ชานนท์
ชานนท์ จุทัยรัศม์ :

 Designed to match, engineered for power. 

 ดังที่ทราบกันว่าหากจะให้ซิสเต็มลำโพงโฮมเธียเตอร์ถ่ายทอด เสียงรอบทิศทางออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ Power Amplifier หรือภาคขยาย เป็นส่วนที่สำคัญมาก ปัจจุบันแม้ภาคขยายของ AV Receiver หลายรุ่นจะตอบสนองในจุดนี้ได้เป็นที่น่าพอใจ แต่การอัพเกรดภาคขยายเพิ่มเติมก็ให้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งกว่า! 

 Anthem คร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องเสียงมาช้านาน วางจำหน่าย ซิสเต็มเครื่องเสียง-โฮมเธียเตอร์ มาแล้วก็หลายรุ่น ล่าสุดเพิ่งทำการ อัพเกรด AV Receiver ซีรีส์ล่าสุด คือ MRX 1120/720/520 เพิ่มเติม ความสามารถสอดรับกับมาตรฐานโฮมเธียเตอร์ยุคใหม่ และการทดสอบ MRX 1120 รุ่นเรือธง ผลก็ยืนยันได้ว่าเป็นหนึ่งใน AVR รุ่นเรือธงที่ให้กำลัง สำรองในการผลักดันศักยภาพของลำโพงโฮมเธียเตอร์ทั่วไปในท้องตลาด ได้เป็นอย่างดี แต่ขณะเดียวกัน Anthem ก็มี Multi-channel Power Amplifier ไว้เป็นทางเลือกสำหรับอัพเกรดเพิ่มประสิทธิภาพรองรับลำโพง ได้หลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงใช้ขยับขยายเพิ่มเติมแชนเนลลำโพง ในระบบให้ครอบคลุมกับศักยภาพของระบบเสียง Immersive Audio ในปัจจุบัน 

Anthem มีสินค้าหมวด Power Amplifier หลากหลายซีรี่ส์ รองรับจำนวนภาคขยายและกำลังขับหลากหลาย เริ่มต้นที่ 225 วัตต์ สูงสุด 1000 วัตต์ ต่อแชนเนล ที่ค่าความต้านทาน 8 โอห์ม โดยติดตั้งแบบ Single-channel (Mono) ไปจนถึง 5-channel โมดูล 

สำหรับ MCA Series ถือเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ให้ระดับความคุ้มค่าสูงสุดของ Anthem เนื่องจากระดับราคาต่ำกว่าซีรีส์อื่น กระนั้นก็ยังให้ ประสิทธิภาพอันโดดเด่น ภาคขยายมีกำลังขับสูงถึง 225 วัตต์ ต่อแชนเนลเลยทีเดียว แบ่งออกเป็น 3 รุ่น ตามจำนวนโมดูลภาคขยายที่ติดตั้งอยู่ ภายใน ได้แก่ MCA 225 มี 2 แชนเนล, MCA 325 3 แชนเนล และ MCA 525 5 แชนเนล 

จุดเด่นที่เป็นข้อสังเกตแรกเมื่อสัมผัสและได้ยก MCA 525 ดู คือ น้ำหนักถ่วงไปด้านหน้ามากเป็นพิเศษ เมื่อวิเคราะห์ดูภายในก็พบว่ารุ่นนี้ ติดตั้ง Toroidal Transformer ขนาดใหญ่ จำนวนถึง 2 ชุดด้วยกัน เพื่อทำหน้าที่จ่ายกำลังสำรองให้กับโมดูลภาคขยายทั้ง 5 แชนเนล และ เนื่องจากเป็นการผสานกำลังจากอุปกรณ์ภาคจ่ายไฟทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียว ก่อนแจกแจงกระแสไปยังภาคขยายแต่ละแชนเนลที่แต่ละช่วงเวลาอาจต้องการกำลังไม่เท่ากัน จึงให้ผลลัพธ์ด้านความต่อเนื่อง ตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันได้ “เต็มที่” กว่า

