ธรรมนูญ ประทีปจินดา

มาเยือนถิ่นอิสานแต่ละครั้งมีโอกาสได้พบปะนักเล่นเครื่องเสียงรุ่นใหญ่หลายท่าน และนี่เป็นอีกครั้งที่ต้องมา เพราะทราบว่ามีห้องสวยเสียงดีอยู่ในอุดรนี่เอง เมื่อตอนที่มาเยี่ยมห้องฟังของคุณสมพงษ์ นักเล่นเครื่องเสียงแห่งอุดรธานีที่ขณะนั้นกำลังสร้างห้องฟังห้องใหม่ใหญ่กว่าเดิม ก็ได้ข้อมูลมาอีกว่ายังมีห้องฟังของคุณเอ๋ ที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือราว 6 x 9 เมตร ถือเป็นสัดส่วนบิ๊กเบิ้มของ “ห้องฟังในฝัน” ของพวกเรานักเล่นเครื่องเสียงที่ต้องทั้งสวยและเสียงดี เจ้าของตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อรองรับซิสเต็ม Super Hi-End ที่ใช้ลำโพงขนาดใหญ่ สนองความต้องการของตนเอง โดยถูกออกแบบให้มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ ทั้งสัดส่วนในฝันได้มาตรฐาน การตกแต่งอะคูสติกส์เต็มระบบ การคัดสรรวัสดุชั้นดี ฝีมือช่างมีความประณีต เนี้ยบไร้ที่ติ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สวยระดับต้นๆ เท่าที่เคยพบมา เดี๋ยวจะทราบว่าทำไมถึงบอกเช่นนั้น

เรื่องราวของห้องนี้มีความเป็นมาน่าสนใจทีเดียว เป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องเดินทางไกล… มาถึงที่นี่

เนื้อหาในคอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE มีที่มาจากการบอกเล่าเรื่องราว โดยการพบปะพูดคุยกันซึ่งหน้า ถามตอบกันตรงๆ ไม่ว่าจะอยู่ไกลสักเพียงไร และต้องเดินทางดั้นด้นไปหาท่านก็ตาม เราก็ยินดีอย่างยิ่ง ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ให้การต้อนรับครับ ความหลากหลายของบทความในแต่ละตอนนั้น บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของนักเล่นแต่ละท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากประสบการณ์ตรง ลงทุนจริง เป็นเงินนับล้าน หรือถึงนับสิบล้านกันทีเดียว แม้ว่าการลงทุนไปกับเครื่องเสียงมิได้เกิดผลกำไรเป็นตัวเงินก็จริง แต่ทำไมท่านเหล่านั้นถึงยอมลงทุนกับชุดเครื่องเสียงราคาสูงๆ ด้วยเล่า คนที่ไม่อยู่ในแวดวงเครื่องเสียง ไม่มีวันเข้าใจหรอก

อีกครั้งของการเดินทางหลายชั่วโมงจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภาคอีสาน แวะพักที่ขอนแก่นหนึ่งคืน สายๆ ของวันรุ่งขึ้นจึงเดินทางสู่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ระยะทางห่างจากขอนแก่นราวสองร้อยกว่ากิโลเมตร ใช้เวลาอีกร่วมสามชั่วโมงทีเดียว ขนาดที่เสี่ยเบนซ์ ผู้รับหน้าที่นำพวกเราเดินทางไปครั้งนี้ถึงกับออกปากว่าไกล และเป็นที่ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเดินทางมาเลย

สองนักเล่นเครื่องเสียงแห่งบ้านดุง

หลังจากพบกัน ณ จุดนัดพบที่สถานี บขส. บ้านดุง คุณเอ๋ หรือ คุณวิรัช พลโรม เจ้าของกิจการบิ๊กมาร์ทพลาซ่า ก็ได้นำเรามาที่บ้าน ซึ่งไม่ห่างจาก บขส. นัก โดยมีผู้สมทบมาภายหลังอีกคนหนึ่งเป็นพี่ชายของคุณเอ๋ คือ คุณเอ – อนิรุทธิ์ พลโรม เจ้าของห้างทองเกรดเอเยาวราช ในอำเภอบ้านดุงนั่นเอง 

