณเอ วรายุทธ ประชาพิพัฒน์ ทำมาสเตอริ่ง

คุณป๊ง: พี่เอทำมาตั้งแต่บางลำพูแบนด์แล้วครับ แล้วพี่เอมาดูทุกขั้นตอนในการทำงานของผม ตั้งแต่ผมเริ่มเขียน เลือกเพลง ตั้งแต่อะไรเลย ก็คือมาคลุกคลีอยู่กับพวกผม เพราะฉะนั้นพี่เอจะรู้ว่า ผมต้องการอะไร ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก แกรู้ว่าผมฟังเพลงแบบไหน ผมเล่นแบบไหน มันเหมือนอยู่ในวงเดียวกันครับ ไม่ใช่แยกส่วนทำงาน ทุกคนอยู่ในกลุ่มกันหมดเลย เหมือนอยู่ในครอบครัว

สำหรับดนตรีบลูส์ วิธีการบันทึกเสียงจะแตกต่างจากดนตรีแนวอื่นไหมครับ มีอะไรพิเศษออกไปหรือเปล่า

คุณป๊ง: บลูส์ก็ต้องเน้นสดอยู่แล้วครับ เน้นความสดของอารมณ์ เวลาผมบันทึกเสียง พาร์ตกีตาร์ที่ผมเล่นไปรวมๆ เป็นสิบๆ แทร็ก ส่วนมากผมจะเอาเทคที่เล่นด้วยกันเลย น้อยมากที่จะ overdub นอกจากยังไม่พอใจจริงๆ แล้วค่อยมา overdub วิธีการบันทึกเสียงผมจะเป็นอย่างนี้

แผ่น CD-R 1:1

สมัยนั้น หลังจากอัลบั้มออกมาแล้ว การตอบรับจากวงการหรือคนฟัง เป็นอย่างไรบ้างครับ

คุณป๊ง: เงียบครับ (หัวเราะ) เพราะผมไม่ได้เอาไปลงยูทูบ ไม่ได้เอาไปลงที่ไหนเลย มันเป็นความขี้เกียจของผมเองด้วย ผมก็เลย เสร็จแล้ว ขายที่ร้านนั่นแหละ เอาไปฝากคนนั้นคนนี้ขายบ้าง แล้วก็ลืมไปเลยว่า ฝากใครขายบ้าง มันก็เลยไม่ได้กลับมา ได้อะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ตอนนั้นทำเยอะมั้ยครับ 

คุณป๊ง: 2,000 แผ่น ขายได้ประมาณ 1,000 อีก 1,000 ก็น่าจะเมาแล้วเอาไปแจกเขา (หัวเราะ) ผมกำลังทำอัลบั้มใหม่ งานใหม่ผมก็เลยต้องให้ใบชาซองขาย พี่บรรณบอก เอามาฝากพี่ไว้ เดี๋ยวเอ็งเมาแล้วเอาไปแจกชาวบ้านเขาอีก อัลบั้มนี้ก็ได้รางวัลสีสันอะวอร์ด เพลงอัมพวา 

คุณโจ โปสเตอร์ คิดยังไงถึงนำอัลบั้มนี้กลับมารีมาสเตอร์ หลังจากออกมาแล้วประมาณ 6 ปี

