ธรรมนูญ ประทีปจินดา

THE PERFECT COMPANION TO ENJOYS MUSIC
RESONESSENCE LABS: HERUS+
AUDIOPHILE QUALITY USB HEADPHONE DAC

วงการเครื่องเสียงแนว Personal Audio คึกคักอย่างต่อเนื่อง แทรกอยู่ในเซ็กเมนต์ของผู้มีสุนทรีกับเสียงดนตรีมาทุกยุค จากงานสตูฯ สู่สังคมนักเล่นในปัจจุบัน นาทีนี้ถามว่ามีใครบ้างไม่เล่นหูฟัง บ้านเรากลุ่มหูฟังมีสมาชิกเป็นหมื่น ทุกเพศทุกวัย ต่อให้มีชุดเครื่องเสียงสิบล้านก็ยังต้องเล่น เชื่อเถอะต้องมีไว้ เล็กบ้างใหญ่บ้าง มีแล้วก็อยากได้ตัวใหม่อีก 

เมื่อเป็นคอลัมน์ในออดิโอไฟล์ก็ต้องตีให้แคบลงมาอีกนิด นักเล่นกลุ่ม HEADPHILE กลุ่มที่เล่นชนิดซีเรียสก็นับว่ามีไม่น้อย ประมาณว่ากลุ่มนี้ไม่มีใครฟังเพลงตรงๆ จาก Soundcard ของคอมพิวเตอร์ หรือ DAC ของ Smartphone หรอก สังเกตได้ง่ายกลุ่มนี้ไม่เล่นหูฟังที่แถมมากับเครื่องเป็นอันขาด เพราะทราบดีว่า ถ้าลงทุนอีกนิดก็จะได้คุณภาพเสียงที่กระโดดจากเดิมมากมาย ดังนั้น ถ้าคุณผู้อ่านเข้าเงื่อนไขนี้ก็ต้องติดตามกันแล้วล่ะ

ต้องขอบคุณเทคโนโลยีดิจิทัลออดิโออันก้าวล้ำทำให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ของไฮไฟ ผู้อ่านที่เฝ้าติดตามคอลัมน์ audiophile go digital คงเป็นเช่นเดียวกับเรา คือ นักฟังที่พิสมัยดนตรีจากแหล่ง File base หรือสื่อไร้ตัวตนตัวจริงเสียงจริง ไม่วอกแวก คงทราบดีว่า บัดนี้ Streaming ได้ครอบครองโลกโดยเบ็ดเสร็จไปแล้ว และจะไปอีกยาว เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราคงต้องคุ้นกับคำว่า DAC (Digital to Analog Converter) เป็นอย่างดี

Resonessence Labs ผู้ผลิต DAC ฝีมือดี นำเข้าโดย บริษัท Prestige HiFi ที่จัดส่งมาพร้อมกันสามตัว อย่าแปลกใจว่า Resonessence Labsอีกแล้วเหรอ ก่อนหน้านี้ได้ทดสอบการใช้งาน Resonessence Labs: Invicta Mirus Pro พี่ใหญ่ External DAC สายพันธุ์ใหม่สัญชาติแคนาเดียน เพื่อนักฟังออดิโอไฟล์ที่ฟังเครื่องเสียงแบบซีเรียส ใช้กับชุดเครื่องเสียงในห้องฟัง จนมาถึง Resonessence Labs: Concero HP เป็น DAC/Headphone Driver ของ Resonessence Labs หรือจะเรียกว่าเป็น DAC แอมป์หูฟังก็ใช่นะ รวมถึงเจ้าตัวเล็ก Herus+ นี้ด้วยอีกตัว

Resonessence ก่อตั้งโดยอดีต Operations Director จาก ESS Technology ซึ่งแน่นอนว่า แกจะเปรี้ยวในเรื่อง DAC chip ที่นำมาต่อยอดใช้ กับผลิตภัณฑ์ของ Resonessence Labs ซึ่งมีอยู่หลายตัว 