ข้อมูลเบื้องต้น

ผมเกิด เรียน และโตที่นี่ ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ นานๆ จะเข้ากรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ปีละสองสามครั้งเอง บางทีก็ขับรถไป หรือขึ้นเครื่องไป ก็ไปหาของที่ที่นี่ไม่มีอย่างเช่น งานแสดงเครื่องเสียงแบบ BAV HI-END SHOW ที่จะจัดที่โรงแรมแลนด์มาร์ค วันที่ 23 – 26 มิถุนายนนี้นั่นแหละ ยังไม่มีโอกาสได้ดูคอนเสิร์ตเมืองนอกสดๆ เลย ดูจากแผ่นบลูเรย์ แผ่นดีวีดี กับลำโพง Denon กับ JBL เป็นชุดเท่านั้น

กว่าจะเล่นเครื่องเสียงไฮเอนด์

ชอบเครื่องเสียงมาตั้งแต่เด็ก ฟังมินิคอมโปประมาณนั้น ตอนนั้นก็ว่าหรูแล้ว เล่นกับพี่ชายที่โตมาด้วยกัน ก็เล่นเครื่องเสียงแบรนด์ทั่วๆ ไป ถูๆ ไถๆ ไป ย้อนไปประมาณซักเกือบสี่ปีที่แล้ว พอเราเริ่มมีกำลังพอที่จะเล่นเครื่องเสียงแยกชิ้น ตอนนั้นไปฟังที่ร้านนาโน ที่อุดร เป็นชุดพื้นๆ ราคาไม่แพง เริ่มอยากได้เครื่องไฮเอ็นด์ราคาสูงขึ้น มีที่ไหนใกล้ๆ ก็ไปที่ขอนแก่นไฮไฟ คุณสมชายเป็นคนบ้านเดียวกัน พูดกันง่ายดี ชวนพี่ชายไปขอนแก่นกัน แรกๆ เลยเป็น Rotel กับลำโพง Monitor Audio ส่วนของพี่ชายก็ลำโพง Paradigmต่อมาก็เล่นลำโพง Totem Rainmaker ตอนนั้นพักอยู่ที่ร้านทองชั้นสาม เป็นอาคารพาณิชย์ ไม่ใช่ที่นี่ ตั้งใจว่าจะทำห้องนอน ไปๆ มาๆ ทำห้องฟังเพลงดีกว่า จริงๆ ก็แยกชุดดูหนังฟังเพลงกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น มันไปกันไม่ได้แฮะ

เริ่มแก่กล้าขึ้น

Totem Model One Signature รู้สึกเป็นคู่สุดท้ายที่เป็นลำโพงวางหิ้ง เล่นกับแอมป์ Krell 400xi Signature ซีดีก็เล่น Lyngdrof ตัวเป็นแสน ฟังๆ ไปก็เริ่มขยับความต้องการมากขึ้น เริ่มไขว่คว้า ชอบค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือเจอหน้าโฆษณาเครื่องสวยๆ น่าลอง เอามาลองเล่นดู บางทีก็ไม่แม็ตช์ ไม่ใช่ไม่ดีนะ มันต้องหาความลงตัวที่ไม่ง่ายเลย 

