ธรรมนูญ ประทีปจินดา :

บทความนี้เกิดจากทริปพิเศษสำหรับลูกค้าคนสำคัญของ McIntosh ที่เรียกว่า “Exclusive trip for celebrating the 70th Anniversary of McIntosh” ระหว่างวันที่ 15 – 23 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทริปนี้จัดขึ้นโดย บริษัท K S Sonsgroup จำกัด ภายใต้การดูแลของ คุณวรเทพ ศรีชวาลา, กรรมการผู้จัดการ ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ ทีมงานของนิตยสาร AUDIOPHILE/VIDEOPHILE ได้ร่วมทริปไปด้วย 

สำหรับเนื้อหาของบทความจะแบ่งเป็นตอนๆ โดยเริ่มจากช่วงแรกของการเข้าเยี่ยมชม World of McIntosh Townhouse ที่งดงามและสมศักดิ์ศรี McIntosh สมคำร่ำลือ นำทัวร์โดย Mr. Jean-Philippe Fontane 

ลองนึกภาพตามนะครับ เมื่อนำเอางานศิลปะมาจัดวางบนพื้นที่ขนาด 12,000 ตารางฟุตของอดีตโรงไฟฟ้าในศตวรรษที่ 19 ที่ตั้งอยู่ใจกลางย่าน Soho ของมหานครนิวยอร์ก ที่มีการตกแต่งภายในอันทรงคุณค่าทุกตารางนิ้ว อารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่ได้มาเยือนจะเป็นเช่นใด

World of McIntosh ตั้งอยู่ที่ 214 Lafayette St, New York, NY 10012 ทาวน์โฮมสำหรับโชว์ผลงานระดับ Masterpieces เต็มรูปแบบบนอาคารห้าชั้น เพื่อแขกคนพิเศษที่ได้รับเชิญเท่านั้น ถ้าเป็นคนรักเครื่องเสียง แน่นอนว่า เมื่อมาถึง New York แล้ว WOM เป็นจุดหมายที่ต้องมา

World of McIntosh (WOM) Townhouse จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม McIntosh Group ได้แก่ McIntosh Laboratory, Sonus Faber, Audio Research, Pro-ject Audio Systems และ Sumiko 

โครงการ WOM เกิดขึ้นประมาณ 4 ปีกว่าก่อนหน้านี้ และเปิดดำเนินการเมื่อราว 3 ปีมานี่เอง เพื่อจัดแสดงให้คนที่รักเครื่องเสียงได้อิ่มเอมไปกับบรรยากาศและองค์ประกอบที่สมบูรณ์พร้อมของสถานที่ การจัดดิสเพลย์บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของเครื่องเสียงทุกชิ้นของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของ McIntosh โดยออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเครื่องเสียงทุกเรนจ์จะถูกนำมาจัดวางตามแนวทางของการตกแต่งในแต่ละพื้นที่ บางครั้งหาใช่เพื่อการฟังแบบซีเรียส ทว่าในบางมุมทำให้ฟังในรูปแบบจริงจังได้ เป็นโชว์รูมที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก เพื่อมอบประสบการณ์ในระดับ Exclusive ให้กับแขกพิเศษที่ได้รับเชิญเท่านั้น ถือเป็นองค์กรหนึ่งเดียวที่ตระหนักถึงศักยภาพของความเป็นเลิศด้านเสียงของตำนานไฮไฟอเมริกันอย่างเต็มที่

ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ และมีความโดดเด่น แสดงถึงเอกลักษณ์ที่สื่อถึงการเป็นตำนานของวงการเครื่องเสียง ผู้มาเยือนสามารถคาดหวังว่าจะได้รับความประทับใจที่ไม่เหมือนใคร 

สัมผัสกับโลกที่ซ่อนเร้นของอารยธรรมที่นำเสนอจุดร่วมของศิลปะด้านเสียงและการออกแบบ

World of McIntosh เป็นพื้นที่ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะทางดนตรีและการออกแบบเข้าด้วยกันอย่างโดดเด่น น่าจดจำโดยทำหน้าที่เป็นโชว์รูมเครื่องเสียงระดับพรีเมียม และยังเป็นพื้นที่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในหมู่พันธมิตรทางธุรกิจให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย

หน้าต่างกระจกที่กั้นห้องจากสระว่ายน้ำชั้นสองที่อยู่อีกด้านหนึ่ง ขึ้นไปที่ชั้นสอง ผู้มาเยือนจะได้รับการต้อนรับจากสระว่ายน้ำขนาดใหญ่อีกด้านหนึ่งเป็นหน้าจอขนาดใหญ่สำหรับแสดงโลโก้ เนื่องจากมักใช้พื้นที่สำหรับจัดงานปาร์ตี้ของบริษัท โดยทั่วทั้งผนังมีแสงสว่างเพียงพอสำหรับการจัดนิทรรศการศิลปะมากมายที่จัดขึ้นที่นี่ ประตูถัดไปเป็นพื้นที่ประชุมพร้อมด้วยโต๊ะยาว ไมโครโฟนแขวนจากเพดาน และระบบทีวีแบบใช้มอเตอร์สำหรับการประชุมทางไกล 

MA5300 แอมปลิฟายเออร์ตัวที่ได้รับความนิยมอย่างมากของMcIntosh ตั้งอยู่ด้านหนึ่ง และมีอินทิเกรตแอมป์ MA8900 กำลังขับ 200 วัตต์อยู่ที่ปลายอีกด้านหนึ่งของห้อง เชื่อมต่อช่องสัญญาณอินพุตสำหรับสแครชแผ่นสองตัว สามารถปรับโทนคอนโทรลได้ 5 ย่านความถี่ และมี DAC ในตัว เป็นแอมป์ประเภท Swiss Army Knife ของคนรักเสียงดนตรีที่ต้องชอบ

ชั้นสามเป็นชั้นหลัก มีเพดานสูง และพื้นที่กว้างเพียงพอสำหรับกลุ่มคนจำนวนมาก (ห้องครัวมีอุปกรณ์เพียงพอที่จะรองรับมากกว่า50 คน) ที่ปลายสุดคือลำโพง McIntosh XRT 2.1k คู่หนึ่ง ซึ่งรองรับกำลังขับเหลือเฟือจาก MC2k 2000 วัตต์ที่เป็นกำลังสูงสุดของ McIntoshห้องนี้ใหญ่มาก บางครั้งแอมป์ก็ต้องออกแรงให้ส่งพลังเต็มที่สำหรับเสียงระเบิดที่สมจริง โดยมีสัญญาณจากโปรเซสเซอร์โฮมเธียเตอร์ MX160ที่ถอดรหัสเพื่อแจกจ่ายไปยังลำโพง McIntosh ที่ติดตั้งทั้งด้านข้าง ด้านหลัง และบนเพดาน สร้างประสบการณ์ระบบเสียง Immersive Dolby Atmos ในการชมภาพยนตร์ให้ได้อรรถรสดื่มด่ำอย่างแท้จริง อะคูสติกส์ในห้องได้รับการปรับแต่งโดยเทคโนโลยี RoomPerfect ใน MX160 ทางด้านซ้ายของห้องมีจอแสดงผลขนาดเล็กอยู่สองสามตัว และมีปรีแอมป์ C22 ที่เป็นตำนานของ McIntosh กับเทิร์นเทเบิ้ล Pro-Ject ที่จัดโชว์ไว้เช่นกัน ถัดมาจะเห็นอินทิเกรตแอมป์ MA252 รุ่นใหม่ สวยงาม ตัวเครื่องสเตนเลสสตีลขัดเงา พร้อมหลอดสุญญากาศที่โชว์ความคลาสสิกร่วมสมัย

อีกด้านของมีห้องมีความพิเศษคือเป็นห้องสมุด จัดโชว์เครื่องเสียงหลอดของ McIntosh นั่นคือ ปรีแอมป์ C2600 และแอมปลิฟายเออร์หลอด MC75 ร่วมกับเครื่องเล่น SACD/CD MCD600 และเครื่องเล่นแผ่นเสียง McIntosh ที่ใช้แพลตเตอร์ยกลอยด้วยระบบแม่เหล็ก ซึ่งกำจัดเสียงก้องจากแพลตเทอร์ สำหรับเสียงของแอมป์หลอดนั้น แน่นอนว่ามีความแตกต่าง และหลายคนๆ ก็หลงใหล แม้อาจจะให้ไดนามิกที่น้อยกว่าเล็กน้อย เนื่องจากกำลังขับำกว่าแอมป์โซลิดสเตท แต่ก็ให้เสียงที่มีความลื่นไหล น่าฟัง และฟังได้ยาวนาน