RESONESSENCE LABS: HERUS+ 

ไอ้หนูน้อย Herus+ เป็น DAC ตัวเล็กสุด อยู่ในตัวถังอะลูมินัม สัณฐาน กะทัดรัด ยาวประมาณสองนิ้วกว่าๆ มีโลโก้อักษรตัว R ที่มาในถุงผ้าสีดำกล่องกระดาษเล็กๆ เป็น DAC ที่มาตัวเปล่า ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกแบบ, ประกอบ และทดสอบในแคนาดาเชียวนา เชื่อใจได้ในเรื่องมาตรฐานการผลิต รับรอง ในเรื่องถึก อึด และเสียงดีแน่ๆ 

ด้านหนึ่งของ Herus+ เป็น USB type ‘B’ ซึ่งเป็นฝั่ง Input ส่วนอีกด้าน เป็นขั้วต่อ Output คือ TRS ¼ inch Stereo Headphone เล่นง่ายๆ แบบนี้ล่ะ อย่างไรก็ตามก็ยังมีลูกเล่นให้ลิ้มลองหลากหลายวิธี คงไม่ยากสำหรับคนซนๆ เช่นเรา ใช่เปล่า? 

Herus+ รองรับ USB Audio 2.0 Asynchronous ติดตั้งด้วย ESS 9010-2M ซึ่งชิพของ ESS เป็นที่ยอมรับกันถึงคุณภาพเสียงที่ให้รายละเอียดของชิ้นดนตรี ได้ดีมาก ซึ่งโดยตัวของชิพเองมีประสิทธิภาพในการรองรับการแปลงข้อมูล ได้สูงถึง 32-bit/384kHz และรองรับฟอร์แมต PCM, DXD และ DSD64/128 เหลือเฟือสำหรับไฟล์เพลง Hi-Res ในยุคนี้ นอกจากนั้นยังมีวงจร หน่วยความจำที่มีฟีเจอร์ที่จะให้ความแตกต่างของประสบการณ์การฟังเพลง จาก DAC ตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใครเหมือน 

เจ้าตัวน้อยนี้มี Output impedance เพียง 0.2 Ohms ให้ความสงัด 100dB of SNR, (typically 108dB) ระดับ Output Signal 2.4 VRMS ด้านกำลังขับ เมื่อขับหูฟัง 32 โอห์ม เท่ากับ 126 mW, 60 โอห์ม เท่ากับ 95 mW, 300 โอห์ม เท่ากับ 19 mW และ 600 โอห์ม เท่ากับ 9.5 mW ในขณะที่ค่าความเพี้ยนก็ต่ำมากเช่นกัน เรียกว่าขับฉลุยไร้ความเพี้ยนนั่นเอง 

Herus+ ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับ MS Windows, MAC OS รวมถึง Linux โดยถ้าเป็น Windows ก็เพียง download เจ้า Thesycon USB Audio 2.0 driver โดยที่ใช้ DAC chip ESS 9010-2M DAC ทำงานโดยใช้ custom code และ asynchronous algorithms ของ Resonessence Labs เอง และทำงานคู่กับ generic Cypress USB interface chip เอ… ดูเหมือน Cypress มีโรงงานอยู่แถวปากเกร็ดนี่เอง Herus+ จึงทำหน้าที่เป็นทั้ง DAC หรือ AMP/DAC combo เสียเลย ที่แน่กว่านั้นคือยังเล่นกับ Smart Devices ได้ด้วย 

นอกจากใช้ขับหูฟังแล้ว Herus+ ยังสามารถ ใช้กับชุดเครื่องเสียงบ้านทั่วไปได้อีก และดีมาก ด้วยครับ การใช้ Herus/Herus+ เป็น DAC ต่อเข้าปรีแอมป์ หรืออินทิเกรตแอมป์ ทำได้ง่ายๆ โดยทำสาย 6.3 mm TRS to RCA มาต่อ หรือไม่ ก็หาสาย 3.5 mm mini to RCA สำเร็จรูป ที่มีขายทั่วไป (Audioquest หรือ Kimber Kable มีหลายรุ่นให้เลือก โดยทาง Prestige HiFi ได้แถม mini to 6.3 mm headphone adapter ให้มาด้วยในกล่องแล้ว) จากนั้นก็ต้องปรับ volume -1.5dB หรือ 84% ของ output จะได้ 2V RMS line level ปกติ เท่านั้นก็จะได้เสียงที่สมดุลที่สุดนั่นเอง 

