มรกต ประทีปจินดา / มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ 

ถาม: โลกจะเป็นอย่างไร? หากไร้ ‘Forrest Gump’

ตอบ: โลกก็ยังอยู่ได้ครับ เพราะในเวลาที่ยังไม่มี ‘ฟอร์เรสต์ กัมป์’ (ทั้งหนัง ทั้งตัวละคร) เราก็ยังมีคนอย่าง ‘พี่เว่อ’, โอลิเวอร์ สโตน แน่นอน เพราะกว่า วินสตัน กรูม จะแต่ง (นิยาย), โรเบิร์ท เซมเมคคิส จะเปิดกล้องและกำกับฉบับภาพยนตร์ คอหนัง-นักวิจารณ์-สถาบันมอบรางวัล ต่างพากันชื่นชมโสมนัสผลงานหนังพี่เว่อกันชนิดเรื่องต่อเรื่อง ปีต่อปี ทันใดนั้นเอง ฟ้า (เอ๊ย!…”ฮอลลีวู้ด”) ก็ส่ง Forrest Gump มาให้ทุกฝ่ายหลงใหลได้ปลื้ม จะเห็นได้ว่าหลังมี Forrest Gump พี่เว่อก็พลอยหมอง แม้ไม่ถึงกับถูกลืม แต่ความขลังลดน้อยลง ไม่เหมือนเมื่อก่อน (ทั้งในแง่บ๊อกซ์ออฟฟิศ, คำชื่นชม และรางวัล) ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับที่ ซาเลียรี่ ตัดพ้อพระเจ้าว่า ส่งข้าฯ มาเกิด แล้วทำไมต้องส่ง โมสาร์ท มาเกิดด้วย (ว้าาาา)

จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบอะไรที่ว่าเด่น (ใน Forrest Gump) พี่เว่อทำมาหมดแล้ว ทว่าทำออกมาแบบเกร็งๆ หนักหน่วง เอาจริงเอาจัง ราวกับกะจะฆ่ากันให้ตายไปข้าง ขณะที่ท่าทีในกัมป์จะออกมาเป็นด้านตรงข้าม ถ้าพี่เว่อมาแบบเล่นเองเจ็บจริง ของสิ่งเดียวกันในกัมป์ก็จะออกมาอย่างเบาสบายไม่จริงไม่จัง แต่ก็ไม่ถึงกับมองข้ามคุณค่าที่มันมีอยู่ แต่ (ให้ลอง) มองมันอีกด้านดู เผลอๆ คุณอาจเจอคุณค่าหลบในที่คนอื่นเขามองไม่เห็นก็ได้ และที่เจ็บหนักคือ พี่เว่อใช้กับหนังราวสี่ห้าเรื่อง (กับเวลาเป็นสิบๆ ปี) Forrest Gump เรื่องเดียวสอยได้เกือบหมด

พี่เว่อมี Platoon (1987) Gump ก็ไปรบเวียดนามกับเค้าเหมือนกัน แทนที่ตัวนำจะเจอ จ่าบาร์นส (ทอม เบเรนเจอร์) หน้าบากจอมโหด Forrest Gump ก็มี จ่าแดน (แกรี เซนีส) ปากจัดพอกัน ซึ่งสุดท้ายก็เป็นมหากัลยาณมิตร

สโตนทำ Born on the Fourth of July (1989) ที่นำชีวประวัติคนจริงๆ ของ นายรอน โควิคส์ ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกเวียดนามของแท้ ซึ่งโดนตัดขาระหว่างปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ แต่พอกลับบ้านก็ย้ายฝั่งไปอยู่ฝ่ายประท้วงแทน… ใน Forrest Gump เรื่องทำนองเดียวกันถูกจับแยกเป็นคนสองคน คือ ไปอยู่กับจ่าแดนคนเดิม ขณะที่ตัวบทนำฟอร์เรสต์ (ทอม แฮงค์ส) พอรับเหรียญกล้าหาญเสร็จปุ๊บ พี่เค้าก็หลุดเข้าไปร่วมกับขบวนประท้วงเฉยตุ่ย แถมโดนต้อนให้ขึ้นเวทีปราศรัย(ด่ารัฐบาล) อีกต่างหาก