ชั้นถัดไปจัดโชว์เครื่องเสียง Audio Research (บริษัทที่เป็นเจ้าของโดย McIntosh) สำหรับอีกห้องได้ติดตั้งระบบ Dual-purpose ที่แสดงคุณสมบัติพิเศษของฟังก์ชั่น PASS-THRU เชื่อมต่อระบบโฮมเธียเตอร์(ประกอบด้วยโปรเซสเซอร์ MX122 และแอมปลิฟายเออร์ 7 แชนเนลMC207) กับระบบ 2 แชนเนล (ปรีแอมป์หลอด C1100 รุ่นใหม่ กับแอมป์โมโนบล็อก 1200 วัตต์) ที่ “ต่อถึงกัน” ทั้งสองระบบใช้ลำโพงคู่หน้าเดียวกัน ถือว่าเป็นระบบที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายอีก นับเป็นสุดยอดของทั้งโลกโฮมเธียเตอร์และโลกของการฟังเพลง 2 แชนเนล

บนดาดฟ้าสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเมือง รวมถึงมีระบบเสียงและแสงที่ยอดเยี่ยม นี่คือสถานที่ที่เหมาะจะอยู่ในคืนฤดูร้อน เพราะมีบรรยากาศที่ดีมาก และเพาเวอร์แอมป์รุ่น MC152 ของ McIntosh ก็ให้พลังเสียงดีเยี่ยมในระบบนี้

“ในอนาคตจะมีโครงการขยาย World of McIntosh Town House ไปยังยุโรปและเอเชีย แน่นอนเมืองไทยก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องศึกษาความเป็นไปได้ด้วย” Mr. Fontaine ทิ้งท้ายไว้

และถ้าต้องการคำเชิญเพื่อมาเยี่ยมชมที่นี่ เพียงติดต่อตัวแทนจำหน่ายของเรา ก็สามารถจัดทัวร์ จะเป็นกลุ่มหรือส่วนตัวก็ได้เช่นกันครับ สำหรับประเทศไทยก็สามารถติดต่อล่วงหน้าที่ K S Sonsgroup ตัวแทนของ McIntosh ในเมืองไทยได้

Behind the McIntosh’s BLUE

โปรแกรมสำคัญอีกรายการหนึ่งในทริปนี้ก็คือ Plant Tourที่โรงงานของ McIntosh ใน Binghamton, NY เมื่อเดินทางไปถึงอาณาจักร McIntosh’s Blue… Mr. Ron Cornelius; Product Manager & Field Training ได้มาต้อนรับ และแน่นอนว่าเมื่อมาถึงถิ่นก็จะได้พบกับ Collection เครื่องเสียง McIntosh ในรุ่นต่างๆ เริ่มตั้งแต่ตัวแรกที่ท?ำให้โลกเครื่องเสียงรู้จักแบรนด์ McIntosh รวมถึงรุ่นที่สร้างชื่อในแต่ละยุค แม้แต่รุ่นหายากที่เป็นต?ำนานก็มีไว้ให้ชม 

Mr. Ron พากรุ๊ปของเราเข้าสู่อาณาจักร McIntosh ด้วยเรื่องเล่าจาก Ohm’s law เพื่อให้ทราบว่า McIntosh แตกต่างอย่างไรกับแอมป์ทั่วไป โดยแจ้งให้ทราบว่า วันนี้เราจะได้พบอะไรบ้าง และบอกว่า หลังกลับจากทัวร์จะพาไปชมสู่ห้องไร้เสียงสะท้อนที่ไม่มีใครในพวกเราเคยได้สัมผัส จากนั้นจะให้ฟังเสียงของ McIntosh อีกครั้งในห้องฟังเพื่อผ่อนคลาย ถือเป็นการจบโปรแกรม