PRESS… FILTERS… AND MORE… 

บนตัวเครื่องมีโลโก้เป็นอักษร R ซึ่งเมื่อเสียบสาย USB Type B เข้าไป ทันทีที่จ่ายไฟเข้า ก็จะติดสีแดง แล้วก็เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน แสดงสถานะพร้อมใช้งาน กดที่โลโก้เร็วๆ จะเปลี่ยนสีเป็นม่วงแดง magenta หมายถึง การเลือกที่จะเปลี่ยนฟิลเตอร์จาก apodiziing filter เป็น minimum phase IIR filter และถ้ากดซ้ำอีกครั้งก็จะกลับมาเป็นสีน้ำเงินดังเดิม ก็คือ apodiziing filter นั่นเอง 

อาจจะสงสัยว่า ถ้าเราเลือกเล่นฟิลเตอร์ แล้ว Herus+ จะดึงไฟจาก Device ที่เราเล่นหรือเปล่า แน่นอนว่าทีมงานออกแบบคิดเผื่อไว้หมดแล้ว กดที่โลโก้ยาวๆ ไฟที่โลโก้จะดับไปเลย และเจ้าหนูน้อยก็จะทำตัวดีๆ ดึงไฟ ให้น้อยลงด้วย ซึ่งก็เป็นการดีเมื่อเล่นกับ Smart Devices เพราะจะไม่บริโภค ทรัพยากรอันมีค่าโดยไม่จำเป็น ที่แน่ๆ คือ… ไม่ทำให้เสียงด้อยลงด้วย 

ข้อควรระวังที่ต้องเตือนกันไว้เลย ทันทีที่เปิดคอมฯ หรือแอพ อย่าเพิ่งเปิดเพลงเด็ดขาด เนื่องจากวอลลุ่มของ Herus+ เป็นชนิด 32-bit ซึ่งจะเข้าควบคุมวอลลุ่มของคอมพิวเตอร์ โดยอยู่ที่ Max ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง หรือเมื่อย้ายช่องเสียบ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องปรับลดวอลลุ่มให้มีระดับต่ำๆ ไว้ก่อนทุกครั้ง มิฉะนั้น หูแตก หรืออาจทำความเสียหายกับหูฟังได้… ควรทำเป็นนิสัยเลยนะ

SHOWTIME

นาทีนี้คงไม่ต้องอ้ำอึ้ง กระมิดกระเมี้ยน แอบเล่นแล้วกระมัง Music Lover ค่อนโลกฟังเพลงจาก Streaming service กันทั้งนั้น หรือใครจะเถียง เป็นที่รู้กันว่า Music Streaming เป็นสื่อดนตรีกระแสหลักไปแล้ว และโตขึ้นทุกวัน อุตสาหกรรมดนตรีมีทางออก หลังยอดขาย Physical ตกต่ำร้านค้าล่มจมหาย พวกเรารักในเสียงดนตรี หาใช่คนชอบอวด ชอบโชว์ หรือสะสม ฟังกันเพลินๆ ไม่ต้องยืมใครฟัง พวกเรา Tidal Thailand แชร์กันฟรีๆ 