ขณะที่อีกเรื่องซึ่งตามลำดับไทม์ไลน์มาก่อนสุด ทว่ากลายเป็นจุดที่ถูกพูดถึงกันมากใน Forrest Gump ก็คือ ‘ปธน. เคนเนดี’ ซึ่งพี่เว่อเอามาทำเป็นมหากาพย์ ทว่าโฟกัสไปที่การสืบสวนหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังปมลอบสังหารอดีต ปธน. จอห์น เอฟ. เคนเนดี (และวุฒิสมาชิก เอ็ดเวิร์ด, น้องชาย) ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวตายไปแล้ว แต่ใน Forrest Gump กลับเป็นตรงกันข้ามคือ พูดถึง ปธน. เคนเนดี ในเวลาที่ยังมีชีวิตมีลมหายใจ แถมตัวเป็นๆ ยังได้สัมผัสมือกับตัวละครฟอร์เรสต์ (จนมีบางคนสงสัยว่าในหนังข่าวบันทึกเหตุการณ์เปิดทำเนียบต้อนรับทีมฟุตบอลของจริงจะมีนายฟอร์เรสต์ ติดมากะเค้าด้วยไหม)

นอกเหนือจากทั้งสองเรื่องใช้ฟุตฯ จากแหล่งเดียวกันคือ ฟุตหนังข่าวบันทึกเหตุการณ์จริง (ถ่ายโดยพี่น้อง zapruder) ซึ่งมีให้เห็นทั้งใน JKF (1991) และ Forrest Gump (ที่เผลอๆ เซมเมคคิสมีลักไก่เอาสกอร์ที่เป็นกลองรัวๆ จากหนังพี่เว่อมาแต๊บเนียนๆ) หนังพี่เว่อมีการถึงขั้นเลิกผ้าปิดศพให้เห็น ขณะที่เซมเมคคิสกลับให้เราดูช่วงเวลาที่คนอเมริกันหวงแหนให้กลับมาเรืองรองอีกครั้ง ก็ยิ่งเสริมแรงให้คนดูรู้สึกผูกพันกับฟอร์เรสต์ตามผู้นำที่เขารู้จัก ซึ่งในเรื่องก็มิใช่ว่ามีแค่ผู้นำ ทว่าคนสำคัญในระดับที่เป็นหมุดหมาย icon ของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยฟอร์เรสต์ของเราก็ยังเคยสัมผัสตัวเป็นๆ มีทั้งสมัยที่ยังไม่ดัง อาทิ เอลวิส เพรสลีย์ (ที่ผูกเรื่องว่าเป็นอดีตเด็กหนุ่มข้างบ้าน ซึ่งเอลวิสก๊อปท่าเต้นของกัมป์ขณะใส่เหล็กครอบขาเอาไปใช้) แล้วก็ประเภทที่เจอกันตอนดังแล้ว, จอห์น เลนนอน ซึ่งว่ากันว่าแนวคิดของเพลง Imagine ก็ได้มาจากกัมป์ สองหนุ่มพบกันในรายการโทรทัศน์ หลังจากกัมป์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตีปิงปองโชว์เพื่อหวังผลทางการทูต (Ping Pong Diplomacy) กับทางการจีน ในนามตัวแทนกองทัพสหรัฐฯ ที่ว่า (ในจีน) ผู้คนไม่ต้องไปโบสถ์ (เลนนอน แซว ‘ก็ไม่มีศาสนาน่ะสิ’)

ขณะที่หนังเรื่องอื่นๆ พากันพูดถึงตัวละครในฐานะที่เป็นผู้รับผลกระทบ ตกเป็นเหยื่อของกระแสประวัติศาสตร์ ซึ่งฟอร์เรสต์ก็มิได้ปฏิเสธตรงนี้ แต่ว่าอีกด้านหนึ่งของความเป็นคนตัวเล็กๆ บางทีก็อาจพลัดหลงเข้าไปมีส่วนร่วม หรืออาจเป็นได้ถึงระดับสร้างแรงขับเคลื่อนจนเกิดเป็นกระแสไปโดยไม่ตั้งใจก็มี อย่างด้านที่เข้าไป (เป็นแค่) มีส่วนรู้เห็นแค่ระดับพยานสายตา ทว่าถูกขยายใหญ่จนกลายเป็นวาระแห่งชาติถึงขั้น ปธน. ริชาร์ด นิกสันต้องลาออก อย่างโรงแรมที่กัมป์เข้าพักขณะเยือนวอชิงตัน ดีซี ก็ดันอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตึกที่ทำการพรรคเดโมแครตที่ตีนแมวย่องไปติดตั้งเครื่องดักฟัง แค่โรงแรมแห่งนั้นมีชื่อว่า ‘วอเตอร์เกต โฮเตล’