เมื่อถึงเวลา Plant Tour เราได้รับเกียรติจาก Mr. Charles Randall; CEO McIntosh Group & President McIntosh Laboratory เจ้าสำนักสายเลือด McIntosh รับหน้าที่นำทัวร์ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ที่ทำการส?ำนักงานฝ่ายบริหาร, หน่วยงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์, ฝ่ายสนับสนุนการผลิต, Warehouse ของวัสดุอุปกรณ์ จนเข้าสู่ฝ่ายผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตัดพับพ่นสีโครงสร้างเครื่อง, แผงหน้าปัดกระจก, พันขดลวดทรานสฟอร์เมอร์, ไลน์การผลิตแผงวงจร จนถึงขั้นตอนการประกอบเป็นแอมป์และเครื่องเล่น McIntosh และปิดท้ายที่คลังสินค้า Finish Goods กันเลยทีเดียว

Plant Overviews

Mr. Charles Randall เท้าความว่า McIntosh ก่อตั้งบริษัทขึ้นเมื่อปี 1949 ถึงปีนี้ก็ 70 ปีแล้วที่ได้มอบประสบการณ์ความบันเทิงในบ้านที่ดีที่สุดสำหรับผู้ฟังทั่วโลกด้วยเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ซึ่งวัตต์มิเตอร์สีน้ำเงินของ McIntosh ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องเสียงบ้านที่มีคุณภาพสูง มีความหรูหรา ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ฟังเพลงระบบสเตริโอ ระบบโฮมเธียเตอร์ ตลอดจนพัฒนาสู่ยุคสตรีมมิ่งในวันนี้ 

โดย McIntosh มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมในทุกเรนจ์ 

เราย้ายมาที่นี่เมื่อปี 1951 เหตุผลที่ย้ายจาก Maryland มายัง Binghamton ก็เพราะ IDZ (Industrial Development Zone)ยื่นข้อเสนอให้ที่ดินผืนนี้ในราคาเพียง 1 ดอลลาร์เท่านั้น ประมาณว่ายกให้เปล่าๆ เพื่อให้สร้างโรงงานที่นี่เพื่อให้ประชากรในเมืองนี้ได้รับการจ้างงานนั่นเอง โดยหวังว่าถ้าบริษัทระดับนี้มาอยู่ก็จะสามารถดึงบริษัทอื่นเข้ามาได้อีก เศรษฐกิจของเมืองก็จะโตตาม เราจึงได้ย้ายมาที่นี่ เนื่องจาก McIntosh เป็นมากกว่าเครื่องเสียง มีความสวยงาม ทรงคุณค่าอยู่ในตัวเอง งานประกอบเน้นความประณีตในทุกรายละเอียด ดังนั้น ช่างฝีมือที่มีประสบการณ์จึงมีความจำเป็นอย่างมาก พนักงานระดับปฏิบัติการของเรามีอายุงานมากกว่า 10 ปี เฉลี่ยที่ 16 ปี บางคนอยู่กับเรานานถึง 40 – 50 ปี ก็มี พวกเขามี Royalty กับองค์กร ซึมซับปรัชญาของคำว่า American Heritage

