นักเขียน : ปฤษณ กัญจา :

“แรกเริ่มสุดก็เล่นพวกชุดโฮมเธียเตอร์ ชุดเล็กๆ แบบ Home Theater in the Box ประมาณสัก 4 – 5 ปีที่แล้วเอาไปใช้ ในห้องนอนของบ้านอีกหลัง พอเล่นไปสักพักก็เปลี่ยนจาก Home Theater in the Box มาเป็นชุดที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อยเป็นชุดที่ใช้ AVR ก็เล่นอยู่สักประมาณปีหนึ่งเป็นระบบ 5.1 แชนเนล มีซับวูฟเฟอร์ตัวหนึ่ง ก็ใช้ในห้องนอนนั่นแหละ พอเล่นไปเล่นมารู้สึกว่า ห้องนอนเริ่มไม่เหมาะแล้วทีนี้ เพราะก็อัพมาเรื่อยนะ เปลี่ยนลำโพงมา 2 – 3 คู่ แอมป์ก็ใหญ่ขึ้น

ตอนนั้นเริ่มแรกใช้AVR ของ Onkyo เสร็จแล้วก็มาเป็น Yamaha ลำโพงเริ่มจากชุด Jamo ก็เปลี่ยนมาเป็น Paradigm ก็เล่นๆ ฟังๆ หยุดๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะบางทีก็ถ้าไม่ได้เล่นมันเราก็จะค่อยสนใจมันเท่าไหร่ ”

คำบอกเล่าข้างต้นนี้เป็นของ “คุณชุมพร ศรีมันตะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.โมเดลแอนด์ ซายน์ จำกัดที่เริ่มเข้าสู่แวดวงการเล่นเครื่องเสียงจากชุดเล็กๆ และราคาพอประมาณ โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ อนาคตว่า ในเวลาต่อมา จะใจกล้าเล่นเครื่องเสียง ที่มีราคาสูงๆ ทั้งที่ตอนแรกก็ไม่เคยเชื่อในหลายๆ สิ่งที่คนเล่นเครื่องเสียงเล่นกันจนกระทั่งได้ มีประสบการณ์ กับตัวเอง … และนี่ก็เป็น อีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าสนใจของคนที่ หลงใหลในเสน่ห์ ของเครื่องเสี ยง และรักการฟังเพลงครับ

คุณชุมพร ศรีมันตะ

เริ่มต้นจากดูหนังเป็นหลัก

ทั้งดูหนังและฟังเพลง ก็ใช้ชุดนั้นแหละ ชุดเดียวกัน ในห้องนอน ซึ่งตอนกลางคืนดึกๆ ก็เปิดไม่ได้ ก็เล่นอยู่อย่างนั้นแหละ สลับไปสลับมา ซื้อสายบ้าง หาความรู้บ้าง สายสัญญาณ สายไฟ ปลั๊ก

ตอนแรกยังไม่เล่นของแพง

ยังไม่แพง ก็ไม่กล้า และไม่เชื่อ (หัวเราะ) คือเกิดความรู้สึกว่า สายไฟ มันใช่เหรอ สายสัญญาณโอเค ตอนแรกเชื่อว่าสายสัญญาณยังพอเป็นไปได้ เพราะมันจากแอมป์เข้าไปลำโพงใช่ไหม ทีนี้พอไปถามคนนู้นคนนี้เรื่อง สายไฟ เราก็ยังไม่ค่อยเชื่อนะ สายไฟอยู่ต้นทาง มันจะช่วยได้ยังไง ก็ยัง งงๆ อยู่ แต่ก็เริ่มมีเอาสายไฟมาลองบ้าง แต่เส้นไม่แพงก็ยังไม่เห็นผลชัด เท่าไหร่ พอเราเล่นไปสักพัก เราก็จะรู้ว่า ถ้าซิสเต็มไม่ใหญ่ มันก็จะไม่ค่อย เห็นผล สายไฟก็เริ่มเปลี่ยนบ้าง เส้นละสี่ห้าพัน ตอนนั้นก็แพงแล้วนะ คิดว่าสายไฟอะไรเส้นละสี่ห้าพัน ไม่กล้าซื้อเท่าไหร่ แพง ต่อมาก็เล่น เส้นใหญ่ขึ้น สายไฟทั่วๆ ไปที่แถมมากับเครื่องก็เล็กนิดเดียว พอเราเริ่มซื้อ เส้นที่หนึ่ง เส้นที่สอง ก็ดูว่าทำไมเส้นใหญ่จัง มีลายมีอะไรด้วย ก็ลองๆ เสียบ ไปเสียบมา เริ่มเปลี่ยนปลั๊กผนัง คือตอนแรกผมยังไม่ได้แยกชุด พอเปลี่ยน มันก็ไม่ค่อยชัดนะ ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ปรากฏว่า ถ้าจะฟังเพลงต้อง แยกชุดนะ แล้วก็เริ่มจากอินทิเกรต