เหตุการณ์เรื่องราวตรงนี้ พี่เว่อก็เคยทำไว้เหมือนกัน คือกลายเป็นหนัง Nixon (1995) แต่ดันสร้างไล่หลัง Forrest Gump ออกฉายไปแล้วหนึ่งปี ทว่าข้อดีแง่บวกของ ปธน. ริชาร์ด นิกสัน ในส่วนที่เกี่ยวกับ ฟอร์เรสต์ กัมป์ ก็คงพอมีให้เห็น ตรงที่เป็นคนๆ เดียวที่หลังจากได้สัมผัสมือกับกัมป์แล้วโดนยิง แต่ไม่ตาย (เคนเนดี โดน ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ ผู้ถูกกล่าวหา, เลนนอน โดนกระสุนของ นายมาร์ค เดวิด แชปแมน) และการที่กัมป์เข้าไปเที่ยวกระทบไหล่ใครต่อใคร หรือไม่ก็พาตัวเข้าไปเฉียดใกล้เหตุการณ์สำคัญ (เอาในเวลาที่ยังไม่มีใครรู้เห็นความสำคัญขนาดนี้) ก็ชวนให้บางคนถึงกับสงสัยตามมาว่า แล้วชายที่ชื่อ ฟอร์เรสต์ กัมป์ มีตัวตนอยู่จริงไหม

นั่นคือ ถ้าเราเชื่อว่าคนอย่าง ปธน. เคนเนดี, ผู้ว่าการรัฐอลาบามาหัวกีดกันสีผิวอย่าง นายจอร์จ วอลเลซ, นิกสัน, เลนนอน มีตัวตนอยู่จริง คนอย่างกัมป์อาจมีจริง เท่าๆ กับที่ใครหลายคนอาจกำลังเป็นอย่างเขาก็ได้ ซึ่งคงไม่เป็นที่สบอารมณ์ซักเท่าไหร่ แต่ขอถามกลับว่า สมมติ กัมป์ (ถูกมองว่า) มีความบกพร่องทางปัญญาจริง แต่ไหงกลับเล่าเรื่องราวชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผล มิหนำซ้ำยังน่าติดตาม ชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม ขนาดบางคนยังอินและหลุดไปกับเรื่องราวถึงขั้นหลั่งน้ำตาให้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเรื่องของกัมป์ก็คือการมองโลกที่คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์อเมริกันร่วมสมัย (โดยเฉพาะก่อนเหตุการณ์ 9/11) 

เซมเมคคิส (และ กรูม ผู้ประพันธ์) สร้างตัวละคร ฟอร์เรสต์ กัมป์ จากความไม่มีอะไร ไร้ความทะเยอทะยาน (เห็นได้จากระดับไอคิวยังถูกกดลงจนต่ำกว่ามาตรฐาน) นั่นก็แปลว่า เวลากัมป์ทำอะไรสักอย่างจึงขาดการคิดเตรียมการล่วงหน้า ไม่มีการเล็งผล ไม่ว่าจะในระยะยาวหรือสั้น แต่อีกด้านก็คือ ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ทว่าตัวสิทธิประโยชน์ต่างหากที่หลั่งไหลเข้ามาหาเขาเอง แม้กระทั่งได้เข้าไปเฉียดและใกล้กับหมุดหมายสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ เจ้าตัวก็กลับเพิกเฉย (ทีวีถ่ายทอดเหตุการณ์นักบินอวกาศเหยียบดวงจันทร์ กัมป์ก็กำลังสาละวนอยู่กับการซ้อมตีปิงปอง หรือแม้แต่ ปธน. เรแกน ถูกลอบสังหารแท้ๆ เจ้าตัวก็ยังคงอร่อยอยู่กับมื้ออาหารต่อ) หรือแม้แต่โอกาสของการได้เจอ เอลวิส, เลนนอน ตลอดจนผ่านการสัมผัสมือกับ ปธน. มาแล้วไม่ต่ำกว่าสองคน (เคนเนดีและนิกสัน) คนเหล่านี้แทบไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าให้เทียบกับคำมั่นที่ให้ไว้กับ บับบา สหายศึกร่วมรบ, ผู้หมู่แดน และที่สำคัญสูงสุดคือ เจนนี (โรบิน ไรท์) สาวเดียวในชีวิตถัดจากแม่ (แซลลี ฟีลด์ส)