อาคาร Main Building นี้ เปิดดำเนินตั้งแต่ปี 1956 มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร ส่วนอาคารหลังเล็กมีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร อีกอาคารตรงข้ามอาคารจอดรถก็เป็น Research & Development ซึ่งมีสต๊าฟอยู่ 25 คน ประกอบไปด้วย Software Engineer, Hardware Engineer, Mechanical Engineer รวมถึงงาน Admin และ Technical Director จากนั้นก็เป็นงาน Procurement (จัดซื้อ จัดจ้าง จัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต) ข้างๆ กันก็เป็นส่วนของ Inventory Controlหรืออาจจะคุ้นว่าพวก MC มีหน้าที่ตรวจสอบ สินค้าคงคลัง และจะเช็คสินค้าคงคลังและตัดยอดทุกๆ เดือน แน่นอนว่ามีจำนวนมหาศาลในแต่ละเดือน เราจะผลิตตามที่ forecast ล่วงหน้า จะไม่ผลิตตาม รวมถึง Sales admin และ Finance จากนั้นพื้นที่ทั้งหมดก็จะเป็นส่วนของ Manufacturing และ Warehouse ก่อนอื่นต้องขอแจ้งให้ทราบนิดหนึ่งว่า ในพื้นที่ผลิต เสียงค่อนข้างดัง และบางพื้นที่ทางเดินจะแคบ เพื่อความปลอดภัย ผมจะเดินระหว่างกลางระหว่างพวกคุณ ควรอยู่ใกล้ๆ ผม เพื่อจะได้ยินเสียงผมอธิบายด้วย ในส่วนนี้เราเรียกว่าส่วนของ Sub Assembly มันคือส่วนผลิต ที่นำชิ้นส่วนเล็กๆ มาประกอบให้เป็นแผงวงจร (PCB) หรือเป็นงานชิ้นใหญ่ แล้วจึงเข้าสู่สายพานการผลิตที่เรียกว่า Final Assembly ต่อไป order แน่นอนว่าเราจะต้อง forecast ที่ประมาณ 6 – 7 เดือนล่วงหน้า เนื่องจากจะต้องเผื่อ lead time สำหรับการผลิตด้วย ซึ่งเมื่อผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นแต่ละล็อตที่เข้าสู่สายพานการผลิตจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จากตรงนี้ก็จะเป็น Production Engineer, Marketingและ QA (Quality Assurance) ตรงนั้นก็มีอีก 2 คนคือ Technical Support ที่ไม่ต้องทำอย่างอื่น แต่จะต้องโฟกัสไปที่รองรับคำถามจากลูกค้าโดยตรง หรือจากดีลเลอร์อื่นทั่วโลก ไม่ว่าจากวอลเทอร์ (วรเทพ) หรือใครๆ ในอเมริกาเองด้วย ด้านบนก็เป็นออฟฟิศของผมเอง 

Plant Tour

McIntosh ผลิตสินค้าทุกเครื่องในอเมริกา และก็ทำที่นี่ ดังนั้น ส่วนสำคัญจะเริ่มตรงนี้เป็นไลน์การผลิตที่มียอดผลิตปริมาณมากๆ จุดเริ่มต้นก็โดยนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแผ่น PCB มาจากสโตร์ ส่งต่อมายัง SMT line ซึ่งเป็น Surface Mount Process จะทำงานโดยอัตโนมัติ สามารถตรวจสอบ เสียบ และติดตั้งชิ้นอุปกรณ์เล็กๆ ได้โดยอัตโนมัติโดยต้องโปรแกรม และเครื่องจักรในส่วนนี้ราคาแพงมาก แต่ก็ทำงานได้แม่นยำเที่ยงตรงและรวดเร็วมาก แน่นอนว่าชิ้นส่วนประเภท IC, Micro Controller, DAC จะต้องถูกตรวจสอบเสียก่อน โดย Pick and Place ที่จะทำงานได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ในการตรวจสอบความถูกต้องของขา และค่าที่ที่ถูกต้อง หรือคัดตัวที่มีปัญหาออก จากนั้นก็ไปยังส่วน Solder Plating โดยจะชุบด้านล่าง เดินบนสายผ่านอ่าง Solderเป็นแบบ Solder Wave ทำงานที่อุณหภูมิสูงมาก เป็นแบบ Lead Free ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ต้องควบคุมอุณหภูมิด้วยการเข้าไมโครเวฟ เพื่อปรับอุณหภูมิ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จนแล้วเสร็จเป็นแผง 

แผงวงจรที่แล้วเสร็จจะถูกตรวจสอบทุกแผง ต้องทำงานได้ถูกต้อง 100 เปอร์เซนต์ในทุกเรื่อง Audio Performance ในหน่วยงานนี้มี Failure Rate ที่ต่ำมากๆ จากนั้นจึงแยกส่งไปยังส่วนการผลิตอื่นต่อไป ในบางส่วนก็อาจมีบ้างที่ต้องใช้มือประกอบ เนื่องจากจำนวนการผลิตน้อยมากที่จะใช้เครื่องจักร ต้องเข้าใจว่าเครื่องจักรพวกนี้ราคาแพงมาก สังเกตว่าระหว่างเดินอยู่ในสายการผลิตก็พบว่ากำลังผลิตแผงวงจรของแอมป์สำหรับ Home Theater ตัวใหม่ที่กำลังจะรีลีสสู่ตลาดเร็วๆ นี้ด้วย