คุณโจ: ครั้งแรกที่ผมได้ฟังแผ่นนี้ ผมน่าจะฟังเพลงที่มี cow bell แล้วก็ต่อด้วย “หาบครุน้ำ” ถ้าจำไม่ผิด ผมว่ามันมีซาวด์ที่น่าสนใจ แล้วก็มันสนุก เพลงหาบครุน้ำก็สนุก แล้วก็ฟังยาว แล้วที่ติดหูผมมาก คือดอกไม้ให้คุณ กับเพลงอัมพวา ผมฟังเสร็จ ผมก็หาเบอร์ ผมจำไม่ได้ว่าหาเบอร์ป๊งได้จากไหน ก็โทรมา เราอยากทำแผ่นนี้ให้เป็นแผ่นเสียงมั้ย แต่นั่นคือ 5-6 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้น ป๊งบอกว่ามาที่ร้านสิ มาคุยกัน ต้องมาเห็นหน้ากันก่อนว่า ใครวะ คุณเป็นใคร ก่อนจะทำแผ่นเสียง ผมก็ไปนั่งฟัง แต่มันก็ติดอยู่ 2 เรื่อง คือหนึ่งคือความยาวของเพลง เยอะเกินแผ่นเสียง กับอีกอันหนึ่งคือซาวด์ที่จากมาสเตอร์ตัวแรก มันดาร์กไปนิดหนึ่ง เสียงแมนโดลินยังไม่ได้ยินความเป็นโลหะอะไรเท่าไหร่ ก็เลยยังไม่รีบ มีอย่างอื่นที่ทำที่ต้องทำอยู่ ก็เลยไม่ได้มาสักที แต่ก็ยังติดต่อ คุย Facebook อะไรกันเรื่อยๆ อยู่ตลอด จนกระทั่งเมื่อปลายปี เกิดอะไรสักอย่างไม่รู้ ก็คุยกัน อ๋อ! ผมไปเปิดร้านที่บางน้อย มันก็ติดริมแม่น้ำแล้วผมก็เปิดเพลงอัมพวาฟังเองบ่อยๆ 2 เพลงนี้ผมชอบ เพลงช้าเนี่ย ต้องเปิดตอนที่แขกหมดแล้วนะ ไม่งั้นเดี๋ยวจะมีคนเข้ามาซื้อ แล้วเราไม่มีขาย เสียหายเลย ก็เลยเปิดกล่อมพาร์ตเนอร์ด้วย เปิดกล่อมเมียด้วยให้เมียชอบด้วย เขาจะได้อนุมัติให้ไปทำ(หัวเราะ) พอเริ่มชอบด้วยและ โอเค ทีนี้ก็แอบคุยกับป๊งว่า เราทำเป็น CD-R 1:1 ออกมาก่อน เพราะว่า 1:1 ของเพลงอภิรมย์ ก็ขายได้เรื่อยๆ ผมก็คิดโปรเจกต์ว่า ทำ1:1 เพราะว่าไม่มีขายแล้ว โชคดีมากเลย ป๊งบอกว่า พี่เอจะรีมาสเตอร์ให้ใหม่ ก็เลยคุยว่า มันเป็นอย่างนี้ๆ เพราะว่าคนบลูส์ชอบซาวด์ดาร์กๆ มั้ย ปํงบอกไม่น่าใช่นะ เดี๋ยวคุยกับพี่เอ พี่เอบอกว่า รับรองว่ามันจะต้องดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน ให้แกทำเสร็จมาก่อน แล้วค่อยคอมเมนต์ พอได้ฟัง โอ้โห มันเหมือนเพลง มู้ดมันแบบมันเปิดโล่งเลย เคลียร์ มันใสมาก เพลงที่ฟังสนุก มันฟังสนุกมากขึ้นกว่าเดิมมากเลย ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นนะ เราไปต่อแผ่นเสียงเลย จากที่เรากังวลเรื่องซาวด์ ความกังวลนี้หายไป ก็คุยเรื่องว่าจะเอาเพลงไหน ป๊งก็เสนอมา และผมก็ยังทำใจเรื่องเพลงดอกไม้ให้คุณไม่ได้ และช่วงนั้นผมก็ได้ไปทำงานที่โมริสตูดิโอ พี่โมริกับลุงหว่องก็บอกว่า เพลงนี้อย่าเอาเลย ดอกไม้ให้คุณ มันไม่บลูส์เลย ป๊งก็อยากให้เอาออก พอเอาดอกไม้ให้คุณออก ความยาวพอดีเลย เหมือนจังหวะลงตัวว่า มันจะได้ทำแล้วทุกอย่างมันเคลียร์หมดเลย ปัญหามันเคลียร์ เรื่องจำนวนเพลงมันเคลียร์ ซาวด์มันเคลียร์ ก็เกิดขึ้นอย่างไวมาก แล้วก็พอตัดมาสเตอร์แล็กเกอร์กลับมาฟัง ก็โห ไปฟังกับซิสเต็มของ ดร.ชุมพล แกบอกว่า เข้าใจแล้วว่า ทำไมผมถึงเลือกอัลบั้มนี้ ซาวด์ดีมาก และเพลงก็ดีมาก 

คุณป๊ง: โชคดีที่เราทำงานกับสตูดิโอที่เก็บแทร็กต้นฉบับไว้ให้ ถ้าค่ายใหญ่บางค่าย หรือบางคนที่เขาไม่ได้เก็บแทร็กต้นฉบับไว้ มันเหลือแต่มาสเตอร์ คอมเพรสอะไรมาแล้ว คือเราไปทำอะไรไม่ได้เลย เราถือว่าโชคดีมาก เพราะว่าที่ Kangaroo ไม่ใช่แค่อัลบั้มที่ผมทำเพราะจะมีงานเพลงประกอบหนังบ้าง เพลงประกอบสารคดีบ้าง ผมก็จะเข้าไปทำงานที่นั่น พี่เอก็จะเป็นคนเก็บรวมๆ ทั้งหมด