กัมป์ถูกสังคมมองว่ามีความบกพร่องมาตั้งแต่เด็ก ในเวลาเดียวกัน สังคมอเมริกันเองก็อยู่กับความบกพร่องไม่แพ้กัน กัมป์เป็นคนรุ่นเกิดหลังสงคราม (ดูจากหินสลักหลุมศพของเจนนีที่ขึ้นศักราชชาตะเอาไว้ที่ปี 1945) ซึ่งเป็นยุคของการระดมเพิ่มจำนวนประชากร (เพื่อเป็นการชดเชยแรงงานและภาคการผลิต หลังจากประชากรชายถูกส่งตัวไปรบ แล้วหลายคนไม่ได้กลับมา) และด้วยการที่มีเด็กเกิดเป็นจำนวนมากๆ ก็นำไปสู่กระบวนการคัดกรองและจัดลำดับความสามารถทางการเรียนรู้ ใครที่ด้อยกว่าก็จะถูกคัดออก เหมือนจับโยนเข้า ‘กล่องดำ’ คอยแยก แค่นี้คนอย่างกัมป์ (ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอีกไม่น้อย) ที่โดนระบบคิวซีทางสังคมแยกความสามารถ กัมป์ในวัยเด็กจึงโดนครูใหญ่ปฏิเสธ จนจวนเจียนจะถูกส่งไปเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ

แม่คือคนแรกๆ ที่มีส่วนส่องคบเพลิงนำทางสร้างสำนึกด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในสังคม (แม้การได้มาจะต้องแลกกับศักดิ์ศรี) เพราะไหนๆ กัมป์ทั้งแม่ลูกเองก็เกิดและโตในสังคมที่เน้นการกีดกันเรื่องสีผิวเป็นทุนเดิมตามประสารัฐทางใต้ (เพราะขนาดฮีโรในตำนานชุมชนก็ยังเป็นพวก Ku Klux Klan ซึ่งแม่เอาชื่อของอีตาหัวโม่งขาวที่ชื่อนายพล ฟอร์เรสต์ๆ อะไรนั่นมาตั้งเป็นชื่อลูก) ทำให้กัมป์โตมากับการแบ่งแยกที่ถึงไม่ใช่คนผิวสีก็ยังติดร่างแหวงจรของการกีดกันคนด้วยกัน พอขึ้นชั้นไฮสคูล อลาบามาก็ได้ผู้ว่าการรัฐหัวเหยียดผิว ถึงมีการซ้อนหน้ากัมป์เข้าไปชะโงกหน้าเหรอหราอยู่ข้างเวทีปราศรัยอันเป็นบทแรกๆ ที่นำกัมป์ไปมีส่วนร่วมรู้เห็นกับความบกพร่อง รอยรั่วทางสังคมการเมือง

สังคมอเมริกันในเรื่องจึงเป็นสังคมที่อยู่กับความบกพร่องมาตลอด ทว่า แทบไม่มีใครมองเห็นมัน มิหนำซ้ำยังเป็นความบกพร่องพิกลพิการที่สังคมดันให้การยอมรับอีกต่างหาก จนกลายเป็นความผิดเพี้ยนที่เกิดความชอบธรรม ซึ่งสำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่ตั้งคำถามก็อาจนำตัวไปสู่ภัยโดยใช่เหตุ ซึ่งแรกๆ เขาถึงให้ความผิดปรกติเกิดขึ้นกับกัมป์ก่อน จนกระทั่งมีแม่มาทำลายโซ่ตรวนอคติตรงนี้ทิ้ง เพื่อให้กัมป์ได้มีโอกาสอยู่ร่วมและรู้เห็น ‘ประวัติศาสตร์อันเกิดจากความบกพร่อง’ รอบข้างต่อไป

บกพร่องแรก ก็คือ… การเดินนโยบายที่ผิดพลาดสะเปะสะปะพอๆ กับเฝือกเหล็กครอบขาของ ฟอร์เรสต์ในวัยเด็ก เป็นต้นว่าการแบ่งแยกสีผิวในรัฐทางใต้ คนที่เชื่อและเห็นด้วยได้รับเลือกเป็นผู้นำ(ผู้ว่าฯ วอลเลซ) เพราะแม้แต่ชื่อตัวก็ยังมีการอ้างอิงถึงผู้นำขบวนการกีดกันสีผิวโดยใช้ความรุนแรง อันเป็นตราประทับซึ่งติดตัว ฟอร์เรสต์ พอโตเป็นหนุ่ม คุณก็โดน (ระบบ) พัดพาเข้ากระบวนการอันเกิดจากความผิดพลาดครั้งมโหฬารก็คือ การทำสงครามในเวียดนาม ซึ่งหนังมีการตอกย้ำด้วยซีนที่กัมป์รับคำเชิญขึ้นปราศรัย ซึ่งเป็นโมเมนท์เดียวในเรื่องที่แอ็คติ้งของ ทอม แฮงค์ ทำให้เรารู้สึกว่ากัมป์ไม่ได้เอ๋อ แต่เรากลับไม่ได้ยินว่ากัมป์พูดอะไร เพราะมีนายพลปลดแจ็คสายเสียบเหมือนตั้งใจะเซ็นเซอร์ พอเสียงกลับมาอย่างเก่าก็ได้ยินแค่ “…that’ s all I want to say.”