ตอนนั้นได้ข้อมูลการเล่นเครื่องเสียงจากไหนครับ

แรกๆ ก็จะไปที่ร้านเครื่องเสียงบ่อยหน่อย ก็จะถามเขา อ่านหนังสือ บ้าง หาข้อมูลในเน็ตบ้าง ซื้อมาลองบ้าง แต่ตอนนั้นเรายังไม่กล้าซื้อไง เพราะรู้สึกว่าสายไฟก็แพง สายสัญญาณก็แพง มันแพงจัง แล้วมันจะคุ้มไหม พอตอนหลังเปลี่ยนมาเล่นอินทิเกรตก็จะเริ่มเห็นขึ้นบ้าง

ตอนแยกชุดสำหรับฟังเพลงโดยเฉพาะ เริ่มจากชุดอะไรก่อนครับ

เริ่มแรกก็เป็นของ NAD ชุดหมื่นกว่าบาท ลำโพง PSB ที่เป็น bookshelf ก็รู้สึกว่าฟังเพลงมันดีขึ้นเนอะ

เพลงที่ฟังตอนนั้นเป็นแนวไหนครับ

ฟังทั่วไปเลยครับ เพลงพ็อพ เพลงลูกทุ่ง เพื่อชีวิต ก็ทั่วๆ ไปเลย ออดิโอไฟล์ จะน้อยหน่อย เพราะเรายังไม่ได้เข้าวงการ (หัวเราะ) พอเข้าปิยะนัส เราก็ อยากเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ เปลี่ยนจาก NAD ตัวเล็ก ก็ขยับมาตัวใหญ่ ลำโพง รู้สึกจะมาเปลี่ยนเป็น Monitor Audio เสียงมีความชัดเจนขึ้น น่าฟังขึ้น

ในการเปลี่ยน ใช้อะไรเป็นตัววัดว่าน่าจะเป็นยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้

ถ้าเรายังไม่รู้จักยี่ห้อสินค้า เราก็ต้องขอคำแนะนำ เขาก็แนะนำแบบนี้ เสียงเป็นแบบนี้ เราก็พยายามฟังว่ารุ่นไหนจะเหมาะกับเรา

ตอนนั้นยังไม่รู้ว่า เสียงที่เราชอบจริงๆ เป็นยังไง

ใช่ๆ ก็ฟังไปเรื่อย บางทีไปฟังที่เขามันก็ดี ฟังที่บ้านเราท?ำไมไม่เหมือน ที่ร้าน อะไรประมาณนี้ เราก็หาข้อมูลไปเรื่อย เปลี่ยนไปเรื่อย ก็ลองฟังไป เรื่อยแหละ

หลังจาก NAD ขยับมาเป็นอะไรครับ

จาก NAD รุ่นเล็ก ก็เปลี่ยนเป็นรุ่นใหญ่ ตัวที่เป็น Classic Series NAD 375 ตัวนั้นก็ว่าเราซื้อแพงแล้วนะ เครื่องเสียงตอนนั้นก็ดีแล้ว พอไป สักพักหนึ่ง เขาก็บอกว่า NAD เป็นชุดเริ่มต้น สูงกว่านั้นก็เป็น M Series ถ้าจะเล่นให้ดีให้สุดต้องเล่นไฮเอ็นด์ ก็ต้องมองแบรนด์อื่น เราก็เริ่มมอง แบรนด์อื่น ก็ไปเจอร้าน HiFi 99 ที่มีให้ลอง มีของมือสองให้เราลองเล่น อีกอย่างร้านอยู่ใกล้ที่ท?ำงาน เราก็ไปฟัง ก็เห็นหลายๆ ยี่ห้อ เริ่มจับทาง ได้ละ เสียงตัวนี้ใช้ได้ ตัวนี้ใช้ไม่ได้ ตัวนี้เป็นยังไง เริ่มรู้บุคลิกแนวเสียง