แม้อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ แบบนี้ เวลาซื้อเครื่องเสียง หรือเรื่องการบริการของร้านค้าเครื่องเสียงก็ไม่มีปัญหานะ เครื่องเสียงมือสอง ผมได้คุณ Ball C-21 กับคุณณรงค์ศักดิ์ Boeing ขนเครื่องมาให้ลองฟัง มากันเพียบ ช่วงนั้นชีวิต สับสนมาก ส่งมาให้ลองทดสอบฟังดู เราก็ใช้บริการคุณเป้ง ไงครับ บางครั้งคุณบอล C-21 เอาแอมป์มาเพียบ ให้เป้งมา นอนรอกันเลย สนิทกันเลยทีเดียว อึด แรงดีมาก แอมป์ตัว เบิ้ม เล่นยกคนเดียว ถามว่าจะช่วยไหม บอกไม่เป็นไร ลองไป เรื่อยๆ ชอบก็เอาไว้ แรกๆ ก็ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก เล่นไปเรื่อย ก็ไม่กลัวย้อมแมวนะ 

แรกๆ มาเจอคุณโก้ ตอนที่ไปซื้อแอมป์ Karan กับแก โห… เรานี่ไม่มีอะไรเลย จากนั้นก็มีคุณโก้มาเป็นกุนซือให้สอง สามปี มาสอนให้ฟัง ฟังยังไง แม็ตชิ่งยังไง ลองเสียบสายเส้น นั้นเส้นโน้นฟังดู โก้เค้ามีความรู้และจริงใจกับเรา 

พูดถึงตรงนี้ก็อยากบอกว่า ร้านค้าน่าจะให้ความรู้ สอนให้ฟังอย่ามัวแต่ห่วงที่จะปิดการขายลูกเดียว เค้าชอบ เค้าถึงเอามาลองการเปลี่ยนเครื่องแต่ละครั้ง เราก็ต้องเข้าใจ ว่าต้องเสียสิบถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แต่ก็คุ้มนะกับความรู้ที่ได้ จริงๆ เราต้องทราบถึงบุคลิกเสียงของมัน เครื่องระดับนี้ไม่มี ไม่ดี มีแต่แม็ตช์ไม่แม็ตช์ ชอบไม่ชอบ ถ้าไม่รู้บุคลิกของมัน งมอยู่นั่นแหละ มันเป็นสมการที่มาต่อกัน มันได้ก็แค่คลิกเดียวเอง แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน 

เครื่องเสียงหลัก 

คนทั่วไปจะนึกถึงลำโพงเป็นสิ่งแรก ลำโพงที่เล่นเยอะก็เป็น Wilson พูดถึง Wilson ผมว่าคนฟังครั้งแรก เสียงร้องมาก็มักจะโดน เลย มันน่าตื่นเต้น ผมเล่นมาสามคู่เลยนะ คู่แรกก็ Watt 6 ดุลเสียงดี แต่เสียงร้องยังไม่ดีนัก คู่ที่สอง Sofia 3 สุดท้าย Sasha มาเปลี่ยนใจ เพราะคิดว่าไม่แม็ตช์กับ Karan สุดท้ายก็กลายเป็นไม่ชอบนะ แต่ก็โดนไป สามคู่เลย มาถึง Rockport ก็โดดใส่ Altair เลย ยกขึ้นข้างบน หนักสุดๆ ยัง ไม่คิดจะไปถึง Arrakis หรอก ว่าไปแล้วจริงๆ ยังไม่เคยฟังหรอก 

เมื่อนิ่งแล้วไม่พยายามดิ้นรนเลย พอใจก็หยุด ฟังเพลงให้มีความสุข อย่าดิ้นรน ใช้เวลากับชุดเดิม ปรับจูนไปเรื่อยๆ จนพอใจที่สุด 

แอมป์เล่น Mark Levinson No 33, Preamp No 32 มาก่อน เล่นได้ซักปีหนึ่ง มันทำท่าจะเสีย เริ่มร้อน เริ่มรวน ต้องรีบปล่อยออก ท่าทางจะเสียยาว แก้ไม่จบ ต้องหาแอมป์ที่อึด ดูในอินเทอร์เน็ตเข้าท่า แฮะ ก็เลยไปเอา Karan มาแม็ตช์กับปรี Mark ไปๆ มาๆ ก็ต้องไปทั้งคู่ นั่นแหละ Karan 600 ตัวนี้เป็นตัวแรกๆ ของเมืองไทย มาจับกับ Viola Mono Preamp จริงครับที่Karan 900 จะไบรต์กว่านี้ เรายังจูนอยู่เลย ห้องดีแล้วค่อยนิ่ง ใจเย็นๆ 