จริงๆ พาร์ตในเวียดนามยังมีการแง้มๆ ให้เราเห็นถึงการตัดสินใจที่พลาด แม้ในจุดที่เล็กมากอย่างสนามรบ อยู่ในซีนทหารจีไอกำลังโดนถล่มหนัก ผู้พันแดนอยู่ในสภาพที่เพลี่ยงพล้ำกัมป์ก็ยังหาตัวบับบาไม่เจอ บรรยากาศตกอยู่ภายใต้ภาวะอลหม่าน แต่ ผบ.ยังออกคำสั่งผ่านวิทยุสื่อสาร ‘ให้เดินหน้าต่อๆๆๆ’ ซึ่งเป็นคำสั่งที่นอกจากสั่งแบบหูหนาตาเล่อไม่นำพากับความเป็นจริง และต่อให้ไม่โดนโจมตี เดินหน้าต่อไปก็เป็นลำน้ำจะให้ไปไหนต่อก็ไม่ได้

ต่อให้การเมืองและสังคมของคนรุ่น baby boomers จะตกอยู่ในสภาพไม่สมประกอบ แต่คนรุ่นนี้ก็มีข้อได้เปรียบ อย่างทันเห็นกำเนิดดนตรีร็อกแอนโรล และอะไรที่เป็นป๊อปคัลเจอร์ บางทีก็มักมาจากกัมป์มีส่วนร่วมสร้างแรงบันดาลใจอยู่เบื้องหลัง (ท่าเต้นซิกเนเจอร์ของเอลวิส, เนื้อหาเพลง Imagine, โลโกแบรนด์ทัปเปอร์แวร์รูปสไมล์ที่ได้มาจากผ้าเช็ดโคลนเลอะหน้ากัมป์) อันที่จริงคนซึ่งอยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจให้กัมป์อีกทีก็ยังมีครับ โดยเฉพาะการออกวิ่งอย่างไร้จุดหมายเกิดขึ้นหลังคืนๆ หนึ่ง ซึ่งเจนนีหนีชายหนุ่มกลับมาค้างบ้านเกิด แล้วจากไปยามรุ่งสาง เป็นจุดเริ่มต้นที่กัมป์ตัดสิ่งใจวิ่งเอพิค-มาราธอนข้ามประเทศ ซึ่งใช้เวลาเบ็ดเสร็จ 3 ปี 2 เดือนกับอีก 6 ชั่วโมงโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย (แล้วก็มิได้ระดมทุนช่วยเหลืออะไรทั้งนั้น) ทว่าสิ่งที่ตามมาคือการสร้างแรงกระเพื่อมจนเกิดเป็นกระแสและที่น่าสนใจคือ มีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางวิ่งผ่าน ซึ่งความเคลื่อนไหวแบบนี้จะมีความใกล้เคียงกับการเกิดของลัทธิ (เท่าๆ กับที่มีแนวโน้มคาดว่าจะงอกเงยเป็นศาสนาได้ไม่ยาก) ซึ่งเป็นช่วงเดียวที่กัมป์จะประหยัดคำพูด และถ้ากัมป์เปิดปากพูดเมื่อไหร่ ดีไม่ดีอาจขยายวงกลายเป็นสัจจธรรม เมื่อทุกคนรอฟังว่า เขาจะพูดอะไรออกมา

ถามว่า ถ้าเช้าวันนั้นไม่มีชายหนุ่มขับรถมาตามตัวมารับเจนนี่กลับ กัมป์จะออกวิ่งไหม คนซึ่งจุดชนวนให้กัมป์พบตัวตนภายในจนสลัดเฝือกเหล็ก แล้วออกวิ่งด้วยลำแข้งตัวเองด้วยคำขวัญ “Run, Forest, Run!” จนได้เข้าร่วมทีม(อเมริกัน) ฟุตบอล จนได้สัมผัสมือกับ ปธน. แล้วหลังจากนั้นชีวิตกัมป์ก็มีแต่ขึ้นๆๆ ตลอด คือใคร