Blues Bar เปิดมากี่ปีแล้วครับ 

คุณป๊ง: เมษานี้ปีที่ 18 แล้วครับ แต่ก่อนก็ไม่ใช่ Blues Bar แต่ก่อนก็เป็นบาร์ เป็นร้านเหล้าธรรมดา ร้านจะไม่รอดเอา ผมก็เลยตัดสินใจ ต้องเล่นแล้ว ที่ร้านต้องมีดนตรีแล้วล่ะ ผมก็เริ่มเล่น รวบรวมสมาชิกกับเพื่อนเล่น เล่นเพลงทั่วไป เล่นเป็นบลูส์เป็นอะไร เพราะว่าลูกค้าก็เป็นคนไทยกับฝรั่งนิดหน่อย จนแบบ เอ๊ะ! เล่นมา 2-3 ปีละ เล่นอย่างที่ตัวเองชอบดีกว่า ทีนี้มีเพื่อนคนสวีเดนเป็นมือกลอง เฮ้ย! เปลี่ยนเลยดีกว่า ผมก็เลยเปลี่ยนเลย เล่นบลูส์เลย วันรุ่งขึ้นแขกประจำหายไปประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ บอกมึงเล่นอะไรวะ ขอเพลงก็ไม่ได้ ผมก็ค่อยๆ สร้างขึ้นมาใหม่ ทีนี้มันก็แข็งแรง และก็เป็นบลูส์อย่างชัดเจน

ความแตกต่างระหว่างบางลำพูแบนด์กับงานส่วนตัว ต่างกันยังไงครับ

คุณป๊ง: งาน 13 SAMSEN จะเป็นผู้ใหญ่กว่า เพราะว่าผมทำงานกับผู้ใหญ่ บางลำพูเนี่ย ผมแก่สุดในวง ผมก็จะทำงานกับน้องๆ เพื่อนๆ ที่เป็นรุ่นน้อง มันก็เลยมีความสนุก บางลำพูมันจะทะลึ่งตึงตังกว่า (หัวเราะ) ผมไม่แก่สุดสิ คุณฟิลแก่สุด ตอนนี้ไปอยู่อังกฤษแล้ว บางลำพูนี่ โอ้โห! เมา อัด 10 วัน เมาทั้ง 10 วัน (หัวเราะ)

“I always look forward to hearing Bert Deivert’s music because, like me, he loves the old style blues and he always does a great and faithful job of presenting it. Big thanks to Bert for keeping his music alive and doing it so well.”
– Charlie Musselwhite, blues harmonica, Grammy winner

ทำไมอัลบั้มนี้ แผ่นเสียงไปผลิตที่ญี่ปุ่นครับ 

คุณโจ: ผมทำแผ่นเสียงที่เยอรมนีมาตลอด แล้วก็ได้มีโอกาสทำแผ่นที่ญี่ปุ่น เป็นแผ่นเพลงโฆษณา คือลูกค้าจะรีบใช้ แล้วก็ผมเข้าใจว่าที่ญี่ปุ่นเพิ่งจะอัพเกรดเครื่องมือ เพราะว่าผมส่งเป็นไฟล์ 24/48 อัลบั้มนั้น แล้วเสียงของมันดีมาก ดีอย่างที่ไม่เคยฟังแผ่นญี่ปุ่นดีขนาดนี้มาก่อน แล้วงานคุณภาพออกมา รีเจกต์น้อยมาก ผมก็เลยคิดว่า เราน่าจะเบนมาทำที่ญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ราคามันสูงกว่าหลายเท่า เป็นหลายเท่านะ เป็นคูณนะ ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์

ถ่ายภาพร่วมกับ คุณโจ โปสเตอร์

คุณป๊งมีอะไรจะฝากถึงอัลบั้มนี้ไหมครับ

คุณป๊ง: อยากพูดเรื่องนี้ด้วย คือพ่อผมเป็นนักจัดรายการวิทยุที่สกลนคร บขส. 3 สกลนคร ตอนเด็กๆ พออ่านออกเขียนได้ พ่อก็จะพาไปห้องส่งเวลาเขาจัดรายการ พอป้าย On Air แดงขึ้นมาปุ๊บ พ่อจะบอกว่า ทำอะไรให้เงียบที่สุด แม้กระทั่งจะไอ จะอะไรอย่างนี้ แล้วก็อย่าคุยกับพ่อ พ่อกำลังทำงานอยู่ มีอย่างเดียวที่ผมทำได้ตอนนั้นคือ ไปเลือกแผ่นเสียง เปิดดูแผ่นเสียงที่อยู่ในผนัง แผ่นหมอลำแผ่นลูกทุ่ง แผ่นวงสตริงคอมโบ แกรนด์เอ็กซ์ พวกชาตรี พวกนี้ แล้วก็มีชื่อ ผมก็เริ่มอ่าน คนนี้เล่นกีตาร์ คนนี้ร้องนำแล้วก็มีรูปเท่ๆ โตมาอยากมีชื่ออย่างนี้มั่งในแผ่นเสียง (หัวเราะ) 40 กว่าปีเพิ่งมีเนี่ย ขอขอบคุณพี่โจด้วย เป็นความฝันตอนเด็กๆ. ADP 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 257