แผงหน้าอะลูมิเนียมสีดำดูเรียบง่ายตามสไตล์ Anthem มีสวิตช์เพาเวอร์จุดเดียวติดตั้ง บริเวณมุมขวาล่าง ทั้งนี้เพาเวอร์แอมป์ MCA Series ทั้ง 3 รุ่น จะใช้ดีไซน์ตัวถังภายนอกเหมือนกัน การสังเกตแยกแยะต้องอาศัยดูจากชื่อรุ่นที่กำกับไว้ 
ใช้ Circuit Breaker (มี Reset Switch) เป็นระบบป้องกันกระแสเกินแทนการใช้ฟิวส์ 
ภายในอัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์คุณภาพ ความพิเศษของ MCA 525 ที่สังเกตได้นอกจาก จำนวนวงจรภาคขยายจัดวางเรียงรายจำนวน 5 ชุดแล้ว ในส่วนของภาคจ่ายไฟ ก็ดู “จัดเต็ม” ด้วยการใช้ Toroidal Transformer ถึง 2 ชุด กับกลุ่มตัวเก็บ ประจุอีกชุดใหญ่ๆ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้น้ำหนักตัวเครื่องมาก ถึง 27.5 กก. 
Low-flux Toroidal Transformer จำนวน 2 ชุด สำหรับจ่ายกำลังให้กับโมดูล ภาคขยายทั้ง 5 แชนเนล ได้อย่างเต็มที่
สำหรับรุ่น MCA 525 การจัดวางอินพุตรับสัญญาณทางด้านหลังมีจำนวน 5 แชนเนล เท่ากับโมดูลวงจรภาคขยายที่ติดตั้งอยู่ภายใน รองรับสัญญาณเสียงมัลติแชนเนล ทั้งรูปแบบ Balanced XLR และ Unbalanced RCA ในส่วนขั้วลำโพงเป็นแบบ Binding Post ชุบทองขนาดใหญ่ดูมั่นคงแข็งแรง รองรับสายเปลือย หางปลา และบานาน่า 

นอกจากนี้ Toroidal Transformer ที่ Anthem เลือกใช้ ยังเป็นแบบ Low-flux การแพร่กระจายของสนามแม่เหล็กต่ำ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มสัญญาณรบกวนแก่วงจรข้างเคียง ที่อัดแน่นอยู่ภายใน เมื่อผนวกกับการไฟน์จูนจัดการกับทางเดิน สัญญาณและคอนเนกเตอร์เชื่อมต่อเสียใหม่ ลดทอนอิมพิแดนซ์ลง และมีเสถียรภาพมั่งคง เพื่อผลลัพธ์การถ่ายทอดคุณภาพเสียงที่ สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น 

ในส่วนของวงจรภาคขยายเลือกใช้ High-current Bipolar Output Transistor ถึง 8 ชุดต่อหนึ่งแชนเนล ภาคขยายแต่ละ โมดูลจึงสามารถจ่ายกำลังขับต่อเนื่องได้สูงถึง 225/400/600 วัตต์ ที่ 8/4/2 โอห์ม 

และเช่นเคยว่าAnthem ยังคงติดตั้งระบบตรวจสอบ การทำงานของวงจรภาคขยายที่เรียกว่า Advanced Load Monitoring หรือ ALM เพื่อตรวจจับความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ กระแส และแรงดันไฟฟ้าป้องกันความเสียหายแก่วงจรภาคขยายและลำโพง อีกทั้งยังเป็นการจำกัดระบบป้องกันภายในวงจรรูปแบบเดิมๆ ที่อาจลดทอนคุณภาพเสียงออกไปได้ การบำรุงรักษาก็ทำได้ง่ายกว่าในระยะยาว 

Anthem MCA Series รุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในภาวะสแตนด์บาย กินไฟเพียง 2 วัตต์ เท่านั้น 

การติดตั้งใช้งาน 

การทดสอบครั้งนี้จะอ้างอิงร่วมกับ Anthem MRX 1120 ซึ่งเป็น AV Receiver การเชื่อมต่อเสียงจากช่องสัญญาณ Pre out จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้รูปแบบ Unbalance RCA และ เนื่องจาก MCA 525 มีจำนวนภาคขยาย 5 แชนเนล การเชื่อมต่อลำโพงรอบทิศทางในระบบร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ภายนอกได้แก่ FL, C, FR, SL และ SR ส่วนลำโพงอื่นนอกเหนือจากนี้ อาทิ Height Speaker channels จะยังคงใช้ภาคขยายภายในของ MRX 1120 

หากมีงบประมาณและต้องการ อัพเกรดคุณภาพเสียงรอบ ทิศทางให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น การเพิ่มเพาเวอร์แอมป์คุณภาพ สูงก็เป็นแนวทางที่แนะนำ

ผลการทดสอบ 

ก่อนทำการเชื่อมต่อสายสัญญาณอินพุตใดๆ ของ MCA 525 ทดลอง เปิดเช็คระดับสัญญาณรบกวนภายใน พบว่าเสียงรบกวนที่เล็ดลอดออกไป ยังลำโพงต่ำมากจริงๆ คือต้องเอาหูไปแนบชิดกับทวีตเตอร์เท่านั้น ถึงจะได้ยินเสียงซ่าซึ่งก็เบามากๆ การที่ Anthem เคลมเรื่องของวงจร ภาคขยายที่มีระดับ Background Noise ต่ำ จึงไม่ใช่แค่ราคาคุย 