ขณะที่ตัวคนจุดประกายเสียอีกที่เส้นชีวิตทั้งสวนทั้งไขว้กับกัมป์มาตลอด หนำซ้ำยังเป็นแนวไขว้ที่เป็นด้านตรงข้าม เหมือนขวากับซ้าย แทบทุกระยะ สมมติกัมป์คือส่วนเล็กๆ ที่ได้เข้าไปทาบทับเข้าไว้ด้วยกันกับผู้นำประเทศ, ตำนาน, icon, หมุดหมาย เจนนี่เสียอีกที่เป็นตัวแทนซึ่งคนส่วนมากกำลังอยู่กับมัน

เจนนี่อยากเป็นนักร้องแบบ Joan Baez เธอก็ได้ร้องเพลงของไบแอซจริง (How Many Roads) แต่ต้องไม่นุ่งผ้า, เธอได้มีส่วนกล่อมขวัญแนวหน้าโดยเจนนีไม่ต้องไปไกลถึงเวียดนาม เพราะภาพของเธอตีพิมพ์ลงหนังสือเพลย์บอย รวมทั้งเจนนีน่าจะยังมีส่วนร่วมในความเคลื่อนไหวแบบคนหนุ่มสาวยุค sixties อย่างใช้ชีวิตตามประสาฮิปปี้, วู้ดสต็อค, ใช้ชีวิตบนรถสเตชันเวกอนแทนบ้านหลัง

มีการตั้งข้อสงสัยว่า กัมป์อยู่กับแม่ (พ่อหายไปไหน) ส่วนเจนนี่โตมาในบ้านที่มีพ่อ แล้วก็พี่ๆ น้องๆ ซึ่งเป็นหญิงล้วน (โดยไม่มีการกล่าวถึงแม่) หนังไม่ได้ทำให้เราเห็นสภาพบ้านเจนนี่ รู้แต่เธอไม่ชอบอยู่ (ก่อนจะค่อยๆ ลุกลามเป็นความเกลียด) กัมป์ถ่ายทอดจนผู้ฟังพอจะปะติดปะต่อจนเข้าใจได้ว่า เจนนี่อาจเคยมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดโดยคนในครอบครัว (“Dad always touches her body and her sisters.”) ครั้นเจนนี่กลับมาเห็นสภาพบ้านครั้งสุดท้าย เธอขว้างปาด้วยความชิงชัง

ตลอดเส้นทางที่กัมป์ย่างก้าว มักเป็นคนละฟากฝั่งกับเจนนีมาตลอด… ถ้ากัมป์ได้เข้าไปสัมผัสคลุกคลีกับคนระดับผู้นำ(ทั้งรัฐ และ pop culture) ทว่าเป็นไปแบบไม่ตั้งตัวตั้งใจ เจนนี่ก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายต่อต้าน เป็นต้นว่า การชุมนุมประท้วง, สามารถเข้าถึงวงในของกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ ซึ่งเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน (อันนี้ด้วยความยินยอมและพร้อมใจ)

ในเรื่องเรามักได้ยินคำเปรียบเทียบระหว่างของสองสิ่งคือ ‘กล่องช็อกโกแลต’ กับ ‘ขนนก’ ซึ่งชัดอยู่แล้วว่าอย่างแรกหมายถึงตัวกัมป์ (แม้เราไม่เคยเห็นกล่องจริงๆ โผล่เข้ามาในเรื่อง และตัวแท็กไลน์ ‘you’ ll never know what you’re gonna get ซึ่งพูดถึงโอกาสดีๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตว่าจะมาจากใคร โดยเฉพาะการใช้ช็อกโกแล็ตเป็น ‘ของขวัญ’ ซึ่งเรามักได้จากคนอื่น) เหลือขนนกซึ่งมีทั้งลอยผ่านแล้วก็ปลิวหาย โดยมีบอกไว้ในพาร์ตเด็กๆ ที่กัมป์ถามเจนนี่ว่า ถ้าขอพรวิเศษได้จะขออะไร?  “เจนนี่ขอเป็นนก”. มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์

FORREST GUMP 25TH ANNIVERSARY (1994) 4K ULTRA HD 

“ชีวิตก็เหมือนกับกล่องช็อกโกแลต เราไม่รู้ ว่าในนั้นมีอะไรบ้าง” คำพูดของ แซลลี ฟิลด์ รับบท เป็นแม่ของ ฟอร์เรสต์ กัมป์ สอนลูกชายที่เกิดมา ไม่เหมือนคนปกติทั่วไปเป็นเด็กไอคิวต่ำไม่สม- ประกอบตั้งแต่เด็ก ด้วยมีความตั้งใจทำอะไรแล้ว จะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างคนปกติยังทำไม่ได้ เชื่อฟังทุกคน และรักษาคำสัญญา ส่วน เจนนี่ หญิงสาวคนเดียวที่ ฟอร์เรสต์ กัมพ์ รัก รับบทโดย โรบิน ไรท์ เสมือนตัวละครสะท้อนตัวแทนของคน อเมริกันในยุค ’70s ได้ดี 