ฟรอนต์เอ็นด์ ผมไม่เล่นแผ่นเสียงนะ ไม่ชอบครับ มันไม่สะดวก “แฟ็กเตอร์มันเยอะที่จะให้ได้ดี” ที่ชอบ Esoteric ก็ตรงสวยนี่แหละ Esoteric นี่เริ่มจาก D-03 ตอนนี้ก็ P-01/D-02 มี Clock แล้ว ชอบที่มีความอิ่ม ถือว่ามีทรานสปอร์ตดีที่สุดในโลกแล้ว คุณเบนซ์ แกว่าแบบนี้ 

ห้องฟัง 

ผมเชื่อว่า เล่นเครื่องเสียงต้องมีห้องฟัง ผมมีห้องฟังมาตั้งแต่ต้น ย้ายมา อยู่ที่บ้านนี้ได้ราวสามปี เดิมฟังเพลงอยู่ในห้องชั้นสองตรงมุมตรงโน้น สัดส่วน ห้อง 4 x 6 เมตร ก่อนหน้านี้มี Sasha ก็นึกว่าพอแล้ว พอเอา Rockport Altair เข้า ไม่ไหว กลายเป็นว่าห้องเล็กไป อึดอัดแฮะ ระหว่างนั้นบ้านเราก็ตกแต่ง โน่นนี่นั่น ก็ทำโน่นทำนี่ จนสุดท้าย ทำห้องฟังเพลงใหม่ดีกว่า เพิ่งทำได้ปีกว่าเอง กลิ่นไม้ยังไม่หมดเลย 

อย่างที่พูดให้ฟัง ก็เพราะ Altair คู่นี้แหละ อยากทำห้องใหม่ให้มีช่องว่าง ให้มันหายใจหน่อย จะได้โปร่ง ความจริงก็ไม่รู้จักใครที่ทำห้อง พอรู้ว่าเค้ารับ ทำห้อง ก็เชื่อมือ “โก้” ก็บอกเค้าว่าอยากทำห้อง ต้องทำยังไงถึงจะดี ครั้งแรก แกก็ไม่ค่อยมีเวลา ไม่ว่าง คิวงานแกยาวเป็นกิโลเลย “ไม่รู้จะมีเวลาทำห้องพี่ ได้หรือเปล่า” แทบหมดอารมณ์เลย คนนี้ติสต์มาก ปากอย่างไว แถมไม่ยอม จะบอกเสียด้วย 

ชักใจร้อน เลยบอกแกว่า “ผมจะทำแล้วนะ” ก็ลุยเลย พอได้สูตรมา ก็ทำโครงสร้างนี่ค่อยๆ คายออกมา บอกทีละขั้น แบบยี่สิบคำถามเลย ห้องนี้ โครงสร้างน่ากลัวมาก ผนังก่ออิฐสองชั้นหนา 30 ซม. พื้น 50 ซม. ส่วน Slap ฝ้า 12 ซม. ปกติ เหมือนบ้านปกติ สัดส่วนโครงสร้าง 5.55 x 8.75 x 3.3 เมตร แล้วผมก็ให้เค้ามาติดอะคูสติกส์ทั้งฝ้าและผนัง จุดสูงสุด 3.1 เมตร 