เริ่มแยกแยะออก

เริ่มรู้จักแต่ละแบรนด์ละ แล้วคุณนะ เจ้าของ HiFi 99 ก็บอก พี่ยกไป ลองเลย ไม่ชอบก็เอามาคืน ยังไม่ต้องจ่ายตังค์ วัดใจกันประมาณนั้นแหละ ก็เลยเอามาลองอยู่หลายตัว เปลี่ยนจาก NAD ก็มาเป็น Sugden A21 SE อินทิเกรตแอมป์ เราก็ว่าเออ เสียงมันก็เนียนดีนะ ขึ้นมาอีกสเตปหนึ่ง มีความ น่าฟังมากขึ้น แต่ก็ยังฟังกับลำโพง Monitor Audio คู่เดิม

Monitor Audio รุ่นอะไรครับ

รุ่น GX10 เราก็ว่ามันเพราะอยู่นะ ฟังตัวนั้นอยู่นานหลายปีเลย เพราะ ยังไม่เจอลำโพงที่เราคิดว่าใช่ ก็ฟังไปเรื่อยๆ จากนั้นก็เปลี่ยนเอา B&W ตัวทาวเวอร์มาลง ก็ฟังไปพักหนึ่ง ลองเล่นไปเรื่อยๆ ครับ จนสุดท้ายก็เอา อินทิเกรตแอมป์ Nat Audio รุ่น Single หลอดเอาต์พุต GM70 มา

อินทิเกรตแอมป์ Single นี้มีที่มาที่ไปนิดหนึ่ง ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะซื้อ เผอิญได้ปรี-เพาเวอร์ที่ลูกค้าเอามาเทิร์น เอามาลองฟังสักพักหนึ่ง คราวนี้ เสียเงินเยอะไปหลายแสนแล้ว เราคาดหวังว่า มันต้องดีกว่าเดิม ดีกว่า Sugden A21 ที่เราฟังอยู่พอสมควรนะ เพราะเงินมันขึ้นไปเยอะ พอเราเอา มาฟัง เอ… ทำไม มันไม่ได้ ฟังยังไงมันก็ไม่ใช่เราละ

ทั้งๆ ที่เงินจ่ายไปเยอะ แต่ว่าเสียงไม่ใช่แบบที่เราชอบ

มันไม่ได้ เราก็บอกคุณนะ ว่า… ยังงี้ไม่เอา ถ้าเสียเงินขนาดนี้ แล้วได้ เสียงเท่านี้ ผมคืน ผมเลิกเล่นดีกว่า เขาก็เลยร้อนแล้วล่ะ ยังไงวะเนี่ย ก็ลอง ฟังดูหลายๆ ตัว ไปลองฟังตัว Sugden ตัวที่เป็น IA-4 เสียงก็โอเคนะ ตัวนั้น ก็เสียงดี แล้วก็ Nat Single เสียงก็ดี ก็คนละแนวนิดหนึ่ง ผมว่าดีกว่า ปรี-เพาเวอร์คู่นั้น เพราะตัวนั้นมันดูแข็งๆ เราก็เลยเอาตัวนี้มา คือดีอย่าง เราสามารถคืนได้ เอามาลองก่อน เอาให้ชอบก่อน ก็เลยเป็นที่มาของ Nat GM70 แล้วก็เปลี่ยนเป็นลำโพง ลำโพงนี่เปลี่ยนหลายคู่นะ (หัวเราะ)

จาก Monitor Audio เปลี่ยนมาเป็นอะไรครับ

Sonus Faber: Grand Piano อยู่สักพักหนึ่ง เสียงก็โอเคนะ ทีนี้ พอเราเข้ามาลึกแล้ว ถือว่าเราเสียเงินมาเยอะละ เราก็เริ่มคิดว่า มันน่าจะมี ดีกว่านี้ ก็หาไปเรื่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ อันไหนมา คู่ไหนมาเราก็ต้องไปฟังก่อน จนสุดท้ายได้ Focal มา มันก็ดีในแนวของ Focal นะ แล้วก็ได้ไปเจอ Harbeth เอามาลอง เออ เสียงมันเนียน แต่ก็ยังไม่เปลี่ยน Focal ก็เก็บไว้ ด้วย (หัวเราะ)