Behind the McIntosh’s BLUE

จากนี้ก็จะเป็น Final Assembly ซีกนี้มี 3 ไลน์ กำลังประกอบปรีแอมป์, โฮมเธียร์เตอร์, โปรเซสเซอร์ และอินทิเกรตแอมป์ ส่วนอีกด้านมี CD Player, Blu-ray Player จะเห็นว่ามีส่วนของ Sub Assembly อยู่ด้วย แล้วส่งไปให้ Final Assemblyอีกที จนถึง Final Test ที่จะทดสอบทุกฟังก์ชั่น ทดสอบโหลดโหดๆ จนถึง 2 โอห์ม ถ้ามันไม่รอดก็ต้องทำใหม่ จนถึงทดลองฟังเป็นขั้นสุดท้าย

แสงสีเขียวบนตัวอักษรหน้าปัดเดิมใช้ Filter แต่ก็พบปัญหาว่า ปัจจุบันมาจาก LED ซึ่งมีแม่สี RGB (Red, Green, Blue) เราให้มันทำงานสี G คือ Green คือ สีเขียว และ B คือ Blue เล็กน้อย ส่วนแดงปิดไปเลย ได้ส่วนผสมสีที่ต้องการ ซึ่งก็หมายความว่า เราสามารถปรับแต่งสีของหน้าปัดแอมป์ตัวอื่นๆ ให้แม็ตช์กันทุกตัว

Mr. Randall เหลือบมาเห็นแอมป์ตัวใหม่ MA352 หันมาถามคุณวรเทพว่าสั่งกี่ตัว ก็ได้รับคำตอบแบบไม่ลังเล 30 สำหรับคนนี้ทำงานอยู่ในส่วนของ QA ตรวจสอบคุณภาพ ทั้งฟังก์ชั่น ในด้านเสียง และ Safetyให้มั่นใจว่าลูกค้าจะปลอดภัย ด้านนี้เป็น Home Theater ตัวใหม่

เข้าโซนงานโลหะซึ่งมีส่วนสำคัญมาก ของจะดูดีก็ตรงตัวเครื่องภายนอก โปรเซสนี้ราคาต้นทุนราว 1 ใน 3 ของราคาเครื่องเลยทีเดียว เป็นงานประณีตที่ต้องอาศัยเครื่องจักรราคาแพง รวมกับประสบการณ์ของพนักงานฝีมือดีที่ทำงานอย่างรอบคอบ ถึงจุดเสี่ยงต้องระวังและเสียงดังมาก งานตัด-พับ-เจียร์ อะลูมินั่ม เหล็ก สเตนเลสสตีล เครื่องดัด ปั้มโลหะกันหูดับครับ จากนั้นก็ถึงขั้นตอนทำสีด้วย Powder Coaing ที่ทำให้สีมีความทนทาน ไร้รอยขีดข่วน

ข้ามมาถึง Warehouse คลังสินค้าใหญ่มหึมาเป็นส่วนที่เก็บ Raw Material ด้วยปริมาณ 7000 active Parts number ถือว่าเป็นปริมาณที่บ้ามาก และสินค้าที่แล้วเสร็จมูลค่ามหาศาลอีกด้วย ซึ่งจะแสดงด้วย SKU หรือรหัสสินค้าในแต่ละประเทศที่ส่งไปอาจแตกต่างกัน เช่น ในอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย สินค้าที่ส่งออกไปจากโรงงานนี้50% ขายในประเทศ ส่วนที่เหลือส่งไปประเทศอื่นๆ แซวว่าใน 50% นั้น 90% เป็นเมืองไทย ฮาอีกแล้ว จากนั้นก็ยังต้องผ่าน QC อีก ก็คงเป็นเรื่องของ cosmetic ที่ต้องตรวจดูให้ละเอียด ขนแมวนิดหนึ่งก็ไม่ผ่าน