Forrest Gump “อัจฉริยะปัญญานิ่ม” ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมคคิส ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Forrest Gump แต่งโดย วินส์ตัน กรูม ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ชายที่ไม่ เคยมีจุดหมายในชีวิตล่องลอยเหมือนขนนกสีขาว ในฉากเปิดเรื่อง เปรียบเสมือนชีวิตของ ฟอร์เรสต์ กัมป์ ล่องลอยไปตามแรงลมไร้ทิศทาง แต่สามารถ ฟันฝ่าชีวิตที่ไม่สมประกอบ จนทำให้ประสบความ สำเร็จมีทั้งเงินทอง หนังเต็มไปด้วยพลังให้กำลัง ใจเพื่อนมนุษย์ไม่ให้ย่อท้อ มองโลกในแง่ดี คำคม ในเรื่องล้วนแต่กินใจ ทำให้ทุกคนรักหนังเรื่องนี้ 

ทอม แฮงค์ส กับบทบาท ฟอร์เรสต์ กัมป์ เป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา หนังประสบ ความสำเร็จได้ทั้งเงินและกล่อง กวาดรางวัล ออสการ์ 6 สาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ทอม แฮงค์ส) และผู้ กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (โรเบิร์ต เซเมคคิส) รางวัลลูกโลกทองคำ 3 สาขา นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประเภทดรามา, ผู้กำกับภาพยนตร์ ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดรามา ซาวด์แทร็กในหนังคือองค์ประกอบสำคัญที่ใช้สร้างบรรยากาศในช่วงไทม์ไลน์ชีวิตของฟอร์เรสต์ กัมป์ อย่างเช่น… ช่วงเวลาในวัยเด็กของฟอร์เรสต์ กัมป์ กับเพลง Hound Dog ของ Elvis Presley เป็นมุกล้อเลียนที่เด็ดมาก เมื่อสมัยที่ Elvis ก่อนดัง ได้มาพักที่บ้านแม่ของฟอร์เรสต์ กัมป์ ซึ่งเปิดเป็นห้องพักแรมแล้วได้จำท่าเต้นโยกสั่นขาเลียนแบบท่าเต้นของฟอร์เรสต์ กัมป์ เพราะเป็นเด็กที่ต้องใส่เหล็กช่วยเดินนั่นเอง หรือเพลง Fortunate Son ของ CCR ช่วงที่ฟอร์เรสต์ กัมป์ไปรบสงคราม เวียดนาม, Sweet Home Alabama ของ Lynyrd Skynyrd ตอนที่ฟอร์เรสต์ กัมป์ กลับบ้าน 

Run! Forrest Run! คำพูดของเจนนี่เพื่อนรัก ที่ร้องบอกให้ฟอร์เรสต์ กัมป์ วิ่ง! จนขาเหล็กหลุด จุดเริ่มต้นนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้ ฟอร์เรสต์ กัมป์ ประสบความสำเร็จเมื่อมีอุปสรรค ในชีวิต เพราะการวิ่งจนได้เรียนมหาลัย ได้เล่น อเมริกันฟุตบอลให้ทีมชนะ ยังได้รับเหรียญ กล้าหาญจากสงครามเวียดนาม แถมเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย เช่นเดียวกับ พี่ตูน วิ่งจนประสบความสำเร็จ แต่อาจจะต่างกัน เพราะพี่ตูนวิ่งแบบมีจุดมุ่งหมายนั่นเอง ฉากที่เพลง Running On Empty ของ Jackson Browne ดังขึ้น ฟอร์เรสต์ กัมป์ วิ่งอย่างไร้จุดหมาย เลือก เพลงได้เข้ากับบรรยากาศของหนังมาก หรือเพลง Against the Wind ของ Bob Seger ช่วงที่ ฟอร์เรสต์ กัมป์ วิ่งผ่านขุนเขาและทุ่งหญ้าอัน กว้างใหญ่ ทุกเพลงใช้เชื่อมโยงลำดับไทม์ไลน์ชีวิตของฟอร์เรสต์ กัมป์ ได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่แปลกใจ ที่อัลบั้ม Soundtrack สามารถติดอันดับท็อป 10 Billboard มียอดขายกว่า 6 ล้านชุด เช่นเดียวกับ หนังของค่ายมาร์เวล ก็มักจะใช้เพลย์ลิสต์เพลง ดังในอดีตที่เป็นสูตรสำเร็จนี้เช่นกัน โดยประสบ ความสำเร็จที่สุดจากเรื่อง Guardians of the Galaxy (2014) ซาวด์แทร็กนั้นโดดเด่นในแง่ของ การเลือกใช้เพลงประกอบหนังเพลย์ลิสต์พลงจาก ยุค ’70s – ’80s ทำให้เรียกกระแสเทปคาสเซ็ตต์ กลับมาเกิดใหม่ได้เหลือเชื่อมาก และที่เห็นชัด ที่สุดก็คือ เรื่อง Captain Marvel ซูเปอร์ฮีโร่สาว ยุค 90 ที่ย้อนกลับไปหายุครุ่งเรืองของดนตรีกรันจ์ ในปี 1995 แม้แต่ในเรื่อง Avengers: Endgame (2019) ก็เหมือนกัน 