Harbeth 30.1 ได้มือสองมา เราก็คิดว่าไม่เจ็บตัว ไม่ชอบก็ขายราคา เดิมแหละ อะไรประมาณนี้ เสียงมันเนียน เป็นธรรมชาติ ให้อารมณ์เพลง ได้ดี ก็ใช้ฟังเป็นหลัก ยาวเลย สักพักใหญ่ๆ เลยแหละ ก็คิดว่าโอเคแล้วแหละ สำหรับลำโพง bookshelf กับห้องขนาดนี้

ก่อนหน้านี้ที่ HiFi 99 ก็มี Harbeth 30.1 มาที่ร้านก่อนรอบหนึ่ง ผมก็ ฟังอยู่ประจำ ต่อผ่าน Nat Single GM70 คือทุกอย่างตอนนี้ที่ร้านเป็นระบบ ซิสเต็มเดียวกับเรา ทีนี้ลำโพงคู่ไหนมา เราก็จะรู้ละ มันจะใกล้เคียงกัน สายก็เหมือนกัน ลำโพงรุ่นไหนมาเราก็จะมองละ รุ่นนี้ใช่ รุ่นนี้ไม่ใช่ เราไป นั่งฟังจนโอเค Harbeth มันก็น่าจะลงตัวสุด ในงบประมาณนี้ ถ้าไม่ขึ้นเป็น ล้านแล้วได้อยู่ ผมว่า Harbeth คุ้มสุดแล้วล่ะ ก็เลยได้ Harbeth มา ทีนี้มา Harbeth 30.2 รุ่นครบรอบ 40 ปี เอามาฟังเทียบ เออ มันขึ้นไปอีกสเตป หนึ่งนะ แต่มันก็โทนใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเราเอามา A/B กัน ยกเข้ายกออก ก็จะเห็น แต่เราไม่เทียบยกเข้ายกออกเราก็จะยังไม่เห็น เราก็จะนึกภาพ ไม่ออก ก็เลยได้มาเป็นรุ่นปัจจุบันที่ใช้อยู่

ปรี-เพาเวอร์ Sugden มายังไงครับ

ปรี-เพาเวอร์ Sugden เผอิญมีลูกค้าของ HiFi 99 ต้องการขาย ก็ได้ ราคาดีพอสมควร เลยจัดมาก่อน เอามาต่อฟัง มันก็ให้อารมณ์อีกแบบหนึ่งกำลังขับดี ในเรื่องของความเป็นตัวตน ของดนตรี ของนักร้อง ก็จะชัดเจนกว่า คือได้ครบ ก็เลยมีไว้ พอมีแล้วมันอยู่ที่ห้องผมเยอะมาก เฉพาะปรี-เพาเวอร์ คู่หนึ่ง แล้วก็มีอินทิเกรตแอมป์อีก ก็สลับกันฟัง

ห้องฟังเริ่มสร้างตอนไหนครับ

ซื้อบ้านหลังนี้ก็เลยมีที่ว่าง ตอนแรกอยู่บ้านหลังโน้นที่ติดกัน พอซื้อแล้ว เราก็ได้โอกาสทำห้องฟังเพลงกับดูหนังเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า ไหนๆ เราก็ เล่นแล้วอะไรอย่างนี้ ก็ทำห้อง แรกๆ ยังไม่มีความรู้ก็อ่านในเน็ตว่าต้องปรับ อะคูสติกส์ยังไง ตอนแรกก็จ้างคนที่รับทำห้องฟังมาทำให้ ส่วนที่เหลือ นอกนั้นผมก็หาข้อมูลทำเอง ตัดสินใจเอง ลองผิดลองถูกเอง ทำไปรอบแรก คุณโจ้ ซาวด์บ๊อกซ์ มาฟัง แกบอกว่า พี่… ห้องมันตายไปนะ ซับมันเยอะ อะไรประมาณนี้ ก็เลยเริ่มคิดที่จะทำไม้มาแปะ เขาบอกว่ามันต้องมี diffuse ที่ผนัง เขาบอกเห็นที่ร้านคุณสองมีไม้เป็นร่องเล็กๆ เขาบอกว่า พี่เอาตัวนี้ ไปทำก็ได้ พี่มีเครื่องเซาะเองได้ ผมก็โอเคเลย เอาตัวอย่างมา แล้วก็มาเซาะ ทำเองเลย ทีนี้ผมก็ปิดหมดเลย ก็ได้ห้องที่มี diffuse