เข้ามาในส่วนสำคัญคือสูตรลับที่สุดของแอมป์ คือ Transformerแกนเหล็ก M6 โครงสร้างแบบ EI โดยที่แอมป์หนึ่งตัวจะประกอบ ด้วย Output Transformer จำนวน 2 ลูก อีก 1 ลูกคือ Power Transformer แต่ถ้าเป็น Mono Block ก็จะเป็น 1 Output Transformer กับ 1 Power Transformer หลังจากพันขดลวดแล้วก็ประกอบเข้ากับแกนเหล็ก แล้วก็สวมลงบนเบ้าตัวอะลูมินั่ม จากนั้นหล่อด้วย TAR ที่หลอมเหลว ณ อุณหภูมิราว 400 องศา เพื่อ damping ป้องกันการรบกวนจากแรงสั่นสะเทือนของขดลวด ที่จะส่งผลต่อคุณภาพเสียง นอกจากจะถูกออกแบบจากวิศวกรที่กำหนดชนิดของลวด ปริมาณรอบที่พันแล้ว การพันก็ต้องอาศัยความชำนาญของพนักงานด้วยเหมือนกัน Mr. Randall บอกว่า มันเป็นสูตรพิเศษที่เราจะไม่ยอมซื้อจากที่อื่นมาใช้ เพราะมันเป็นบุคลิกของ McIntosh นั่นเอง

มาถึงสายการผลิตหน้าปัดที่เป็นกระจกเจาะรูด้วยแรงดันนำสูงถึง 60000 PSI ที่มีนำลม และผงละเอียดของหินโกเมน (Garnet) ที่มีความแข็งกว่ากระจก เมื่อก่อนกว่าจะได้หน้าปัดกระจกแต่ละแผ่นต้องสกรีนสีดำหลายเที่ยว ปัจจุบันสกรีนเพียงครั้งเดียว ถือเป็นโปรเซสที่ได้เห็นกับตาว่า หน้าปัดแต่ละชิ้นไม่ง่ายเลยกว่าจะได้มา แน่นอนว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นมิเพียงเสริมรูปลักษณ์เท่านั้น แต่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงทั้งสิ้น และยังแอบเห็นผลิตภัณฑ์พิเศษที่ห้ามถ่ายภาพ ทั่วโลกมีเพียง 100 ตัวเท่านั้น ที่แน่ๆ ในกลุ่มที่เดินทางไปมีใครซักคนต้องเป็นเจ้าของแน่ๆ

กลับจาก Plant Tour เข้าสู่ห้องรับรองอีกครั้ง แบ่งกลุ่มเข้าไปสัมผัสบรรยากาศใน “ห้องไร้เสียงสะท้อน” ที่เรียกว่า “Anechoic Chamber” เป็นห้องที่เงียบสงัดที่สุด มี Background Noise ต่ำสุดๆ McIntosh สร้างขึ้นเพื่อทดสอบการทำงานของลำโพง McIntosh ที่ต้องแบ่งกลุ่มก็เพราะพื้นห้องเป็นตาข่าย ไม่สามารถรับน้ำหนักคนจำนวนมากได้ ทรีตอะคูสติกส์โดยรอบผนังทุกด้าน เพดานยันพื้นอย่างแน่นหนา ผนังหนาทำเป็นลิ่มอะคูสติกส์ทั้ง 6 ด้าน สงัดมาก เข้าไปในห้องรู้สึกได้เลยว่า หูวิ้งๆ เลย ได้ยินเสียงหัวใจเต้น หรืออวัยวะในท้องทำงานด้วยซ้ำห้องนี้เข้ามาเพื่อทราบ แต่ไม่ควรอยู่นาน จากนั้นทั้งสองกลุ่มกลับมารวมตัวกันเพื่อฟังเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ของ McIntosh ก่อนกลับก็ได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ วันนี้เป็นวันแห่งวิชาการล้วนๆ ได้ประสบการณ์ที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน โชคดีอย่างยิ่งที่ได้มาเยือน รู้สึกประทับใจในตำนานแห่ง McIntosh’s BLUE อย่างยิ่ง

ตามที่ CEO เกริ่นให้ฟังตั้งแต่ต้น ได้เห็นกับตาว่า พนักงานที่McIntosh มีอายุการทำงานเฉลี่ยค่อนข้างสูงคือกว่า 10 ปีแทบทั้งสิ้น สูงกว่า 40 – 50 ปีก็ยังมี อาทิ ตั้งแต่ Mr. Charles Randall ที่เริ่มงานกับ McIntosh ตั้งแต่เป็นเอ็นจิเนียร์จบใหม่ หรือ Mr. Ron Cornelius แม้แต่พนักงานระดับปฏิบัติการ ล้วนทำงานอยู่ในองค์กรนี้กันอย่างยาวนานทั้งสิ้น ทุกคนอึ้งที่พบกับ Mr. Jim ที่ทำงานอยู่กับ McIntosh มาอย่างยาวนานถึง 52 ปี ปัจจุบันอายุ 72 ปีแล้ว ผู้หญิงทำงานตั้งแต่สาวจนเป็นป้าก็มี ทุกคนมี Royalty กับองค์กรมาก มีความภาคภูมิในในความเป็นสายเลือดสีฟ้า McIntosh’s BLUE อย่างเต็มพิกัด นี่แหละคือตำนานแห่งเครื่องเสียงสายเลือดอเมริกันโดยแท้