Forrest Gump ตลอดเวลา 25 ปี นับเป็นหนัง ในดวงใจของใครมากมาย รวมทั้งผมด้วย “ความ ตายคือส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะเป็นปลายทาง ของทุกๆ คน” แม่ของฟอร์เรสต์ กัมป์ มักจะสอน ลูกด้วยคำพูดที่เข้าใจง่ายๆ เสมอ สมัยที่ผมได้ดู Forrest Gump ในโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ยุคแรกๆ จำได้ว่าที่โรงในห้างไนท์เวล นนทบุรี ตอนนั้นชอบมาก เพราะอยู่ใกล้บ้านเก่าท่าน้ำนนทบุรี อันที่จริงที่ตัวเมืองนนทบุรี ไม่มีโรงภาพยนตร์ดีๆ ส่วนมากเป็นโรงหนังชั้น 2 มากกว่า ตอนนั้นเริ่ม เป็นยุคของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ที่เกิดขึ้นตามห้างฯ 

Forrest Gump หนังที่ฮอลลีวู้ดภูมิใจเสนอ ในอนาคตคงจะกลายเป็นภาพยนตร์ระดับเดียว กับเรื่อง The Sound of Music (1965) ผลงานของ ผู้กำกับ โรเบิร์ต ไวส์ เป็นหนังสามัญประจำบ้าน สร้างความบันเทิงให้คอหนังทั่วโลกนั่นเอง 

Forrest Gump เคยออกบลูเรย์มาแล้วหลายเวอร์ชั่น เริ่มจากปี 2009, Paramount 100th Anniversary (2012), ฉบับครบรอบ 20th Anniversary (2014) และฉบับครบรอบ 25th Anniversary (2019) ออกมาพร้อมทั้ง 4K Ultra HD และบูลเรย์ จัดเต็มทั้งระบบภาพ Resolution: Native 4K (2160p) HDR: Dolby Vision + HDR10, Aspect ratio: 2.35:1 และ ระบบเสียง Dolby Atmos ขอบอกเลยว่า เวอร์ชั่น 4K Ultra HD ให้คุณภาพของภาพและระบบ เสียงดีที่สุด นับตั้งเคยออกเป็นแผ่นบลูเรย์มา ภาพดีมาก เนียนสะอาดเหมือนกับหนังเพิ่งสร้าง มาไม่กี่ปีนี้เอง ส่วนระบบเสียงจัดเต็ม Dolby Atmos ฟังเพลง Soundtrack เพลย์ลิสต์ จาก ยุค ’60s – ’80s กระหึ่มมาก แม้เคยดูมาแล้วนับ สิบๆ รอบ ครั้งนี้ก็ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง. มรกต ประทีปจินดา

FORREST GUMP: THE SOUNDTRACK 20TH ANNIVERSARY (3LP) LIMITED EDITION COLOURED VINYL 

อัลบั้มซาวด์แทร็กฉลองครบรอบ 20th Anniversary แผ่นไวนิลบรรจุเพลงฮิตในอดีต 32 แทร็ก สีแดง สีขาว และ สีฟ้า ไวนิล 180 แกรม เพลงประกอบภาพยนตร์จาก Elvis Presley, Fleetwood Mac, Creedence Clearwater Revival, Aretha Franklin, Lynyrd Skynyrd, Three Dog Night, The Byrds, The Mamas & Papas, The Doobie Brothers, Simon & Garfunkel, Bob Seger และ Buffalo Springfield เป็นหนึ่งในอัลบั้มซาวด์แทร็ก ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล ติดท็อป 10 Billboard ยอดขายกว่า 6 ล้านชุด. มรกต ประทีปจินดา 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 268