ห้องนี้ขนาดเท่าไหร่ครับ

4 x 4 เมตรครึ่ง จริงๆ ผมว่ามันสั้นไปนิดหนึ่ง ถ้าได้เพิ่มอีกสักเมตรหนึ่ง คงจะดี ตอนแรกเราไม่มีความรู้ เราทำมาแบบงูๆ ปลาๆ จริงๆ มันมีพื้นที่ ที่จะขยายต่อมาได้ ตอนนั้นเราไม่รู้ เราก็เริ่มระบบไฟ เราก็รู้มาว่าต้องแยก มิเตอร์ ผมก็ให้เขาลากจากข้างบนมิเตอร์เมนบ้านเข้าไปห้องฟังเพลงต่างหาก แยกไม่ให้เกี่ยวกับตัวบ้าน ก็ทำตามตำรา ก็ไล่ทำมาเรื่อย ไล่เปลี่ยนมาเรื่อย ก็หาข้อมูลเองบ้าง คนนู้นคนนี้แนะนำ ก็ปรับมาเรื่อย

จุดเปลี่ยนที่กล้าซื้อเครื่องเสียงแพงขึ้น มาจากเหตุผลอะไรครับ

จุดเปลี่ยนจริงๆ ที่เรากล้าซื้อแพงมาจากปรี-เพาเวอร์แบรนด์ดังชุดแรก เห็นคุณนะบอกว่าดี ก็เอามาลอง ทีนี้ลองแล้วไม่ถูกใจเรา เราก็ไหนๆ ก็เสีย ตังค์แล้ว ถือว่ามีงบอยู่ตรงนี้ก้อนหนึ่งแล้ว เลยคิดว่าจะเอาตัวไหนมา แทนมัน

ตรงนั้นคือจุดเปลี่ยนเลยว่า ซื้อแพง แต่ไม่ถูกใจ

เสียเงินเยอะขนาดนี้ก็เลยตั้งงบว่า ในงบเท่านี้นะ ตัวไหนที่จะดีกว่าเดิม ไม่เอาเสียงแบบนี้ ก็ไปฟัง Sugden IA-4 กับ Nat Single GM70 แล้วเผอิญ ตอนนั้นมีแผ่นของมนต์สิทธิ์มั้ง แผนที่หายากๆ เอามาลองฟัง ก็ให้อารมณ์ดี เลยสลับ เอาปรี-เพาเวอร์กลับไป แล้วก็เอา GM70 มา ทีนี้มันเหมือนกับ เรากล้าแล้ว พอเรากล้าแล้ว ชิ้นอื่นมา เราก็เริ่มซื้อง่ายขึ้น

มันก็คือความชอบเราแหละ ทีนี้พอเราเล่นไปเล่นมา เราก็ลองเล่น นู่นนี่นั่นไปเรื่อย เปลี่ยนนู่นนี่นั่น สรุป เปลี่ยนทุกอย่างนะ ผมก็เปลี่ยนสายเปลี่ยนอะไร ลองเล่นๆ ลองเปลี่ยน ก็ไปเจอ Nat Single GM70 มันเป็น หลอดเครื่องแรกที่ผมเล่นด้วย จุดหมายปลายทางก็คือยังไงก็ต้องไปที่หลอด ทีนี้พอมีหลอด GM70 มาแล้ว ไม่พอ ไปสั่งทาง Bias Audio ประกอบ แอมป์หลอด KT150 มาอีก อันนี้เริ่มมันละ เริ่มได้เลือกอุปกรณ์ที่เราอยาก ได้ว่า อันนี้ๆ เอามาลอง เริ่มเล่นแล้ว

คุณนะ HiFi 99 หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ ที่ทำให้ห้องฟังนี้มีความสมบูรณ์ (หลังขวา) ถ่ายภาพร่วมกับ คุณโมทย์ SOUND BOX (ซ้าย) และ คุณชุมพร (เจ้าของห้อง)