Welcome Party @CEO’s Resident

หลังการเยี่ยมชมอาณาจักรของ McIntosh’s BLUE เราได้มางานปาร์ตี้ที่บ้าน Mr. Charles Randal, CEO McIntosh Group & President McIntosh Laboratory บอสใหญ่ในกลุ่มของ McIntosh Group สายเลือด McIntosh’s BLUE แท้ๆ เขาทำงานกับ McIntoshตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ19 ปี โดยจบการศึกษาทาง Electrical Engineering จนถึงวันนี้ก็ทำงานกับ McIntosh 33 ปีแล้ว เขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดตั้งแต่ปี 2001 นับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลา 18 ปี

Mr. Randall เป็นคนที่มีบุคลิกน่านับถือ มีฝีมือในการบริหารมาก ลองนึกดูซิว่า McIntosh Group มีผลิตภัณฑ์หลายแบรนด์ ประกอบด้วย McIntosh, Audio Research, Sonus Faber, Sumiko และ Wadiaแต่ละแบรนด์มีบุคลิกและจิตวิญญาณของตัวเอง เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากที่จะไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือไปเปลี่ยน DNA ของแต่ละแบรนด์ เป็นการให้อิสระกับแต่ละแบรนด์ ถือว่ายอดฝีมือจริง ไหนจะบริหารคน ดูแลทุกภาคส่วน ความรับผิดชอบสูง ไหนจะยอดขายที่ต้องรับผิดชอบต่อผลประกอบการที่มีผู้ถือหุ้นจับตาอยู่ เวลางานคงจะซีเรียสน่าดู สัมผัสได้เลยว่า เขาละเอียดรอบคอบ แต่ก็กล้าได้กล้าเสีย 

บ้านของ Mr. Randall อยู่ห่างออกไปจากที่พักไกลพอสมควร อยู่นอกเมือง เป็นบ้านแถบชายป่าก็ว่าได้ เนื้อที่ค่อนข้างกว้าง มีบริเวณเป็นลานกว้าง รับแขกได้หลายคนสบายๆ มีพื้นริมบึงให้จัดบาร์บีคิวปาร์ตี้ ตัวบ้านภายนอกคล้ายโรงนาขนาดใหญ่ เป็นบ้านสองชั้นหลังคาสูง มีห้องใต้หลังคาด้วย เฉลียงมีชานพักทอดยาว ภายในบ้านมีครัวขนาดใหญ่ ที่นั่งพักสบาย อาหารหลากหลาย ทั้งเนื้อและซีฟู้ด พาสต้า พร้อมด้วยไวน์ เรียกว่าเยอะมาก ถ้ากินกันทั้งหมดนี่คงอิ่มข้ามสัปดาห์กันเลยทีเดียว

Mr. Randall ลงมือเป็นพ่อครัวเอง บึงน้ำที่เห็นนั้นขุดขึ้นมาเอง ท่านเป็นคนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง แม้เป็น CEO แต่วันนี้มาเป็นพ่อครัวให้พวกเรา ฝีมือดีด้วย ระหว่างงานเลี้ยงพวกเราขอให้เจ้าบ้านฝากลายเซ็นไว้บนหลังเสื้อแจ็คเก็ตที่เราสวมกันมาเป็นทีมด้วย Mr. Randall เป็นกันเองกับพวกเราทุกคนอย่างจริงใจ ท่านทำตัวสบายๆ ต่างจากกับขณะทำงานมาก นี่แหละชีวิตของผู้ที่ประสบความสำเร็จที่ต้อง Work Hard & Play Hard เป็นทริปที่ประทับใจมาก ขอขอบคุณ บริษัท K S Sonsgroup ที่จัดโปรแกรมดีๆ เช่นนี้ครับ. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 273