ตรวจสอบเชื่อมต่อสัญญาณ Pre out ของ MRX 1120 มายัง MCA 525 เบื้องต้นพบว่าระดับเสียงของลำโพงจะเบากว่าเกนขยายภายใน MRX 1120 อยู่ราว 1dB จึงแนะนำให้ทำการเช็ค Speaker Level อีกครั้ง เพื่อบาลานซ์ระดับเสียงของลำโพงในระบบให้มีความกลมกลืน หรือหากเป็นไปได้ ทำ ARC (Anthem Room Correction) อีกครั้งก็จะดีมาก 

เริ่มทดสอบกันด้วย Smoke + Mirrors Live โดย Imagine Dragons ซึ่งกลายมาเป็นแผ่นคอนเสิร์ตอ้างอิงสำหรับระบบเสียง Dolby Atmos ไปแล้ว ทั้งนี้ศักยภาพของ MCA 525 ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ของเสียง ร้อง เครื่องดนตรี และบรยากาศเสียงรายล้อมได้เป็นอย่างดี น้ำหนักเสียง ดูจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สัมผัสรับรู้ได้ชัดที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังสำรอง ที่ผลักดันเสียงของลำโพงในระบบได้เต็มที่ยิ่งกว่าภาคขยายของ AVR เบสกระชับชัดเจนขณะเดียวกันก็ให้แรงปะทะหนักแน่น เสียงโอบล้อม ในแบบการแสดงสดฟังดูยิ่งใหญ่อลังการมากยิ่งขึ้น 

จุดที่ฟังแล้วเหนือกว่าภาคขยายมัลติแชนเนลทั่วไป โดยเฉพาะ ที่ติดตั้งมากับ AVR รุ่นราคาไม่แพงมาก คงไม่พ้นเรื่องของการคอนโทรล เสียงของลำโพง โดยเฉพาะเมื่อทุกแชนเนลต้องทำงานประสานหน้าที่ ในคราวเดียว MCA 525 ดูแยกแยะรายละเอียดทิศทางเสียงต่างๆ ได้อิสระ เด็ดขาดกว่าพูดง่ายๆ ว่าแรงดีไม่เปลี้ยแม้ว่าภาระโหลดจากลำโพงจะมาก 

การรับชมภาพยนตร์ Black Panther ฟอร์แม็ต 4K/UHD Blu-ray ระบบเสียง Dolby Atmos ก็ให้ผลลัพธ์ไปในแนวทางเดียวกันแปลกที่จะ การถ่ายทอดไดนามิกของเสียงเอฟเฟกต์ต่างๆ ดูมีพลังหนักแน่น มิติเสียงโอบล้อมได้บรรยากาศที่โอ่อ่าการแยกแยะทิศทางเสียงชัดเจน ดูสนุกยิ่งขึ้น และแม้จะเร่งระดับโวลุ่มสูงขึ้นอีกนิดก็ไม่รู้สึกว่าเสียงโดยรวมมีความกร้าน บาดหู แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับแนวเสียงของลำโพงที่นำมาใช้งานด้วย 

การอัพเกรด Multi-channel Power amp อาจดูเหมือนจะได้อานิสงส์กับการรับชมภาพยนตร์เป็นหลัก แต่โดยส่วนตัวผมกลับว้าวผลลัพธ์การฟังเพลงร่วมกับซิสเต็มไฮบริด คือ ฟังทั้ง 2 อย่าง ได้ดีไม่แพ้กัน ทดสอบกับ Alison Krauss – Forget About It ฟอร์แม็ต SACD ดูเหมือนว่า MCA 525 จะทำให้เนื้อเสียงดูจะมีมวลอิ่ม หนาขึ้นเล็กน้อย เสียงร้องฟังแล้วไหลลื่นผ่อนคลาย รายละเอียดเสียงดนตรี สะอาดสะอ้านดี ซึ่งน่าจะเป็นอานิสงส์จากระดับ Background Noise ที่ต่ำ ได้ยินรายละเอียดเสียงต่างๆ ได้ชัดขึ้น เปิดเผยรายละเอียดเสียงออก มาได้อย่างเต็มที่ ผลลัพธ์เรียกว่าไม่ผิดหวังทั้งการดูหนังและฟังเพลงครับ 

ต้องยอมรับว่าภาคขยายภายในของ MRX 1120 นั้นไม่ธรรมดาแล้ว แต่กระนั้นการเพิ่ม MCA 525 เข้ามาในระบบก็ให้ความเปลี่ยนแปลงที่ดี ขึ้นไปอีกสเต็ป หากมีงบประมาณและต้องการอัพเกรดคุณภาพเสียงรอบ ทิศทางให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น การเพิ่มเพาเวอร์แอมป์คุณภาพสูงก็เป็น แนวทางที่แนะนำครับ. VDP 

ราคา 155,000 บาท 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โซนิค วิชั่น จำกัด 
โทร. 0-2681-7500

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 273