ตอนแรกก็ไม่มีความรู้เรื่องหลอด

ไม่มีครับ ไม่มีเลย

เริ่มจาก GM70 แล้วก็ศึกษาว่ามันเป็นยังไง

ใช่ แล้วก็เริ่มไปสั่งประกอบ

ทำไมถึงเลือกหลอดเอาต์พุต KT150 ครับ

เป็นหลอดที่ให้กำลังขับดี กำลังขับเยอะ แล้วก็ให้สเกลเสียงที่ใหญ่ ขับลำโพงในท้องตลาดได้ ทีนี้ผมก็พยายามลองไปฟังแนววินเทจ มันยังไม่ใช่ แนวเรา ยังไม่ชอบ ก็เลยเอา Harbeth เป็นตัวตั้ง เรารู้สึกว่ามันโอเคกับ หูเรา ลองเอาหลอดมาฟัง ก็เออ มันก็ได้

เล่นแผ่นเสียงด้วย

แผ่นเสียงก็เป็นเรื่องปกติของคนเล่นเครื่องเสียง ซีดีมีแล้ว ไฟล์เพลงมี อยากลองแผ่นเสียง คืออยากลอง ก็เอามาฟัง เสียงก็เพราะ น่าฟังเพลงแหละ แต่มีข้อเสียอยู่ข้อเดียวคือ แผ่นมันแพง แผ่นดีๆ ก็ค่อนข้างแพงเลย

เริ่มซื้อสายราคาสูง

สายแพงก็จะมาคู่กับ Nat เพราะถ้าเราสายไม่ถึง ก็ไม่ได้อีก ก็ได้ลอง จาก HiFi 99 แล้วก็เผอิญได้สายมือสองเหมือนกัน เขาก็พยายามหามาให้ เพราะว่าเส้นที่ใช้อยู่เป็น Black Diamond สองแสน ของแพง ไม่กล้า ซื้อหรอก สายเส้นละสองแสน หามือสองมา (หัวเราะ) ก็เลยได้มือสองมา ก็โอเค รับได้ ก่อนซื้อก็เอามาเทียบนะ ผมก็เอามาเทียบกับเส้นนู้นเส้นนี้ คือจริงๆ ผมเล่นไปเล่นมาเหมือนกับไม่ได้ฟังเพลง เหมือนกับทดลองมากกว่า มาลองฟังเทียบเส้นนู้นเส้นนี้ แล้วรู้สึกว่า Black Diamond มันสมูธนะ เสียง มันฟังไม่แข็ง สมูธ ให้อารมณ์เพลงดี ก็เลย โอเค เส้นนี้แหละ น่าจะเป็น สายอ้างอิงของเราแล้วล่ะ ไม่เปลี่ยนแล้ว ไม่ไปไหนแล้ว

เครื่องที่เห็นอยู่เยอะๆ ในห้อง คือว่าซื้อมาแล้วไม่ได้ปล่อยออกไปเลย ซื้อมาแล้วเก็บตลอด

มันก็เลยดูเยอะ จนมันจะเหมือน HiFi 99 ไปแล้ว ไม่มีที่วางแล้ว คือจริงๆ เราเล่นแล้วมีความสุข กินข้าวเย็นเสร็จ ผมก็จะมานั่งอยู่ห้องนี้ ก่อนนอนทุกวัน

ลำโพง HARBETH: 30.2 ANNIVERSARY ดาวเด่นประจำห้องฟัง

สลับฟัง แล้วแต่อารมณ์ว่าวันนี้อยากฟังแบบไหน

ใช่ๆ แล้วก็ไฟล์เพลง ผมเป็นประเภทอยากลอง คืออยากลองแล้วต้อง ลอง ลองให้รู้ แล้วค่อยไปลองอย่างอื่น เล่นไฟล์เพลงก็ลองให้หมดเลย มี DAC ดีๆ มีเครื่องเล่นดีๆ เอามาลอง แล้วก็หาไฟล์เพลงดีๆ มาลอง แล้วอีกอย่างมันสะดวก คือแค่นั่ง ใช้มือถือคอนโทรลอย่างเดียว