ทุกวันนี้อย่างที่ทราบ “ดนตรีสมควรได้รับการฟัง” ผลงานดีให้ตาย แต่ถ้าขายอยู่ในวงแคบ ขายได้น้อย แล้วยังโดนก๊อปก็แย่อีก ก็ยิ่งเสียของไปใหญ่ ศิลปินเองก็อยากให้ผลงานตัวเองออกสู่วงกว้างด้วย ถึงยุคที่ศิลปิน ค่ายดนตรี ค่ายเครื่องเสียง ต้องปรับตัวให้ทันกับสภาวะตลาด ก็สตรีมมันสิอาจจะอยากฟังอัลบั้ม Tidal Master ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าต้อง MQA certifiedก็เจ๋งได้ มีตัวช่วยเยอะแยะไป เล่นจากเครื่องเล่นที่ลงทุนน้อยได้คุณภาพสูง หรือฟังเพลงจากไฟล์ Hi-Res ระดับ Studio Master ในคลังแสงส่วนตัว มีไฟล์ประเภท DXD หรือ DSD ก็บ่ยั่น เล่นด้วยอุปกรณ์ที่เรามีอยู่แล้วคือคอมพิวเตอร์ เอามาเล่นแบบ CAS (Computer As Source) ก็เป็น Solution ที่ดี ในงบประมาณที่เหมาะสม หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนในมือก็สามารถเป็นขุมทรัพย์ดนตรีชั้นดีให้ได้ ขณะปั่นต้นฉบับนี้ Sonic Studio กำลังรีลีสอาม้า Amarra Play ให้ถอด MQA บน iOS ด้วย ก็ยิ่งติดปีกให้กับ Tidal Master เข้าไปใหญ่ ไม่ใช่แค่เล่นได้ แต่ถ้ามันดีขึ้นด้วย จะไม่เล่นเหรอ บังเอิญเหลือเกินที่ลงทุนไปกับหูฟังคู่ใจที่ต้องการพลังขับมากสักหน่อยจึงจะหมดจด ไฉนเลย… จึงต้องมีตัวช่วยเก่งๆ อย่าง Herus+ นี่แหละ มาต่อยอดให้เล่นเป็นแอมป์หูฟังชั้นดี ให้เปล่งเสียงได้สุโก้ยสุดๆ สมคุณค่าของหูฟังราคาแพงที่จ่ายไป

ด้วยหูฟังแบบครอบ Focal Clear ที่เพิ่งมาประจำการ แต่ยังนวดไม่ถึงนัก ก็เลยใช้ Kennerton VALI ที่กล้ามใหญ่ใจถึงเป็นตัวยืนจับคู่กับHerus+ แล้วใช้แอพ Audirvana Plus กับ Amarra4Luxe บน Mac เป็นตัวยืน สามารถ Decode MQA ได้แล้วทั้งคู่ ได้คุณภาพสูงสุดที่ 24/96kbpsซึ่งมิต้องลง Driver แต่อย่างใด ส่วนถ้า Windows ต้องลง driver เป็น USB Asynchronous 2.0 audio driver เสียก่อน แล้วอย่าลืมลงทุนกับสาย USB ดีๆ หน่อย ลงทุนซื้อติดบ้านไว้ มีผลต่อคุณภาพเสียงมากนะจะบอกให้ อย่ากังวลเรื่องหาหัวต่อสำหรับ Smart Device ปรึกษา Prestige HiFi ได้เลย เขาจะให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดีว่าต้องใช้ตัวต่ออะไรบ้าง

WRAP UP

สำหรับ DAC/AMP พกพาที่ไม่ควรห่างมือ เจ้า Herus+ ตัวนี้ เสียงที่ได้ไปในโทนเดียวกันกับรุ่นพี่คือ Concero HP ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของ ESS chip ที่ให้รายละเอียดลงถึง (micro) detail ของชิ้นดนตรีได้แม่นยำไม่ทับซ้อน เกิดช่องว่างระหว่างตัวโน้ต ดนตรีมีเวทีเสียงกว้าง มีมิติ มีทรวดทรง เบสมีมวล ให้เสียงดนตรีสมจริงเป็นธรรมชาติเยี่ยงที่ศิลปินต้องการให้เราได้ยิน Herus+ มาพร้อมกับฟิลเตอร์ที่สุด Cool ซึ่งไม่มีวันหาได้ใน DAC พกพา ค่าตัวเพียงแค่นี้ อย่าสงสัยเลยว่า ทำไมถึงต้องเตือนกันรัวๆ ว่า “ถ้าใจไม่แข็งพอ อย่าได้ลองเข้าเชียว ได้เสียเงินแน่”. ADP

ราคา 16,800 บาท
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท Prestige HiFi จำกัด
โทร. 063-638-4498

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 253