ความจริงแล้วราคาไม่แพงเลย ราคาถ้าคิดต่อตารางเมตร ราคาถูกกว่า ใส่ Diffuser หรือราคางานอินทีเรียร์อีก ผมจ่ายให้คุณโก้ไปราวห้า-หกแสน ไม่รวมงานระบบไฟ ระบบกราวด์ เพิ่มชั้นวาง กับงานทำโครงสร้างอีกราวห้าแสนกว่า ค่า Consult ไม่คิดด้วยซ้ำเหมือนเราสร้างบ้านหลังหนึ่งก็ราวล้านกว่าบาททำห้องครั้งนี้ค่าอะคูสติกส์ถูกกว่า ASC ตั้งเยอะ เมื่อก่อนมีตั้งหกแท่ง ใช้อยู่ข้างบน ตอนนี้ขายทิ้งเอาเงินมาทำห้องดีกว่า สวยกว่า ได้ผลด้วย ถือว่าคุ้มมากแกมาจูนให้ด้วยตัวเองด้วย

ผมเชื่อว่าห้องมีผลต่อคุณภาพเสียงของทั้งซิสเต็มถึงครึ่งต่อครึ่งทีเดียวซึ่งก็จริง ผลที่ได้แตกต่างจากเดิมลิบลับ เบสกระชับ ไม่บวม ไม่ค้าง ให้เสียงเป็นตัวตนของลำโพง Altair จริงๆ เลย ซึ่งนี่ถ้ายังอยู่ห้องเดิมคงต้องทำให้พยายามดิ้นรนที่จะเปลี่ยนโน่นนี่นั่น เผลอๆ เปลี่ยนยกชุด แถมไม่จบด้วย คงบาดเจ็บ… เสียหายอีกเยอะแน่ๆ

ระบบไฟและสาย จัดหนักตามสูตร แยกหม้อเดินตรงมาเลย ไม่เกี่ยวกับใครเลย ลงสายกราวด์ใหม่ มีระบบคอนโทรลควบคุมของคุณโก้อีกตู้หนึ่งสายก็ของแกด้วยล่ะ ทุกอย่างใช้เวลาหมด ผมไม่หงุดหงิดกับการรอคอย ผมว่าเราชินกับการรอคอยอะไรนานๆ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ จะเรียกว่า Slow Life ซะจนชิน จะรีบไปไหน

จำไว้ …จะเปลี่ยนอะไร ไม่ขึ้นสวรรค์ก็ลงเหว กันล่ะ

เล่นเครื่องเสียงต้องเชื่อหูตัวเอง อย่าหูเบาเชื่อคำยุ อย่างเรื่องรูมจูนประเภทแอ็กเซสซอรี่ส์ จะดีหรือเปล่าไม่ทราบ ผมฟังไม่ออกนะ ก็เลยไม่เสียตังค์ บอกไปตรงๆ เลย ไม่คิดว่าจะเป็นการเสียเหลี่ยมอะไร ทุกอย่างต้องลองฟังไม่ออก ไม่ชอบ จะเสียเงินทำไม อย่างสายนี่ต้องยอมรับว่ามีผลมาก ก็เอามาเป็นลังเลย ไม่ชอบก็ไม่เอา จริงๆ แล้วก็มีเหมือนกันที่เจอสาวคนใหม่ ทำให้เขวเหมือนกัน แรกๆ ก็ตื่นเต้นที่ได้เจอ

พูดไปก็งั้น อย่าง Wilson Watt กว่าจะหาตัวตนเจอ โดนไปตั้งสามคู่ ก็ต้องยอมรับว่าตอนนั้นยังฟังไม่เป็น จนมาเปลี่ยนใจจนได้ ยิ่งตอนนี้ คราวนี้เมื่อได้ห้องดีแล้ว จะมีสติ จำไว้จะเปลี่ยนอะไร ไม่ขึ้นสวรรค์ก็ลงเหวกันล่ะ เปลี่ยนสายเส้นเดียวยังต้องระวัง กำลังจะบอกว่าเมื่อนิ่งแล้วไม่พยายามดิ้นรนเลย พอใจก็หยุด ฟังเพลงให้มีความสุข อย่าดิ้นรน ใช้เวลากับชุดเดิม ปรับจูนไปเรื่อยๆ จนพอใจที่สุด เอาเวลาไปเสพเสียงเพลงที่เรารักเสียให้พอ