เครื่องเล่นไฟล์ใช้ของอะไรครับ

Nimitra ของคุณนนท์

แล้ว DAC ล่ะครับ

DAC ของ Mytek Brooklyn เสียงก็ใช้ได้ แล้วก็ใช้หม้อแปลงของนนท์ เหมือนกัน ตัวที่อัพเกรด แล้วก็ต่อเข้าทั้ง DAC ทั้งตัว Nimitra ก็ใช้ได้เลย เสียงรู้สึกว่าไม่เป็นดิจิทัล เสียงฟังสบาย มันไม่จัด

ทีนี้ในการฟังเพลง ผมว่าความชอบของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สำหรับผม ผมว่าเวลาฟังแล้วเราเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก คือเราฟังแล้วรู้สึกมี ความสุขกับมัน ไม่จำเป็นต้องเป๊ะ คนไหนว่าเสียงดี ไม่รู้แหละ ผมไม่รู้แหละ อันไหนเสียงดี อย่างไฮเอ็นด์ผมก็ไม่รู้ แต่เวลาเราเปิดฟัง แล้วแฮปปี้ เราอมยิ้มกับมันได้ ก็เอาตรงนั้นแหละ คือไม่จำเป็นต้องว่าเวทีชัดเจน กว้าง หรือมีมิติ อะไรพวกนี้ ซึ่งตรงนั้นผมก็มองว่า มันยังไงวะเนี่ย มิติเสียง อยู่ตรงไหน เวทีเสียงขนาดไหน เอาอารมณ์เราดีกว่า เราฟังแล้วรู้สึกอมยิ้ม กับเพลง ผมว่าโอเคนะ

นี่คือหัวใจของการซื้อเครื่องเสียงมาฟังเพลง

ถ้าเรารู้สึกว่ามันดี มันฟังเพราะ ฟังเพลงแล้วเพราะ ผมว่าหูคนก็ไม่ได้ ต่างกันเท่าไหร่นะ อาจจะคล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าคนไหนชอบไปแนวเพลง แบบไหนมากกว่า แต่ที่สำคัญน่าจะอารมณ์เพลงนะ ผมว่าฟังแล้วอารมณ์ เพลงมันได้ คือฟังแล้วเราสามารถคล้อยตามมันได้ ผมว่าอยู่ตรงนั้น ซึ่งใน ห้องผม ผมว่าผมเจอแล้ว (หัวเราะ) ผมว่ามันให้อารมณ์เพลงได้ แต่หลอด จะให้อารมณ์เพลงได้ดีกว่าโซลิดสเตท จริงๆ ผมฟังหลอดบ่อยกว่านะ รู้สึก ว่ามันฟังได้ลื่นหู มันมีเสน่ห์ของมัน ผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน อย่างที่ผม สั่งประกอบ ก็ไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเสียงดี ก็ไม่รู้แหละ ผมอยากลอง เราก็ เลือกของเอง เลือกคาพาซิเตอร์ เลือกอะไรเอง จูนเสียงที่เราพอใจ เราลอง หาซื้อหลอดที่เป็น NOS เอามาใส่ ถ้าฟังเทียบ ผมว่าก็ไม่ได้แพ้พวกแพงๆ. ADP

ขอขอบคุณ: คุณอนุชิต ใจสมุทร (นะ) ผู้บริหารร้าน HiFi 99 Thailand และ คุณสุดใจ บุ้งเครือ (โมทย์ Sound Box) ที่ช่วยประสานงาน ในการจัดทำบทความนี้

ชุดเครื่องเสียง

อินทิเกรตแอมป์ NAT AUDIO: SINGLE (หลอดเอาต์พุต GM-70) ปรีแอมป์ SUGDEN: MASTERCLASS LA-4 เพาเวอร์แอมป์โมโนบล็อก SUGDEN: MASTERCLASS MPA-4 โฟโนสเตจ SUGDEN: PA-4 เครื่องเล่นซีดี DENON: S1 เครื่องเล่นแผ่นเสียง DENON: DP-95L ลำโพง HARBETH: 30.2 ANNIVERSARY ลำโพง HARBETH: 30.1 สายลำโพง TELLURIUM Q: BLACK DIAMOND สายสัญญาณ TELLURIUM Q: BLACK DIAMOND สายไฟเอซี TELLURIUM Q: BLACK POWER

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 268