คนอื่นล่ะ

เราเล่นเครื่องเสียง เปลี่ยนเครื่องบ่อยๆ คนที่บ้านเค้าเข้าใจเรานะ รู้ว่าคือความสุขของเรา สามีอยู่บ้านนี่ก็ดีมากแล้ว ถ้าบ้านไม่มีความสุข ฟังเพลงไม่เพราะหรอก อย่างก๊วนก็มีพี่สมพงษ์ อุดร หนองคาย ขอนแก่นมีเฮียเชิดชัยก็เคยมาฟัง เค้าไม่ได้คอมเม้นต์อะไร เค้าอาจไม่ชอบก็ได้นะ เรารู้ว่ามันอาจยังไม่ดีที่สุดแต่มันดีขึ้นทุกวันสำหรับเราก็พอ

พวกเราออดิโอไฟล์ขอขอบคุณการประสานงานจากคุณสมชายแห่งขอนแก่นไฮไฟที่ทำหน้าที่ชี้เป้า และเนวิเกเตอร์ และต้องขอบคุณ เสี่ยเบนซ์ที่รับหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ให้การต้อนรับดูแลพวกเราในฐานะเจ้าบ้านที่ดีเยี่ยมเช่นทุกครั้งที่ได้มาเยือน ดีใจที่ครั้งนี้นักเล่นอย่างพี่ธวัชชัย เสี่ยอู๊ด ได้มาพบปะ ร่วมแจม พูดคุยกันในมื้อเย็นวันแรก เมื่อไปถึงขอนแก่นด้วย ขากลับจากบ้านดุง เราได้แวะเข้าตัวเมืองอุดรเพื่อทักทาย หมอเอก พี่ใหญ่แห่งเพจ Home Theater Pro Thailand มาพูดคุย และรับหน้าที่เป็นเจ้ามือเลี้ยงข้าวมื้อเย็นก่อนกลับไปนอนที่ขอนแก่น ต้องขอขอบคุณอีกครั้ง …หวังว่าจะได้กลับไปรบกวนอีกในไม่ช้า 

ความสุขจากเสียงดนตรีของเครื่องเสียงสุดรักในบ้าน เกิดจากความรักในเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ ของคุณเอ๋ และคุณเอ สองพี่น้องแห่งบ้านดุง อุดรธานี ต้องยอมรับว่าเป็นการเล่นที่ชาญฉลาดที่ได้ศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะซื้อหามาฟัง เชื่อหูตัวเองมากกว่าเชื่อคนอื่นพูดให้ฟัง ได้พบคนที่มีความรู้ช่วยนำพาไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น ไม่หลงทางง่ายๆ ซึ่งกว่าจะค้นพบตัวตนก็ต้องลงทุนไปบ้าง สำหรับการลงทุนกับห้องฟัง กว่าจะเป็นห้องที่เห็นอยู่นี้ไม่ง่ายเลย ถ้าไม่มีความตั้งใจจริง แน่วแน่ อดทนรอที่จะทำให้สำเร็จ สมดังตั้งใจ ทำให้นิ่ง ไร้การดิ้นรน ขวนขวาย หยุดไขว่คว้าที่จะหาอะไรมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย เอ้อ จริงๆ ยังตามหาไม่เจอมากกว่า บัดนี้ได้พบแล้ว เหลือการปรับจูนเล็กน้อยเท่านั้น อย่างน้อยก็ทำให้นิ่งขึ้น ก่อนขยับแต่ละครั้ง เพราะการขยับจะเปลี่ยนอุปกรณ์แต่ละครั้ง ส่งผลต่อคุณภาพเสียงโดยรวมของห้องฟังห้องนี้ทุกครั้งสิน่า และที่เราได้รับทราบเรื่องราวดีๆ เช่นนี้ก็เพราะ…WE ARE AN AUDIOPHILE. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 231